
ในยุคของกรมหลวงชุมพรฯ ราชนาวีสยามเป็นเพียงหน่วยงานระดับกรมและมีบุคลากรจำกัด บรรดานายทหารเรือจึงมักได้รับมอบหมายภาระงานให้ช่วยทำหน้าที่ “ครู” สอนนักเรียนนายเรือ ในวิชาที่ตนเองมีความรู้ความเชี่ยวชาญ
แม้ภายหลังเมื่อมีการแยกส่วนราชการชัดเจน และนายทหารส่วนมากมิได้ทำหน้าที่เป็น “ครู” อีกแล้ว ทว่าในกองทัพเรือยังคงรักษาประเพณีนิยมในการยกย่องนายทหารซึ่งมีชั้นยศหรือมีอาวุโสสูงกว่า ด้วยการเรียกขานว่า “ครู” หรือ “คุณครู” สืบมาจนปัจจุบัน
ซึ่งในทางหนึ่งเป็นเพราะนับถือกันว่าทุกท่านล้วนสืบทอดวิชาความรู้มาจาก “เสด็จในกรมฯ”
ทหารเรือทุกคนจึงล้วนสามารถนับเนื่องว่าตนเองคือ “ลูก-ศิษย์” ของกรมหลวงชุมพรฯ ผู้ทรงเป็น “ครูของครู”
พร้อมกันนั้น ในฐานะ “ครู”บรรดา “ลูกศิษย์” ล้วนจดจำได้ดีว่ากรมหลวงชุมพรฯ ทรง “ปากว่ามือถึง” เพียงใด ว่าที่จริง นี่คงไม่ต่างกับวิธีการศึกษาอบรมที่พระองค์เคยทรงได้รับมา ไม่ว่าจะในโรงเรียนกวดวิชาของนายลิตเติลจอห์น หรือระหว่างประจำการอยู่บนเรือรบราชนาวีอังกฤษ นาวาเอก สวัสดิ์ จันทนี เล่าว่า
“เสด็จในกรมฯ ท่านเป็นคนพระทัยเร็วชนิดปากว่ามือถึง เช่นบอกว่าเดี๋ยวพ่อเตะ พระองค์ก็เตะโครมเข้าให้แล้ว…เสด็จในกรมฯ ท่านเป็นคนโมโหเร็ว มีแปรงก็เอาแปรงขว้าง มีชอล์คก็เอาชอล์คขว้าง มีหางเชือกก็เอาหางเชือกฟาด พระองค์ไม่ใช่ตีเพราะความโกรธ ท่านทำโทษเพราะลูกศิษย์มันเซ่อ พอทำโทษแล้วท่านก็ลืม ไม่ถือพยาบาทต่อไป…”
ด้วยพระอุปนิสัย “พระทัยเร็ว” หรือ “ใจร้อน” ทำนองนี้จึงนำไปสู่ข่าวลือต่างๆ เกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรฯ
เรื่องหนึ่งที่เล่าสืบทอดกันมาช้านานคือเรื่องที่ว่ากรมหลวงชุมพรฯ เป็น “มือปืน” ผู้สังหาร “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง ตัวโปรดของรัชกาลที่ ๖ จะด้วยความหมั่นไส้ หรือเหตุอะไรก็สุดแท้แต่
ผู้เขียนเองเมื่อยังเด็กก็เคยได้ยินเรื่องเล่านี้จากผู้ใหญ่
ข่าวลือเรื่องกรมหลวงชุมพรฯ ยิงย่าเหลตาย ย่อมไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่คงกระซิบกระซาบ “ปากต่อปาก” มานานร่วมร้อยปีแล้ว ทว่าลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับเสด็จในกรมฯ เช่นพระยาหาญกลางสมุทร ยืนยันมั่นคงมาจนตลอดชีวิตของท่าน ว่าเป็นคำเล่าลือที่เหลวไหล และว่า “ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ก็ไม่ทรงสงสัย”
เหตุเรื่องสุนัขทรงเลี้ยง “ตัวโปรด” แต่กลับถูกคนยิงตายอยู่ข้างกำแพงวังเยี่ยง “หมาข้างถนน” นี้ สร้างความเจ็บช้ำพระราชหฤทัยให้แก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ในเวลาต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์รูปย่าเหลขึ้นที่หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทน์ จังหวัดนครปฐม พร้อมกับมีจารึกคำกลอน ซึ่งหลายคนคงเคยอ่านผ่านตา
“อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์ ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย โอ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เป็นหมา เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ…”
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ
บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว
สั่งซื้อหนังสือ