การออกมารับผิด คือจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา

X11980776-1

“ทุกครั้งที่เกิดเกิดวิกฤติ ความจริงคือสิ่งแรกที่มนุษย์ทุกคนอยากรู้ แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ ความจริงจะถูกกำจัดเป็นอันดับแรก”

ในหลักการประชาสัมพันธ์ทั่วโลก กฎข้อแรกเมื่อบริษัทหรือองค์กรเกิดวิกฤติ เกิดปัญหาร้ายแรง คือ ต้องพูดความจริงให้สาธารณชนทราบเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ยิ่งพูดความจริงช้า ความเสียหายก็จะมากขึ้น
24 มีนาคม 2558 เครื่องบินแอร์บัส A320 ของสายการบินต้นทุนต่ำ Germanwings บริษัทในเครือ Lufthansa ประสบเหตุตกในบริเวณเทือกเขาแอลป์ทางใต้ของฝรั่งเศส ขณะกำลังมุ่งหน้าจากนครบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ไปยังเมืองดุสเซลดอฟ ประเทศเยอรมนี ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งผู้โดยสารและลูกเรือรวม 150 คน สร้างความตกตะลึงให้กับคนทั่วโลก

ภายในไม่ถึง 24 ชั่วโมง ฝ่ายบริหารของ Germanwings ได้ออกมาพูดความจริง ว่าเป็นความผิดพลาดของนักบินเองและกล่าวขอโทษ แสดงความรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าการพาญาติพี่น้องไปดูที่เกิดเหตุ หรือชดเชยค่าเสียหายให้กับชีวิตของผู้โดยสารอย่างเต็มที่ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์บริษัทมีน้อยมาก

ย้อนเวลาไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ขณะที่เรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติกรีซ กำลังถ่ายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน ในเครือ ปตท. ได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อท่อรับน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร เกิดรอยแตกรั่วขึ้น

น้ำมันดิบกว่า 50,000 ลิตร จึงไหลทะลักออกสู่ท้องทะเล และสองวันต่อมาคราบน้ำมันส่งผลกระทบให้ชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศอย่างรุนแรง ถือเป็นเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ผู้บริหารของปตท.หลายคนออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างเรียบร้อย ชายหาดพร้าวไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ไม่ยอมบอกความจริงว่า ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เกิดความเสียหายรุนแรง จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของปตท. ที่ไม่ยอมบอกข้อเท็จจริงให้กับประชาชนทราบ ไม่ยอมขอโทษหรือยอมรับผิดแต่แรก ภาพลักษณ์ของปตท. ในด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดลบอยู่แล้วก็ติดลบหนักลงไปอีกในสายตาของคนทั่วไป

ล่าสุดสถานการณ์หมอกควันพิษที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ มีหลักฐานออกมาชัดเจนว่า ต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูกข้าวโพดอย่างมหาศาล 5 ล้านกว่าไร่ ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตป่า พอย่างเข้าสู่หน้าแล้งชาวไร่ก็เผาซากไร่ เพื่อเตรียมการเพาะปลูกใหม่ ส่งผลให้ปริมาณหมอกควันพิษสะสมเพิ่มมากขึ้น

ไม่นับรวมถึงการส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านเผาป่าให้เป็นไร่ข้าวโพดซึ่งนั่นหมายความว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรที่ขายเมล็ดพันธุ์ รับซื้อข้าวโพดเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ย่อมมีส่วนสำคัญในการเป็นต้นเหตุของปัญหาด้วย

แต่ล่าสุดเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรกรรมรายหนึ่งได้ออกมาปฏิเสธ โดย ระบุว่า มีพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ที่ทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรในการปลูกข้าวโพด เพื่อไปทำเป็นเมล็ดพันธุ์ บริษัทสามารถควบคุมการจัดการได้และยืนยันว่าไม่ได้มีการเผาวัสดุทางการเกษตรแต่ในส่วนของการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเป็นรายๆ ในส่วนนี้ทางบริษัทไม่สามารถเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการพื้นที่ได้

เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ภาพพจน์ของบริษัทแห่งนี้ติดลบในสายตาของผู้คน เมื่อมีข่าวว่าบริษัทซีพีได้นำลูกไก่จำนวน 1 ล้านตัวไปปล่อยทิ้งกลางทะเล เพื่อทำให้ราคาของไก่ในท้องตลาดสูงขึ้น

วันนี้บริษัทแห่งนี้กำลังมีภาพพจน์ติดลบว่า มีส่วนทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษ จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดมหาศาลทั่วประเทศที่ส่วนใหญ่บุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือ

บริษัทยักษ์ใหญ่ทางเกษตรที่มีส่วนในการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและรับซื้อผลิตผลของชาวไร่ อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบเลยครับว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

กล้าไหมครับ ซีอีโอของบริษัทจะแถลงข่าวยอมรับผิดว่า บริษัทมีส่วนในการทำให้เกิดปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาไร่ข้าวโพดที่บริษัทตัวเองมีส่วนในการเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดและแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการสัญญาว่า นโยบายการดูแลรักษาป่า คือนโยบายหลักของบริษัทที่จะกระทำอย่างจริงจังจะไม่ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพด หรือรับซื้อข้าวโพดในพื้นที่ป่าต่อไปอย่างเด็ดขาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจริง ๆ

หากทำได้ คือจุดเริ่มต้นการแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันของทุกภาคส่วนคือ การทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ของแท้ครับ

กรุงเทพธุรกิจ 16/4/15

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.