วิกฤติน้ำท่วม ๒๕๕๔ บทเรียนและแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ผมอาจจะโชคดีกว่าหลายคน ตลอดระยะเวลาสามสี่เดือนที่ผ่านมา  ผมได้มีโอกาสสัมผัสเหตุการณ์และติดตามเรื่องราวของอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยในรอบห้าสิบปี ตั้งแต่พายุหลายลูกได้พัดเข้าประเทศไทย เกิดน้ำไหลหลาก กลายเป็นกองทัพน้ำเริ่มท่วมจังหวัดทางภาคเหนือและไหลลงมาท่วมทุ่งภาคกลาง เข้าสู่กรุงเทพมหานคร  ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหกร้อยคน และความเสียหาย๑.๓ ล้านล้านบาท นับเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้

ผมมีข้อสังเกตบางประการที่อยากมาเล่าสู่กันฟัง

ตั้งแต่กลางปีนี้มาจนถึงเดือนตุลาคม มีพายุที่ก่อตัวแถวทะเลจีนใต้พัดเข้าเมืองไทย ๕ ลูก คือ พายุ ไหหม่า  นกเตน  เนสาด ไห่ถางและนาลแก แต่เอาเข้าจริงแล้ว พายุส่วนใหญ่อ่อนกำลังลงเมื่อพัดผ่านประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และลดกำลังเป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำเมื่อเข้าสู่บ้านเรา มีเพียงพายุนกเตนเท่านั้น สามารถแผลงฤทธิ์ได้เต็มที่เกิดฝนตกหนักบริเวณตอนเหนือ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ผมจำได้ว่าเมื่อพายุนกเตนมาเยือนจังหวัดน่านพร้อมพายุฝน ในฐานะคนทำงานข่าวเราได้รับรายงานเรื่องดินถล่มจากภูเขาบ่อยมาก ซึ่งเกิดที่หลายจังหวัดทางภาคเหนืออย่างผิดปรกติทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก

ปัญหาดินถล่มเป็นเรื่องที่มีคนตั้งข้อสังเกตไม่นาน แสดงว่าบริเวณภูเขาที่เคยมีป่าปกคลุมและรากหยั่งลึกช่วยยึดดินไม่ให้ถูกน้ำกัดเซาะได้ง่ายน่าจะถูกทำลายมากขึ้น และเมื่อทีมข่าวขึ้นไปสำรวจบริเวณป่าต้นน้ำบนยอดดอยหลายแห่งของจังหวัดน่าน ภาพที่ปรากฎคือสภาพป่าถูกบุกรุกทำลาย เปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ไร่ถั่วเหลืองกันสุดสายตา

“บริษัทอุตสาหกรรมการเกษตร มีส่วนในการทำลายป่าทางอ้อม ด้วยส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกร เป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านต้องไปบุกรุกป่า และยังรับซื้อ รับประกันราคาข้าวโพด ถั่วเหลืองจากเกษตรกร ไม่นับรวมการส่งเสริมปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ทำให้บริเวณพื้นที่สูงมีสารเคมีตกค้างมากขึ้นเรื่อย ๆก่อนจะถูกน้ำฝนละล้างลงมาสู่เบื้องล่าง”  นักอนุรักษ์คนหนึ่งได้กล่าวสรุปให้ผมฟังเมื่อไม่นานมานี้

เมื่อไม่มีต้นไม้ใหญ่อุ้มน้ำบนภูเขา ปริมาณน้ำฝนที่ค่อย ๆ ถูกเก็บกักไว้ในป่าราวกับเขื่อนตามธรรมชาติ ก็ไหลชะล้างดินลงมาสู่เบื้องล่างอย่างรวดเร็วด้วยปริมาณมหาศาล แทนที่จะค่อย ๆ ไหลลงมาเหมือนในอดีต

น้ำท่วมใหญ่ที่เพิ่งผ่านมา เราคงได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรหลายแห่ง ออกตระเวณ แจกถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ถูกน้ำท่วม โดยจะรู้หรือไม่ก็ตามว่า บริษัทเหล่านี้มีส่วนในการทำลายป่าต้นน้ำและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำในแม่น้ำมีปริมาณมากขึ้นจนรวมตัวกลายเป็นกองทัพน้ำมหึมาหลั่งไหลลงมาทางใต้เป็นพลังมหาศาลที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนถึงอำนาจของมัน

 

“คุณรู้ไหม ตั้งแต่มีการตั้งอบต. น้ำท่วมมากขึ้นทุกปี”

อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่ง ได้กล่าวปริศนาในวงข้าวกลางวัน กลางห้องเรียนแห่งหนึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ที่เป็นจังหวัดแรก ๆที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมราวปลายเดือนสิงหาคม

เขาอธิบายต่อไปว่า สมัยก่อนเมื่อมีน้ำเหนือหลากลงมา น้ำในแม่น้ำ ลำคลองจะล้นตลิ่งเอ่อท่วมเรือกสวน ไร่นาสองข้างทาง เป็นน้ำท่วมทุ่งนำแร่ธาตุปุ๋ยตะกอนดินมาให้พืชไร่ เป็นการกระจายมวลน้ำตามธรรมชาติ ยกเว้นบริเวณที่เป็นชุมชนหรืออำเภอเมืองจะมีการทำคันกั้นน้ำ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น อบต.แต่ละแห่งมีงบประมาณเป็นของตัวเอง ชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลและหมู่บ้านที่มีแม่น้ำไหลผ่านก็จะสร้างคันกั้นน้ำตลอดแนว ไม่ยอมให้มีน้ำท่วมสองฟากฝั่ง น้ำเหนือไม่อาจกระจายไปท่วมทุ่งได้เหมือนเดิม จึงไม่สามารถลดปริมาณน้ำในแม่น้ำที่จะไหลลงไปทางใต้ได้เหมือนในอดีต

“สภาพมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คุณสังเกตสิน้ำทางเหนือจะถูกบีบให้อยู่แต่ลำน้ำ และผมคิดว่าปีนี้คนทางภาคกลางจะโดนน้ำท่วมหนักแน่”  คำทำนายของอดีตผู้ว่าฯท่านนี้เป็นจริง หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อมวลน้ำจำนวนมากได้ไหลเข้าท่วมตัวเมืองนครสวรรค์อย่างหนักและกองทัพน้ำได้หลั่งไหลเข้าท่วมจังหวัดภาคกลางอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าปริมาณน้ำปีนี้มากที่สุดในรอบห้าสิบปีจากฝนตกหนักติดต่อกัน ตกทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนหลายแห่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อย่างต่อเนื่องถึงวันละร้อยกว่าล้านลูกบาศก์เมตร เพราะการจัดการน้ำที่ผิดพลาด จากการคาดการณ์ผิดว่าปีนี้ฝนจะตกไม่มาก จึงเก็บกักน้ำไว้เกือบเต็มเขื่อน เพื่อสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้งปีหน้า ไม่ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนมาก่อน แต่พอมีพายุเข้าหลายลูกเกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเกินความสามารถของเขื่อนที่จะกักเก็บไว้ได้ ทำให้ต้องรีบระบายน้ำออกจากเขื่อนทุกวัน ก่อนที่เขื่อนจะแตก

เมื่อมวลน้ำมหาศาลจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ได้มาบรรจบกันที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น มีการประเมินว่ามีปริมาณน้ำถึง ๓๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรไหลผ่านจังหวัดนี้ หรือคิดเป็นปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพลถึงสามเท่า ทั้งหมดกำลังมุ่งหน้าลงใต้ โดยไม่มีอะไรจะขัดขวางได้ ที่ราบลุ่มภาคกลางขนาดใหญ่ของอุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา คือเป้าหมายต่อไป

ผมพายเรือไปทำข่าวน้ำท่วมและช่วยแจกถุงยังชีพตามหมู่บ้านแถวจังหวัดสิงห์บุรี ระดับน้ำสูงมากประมาณสองเมตรขึ้น บางบ้านท่วมจนมิดหลังคาชั้นเดียว กำแพงแก้วรอบโบสถ์จมน้ำหมด เห็นชัดเจนว่าตอนน้ำท่วมจังหวัดทางตอนเหนือไม่รุนแรงเท่าด้านล่าง น้ำเยอะจริง ๆ ชาวบ้านบอกว่า ตอนแรกก็ทำคันกั้นน้ำ แต่หมู่บ้านใกล้เคียงทำคันกั้นน้ำสูงกว่า น้ำก็เลยไหลบ่ามาท่วมทางนี้อย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายคันกันน้ำของหมู่บ้านใกล้เคียงที่กั้นสูงกว่าก็มิอาจจะต้านทานพลังน้ำได้ พังทลายในเวลาต่อมา จนน้ำท่วมทุกฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน

“ตอนเช้าน้ำยังเพิ่งท่วมเท้า ตกบ่ายเก็บของไม่ทันน้ำท่วมถึงหน้าอกแล้ว ต้องลอยคอหนีน้ำออกมาที่ถนน” ชาวบ้านลูกสามคนนี้บอกว่าน้ำท่วมมาเดือนหนึ่งแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าน้ำจะลดลงเลย

 

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญทางน้ำชื่อดังได้บอกกับผมว่า ตอนที่มวลน้ำได้หลั่งไหลเข้ามาท่วมบริเวณอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงปลายเดือนกันยายน ถนนสายหลักหลายแห่งกลายเป็นคลองส่งน้ำ นั่นคือจุดพลิกผลันแล้วว่ามวลน้ำมีโอกาสท่วมกรุงเทพมหานครในอีกไม่กี่อาทิตย์ หากไม่มีการจัดการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว

“  เมื่อมวลน้ำมาถึงอำเภอวังน้อย เห็นชัดว่ามวลน้ำไม่ได้อยู่ในแม่น้ำ คูคลองอีกต่อไป แต่น้ำท่วมหลากไปทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทุ่งนา ชุมชนหรือถนนทุกแห่งและมันกำลังเรียงหน้าลงใต้ ถนนพหลโยธินกลายเป็นคลองส่งน้ำแล้ว อีกไม่นานดอนเมือง ลำลูกา ถนนวิภาวดีรังสิตทั้งสายก็จะกลายเป็นคลอง ตอนนั้นผมคิดว่ายังพอมีเวลาหากเราจัดการน้ำได้อย่างถูกต้องและเด็ดขาด”

เป็นที่น่าเสียดายว่าแม้ว่าจะยังพอมีเวลาในการจัดการปัญหาอันใหญ่หลวงนี้ แต่ด้วยความไม่รู้ของรัฐบาล จึงไม่ได้เอาใจใส่ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  เห็นได้จากการที่รัฐบาลให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย โดยการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) มากกว่าการวางแผนตั้งรับมือกองทัพน้ำ หาทางระบายน้ำให้ลงสู่ทะเลอย่างเร็วที่สุด

ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีเครื่องมือสองอย่างที่สำคัญมากคือ ใช้คนที่มีความรู้จริง ๆ และได้ผู้นำมีบารมี เด็ดขาดและบริหารเป็น แต่โชคร้ายที่เราแทบจะไม่มีเลย  เวลานั้นรัฐบาลตั้งกรรมการแก้ปัญหาน้ำจากหลายฝ่ายเข้าไปมากมาย การประชุมแต่ละครั้งก็แทบจะไม่ได้ข้อสรุป แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแก้ปัญหาน้ำจริง ๆไม่ได้อยู่ในทีม และคนที่มีอำนาจก็แทบไม่มีคุณสมบัติของความเป็นนักบริหารมืออาชีพเลย

หากคิดว่ากองทัพน้ำเป็นคู่ต่อสู้ผู้น่าเกรงขาม ก็ถือว่าคู่ต่อสู้นี้จะให้เวลากับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ พวกเขามีเวลาเตรียมตัวถึงสองเดือนก่อนที่กองทัพน้ำจะสร้างความเสียหายอย่างยับเยิน มากกว่าเมื่อครั้งประเทศญี่ปุ่นเกิดคลื่นสึนามิที่เกิดอย่างกระทันหัน ไม่มีใครทราบมาก่อน  แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับเมืองไทย

เมื่อปราศจากการวางแผน และการใช้ความรู้ที่ถูกวิธี พลันที่กองทัพน้ำไหลหลากไปที่ไหน บรรดาแนวป้องกันต่าง ๆ ที่สร้างอย่างฉุกละหุกก็ไม่สามารถต้านทานแรงน้ำมหาศาลได้ ราวกับข้าศึกยกทัพหลวงมาโจมตี ตัวเมืองจมน้ำอย่างต่อเนื่อง ด่านกั้นน้ำแตกทุกแนว ไม่เว้นนิคมอุตสาหกรรมทั้ง ๗ แห่งที่มวลน้ำได้ถล่มทลายแนวป้องกันจนระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงสองสามเมตรอย่างรวดเร็ว ผู้คนหลายพันคนหนีตายออกมาอย่างโกลาหล  กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก และส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ประกอบรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่มีฐานการผลิตสำคัญในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้

นักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฟังอย่างไม่เป็นทางการว่า ประเทศไทยยังน่าลงทุนอีกหรือ ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาการเมืองหลายครั้ง อาทิ ปิดสนามบิน ยึดทำเนียบ บุกที่ประชุมอาเซียน ยึดราชประสงค์ มีการจลาจลหลายครั้ง แค่นี้ก็สาหัสแล้ว แต่ทำใจว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง คนไทยยังน่าจะมีความสามารถในเรื่องอื่น ๆ บ้าง  แต่เมื่อเกิดภัยน้ำท่วมครั้งนี้ มันชี้ให้เห็นชัดว่า ประเทศนี้ขาดความรู้ความสามารถในการบริหารยามวิกฤติ และจะเหลืออะไรอีกที่จะดึงดูดนักลงทุนได้

ไม่นานบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตหน้าสำนักงานของผมแถวหลักสี่ก็มีสภาพเป็นคลองตามคำทำนาย มวลน้ำได้หลั่งไหลมาจับจองเต็มทุกช่องทาง บริเวณหน้าที่ทำงานที่เคยเป็นท่าจอดรถเมล์กลายเป็นท่าจอดเรือ กลางถนนมีทั้งเรือพาย เรือติดเครื่องยนต์และรถบรรทุก รถปิกอัพยกล้อสูงแล่นอยู่บนเลนเดียวกัน

แต่ละวันผมเดินทางมาทำงานด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ ช่วงเวลานั้นถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ต้องยืนเบียดเสียดอยู่บนรถบรรทุกใหญ่ชั่วโมงกว่ามีสภาพทุกลักทุเลไม่ต่างจากรถบรรทุกคนงานไร่อ้อย  ระหว่างทางรถจอดรับทุกคนที่ลุยน้ำโบกมือขอโดยสารไปด้วย ผู้คนจะแน่นอย่างไรแต่เวลานั้น ก็พร้อมใจกันเดินชิดในเพื่อช่วยเหลือให้คนยืนแช่น้ำได้ขึ้นมาบนรถให้ได้

“ลงตรงไหนครับ”  “บ้านท่วมลึกกี่เมตร””จะเข้าบ้านอย่างไร”  “ระวังตอนลงคลื่นแรงครับ”  กลายเป็นคำสนทนาทั่วไปของคนแปลกหน้าที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน แต่รู้สึกอบอุ่นใจกับช่วงวิกฤติ น้ำใจของเพื่อนมนุษย์ได้ปลดปล่อยออกมา   ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นานตอนขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสในเมือง ผมเห็นทุกคนก้มหน้าก้มตาเล่นบีบี หรือไอแพด เพื่อเล่นเกม ฟังเพลง คุยโทรศัพท์ ทุกคนอยู่กับตัวเอง ไม่สนใจสิ่งมีชีวิตรอบข้าง แต่พอขึ้นรถบรรทุก คนแปลกหน้ากลับคุยกัน ถามไถ่ทุกข์สุขราวมิตรสหาย

หรือคนเราจะรักกันตอนความทุกข์มาเยือนเท่านั้น

หลายครั้งเราออกจากสำนักงานหลังเที่ยงคืน คนในรถบรรทุกอ่อนล้าเกินกว่าจะนั่งคุยกัน รถแล่นแหวกผิวน้ำระลอกคลื่นสะท้อนแสงไฟถนนเป็นแสงระยับ ฝ่าคลื่นไปสักพักไฟถนนบางช่วงดับสนิท ยิ่งดึกยิ่งเงียบสงัด อาคาร บ้านเรือนสองข้างทางปิดไฟมืดราวกับเมืองร้าง

รถยังมุ่งหน้าไปเรื่อย ๆ ในความเปลี่ยว ในความมืดมิดแห่งทะเลวิภาวดีฯ จนเราเห็นแสงไฟลิบ ๆอยู่ข้างหน้า รถเร่งเครื่องฝ่าคลื่นเข้าไปหาจุดหมายตรงนั้น เหมือนชีวิตของคนเราบางครั้งดำดิ่งอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์หาทางออกไม่เจอ แต่ต้องแข็งใจเดินหน้าสู้ชีวิตต่อไป ด้วยความเชื่อว่าวันหนึ่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จะปรากฎอยู่เบื้องหน้า

น้ำท่วมหน้าที่ทำงานประมาณเดือนหนึ่งก่อนจะลดลงพอให้รถแล่นได้ แต่ผมกลับรู้สึกละอายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อไปทำข่าวแถวรังสิต อยุธยา น้ำยังท่วมอีกเยอะ ชาวบ้านเหล่านี้ทนน้ำท่วมเหม็นเน่ามาสองเดือนกว่าแล้ว และคงต้องท่วมอย่างน้อยอีกเดือน ทั้ง ๆที่มองตามความเป็นจริง น้ำทางตอนเหนือควรจะทยอยลงมาข้างล่างนานแล้ว แต่ถูกกักไว้เพราะบิ๊กแบ๊ก คันกั้นน้ำต่าง ๆ เพื่อให้คนกรุงเทพฯปลอดจากน้ำท่วม ทั้ง ๆที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯจำนวนมากเครียด เพราะน้ำไม่มาท่วมสักที และคนเหล่านี้ยินดีที่จะให้น้ำท่วมกรุงเทพฯโดยเท่าเทียมกันมากกว่า

น่าเสียดายวิสัยทัศน์ของผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ไม่ยอมให้น้ำท่วมกรุงเทพฯชั้นใน  อ้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นานา ทั้ง ๆที่การปล่อยน้ำตรงลงมาผ่านกทม.สู่ทะเลเป็นวิธีที่เร็วที่สุดและใช้วิธีปล่อยให้น้ำไหลไปออกทางด้านตะวันออกและตะวันตกผ่านคูคลองต่าง ๆ ซึ่งก็ยากลำบากมาก เจอปัญหาการตื้นเขินของคูคลองที่ไม่ได้มีการเก็บกวาดขยะและสิ่งกีดขวางจากการบุกรุกพื้นที่ เป็นการประจานการทำงานของทางกทม.ที่เคยคุยนักหนาว่าเตรียมการมาอย่างมืออาชีพในการป้องกันน้ำท่วม

สิ่งที่ชาวบ้านอย่างเราต้องเตรียมใจก็คือภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านไป ทุกอย่างก็จะเข้าสู่ที่ตั้ง นักการเมืองทุกพรรคก็จะเดินหน้านโยบายหาเสียงต่อไป รัฐบาลก็จะต้องหันมาสนใจประชานิยมที่ยังไม่ได้ทำ พรรคฝ่ายค้านก็จ้องจะเตะตัดขาทุกรูปแบบ กรรมการจำนวนมากที่ตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็จะประชุมและค่อย ๆ จางหายไปตามกระแส เพราะประชุมด้วยคนหมู่มากคงหาข้อยุติยาก และความสนใจของรัฐบาลก็เปลี่ยนไป จะไม่มีการเตรียมการใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม พอภัยพิบัติครั้งต่อไปเริ่มก่อตัว รัฐบาลก็จะเริ่มประชุมใหม่ เพื่อหารือว่า ประชุมครั้งต่อไปควรจะมีวาระเรื่องอะไร

แต่อย่างน้อยจากภัยพิบัติครั้งนี้ สังคมไทยได้รับบทเรียนที่ดีมากคือ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราเจ๊ง” บ้านแต่ละหลังที่ต่างคนต่างป้องกันน้ำท่วม สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ แต่มีหลายชุมชนโดยเฉพาะแถวฝั่งตะวันตกที่ร่วมแรงร่วมใจกันสู้กับกองทัพน้ำจนสำเร็จ คนที่มีบ้านอยู่ซอยเดียวกันทั้งปีทั้งชาติไม่เคยคุยกัน บัดนี้กลายเป็นมิตรสหายปาดเหงื่อช่วยกันผลักดันน้ำให้ออกไปได้ วิกฤติครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการรวมตัวกันการพึ่งตนเองของภาคประชาชนแต่ละพื้นที่สามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ผลแน่นอนกว่าการรอรับความช่วยเหลือจากทางการ

การพึ่งตนเอง การรวมตัวของคนตัวเล็ก ๆ คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อย่างแท้จริง

จาก สารคดี ธันวาคม 2554

Comments

  1. Pingback: ฉบับที่ ๓๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.