มหาทักษา 35 - พระพุทธรูปประจำวัน (2)

ถัดจากรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาอีกราวครึ่งศตวรรษ มีวรรณคดีเรื่องหนึ่งคือ “โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งบางท่านเชื่อว่าอาจเป็นร่องรอยหนึ่งว่าด้วยคติความเชื่อเรื่องพระประจำวัน

“โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์” มีเนื้อความกล่าวถึงพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เมืองอ่างทอง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถูกแม่น้ำกัดเซาะถึงพระวิหารจนผนังพังทลายและทำให้องค์พระมีรอยร้าว แม้คณะสงฆ์จะพยายามแก้ไขด้วยการสร้างเขื่อนถมดินก็ยังต้านทานกระแสน้ำไม่ได้ พระอธิการเจ้าอาวาสวัดป่าโมกจึงลงมาเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์จึงรับเป็นพระราชธุระในเรื่องนี้ โดยทรงมีพระบรมราชโองการให้พระราชสงคราม นายช่างหลวง ไปหาหนทางแก้ไข พระราชสงครามจึงให้รื้อพระวิหาร สกัดองค์พระให้แยกออกจากฐานเดิม ก่อนจะชะลอเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานยังสถานที่ซึ่งห่างไกลจากแม่น้ำ แล้วค่อยสร้างอาคารถาวรวัตถุต่างๆ ของวัดให้ใหม่จนสำเร็จเรียบร้อย

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพสรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เรียกกันต่อมาว่า “โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก”

ตอนท้ายของ “โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์” เป็นคำอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้ช่วยอภิบาลรักษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในจำนวนนั้นมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งหลายองค์ตรงกับพระพุทธรูปในกลุ่มพระประจำวัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

(พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร-พระประจำวันจันทร์)

ขอพรพระพุทธห้าม สมุทไทย
ห้ามชลาไลยไหล ขาดค้าง
ขอจงองค์ภูวไนย ทุกทวีป
ห้ามหายมลายล้าง นอกเนื้อในขันธ์

(พระพุทธรูปปางไสยาสน์-พระประจำวันอังคาร)

ขอพรพุทธภาคย์ให้ ไสยา
อสุรินทรจินตนามา ใฝ่เฝ้า
ขอจงองค์จักรา สุรภาพ
เกษมสานต์บานจิตร์เช้า ค่ำคล้อยนิจกาล

(พระพุทธรูปปางสมาธิ-พระประจำวันพฤหัสบดี)

ขอพรพระสมาธิน้ำ ในสาร
สมาบัติขัดญาณการ แก่นเกื้อ
ขอจงองค์บดีบาล ภูวโลกย์
ให้ได้อำมฤตยเนื้อ เนื่องน้าวไญยธรรม

(พระพุทธรูปปางรำพึง-พระประจำวันศุกร์)

ขอพระพุทธรูปเรื้อง รำพึง
ตรึกไตรในทวดึงษ์ ถ่องถ้วน
ขอจงทรงศักดิ์คำนึง ในน่าน
เสลขสลัดสัจธรรมล้วน เลิศเนื้อในผล

แต่เรื่องนี้ยังมีข้อให้โต้แย้งได้ เพราะนอกจากเนื้อความของโคลงแต่ละบทมิได้กล่าวเชื่อมโยงพระพุทธรูปปางต่างๆ เข้ากับเทวดานพเคราะห์ใดๆ แล้ว ในโคลงบทต่อๆ มา ยังมีคำอธิษฐานถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์แปดทิศ ฯลฯ ซึ่งย่อมไม่เกี่ยวข้องกับคติเรื่องพระพุทธรูปประจำวันแต่อย่างใด