เหตุเกิด คอนโดข้างบ้าน

คุณจะรู้สึกอย่างไร หากวันหนึ่งบ้านที่เคยอยู่อย่างสงบสุขมานาน มีวันหนึ่งพื้นที่ข้างๆ บ้าน กำลังจะกลายเป็นที่ก่อสร้างอาคารสูงหรือคอนโดมิเนียม

หลายเดือนก่อนหน้านี้ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินออกไปอย่างเงียบ ๆ ผมสังหรณ์ใจว่า ความสงบสุขในละแวกนี้คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


ซอยบ้านผมอยู่บนถนนสุขุมวิท ดูเหมือนจะเป็นเพียงไม่กี่ซอยที่ยังไม่มีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม เพราะซอยอื่น ๆ รวมทั้งที่ดินริมถนนสุขุมวิทที่มีรถไฟฟ้าผ่านกำลังกลายสภาพเป็นอาคารสูง จากความต้องการของผู้อยู่อาศัย ความสะดวกสบาย และราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่า ทำให้เจ้าของบ้านหลายคนที่เคยอยู่กันมานานหลายสิบปี เริ่มทนความยั่วยวนใจไม่ไหวเปลี่ยนใจขายบ้านขายที่ดินให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่คอยสะสมที่ดินเพื่อให้ได้ผืนดินแปลงใหญ่พอจะสร้างอาคารสูง

ที่ผ่านมามีนายหน้าซื้อขายที่ดินแวะเวียนมากดออดประตูบ้าน ถามว่าจะขายบ้านหรือไม่ จนแทบจะติดประกาศว่า บ้านนี้ไม่ขาย

ปากซอยหน้าบ้านผมสังเกตเห็นว่า ตึกแถวและบ้านเรือนค่อย ๆ หายไป ทดแทนด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม จนทำนายได้ว่าอีกไม่กี่ปี ถนนสุขุมวิทคงมีสภาพเหมือนกับถนนในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยอาคารสูงหลายสิบชั้น แทบจะไม่เห็นบ้านเรือน หรือตึกแถวอีกต่อไป

วันหนึ่งผมก็ได้เอกสารจากบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับต้น ๆของเมืองไทย แจ้งความประสงค์ว่าจะมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมข้าง ๆบ้านของผม มีแบบสอบถามมาให้กรอก เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ตามข้อบังคับของกฎหมายสิ่งแวดล้อม

ผมให้ความร่วมมืออย่างดีในการกรอกแบบสอบถาม และแนะนำไปว่า ทางบริษัทน่าจะจัดประชุมผู้อยู่อาศัยแถวนี้เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ ไม่กี่วันทางโครงการก็เชิญประชุมเจ้าของบ้านรอบ ๆ โครงการในโรงแรมหรูแห่งหนึ่ง และอธิบายว่าพวกเขาใช้เทคโนโลยีทันสมัยและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมเพียงใดระหว่างที่มีการก่อสร้างอาคาร

เจ้าของบ้านได้แสดงความห่วงใยเรื่องเสียงดัง ฝุ่นและการจราจรติดขัดระหว่างการก่อสร้าง และพื้นดินทรุดจากการเจาะเสาเข็ม การขนถ่ายเหล็กเส้นและวัสดุหนักมาที่พื้นที่โครงการ
พรรคพวกที่มีประสบการณ์การก่อสร้างคอนโดมิเนียมข้างบ้านเตือนมาว่า ช่วงที่มีการบรรทุกเหล็กเส้นและอุปกรณ์ขนาดหนักมาในพื้นที่ก่อสร้างเรียกว่าฝันร้ายทีเดียว  เพราะพวกเขาจะทำงานช่วงดึก และมักง่ายโยนหนักหลายสิบตันกันโครม ๆลงพื้นดิน ผลก็คือเสียงสนั่นและแรงสั่นสะเทือนราวแผ่นดินไหวจะเกิดตลอดการทำงาน จนทำให้บ้านเขาทรุดมาแล้ว

แต่วิศวกรโครงการอธิบายว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะจะใช้เครนยกลงมา และฉายเพาเวอร์ พอยท์แสดงให้เห็นการใช้เทคโนโลยีทันสมัยการก่อสร้างอาคารสูง และรับปากกับเราว่า จะพยายามไม่ทำงานช่วงกลางคืนและวันหยุดที่หลายคนพักผ่อนอยู่บ้าน

สามสี่เดือนต่อมา การก่อสร้างได้เริ่มต้น เสียงเริ่มดังเป็นช่วง ๆ แต่พวกเราก็ทำใจหากยังไม่เหลือบ่าฝ่าแรง จนกระทั่งเสียงก่อสร้างเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ และชักจะดังมากขึ้นตอนช่วงดึกจนเลยเที่ยงคืน เสียงสั่นสะเทือนก็เพิ่มมากขึ้น

ผมสงสัยว่าสิ่งที่ตกลงกันไว้กับทางโครงการไม่เป็นไปตามสัญญา พอไปแอบดูกลางดึกก็รู้ว่า เสียงดังสั่นสะเทือนยามดึกเกิดจากการโยนเหล็กเส้นหนักนับร้อยตันจากรถเทลเล่อร์กระแทกลงกับพื้นดิน ไม่เกรงใจคนข้างเคียง ปราศจากรถเครน รอก ตามที่เคยตกลงกันไว้เลย

ผมเข้าใจดีว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายย่อยที่รับงานมาจากบริษัทอหังสาริมทรัพย์อีกต่อหนึ่งคงไม่ได้สนใจอะไรมากมาย รีบ ๆเอาของลงให้เสร็จ ดึกดื่นป่านนี้คงไม่มีผู้ควบคุมโครงการมาคอยตรวจสอบ

วันรุ่งขึ้น ผมโทรศัพท์ไปที่บริษัท บอกว่าช่วยกันหาทางลดการทำงานตอนกลางคืนและการส่งเสียงดังได้หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทก็รับปากอย่างดีว่าจะรีบดำเนินการให้

อาทิตย์หนึ่งผ่านไป เสียงไม่ได้เงียบลงแต่ดังขึ้นเรื่อย ๆแทบทุกคืน คนแถบนั้นแทบจะไม่ได้หลับนอนกัน ผมจึงโทรไปคุยกับผู้บริหารของบริษัท บอกว่า หากข้อตกลงสวยหรูในโรงแรมไม่สามารถเป็นจริงได้ ผมจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในหมวดว่าด้วย สิทธิชุมชน เพื่อสู้กับพวกคุณ

ผมบอกว่า นี่มิใช่การบ่น แต่กำลังเป็นการเผชิญหน้ากัน พวกคุณมีสิทธิเลือกได้ หากคุณทำตามข้อตกลงทุกอย่างก็จะจบลงด้วยดี

ดึกคืนนั้น เสียงก่อสร้างหายไปโดยสิ้นเชิง แต่กลางวันการก่อสร้างยังดำเนินไปตามปรกติ ถือเป็นการทำตามสัญญาเป็นครั้งแรก

ผู้คนในซอยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คอนโดก็สามารถสร้างได้ หากทุกคนเคารพกฎ กติกา และมารยาทซึ่งกันและกัน

จาก กรุงเทพธุรกิจ  18 กพ. 53

Comments

  1. (...)

    😕

    กับที่ผมเจอนั้นมันคนละอย่างเลยครับ

    กับผมมันเรื่องของการสร้างอุโมงค์รถลอดถนนทางแยก เวลาในการทำโครงการ สองหรือสามปีนี่ละ

    ผลกระทบที่เจอคือ

    ทุกๆเช้าผมจะต้องไปทำงานดดยการเดินไปขึ้นรถเมล์บริเวณที่ทำการขุดเจาะทำอุโมงค์ แต่พอมีงานก่อสร้าง ป้ายรถเมลจากที่เคยขึ้นประจำ ก็เป็นอันต้องถูกย้ายไปอีกสองสามป้าย คาดเอาตามเวลาในการเดินเท้าของผมคือประมา สี่-ห้าร้อยเมตร

    โอเคย์ – ถือเสียว่าได้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ผมยอมเดินไกลขึ้น

    ทำไมถึงต้องเดินเหมือนเดิม ก็เพราะว่า หากต้องนั่งรถมอร์เตอไซค์รับจ้าง ต้องเสียขั้นต่ำ 10 บาท

    จากปกติผมเสียแค่ค่ารถเมลไปกลับวันละ 16 บาท สำหรับการเดินทางในหนึ่งวัน เดี้ยวนี้เสียวันละ 36 บาท

    สามปี เฉพาะค่ารถมอเตอร์ไซคสำหรับการย้ายป้ายรถเมล์ 21,900 บาท

    และเช่ามาวันหนึ่ง ผมก็ต้องตืนมาพบว่า ป้ายรถเมล์ที่ย้ายไปไกลจากเดิมนั้น ตอนนี้ ย้ายขยับไปอีกแล้ว ไม่ได้ขยับกลับมาที่เดิมหรอกครับ ขยับไปไกลกว่าเดิมอีกเป็นกิโล

    คราวนี้กำลังคิดว่า จะไปร้องกับใครดีละครับ 😥

  2. ป๋อง โป๋ยเซียน

    เคยคิดว่าการ zoning น่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้และสามารถแบ่ง zone ที่พักอาศัยออกจากเขตธุรกิจแบบที่หลายๆประเทศในตะวันตกทำได้สำเร็จ
    แต่ความจริงก็คือยังเห็นอู่รถอยู่ติดกับบ้านพักอาศัยหลายๆที่ในเขตกรุงเทพและก็คงเห็นสิ่งแบบนี้ไปจนตาย… 🙁

  3. คนคู่

    บ้านข้างคอนโด เกิดเหตุ…
    สิทธิชุมชน ตาม รธน.50 ใช้ได้ น่าจะทำเป็นกรณีตัวอย่างเลยนะ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.