โครงการจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาทแบบเหมาเข่ง

1425720_10152000926285827_1068758686_n

หลายเดือนที่ผ่านมา เราคงได้ยินข่าวอภิมหาโครงการจัดการน้ำภาคกลางมูลค่า 350,000 ล้านบาทของรัฐบาล ที่ได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ดังที่เกิดขึ้นในปี 2554

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ในรอบปี คือสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านวาระสองสาม พรบ.นิรโทษกรรม  ในยามวิกาลตีสาม ตีสี่อย่างฉุกละหุก โดยเนื้อแท้กลายเป็นการนิรโทษกรรมนักการเมืองตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 จนถึงปีพ.ศ.2556 ซึ่งเป็นการเหมาเข่งให้นักการเมืองพ้นผิดตั้งแต่กรณีตากใบ กรือเซะ และมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ดั้งเดิมของพรบ.นี้ที่เกี่ยวข้องกับผลพวงของการทำรัฐประหาร 2549

พรบ.นิรโทษกรรมนี้ จึงได้ฉายาว่า พรบ.เหมาเข่ง เช่นเดียวกับโครงการจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาทที่เป็นการเหมาเข่งหลายโครงการรวมกัน

โครงการนี้รัฐบาลอ้างว่า เป็นโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางแบบเบ็ดเสร็จ  จึงใช้วิธีการประมูลงานที่เรียกว่า  Design and Build เป็นวิธีการที่เจ้าของโครงการรวมเอาการออกแบบและการก่อสร้างไว้ที่ผู้รับเหมารายเดียวกันในลักษณะ One Stop Service คือจ้างครั้งเดียวเบ็ดเสร็จทุกขั้นตอนผู้รับเหมาที่ได้งานก็จะมีหน้าที่ตั้งแต่การออกแบบโครงการทั้งหมดตลอดจนการก่อสร้างให้แล้ว

คนในวงการทราบดีว่าวิธีการประมูลแบบ Design and Build มีข้อดีคือ ผู้รับเหมาและผู้ออกแบบเป็นพวกเดียวกัน ทำให้งานเสร็จได้รวดเร็ว ข้อเสียคือเป็นวิธีการที่มีโอกาสคอรัปชั่นสูงมาก เพราะคนออกแบบกับคนรับเหมาเป็นฝ่ายเดียวกัน อาจจะมีการฮั้วกัน ไม่มีการตรวจสอบชัดเจน

ประเทศที่ใช้วิธีนี้มากสุดคือ ญี่ปุ่น เพราะผู้รับเหมากับเจ้าของมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูงว่าทั้งสองฝ่ายจะซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา

เมื่อมาใช้วิธีการนี้กับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นติดอันดับโลกแบบบ้านเราที่มีเงินทอนสูงถึง 40 %  คงไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ตอนเริ่มต้นโครงการ 350,000 ล้านบาทจึงมีเพียงแนวคิดกว้าง ๆเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ อันเกิดจาก TOR เล่มเล็กๆเพียงเล่มเดียว เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการน้ำ  และตั้งงบประมาณ อนุมัติเงิน หาผู้รับเหมาได้แล้ว ให้ผู้รับเหมาไปคิดออกแบบว่าจะทำอะไร ทั้ง ๆที่ไม่เคยถามคนในพื้นที่ว่าคิดอย่างไร ทั้ง ๆที่ต้องมีการเวนคืนทีดินมหาศาล เวลาสื่อมวลชนถามรายละเอียด ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ อ้างว่ากำลังชอปปิ้งไอเดียอยู่

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เคยวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ขาดความชัดเจน รีบร้อน ไม่ถูกหลักวิศวกรรม ในภาพรวมของการแก้ปัญหา ยังขาดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมของระบบลุ่มน้ำซึ่งสัมพันธ์กัน และยังมิได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการก่อนทำการออกแบบ

โครงการนี้เปิดซองประมูลแล้ว มีกลุ่ม 6 บริษัทได้รับการแบ่งเค็กไปเรียบร้อย และตลกร้ายคือไอเดียในการออกแบบ  บริษัทเหล่านี้ก็เอาแนวคิดส่วนใหญ่มาจากโครงการต่าง ๆ ของกรมชลประทานในอดีตที่ไม่ผ่านการอนุมัติมาเหมาเข่งรวมกัน  ไม่ว่าโครงการเขื่อน สร้างคลองชลประทาน ล้วนแต่เป็นแนวคิดเก่า ๆ ล้าหลัง แต่ปัดฝุ่นมาใช้อีก ยังไม่เห็นแนวคิดใหม่ ๆ ในการจัดการน้ำเลย ไล่ตั้งแต่เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่แจ่ม ฯลฯ อีกหลายสิบเขื่อน มาเหมาในโครงการนี้ด้วย และโครงการนี้อ้างว่าเป็นการจัดการป้องกันน้ำท่วมภาคกลาง แต่ก็ยังพ่วงเอาเขื่อนในภาคเหนือและภาคอีสานเข้าไปอีก ไม่ต่างจากพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่ยกเว้นโทษให้นักการเมืองตั้งแต่ปี 2547-2556

พอมีคนไปร้องเรียนศาลปกครองว่ารัฐบาลทำผิดขั้นตอน ศาลจึงสั่งให้รัฐบาลทำประชาพิจารณ์คนในพื้นที่ให้ได้รับทราบข้อมูลและรับฟังความเห็นเสียก่อน รัฐบาลก็ทุ่มเงิน 184 ล้านบาท จัดฉากเดินสายไปแต่ละจังหวัด แต่เกณฑ์คนที่เห็นด้วยมาเข้าฟังมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วย ใครโวยวายก็โดนตำรวจจับ

อภิมหาโครงการจัดการน้ำประกอบด้วย 9 โมดูล โมดูล A1-6  เป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสักและแม่น้ำท่าจีน 18 แห่ง และโมดูล B1-4  กระทำอยู่นอกลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 แห่ง รวมถึงการปรับปรุงคูคลอง การทำแก้มลิง

แต่โครงการใหญ่สุดคือโมดูล A 5 ซึ่งใช้เงิน 150,000 ล้านบาท โดยบริษัทเกาหลีใต้ประมูลได้ เป็นการสร้างแม่น้ำใหม่หรือ Floodway  เริ่มตั้งแต่บริเวณแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร ตัดยาวผ่าน นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลงมาถึงเขื่อนแม่กลองที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ยาวประมาณ 300กว่ากิโลเมตร กว้าง 250 เมตร  เพื่อผันน้ำแม่น้ำปิงในฤดูน้ำหลากมาลงที่แม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน ทางตะวันตก ซึ่งต้องมีการเวนคืนที่ดินสี่หมื่นกว่าไร่  อพยพย้ายประชาชนหลายหมื่นครอบครัว

ประชาชนในลุ่มน้ำท่าจีนและแม่กลองจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะแน่นอนว่าระบบนิเวศต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง ปัญหาน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง น้ำทะเลหนุน ฯลฯ ที่ติดตามมาอีกมากมาย แต่ไม่เคยมีการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมเลย

พวกเขาจะยอมเสียสละ อพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจไข่แดงในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะได้ผลไหม จะคุ้มค่าไหม กับการเสียสละ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมา

ไม่มีใครให้คำตอบได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลก็ไม่รู้ ผู้รับเหมาก็ไม่รู้ เพราะการจัดการน้ำต้องอาศํยความรู้จากหลายฝ่ายโดยเฉพาะนักนิเวศ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ นักภูมิศาสตร์. นักสังคมวิทยา เพราะเป็นเรื่องซับซ้อน ยาก และละเอียดอ่อน

แต่อนาคตการจัดการน้ำในบ้านเรา กำลังถูกชี้ชะตาจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งไทย จีน เกาหลี ที่ไม่เคยพิสูจน์ว่ามีภูมิปํญญามากพอ นอกจากผลกำไรจากการลงทุนครั้งนี้

กรุงเทพธุรกิจ 21 พย. 56

Comments

  1. ธวัชชัย นาคะบุตร

    น่าจะปลูกป่ามากกว่า
    “เหมาเข่ง” แบบไม่ฟังใคร ประชาธิปไตยแบบใดกัน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.