๒๔ ธันวาคม ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

ออกพระเมรุ และพระประวัติฉบับแรก

งานพระเมรุท้องสนามหลวงครั้งนั้นจัดขึ้นในช่วงฤดูแล้งตามธรรมเนียม โดยพระเมรุองค์เดียวกันถูกใช้เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์และศพขุนนางผู้ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์/ถึงแก่อนิจกรรม ช่วงปี ๒๔๖๕ – ๒๔๖๖ ต่อเนื่องกันถึง ๖ งาน ตลอดเดือนธันวาคม ๒๔๖๖ เรียงลำดับตามพระอิสริยยศ ได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย สมเด็จฯ กรมพระยาเทววะวงศ์วโรปการ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ กับกรมขุนมรุพงษ์สิริพัฒน์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ปิดท้ายด้วยงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)

ส่วนหนังสืออนุสรณ์ที่แจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ได้แก่ “จดหมายเหตุเรื่องเซอเชมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓” เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ประกอบกับพระประวัติของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงเป็นพระปิตุลา (อา) ของเสด็จในกรมฯ อันนับได้ว่าเป็นพระประวัติฉบับแรกสุด

ดังกล่าวมาแล้วว่าช่วงเดือนธันวาคม ๒๔๖๖ มีงานพระราชทานเพลิงพระศพ/ศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ต่อเนื่องกันถึง ๖ งาน ทว่าหนังสือที่ระลึกทุกงานล้วนมีผู้รับผิดชอบรายเดียวกันทั้งหมด ได้แก่หอพระสมุดวชิรญาณ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในฐานะ “สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ” ย่อมต้องทรงอำนวยการจัดทำหนังสือที่ระลึกทั้งหมด รวมถึงยังต้องรับหน้าที่เป็นผู้เรียบเรียงพระประวัติของแต่ละพระองค์ จึงสันนิษฐานได้ว่าทุกอย่างย่อมดำเนินการด้วยความเร่งรีบ เพราะแต่ละงานเว้นว่างห่างกันเพียงไม่กี่วัน จึงเป็นเหตุให้ทรงไม่มีเวลาตรวจสอบค้นคว้าเท่าใดนัก รายละเอียดหลายประการจึงอาจมีที่ตกหล่น หรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนเป็นธรรมดา แต่พระเกียรติคุณสำคัญของ “เสด็จเตี่ย” ที่สมเด็จฯ ทรงยกขึ้นมากล่าวถึง อยู่ในย่อหน้าท้ายสุด

“…กรมหลวงชุมพรฯ มีพระอัธยาศรัยอันเปนข้อสำคัญในพระคุณวุฒิ คือความซื่อตรงอย่างหนึ่ง ความกล้าหาญในบรรดาการซึ่งทรงทำ ด้วยหวังจะให้เกิดประโยชน์อย่างหนึ่ง ความสามารถซึ่งจะทำการอันทรงจำนงให้สำเร็จดังพระประสงค์อย่างหนึ่ง แลความโอบอ้อมอารีต่อมิตรไม่เลือกหน้าอย่างหนึ่ง อาศรัยพระคุณสมบัติดังกล่าวมานี้ จึงทรงสามารถทำราชการต่างๆ ซึ่งได้รับทำในหน้าที่ให้ลุล่วงดังได้กล่าวมาข้างต้น แลทรงศึกษาการอื่น คือวิชาช่างเขียน วิชาแพทย์ แลกระบวรมวยปล้ำ ตลอดจนวิชาดนตรี สันทัดแทบทุกอย่าง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่บุคคลทั้งหลายก็มิได้ทรงเลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ได้คบใครคงอารีดีด้วยทั่วไปมิได้ถือพระองค์ เพราะฉนั้น ไม่ว่าใครที่บรรดากรมหลวงชุมพรได้คบหาสมาคม จะเปนพระก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม เจ้าก็ตาม ไพร่ก็ตาม คงมีใจรักใคร่ไม่เลือกหน้า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบรรดาผู้ซึ่งได้คุ้นเคยกับกรมหลวงชุมพรฯ คงจะเห็นจริงด้วยดังกล่าวมาทุกประการ สิ้นเรื่องพระประวัติกรมหลวงชุมพรฯ เพียงเท่านี้…”


sadettia03
“เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรฯ

บทความชุดนี้มีต้นทางจากหนังสือพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ของผู้เขียน คือ “ให้โลกทั้งหลายเขาลือ” (พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สารคดี ๒๕๖๓ ราคา ๔๘๐ บาท) โดยเล่าเก็บความจากหนังสือ และเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังหนังสือตีพิมพ์ออกมาแล้ว

สั่งซื้อหนังสือ