หนอนแก้วหนอนนวล  (p.angkoon@gmail.com)

writer01WRITER ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔
บรรณาธิการ : บินหลา สันกาลาคีรี, พรชัย วิริยะประภานนท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ราคา ๑๐๐ บาท


“เราอยากเห็นไรท์เตอร์เป็นสถาบันหนังสือ…หนังสือเล่มนี้จะหมุนเวียนและจะอยู่ได้ในความเป็นจริง”

บรรณาธิการ WRITER แถลงในวันเปิดตัวหนังสือเมื่อ ๗ ก.ค. ๒๕๕๔

เมื่อคณะบรรณาธิการฝีมือดี บินหลา สันกาลาคีรี, พรชัย วิริยะประภานนท์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ จับมือกันฟื้น WRITER นิตยสารวรรณกรรมน้ำดีที่เคยมี ขจรฤทธิ์ รักษา กุมบังเหียนบรรณาธิการเมื่อปี ๒๕๓๕-๒๕๔๐ ก่อนจะปิดตัวลงหลังจากฉบับที่ ๔๓ วางตลาด  แต่ ๓ เดือนหลังจากนั้น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก็เข้ามารับไม้ต่อในช่วงปี ๒๕๔๐-๒๕๔๑  จากนั้นก็หายหน้าไปจากแผงหนังสือไทยเมื่อเดือนกรกฎาคมปี ๒๕๔๑

การกลับมาใน พ.ศ. นี้ บินหลา-หัวเรือใหญ่ของการฟื้น ไรท์เตอร์ ยุคปัจจุบันสะท้อนให้ฟังว่า “หนังสือดีมีอยู่ตลอดและหายไปตลอดเวลา นักเขียนไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เมื่อนักเขียนต้องการทำหนังสือเล่มนี้และต้องการไม่ให้มันหายไป ผมมองเห็นโมเดลธุรกิจว่าถ้าเรามีเงินทุนแล้วบริหาร หมุนเวียน จัดการหนังสือเล่มนี้ไม่ว่าผมหรือเพื่อนทำอยู่หรือไม่ แต่หนังสือก็ยังอยู่ได้ เราอยากเห็น ไรท์เตอร์ เป็นสถาบันหนังสือเหมือนกับที่ The Paris Magazine อยู่มาได้ ๘๐ กว่าปี  เราเชื่อว่าด้วยเงินทุนนั้นหนังสือเล่มนี้จะหมุนเวียนและจะอยู่ได้ในความเป็นจริง”

แน่นอนว่าการกลับมาของ ไรท์เตอร์ ในยุคนี้จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือโดยเฉพาะเงินทุน วรพจน์เล่าภาพความประทับใจเมื่อครั้งได้รับแรงสนับสนุนจากนักเขียนอาวุโสว่า “ผมไปบ้านพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ พี่สุจิตต์ถามว่าทำอะไรอยู่ ผมบอกทำหนังสือ ไรท์เตอร์  พี่สุจิตต์ถามว่าเอาเงินที่ไหนทำ ผมตอบว่าส่วนหนึ่งเป็นการเอาภาพคุณอุกฤษณ์ ทองระอา มาขาย เท่านั้นละพี่สุจิตต์ก็ปลดภาพจากข้างฝาส่งให้เลย บอกว่ามึงเอาไป ภาพนี้อยู่กับพี่สุจิตต์มา ๑๕ ปี เป็นรูปเขียนของ อุกฤษณ์ ทองระอา วันนั้นเป็นวันที่ซาบซึ้งมากที่นักเขียนอาวุโสเมตตา”

ต่อเรื่องนี้บินหลากล่าวว่า “เป็นการส่งความเต็มใจที่จะช่วยเหลือให้ตามสถานภาพ เราเกิดความรู้สึกอย่างนี้หลายครั้งระหว่างทำ ไรท์เตอร์  วันหนึ่งผมเอาภาพของคุณอุกฤษณ์ไปเสนอขายคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คุณไพบูลย์ไม่ได้ซื้อภาพแต่คุณไพบูลย์ตั้งมูลนิธิวาณิช จรุงกิจอนันต์ ขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักเขียน และนักเขียนที่ได้รับความช่วยเหลือกลุ่มแรกก็คือ ไรท์เตอร์  เราไม่ได้รู้สึกดีที่ได้รับเงินอย่างเดียว เรารู้สึกดีที่ได้รับการส่งต่อ รู้สึกถึงความผูกพันของคนวงการเดียวกัน แล้ววันหนึ่งเมื่อ ไรท์เตอร์ แข็งแรงพอเราก็คงทำตัวเป็นผู้ส่งต่อ ส่งต่อเรื่องนี้ให้แก่ใครหลายคน”

writer02ด้านพรชัยหรือที่รู้จักกันในนามปากกา “นรา” เท้าความถึงการจับมือกันฟื้น ไรท์เตอร์ ว่า “ผม บินหลา และวรพจน์ทำหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยกัน เป็นการทำงานที่ดีมาก ครั้งแรกที่บินหลาออกปากชวนทำ ไรท์เตอร์ ผมกับวรพจน์ตอบปฏิเสธทันที…แต่สุดท้ายก็มาร่วมเพราะความอยากเห็น ไรท์เตอร์ ของบินหลามันแรงมาก  ๑ ปีของการเตรียมงานมีความสุขมาก และเราคิดว่าความสุข
ของเราจะส่งไปถึงผู้อ่าน”

ไรท์เตอร์ จั่วหัวว่า “โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน ห้องเรียนนักฝัน” ลองพลิกดูในเล่มก็จะพบกับ

โลกนักอ่าน เปิดโลกนักอ่านให้เท่าทันวงการหนังสือด้วยรายงานพิเศษประจำฉบับ และพบกับคอลัมน์แนะนำหนังสือที่จะพาคุณโคจรไปพบกับหนังสือดีด้วยตัวคุณเอง

บ้านนักเขียน ไรท์เตอร์ เป็นพื้นที่ให้นักเขียนได้ประลองยุทธ์ทางงานเขียนของตน โดยมี ๑๑ นักเขียนชื่อดัง ชาติ กอบจิตติ, ประภาส ชลศรานนท์, แดนอรัญ แสงทอง, ศุ บุญเลี้ยง, อุรุดา โควินท์, โตมร ศุขปรีชา, ปราบดา หยุ่น, บัวไร, อุทิศ เหมะมูล, นิ้วกลม, มาลีวง มาวาดลวดลายประจำฉบับ นับเป็นกำไรของนักอ่านชั้นดี กระนั้นก็มีพื้นที่ให้นักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือเช่นกัน เรียกได้ว่าเหล่านักเขียนมาสังสรรค์กันผ่านตัวอักษร ดังปรากฏเรื่องสั้นพร้อมบทวิจารณ์ในเล่มเดียวกัน

ห้องเรียนนักฝัน บรรณาธิการยังแถลงว่าอยากให้ ไรท์เตอร์ เป็นเสมือนร้านกาแฟ “เราอยากให้นักเขียนหน้าใหม่ได้เจอกับบรรณาธิการ  เราจะทำกิจกรรมตลาดนัดต้นฉบับเดือนละครั้ง ให้นักเขียนกับนักวาดได้นั่งคุยกัน คนทำภาพประกอบได้มาแสดงตัวตน เพราะหนังสือไม่ใช่ตัวอักษรอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องความงาม”

นี่อาจเป็นความใฝ่ฝันเล็ก ๆ ของคนทำหนังสือ คนเขียนหนังสือ คนอ่านหนังสือ และคนในวงการหนังสือ ซึ่ง ไรท์เตอร์ หวังว่าจะเกิดขึ้นในสักวันหนึ่ง

  • ผู้สนใจสมัครสมาชิกได้ที่ ไรท์เตอร์ ตู้ ปณ.๑๓๙  ปณศ.รองเมือง ปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐ อีเมล writermagazine@gmail.com หรือ http://www.facebook.com/writermagazine