ทากบนงานศิลปะ

หากถามนักเดินป่าว่า ป่าแห่งในเมืองไทยอยากไปมากที่สุด

ป่าฮาลา-บาลา ใต้สุดแดนสยาม น่าจะเป็นหนึ่งในสุดปรารถนาของนักนิยมไพร

ชื่อก็ลึกลับ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ยิ่งทำให้ป่าฝนแห่งนี้มีเสน่ห์ชวนค้นหา

ต้นปี ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ผู้เขียนขับรถจากตัวเมืองนราธิวาส ผ่านด่านทหารสะพายปืนกลเตรียมพร้อมเต็มที่หลายสิบด่านลงไปตามเส้นทางเปลี่ยว แทบจะไม่มีรถสวนมา มุ่งหน้าสู่ชายแดนใต้สุด อำเภอสุคิริน ก่อนจะเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ยามพลบค่ำ

รุ่งเช้าตื่นขึ้นมากลางสายฝนของป่าดิบชื้นผืนอุดมสมบูรณ์ที่สุดในแหลมมลายู ด้วยปริมาณน้ำฝนมากกว่า ๒,๐๐๐ มิลลิเมตรต่อปี และบางปีอาจถึง ๔,๐๐๐ มิลลิเมตร ขณะปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยของประเทศแค่ ๑,๕๐๐ มิลลิเมตร

ไม่น่าแปลกใจที่ป่าแห่งนี้มีฝนตกเกือบทั้งปี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาประกอบด้วยป่าสองผืน คือ ป่าฮาลา ในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และป่าบาลา ในอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่รวมกัน ๓๙๑,๖๘๙ ไร่

คำว่า “ฮาลา” แปลว่า “อพยพ” หมายถึง ผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากตัวเมืองปัตตานีในอดีตมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนรอบ ๆ ป่า  ส่วน “บาลา” มาจากคำว่า “บาละห์” แปลว่า “หลุด” หรือ “ปล่อย”  ชาวบ้านเชื่อว่าสมัยก่อนมีช้างเชือกหนึ่งหลุดหนีเข้าป่าฝั่งอำเภอแว้ง

ป่าสองผืนเป็นป่าดิบชื้นผืนใหญ่แห่งคาบสมุทรมลายู จนได้ฉายาว่า “แอมะซอนแห่งอาเซียน”

เป็นป่าดิบชื้นอันวิเศษ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีนก ๓๐๐ กว่าชนิดในจำนวน ๑,๐๐๐ ชนิดในเมืองไทย เป็นสวรรค์ของนกเงือก ๑๐ ชนิดจาก ๑๓ ชนิดในประเทศ มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๕๔ ชนิด สัตว์ป่าขนาดใหญ่มีทั้งช้าง เสือโคร่ง เสือดำ สมเสร็จ และร่องรอยกระซู่ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย รวมถึงชะนีดำใหญ่ที่เรียกว่าเซียมมัง ชะนีขนาดใหญ่ที่แพร่กระจายพันธุ์ในคาบสมุทรมลายู โดยพบที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ยังมีความลึกลับทางธรรมชาติอีกมากที่มนุษย์ไม่ทราบ

ขณะป่าผืนเดียวกันติดฝั่งมาเลเซีย น่าเสียดายที่ถูกสวนปาล์มขนาดใหญ่ค่อย ๆ กลืนกินผืนป่าดิบแล้ว

วันรุ่งขึ้นก่อนออกเดินป่า เจ้าหน้าที่เตือนว่าทากเยอะมาก เราใส่ชุดป้องกันทากคลุมถึงเหนือหัวเข่า  พอเริ่มเดินสายฝนก็โปรยลงมา แต่แค่ย่างก้าว ใช้มือแหวกต้นไม้ใบหญ้าที่คลุมปิดทางไม่นานก็เห็นสีแดงบนฝ่ามือ ทากตัวใหญ่ฝังตัวดูดเลือดอย่างรวดเร็ว พอแกะทากสำเร็จเลือดก็ไหลซิบ ๆ

ยิ่งเดินลึกป่ายิ่งดิบ พื้นดินเจิ่งนองด้วยน้ำ บางช่วงผ่านป่าพรุ เดินย่ำโคลนอันเฉอะแฉะ

พอมองพื้นล่าง แทบทุกย่างก้าวเห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เคลื่อนไหว ตัวทากขนาดเท่าเส้นด้ายจนถึงหัวไม้ขีดไฟชูตัวสลอน ตั้งท่าคอยประชิดสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนมาใกล้

พอหยุดเดิน สังเกตรองเท้าตัวเองเห็นทากหลายตัวค่อย ๆ กระดืบ ๆ ไต่ตามผิวรองเท้า พยายามรีดตัวเข้าไปในรู บางตัวคลานขึ้นมาตามกางเกง ควานหาช่องว่างที่จะสอดแทรกเข้าแนบเนื้อเพื่อฝังเขี้ยวดูดเลือด

เราพยายามแกะทากที่ไต่ขึ้นมา แกะก็ยากเพราะมันฝังตัวแน่น ใช้นิ้วดีดออกเท่าที่ทำได้ แต่ทากก็เยอะเหลือเกิน

ถึงตอนนี้ก็ต้องทำใจว่าบนร่างกายเราคงมีทากเกาะอยู่หลายตัว

เราเชื่อแล้วว่าทากเป็นดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า ป่าดิบมาก ๆ ทากจะชุกเป็นพิเศษ

ทากเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับไส้เดือนดิน ลักษณะคล้ายปลิง ลำตัวเป็นปล้อง มีเมือกเหนียวหุ้มไว้ไม่ให้ตัวแห้ง รูปร่างเรียวยาว หากินด้วยการดูดเลือดโดยใช้แว่นดูดที่อยู่ตรงปากด้านหน้า หากใช้แว่นขยายส่องดูจะเห็นฟันเล็ก ๆ จำนวนมาก

สายฝนโปรยปรายแทบมองไม่เห็นทางข้างหน้า เนื้อตัวเปียกชุ่ม อากาศหนาวเย็น แต่ก็ต้องเดินต่อไป

มีความสุขอย่างบอกไม่ถูกทุกครั้งเมื่อเข้าใกล้ธรรมชาติจนเห็นธรรมชาติในตัวเราแม้จะต้องแลกด้วยการบริจาคโลหิต

เราหยุดพักยืนนิ่ง ๆ ทากสามสี่ตัวได้กลิ่นคาวเลือดค่อย ๆ คลานกระดืบ ๆ มาทางเรา แม้จะไม่มีตา แต่อาศัยความร้อนและการสั่นสะเทือนจากการเดินของเหยื่อ

เรายกขาเปลี่ยนทิศมันก็หันตัวตาม แทบจะยืนนิ่ง ๆ ไม่ได้ ทากทุกตัวมุ่งมาหาเราจนต้องเดินต่อไป

ทากทำให้สัตว์ป่าพวกเก้ง กวาง ฯลฯ อยู่ไม่เป็นที่ เพราะเมื่อถูกทากเกาะมันจะรำคาญต้องขยับตัวเดินไปมาตลอดเวลา ดินจึงร่วนซุยขึ้น เปิดโอกาสให้เมล็ดงอกได้ง่าย เป็นประโยชน์ในระบบนิเวศ

ช่วงข้ามลำธาร มองลงพื้นน้ำก็เห็นทากว่ายน้ำกระดุบ ๆ มุ่งหมายฝากรอยจูบด้วยแว่นดูดที่ปล่อยสารคล้ายยาชาทำให้เราไม่รู้สึกตัว

จูบมันดื่มด่ำมาก ปากดูดแน่นดีดเท่าไรก็ไม่หลุด เมื่อดูดเลือดจนอิ่มแล้วจากไป เลือดเราก็ไหลออกมาอีก

เวลาดูดเลือดทากจะปล่อยสารสองชนิด

คือ สารฮิสตามีน (histamine) ช่วยกระตุ้นหลอดเลือดของเหยื่อให้ขยายตัว และสารฮิรูดิน (hirudin) ต้านทานการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดเหยื่อไหลไม่หยุด แม้ทากจะปล่อยตัวหลุดไปแล้ว

ทากจึงเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ที่นำสารฮิรูดินมาทำให้เส้นเลือดของคนไข้ไม่อุดตัน โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจ

ประโยชน์ของทากยังมีอีก ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ใช้เลือดที่ทากดูดวิเคราะห์หาดีเอ็นเอของสัตว์ป่าหายาก

กลับถึงที่พักค่อย ๆ สำรวจทั่วเรือนร่าง เห็นรอยทากกัดไม่ต่ำกว่า ๑๐ แห่ง ทากตัวสุดท้ายยังเกาะดูดเลือดตรงน่อง เรายอมให้มันฝังรอยจูบจนลำตัวอวบอิ่มและปล่อยลงบนแผ่นกระดาษ ก่อนมันจะคลานช้า ๆ ไปมาสร้างงานศิลปะบนแผ่นกระดาษชื่อว่า

“จุมพิตเลือด”

ประโยชน์ของทากมีเหลือหลายจริง ๆ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.