ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
phuttaisawan

เคยมีผู้ลองรวบรวมสถิติจากธงชาติของทุกประเทศทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่ คือราวสามในสี่จะมีสีแดงในผืนธง

อาจเป็นเพราะว่าสีแดงสามารถแลเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล ขณะเดียวกันในทางจิตวิทยาของสี สีแดงให้ความรู้สึกคึกคักเร้าใจ ปลุกพลังให้ฮึกเหิม จนถึงเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย!

มีหลักฐานการใช้ธงสีแดงในเมืองไทยมานานแล้ว โดยเฉพาะในการศึกสงคราม ซึ่งมีการใช้ธงสีต่างๆ เพื่อระบุหมวดหมู่ในกองทัพ ให้อาณัติสัญญาณในการรบ โดยเฉพาะใช้นำทัพ และถือประกอบในกระบวนแห่

อย่างถ้าลองดูในจิตรกรรมฝาผนัง เราจะเห็นในภาพวาดเมื่อกองทัพยกไปรบกันก็มีแถวธงสีแดงสีเขียวมากมาย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๒๔๐๕ – ๒๔๘๖) ผู้ได้รับการถวายสมัญญา “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” เคยทรงอธิบายไว้ว่า

“ตามที่สืบสวนได้ความว่า แต่โบราณมาเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี…เรือกำปั่นเดินทะเลใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องหมาย ยังหามีธงชาติอย่างเช่นที่เข้าใจกันทุกวันนี้ไม่”

pradusonrtham

น่าแปลกใจว่า ทั้งที่สมเด็จฯ ท่านสันนิษฐานไว้เพียงว่า มีการใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องหมายประจำเรือของทางราชการ โดยมิได้เป็น “ธงชาติ” อย่างสมัยใหม่ แต่ข้อสันนิษฐานของพระองค์กลับถูกอ้างอิงกันต่อๆ มาจนถึงเดี๋ยวนี้ว่าแต่เดิม ธงชาติไทยคือ “ธงสีแดง”

เมื่อลองมองหาหลักฐานมาสนับสนุนเรื่องที่ว่าเรือเดินทะเลของสยามชักธงสีแดง ก็พบได้มากมายในภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่างๆ จนน่าสงสัยว่า คงไม่ใช่แต่เรือหลวงของทางราชการ แต่เรือทั่วไปก็คงใช้ธงแดงกัน ซึ่งว่ากันตามจริงก็คงระบุให้ชัดเจนลงไปได้ยาก ว่าธงอย่างที่เห็นนั้น ถือเป็น “เครื่องหมาย” หรือ “สัญลักษณ์” ของเรือจากกรุงสยาม หรือเป็นแค่การประดับตกแต่ง หรือเป็นเครื่องรางของขลังประจำเรือกันแน่ ?

นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึง “ธงแดง” ในเอกสารด้วย เช่น “จดหมายเหตุระยะทางพระอุบาลีไปลังกาทวีป”

ต้นเรื่องคือเมื่อปี ๒๒๙๕ ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลาย (ก่อนกรุงแตกไม่กี่ปี) มีการส่งคณะสงฆ์ไทยอันมีพระอุบาลีเป็นหัวหน้าทีม ไปช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาที่เกาะลังกา ซึ่งถูกฝรั่งเจ้าอาณานิคมเบียดเบียนจนกำลังใกล้จะเสื่อมสูญ ถึงขนาดไม่มีพระภิกษุสงฆ์จะกระทำอุปสมบท (บวช) ได้อีกต่อไป

ในจดหมายเหตุของราชทูตชาวอยุธยาซึ่งร่วมเดินทางไปกับพระสมณทูตชุดนั้น เล่าว่าระหว่างแล่นเรืออยู่ในทะเลชวา เกิดพายุใหญ่พัดแรงกล้าจนเสากระโดงกลางหัก และ “ธงแดงสำหรับพระราชสาส์นนั้นตกลอยน้ำไป”

จากข้อความนี้จึงหมายความว่าเรือซึ่งคณะทูตและคณะสงฆ์สยามจากอยุธยาโดยสารไปนั้น ได้อัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าอยู่หัวออกไปด้วย และมีการชัก “ธงแดง” จริง แต่น่าจะไม่ได้เป็นเพียงผืนผ้าสีแดงเปล่าๆ แต่คงต้องมีลวดลาย หรือเลขยันต์พิเศษบางอย่างกำกับอยู่ด้วย เพราะธงนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นเรืออัญเชิญพระราชสาส์น ซึ่งคนไทยโบราณนับถือว่าเป็น “ตัวแทน” ขององค์พระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

ดังนั้นจึงมิได้เกี่ยวข้องอะไรกับ “ชาติ” รวมถึงไพร่ฟ้าประชาชนชาวกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี