บทเรียนจาก มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก นายทหารนักปฏิวัติ

Antalya เป็นเมืองชายทะเลเมดิเตอร์ริเนียน อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกีเป็นเมืองโบราณมีอายุตั้งแต่สมัยพวกโรมันมาปกครองแถวนี้ร่วมสองพันปีก่อน

ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก พากันชื่นชมกับทะเลสีฟ้า Turquoise ผู้เขียนปลีกตัว มาหาบ้านพักเล็ก ๆ หลังหนึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นที่ระลึกแด่ มุสตาฟา เคมาล อตาเติรก์ (Mustafa Kemal Atatürk) ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี ใช้เป็นที่พักอาศัยระหว่างมาอยู่เมืองนี้ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๓๐

อตาเติร์ก เป็นภาษาตุรกี แปลว่า บิดาแห่งชาวเติร์ก เป็นนามสกุลที่รัฐสภาตุรกี มอบให้แด่ท่าน และห้ามคนอื่นใช้มาจนถึงทุกวันนี้
คนไทยอาจเคยได้ยินคำว่า ยังเติร์ก อันหมายถึงกลุ่มทหารหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ และต้นแบบของคำนี้ก็มาจากกลุ่มนายทหารตุรกีที่ทำการยึดอำนาจการปกครองจากสุลต่าน ในสมัยอาณาจักรออตโตมัน เมื่อร้อยกว่าปีก่อนและสมาชิกกลุ่มยังเติร์กหนุ่มคนหนึ่ง ต่อมาได้กลายเป็น วีรบุรุษสงคราม นักปฏิวัติ ผู้นำและรัฐบุรุษของประเทศคือ อตาเติร์ก

ประเทศตุรกีที่เราได้ยินชื่อนั้น เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีเศษ ๆ นี่เอง ก่อนหน้านี้เรียกว่าจักรวรรดิออตโตมัน มหาอำนาจโลก ปกครองด้วยผู้นำแบบกษัตริย์ที่เรียกว่า สุลต่าน ผู้มีอำนาจสูงสุดสืบทอดกันมาหลายร้อยปี

ผู้เขียนเข้าไปดูสภาพทำเนียบบิดาของชาวตุรกี มีขนาดเพียงตึกแถวสองห้อง สองชั้นจำลองสภาพเมื่อร่วมร้อยปีก่อนให้ผู้ชมได้เห็น สภาพเรียบง่าย แทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์มีค่าอะไรนอกจากห้องทำงาน ตู้ โต๊ะรับแขก และเตียงนอนธรรมดา

มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก เกิดในปีค.ศ. ๑๘๘๑ ที่เมืองซาโลนิกา เมืองหลวงของแคว้นมาซิโดเนีย(อดีตดินแดนของออตโตมัน ปัจจุบันอยู่ในประเทศกรีซ) เป็นช่วงที่อาณาจักรออตโตมันเริ่มอ่อนแอลงมากจนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๑ แห่งรัสเซียให้ฉายาว่า เป็นคนป่วยแห่งยุโรป ในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยาม

เด็กน้อยแต่เดิมมีเพียงชื่อ มุสตาฟา ส่วน เคมาล ครูคณิตศาสตร์ตั้งชื่อให้จากผลการเรียนดีเยี่ยมในบันทึกความจำของเขากล่าวไว้ว่า “สิ่งที่จดจำฝังใจประการแรกในวัยเด็กก็คือปัญหาเกี่ยวกับการเข้าเรียนพ่อกับแม่ได้โต้เถียงกันยกใหญ่ แม่ต้องการให้ผมเริ่มต้นการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาใกล้บ้านแต่พ่อซึ่งเป็นข้าราชการกรมศุลกากร อยากจะส่งผมไปเรียนที่โรงเรียนเซมซี อีเฟนดี ที่เพิ่งเปิดใหม่สอนตามระบบสมัยใหม่ ในที่สุดพ่อผลก็แก้ปัญหาความขัดแย้งโดยยอมส่งผมไปเรียนตามใจแม่และอีกสองสาม วันต่อมาผมก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียน เซมซี อีเฟนดี”

ต่อมาเขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมทหาร ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยสงครามเมืองอิสตันบูลและจบการศึกษาในปีค.ศ. ๑๙๐๒

ช่วงเวลานั้น เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนประเทศเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตกเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้มีการศึกษาและนายทหารส่วนหนึ่งตระหนักว่า ระบอบการปกครองแบบสุลต่านที่รวบอำนาจไว้แต่ผู้เดียว มีแต่จะทำให้ประเทศอ่อนแอลงเรื่อย ๆ สุลต่านที่ประกาศตัวเป็นเคาะลีฟะฮ์ (ประมุขของอาณาจักรอิสลามทั้งทางการเมืองและศาสนา) ก็มิได้ประพฤติปฏิบัติตามระบอบการปกครองของ อิสลามอย่างแท้จริง ดินแดนหลายแห่งค่อย ๆ ถูกมหาอำนาจอื่นยึดไปทีละน้อยโอกาสที่อาณาจักรออตโตมันจะล่มสลายมีความเป็นไปได้

หลังจากจบการศึกษา มุสตาฟา เคมาล ได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารยศร้อยโทถูกส่งประจำการที่ดามัสกัส ได้เข้าร่วมสมาคมปฏิวัติลับ ชื่อ “มาตุภูมิและเสรีภาพ” ต่อมาเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของบรรดาผู้นำ ในปีค.ศ. ๑๙๐๘มุสตาฟากลายเป็นหนึ่งในยังเติร์ก นายทหารได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากสุลต่านอับ ดุลฮามิดที่ ๒ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ กลุ่มยังเติร์กได้นำประเทศเข้าสู่สงคราม โดยเลือกอยู่ฝ่ายเยอรมนี แต่มุสตาฟา เคมาล ไม่เห็นด้วย เกิดความขัดแย้งกับแกนนำยังเติร์ก เขาถูกส่งไปบัญชาการรบที่คาบสมุทรแกลลิปโปลี ต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตรที่พยายามยกพลขึ้นบก เป็นสมรภูมิอันดุเดือดแห่งหนึ่งในสงครามมีคนตายและบาดเจ็บหลายหมื่นคน เคมาลและกองทัพเตอร์กสามารถผลักดันให้อังกฤษ ฝรั่งเศสต้องถอนกำลังออกจากคาบสมุทร เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของทหารเติร์กและทำให้เคมาลกลายเป็นวีรบุรุษสงครามขึ้นมา

แต่เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม จักรวรรดิออตโตมันต้องร่วมรับผิดชอบไปด้วยต้องยอมเสียดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้น รวมทั้งดินแดนที่เป็นบ้านเกิดของตัวเองให้กับฝ่ายสัมพันธมิตร

ในปีค.ศ. ๑๙๑๙ มุสตาฟา เคมาล ได้ถูกส่งตัวไปใจกลางประเทศเพื่อรักษาความสงบ แต่เขากลับไปตั้งกองกำลังต่อสู้กับฝ่ายกองทัพกรีซที่ยกกำลังมารุกรานประเทศ เคมาลได้จัดตั้งสภาแห่งชาติที่เมืองอังการ่า ทำให้รัฐบาลที่กรุงอิสตันบูล (ซึ่งฝ่ายสุลต่านได้กลับมายึดครองแทนกลุ่มยังเติร์กได้อีกครั้งหนึ่ง) ประกาศว่า เคมาลเป็นกบฎและปลดเขาออกจากทุกตำแหน่ง

แต่เคมาลหาได้หวาดกลัวไม่ เขาได้ประกาศว่ารัฐบาลเป็นผู้ทรยศต่อชาติเพราะไม่ทำอะไรเลยในการปกป้องแผ่นดินให้รอดพ้นจากการคุกคามของกรีซ ขณะที่เคมาลนำกองทัพเข้าต่อสู้กับกรีซนานนับปี กว่าจะขับไล่กองทัพต่างชาติออกจากประเทศ สามารถเรียกศักดิ์ศรีและความภูมิใจของชาวเติร์กกลับคืนมาได้หลังจากกลายเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกและทำให้แผนของอังกฤษและฝรั่งเศสที่หมายจะครอบครองอาณาจักรออตโตมันก็ล้มเลิกไป

ค.ศ. ๑๙๒๒ สงครามความขัดแย้งระหว่างสองรัฐบาลก็สิ้นสุดลง เมื่อสุลต่านองค์สุดท้ายได้หนีออกจากประเทศ มุสตฟา เคมาล ได้ขึ้นปกครองอำนาจ รวมรวมผู้คนในประเทศที่มีความขัดแย้งและอ่อนแอให้เป็นหนึ่งเดียวและเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐตุรกี เป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกในปีค.ศ. ๑๙๒๓ ย้ายเมืองหลวงจากอิสตันบูลมาที่อังการ่า และได้เริ่มต้นทำการปฏิรูปประเทศ ใช้แนวคิดชาตินิยมเป็นตัวนำ จากอาณาจักรออตโตมันอันประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ กลายเป็นประเทศตุรกี ที่มีชาวเติร์กเป็นหลัก นำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัยแบบประเทศทางตะวันตกจนกลายเป็นประเทศมุสลิมที่มีเสรีภาพมากที่สุด

อตาเติร์ก ได้แบ่งแยกอำนาจการปกครองทางศาสนาออกจากอำนาจทางการเมืองซึ่งฝังรากลึกในหมู่ชนชั้นปกครองมายาวนาน และสิ่งที่สำคัญยิ่งคือ ความเท่าเทียมกัน ก่อนหน้านี้ผู้หญิงไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การศึกษาน้อย อตาเติร์กได้ประกาศให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส.ได้ และสนับสนุนให้ผู้หญิงได้ศึกษาในระดับสูงและให้ครอบครัวมีผัวเดียวเมียเดียว แม้ศาสนาอิสลามจะอนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคน

อตาเติร์ก ประกาศยกเลิกข้อบังคับในการแต่งกายมุสลิม ผู้ชายไม่ต้องสวมหมวกแขก หรือโพกหัวผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องปิดบังใบหน้าหรือสวมคลุมชุดดำตลอดเหมือนในอดีต

แน่นอนว่า การปฏิรูปได้รับการต่อต้านจากฝ่ายมุสลิมสายอนุรักษ์อย่างมากแต่อตาเติร์กก็ฟันฝ่าได้สำเร็จ ด้วยการใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือในการออกกฎหมาย

โดยเฉพาะเรื่องการลบล้างระบอบสุลต่านให้หมดสิ้น ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ตอนนั้นยอมรับว่าให้สุลต่านอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกษัตริย์อังกฤษ แต่อตาเติร์กมีความเชื่อว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขเพราะระบอบสุลต่านทำร้ายประเทศให้บอบช้ำมานานพอแล้ว แถมทรยศต่อชาติไม่ยอมสู้รบกับกรีซที่มากำลังมายึดครองประเทศ และอตาเติร์กประเมินว่า คนตุรกีส่วนใหญ่การศึกษาไม่สูง ความจงรักภักดียังมีมากทำให้โอกาสที่ระบอบสุลต่านจะได้รับความนิยมจะกลับคืนมาอีกครั้ง จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลมเขาได้เสนอญัตติเข้าสู่สภาให้ล้มเลิกระบบสุลต่านจนสำเร็จ และตัวเองได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม บรรดามุสลิมสายอนุรักษ์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า แม้อตาเติร์กจะประกาศว่าจะนำประเทศให้ทันสมัย ด้วยการเดินตามประเทศตะวันตกด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่ในข้อเท็จจริงเขาเป็นเผด็จการ พรรคของเขาไม่มีคู่แข่งเป็นรัฐบาลตลอด รัฐบาลและรัฐสภาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาโดยสิ้นเชิง ประชาชนไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

อาโนลด์ ทอย์นบี นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงการปฏิวัติของอตาเติร์กว่า “เป็นความพยายามที่จะปลดปล่อยชาติตุรกีให้ยืนอยู่บนเขาของตนเองโดยใช้การปกครองแบบอำนาจเผด็จการการเบ็ดเสร็จแต่เปลี่ยนจากระบบเก่ามาเป็นระบบใหม่”

ทว่าแต่เกือบร้อยปีผ่านมา เขายังเป็น บิดาแห่งประชาชนชาวเติร์กอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

สารคดี มิย. 2558

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.