เรื่อง : วรรณพร กิจโชติตระการ
ภาพ : กวิน สิริจันทกุล

จบลงไปแล้วกับกิจกรรม “Parkใจในสวน คู่มือแผนที่ Parkใจ” ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่! ด้วย 5 กิจกรรมติดเครื่องมือ ที่ช่วยให้ทุกคนเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น ณ สวนเบญจกิติ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 9 มีนาคม 2568
แม้จะเป็นช่วงบ่ายที่อบอ้าว แต่ก็มีผู้สนใจกว่า 100 ชีวิต ที่มารวมตัวกันโดยนัดหมายเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมนี้ นับเป็นหน่วยวัดเล็กๆ ที่ทำให้เราได้เห็นว่าคนในเมืองก็โหยหาธรรมชาติเช่นกัน
เริ่มด้วย บก. ดำ-สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี เล่าถึงความเป็นมาของ “แผนที่ฮีลใจ Parkใจในสวน” แนะนำสวนต้นแบบ 5 แห่ง 5 วิทยากร และยกแผนที่แนะนำการใช้งานเบื้องต้น
จากนั้น คุณสุธานีย์ แสนกล้า นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เล่าว่าพื้นที่สีเขียวนี้เผชิญความท้าทายในการสื่อสารกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจระบบนิเวศ เช่น การมองธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลว่าเป็นความเสื่อมโทรม
แต่เพราะสวนแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ สวนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญสำหรับเด็กๆ เราจึงพยายามสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งตั้งใจที่จะใช้สวนนี้ช่วยแก้ไขปัญหา PM 2.5 และน้ำเน่าเสียกลางเมืองด้วยการบำบัดจากการกรองโดยธรรมชาติอีกด้วย
เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ต้น สุรศักดิ์ เทศขจร กระบวนกรประจำกลุ่ม Parkใจ เชิญวิทยากรทั้ง 5 เล่าภาพรวมกิจกรรมของแต่ละกลุ่มคร่าวๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพรวมกิจกรรมและพากันแยกย้ายไปตามมุมร่มไม้ในสวน และเริ่มกิจกรรมย่อยที่อยู่ใน “แผนที่ฮีลใจ Parkใจในสวน”







แมลง แมง เมือง สำรวจสัตว์เล็ก เข้าใจเมืองใหญ่ โดย เจ็ดส์ อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ นักสื่อสารธรรมชาติ และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง
พาทุกคนเดินลัดเลาะไปตามริมน้ำ สำรวจสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในสวน แม้แมลงจะเป็นสิ่งน่ารำคาญใจสำหรับคนทั่วไป แต่แท้จริงแล้วแมลงและแมงมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น เป็นอาหารของสัตว์อื่น และเป็นแหล่งโปรตีนในอนาคตของคน ลักษณะของใยแมงมุมสามารถบอกถึงสภาพแวดล้อมได้ หากแมลงผสมเกสรหายไปในอนาคตระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจะถูกคุกคาม ดังนั้น การตระหนักถึงความสำคัญของแมลงเป็นสิ่งจำเป็น
“ได้รู้วัฏจักรของแมลงว่ามีความสำคัญกับระบบนิเวศแบบไหนบ้าง ได้เห็นแมงมุมนุ่งซิ่น จิงโจ้น้ำ นี่เป็นครั้งแรกที่มาแล้วก็ประทับใจมากๆ”
“แมลงเป็นสัตว์ที่ตัวเล็กมากๆ ถ้าไม่สังเกตพวกเขา เราจะไม่เห็น อีกความรู้สึกหนึ่งคือเราอยากเก่งให้เหมือแมลง แต่เป็นแมลงสาบ เพราะมันอึดถึกทนมากค่ะ”
ส่วนหนึ่งในเสียงสะท้อนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม แมลง แมง เมือง
กระรอกน้อยเชื่อมสัมพันธ์ โดย บาส ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา จากกลุ่ม Ecowalk
พาผู้เข้าร่วมไปตรวจสอบคุณภาพชีวิตของกระรอก ด้วยการชวนทุกคนมาทดลองเป็นกระรอก 1 วัน ช่วยกันสังเกต เฝ้ามอง และวัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในเมือง ว่าดีเพียงพอแล้วหรือยัง สังเกตบ้านของกระรอกซึ่งอาจเป็นกิ่งก้านของต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ หรือเป็นเพียงโพรงของต้นไม้แก่ที่กำลังยืนต้นตาย ซึ่งหลายคนคงคิดว่าไม่สวยงามควรตัดทิ้งไปเสีย.. แต่หารู้ไม่ ว่ารูหรือโพรงของต้นไม้ที่เราเห็นว่าไม่สวยนี่แหละ ที่จะช่วยบังแดดบังฝนให้สัตว์อีกหลายชนิดได้
ผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่งแชร์ไอเดียกับเราว่า
“เป็นการไปดูบ้านกระรอก ได้เข้าไปจำลองการใช้ชีวิต จำลองเส้นทางที่กระรอกหรือกระแตเดิน ดูว่าบ้านกระรอกนี้มันแคบไปหรือเปล่า แล้วมาพูดคุยกันว่ามันเหมาะกับกระรอกจริงๆ ไหม ได้รู้สึกว่าที่นี่มันเป็นเหมือนโอเอซิสแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญกับกระรอกมากจริงๆ ค่ะ”







เปิดผัสสะสัมผัสธรรมชาติด้วยใจ โดย ต้น สุรศักดิ์ เทศขจร กระบวนกรประจำกลุ่ม Parkใจ
ชวนทุกคนนั่งล้อมวงพักผ่อนสบายๆ ก่อนเริ่มชวนให้เราใช้หัวใจทบทวนตัวเอง รับฟังผู้อื่น และเข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้น ไม่ว่าธรรมชาตินั้นจะคือพื้นดิน สายลม แสงแดด ต้นไม้ นกที่กำลังบินไปบินมา หรือแม้แต่มนุษย์อย่างพวกเราเองก็ตาม ในกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมจะได้ติดผัสสะสัมผัสธรรมชาติ ฝึกการมองแบบนกฮูก การฟังแบบกวาง มองดูรายละเอียดสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราอย่างช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบอย่างที่เป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อหวังว่าสุดท้ายแล้วทุกคนจะได้พักผ่อนทั้งกายและใจ อยู่กับตัวเองอย่างสงบโดยไม่ต้องเคร่งเครียดหรือกังวลกับปัญหาอะไรก็ตาม
“รู้สึกได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติจริงๆ อย่างตอนที่ให้ลองเดินไปหาต้นไม้ เรารู้สึกว่ามันมีเรื่องราวเยอะมากๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันตรงกับเรา พอเราลองจับมัน สัมผัสมัน มองที่ลำต้น มองที่พื้น มองข้างบน ก็เห็นว่ามีทั้งจุดที่อ่อนแอ จุดที่เข้มแข็ง”
“ได้มองได้ฟังอะไรละเอียด ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากขึ้น มีคนบอกว่าร่างกายไม่เคยพักขนาดนี้มานานแล้ว ก็รู้สึกว่ามีความสงบ ความสบายใจที่ได้อยู่กับตรงนี้ ได้อยู่กับธรรมชาติ”









บันทึกธรรมชาติฝึกใจให้ละเอียดและสงบ โดยครูกุ้ง ธัญลักษณ์ สุนทรมัฏฐ์
นักบันทึกธรรมชาติเจ้าของเพจบันทึกสีไม้ by ครูกุ้ง ขณะนี้กำลังยืนอยู่บนเนินสูงกว่าระดับพื้นปกติ พร้อมกระดานวาดรูปขนาดใหญ่และอุปกรณ์วาดเขียน ขณะเดียวกันด้านหน้าของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม ก็มีถาดสีและกระดาษเตรียมพร้อมแล้วเหมือนกัน กิจกรรมนี้เน้นให้ทุกคนได้บันทึกธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ เช่น Blind Contour คือการวาดรูปโดยไม่มองกระดาษและไม่ยกมือขึ้นจากเส้นที่ลาก เพื่อฝึกความกล้า ปล่อยวางจากความกลัวและโฟกัสไปที่การมองแบบ ส่วนการ Sit spot กับธรรมชาติ และวาดรูปบันทึกลงสมุดก็ช่วยให้เรามองอะไรละเอียดลึกซึ้ง และช่างสังเกตมากขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคนสัตว์หรือบรรยากาศก็ตาม
“ตอนเริ่มต้นกิจกรรม ครูกุ้งใช้เทคนิคการฝึกวาดคอนทัวร์ ตาดูสิ่งที่เราดู มือก็วาด แต่ต้องวาดแบบไม่มองกระดาษ ต้องไม่ดู ไม่ต้องควบคุมมันมาก เพื่อให้ปล่อยวาง มองให้ละเอียดขึ้น”
“ได้ให้เวลาตัวเองมาพักอยู่ในธรรมชาติ มาแล้วเรามีเวลากับตัวเองในการอยู่กับธรรมชาติจริงๆ เราจะทำสิ่งนี้ได้ เราก็ต้องอนุญาตตัวเองบ้างในการทำอะไรแบบนี้” เพื่อนๆ ส่วนหนึ่งเล่าให้พวกเราได้ฟัง













nature reconnect: เปิดประตูรับพลังจากธรรมชาติ โดย สิรามล ตันศิริ กระบวนกรด้านธรรมชาติ จากกลุ่ม Mycorling
“ถ้าเรามีคำถามในชีวิต คำตอบอาจอยู่ในธรรมชาติก็ได้”
กิจกรรมนี้จะชวนให้ผู้เข้าร่วมทุกคนมารู้จักกับ Nature Reconnect โดยการทำ Grounding คือการปล่อยให้ร่างกายของเราได้สัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าเปล่าบนดิน หรือนอนราบไปกับพื้นหญ้า เพื่อให้ทุกคนได้รับพลังจากธรรมชาติ
“ได้กลับมาอยู่กับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่งวันนี้ทำให้เรานึกถึงตอนเด็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในสวนกับเพื่อน พอโตมาเราก็ทำงานอยู่แต่ในห้องแอร์ โดนอะไรนิดหนึ่งเราก็จะบอกว่าร้อน พอได้เริ่มกิจกรรม มันเหมือนกับว่าธรรมชาติก็ส่งสัญญาณมา ว่าเขาต้องการอะไร และเราได้ฝึกที่จะ Reconnect กับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง”
ช่วงท้ายของวัน เรากลับมารวมตัวกันอีกครั้ง สรุปเรื่องราวที่ได้เจอ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติที่ได้ทำ และ “แผนที่ฮีลใจ Parkใจในสวน” ที่ได้ทดลองใช้
“การมาสวนสาธารณะก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม outdoor ที่ชวนคนมาสัมผัสธรรมชาติ ทุกคนรู้ว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ มีหลายคนมาแล้วก็อาจจะสงสัยว่าจะ connect กับธรรมชาติอย่างไร เลยมีโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่ามันมีเครื่องมือที่จะช่วยได้ ปีที่แล้วได้จัดโครงการนี้ไปถึง 5 สวนด้วยกัน วันนี้จึงจัดทำแผนที่รวมเอาไว้หมดแล้วว่าทำอะไรได้บ้าง อีกอย่างคือเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เราพึ่งพาเขาแต่เราไม่ค่อยใส่ใจ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ” บก. ดำ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ กล่าวเสริมช่วงท้าย
หวังว่ากิจกรรมวันนี้ จะทำให้ทุกคนสนใจธรรมชาติมากขึ้น เข้าถึง เข้าใจ และเห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในโลกใบนี้มากกว่าที่เคยเป็น ตามที่ บก. ดำ ทีมงาน Parkใจ และ สสส. ผู้สนับสนุนโครงการดีๆ นี้มองเห็น

สำหรับผู้ที่สนใจ “แผนที่ฮีลใจ Parkใจในสวน” และอยากทดลองใช้แผนที่
สามารถดาวโหลดแผนที่ ได้ ที่นี่
หรือติดตามกิจกรรมได้ที่ กลุ่ม Parkใจ