ไร่ข้าวโพด ต้นเหตุแห่งการทำลายป่า กับ CSR ของจริง

               212

1 กันยายนที่จะถึงนี้ เป็นวันครบรอบ 19 ปี การเสียชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผมกับพรรคพวกพากันมาสำรวจป่าสงวนแห่งหนึ่ง ที่อยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แถวบ้านคลองเสลา อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จำได้ว่าเมื่อเกือบสิบปีก่อน เคยขับรถมาแถวนี้ เส้นทางลำบากมาก เป็นป่าใหญ่ แน่นทึบอุดมสมบูรณ์ สลับกับไร่นาของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยกันมานาน มีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่พึ่งพาธรรมชาติ ใช้ไร่หมุนเวียนโดยไม่รบกวนพื้นที่ป่ามากเกินไป

สมัยคุณสืบมีชีวิตอยู่ เคยเล่าให้ผมฟังว่า ป่าสงวนเหล่านี้สำคัญมาก เพราะเป็นป่าแนวกันชน ป้องกันไม่ให้มีใครบุกรุกทำลายป่าเข้าไปถึงป่าห้วยขาแข้งได้

แต่มาครั้งนี้ ยอมรับว่าต้องทำใจกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

เราขับรถเข้าไปอย่างสบาย ถนนหนทางสะดวกขึ้น สองข้างทางที่เคยเป็นป่าผืนใหญ่ ได้กลายสภาพเป็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา เห็นต้นไม้ใหญ่กลางไร่ยืนต้นตายจากการถูกเผา  แทบไม่น่าเชื่อว่าภายในสิบปี พื้นที่ป่าสงวนนับหมื่นไร่ภายในหุบเขาหลายหุบกำลังกลายเป็นไร่ข้าวโพด

ไร่ข้าวโพดเหล่านี้รุกไปจนประชิดป่าห้วยขาแข้งแล้ว

แน่นอนว่า ชาวกะเหรี่ยงที่เคยมีวิถีชีวิตดั้งเดิม เรียบง่าย ใช้ผืนป่าอย่างรู้คุณค่า ปลูกข้าวไร่พออยู่พอกิน อยู่ดี ๆ คงไม่สามารถมาเปิดพื้นที่ป่าอย่างมโหฬารได้

แต่เกิดจากการที่บริษัทขายเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของประเทศ ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญหันมาปลูกข้าวโพด อ้างว่าราคาดีกว่าการปลูกข้าวไร่  และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดชนิดใหม่ให้ผลผลิต 2 ฝักต่อต้น ใบสีเขียวเข้ม ต้านทานโรคราสนิม ตำแหน่งฝักต่ำ เก็บเกี่ยวง่าย แกนเล็กเมล็ดลึก ทนแล้ง ปลูกได้ดีในที่ดอน ให้ผลผลิตสูงกว่า พันธุ์เดิมถึง 14%

ลืมบอกไปว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนี้เป็นชนิดพิเศษผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมเรียบร้อย เมื่อปลูกจนโตออกฝักใหม่แล้ว ไม่สามารถเอาเมล็ดข้าวโพดไปปลูกต่อได้ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติ หากชาวบ้านอยากปลูกข้าวโพดต่อก็ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าเพิ่ม

ระหว่างทางเราเห็นป้ายโฆษณาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดติดกันหนาแน่นตามเสาไฟ แข่งกับป้ายของพระเยซูที่ติดบนยอดเสาไฟ พอรถเข้าไปในหมู่บ้านกะเหรี่ยง เราได้ยินสปอตโฆษณาทางวิทยุเสียงนักร้องชื่อดังว่า “ข้าวโพดพันธุ์ดี ต้องซีพีตองแปด”

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นทางพ่อค้ามีการเอาหนังเร่ เอาดนตรีเข้ามาแสดงในหมู่บ้าน สลับกับการโฆษณาเมล็ดพันธุ์พิเศษ

พอชาวบ้านซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ทางบริษัทก็แนะนำปุ๋ยชนิดพิเศษยี่ห้อหนึ่งให้ บอกว่าหากปลูกข้าวโพดเมล็ดพันธุ์นี้ ต้องใช้ปุ๋ยชนิดนี้เท่านั้น ข้าวโพดจึงจะให้ผลผลิตงาม ใช้ปุ๋ยยี่ห้ออื่นมันจะไม่เข้ากัน

ชาวบ้านก็เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจ หลายคนก็เริ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรณ์ หรือ ธกส. ในการไปกู้ยืมเงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย โดยมีที่ดินสปก.เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และพอชาวบ้านปลูก ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว ก็เห็นว่าขายข้าวโพดได้กำไรมากกว่าปลูกข้าวขาย แถมมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ไม่ต้องเสียเวลาขนข้าวโพดออกไป

ต่อมาบรรดาพ่อค้าที่รับเมล็ดข้าวโพดมาขาย ก็พยายามขายเมล็ดพันธุ์กับปุ๋ยให้มาก ๆ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการบุกรุกป่าโค่นต้นไม้ใหญ่ให้เป็นไร่ข้าวโพดนับหมื่นไร่

ชาวกะเหรี่ยงแถวนั้นที่เคยมีพื้นที่การเกษตรประมาณครอบครัวละ 10 ไร่ ก็เพิ่มขึ้นเป็นคนละ 30 ไร่ เพื่อจะปลูกข้าวโพดให้มาก ๆ

นักการเมืองก็เข้ามาหาเสียงโดยการตัดถนนอำนวยความสะดวกในการขนส่งพืชไร่

เมื่อพื้นที่เพิ่มขึ้น บรรดาพ่อค้าในตลาดก็มาเร่ขายรถไถ (ยี่ห้อดังต้องคูโบต้า) อวดสรรพคุณเพิ่มประสิทธิภาพการทำไร่ โดยมี ธกส. คอยปล่อยกู้ ใครมีพื้นที่มากก็กู้ได้มาก

หนี้สินของชาวบ้านเริ่มพอกพูนขึ้น และเมื่อถนนเริ่มสะดวกขึ้น ชาวบ้านเริ่มมีเงินสดไว้จับจ่ายใช้สอย พ่อค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ รถปิกอัพก็ตามมา ชาวบ้านก็เป็นหนี้มากขึ้น

เมื่อหนี้สินมากขึ้น ก็ต้องบุกรุกป่าเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น จะได้มีเงินไปโปะหนี้ โดยมีรถไถช่วยอำนวยความสะดวกในการทำลายป่า

ทุกวันนี้ในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ทุกครอบครัวจึงเป็นหนี้สินเฉลี่ยรายละ 4 หมื่นบาท ยิ่งเพิ่มพื้นที่ปลูกมาก ยิ่งเป็นหนี้สินมากขึ้น

บริษัทก็ขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและปุ๋ยได้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นทิศทางเดียวกับการทำลายป่าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศ ที่นำไปเลี้ยงไก่ตามเล้าหรือระบบปิดทั่วประเทศ  และไม่ต้องแปลกใจที่ บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด บริษัทผลิตอาหารสัตว์ และบริษัทผลิตเนื้อไก่ ล้วนเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนเดียวกัน เป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร โดยมีชาวไร่ ชาวนาทั่วประเทศเป็นลูกจ้างปลูกข้าวโพดอย่างไม่รู้ตัว

ต่อมาเมื่อน้ำมันราคาแพงขึ้น จึงมีการนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอล ความต้องการข้าวโพดยิ่งเพิ่มมาก จึงมีราคาถีบตัวสูงขึ้น ปัจจุบันมีความต้องการข้าวโพดประมาณ 5.5 ล้านตัน/ปี  ขณะที่แต่ละปีทั่วประเทศผลิตได้เพียง 4 ล้านตัน  ความต้องการข้าวโพดจึงมีอยู่อีกมาก

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากจะพบว่า การบุกรุกป่าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามความต้องการพื้นที่ปลูกไร่ข้าวโพด  (ยังไม่นับรวมถึงการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็น สวนยางพารา ไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลัง)

ใครมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัด จะพบว่าบริเวณที่เคยเป็นป่าสงวน ได้กลายเป็นไร่ข้าวโพดสุดลูกหูลูกตา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ไม่ค่อยกล้าจับกุม เพราะกลัวปัญหาความขัดแย้งกับมวลชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตามปัญหาการบุกรุกป่าที่บ้านคลองเสลานั้น เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อกำหนดเขตป่าสงวนให้ชัดเจน สร้างกฎกติกากันใหม่ ป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายคือทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้

แต่ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ข้าวโพด บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร จะร่วมมือในการแก้ปัญหาการทำลายป่าอย่างไร

บริษัทเหล่านี้ไม่ต้องเสียเวลาทำกิจกรรม CSR แบบแจกถุงผ้า หรือปลูกป่าลดโลกร้อนให้เสียเวลา แต่นี่แหละคือการทำ CSR ของจริง หากตั้งใจแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่ตัวเองมีส่วนในการทำลายป่า

มติชน 30 สิงหาคม 2552

Comments

  1. ธรรมดา

    และนี้ก็คือ ผลพวงของการพัฒนาที่เกิดอิทธิพลของทุนนิยม
    และการตีความเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต และ การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของสังคมเมืองและสังคมชนบท แก้ปัญหาหนึ่ง แล้วให้ความรับผิดชอบต่อสังคมแบบฉาบๆ แก้แผลที่ถูกกรีดลึกของการพัฒนาที่ผ่านมา มันจะไปแก้ไขอย่างไร

    NGO ต้องเข้าใจและอย่าไปหลงตาม ธุรกิจว่า CSR คือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเท่านั้น แต่คือการสำนึกรู้และการดำเนินธุรกิจที่ไม่เพียงแต่การมองทางเศรษฐกิจแต่เห็นสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นตัวตั้ง และเติบโตไปพร้อมกันต่างหาก

  2. คนคู่

    CSR ยังมีของจริง ของปลอม เขาถึงว่า คนไทยถ้าตั้งใจ… ไม่แพ้ชาติใดในโลก
    ปัญหาการพัฒนาประเทศ น่าจะเริ่มตั้งคำถามใหม่ว่า อะไรคือมายา ก่อนจะให้นิยามของคุณค่าใดๆ

  3. mookie

    ไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไรดีครับพี่จอบ มุกได้รับทราบ ได้สัมผัสวงจรหนี้สินของเกษตรกรก็เมื่อได้มาทำงานกับร้านที่ขายเคมีเกษตรประจำอำเภอนี่ล่ะฮะ

    ส่วนอาหารสัตว์ที่มุกขายให้กับลูกค้าชาวกัมพูชาเป็นบริษัทในอันดับสอง แข่งกับบริษัทที่พี่จอบเอ่ยถึง…

    เรื่องราวของบริษัทนี้พอได้รับทราบอะไรลึกๆ หลายๆ อย่างแล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ ทั้งน้องๆ ผู้แทนขาย หรือแม้กระทั่งตัวลูกค้าคุยให้ฟัง

    ไอ้น้องๆ ในบริษัท ระดับผู้ปฏิบัติการ มันก็เหนื่อยกับองค์กรน่าดูเลยล่ะครับ เห็นแก่ได้ บีบทั้งลูกค้าที่เป็นเกษตรกร บีบทั้งพนักงานผู้ปฏิบัติงาน …

    มันบ่นให้ฟังกัน แต่มันก็ยังต้องก้มหน้าไถนาตามนโยบายต่อไปอ่ะคับพี่… 🙁

  4. สุธีร์

    ผมเดินทางขึ้นเหนือไปเจอชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดพูดเป็นเสียงเดยวกันว่าปีนี้เจ๊งอีกแล้ว วัฎจักรการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบที่ทำอยู่นี้ ไม่น่าจะไปรอด ได้มากนัก ตอนนี้ที่เชียงราย กำลังบูมเรื่องสวนยางพารา ช่าวบ้านมาซ้อมกรีดยางที่โรงเรียน ปลูกกันทั่วเมืองหมด อันนี้ไม่รู้ว่า แนวทางจะยั่งยืนไหม แต่ก็เห็นเขาส่งเสริมอย่างจริงจัง ทางออกของเกษตรกรในวันคืนที่หนี้สินพอกพูนเพราะโดนรุมทึ้งจากนายทุนใหญ่ระดับบนรุมกินโต๊ะ รัฐบาลก็ยังไม่แน่ว่าจะผ่านฤดูหนาวนี้ไหม ใครจะเป็นความหวังให้กับชาวบ้านได้บ้าง ช่วยบอกทีเถอะครับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.