
เกณฑ์การตั้งชื่ออย่างที่คนไทยนิยมใช้กัน คือการนำเอาคติเทวดาประจำวันจากคัมภีร์มหาทักษา มาซ้อนทับด้วยพยัญชนะวรรค ตามหลักภาษาบาลี แล้วผนวกรวมเข้ากับหลักทักษาพยากรณ์
- วันอาทิตย์ ครุฑนาม (นามครุฑ) ได้แก่สระทั้งหมด คือ อ อา อิ อี อึ อื อุ อู เอ โอ ใอ ไอ
- วันจันทร์ พยัคฆนาม (นามเสือ) พยัญชนะวรรค กะ ได้แก่อักษร ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง
- วันอังคาร สิงหนาม (นามราชสีห์) พยัญชนะวรรค จะ ได้แก่อักษร จ ฉ ช ซ ฌ ญ
- วันพุธ โสณนาม (นามสุนัข) พยัญชนะวรรค ฏะ ได้แก่อักษร ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
- วันเสาร์ นาคนาม (นามนาค) พยัญชนะวรรค ตะ ได้แก่อักษร ด ต ถ ท ธ น
- วันพฤหัสบดี มุสิกนาม (นามหนู) พยัญชนะวรรค ปะ ได้แก่อักษร บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม
- วันราหู (พุธกลางคืน) คชนาม (นามช้าง) เป็นเศษวรรค (๑) ได้แก่อักษร ย ร ล ว
- วันศุกร์ อัชนาม (นามแพะ) เป็นเศษวรรค (๒) ได้แก่อักษร ศ ษ ส ห ฬ
จากนั้นนำไปคำนวณกับเกณฑ์ทักษาพยากรณ์ คือ บริวาร-อายุ-เดช-ศรี-มูละ-อุตสาหะ-มนตรี และกาลกิณี โดยให้เริ่มจากวันที่เป็นวันเกิด ถือว่าเป็น “บริวาร” แล้วนับไล่ลำดับไปยังทิศต่างๆ ทั้งแปด
วิธีตั้งชื่อตามหลักทักษาพยากรณ์เช่นนี้ ตามหลักนิยมยุคโบราณ ชื่อผู้ชายให้ใช้อักษรวรรคเดชนำหน้า หรือขึ้นต้นชื่อ ส่วนชื่อผู้หญิงให้ลงท้ายด้วยอักษรวรรคศรี แต่หากมีข้อขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใด ก็สามารถเลือกเอาจากวรรคอายุ-เดช-ศรี-มนตรี ก็ถือกันว่าใช้ได้ เพียงแต่พึงงดเว้นอักษรที่นับว่าเป็นกาลกิณีเท่านั้น
เช่นเคย ถึงมีกฎเกณฑ์ มีตำรับตำราแล้ว คนไทยก็ยังหาวิธี “เลี่ยง” ได้อีก
ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่เกิดวันจันทร์ ซึ่งกาลกิณีไปตกอยู่ที่อาทิตย์ อันได้แก่สระทั้งหมด จึงเกิดปัญหาขึ้นว่าจะหาชื่ออะไรในภาษาไทยที่ไม่มีสระก็คงหาได้ยาก หรือหากจะมีบ้างก็น้อยเต็มที จึงนำไปสู่ข้ออนุโลมทำนอง “เลี่ยงบาลี” คือให้ใช้ “ไม้หันอากาศ” ในชื่อได้ ซึ่งว่าที่จริง ตามหลักภาษาไทย ไม้หันอากาศถือเป็นการลดรูปของสระ อะ แต่ในกรณีนี้ อธิบายกันว่า นั่นไม่ใช่ “สระ” เพราะไม่ได้เรียกว่า “สระ” แต่เรียกว่า “ไม้” ถือว่าใช้ได้
เกณฑ์ทักษาพยากรณ์ว่าด้วยการตั้งชื่อนี้คงมีต้นทางมาจากโหราศาสตร์ระบบพม่า เพราะคติเรื่องนี้ทางพม่าก็นับถือกันจริงจัง เช่นเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๔๐๕-๒๔๘๕) เสด็จประพาสเมืองพม่าตั้งแต่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี ๒๔๗๘ ทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพม่า” ตอนหนึ่งว่า “ฉันพึ่งทราบเมื่อไปคราวนี้ ว่าพะม่านับถือตำรานพเคราะห์อย่างเดียวกันกับไทยเรา เหมือนเช่นให้ชื่อคนก็ขึ้นด้วยตัวอักษรตามวรรคประจำวันเปนต้น ดูเหมือนพะม่าจะนับถือเทวดานพเคราะห์เสียยิ่งกว่าไทยเราอีก”
แต่เรื่องอย่างนี้ ย่อมต้องมีหมายเหตุตัวโตๆ ว่า “เป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล” ผู้ที่ไม่เชื่อไม่ทำตามก็คงมีอยู่ไม่น้อย เช่นมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของผู้เขียน บิดาของเธอไม่เลื่อมใสเรื่องพวกนี้เลย จึงจงใจตั้งชื่อลูกสาวซึ่งเกิดวันจันทร์เป็นชื่อสี่พยางค์ ให้มีสระกำกับครบทุกพยางค์ ปรากฏว่าเธอก็อยู่ดีมีความผาสุกมาหลายสิบปีจนบัดนี้