อันเนื่องมาจากประเพณีการรับน้อง

 

ทุกปี ในช่วงกลางปี เรามักจะได้ยินข่าว การรับน้องในมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีการที่คนปกติไม่ทำกัน

ไม่ว่าจะเป็นการที่รุ่นพี่ บังคับให้น้องเข้าห้องเชียร์ การตะโกนใส่หน้าดัง ๆ หรือว้ากน้อง การเต้นรำด้วยท่วงท่าแบบร่วมเพศ การใช้ความรุนแรง ทรมานรุ่นน้องในรูปแบบต่าง ๆ

ข่าวในช่วงที่ผ่านมา นายโชคชัย ทองเนื้อขาว หรือน้องบอส นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร วิทยาเขตศรีราชา ถูกรุ่นพี่รับน้องเกินเหตุ จมน้ำในสระน้ำ ได้รับบาดเจ็บสาหัส มีอาการเป็นโรคปอดติดเชื้อต้องอยู่ในห้องไอซียู แพทย์ดูแลใกล้ชิด ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว

ก่อนหน้านี้ เราก็ได้ยินข่าวบ่อย ๆ ว่ารับน้องจนเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเป็นข่าวหลายครั้งหรือบางปีมีข่าวนักศึกษาบางคนเก็บกดจากการรับน้อง จนฆ่าตัวตายหนีปัญหา

แต่ประเพณีรับน้อง  ซึ่งควบคู่มากับระบบโซตัส ก็ยังไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทยทั้ง ๆ ที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดถึงความไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสังคมไทยยุคปัจจุบัน

วิกิพีเดีย เคยให้นิยามไว้ว่า

“โซตัส (SOTUS) คือรูปแบบของการฝึกนักเรียนนักศึกษาใหม่ในประเทศไทย และใช้เฉพาะในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่หรือที่เรียกว่าการรับน้อง ”

SOTUS ทำให้รุ่นน้องต้องเคารพรุ่นพี่ เพื่อความสามัคคี ความมีระเบียบของหมู่คณะโดยมีกิจกรรมรับน้องใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญ

กล่าวกันว่า ชนชั้นนำในสังคมได้รับอิทธิพลมาจากโรงเรียนในประเทศอังกฤษ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยริเริ่มใช้เป็นครั้งแรก ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีความหมายคือ

Seniority คือ การเคารพผู้อาวุโส

Order คือ การปฏิบัติตามระเบียบวินัย

Tradition คือ การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี มีภาคภูมิใจที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมา

Unity คือ การเป็นหนึ่งเดียว หรือความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน

Spirit คือ การฝึกจิตใจ การเสียสละกายและใจ มีน้ำใจเพื่อสังคม

หากพิจารณาตรงตามความหมาย SOTUS ดูมีเนื้อหาน่าสนใจมาก

แต่เมื่อเห็นวิธีการที่ปฏิบัติสืบกันมาของบรรดารุ่นพี่ที่คอยกำราบรุ่นน้องด้วยวิธีการแปลก ๆ แล้ว ก็ต้องถือว่าน่าจะเป็นข้ออ้างในการที่รุ่นพี่ จะสามารถใช้อำนาจกับรุ่นน้องตามอำเภอใจเพื่อให้นักศึกษาที่เข้าศึกษาใหม่เกิดความเกรงกลัวและปฏิบัติตามกฎที่รุ่นพี่ได้วางเอาไว้  ด้วยเหตุผลว่า

“การรับน้อง เป็นประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมา เพื่อสร้างความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียว รักหมู่คณะโดยใช้ระเบียบวินัยอันแข็งแกร่ง รุ่นน้องจึงต้องเข้ารับการฝึกด้วยความทรหดอดทน เพื่อให้จิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว”

ฟังดูดีมากเลยครับ

ข้ออ้างเหล่านี้ จึงทำให้รุ่นพี่ สามารถใช้อำนาจบ้า ๆ กับรุ่นน้องได้  และขู่ว่า หากไม่เข้าร่วมกิจกรรมจะถูกตะโกนด่าใส่หน้าด้วยเสียงดัง และรุ่นพี่มีสิทธิลงโทษ เช่นลงไปลุยสระน้ำสกปรก วิ่งรอบสนาม วิ่งลุยโคลนจนกว่าจะหมดแรง หรือวิดพื้นจนกว่ารุ่นพี่จะพอใจ  บางรายก็บังคับให้รุ่นน้องทำท่าอนาจารหรือกรอกเหล้าเข้าปากจนต้องหามส่งโรงพยาบาล

หากรุ่นน้องไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับการลงโทษ ทำให้เกิดความเกรงกลัวหรือถูกตัดขาดจากกลุ่มคณะสาขาที่เรียนด้วยกันจะไม่มีใครคบด้วย รุ่นพี่จะไม่ช่วยเหลือ

เป็นที่น่าสังเกตว่า  การรับน้องหรือโซตัสในมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับบรรยากาศประชาธิปไตยในสังคมด้วย

จำได้ว่าช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่บ้านเมืองมีประชาธิปไตยมากขึ้น การรับน้องหรือระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยซบเซาอย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับปัจจุบันที่การรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัยดูจะคึกคักขึ้น ตามบรรยากาศทางการเมืองที่ประชาธิปไตยได้โบยบินไปแล้ว

ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปีหนึ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ไม่มีการรับน้อง แต่มีรับเพื่อนใหม่

เพราะธรรมศาสตร์สมัยนั้น ไม่มีระบบอาวุโส ไม่มีโซตัส ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

จำบรรยากาศวันรับเพื่อนใหม่ พวกเราเดินทางไปค้างแรมต่างจังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ละกลุ่มมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม มีทำกิจกรรม เล่นเกม มีการแสดงบนเวที ไม่มีการตะโกนเสียงดัง ๆ พูดจาข่มขู่ว้ากน้อง ไม่มีการทรมานรุ่นน้องด้วยวิธีการประหลาด ที่จำได้คือการร้องเพลงปะแป้ง ทาหน้า และจบพิธีกรรมด้วยการสู่ขวัญผูกข้อมือบายศรี จำได้ว่าประทับใจมาก กับความอบอุ่นที่ได้รับจากพี่ ๆ

ผ่านมาแล้วหลายสิบปี เพื่อนต่างรุ่นก็ยังคบหากัน มีความเคารพกัน ช่วยเหลือกัน

รุ่นพี่ไม่เห็นจำเป็นต้องแสดงอำนาจ ทรมานรุ่นน้องแบบโหด ด้วยข้อแก้ตัวว่า เพื่อความสามัคคี เพื่อความอดทน เพื่อความแน่นแฟ้นของหมู่คณะ

อยากทรมานรุ่นน้อง ทรมานตัวเองก่อนดีกว่าไหม

กรุงเทพธุรกิจ 15 กันยายน 2559

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.