หกสิบปี เอนก นาวิกมูล

1382134_10151719295892361_57496320_n

เป็นเวลาร่วมสามสิบปีแล้ว ทุกครั้งที่เจอหน้าพี่ชายคนนี้ ผมจะขึ้นต้นคำทักทายว่า

“สวัสดีครับ ท่านผู้ประศาสน์การ”

ใช่ครับพี่เอนก นาวิกมูลคือผู้ให้ความรู้ ให้คำสอนผมมากมายเกี่ยวกับ การทำสารคดี มาอย่างสม่ำเสมอและยาวนาน

ดังนั้นเมื่อมีการจัดงานครบรอบ ๖๐ ปี ให้พี่เอนก นาวิกมูล ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมจึงไม่พลาดด้วยประการทั้งปวง ไปร่วมงานแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่ผู้บุกเบิกงานสารคดีในเมืองไทยมายาวนานสามสิบกว่าปี

“เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่าแล้ว”

ประโยคข้างบนนี้ มิตรสหายผู้คุ้นเคยกับเอนก นาวิกมูล คงพอเข้าใจได้ว่า เป็นคำพูดที่สามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ชายหน้าใสเกินวัยผู้นี้เช่นเดียวกับประโยคที่ว่า

“ เจาะลึก บันทึกอดีต”

“นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”

คำพูดเหล่านี้พอจะเห็นนิสัยการทำงาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเอกบุรุษคนนี้ได้ ตลอดระยะเวลาที่ผมรู้จักพี่ชายคนนี้

จำได้ว่า สมัยที่ยังใช้ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเคยยืมหนังสือห้องสมุดเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือแนวสารคดี ชื่อหน้าปก เพลงนอกศตวรรษ ชื่อแปลกดี จึงเปิดอ่านดู ผมชอบใจเรื่องราวชีวิตของพ่อเพลง แม่เพลงภาคกลาง แต่งโดยนายเอนก นาวิกมูลเป็นการเปิดโลกชีวิตของศิลปินพื้นบ้านจำนวนมากที่แทบจะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน อ่านจบก็รู้สึกทึ่งฝีมือและความขยันของผู้เขียน ต้องตะลอนไปทั่วภาคกลางของประเทศ เพื่อไปอัดเทปเสียงร้อง สัมภาษณ์ ถ่ายภาพ ศิลปินเก่าแก่หลายสิบคนก่อนจะล้มหายตายจากกันไป

เวลานั้น เอนก นาวิกมูล หนุ่มน้อยวัย ๒๕ ปี อดีตสมาชิกชมรมวรรณศิลป์ สมัยเรียนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้เป็นนักเลงหนังสือมาแต่วัยเด็ก ได้พบว่า เพลงพื้นบ้านหลายแห่งกำลังหายไป และหากไม่มีคนเก็บประวัติ บันทึกเสียงเพลงพื้นบ้านหลายประเภท ศึกษาชีวิตของครูเพลงเหล่านี้ อีกไม่นานของมีค่าเหล่านี้จะสูญหายไปจากแผ่นดิน เหมือนวัฒนธรรมหลายอย่างของชาวบ้านที่ล้มหายตายจากไป เพราะหน่วยราชการไม่สนใจวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านของชาวบ้าน ชาวชนบท คิดว่าไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญหรือใส่ใจมาช่วยกันอนุรักษ์ หากเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมในราชสำนักหรือส่วนกลางที่มีหน่วยงานคอยอุ้มชูดูแลอย่างอบอุ่น

พี่เอนก ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของงานศิลปินพื้นบ้าน จึงรับอาสาเริ่มบุกเบิก รวบรวม ถ่ายภาพ ทำงานสารคดีชิ้นแรกที่ไม่เคยมีใครบันทึกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะตั้งใจหรือตั้งใจก็ไม่ทราบได้ แต่นับจากนั้นเป็นต้นมาผู้ชายชื่อเอนก นาวิกมูลก็กลายเป็นโลโก้ของ คนทำงานสารคดี ผู้เก็บสะสมทั้งข้อมูลและภาพเรื่องราวในอดีตอย่างต่อเนื่องยาวนานมาตลอดชีวิต

ประมาณปี ๒๕๒๖ ผมมาเริ่มงานแรกกับฝ่ายศิลป์ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ วันหนึ่งได้รับคำแนะนำให้รู้จักกับผู้ชายตัวเล็กหน้าตาดี ชื่อพี่เอนก ผมตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมงานกับนักเขียนในดวงใจคนหนึ่ง วันนั้นพี่เขาเอาต้นฉบับเรื่อง “มนุษย์ปลาดชาติไทย นายทองคำ “ มาให้ทางสำนักพิมพ์รวบรวมเป็นเล่ม ผมมีหน้าที่รับทำอาร์ตเวิร์คให้ เวลานั้นขั้นตอนการทำอาร์ตเวิร์คค่อนข้างซับซ้อน ต้องเอาต้นฉบับที่พิมพ์ดีดเรียบร้อย ไปเรียงพิมพ์ใหม่ที่ร้านคอมพิวเตอร์พิมพ์ลงบนกระดาษม้วนยาว ความกว้างของกระดาษเท่ากับขนาดคอลัมน์ของหน้า ขั้นตอนต่อมา เราจะเอากระดาษมาตัดตามความยาวของหน้าหนังสือ และใช้กาวยางมาปะลงบนกระดาษอาร์ตเวิร์ค ปะได้ประมาณร้อยกว่าแผ่นตามความหนาของหนังสือ ก็ส่งให้พี่เอนกไปพิสูจน์อักษร พอเสร็จแล้วก็นำมาแก้ไขในกระดาษทำแบบนี้ประมาณสามสี่รอบ ก่อนจะส่งไปโรงพิมพ์พิมพ์เป็นหนังสือต่อไป

ช่วงเวลาที่พี่เอนกมาตรวจอาร์ตเวิร์ค ก็ได้ทำให้เรามีโอกาสสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว จากนั้นผมมีโอกาสได้ทำอาร์ตเวิร์คหนังสือเรื่อง “ข่าวละคอนไทยไปอเมริกา” และติดตามด้วยหนังสือเล่มใหญ่หนาประมาณห้าหกร้อยหน้า คือ “เพลงนอกศตวรรษ” ที่นำกลับมาพิมพ์ใหม่

ต่อมาผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับนิตยสาร สารคดี ก็ยังเจอะเจอแกเป็นประจำ ในฐานะนักเขียนคอลัมน์มุมสะสมของนิตยสารเกิดใหม่ฉบับนี้

ช่วงเวลานั้น ผมแอบเรียนรู้วิธีทำงานของพี่เอนกในฐานะคนทำงานสารคดี ยอมรับว่า เข้าวงการนี้มาแรก ๆ ก็ทึ่งกับการทำงานหนัก ทำงานอย่างละเอียด รอบคอบ เป็นระบียบ และจดข้อมูล ถ่ายภาพทุกอย่างเป็นระบบ จำได้ว่าผมเห็นฟิลม์ขาวดำหลายร้อยซอง เทปคาสเซทบันทึกเสียงหลายร้อยม้วนถูกจัดวางและบันทึกเวลา สถานที่ถ่ายและสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ในห้องทำงานของแก ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้าสถานที่ที่ผมมักจะแวะไปหาความรู้จากแกเป็นประจำ

พี่เอนกแม้จะเป็นรุ่นพี่หลายปี แต่แกก็มีความเมตตาให้ความเป็นกันเองมาก เวลาผมมีปัญหาด้านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าแบบไหน แกจะช่วยเป็นธุระหาข้อมูลให้เสมอ แม้บางเรื่องพี่เอนกอาจจะไม่มีข้อมูล แต่แกก็ยังเสียเวลามาหาข้อมูลให้ผมได้ทุกครั้ง แกบอกว่า คำถามของผม ล้วนเป็นประโยชน์และท้าทายให้ค้นหาคำตอบเสมอ

พี่เอนกเป็นคนแรกที่สอนผมด้วยการกระทำว่า หากรักจะทำงานสารคดีให้ได้ดี ต้องขยันลงพื้นที่เก็บข้อมูล นิสัยช่างสังเกต ช่างซัก ช่างถาม ของเอนก นาวิกมูลกลายเป็นสิ่งที่ผมแอบเลียนแบบมาตั้งแต่แรกที่ผมมีโอกาสร่วมงานกับพี่เอนก และเป็นสิ่งที่ผมนำมาใช้ในการทำงานสารคดีตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

พี่เอนกเคยบอกผมว่า

“ในบ้านเมืองของเราขาดคนค้นคว้าเรื่องจริงที่ให้ข้อเท็จจริง มีการตรวจสอบแก้ไขข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้อง แล้วข้อมูลบ้านเราก็มีน้อย ที่น้อยนั้นบางครั้งก็ลอกกันมาซ้ำๆ ซากๆ มันก็ไม่เจริญ ก็น่าจะทำให้มันมากขึ้น มหาศาลขึ้น บางครั้งมีการลอกแล้วก็ลอกผิด หรือว่าเขียนแล้วผิดหรือถูกก็ช่างมัน…ทีนี้เราจะปล่อยให้ข้อมูลผิดพลาด ตลอดไปได้ยังไง มันก็ต้องมีการเขียนชี้แจงออกมาเรื่อยๆ ก็เป็นหลักการว่านำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่าเพื่อให้คนอ่านได้รับความรู้ที่ถูกต้องที่สุด ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด มีผู้เขียนที่ตั้งใจทำงานที่สุด”

พี่เอนกเป็นคนมีอัธยาศัยดี มีเมตตาต่อทุกคนที่มาขอความช่วยเหลือ หลายครั้งในห้องทำงานของแกบนศูนย์ศังคีตศิลป์ ผมสังเกตเห็นแกนั่งปั่นต้นฉบับ แต่เมื่อมีโทรศัพท์หรือคนแปลกหน้ามาขอพบ เพื่อขอข้อมูล ขอความรู้ ขอความช่วยเหลือ ขอแหล่งที่จะไปหาข้อมูล ขอโทรศัพท์ และมาขออะไรอีกมากมาย แกก็ต้องละจากงานประจำที่ทำ เพื่อมาบริการให้กับคนเหล่านี้ และมักเป็นการบริการแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ได้ข้อมูลเต็มที่

ผมเคยแย้งแกว่า บางทีก็น่าจะเก็บค่าบริการมั่ง เพราะหลายคนนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดทางธุรกิจของเขา โดยเฉพาะวงการโฆษณาที่มักจะมาใช้ข้อมูลของพี่เอนกไปเป็นฐานในการทำโฆษณาหลายชิ้น แต่พี่เอนกดูเหมือนจะไม่ใส่ใจในการแสวงหารายได้ทางนี้มากนัก เพราะดูเหมือนแกจะมีรายได้จากการเขียนหนังสือเท่านั้น

พูดถึงการเขียนหนังสือ ผมเองอัศจรรย์กับการทำงานเขียนต้นฉบับของแก จนเรียกว่าแกแทบจะต้องเขียนต้นฉบับส่งหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ เกือบทุกวัน นอกเหนือจากการเขียนหนังสือเป็นเล่ม จนบัดนี้แกน่าจะพิมพ์หนังสือออกมาไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ เล่ม

เขียนหนังสือทุกวัน หากข้างในคนเขียนไม่มีของหรือข้อมูลเพียงพอแล้ว ตอบตามตรงว่า ยากมากที่จะผลิตงานดี ๆ ออกมาได้สม่ำเสมอ

สามสิบปีผ่านไป ผมเชื่อว่าข้อมูลทั้งข้อเขียนหรือรูปถ่ายของเอนก นาวิกมูล อาจจะมีปริมาณและคุณค่ามากกว่าสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศ

แต่หากลองจำแนกประเภทงานสารคดีของแกแล้ว ในความเห็นของผม นอกจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคลเก็บข้อมูลและถ่ายภาพแล้ว งานของพี่เอนกมีความโดดเด่นในการค้นคว้าเรื่องราวเก่า ๆ ในอดีต โดยค้นหาจากภาพถ่ายและงานพิมพ์เก่า ๆจากหนังสือหรือภาพโฆษณาสินค้าในอดีต เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบค้นข้อมูล

ดังนั้นนอกจากเขียนหนังสือแล้ว แกยังเป็นคนเก็บของเก่าโดยเฉพาะด้านสิ่งพิมพ์ ซึ่งในสายตาของคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณค่าอะไร ด้วยเหตุผลว่า บ้านเราไม่สนใจเก็บข้าวของในชีวิตประจำวันของชาวตลาดชาวเมือง ทั้งๆที่มันมีสีสันและมีเรื่องราวน่าดูน่าศึกษามาก เก็บไปเก็บมาจนสามารถตั้งเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์

ครั้งหนึ่งในช่วงเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่เกิดการจลาจลมีการปะทะกันระหว่างประชาชนและทหาร ผมเห็นพี่เอนกเดินก้มเก็บลวดหนามที่ทิ้งร้างบนถนนราชดำเนิน แกบอกว่า เป็นลวดหนามประวัติศาสตร์ต้องเก็บรักษาไว้ และอีกไม่กี่วัน แกไปรวบรวมสิ่งพิมพ์เก่า ๆ ในกรมประชาสัมพันธ์ที่เหลือรอดจากการถูกเผา

ในปีพ.ศ. ๒๕๕๔ วาระที่นิตยสารสารคดีมีอายุครบ ๒๕ ปี ทางนิตยสารได้มอบรางวัล นักเขียนสารคดีดีเด่น ให้กับคุณเอนก นาวิกมูล เป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริง เมื่อพี่เอนกมีอายุ ๖๐ ปี แต่ดูเหมือนอายุจะไม่เคยเป็นอุปสรรคสำหรับนักค้นคว้าท่านนี้เลย

สารคดี พย. 2556

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.