ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

1
หากจะมีภูเขาสักลูกในประเทศไทยที่มีลักษณะเป็น “ภูเขาหลังโรงเรียน” คล้ายการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อ “เขาโต๊ะกรัง” รวมอยู่ด้วย
เขาโต๊ะกรังตั้งอยู่กลางชุมชนระหว่างสองตำบลในสองอำเภอของจังหวัดสตูล ได้แก่ ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง กับตำบลควนโดน อำเภอควนโดน
เขาโต๊ะกรังฝั่งอำเภอควนกาหลงกับโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ โรงเรียนสอนศาสนาและวิชาสามัญที่มีนักเรียนประมาณ 1,700 คน อยู่ห่างกันประมาณ 300 เมตร ถือเป็นภูเขาหลังโรงเรียนที่มีความสำคัญทั้งในเชิงนิเวศวิทยาและคุณค่าทางจิตใจ ไม่ต่างจากภูเขาหลังโรงเรียนของเด็ก ๆ และชาวเมืองในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน

2
ย้อนเวลากลับไปในปี 2540 กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5 เพิ่มเติมแหล่งหินอุตสาหกรรมของจังหวัดสตูลอีก 1 แหล่ง ให้ “เขาลูกช้าง” หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ตามแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหารเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม
เขาลูกช้างเป็นหนึ่งในกลุ่มเขาประมาณ 6 ลูก ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน แต่ละลูกอยู่ห่างกันประมาณ 500-1,000 เมตร ประกอบด้วย 1) เขาโต๊ะกรัง 2) เขาพะเนียด 3) เขาลูกช้าง 4) เขาบูเก็ตยามู 5) เขาหาน และ 6) เขาวังตังกา
พื้นที่กำหนดให้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมตามเอกสารคือ “เขาลูกช้าง” แต่เมื่อพิจารณาตามข้อมูลแผนที่แหล่งหิน และแผนที่แบ่งเขตการปกครองกลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าภูเขาที่ถูกระบุในแผนที่แหล่งหินไม่ใช่ “เขาลูกช้าง” ซึ่งตั้งอยู่อำเภอควนโดน หากแต่เป็น “เขาโต๊ะกรัง” อำเภอควนกาหลง ภูเขาหินปูนหลังโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ

3
การประกาศพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเมื่อปี 2540 มีเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งจากความพยายามผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อพัฒนาเส้นทางเรือขนส่งสินค้าริมชายฝั่งทะเลอันดามัน และผลักดันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้
การพิจารณาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ทำให้ต้องหาพื้นที่สัมปทานเหมืองหินใกล้ ๆ เพื่อใช้เป็นแหล่งหินสำรองในการก่อสร้าง มีการจัดเตรียมแหล่งหินสำรองในจังหวัดสตูลถึง 8 แหล่ง และเขาโต๊ะกรังเป็นหนึ่งในนั้น
แม้ต่อมาโครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบาราจะถูกต่อต้านจากหลายภาคส่วนที่เรียกร้องให้คำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติและต้นทุนทางสังคมของจังหวัดสตูลจนโครงการต้องชะลอออกไป แต่พื้นที่แหล่งหินต่าง ๆ ในจังหวัดสตูลไม่ได้ถูกพิจารณาให้ยกเลิกตามไปด้วย

4
19 ปีหลังประกาศพื้นที่แหล่งหิน เดือนกรกฎาคม 2559 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูลรับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน จาก บริษัท ภูทองอันดา จำกัด เจ้าหน้าที่ทำการรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510
เมื่อทราบข่าวว่ามีภาคเอกชนเข้ามาขอสัมปทาน ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเขาโต๊ะกรังได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการยื่นคำขอประทานบัตร
ข้อสังเกตแรก ๆ คือ การยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน ไม่ตรงกับพื้นที่แหล่งหินตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5 ซึ่งประกาศในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลทุ้งนุ้ย อำเภอควนกาหลง คำขอดังกล่าวน่าจะต้องตกไป แต่กลับรับเป็นคำขอที่ 4/2559 ต่อมายังมีการเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่ตามคำขอเดิมอีกหลายครั้ง
เดือนกันยายน 2559 ชาวบ้านตำบลควนโดน อำเภอควนโดน และตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง รวมทั้งคณะครูโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ ซึ่งอยู่ใกล้เขตขอประทานบัตรเหมืองหิน ได้ทำหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรยื่นไปตามหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนโดน และนายอำเภอควนโดน เนื่องจากเห็นว่า การประกอบกิจการเหมืองหินจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพเกษตรกรรม และน่าจะมีผลกระทบด้านสุขอนามัย ยิ่งเมื่อพิจารณาในแง่มุมทางกฎหมาย น่าจะเข้าข่ายไม่สามารถให้อนุญาตประทานบัตรได้ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 ที่กำหนดให้ต้องปกป้องคุ้มครองฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น

5
เขาโต๊ะกรังเป็นภูเขาหินปูน และเป็นภูเขาลูกโดดกลางชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม บนภูเขามีสภาพป่าและสังคมพืชอันเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำ ตีนเขามีแหล่งน้ำซับซึม ป่าพรุ อันเปรียบเสมือนธนาคารน้ำ ต้นไม้บริเวณนี้บางชนิดมีรากอากาศ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของต้นไม้ในเขตน้ำท่วมถึง แอ่งน้ำและธารน้ำเล็ก ๆ ใต้เขาโต๊ะกรังรวมตัวกันไหลลงสู่ห้วยโซ๊ะซึ่งไหลไปรวมกับห้วยลำงัว จากนั้นไหลไปบรรจบกับคลองดูสนเหนือโรงสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค ถูกใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับการอุปโภคบริโภค
ข้อมูลในเอกสาร “11 เหตุผลต้องร่วมปกป้องเขาโต๊ะกรัง (เหตุผลที่ต้องถอดเขาโต๊ะกรัง จ.สตูล) ออกจากเขตแหล่งแร่ และแผนแม่บทแร่)” จัดทำโดย วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวิถีเกษตรกลุ่มเขาโต๊ะกรัง มูลนิธิอันดามัน มูลนิธิภาคใต้สีเขียว ฯลฯ ระบุว่าเขาโต๊ะกรังเป็นป่าน้ำซับซึมที่มีความสำคัญ
“เขาโต๊ะกรังเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำ และป่าน้ำซับซึม เข้าข่ายพื้นที่ห้ามกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อเพื่อการทำเหมือง ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560
รวมถึงเป็นแหล่งน้ำประปาของชุมชน “สายน้ำจากเขาโต๊ะกรังไหลไปยังคลองดูสนซึ่งเป็นแหล่งน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค”
อิบรอเหม เด็นสำลี สมาชิกกลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง เครือข่ายประชาชนที่รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2559 เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวหลังกิจกรรมสำรวจพันธุ์ไม้และความหลากหลายทางชีวภาพเขาโต๊ะกรัง เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 ว่า
“วันนี้เราไปเดินสำรวจป่าและคำนวณต้นไม้ จากที่เขาว่ามันไม่สมบูรณ์มันกลับกลายเป็นพื้นที่สมบูรณ์มาก เราตั้งบริเวณตารางนับต้นไม้ได้เกินมาตรฐานหลายต้น ยกตัวอย่าง ตะเคียนหิน ถ้าจะเอาให้หมดมันก็พบเป็นร้อยๆ ต้น นอกจากนี้มีต้นยวน ต้นขี้หนอน ไม้สาวดำ ไม้แดง ไม้พะยูง ต้นอึก บางต้นเส้นรอบวงมากกว่า 200 เซนติเมตร สูงถึง 30-40 เมตร เราพบไม้ในพื้นที่ภาคใต้หลายชนิดมาก”
คำกล่าวของอิบรอเหมดูจะสวนทางกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) กรณีเหมืองหินเขาโต๊ะกรังที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เมื่อช่วงปลายปี 2567 ระบุว่าเขาโต๊ะกรังเป็นป่าไม่สมบูรณ์ เป็นป่าเสื่อมโทรมพอที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้สัมปทานทำเหมืองหินได้

6
“เคยพานักเรียนมาทำกิจกรรม เดินไปรอบ ๆ ตีนเขา ยังขึ้นไม่ถึงบนยอดเขานะ แต่ครั้งนี้ไปหลายจุดมาก แล้วก็สำรวจแบบจริงจัง จะเห็นว่าผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณที่หลากหลาย รู้สึกว่าทรัพยากรธรรมชาติหรือต้นไม้บ้านเรายังมีคุณค่าเหลืออีกเยอะ”
อารีน่า ปะดุกา ครูโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ ให้ความเห็นระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมสำรวจพันธุ์ไม้และความหลากหลายทางชีวภาพเขาโต๊ะกรัง เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2568
“จริง ๆ แล้วการระเบิดหินมันควรจะอยู่ห่างจากชุมชนเป็นหลัก คิดว่าหัวข้อนี้มีความสำคัญมาก ถ้ามันจะถูกทำลายหรือต้องมาระเบิดก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”
นอกจากโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ ยังมีชุมชนอยู่รอบพื้นที่ขอประทานบัตรเขาโต๊ะกรังอย่างน้อย 5 ชุมชน ชุมชนใกล้สุดอยู่ห่างจากเขา 250 เมตร โรงเรียนรุ่งอรุณวิทยานุสรณ์ โรงเรียนทอฝันโรจนวิชญ์ โรงเรียนบ้านทุ่งตำเสา อยู่ในระยะ 500-1,000 เมตร
คำขวัญของจังหวัดสตูล คือ “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” ประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดริมทะเลอันดามันดำรงชีวิตด้วยระบบ “เศรษฐกิจ 3 ขา” ประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ภาคการประมง และภาคการท่องเที่ยว
ความคิดเห็นของครูอารีน่าน่าจะไม่ต่างจากคนทั่วไปที่ได้มาเยือนเขาโต๊ะกรัง
“ภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่กลางชุมชนที่มีคนอยู่อาศัย มีโรงเรียน มีหมู่บ้านล้อมรอบ การทำลายภูเขาจะทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน มันเด่นชัดมากที่จะต้องช่วยกันปกป้องพื้นที่ตรงนี้ ไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะครู ชาวบ้าน หรือนักเรียนโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยาฯ แต่อยากเชิญชวนคนทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ ทั้งโลกมาช่วยกัน ตอนนี้มลพิษหลาย ๆ อย่างกำลังทำร้ายชีวิตเรา ถ้าไม่ตระหนัก ไม่ให้ลูกหลานสำนึกหวงแหน ไม่ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ที่มันเหลืออยู่น้อยเต็มที มีอยู่อย่างจำกัด ปล่อยให้ภูเขาและผืนป่าถูกทำลายโดยง่าย มันก็น่าเป็นห่วงลูกหลานในอนาคต”

7
จังหวัดสตูลเป็นแผ่นดินหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ (Satun Geopark) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2562 องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม เขาโต๊ะกรัง รวมถึงแหล่งธรณีกลุ่มเขาลูกช้างที่รายล้อมไปด้วยขุนเขาหลายลูกในพื้นที่คาบเกี่ยวของอำเภอควนโดนกับอำเภอควนกาหลง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งธรณีวิทยาของยูเนสโก้
ในปีเดียวกับที่ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ ชาวบ้านอำเภอควนโดน และอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เริ่มรับรู้ว่าภูเขาในเขตชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัยกำลังจะถูกแปรสภาพจากภูเขาที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและโบราณวัตถุรอการสำรวจให้กลายเป็นเหมืองหิน
สมยศ โต๊ะหลัง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศแหล่งหินเกิดขึ้นในปี 2540 ก่อนที่จังหวัดสตูลจะได้เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ และอุทยานธรณีโลกหลายปี นั่นหมายความว่าเราเจอข้อมูลใหม่ที่มีความสำคัญ ซึ่งภาครัฐควรจะเอาเรื่องเหล่านี้มาทบทวนการให้สัมปทาน
“ภูเขาในสตูลเกือบทุกลูกน่าจะมีสิ่งที่มีความสำคัญทั้งทางธรรมชาติและโบราณคดี เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาที่น่าจะพัฒนาต่อยอดเรื่องของการท่องเที่ยวและการศึกษาเรียนรู้มากกว่า หากมีการระเบิดเขาโต๊ะกรังเพื่อทำเหมืองจะไม่ใช่แค่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน แต่คือการสูญเสียทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ทั้งในแง่การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางระบบนิเวศ”

8
ถ้ำและเพิงผา หินงอกหินย้อยที่สวยงามเป็นประกายแวววาวภายในเขาโต๊ะกรังมีลักษณะคล้ายถ้ำภูผาเพชร อำเภอมะนัง สถานที่ท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงของจังหวัดสตูล
ขุนเขาแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของเส้นทางน้ำสาธารณะประโยชน์ เป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่การเกษตร ประกอบด้วยสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว รวมถึงสวนผลไม้ อาทิ กระท้อนยักษ์ ซึ่งล้วนต้องอาศัยน้ำจากป่าน้ำซับ ป่าพรุ ลำห้วยที่ผุดจากเขาโต๊ะกรัง ชาวบ้านรอบ ๆ ยังได้อาศัยความอุดมสมบูรณ์ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ วัว แพะ ซึ่งเป็นอาชีพที่ดำเนินต่อมาหลายชั่วอายุคน
โต๊ะครูมูฮัมหมัด ปะดุกา ผู้บริหารโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิกล่าวว่าเขาโต๊ะกรังและขุนเขาต่าง ๆ เป็นสถานที่สำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
“ภูเขาอยู่กลางชุมชน แวดล้อมด้วยบ้านเรือน วันดีคืนดีผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนต่างถิ่นมาขอสัมปทาน ใคร ๆ ก็บอกว่ามารุกรานเอาพื้นที่ที่เราควรจะอนุรักษ์ใช้เป็นประโยชน์หลาย ๆ ด้านให้กับนักเรียน ไหนจะกิจกรรมลูกเสือ ไหนจะเป็นห้องเรียนธรรมชาติ เราไม่ได้คิดว่าจะต้องตั้งป่าชุมชนขึ้นมาเพื่อต้านการระเบิดภูเขา แต่โรงเรียนเคยทำกิจกรรมมาตลอด พานักเรียนไปตรวจดูพืช พาเดินขึ้นเขาทุกปี เราอยากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติตรงนี้เอาไว้”
9
หลายปีที่ผ่านมาคณะครูโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิจัดกิจกรรมเดินทางไกลพาลูกเสือ เนตรนารี และนักเรียนไปสำรวจพื้นที่ ศึกษาระบบนิเวศบริเวณที่เรียกว่า “ถ้ำค้างคาว” ถิ่นอาศัยของค้างคาวนับพันตัวซึ่งอาศัยอยู่ภายในถ้ำ
มลิวัลย์ กุลนิล ครูโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ เล่าว่าถ้ำค้างคาวเป็นบริเวณที่พบหินขนาดใหญ่เรียงเป็นชั้น ๆ นักเรียนแต่ละคนเมื่อไปพบก็รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจมาก
“เขาโต๊ะกรังเป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การพานักเรียนไปเรียนรู้ระบบนิเวศต่าง ๆ เปรียบเสมือนกับห้องสมุดมีชีวิต การพาเด็ก ๆ ไปพบเจอกับธรรมชาติที่สวยงามและสิ่งที่มีชีวิต ได้พบเจอพันธุ์ไม้หลายชนิด พบเจอถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย มันช่วยให้เด็ก ๆ หันมาสนใจธรรมชาติและถิ่นฐานที่อยู่รอบตัวมากขึ้น”
ไม่เฉพาะครูและนักเรียนโรงเรียนอรุณศาสน์วิทยามูลนิธิ เขาโต๊ะกรังยังถูกใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ
มาณี ฉัตรชัยวงศ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกลุ่มสถาบันวิทยาลัยชุมชน เคยให้สัมภาษณ์รายการเปิดปม ตอน “ชี้ชะตาเขาโต๊ะกรัง” ทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ระหว่างพานักเรียนเดินทางมาเรียนรู้นอกห้องเรียนจากฐานทรัพยากรของจังหวัด ศึกษาทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ เขาโต๊ะกรังว่า
“รายวิชาจังหวัดศึกษาพูดเรื่องจังหวัดสตูล สภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ตรงจุดนี้มีความสำคัญเรื่องสภาพภูมิประเทศ นักศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้จะได้ซึมซับเรื่องราวว่ารากเหง้า ตัวตนของเขา ซึ่งเป็นชาวสตูลมีความเป็นมาอย่างไร และคาดหวังว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อได้เรียนรู้แล้วเขาจะร่วมกันมีความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงประวัติศาสตร์ของจังหวัดสตูลด้วย”