เขื่อน แม่น้ำโขง และอาเสี่ยตัวจริง

ปีนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงจนเหือดแห้ง ดูจะหนักหนาสาหัส ลดต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีทีเดียว

ดูเหมือนไม่ใช่เฉพาะคนไทยริมฝั่งโขงที่เดือดร้อน คนลาว คนพม่า ไปจนถึงคนกัมพูชาและเวียดนามก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายสายแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ  8 ของโลก มีความยาว 4,160 กิโลเมตร  ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก มีปริมาณน้ำถึง   475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ต้องยอมรับว่า แม่น้ำโขงที่เคยลึกท่วมหัวนับสิบเมตร ตอนนี้ปริมาณน้ำลดฮวบฮาบ ทำให้บางช่วงสามารถเดินข้ามไปฝั่งลาวได้ จนกลายเป็นปัญหายาเสพติด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมยาบ้าที่ผู้ค้าแอบเดินข้ามแม่น้ำโขงมาจากฝั่งโน้น ได้มากกว่า 3 แสนเม็ด และต้องจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดลำน้ำ

แล้งจัดกันมาก ๆ เรือที่เคยเดินล่องแม่น้ำโขงก็ต้องหยุดเดินกัน มีเรือสินค้าเกยตื้นกลางแม่น้ำไม่ต่ำกว่า 20 ลำ และเรือโดยสารที่ล่องตามน้ำโขงไปหลวงพระบาง ก็หยุดเดินไม่มีกำหนด ไม่สามารถสัญจรทางน้ำได้อีกต่อไป

สาเหตุสำคัญของปัญหาระดับน้ำที่ลดลงอย่างมากในหน้าแล้งนี้  เป็นเพราะปีนี้ฝนตกทางภาคใต้ของจีนน้อย ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจึงน้อยกว่าปรกติ และทำให้เขื่อน 8 แห่งที่กั้นแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลานชาง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ปั่นไฟผลิตกระแสไฟฟ้า

น้ำน้อยอยู่แล้ว ยังมาดันเก็บไว้ใช้คนเดียว คนที่อยู่ข้างล่างก็จ๋อยสิครับ

เขื่อนยักษ์ที่กั้นแม่น้ำโขงชื่อ เสี้ยวหวาน เป็นเขื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกเขื่อนที่สร้างมา สูงถึง 300 เมตร จุน้ำประมาณ 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 4,000 เมกกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้ต้องใช้เวลากักเก็บน้ำประมาณ 5 ปี

หมายความว่า น้ำจากต้นแม่น้ำโขงไม่ว่าจะเป็นจากหิมะละลายหรือฝนตกทางตอนเหนือ ก็จะถูกเขื่อนทั้งหลายรุมเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จะปล่อยน้ำลงมาทางตอนล่าง ก็ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก

รัฐบาลจีนทราบดีว่า จะเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวกระโดดทุกปี  ต้องมีแหล่งพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐาน จึงได้กำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของประเทศจีนทางตอนใต้ โดยตั้งเป้าให้ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนให้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ถึง 100,000 เมกกะวัตต์ ขณะที่โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าตอนนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่ถึง 20,000 เมกกะวัตต์

นั่นหมายความว่า คนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงคงต้องทำใจไปชั่วนิรันดร แม่น้ำโขงคงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในอนาคตคงเกิดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด ปัญหาระดับแม่น้ำโขงลดลงมีแต่จะแย่ลงไปเรื่อย ๆ

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ยอมรับว่า ปริมาณน้ำโขงทำร้ายคนสองฝั่งหลายล้านคนแน่นอน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และยังไม่ได้รับหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการใดๆจากรัฐบาลไทย จึงไม่สามารถไปเจรจากับทางการจีนในประเด็นดังกล่าวได้

แน่นอนว่า รัฐบาลไทยคงจะต้องเกรงใจจีนเป็นพิเศษ ในฐานะอาเสี่ยตัวจริง เสียงจริง ที่จะมาแทนที่สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นในไม่นาน

ขนาดเศรษฐกิจของจีนในปีนี้คาดว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับสองของโลก แซงหน้าญี่ปุ่น คาดกันว่า ปี 2010 นี้ ขนาดเศรษฐกิจโลกจะมีขนาดรวม 62.48 ล้านล้านดอลลาร์  หรือประมาณ 2,124 ล้านล้านบาท ของสหรัฐอเมริกาจะเท่ากับ 14.704 ล้านล้านดอลลาร์  จีนจะตามมาเป็นที่สอง ขนาด 5.263 ล้านล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นตกลงไปอยู่ที่สาม มีขนาดเศรษฐกิจ 5.187 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อมังกรผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกแล้ว กระทรวงต่างประเทศไทยจึงรีบปฏิเสธวีซ่าเดินทางของน้องสาว องค์ดาไล ลามะ ที่จะมาเข้าร่วมการแสดงทางวัฒนธรรมของธิเบตในกรุงเทพมหานคร ไม่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเรียกร้องเอกราชของธิเบตเลย โดยกระทรวงต่างประเทศแถลงอย่างชัดเจนว่าเพราะไม่ต้องการให้จีนไม่พอใจ

ทั้ง ๆ ที่จีนยังไม่ทันเอ่ยปาก แสดงความไม่สบายใจแต่ประการใด กระทรวงต่างประเทศของเราก็ออกอาการก่อน เอาใจจีนจนลืมศักดิ์ศรีของประเทศตัวเอง

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า พอมีข่าวเรื่องน้ำแม่น้ำโขงแห้งลง บรรดาข้าราชการระดับอธิบดี ที่เกี่ยวข้องก็ลงพื้นที่ แต่แทนที่จะออกมาหาทางแก้ปัญหาน้ำที่ลดลงหรือช่วยเหลือชาวบ้าน  แต่กลับออกมาแก้ตัวแทนรัฐบาลจีน พร้อมกับฟันธงสรุปว่า เขื่อนไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ระดับน้ำลดลง

ดูเหมือนทางการไทยจะเกรงใจรัฐบาลจีน กลัวจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์จนมากเกินไป และปล่อยให้ชะตากรรมของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหกประเทศ  อยู่ภายใต้การกดปุ่มปิดเปิดประตูน้ำจากบริษัทพลังงานไฟฟ้าของจีนฝ่ายเดียว ที่กำลังจะเอาแม่น้ำโขง เป็น แม่น้ำส่วนตัว ในฐานะผู้ประมูลโครงการสร้างเขื่อนถึง 8 เขื่อนด้วยกันในแม่น้ำโขง

จะปล่อยให้อาเสี่ยทำตามอำเภอใจไปเรื่อย ๆ หรือถึงเวลาที่บรรดาลูกแม่น้ำโขงต้องเอาคืนกันบ้างแล้ว

ล่าสุดดร.ฮันซ์ จาราส นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี ได้ให้ความเห็นถึงแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในการใช้น้ำของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงว่า  ทางรัฐบาลไทย พม่า ลาว ควรจะเร่งเจรจากับจีน หากไม่สำเร็จ อาจจะใช้ช่องทางกฎหมายระหว่างประเทศยื่นฟ้องต่อศาลโลกให้พิจารณาเพื่อหาทางออก เพราะที่ผ่านมาเคยมีกรณีประเทศฮังการีและสโลวะเกียเคยมีปัญหาการใช้แม่น้ำร่วมกัน  เนื่องจากประเทศหนึ่งมีการสร้างเขื่อนไปกั้นลำน้ำ อีกประเทศไม่มีน้ำใช้ เมื่อเรื่องขึ้นสู่ศาลโลก สามารถทำให้เกิดการไกล่เกลี่ยและแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในที่สุด

ศาลโลกดูจะเป็นความหวังมากกว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไทยกล้าไหมครับ

มติชน  7 มกราคม 2553

Comments

  1. จั่น

    จะมีใครเขียนถึง
    แม่น้ำ เขื่อน และอาเสี่ยในเมืองไทย บ้างมั้ย

    ศาลโลกจะเป็นความหวังได้หรือไม่ สื่อและรัฐบาลไทยกล้ามั้ย
    ที่จะแตะเสี่ยไทยคนที่เพียงพอ จน The Economist เอาไปลง (หลายครั้ง)

  2. NAKAกลับมา

    ขอคืนจิตวิญญาณของข้าพเจ้า…ก่อนที่จะดล
    ด้วยโทสะที่ลุต่อโทษ..ปราศจากปราณี..
    คืนน้ำข้าพเจ้า..ขอสงบ..

  3. นักอนุรักษ์

    ผมไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนทุกที่ทั่วโลก เพราะผลประโยชน์มันอยู่เบื้องหลังการพัฒนา (เรื่องมันยาว) การสร้างเขื่อนถือเป็นการปิดกั้นทางเดินของน้ำ ไม่ท่วมก็แล้ง หาความพอดีไม่ได้เลย คนได้ประโยชน์จริงๆมีอยู่ 4พวกหลักๆ 1ผู้ผลิตอุปกรณ์สร้างเขื่อน 2 ผู้รับเหมา 3 บริษัทการไฟฟ้า 4พวกตัดไม้

  4. วรลักษณ์ ไชยดวง

    เดีนร์รัก ปายๆๆๆๆๆ เอิธๆๆๆๆมากๆ555+
    –*ักปาย รักเอิธ ที่สุด

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.