ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

ปัญหามลพิษข้ามแดนจริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณีแม่น้ำกกอยากชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหาหลักการไม่ต่างจาก scam center หรือยาเสพติด
ที่เรายังมีปัญหา scam center กันทุกวันนี้ แม้ตั้งองคาพยพต่าง ๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์อยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา ฝั่งปอยเปตของกัมพูชา อาชญากรอยู่ในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกับปัญหายาเสพติด เมื่อแหล่งผลิตอยู่นอกประเทศ ในรัฐฉาน ในเขตปกครองของกองกำลังว้า รัฐบาลไทยต้องคิดทบทวนเรื่องการแก้ไขปัญหาให้ดี ปลดล็อกให้ได้ว่าการแก้ไขปัญหาข้ามแดนต้องทำอย่างไร
จากประสบการณ์ของอาจารย์ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาเชิงข้ามแดน รัฐบาลมักมองว่าตนเองไม่สามารถแก้ไขไปถึงต้นตอได้ เพราะคิดว่าพื้นที่ปัญหาไม่ได้อยู่ในประเทศไทย อาจไม่ค่อยแฟร์ แต่เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ตอนที่หลิวจงอี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงของจีนเข้าพื้นที่ scam center เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา คนไทยฮือฮามากว่าทำไมอยู่ดี ๆ หลิวจงอี้บินมาประเทศไทยและบินไปที่แม่สอดจนเดินข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาเข้าไปในเมียวดีเพื่อเจรจากับหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กองกำลัง BGF (Border Guard Force หรือ กองกำลังพิทักษ์ชายแดนทางฝั่งเมียนมา) ทำไมเขาถึงทำได้
กลับมาประเด็นแม่น้ำกก ถามรัฐบาลว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่หัวหน้าหรือผู้นำรัฐบาลจะแต่งตั้งใครหรือคณะทำงานชุดใดขึ้นมา ด้วยลักษณะวัฒนธรรมของไทย ระบบราชการแบบไทยต้องมีหัวหน้า มีเจ้าภาพ ตราบใดไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีคณะทำงานจริงจัง โอกาสแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทำงานสอดประสานกันมันเป็นไปได้ยาก แม้แต่มีเจ้าภาพแล้วหลายครั้งเจ้าภาพก็บ่นว่าการจะทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ยังเป็นไปได้ยากเลย
จริง ๆ แล้วพื้นที่ชายแดนมีการทำงานเชิงบูรณาการของหลายหน่วยงาน เช่น ศูนย์สั่งการชายแดน หรือกลไกใหม่อย่าง ศอ.ปชด. (ศูนย์อำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน) ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการปัญหาชายแดนแบบบูรณาการ เราต้องถามตัวเองก่อนว่า ศูนย์สั่งการชายแดนยึดอยู่กับประเด็นปัญหาบางอย่างหรือเปล่า เพราะภัยคุกคามของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาใหม่ ๆ ทั้งสิ้น
เราไม่เคยเจอว่าอยู่ดี ๆ แม่น้ำในเชียงราย เชียงใหม่ เกิดมลพิษระดับที่ชาวบ้านไม่สามารถอุปโภคบริโภคได้ เราไม่เคยเจอ scam center ที่หลอกเงินคนตัวเล็กตัวน้อยไปเป็นแสน ๆ เราไม่เคยเจอปัญหายาเสพติดเข้มข้นขนาดนี้
สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาความมั่นคงระดับ 5 ดาว มลพิษข้ามแดนครั้งนี้ไม่ได้กระทบแค่ 1 หรือ 2 หมู่บ้าน แต่กระทบคนหลักล้าน ๆ ที่อาศัยในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ และด้วยลักษณะปัญหาที่มีทุนจีนเข้ามา คาดการณ์ได้เลยว่าในอนาคตมันจะรุนแรงขึ้นแน่นอน ถ้าไม่แก้ไขไม่พยายามเจรจาหรือทำอะไรเพื่อยุติปัญหาในพื้นที่ต้นทาง
เชื่อหรือไม่ว่า scam center ฝั่งเมียวดีของเมียนมาเพิ่งเริ่มดำเนินการจริงจังหลังโควิด จากจุดเล็ก ๆ เท่านั้น เคยมีคนเตือนรัฐบาลไทยมาตลอดว่าถ้าคุณปล่อยให้มันเติบโต มีตึกเพิ่มขึ้นทุกวัน จะปราบปรามตอนมี 30-40 ตึกแล้วจะเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่แค่สงสารชาวบ้าน อยากร้องขอในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งว่ารัฐบาลจะปล่อยให้ปัญหารอการแก้ไขต่อไปไม่ได้แล้ว
ทางแก้ไขปัญหาอันดับแรกเลย รัฐบาลต้องปลดล็อกและแสดงความจริงใจกับสังคม ต้องไม่ปฏิเสธว่าปัญหาลุ่มน้ำกกเป็นภัยความมั่นคงขั้นสูงสุด กระทบชีวิตและความเป็นอยู่ประชาชนร้ายแรงไม่ต่างจากภาวะสงคราม ฝั่งชายแดนภาคตะวันออกที่กำลังมีปัญหากัน ไม่ได้มีประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ไม่ได้มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นล้าน ๆ คนแบบนี้ นี่ไม่ได้เปรียบเทียบเพื่อให้มีความรู้สึกว่าฝั่งนี้มากกว่า ฝั่งนั้นน้อยกว่า แต่ให้เห็นภาพว่าจริงอยู่ยังไม่มีคนตาย ยังไม่มีคนที่ผิวหนังไหม้ แต่นี่คือปัญหาที่สะสมในระยะยาว ถ้าเราทิ้งไว้ 5 ปีหรือ 10 ปี พื้นที่ตรงนี้อาจจะมีคนป่วยทั้งหมู่บ้านก็เป็นไปได้
เราชอบพูดถึงการส่งเสริมศักยภาพ การทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข แต่ตอนนี้ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ แล้วก็ไม่มีความสุข แล้วรัฐบาลทำอะไรอยู่ เข้าใจว่าหน่วยงานท้องถิ่นพยายามทำดีที่สุด แต่ด้วยลักษณะของรัฐบาลแบบไทย ๆ ถ้าข้างบนไม่สั่ง ข้างล่างทำอะไรได้ยาก
อยากให้รัฐบาลเล็งเห็นว่าปัญหามีความสลับซับซ้อน และจำเป็นต้องมานั่งคิดกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่พูดไปวัน ๆ หรือดื่มน้ำประปาโชว์ว่าเป็นน้ำสะอาด น้ำดีที่สุด ปลอดภัย ต้องเริ่มจากยอมรับก่อนว่าปัญหามันเกิดขึ้นจริง ยอมรับให้ประชาชนเห็นก่อนว่าพอมีปัญหาจริง รัฐบาลก็จริงใจในการแก้ไขปัญหา
ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดคือการดีลหรือขบปัญหาเกี่ยวกับว้าแดง รัฐบาลหรือคนทำความเข้าใจต้องยอมรับก่อนว่าว้าไม่ได้เป็นประเทศ ปัญหาเชื่อมโยงกับว้าแดงซึ่งไม่ได้เป็นประเทศ การให้รัฐบาลไทยส่งคณะทูตพิเศษเพื่อไปพูดคุยกับว้าอย่างเป็นทางการรัฐบาลไม่มีวันทำ เพราะเป็นการส่งคนไปคุยกับคนในระดับที่ไม่ได้มีสถานะเชิงกฎหมายระหว่างประเทศที่เท่ากัน ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถปลดล็อกตรงนี้ การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก
แม้ว่ารัฐว้าจะไม่ใช่ประเทศก็จริง แต่เราจำเป็นต้องพูดคุย อาจส่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. หรือใครก็ตามเข้าไปพูดคุยกับเขาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเวลาทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเมียนมาที่เป็นชนกลุ่มน้อยจะกลัวรัฐบาลที่เนปิดอว์ไม่สบายใจ แต่เรื่องว้าขอฟันธงเลยว่า รัฐบาลเนปิดอร์ก็ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรในพื้นที่ของว้าได้ เพราะเขามีความเกรงใจกันอยู่ ว้าเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เข้มแข็งและร่ำรวยที่สุดในประเทศเมียนมา มีทรัพยากรบุคคล มีทรัพยากรธรรมชาติ มีโรงงานผลิตสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ ขายสินค้าในตลาดมืดให้กับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ ความร่ำรวยของว้าทำให้รัฐบาลเมียนมาที่เนปิดอร์ก็ไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง
การส่งคนไปคุยกับว้า เราทำได้ หลายคนอาจไม่ชอบ แต่มันเป็นเรื่องจริง เราอาจต้องส่งสัญญาณไปถึงเนปิดอร์สักนิดว่าขอคุยกันนะ เพราะนี่คือความมั่นคงของไทย ถ้าไม่หนักหนาสาหัสเกินไป เนปิดอร์ให้คุยแน่นอน แต่เราต้องกล้าพอที่จะบอกว่าชาวบ้านของเรากำลังเดือดร้อน จากเหมืองที่พวกคุณอนุญาตให้คนจีนเข้ามาทำ ชาวบ้านของเราตายผ่อนส่งไปวัน ๆ แล้วเราก็นั่งท่องว่าว้าไม่ใช่ประเทศ ว้าไม่ใช่รัฐ เราจะคุยกับว้าได้ยังไง ต้องปลดล็อกตรงนี้ก่อน ถ้าปลดล็อกไม่ได้ แล้วไม่มานั่งขบคิดอย่างจริงจังเพื่อช่วยชีวิตประชาชนของเรา โอกาสทำงานที่หนักหนาต่อไปมันยากมาก

เหตุใดอาจารย์ถึงเปรียบเทียบกรณีมลพิษแม่น้ำกกกับศูนย์หลอกลวงทางไซเบอร์ scam center และปัญหายาเสพติด
ที่เปรียบเทียบปัญหาแม่น้ำกกกับ scammer และยาเสพติด เพราะมันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศของเราตั้งแต่ต้น มันเป็นปัญหาที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน จากความไม่มีเสถียรภาพ ภาวะสงครามภายใน ส่งผลให้รัฐบาลทหารที่ปกครองโดย SAC (State Administration Council) ของมิน อ่อง หล่าย ไม่สามารถปกครองพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยได้ ซึ่งเอาจริงๆ พื้นที่ว้า รัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ยุค SPDC (State Peace and Development Council) ก็ไม่สามารถปกครองได้ เพราะเขามีดีลในเชิงการเมืองกัน ให้ว้าปกครองเป็น SAD (special administrative division) เพราะเขารู้ว่าว้ามีทรัพยากร จีน back อยู่ ก็เลยไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง แล้วให้ว้าเป็นเหมือนพื้นที่รัฐกันชนระหว่างตัวเขากับจีน จีนเองก็ต้องการให้ว้าเป็น proxy และเป็นรัฐกันชนกับเมียนมา
การพูดคุยกับรัฐบาลเนปิดอว์ของเมียนมา กับรัฐบาลจีนที่ปักกิ่งมีความแตกต่างกันยังไง
สำคัญคนละมิติ สำหรับเนปิดอว์ถ้าเราคุยกับเขาก็เหมือนยืนยันว่าเกิดปัญหามลพิษข้ามแดนมาถึงพื้นที่ของเรา ขอไทยคุยกับว้า เป็นเหมือนมารยาทเวลามีเจ้าบ้านอยู่
นี่คือเราไม่ได้ถกเถียงกันแล้วนะว่าตกลง มิน อ่อง หล่าย เป็นเจ้าบ้านหรือเปล่า แต่รัฐไทยมองว่ามิน อ่อง หล่าย เป็นเจ้าบ้าน ดังนั้นเราก็ต้องติดต่อเจ้าบ้าน เมื่อลูกบ้านของเขาสร้างปัญหาให้เรา
สมมุติมีลูกบ้านตั้งตัวเป็นมาเฟีย เป็นยากูซ่า แล้วเจ้าบ้านไม่รู้จะทำยังไงกับลูกบ้าน ไทยจะไปคุยกับใคร ? เราก็ต้องคุยกับอีกแก๊งค์ที่ควบคุมลูกบ้านตรงนั้นอยู่จริงไหม ? เพื่อให้เขาช่วยจัดการและพูดคุยให้ หรือคุยกับตัวลูกบ้านเองว่าคุณช่วยทำให้ปัญหานี้ลดลงได้ไหม คุณต้องการทรัพยากรอะไรจากไทยบ้าง คุยกับว้าต้องมีการยื่นหมูยื่นแมว ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เราไปเอาจากเขาแล้วเขาจะให้ ว้าเป็นคนรวยนะ เป็นคนที่มีทรัพยากรต่าง ๆ ถ้าไทยเดินดุ่ม ๆ ไปบอกว่าฉันจะเอาอย่างนั้นฉันจะเอาอย่างนี้โดยไม่เข้าใจเขา โอกาสที่จะได้ผลมันก็น้อย
ส่วนการพูดคุยกับจีนต้องเลิกมองว่าจีนเป็นพี่ใหญ่ ต้องมองว่าจีนคือคนที่ต้องรับผิดชอบ ควบคุมนักธุรกิจของตัวเองที่เข้ามาลงทุน ให้ทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
อาจารย์เปรียบเทียบปัญหาแม่น้ำกกว่าเหมือนกับสงคราม เคยเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมใดใกล้เคียงพอจะเปรียบกับสงครามอีกบ้าง
ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหามลพิษข้ามแดนเหมือนกัน
แม่น้ำกกกำลังเผชิญปัญหาปนเปื้อนสารพิษ กรมควบคุมมลพิษตรวจพบสารหนู ตะกั่ว โลหะหนักอื่น ๆ ในปริมาณสูงเกินมาตรฐาน โดยมีต้นตอจากการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา สารพิษต่าง ๆ ไหลลงสู่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาขา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ รวมถึงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสัตว์
ปัญหาแม่น้ำกกเป็นปัญหาข้ามพรมแดน ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากแม่น้ำกกมีต้นกำเนิดจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลผ่านจังหวัดเชียงรายลงสู่แม่น้ำโขง
หมายเหตุ : ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำกกร่วมกับคณะสื่อมวลชนวันที่ 4-5 มิถุนายน 2568
ขอขอบคุณ : มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ), International Rivers และสำนักข่าวชายขอบ