100 ปี จำกัด พลางกูร เพื่อชาติ และเพื่อ humanity

จำกัด
ชีวิตคนเรา บางคนมีชีวิตอยู่จนแก่ชรา ตายไปแล้วไม่นาน ผู้คนก็ลืมเลือน

แต่บางคนมีชีวิตอยู่ไม่นาน ตายไปแล้วกลายเป็นตำนาน

คุณจำกัด พลางกูร ตายไปเมื่ออายุได้เพียง ๒๘ ปี แต่เวลาผ่านไปเจ็ดสิบปี ผู้คนยังจดจำและยกย่องท่าน

เพราะสิ่งที่ท่านลงมือทำและเสียสละ ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น และทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศสงครามกับชาติสัมพันธมิตร ขณะที่ในประเทศไทยได้มีการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ และคนตัวเล็ก ๆ คนนี้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สัมพันธมิตร ไม่ว่าจีน อังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้รับทราบถึงการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทย ส่งผลให้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม

เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานครบรอบ ๑๐๐ ปี ของคุณจำกัด พลางกูร ที่ทำเนียบท่าช้าง ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนพระอาทิตย์

ในอดีตเคยเป็นเรือนรับรองของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ และปัจจุบันกลายเป็นที่ทำการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่ที่สำคัญคือทำเนียบท่าช้าง เคยเป็นที่บัญชาการของขบวนการเสรีไทย ที่มีนายปรีดี เป็นหัวหน้าและนายจำกัด พลางกูรเป็นเลขาธิการ

พิธีรำลึกจัดอย่างเล็ก ๆ บริเวณชั้นสองของอาคาร มีคนมาร่วมงานไม่มากนัก แต่ทุกคนตั้งใจมาร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของผู้จากไป คุณดุษฎี พนมยงค์ บุตรสาวของปรีดี พนมยงค์ ได้ย้อนความหลังที่เคยใช้ชีวิตวัยเด็กในทำเนียบท่าช้างให้ฟังว่า ห้องที่เรามาร่วมงานนี้ เป็นห้องทำงานของคุณพ่อ

และเมื่อจำกัด พลางกูรได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติภารกิจลับในประเทศจีน เสี่ยงอันตรายสูงสุด โดยไม่รู้ว่าจะไม่ได้มีโอกาสกลับแผ่นดินแม่อีก เขาได้มารับประทานอาหารและร่ำลานายปรีดีที่ทำเนียบท่าช้าง และเมื่อนายปรีดีเดินมาส่งที่บันไดตึก ได้กล่าวคำอำลากับนายจำกัดเป็นครั้งสุดท้ายว่า

“ เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก ๔๕ วัน ก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีก ๒ ปี ก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่า เสียสละชีวิตเพื่อชาติไป”

ผมเดินเข้าไปกราบ คุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของคุณจำกัด พลางกูร วัย ๙๘ ปี สุภาพสตรีผู้เข้มแข็งที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยรู้จักมา ท่านเพิ่งแต่งงานกับคุณจำกัดได้เพียงสามปี ก่อนที่สามีจะไปทำงานเพื่อประเทศชาติในแดนไกล โดยหารู้ไม่ว่า เป็นการลาจากไปครั้งสุดท้าย

“ฉลบจ๋า เธอจงอยู่ไปดี ๆ นะ เธอจงคิดว่า ได้อุทิศฉันให้แก่ชาติไปแล้วก็แล้วกัน”

รอบ ๆ ห้อง มีภาพถ่ายขาวดำ ในอัลบั้มเก่าแก่ของคุณจำกัด พลางกูรในอิริยาบถต่าง ๆ เป็นภาพส่วนตัวของคุณฉลบชลัยย์ นำออกแสดงเป็นครั้งแรก

อารมณ์ของภาพเก่าเหล่านี้ชวนให้เราได้ย้อนอดีตไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อนได้เป็นอย่างดี

จำกัด พลางกูร เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนเก้าคนของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) อดีตอธิบดีกรมแต่งตำราและกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และคุณหญิงเหรียญ สกุลเดิม นิโครธานนท์ เขาเป็นเด็กเรียนหนังสือเก่งมาตลอดตั้งแต่เมื่อเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และสอบได้ที่หนึ่งของประเทศเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัและได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาชาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม

ตอนเรียนที่อังกฤษ จำกัด เป็นเด็กฉลาด หัวก้าวหน้า สนใจการเมือง ศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถึงกับรวบรวมพรรคพวกขึ้นมาเป็นกลุ่มเพื่อต่อสู้กับจอมพลป.พิบูลสงคราม ที่ปกครองประเทศแบบเผด็จการ และเมื่อกลับมาเมืองไทย เขาได้ก่อตั้งโรงเรียนดรุโณทยาน เป็นครูสอนหนังสือและเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์

จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง และกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ทำให้ไทยต้องประกาศสงครามกับประเทศสัมพันธมิตร นายปรีดี ได้ร่วมมือกับจำกัด ปัญญาชนคนสำคัญที่ต่อต้านญี่ปุ่นชัดเจน ออกมาตั้งกลุ่มเสรีไทย อันประกอบด้วย ข้าราชการ พลเรือนโดยมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการถูกยึดครองจากกองทัพญี่ปุ่น และหาทางติดต่อกับประเทศสัมพันธมิตรให้รู้ว่า มีขบวนการเสรีไทยซึ่งมีผู้สำเร็จราชการเป็นหัวหน้า และการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยกับสัมพันธมิตรจึงเป็นโมฆะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และขอทราบท่าทีของจีนรวมถึงชาติสัมพันธมิตรอื่น ๆ

วันหนึ่ง ปรีดีได้เรียกนายจำกัด พลางกูร มาเพื่อขอความสมัครใจในการเป็นผู้มีอำนาจเต็ม ปฏิบัติภารกิจลับ เพื่อหาทางไปจุงกิง เมืองหลวงของจีนติดต่อกับนายพลเจียงไคเช็ค ผู้นำจีน ให้ทราบถึงบทบาทของเสรีไทย ที่ผ่านมาได้ส่งคนไปหลายชุดแล้ว แต่ไม่รอดชีวิตกลับมาสักรายเนื่องจากหนทางจากกรุงเทพฯไปจุงกิง ผ่านทางอินโดจีนนั้นเต็มไปด้วยความทุรกันดารของภูมิประเทศ และอาจถูกทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนจับข้อหาจารชนได้ง่าย ๆ ในช่วงที่มีสงคราม ซึ่งมีโทษสถานเดียวคือยิงเป้า

จำกัดรับอาสาไปทำหน้าที่นี้ ในบันทึกประจำวันของเขา ได้เคยเขียนไว้ตั้งแต่พาคณะของเขาเข้าร่วมกับนายปรีดี เขา “อุทิศตัวและชีวิตให้แก่ท่านสุดแล้วแต่จะใช้ทำงานเพื่อชาติสิ่งใด…”

เขาออกเดินทางจากกรุงเทพเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ พร้อมกับล่ามจีนชื่อนายไพศาล ตระกูลลี้ ไปถึงนครพนมข้ามแม่น้ำโขงไปท่าแขก ข้ามภูเขาไปฮานอย ไปลงเรือที่ท่าเรือไฮฟอง เจอทหารญี่ปุ่นมาตรวจแต่ก็รอดมาได้จนข้ามมาขึ้นฝั่งที่ประเทศจีน ไปรายตัวกับกองทหารจีนเพื่อแจ้งความประสงค์

เขาถูกสั่งให้รออยู่หลายเมือง เพื่อรอการประสานงาน พยายามติดต่อสถานทูตอังกฤษและสถานทูตสหรัฐอเมริกา ให้ทราบถึงเรื่องขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศเรียกว่า เสรีไทย การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาจึงเป็นโมฆะ และหากเป็นไปได้ให้ช่วยพานายปรีดีออกนอกประเทศเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดีย

จำกัดเดินทางถึงจุงกิง เมืองหลวงในวันที่ ๒๑ เมษายน รวมระยะเวลาในการเดินทาง ๕๓ วัน เพื่อรอเข้าพบจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อให้รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนเสรีไทย ซึ่งเจียงไคเช็คได้กล่าวว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรรัฐบาลจีนยินดีที่จะช่วยเหลือให้ประเทศไทยได้รับเอกราชกลับคืนมา

ในเวลาต่อมา เมื่อเจียงไคเช็ค ได้มีโอกาสพบ นายรูสเวลท์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่กรุงไคโร เจียงได้แสดงความเห็นว่าหลังสงครามให้คืนเอกราชให้ไทย ซึ่งผู้นำสหรัฐก็แสดงความเห็นชอบด้วย

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ที่จำกัด พลางกูรสามารถพูดจาจนทำให้เจียงไคเช็ค ยอมรับในเอกราชไทย หลังสงครามอันส่งผลให้อเมริกายอมรับด้วย เพราะในเวลานั้นท่าทีของอังกฤษเองก็ยังไม่ชัดเจน จนเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ขบวนการเสรีไทยจึงได้รับการรับรองจากสัมพันธมิตร การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรจึงเป็นโมฆะและประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เช่นเดียวกับญี่ปุ่น

ในระหว่างที่อยู่ประเทศจีน จำกัดได้มีโอกาสพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัตน หัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษ ทำให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างนายปรีดีหัวหน้าเสรีไทยในประเทศกับสายอังกฤษ เมื่อสามารถเชื่อมต่อกันได้ การทำงานจึงเป็นเอกภาพมากขึ้น และม.จ.ศุภสวัสดิ์ก็มีส่วนสำคัญในการไปเจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้เข้าใจสถานการณ์เสรีไทยมากขึ้น ในขณะที่จำกัดพยายามติดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ซึ่งหากไม่สามารถทำให้มหาอำนาจจีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้เข้าใจบทบาทของขบวนการเสรีไทยแล้ว ช่วงปลายสงครามโลก มีโอกาสเป็นไปได้ที่กองทัพจีนจะมาปลดปล่อยยึดครองภาคเหนือ และอังกฤษ อเมริกาจะมายึดครองส่วนที่เหลือ ประเทศไทยอาจจะถูกแบ่งเป็นไทยเหนือ และไทยใต้ เช่นเดียวกับสถานการณ์ของเยอรมนี พื้นที่ส่วนที่กองทัพรัสเซียยึดครองกลายเป็นประเทศเยอรมนีตะวันออก และส่วนที่สัมพันธมิตรยึดครองกลายเป็นประเทศเยอรมนีตะวันตก

แต่โชคร้ายที่จำกัดได้ล้มป่วยลงอย่างต่อเนื่อง เขามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เขาเขียนบันทึกครั้งสุดท้ายว่า “ ข้าพเจ้ากลุ้มใจเรื่องการเจ็บไข้จริง ๆ ต้องนอนซม คิดถึงฉลบเหลือทน”

๗ ตุลาคม ๒๔๘๖ ความตายก็ได้พรากชีวิตของวีรบุรุษ ในโรงพยาบาลในเมืองจุงกิง ก่อนสิ้นใจเขาเอ่ยคำว่า “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”

แพทย์ลงความเห็นว่า เขาเป็นมะเร็งที่ตับและกระเพาะอาหาร แต่มีการสันนิษฐานจากหลายฝ่ายว่า ไม่ใช่การตายธรรมดา เขาอาจถูกลอบวางยาพิษจากฝ่ายจีนหรือฝ่ายญี่ปุ่น

นายปรีดีทราบข่าวการเสียชีวิตของจำกัดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้เล่าให้นางฉลบชลัยย์ทราบ จนสงครามสงบลง นายปรีดีได้เชิญผู้ใหญ่หลายท่านมาที่ทำเนียบท่าช้าง และรบกวนให้ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ผู้ใกล้ชิดกับจำกัดมากในช่วงสุดท้ายได้เป็นผู้บอกภรรยาของเขา นางฉลบชลัยย์หนีออกไปร้องไห้นอกห้องนายปรีดีเข้าไปโอบกอดและบอกว่า “ต่อไปนี้ขอให้ถือว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันนะ”

นางฉลบชลัยย์แต่งชุดดำไว้ทุกข์ต่อมาถึง ๒๐ ปี ครองตัวอยู่คนเดียว อุทิศตนเองเพื่อสอนหนังสือเด็ก ๆ โดยเฉพาะลูกหลานของผู้ได้รับเคราะห์กรรมหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ มีรูปถ่ายของจำกัดใส่กรอบตั้งอยู่ในบ้านตลอดกาล

เป็นความรักที่แม้ความตายก็มิอาจพรากจากไปได้

สารคดี พย. 2557

 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.