๑๐๘ ซองคำถาม 108 questions
ส่งคำถาม (send your question via email) ไฟดับบนเครื่องบิน
.......ระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้น ไฟในห้องผู้โดยสาร จะดับหมด เป็นเพราะ เครื่องบินต้องใช้พลังงานมาก หรืออย่างไรคะ
.......(วจี จิตใจมั่น / จ. กำแพงเพชร)
.......จริงๆ แล้ว ก่อนเครื่องบินขึ้น มีอยู่สองครั้ง ที่ไฟในห้องโดยสารเครื่องบิน จะดับ ครั้งแรกดับไม่นาน เป็นแค่ไฟกะพริบเท่านั้น เกิดขึ้นตอน สตาร์ตเครื่องยนต์ ขณะที่เครื่องบิน จอดรอผู้โดยสาร อยู่ที่ประตูขึ้นเครื่อง (gate) นั้น เครื่องบินใช้ไฟฟ้าจาก หน่วยพลังงานสำรอง นอกเครื่องบิน ซึ่งส่งกระแสไฟ มาเลี้ยงระบบแสงสว่าง และระบบระบายอากาศ ในเครื่องบิน แต่พอ เครื่องยนต์ติด เครื่องบินจะเปลี่ยนมาใช้ไฟ ที่ได้จากเครื่องยนต์ แทนไฟจากภายนอก ทำให้ ไฟดับไปวูบหนึ่ง เหมือนไฟกะพริบ
.......ส่วนไฟดับครั้งที่ ๒ เป็นตอนที่ เครื่องบิน กำลังจะขึ้นสู่ท้องฟ้า ไฟดับครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับ เหตุผลทางเทคนิค หรือเพื่อ ประหยัดพลังงาน แต่อย่างใด กัปตันไมก์ ลอร์เรีย แห่งสายการบิน ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า พนักงานต้อนรับ บนเครื่องบิน เป็นคนดับไฟ เพื่อเอาใจผู้โดยสาร เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่ ปรารถนาที่จะ เห็นแสงสว่าง ภายนอกเครื่องบิน ได้ดีขึ้น
.......มาถึงตรงนี้ คุณอาจสงสัยว่า แล้วทำไม ตอนเครื่องลง ถึงเปิดไฟเสียสว่างไสว ผู้โดยสาร ไม่ได้อยากเห็น ทิวทัศน์ข้างนอก เหมือนตอนเครื่องบินขึ้น หรืออย่างไร คำตอบของกัปตันก็คือ ขณะเครื่องลง ผู้โดยสาร มักจะต้องเก็บข้าวเก็บของ ให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมลง มากกว่าอยากชมวิว
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

ทำไมจึงไม่ควร เอากรรไกรตัดผ้า ไปตัดกระดาษ
.......จริงหรือไม่ ที่ไม่ควร เอากรรไกรตัดผ้า ไปตัดกระดาษ อยากทราบว่า เป็นเพราะอะไร
.......(พยอม ชื่นเขียว / จ. ปทุมธานี)
......กรรไกรที่ใช้ตัดผ้า จะต้องเป็นกรรไกรที่คมมาก ถึงจะทำหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระดาษ เป็นวัสดุที่ แข็งกว่าผ้า ถ้านำกรรไกรตัดผ้า ไปตัดกระดาษ จะทำให้ ความคมของกรรไกร ลดลง นำไปใช้ตัดผ้า ได้ไม่ดีเท่าเดิม นอกจากนี้ กระดาษ ยังมีส่วนประกอบของ ดินเหนียว หรือโคลน ซึ่งจะจับติดที่ คมของกรรไกร ทำให้กรรไกรทื่อ
......กรรไกรที่ทื่อเล็กน้อย ตัดกระดาษได้ ไม่เสียหายแต่อย่างใด แต่มักก่อให้เกิดปัญหาเสมอ เวลาใช้ตัดผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าไหม เพราะฉะนั้น ควรแยก กรรไกรตัดผ้า ไว้ต่างหาก ไม่นำไปใช้ ตัดวัสดุอย่างอื่น
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

ผ้าสามผืนของภิกษุ
.......เครื่องแต่งกายของพระสงฆ์ เรียกว่าอะไรบ้าง
.......(ทัฬห์ / จ. ชลบุรี)
......เครื่องนุ่งหุ่มของพระ ที่จำเป็นต้องมี และขาดไม่ได้ ตามที่พระวินัยกำหนด คือ ไตรจีวร หรือผ้าสามผืน คือ
......สบง เรียกตามคำพระว่า อันตรวาสก
......จีวร เรียกตามคำพระว่า อุตราสงค์
......และสังฆาฏิ ซึ่งเหมือนผ้าจีวรแต่มีสองชั้น สมัยก่อน ใช้ห่มซ้อนกันหนาว และใช้ห่มซ้อนกับ ผ้าจีวร เวลาเข้าไปในบ้าน ปัจจุบัน พระสงฆ์ในเมืองไทย ใช้พาดบ่า เวลาเข้าประชุมสงฆ์ ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามพระวินัย เช่น บวชนาค รับกฐิน ฟังปาติโมกข์ ฟังเทศน์ในวันพระ
......นอกจากนี้ ยังมีผ้าที่พระจะต้องใช้เป็นประจำ แต่พระวินัย มิได้บัญญัติบังคับไว้ คือ ผ้าอาบน้ำฝน ไว้ผลัดเวลาสรงน้ำ คล้าย ๆ กับที่ชาวบ้านใช้ ผ้าขาวม้า ผ้าอังสะ ใช้พาดทางบ่าซ้าย ไปทางขวา คล้ายผ้าสไบของหญิง ผ้าประคดเอว สำหรับรัดเอว ใช้ต่างเข็มขัด ภิกษุที่ออกนอกบริเวณที่พัก หากไม่ใช้ผ้าประคดเอว จะเป็นอาบัติทุกกฎ
......เดิมทีเครื่องนุ่งห่มของภิกษุ มีเพียงสองผืน คือ ผ้านุ่ง กับ ผ้าห่ม ต่อมาปีหนึ่ง อากาศหนาวจัด พระพุทธเจ้า กับพระอานนท์ พร้อมด้วยภิกษุ ขึ้นไปบนเขา เพื่อลองดูว่า พระจะอยู่ได้หรือไม่ หากใช้เพียง ผ้านุ่งผ้าห่ม ก็ปรากฏว่า ผ้าเพียงสองผืน ไม่พอกันหนาวได้ พระพุทธองค์ จึงนำผ้ามาซ้อนผ้าห่ม อีกสองชั้น ก็พอกันหนาวได้ จึงทรงอนุญาตให้พระ มีผ้าเพิ่มอีกผืนหนึ่ง คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

มันเขี้ยว เคี้ยวปาก
.......คุณย่าอายุแปดสิบกว่า ไม่มีฟันเหลือแล้ว แต่ชอบทำปากเหมือน เคี้ยวอะไรอยู่หยับ ๆ ถามย่า ย่าก็บอกว่า ไม่ได้ตั้งใจเคี้ยว แต่ร่างกาย มันบังคับให้ปากเคี้ยวไปเอง สังเกตดู คนสูงอายุหลายคน ก็เป็นอย่างนี้ ช่วยอธิบายสาเหตุได้ไหมคะ
.......(ไม่ลงชื่อ / กรุงเทพฯ)
......อาการเคี้ยวหยับ ๆ แบบนี้ มักพบใน คนฟันหลอมาก ๆ เกือบทุกคน แม้ในบางโอกาส (ซึ่งน้อยมาก) ยากล่อมประสาท หรือยาต้านอาการ เศร้าซึมบางชนิด อาจมีผลข้างเคียง ทำให้ระบบประสาท ผิดปรกติ ไม่สามารถ ควบคุม การเคลื่อนไหวของ จมูก ปาก หรือขากรรไกรได้
......ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมโรคชรา เชื่อว่า อาการเคี้ยว เป็นการตอบสนองของ กล้ามเนื้อประสาท ต่อสภาพไม่มีฟัน เรียกได้ว่า ช่องปาก พยายามหาสมดุลยภาพ ในตัวเอง ปรกติแล้ว ฟันจะทำหน้าที่ บังคับขากรรไกร ให้อยู่ในที่ของมัน แต่คนที่ไม่มีฟัน จะหาตำแหน่ง วางขากรรไกรบน และล่างไม่ได้
......บางคนอาจใส่ฟันปลอม เพื่อขจัดปัญหา แต่คนสูงอายุส่วนใหญ่ ฟันหลุดร่วงมาก เกินกว่าจะใส่ฟันปลอมได้ และเวลาไม่มีฟัน พวกเขาจะ หุบปากได้สนิทกว่ามีฟัน ปรกติแล้ว ขณะหุบปาก ฟันบน และล่าง ของคนเรา จะห่างกันประมาณ ๒-๓ มิลลิเมตร เมื่อคนไม่มีฟัน พยายามหุบปาก ให้เหมือนปรกติ แต่ทำไม่ได้สักที จึงกลายเป็น อาการเคี้ยวย้ำ อยู่ตลอดเวลา ส่วนคนที่ใส่ฟันปลอม จะรู้สึก มีสิ่งแปลกปลอมในปาก ทำให้กระวนกระวาย และนำไปสู่ การเคี้ยวลม คล้าย ๆ กับ เวลาเราถือปากกาอยู่ในมือ แต่ไม่ได้ใช้ เรามักจะเล่นปากกา หรือหมุนมันไปมา ฟันปลอม ก็เป็นสิ่งแปลกปลอม ที่ไม่ได้ใช้ พวกเขา จึงขยับมันโดยไม่รู้ตัว
......ลิ้นเป็นตัวการสำคัญอีกอันหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดอาการนี้ คนแก่ที่ฟันล่างหลุดหมดแล้ว ไม่มีฟันเป็นตัวจำกัดขอบเขต ของลิ้น ลิ้นจึงโผล่ออกมา และขยายขนาดขึ้น อาการเคี้ยว เกิดจาก จิตใต้สำนึก ในการพยายาม หาที่เก็บลิ้นของตัวเอง
......ปัญหาการมีน้ำลายมากเกินไป หรือปัญหาปากแห้ง เป็นปัญหาต่อเนื่อง ของผู้สูงอายุ จำนวนมาก ผู้ที่พบปัญหา นี้มักขยับปาก และขากรรไกร เพื่อตอบสนอง อาการที่เกิดขึ้น จึงดูเหมือน เคี้ยวปากหยับ ๆ ตลอดเวลา
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

ยิ่งเก็บ ยิ่งเหลือง
.......หนังสือที่เก็บไว้นาน ๆ กระดาษ มักกลายเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะ กระดาษหนังสือพิมพ์ จะเหลืองเร็วกว่า หนังสืออื่น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
.......(เกื้อกูล ศิริธรรม / จ. สุโขทัย)
......กระดาษที่ใช้ทำหนังสือพิมพ์ เป็นกระดาษที่ทำจาก groundwood หรือไม้ ที่บดเป็น เศษเล็กเศษน้อย โดยไม่ได้ผ่าน กระบวนการทางเคมี กระดาษชนิดนี้ คุณภาพต่ำที่สุด ในบรรดา กระดาษผลิตหนังสือทั้งหมด
......ส่วนประกอบสำคัญของไม้คือ เซลลูโลส และ ลิกนิน เซลลูโลส เป็นเส้นใยที่ยาว และแข็งแกร่ง และจะคงความแข็งแกร่งอยู่ได้ ในสภาพที่เป็นกลาง หรือเป็นด่างเล็กน้อย พืชจำพวกฝ้าย ปอ หรือป่าน มีเซลลูโลสอยู่มาก กระดาษที่ทำจากพืชเหล่านี้ จะนุ่มนวล และคงความขาวอยู่ได้นาน ส่วนลิกนิน หรือน้ำหล่อเลี้ยงในเนื้อเยื่อของต้นไม้ เป็นสารที่ทำให้ไม้แข็ง แต่มีลักษณะเป็นกรด เวลาเอาเยื่อไม้ มาทำกระดาษ ต้องนำมาผ่าน กรรมวิธีทางเคมี เพื่อกำจัดลิกนิน กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษราคาถูกอื่น ๆ ทำมาจาก การบดอัดไม้ ไม่ได้ผ่านกระบวนการ ทางเคมี ลิกนิน จึงยังคงอยู่ ลิกนินนี้เอง เป็นตัวการ ทำให้กระดาษเหลือง เมื่อได้รับแสง นอกจากนี้ ความเป็นกรดของลิกนิน ยังไปทำลาย โครงสร้างทางโมเลกุล ของเซลลูโลส ทำให้ กระดาษไม่ทนทาน
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

อังกะลุง ไม่ใช่เครื่องดนตรีของไทย
......."ซองคำถาม" รู้จักอังกะลุงไหมครับ พิจารณาจากชื่อแล้ว เข้าใจว่า จะไม่ใช่ เครื่องดนตรีของไทย ผมอยากทราบว่า อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีของชาติใด
.......(ภาสพงษ์ หาญยุทธนาการ / กรุงเทพฯ)
......อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ทำด้วย กระบอกไม้ไผ่ ใช้เขย่าให้เกิดเสียง เครื่องหนึ่ง มีระดับเสียงหนึ่ง เมื่อจะเล่นเป็นเพลง จึงต้องใช้เครื่อง ที่มีเสียงต่าง ๆ กันให้ครบ ใช้ผู้เล่นหลายคน ผลัดกันเขย่า ให้เกิดเสียงต่าง ๆ ประสมกัน ตามทำนองเพลง ปัจจุบัน โรงเรียนหลายโรง มีวงอังกะลุงประจำโรงเรียน
......คำว่า อังกะลุง เป็นคำที่มาจากภาษาชวาว่า angkelong หรือ angkloeng ในเรื่อง ระยะทางเที่ยวชวากว่า ๒ เดือน พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงอังกะลุงไว้ว่า "...ให้เป็นเครื่องประโคมอย่างหนึ่ง ให้สัตว์ป่าตกใจอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้กันมา ๒,๐๐๐ ปีแล้ว..." เครื่องดนตรีชนิดนี้ และชื่อที่เรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ น่าจะได้รับมาจาก ชวา และไทยก็เรียกตามภาษาชวาว่า อังกะลุง
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

ฃ ขวด กับ ฅ คน หายไปตั้งแต่เมื่อไร
.......ไม่ทราบว่า เราเลิกใช้พยัญชนะ ฃ ขวด กับ ฅ คน นานแค่ไหนแล้ว
.......(ประพนธ์ ตั้งเจริญ / กรุงเทพฯ)
......รศ. ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ผู้เขียนหนังสือ ฃ, ฅ หายไปไหน ? ได้ศึกษา ความเป็นมาของพยัญชนะ ทั้งสองตัวนี้ และชี้ให้เห็นว่า หากเริ่มนับ ตั้งแต่ที่พบ ฃ, ฅ ในศิลาจารึก สมัยสุโขทัย เป็นครั้งแรก จนถึง การประกาศเลิกใช้ ฃ, ฅ ในปทานุกรม พ.ศ. ๒๔๗๐ และพจนานุกรม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นเกณฑ์ พยัญชนะทั้งสอง มีที่ใช้อยู่ในภาษาไทย นานถึง ๗๐๐ ปี หากแต่ อัตราการใช้ และความแม่นยำที่ใช้ แตกต่างกันไป ตามยุคสมัย
......เดิม ฃ, ฅ เป็นพยัญชนะแทนเสียง ซึ่งเคยใช้กันมาแต่เดิม (ซึ่งแตกต่างจากเสียง ข และ ค) แต่เสียงนี้ ได้หายไป ในระยะหลัง เป็นเหตุให้ พยัญชนะทั้งสองตัว หมดความสำคัญลง ในภาษาไทยปัจจุบัน
......เมื่อครั้งที่มีการ ประดิษฐ์พิมพ์ดีด ภาษาไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี ๒๔๓๔ ผู้ประดิษฐ์ ได้ตัดตัว ฃ, ฅ ทิ้งไป ด้วยเหตุว่า พื้นที่บนแป้นพิมพ์ดีด ไม่เพียงพอ และยังให้เหตุผลว่า เป็นพยัญชนะที่ "ไม่ค่อยได้ใช้ และสามารถทดแทนด้วย ตัวพยัญชนะอื่นได้"
......นี่อาจเป็นครั้งแรก ที่พยัญชนะ ฃ, ฅ ถูก "ตัดทิ้ง" อย่างเป็นทางการ ส่วนครั้งต่อ ๆ มาก็คือ การประกาศงดใช้ ฃ, ฅ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้ง ปรับปรุงภาษาไทย ให้เจริญก้าวหน้า ในยุครัฐนิยม รวมถึงการประกาศ เลิกใช้ในปทานุกรม และพจนานุกรม ดังกล่าวแล้ว
......มีข้อน่าสังเกตว่า แต่ก่อน พยัญชนะ ฅ ไม่ได้ใช้ในคำว่า คน เลย (ฅ ใช้ในคำ ฅอ ฅอเสื้อ เป็นอาทิ) ความสับสนในเรื่องนี้ คงเกิดมาจาก ก ไก่ คำกลอน ผลงานของ ครูย้วน ทันนิเทศ (ในหนังสือ แบบเรียนไว เล่มหนึ่ง ตอนต้น, พ.ศ. ๒๔๗๓) ที่แต่งว่า "ฅ ฅนโสภา" แล้วต่อมา หนังสือ ก ไก่ ฉบับประชาช่าง ก็แต่งว่า "ฅ ฅนขังขึง" ซึ่งเป็น ก ไก่คำกลอน ฉบับที่คนรุ่นปัจจุบัน คุ้นเคยที่สุด แล้วก็เลย พลอยเข้าใจว่า ฅ ใช้ในคำว่า คน
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

กิน "บุก" แล้วไม่อ้วน จริงหรือ
.......ลูกสาวชอบซื้อ บุกเส้น มาให้ดิฉัน ทำแกงจืดให้กิน บอกว่า เป็นอาหารลดความอ้วน ดิฉันสงสัยว่า บุกเส้น ทำมาจากอะไร ถ้ากินมาก ๆ จะเป็นอันตรายหรือไม่
.......(แม่น้องเล็ก / กรุงเทพฯ)
......บุก เป็นชื่อไม้ล้มลุก ลักษณะคล้ายบอน ในสกุล Amorphophallus วงศ์ Araceae มีหลายชนิด พบได้ในแถบเอเชีย ทั้งเขตอบอุ่น เช่น จีน ญี่ปุ่น และเขตร้อน เช่น ไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์ บุก กินได้ทั้งใบ ก้านใบ และหัว ที่อยู่ใต้ดิน ในเมืองไทย ชาวบ้านนำบุก มาทำแกง ขนม ชาวเขาในภาคเหนือ นำบุกมาปิ้งกิน ชาวบ้านในบางพื้นที่ นำหัวบุก มาฝาน เป็นแผ่นบาง แล้วคลุกเกลือ ตากแห้ง จากนั้น นำมานึ่ง กินกับข้าว
......ปัจจุบันนักวิจัยค้นพบว่า ในบุก มีสารเส้นใย ที่ช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะไม่ให้พลังงาน ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่จะเข้าไปช่วย ปรับสภาวะ โภชนาการ ของร่างกายที่ไม่สมดุล อันเนื่องจาก ร่างกายได้รับ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน มากเกินไป เป็นระยะเวลานาน ให้เกิดความสมดุล วุ้นในบุก สามารถถูกย่อยโดย แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ เกิดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซมีเทน และกรดไขมัน ที่มีโมเลกุลขนาดสั้น มีผลให้ ลำไส้ใหญ่ บีบตัวได้มากขึ้น อาหาร ผ่านไปสู่ ทวารหนัก ได้เร็วขึ้น ไม่มีกากอาหาร ตกค้างในลำไส้ ระบบขับถ่าย จะทำงานดีขึ้น บุก ยังช่วยให้สารพิษต่าง ๆ รวมถึง สารก่อมะเร็งในอาหาร มีโอกาสสัมผัสกับ เยื่อบุลำไส้น้อยลง สารพิษ จะทำลาย เยื่อบุลำไส้ ได้น้อยลงด้วย ลดโอกาสเกิด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ สารกลูโคแมนแนนในบุก ที่ข้นเหนียวเป็นเมือกลื่น ยังช่วยขัดขวาง การดูดซึมน้ำตาล โคเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และวิตามินดี จากทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ ช่วยลดปริมาณ โคเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และน้ำตาลในเลือด จึงสามารถ ทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับ ผู้ที่เป็นเบาหวาน มีน้ำหนักเกิน หรือมีไขมันในเส้นเลือดสูง
......ปัจจุบัน มีการแปรรูปหัวบุก เป็นแป้ง วุ้น เพื่อทำเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร นานาชนิด เช่น เส้นบุก ดังที่คุณแม่น้องเล็ก ทำแกงจืด ให้ลูกสาวกิน นอกจากนั้น ยังทำเป็นไส้เทียม สำหรับบรรจุไส้กรอก ซุปบุกผง สำหรับชงกินกับ น้ำร้อน หรือทำเป็น เครื่องดื่มบุก ที่มีให้เลือก หลายรสหลายกลิ่น
......อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักไว้ว่า บุก ไม่มีคุณค่าทางอาหาร จึงไม่ควรบริโภค บุก เป็นอาหารมื้อหลัก ติดต่อกันนาน ๆ เพราะจะทำให้ร่างกาย ขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ และใบบุก และหัวบุก มีแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หากบริโภคมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของ การเกิดโรคนิ่วได้
......เพื่อนชาวใต้ของ "ซองคำถาม" ขอให้เพิ่มเติมคำตอบ สำหรับคำถามนี้ด้วยว่า คนใต้ รู้จักกินบุก มานานแล้ว และเนื่องจาก ยางของบุก ทำให้คันผิวหนัง จึงมีสำนวนพูดเปรียบเปรย คนปากร้าย หรือปากคันว่า "ปากบุก" บางทีก็เปรียบตรง ๆ ว่า "คันยิ่งหวา (กว่า) บุก"

กลับไปที่หน้าสารบัญ
ส่งคำถามที่คุณสงสัย แต่ยังไม่มีใครเคยตอบ ได้ที่นี่
108@Sarakadee.com
๑๐๘ ซองคำถาม เล่มที่ ๘



Click here to visit the Website



สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

สงวนสิทธิ์ ตามกฏหมาย
CopyRight. All rights reserved.
นิตยสาร สารคดี (Latest issue)