เรื่องและภาพ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
เคยเป็นไหม
ทุกครั้งที่ดูภาพถ่ายเก่าขาวดำ
จะเกิดความรู้สึกบางอย่างที่อธิบายเป็นคำพูดได้ยาก
คล้ายดั่งภาพฝัน ในความทรงจำแหว่งวิ่นหลังตื่นจากหลับใหล
ทุกสิ่ง พร่าเลือน ซ้อนทับ และซ่อนงำ
สับสน ระหว่างความจริงกับความมีอยู่
ขณะที่ภาพยืนยันสายตาว่า “พวกเขามีตัวมีตนอยู่จริงๆ”
แต่ ณ กาละ-มณฑลนี้ เราก็รู้ว่าพวกเขานั้น
“ไม่ดำรงอยู่แล้ว…”
เราเกิดความปรารถนาลึกๆ ภายใน
ที่จะพบบางสิ่งบางอย่างระหว่างภาพนั้นกับความจริง
แม้ที่สุดแล้ว อาจไม่สามารถจับต้องสิ่งใดได้เลยก็ตาม
ความรู้สึกพิเศษ อันแสนซับซ้อนนี้
ยิ่งเด่นชัด
และน่าหลงใหล
ระหว่างเดินชม นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำจากฟิล์มกระจก
Glass Plate Negatives: Circles of Centres
ชั้น ๙ หอศิลป์กรุงเทพ
ซึ่งชุดภาพทั้งหมดวาง Centre – “ศูนย์กลาง” ไว้ที่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
คัดสรรและประมวลภาพจัดแสดงโดยภัณฑารักษ์ คือท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน
เราอาจเดินชมภาพทั้งหมด โดยไม่ต้องรู้เบื้องหลังใดๆ ในความคิดของภันฑารักษ์
ปล่อยให้ภาพแต่ละภาพ สร้างบทสนทนากับตัวเรา
ตามแต่ ความทรงจำ ความรู้สึก ความรับรู้ และประสบการณ์ของแต่ละคน
แต่ละภาพ ก่อเกิดปฏิกิริยากับเรา มาก น้อย แตกต่างกันไป
หากความเข้าใจ ความซาบซึ้ง อาจดิ่งลึกขึ้น
เมื่อได้อ่านคำบรรยายของภัณฑารักษ์
ตั้งแต่ตรงจุดเริ่มต้นนิทรรศการ และคำเกริ่นนำของชุดภาพ
ซึ่งแบ่งเป็นห้าบท – ระหว่างห้ามณฑลของพื้นที่จัดแสดง
สาระสำคัญท่อนหนึ่ง บันทึกว่า
“ภาพถ่ายในนิทรรศการนี้บันทึกช่วงเวลาสำคัญโดดเด่นของสยาม
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นโลกเปี่ยมพลังศักดิ์สิทธิ์
ประกอบด้วย ‘วงกลมแห่งศูนย์กลาง’
เมื่อก้าวจากศูนย์กลางไปสู่ชายขอบ ก็ไม่มีพิกัดละติจูดหรือลองจิจูด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถิต ณ ศูนย์กลางของสยาม
ทรงเผชิญและจัดการกับความซับซ้อนของภูมิทัศน์การเมืองอันผันแปร
เรื่องราวนี้ไม่ได้มีเพียงมิติเดียว หากแต่มีหลากมิติ
ประกอบด้วยโครงสร้างแห่งอำนาจและ ‘กลิ่นหอมหวลอบอวล’ ที่นิยามไม่ได้
สิ่งที่มักถูกมองข้ามนี้เอง คือสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้พระองค์ทรงกระทำในสิ่งที่ต้องทำ
หรือสิ่งที่ทราบกันว่าเป็น “เหตุผล” ของพระองค์…”
(จาก บันทึกนิทรรศการ – ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน)
วงกลมศักดิ์สิทธิ์นั้นเรียกว่า มันดารา (mandala)
จากบทที่ ๑ การผสมผสานระหว่างเกล็ดเงินและแสง บทที่ ๒ เศษเสี้ยว
บทที่ ๓ วงกลมแห่งศูนย์กลาง บทที่ ๔ การเสด็จประพาสปักษ์ใต้และดินแดนอื่น
ดึงดูดเราให้ดำดิ่งไปในแต่ละห้วงเวลา ผู้คน และสถานที่
“เมื่อก้าวออกจากศูนย์กลางของสยามไปสู่ชายขอบ จะไร้สำนึกของสถานที่ ไร้เขตแดน ไร้พิกัดละติจูดหรือลองจิจูด…”
รอยด่างดวง เส้นริ้วและรอยแผล ฉาบเปื้อนบนภาพถ่ายแต่ละภาพ
ราวกับความทรงจำแหว่งวิ่นหลังตื่นจากหลับใหล
พร่าเลือน ซ้อนทับ และซ่อนงำ
ถึงบทจบ บทที่ ๕
ความรู้สึกพิเศษที่มีต่อภาพถ่ายเก่าของเรา ได้รับการอธิบายผ่านคำว่า Punctum
“จู่ๆ สิ่งหนึ่งในภาพก็ดูเหมือนพุ่งทะลุออกมาราวกับลูกศร แทงทะลุผู้ชม
เป็นสิ่งที่โรล็องด์ บาร์ตส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส กล่าวว่ามีคำภาษาละติน
ที่อธิบายการพุ่งแทงทะลุนี้ นั่นคือ the punctum
สิ่งนี้เองคือสิ่งที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณของผู้ชมเข้ากับภาพถ่าย”
คำอธิบายที่เข้าใจได้ยากนั้น
ยืนยันด้วยภาพหนึ่งบนผนัง ที่แทงทะลุ สะกดให้เรายืนซึม
ระลึกถึงทุกภาพที่ผ่านตา และทุกสิ่งที่พระองค์ต้องเผชิญมา
“ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฏเมื่อเวลาตายแล้วว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้” – พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๗
.
ส่วนสำหรับคุณจะเป็นภาพไหน
คงต้องหาเวลาไปสนทนากับภาพชุดนี้ และค้นพบภาพที่จะทิ่มแทงตัวคุณ
ด้วยตัวคุณเอง
ก่อนนิทรรศการจะสิ้นสุด วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๘
ขอขอบคุณ
- ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน
- เกล้ามาศ ยิบอินซอย
- รศ.ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ
- จิตรทิวัส พรประเสริฐ
…
ภาพลำดับต่อไปนี้
คือความรู้สึกพร่าเลือนและหลงใหลที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวกับผู้เขียน
ในนิทรรศการ Glass Plate Negatives: Circles of Centres
ซึ่งขอนำมาแบ่งปัน































