เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

แผ่นดินไหวใหญ่ กรุงเทพ 2568

เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่คนเมืองหลวงได้พบกับภัยที่พวกเขาคิดว่า “ไกลตัว” ที่สุด

แผ่นดินไหว (Earthquake)

13.20 น. – 28 มีนาคม 2568

รอยเลื่อนสะกาย รอยเลื่อนที่ทรงพลังที่สุดรอยหนึ่งของโลกขยับตัว

ผลคือแรงสั่นสะเทือนระดับ 8.2 ตามมาตราวัดริกเตอร์ หรือเท่ากับการระเบิดของนิวเคลียร์ 334 ลูก สั่นสะเทือนไป 7 ประเทศ

แน่นอนว่าจุดศูนย์กลาง ลึกลงไป 10 กม. บริเวณใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ทุกอย่างถูกเขย่าและถล่มราบลงกับพื้น

ห่างมาราวพันกิโลเมตร อาคารสูงในกรุงเทพสั่นไหว คอนโดหลายแห่งแกว่งราวกับถูกนิ้วดีด น้ำจากสระว่ายน้ำบนชั้นดาดฟ้าไหลลงมาราวน้ำตก ตึกแฝดที่มีทางเชื่อม ทางก็แทบจะหลุดออกจากกัน

ที่หนักที่สุดคือ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลงมา

อาฟเตอร์ช็อกยังตามมาเป็นระยะโดยเฉพาะในภาคเหนือ

เข้าสู่วันที่ 3 หลังแผ่นดินไหว การกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไป ถึงตอนนี้ (31 มีนาคม 2568) มีผู้สูญหายอยู่ระหว่างค้นหา 75 คน เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 9 คน (ไทยพีบีเอส,15.00 น.)

ในภาพรวมทั้งประเทศ เสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บ 33 คน สูญหาย 78 คน (บีบีซีไทย,30 มีนาคม 68)

ผู้คนยังหวั่นไหวกับการขึ้นตึกสูง ในวันที่ 31 มีนาคม ผู้คนจำนวนมากที่ทำงานในอาคารสูง ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เกิดการอพยพลงจากอาคารเนื่องจากไม่แน่ใจว่าตึกมั่นคงหรือไม่ รวมไปถึงสำนักงานอื่นๆ

บางตึกปรากฏรอยร้าวจำนวนมาก

จนทั้งนายกฯ และ ผู้ว่าฯ กทม ต้องยืนยันว่าอาฟเตอร์ช็อก ไม่ได้ส่งผลกับกรุงเทพฯ และอาคารที่มีการตรวจสอบแล้ว สามารถใช้งานได้ตามปรกติ

เราได้แต่เชื่อว่า หลังเหตุการณ์นี้สังคมไทยจะไม่ทำแค่ “ถอดบทเรียน” แล้วก็ลืมมันไป เหมือนกับภัยอื่นๆ ที่เคยคุกคามเรา