สัมผัสรถไฟความเร็วสูงญี่ปุ่น

ฟุกุโอะกะเป็นเมืองเก่าแก่ในเกาะคิวชู เกาะใหญ่ทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น เป็นศูนย์กลางทางด้านแฟชั่น วัฒนธรรม เศรษฐกิจ

เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ประชากรหนาแน่นแต่การจราจรไม่ติด ใครเคยไปก็พอเข้าใจได้ว่าเหตุใด

ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของเอเชีย

เมืองแห่งนี้มีระบบการจราจรดีเยี่ยม ประชาชนสามารถใช้บริการจากรถเมล์ รถราง รถไฟ

จนแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว

ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ได้มีการเปิดใช้รถด่วนหัวจรวดชิงกันเซ็ง แห่งคิวชูเป็นครั้งแรกบนเกาะนี้

สิบกว่าวันบนเกาะคิวชู ผู้เขียนได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงหลายครั้งในการเดินทาง

ที่ห้องจำหน่ายตั๋วรถไฟ ผู้เขียนเลือกซื้อบัตรรถไฟชิงกันเซ็งแบบ rail pass หรือตั๋วเหมาจ่ายรายอาทิตย์

คือจะเดินทางกี่ครั้งก็ได้ภายในหนึ่งอาทิตย์ เสร็จแล้วเดินไปตามป้ายที่มีทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟธรรมดา

และรถไฟความเร็วสูง พาตัวเองเข้าไปยืนรอตรงชานชาลาให้ตรงกับหมายเลขตู้โบกี้บนตั๋ว

สังเกตเห็นมีเจ้าหน้าที่สาวยืนอยู่ที่ชานชาลาทุกโบกี้ คอยชี้แนะให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารอย่างแข็งขัน

เห็นพนักงานทำความสะอาดมาเช็ดบันไดเลื่อนทุกซอกทุกมุม

เสียงเพลงแต่ละเพลงในสถานีล้วนมีความหมาย เพลงเปลี่ยนไปตามขบวนรถไฟแต่ละสายที่เข้ามา

เพื่อให้คนพิการได้ทราบว่ารถไฟขบวนใดกำลังเข้าสถานี

พอถึงเวลาที่ระบุในตั๋ว รถไฟหัวจรวดก็มาจอดเทียบท่า ตรงเวลาเป๊ะ

ชิงกันเซ็ง แปลว่า สายทางไกลสายใหม่ เป็นชื่อเรียกเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่น

โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของ เปิดใช้งานครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว

และขยายโครงข่ายไปทั่วประเทศ แต่เป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลจนการรถไฟญี่ปุ่นเป็นหนี้จนแทบล้มละลาย

จนในที่สุดต้องแปรรูปให้บริษัทเอกชนสี่แห่งรับมาดำเนินการต่อเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน

ทุกวันนี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงมีระยะทางประมาณ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว ๒๔๐-๓๒๐ กม./ชั่วโมง

และเคยทำลายสถิติโลกวิ่งด้วยความเร็ว ๖๐๓ กม./ชม.

ในโลกนี้ รถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพมีสามประเทศคือ เยอรมนี ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหัวขบวนรถไฟหัวกระสุนจึงมีสภาพคล้ายปากนกยื่นออกมา

คำตอบคือรถไฟความเร็วสูงยุคแรก ๆ เมื่อแล่นผ่านอุโมงค์ จะเกิดคลื่นความดันของอากาศ จากความเร็วของรถไฟพุ่งผ่านอากาศ

จนเกิดเสียงโซนิกบูมดังมาก เป็นมลพิษทางอากาศของประชาชนแถวนั้น ซึ่งวิศวกรก็แก้ไขไม่ได้สักที

จนกระทั่ง อิไอจิ นาคัตสุ วิศวกรนักดูนก ได้สังเกตเห็น นกกระเต็น เอาหัวพุ่งจากอากาศที่มีความต้านทานต่ำ

ลงสู่ผิวน้ำที่มีความต้านทานสูง เพื่อจับปลา โดยน้ำกระเซ็นเพียงเล็กน้อย

จึงเกิดความคิดที่จะออกแบบหัวรถไฟตามแบบปากของนกกระเต็น

หัวรถไฟเลียนแบบธรรมชาติคล้ายปากยาวยื่นออกมา เลียนแบบนกกระเต็น

เมื่อแล่นออกจากอุโมงค์สามารถลดเสียงดังได้จริงและประหยัดพลังงานอีกด้วย

ผู้เขียนเข้าไปในตู้โดยสาร ภายในโบกี้สะอาดตา เบาะที่นั่งสบายไม่อึดอัด สังเกตว่ามีอักษรเบลตรงด้านบนของที่นั่ง

เพื่อผู้พิการทางสายตา สักพักรถไฟก็เร่งความเร็วเกือบสามร้อยกิโลเมตร แต่ไม่รู้สึกถึงความเร็ว

พนักงานเก็บตั๋วเดินมาดูความเรียบร้อย แต่ไม่ได้ตรวจตั๋วโดยสาร เช่นเดียวกับตอนเดินเข้าชานชาลาก็ไม่มีใครมาดูตั๋ว rail pass

ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานค่านิยมของคนญี่ปุ่นที่ไว้วางใจกัน ไม่โกงหรือเอาเปรียบกัน

ถือเป็นการให้แสดงความเคารพกันอย่างแท้จริง

เจ้าหน้าที่วางใจผู้โดยสารว่าซื้อตั๋วทุกคน จึงให้เกียรติไม่ต้องเสียเวลาตรวจ

การตรวจหมายถึงไม่วางใจกันและกัน

มีครั้งหนึ่งผู้เขียนมารอรถไฟที่สถานีปลายทาง เห็นพนักงานทำความสะอาดอายุเฉลี่ย ๕๒ ปี

นับสิบคนยืนรอแถวตรงอยู่ประจำตู้โบกี้ ก่อนรถไฟหัวจรวดชิงกันเซ็งจะเข้าเทียบชานชาลา

พอรถไฟจอดเทียบท่า ประตูเปิด พนักงานจะโค้งคำนับให้กับรถและผู้โดยสาร และเข้าไปทำความสะอาดอย่างรวดเร็ว

พนักงานแต่ละคนจะทำความสะอาด ๑๐๐ ที่นั่งในตู้โดยสาร ต้องจัดการเศษขยะตามจุดต่างๆ แล้ว

พนักงานต้องตรวจสอบชั้นวางของบนศีรษะ เช็ดทำความสะอาดถาดรองอาหารที่ติดอยู่หลังเบาะที่นั่ง

เปิดผ้าม่านหน้าต่างของทุกที่นั่งให้เรียบร้อย ถูพื้นทางเดินให้สะอาดทุกซอกมุม

กดปุ่มปรับให้ทุกเบาะหันหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน ๗นาที เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริการ และการตรงเวลา

ซึ่งเป็นระบบจัดการที่น่าทึ่ง ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็น” ๗ นาทีมหัศจรรย์ในชิงกันเซ็ง”

พอผู้โดยสารเข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความสะอาดของตู้โดยสาร

ใครมาลองใช้ห้องน้ำจะรู้ว่าสะอาดกว่าสายการบินประจำชาติหลายสาย

การออกแบบภายในขบวนรถไฟของชินคังเซ็นก็ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น

การออกแบบที่นั่งตรงกลางให้กว้างกว่าที่นั่งริมทางเดินและที่นั่งริมหน้าต่าง

จนกลายเป็นตำแหน่งที่นั่งได้สบายกว่า เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารที่ส่วนใหญ่

มักจะไม่ชอบนั่งตำแหน่งตรงกลางสำหรับที่นั่งที่มี ๓ ที่ติดกัน

รถไฟญี่ปุ่นชนะใจคนสามประการเองคือ

รวดเร็ว ตรงเวลา และสะอาด

งานบริการคือหัวใจของการเดินรถไฟ. คนญี่ปุ่นถูกสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ดูแลคนอื่นก่อนตัวเอง

กิจการรถไฟของเขาจึงเจริญก้าวหน้ามาก ทั้งๆที่เริ่มต้นกิจการรถไฟมาไล่เลี่ยกับไทย

บ้านเรากำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง ถามว่า งานบริการเป็นอย่างไรบ้างครับ

สารคดี มิย. 2560

 

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.