เรื่องและภาพ : อภิศักดิ์ บุญมาลี

ตู้โทรสุข ร้อยสุขร้อยเสียง

ยุคสมัยเปลี่ยน อะไร ๆ ก็แปลงไปตามกาล งานแบงค็อกดีไซน์วีค 2025 ออกแบบพร้อมบวก + ชวนทุกคนออกมาเผชิญกับปัญหา ท้าความทุกข์ ขจัดความซับซ้อนของชีวิต ฟัง เล่า แชร์ ผ่านการร่วมชมนิทรรศการ วงเสวนา ผจญภัยกับกิจกรรมรับแรงบันดาลใจใหม่ระหว่างทาง

ขณะเดินลัดเลาะริมทาง เที่ยวท่องท่ามกลางความเร่งรีบย่านการค้า เมืองเก่าชุนชนจีน เยาวราช-ทรงวาด ปรากฏตู้โทรศัพท์สีเหลืองขอบทางเท้า หน้า Hostel Urby Song Wat Road จัดแสดงศิลป์ในโหมดบรรยากาศกรุงเทพฯ ดึงดูดใจให้แวะไปเชยชม แปลกดีที่เรายังคงเห็นตู้โทรศัพท์ตั้งอยู่ริมทาง แม้จะเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างออกมาเป็นศิลปะ หวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ เมื่อยามฟังนิทานเรื่องราวชีวิตจริงของแม่ในวัยเด็ก ย้อนไป 30 ปีคืนหลัง คนไทยติดต่อกันผ่านตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญนาทีละไม่กี่บาท ส่งข่าว ส่งความคิดถึง ส่งใจไปจีบกันระหว่างหนุ่มสาว เล่าเรื่องราวทุกข์สุข สารภาพรักสุดโรแมนติกไม่แคร์คนรอต่อคิวในตู้สี่เหลี่ยม สลักเบอร์จำขึ้นใจไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ ยิ่งช่วงเวลาเย็น ๆ จะเห็นภาพคนต่อคิวเพื่อยืนรอคุยโทรศัพท์หน้าตู้อย่างกับต่อคิวรับของฟรี

คุณแม่ มารา สุดชาวงค์

“ตอนทำงานที่กรุงเทพฯ นาน ๆ ทีจะมีโอกาสได้โทรกลับหาครอบครัว กำเงินเหรียญไม่ถึง 10 บาท ไปที่ตู้โทรศัพท์หน้าปากซอย ยืนรอใจจดจ่อ กว่าจะถึงคิวก็นานโข แค่อยากฝากความคิดถึง ถามข่าวคราวถึงที่บ้าน แค่นี้ก็สุขใจ”

ตู้นี้เหมือนเชื่อมหลายความรู้สึกจากระยะทางแสนห่างไกลให้ใกล้กัน การเข้ามาของตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทยตั้งแต่ปี 2522 โดยบริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน) 100 เครื่องแรกบนกทม. ในเวลาต่อมาต้านกระแสความนิยมไม่ไหว จึงมีการติดตั้งเพิ่มมากกว่า 200000 เครื่องทั่วประเทศ นับว่าแทบจะมีทุกซอย พอ ๆ กับร้านสะดวกซื้อก็ว่าได้ มีรุ่งเรืองก็ต้องมีร่วงโรย นับวันตราบถึงปัจจุบันคงเหลือไม่กี่จุดที่ยังเปิดใช้บริการตามปกติ บ้างก็ถูกถอนเป็นเศษของเก่า บ้างก็เป็นที่เก็บของคนไร้บ้าน บ้างก็นำมาดัดแปลงเป็นงานศิลปะของสะสม อันมีเหตุจากการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ นำความเจริญก้าวหน้าเข้ามาเป็นอีกปัจจัยหลักของมนุษย์ ทำให้ความขลังของตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญค่อย ๆ จางหายและล่มสลายไป

100suk02
100suk03
100suk04

เมื่อเห็นทุกข์คนกรุง เราอยากปรุงให้สุข

เปลี่ยนตู้โทรศัพท์ เป็น ตู้โทรสุข (โท-ละ-สุก) จากการร่วมระดมไอเดียและสรรค์สร้างงานโดยเหล่าครีเอทีฟ V&FS & Heartsell & Do Itt Now ยื่นคอนเซ็ปต์นี้เสนอทาง บางกอกดีไซน์วีค 2025 ประกาศผลผ่านฉลุย เร่งสร้างให้กลายเป็นสถานีส่งต่อความสุขผ่านเสียงตามสาย

นัน ณรัชช์อร จีรณัฐวงศ์ หนึ่งในทีมผู้ผลิตงานเล่าถึงความเป็นไปของจุดเริ่มต้นการแบ่งปันสุขเล็ก ๆ ริมถนน

“ทุกวันนี้ชีวิตคนกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยเรื่องเครียดรอบตัว เราอยากเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้คนได้ผ่อนคลาย รับฟังความสุขของคนอื่น มีสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่และคิดบวกไปด้วยกัน”

เพราะชีวิตแต่ละคนในแต่ละวัน เจอสิ่งร้ายดีมาไม่เหมือนกัน แต่ละช่วงอายุก็มีเรื่องกังวลใจต่างกัน มายเซ็ทและวิธีการรับมือก็ต่างกันไป นับวันในสังคมโดยเฉพาะเมือง ทุกคนต่างใช้ชีวิตเพื่อสู้ เอาตัวรอด บ้างก็เอาแค่อยู่รอดไปวัน ๆ พอ การแข่งขันสูง เร่งรีบ ว้าวุ่นไม่ได้สนใจใครรอบข้าง หากได้ลองหยุดพักสักนิด หาเวลาว่างสักหน่อย ออกไปทำอะไรที่ชอบสักวัน รับฟังความสุขของคนที่อายุเท่ากันกับเรา ฟังว่าเขามีความสุขในเรื่องอะไร แล้วย้อนถามตัวเองว่าเรามีความสุขในเรื่องอะไร เสียงที่บันทึกและปล่อยออกมาให้คนได้ยินในตู้เหลือง คือเสียงสัมภาษณ์จริงของคนในช่วงอายุ 1 – 100 ปี ที่มาเล่าความสุขของตนเองแชร์ให้คนอื่นได้ฟัง

“เราออกเดินสัมภาษณ์ในพื้นที่คนพลุกพล่าน สังเกตคนที่ยิ้มแย้มและมีคาแรคเตอร์ชัดเจนตามกลุ่มช่วงอายุวัยรุ่นจะอยู่ที่สยาม ส่วนผู้ใหญ่จะอยู่ทรงวาด ชวนตอบคำถามคล้ายกันว่า มีความสุขกับเรื่องอะไรมากที่สุดในช่วงชีวิต ณ ขณะยังมีลมหายใจ”

“รู้สึกประทับใจกับเรื่องราวของคุณหมอวัย 26 ปี ที่มีความสุขกับการปฏิบัติหน้าที่หมอรักษาคนไข้ด้วยใจจริงและจิตวิญญาณ”

ประโยคเพียงไม่กี่วินาทีจากหมอบีม สรวิชญ์ บุรกิจภาชัย

“ความสุขในวัย 26 ปีของผมคือการได้เห็นคนไข้อาการดีขึ้น มีความสุขได้ ยิ้มได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนที่เขาเคยได้ใช้ รอยยิ้มของคนไข้ทุกวันนี้คือความสุขของผม”

พลังการให้อันยิ่งใหญ่ที่มากกว่าเงินเดือนคือรอยยิ้มของคนไข้ในทุก ๆ วันขณะขึ้นเวร ฟังแล้วกระแทกไปที่ใจ ทำให้เรามองโลกกว้างขึ้นและตอบตัวเองได้บ้างว่าทุกวันนี้มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร บางคนอาจจะอยู่เพื่อตนเอง ครอบครัว แต่บางคนอยู่เพื่อผู้อื่น ฟังแล้วอบอุ่นหัวใจยิ่ง

100suk05

เมื่อครบ 100 เสียง ส่งเรียงลำดับและผลิตเต็มรูปแบบ ครบ สมบูรณ์ ออกมาเป็นเกมเกมหนึ่งเล่นฟรี พิเศษคือไม่จำกัดอายุผู้เล่น เพียงแค่ก้าวขาพาตัวเข้าไปด้านในตู้โทรสุข ยกหู ใช้นิ้วสัมผัสที่ปุ่มเลข1-10 กดอายุของตัวเองเพื่อเลือกฟัง “เคล็ดลับคิดบวก” จากนั้นเสียงบรรเลงอันนุ่มนวลของนักสร้างสุขจะเล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างช้า ๆ ไม่ถึงนาที

ผมคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีทุกข์สุขไม่ต่างจากคนอื่นสักเท่าไหร่ หลังจากเล็งมาหลายวัน วันนี้มีโอกาสไปเห็นกับตาฟังกับหู อยากสัมผัสความสุขคนของวัย 23 ที่กำลังจะเรียนจบ เข้าสู่โลกการทำงานเหมือนเรา นิ้วชี้จิ้มหมายเลข 2 ตามด้วย 3 ด้วยความตื่นเต้นในใจ ลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร

“ความสุขในวัย 23 ปีของอ้อ น่าจะเป็นการที่ได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างหลังเรียนจบ ได้เจอคนหลายรูปแบบ ช่วงนี้มีแต่คนให้เอเนอร์จี้บวก ก็เลยมีความสุข มีความสุขที่ได้ลองทำงานที่เหนื่อยมาก ๆ แต่มันอิ่มใจหลังจากที่งานสำเร็จเสร็จแล้ว”

จะว่าไปเด็กจบใหม่วัย 23 ก็หนีไม่พ้นความกดดันจากหลายสิ่ง การปรับเส้นทางชีวิตครั้งใหม่จากเด็กนักเรียนสู่ผู้ใหญ่วัยทำงานเต็มตัว มีคำถามวกวนไม่เว้นวันกับคำว่า “จะเอายังไงดีกับชีวิต” หลายคนคงเคยประสบและหาทางออกไปต่าง ๆ นานา พอวันนี้ได้รับฟังความสุขอีกด้านของคนไม่รู้หน้า กลับเป็นแรงฮึดสู้ เป็นแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ทำให้ขบคิดตามเสียง 35 วิที่ได้ฟัง “มันจริงนะถึงแต่ละวันทำงานมาหนักแค่ไหน พอเห็นงานเสร็จมันก็แฮปปี้” รู้สึกโล่ง เหมือนยกภูเขาออกจากอก

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในตู้สี่เหลี่ยมขนาดไม่ใหญ่นี้ ยังมีโปสการ์ดให้เขียนส่งต่อความสุขยื่นลงกล่อง รวบรวมเป็น “สมุดโทรสุข” พร้อมสติ๊กเกอร์ออกแบบเอง สัญลักษณ์ ข้อความไปในทิศทาง Positive Energy สุดน่ารัก แจกฟรีจิ้มตามใจ และยังแปะแต่งตู้รอบด้านอย่างอิสระ มองแล้วรู้สึกสบายตา บวกกับฟังแล้วรู้สึกสบายใจ เดินจากไปด้วยรอยยิ้ม

“อยากให้ทุกคนมองโลกในแง่บวก ถ้าได้มาฟังความสุขของคนอื่น อาจจะมีความคิดขึ้นมาว่าบางทีเราเองอาจมองข้ามความสุขเล็ก ๆ ที่เคยมี ลองนึกถึงวันเก่า ๆ ที่เคยยิ้มกว้างที่สุดในชีวิตที่ทำให้เรา
ใจฟู สักวันหากมีโอกาสส่งต่อเรื่องราวนั้นไป อาจเป็นเรื่องบวก ๆ ของชีวิตใครอีกหลายคนก็ได้”

เพราะความสุขส่งต่อกันได้ง่าย ๆ มาร่วมส่งสุขที่ตู้โทรสุข สุขแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ฮีลใจคนกรุงให้ผลิบานอีกครั้ง