พลังของงานศิลปะ

2556-06-16 19-14-44 - DSC_8729_exposure_resize

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีข่าวน่าสนใจ เมื่อนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางกลุ่ม ได้เขียนคัทเอาท์ต้อนรับบัณฑิตใหม่ผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษา เป็นภาพวาดรูปฮีโร่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซุปเปอร์แมน มนุษย์ค้างคาว และรวมถึงฮิตเล่อร์ด้วย จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยยกย่องว่า ฮิตเล่อร์คือฮีโร่ตัวจริง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ทำนองว่า ทำไมนักศึกษาไทยจึงไร้เดียงสาถึงเพียงนี้ ไม่เรียนรู้ความอำมหิตของฮิตเล่อร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการไม่ให้เกียรติเหยื่อสงครามที่ตายเพราะน้ำมือของผู้นำคนนี้หลายสิบล้าน

อีกด้านหนึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เด็กรุ่นใหม่ อาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก  แค่วาดภาพสนุก ๆ โดยรวมเอาบรรดาดาราดังที่น่าจะเป็นฮีโร่ มีคนรู้จักทั่วโลก ออกแนวเท่ ๆ  มาร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตจบใหม่ ไม่จำเป็นต้องสนใจอดีตว่าคนเหล่านั้นทำอะไรไว้บ้าง บทเรียนจากประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นอีกต่อไปแต่สุดท้าย กลุ่มนักศึกษาศิลปะ ผู้วาดภาพงานชิ้นนี้ต้องรีบออกมาขอโทษขอโพยกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ครั้งนี้ ก่อนที่เรื่องจะลุกลามไปใหญ่โต

เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึงงานแสดงศิลปะภาพวาดของ Manfred Bockelmann ศิลปิน ช่างภาพชื่อดังชาวออสเตรีย เมื่อได้มาชมงานของเขาในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Leopold Museum กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อไม่นานมานี้

 

Leopold Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เพราะเป็นสถานที่รวบรวมผลงานของศิลปินชื่อดังของโลกชาวออสเตรีย คือ Egon Schiele และ Gustav Klimt ไว้มากที่สุด โดยส่วนหนึ่งรัฐบาลออสเตรียและธนาคารกลางได้ซื้อมาจาก Elisabeth และ Rudolf Leopold ผู้รวบรวมงานศิลปะชั้นยอดไว้มากกว่า ๕,๐๐๐ ชิ้น และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

วันที่ผมไปเยี่ยมชม มีนิทรรศการแสดงภาพวาดโดยศิลปิน Bockelmann  ภายในห้องแสดงภาพ จัดแสงค่อนข้างมืด เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ที่เห็นเป็นภาพใบหน้าขนาดใหญ่หลายสิบภาพเขียนด้วยสีถ่านชาร์โคล ของเด็กหญิง เด็กชาย อายุประมาณ ๒-๑๖ ขวบ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  เด็กเหล่านี้ถูกจับมาอยู่ในค่ายกักกัน Auschwitz-Birkenau, Hartheim and Theresienstadt และตายอย่างทรมานในค่าย ระหว่างปี ๑๙๔๑-๑๙๔๕ เพียงข้อหาว่าเป็นลูกหลานของชาวยิว สลาฟ หรือพวกยิปซี หรือพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้โดนตั้งข้อหาเป็นปฏิปักษ์กับนาซี  และในความเชื่อของฮิตเล่อร์แล้ว คนเหล่านี้ถือเป็นเผ่าพันธุ์อันไม่บริสุทธิ์ จะต้องกำจัดทิ้งให้หมด ก่อนที่พวกนี้จะมาแปดเปื้อนกับเผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ของพวกเยอรมนี ที่ถือว่าเป็นพวกเชื้อชาติอารยัน

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเล่อร์และพลพรรคนาซีได้ฆ่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ในค่ายกักกันหลายสิบแห่งไปเป็นจำนวนถึง ๕-๖ล้านคน ส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยการถูกต้อนเข้าไปในห้องรมก๊าซพิษครั้งละหลายสิบคน ทหารนาซีคิดแล้วว่าวิธีนี้เป็นการสังหารหมู่ราคาถูก แทนที่จะใช้วิธียิงทิ้ง เพื่อเป็นการประหยัดกระสุน แม้ว่าเหยื่อเหล่านี้จะได้รับความทุกข์ทรมานมากก่อนจะเสียชีวิต

ภาพสีชาร์โคลนับสิบภาพบนฝาผนัง สีหน้าและดวงตาของเด็ก ล้วนแต่มีความกลัวแฝงอยู่ เบื้องหลังการทำงานครั้งนี้ ศิลปินได้ใช้เวลานานในการค้นหาภาพถ่ายของผู้ตาย ที่ถ่ายโดยบรรดาเจ้าหน้าที่เกสตาโป ตำรวจลับหน่วยเอส เอส ของนาซี ตอนเด็กเหล่านี้ถูกต้อนเข้ามาในค่ายกักกันเป็นครั้งแรก และถ่ายภาพลงทะเบียน ทำประวัติ และบางครั้งเขายังได้แหล่งภาพมาจากโรงพยาบาลบางแห่ง ที่มีเด็กเคราะห์ร้ายบางคนถูกจับไปรอเป็นหนูทดลองยา เพราะในเวลานั้นนาซีมีโครงการทำวิจัยยาที่จะใช้ในการทำสงครามชีวภาพ โดยการเพาะเชื้อโรคบางชนิดก่อนจะไปแพร่ในฝ่ายตรงข้าม โดยทดลองฉีดยาให้เด็กเพื่อศึกษาอาการ

เมื่อได้ภาพถ่ายเด็กผู้เคราะห์ร้ายมา ศิลปิน Bockelmann จะใช้เทคนิควาดภาพเหล่านี้ลงไปในกระดาษแผ่นใหญ่ด้วยสีถ่านชาร์โคล จนรู้สึกได้ถึงบรรยากาศของความเศร้าจากนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ ที่มีชื่อว่า “ภาพวาดที่ไม่ถูกลืม “

ผมมองดูหน้าตาของเด็ก ล้วนแล้วแต่แววตาเศร้า ๆ ไม่ร่าเริง ไม่ยิ้มแย้ม พวกเขาจะสวมชุดนักโทษเป็นแถบลาย ๆบนเสื้อ และถูกโกนผมเกลี้ยง แต่บางภาพ ผมเห็นเด็กแต่งตัวดี ไม่ได้ใส่ชุดนักโทษ  มารู้ภายหลังว่า ค่ายกักกันบางแห่ง เด็กที่เข้ามาตอนแรก จะถูกหลอกให้แต่งตัวในชุดสวยงามเพื่อถ่ายภาพลงบันทึก เพื่อไม่ให้เด็กสงสัยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา  แต่เมื่อมองไปยังสีหน้าเด็ก รู้สึกได้เลยว่า แววตาของเด็กรู้สึกประหม่า กลัว ความไม่มั่นใจอะไรบางอย่างปรากฏทางสายตา

Bockelmann ได้บอกจุดประสงค์ของภาพชุดนี้ว่า เขาต้องการบอกผู้ชมว่า ที่ผ่านมา เวลามีคนพูดถึงเหยื่อที่ตายในค่ายกักกันนักโทษ มักจะเห็นแต่เป็นภาพสยดสยอง ซากศพกองพะเนิน หรือภาพสยดสยอง ภาพคนเจ็บป่วย ผอมติดกระดูก ที่ไม่มีใครอยากเห็นอีกต่อไป เขาจึงพยายามนำเหยื่อเหล่านี้จากมุมมืดที่ผู้คนไม่ต้องการจดจำ มาสู่ที่สว่าง ให้คนภายนอกได้รับรู้ ว่าเหยื่อเหล่านี้ไม่ใช่คนลึกลับ แต่ละคนล้วนมีตัวตน มีชื่อ มีพ่อแม่ มีครอบครัว เขาจึงเลือกที่จะแสดงภาพใบหน้าธรรมดาของเหยื่อเหล่านี้

ตลอดเวลาที่ชมภาพสีถ่าน ผมรู้สึกได้เลยว่า คนเหล่านี้มีตัวตนจริง ๆ จากชื่อ ประวัติสั้น ๆ เท่าที่จะหาพบ บางคนเป็นนักดนตรีฝีมือดีตั้งแต่เด็ก บางคนเป็นนักร้องเสียงดี แต่ต้องมาตายตั้งแต่เยาว์วัย ยิ่งดูภาพนาน ๆ ยิ่งรู้สึกราวกับว่าเด็กเหล่านี้อาจจะเป็นญาติพี่น้อง ที่ไม่ควรจะด่วนจากไปเลย

ภาพถ่ายเหล่านี้ สามารถเชื่อมโยงอดีตเมื่อครั้งเด็กเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันที่ผมกำลังจ้องมองภาพเด็กเหล่านี้ได้อย่างน่าทึ่ง

ดูนาน ๆ สิ่งที่ตามมาคือน้ำตาซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว ด้วยความสะเทือนใจในชะตากรรมของเด็ก ๆเหล่านี้ ที่น่าจะมีชีวิตยืนนานกว่านี้ แต่ต้องตายเพราะอุดมการณ์บ้า ๆ ของฮิตเล่อร์และพลพรรคนาซี  ดวงตาของเด็ก ๆที่มองมาหาผู้ชม กระตุ้นให้รู้สึกเห็นใจในความเป็นมนุษย์  เป็นพวกเดียวกับเรา ขณะที่นาซีพยายามทำให้คนเหล่านี้เป็น คนอื่น  เป็นตัวน่ารังเกียจที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นทันทีทีใด หรือก็มีประโยชน์เพียงแค่ตอนถูกฉีดยา เสมือนหนูทดลองยาชนิดต่าง ๆ ก่อนจะตายด้วยความทรมานเช่นกัน

บางครอบครัวอาจจะโชคดีหน่อย ตรงที่ถูกจับและอยู่ในค่ายกักกันที่เดียวกัน และตายพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูก ไม่ต้องถูกพรากจากกันจนวินาทีสุดท้าย

อีกด้านหนึ่งของฝาผนัง มีการฉายคลิปวิดีโอ เป็นภาพยนต์เมื่อครั้ง  Bockelmann นำเอาภาพวาดเหล่านี้ออกสู่พื้นที่สาธารณะด้านนอก ให้คนข้างนอกได้เข้าถึงงานศิลปะชิ้นนี้  คือศิลปินได้ขับรถตระเวณไปตามท้องถนนตอนกลางคืน และฉายสไลด์ภาพเด็ก ๆเหล่านี้ ไปตามอาคาร ตึกรามบ้านช่อง  กำแพง ต้นไม้ใหญ่ สองข้างทางขณะที่รถขับผ่าน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า คนเหล่านี้มีตัวตนจริง ๆ และตายอย่างไร้สาระ เป็นอดีตที่ประชาชนทั่วไปต้องไม่ลืม เป็นบทเรียนที่จะต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก

หากมีศิลปินไทยนำเอาภาพคนที่ตายเมื่อครั้งเหตุการณ์ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ และการปะทะกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในปีพ.ศ. ๒๕๕๓ หรือภาพคนตายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ หรือเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาตระเวณฉายไปตามสองข้างทางของถนนสายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความตายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประตูน้ำ ถนนราชดำเนิน ฯลฯ เพื่อจะย้ำว่า “ที่นี่มีคนตาย” อาจจะช่วยเตือนสติให้กับคนรุ่นหลังได้จดจำไว้เป็นบทเรียน อันน่าเจ็บปวด ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป
ฮิตเล่อร์ก็คงชั่วร้ายไม่ต่างจาก เลนิน สตาลิน เหมาเจ๋อตุง หรือพอลพตที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์หลายล้านคน และก็ไม่ต่างจากผู้นำประเทศหลายที่เห็นความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือในการขึ้นสู่อำนาจ

และหลายครั้งที่งานศิลปะชั้นยอดอันทรงพลัง  ช่วยเตือนสติเราไม่ให้ “ลืมอะไรบางอย่างในอดีต”  ไม่ให้โศกนาฏกรรมแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับที่บางคนกล่าวว่า

ประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย

สารคดี สค. 56

 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.