|
![]() |
วานิลลาคืออะไร เคยดูรายการทำอาหาร ของคุณหมึกแดงทางโทรทัศน์ แกทำขนมให้ดูอย่างหนึ่ง แล้วใส่อะไรบางอย่างที่บอกว่าเป็น "ฝักวานิลลา" แห้ง ๆ ดำ ๆ แถมใช้เสร็จแล้ว ยังล้างน้ำเอามาใช้ต่อได้ด้วยแน่ะ คุณแม่หนูก็สงสัย เพราะเคยใช้แต่วานิลลาที่เป็นขวด ๆ ซึ่งท่าทางจะเป็นสารสังเคราะห์ (แบบเดียวกับน้ำหอม) เสียมากกว่า ...ขอความรู้เรื่องนี้ด้วย (หนูเอง / กรุงเทพฯ) |
กลิ่นวานิลลาแท้ ๆ
สกัดมาจากฝักพืชชนิดหนึ่ง...
อย่างที่คุณหมึกแดง
โยนลงไปในขนมนั่นแหละ วานิลลาเป็นไม้เลื้อย ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) พันธุ์ที่ปลูกเป็นเชิงการค้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Vanilla fragans มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคใต้ ของประเทศเม็กซิโก ในอเมริกากลาง การใช้ประโยชน์จากวานิลลา ได้เผยแพร่ไปในทวีปยุโรป และอเมริกาจนเป็นที่นิยมอย่างมาก เช่น นำมาแต่งกลิ่นไอศกรีม เครื่องดื่ม ขนมเค้ก คัสตาร์ด พุดดิ้ง และขนมหวานอื่น ๆ นอกจากนี้ยังใช้ในการแต่งกลิ่นน้ำหอม และทำยาอีกด้วย กลิ่นหอมจากฝักวานิลลา เป็นกลิ่นของสารประกอบ ซึ่งเป็นสารหอมหลาย ๆ ชนิด เกิดขึ้นในระหว่างการบ่มฝักวานิลลา สารที่พบมาก คือ วานิลลิน (vanillin) จากการค้นคว้าด้านเคมี แม้จะพบว่าต้นทุนการสังเคราะห์วานิลลิน ราคาถูกกว่าวานิลลาธรรมชาติมาก แต่วานิลลินที่ได้จากธรรมชาติ มีสารหอมอื่น ๆ ปนอยู่ ทำให้มีกลิ่นหอมกว่า วานิลลินที่ได้จากการสังเคราะห์ มีการปลูกวานิลลาในประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบอเมริกากลาง แต่เมื่อนำวานิลลา ไปปลูกในประเทศอื่น กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการถ่ายละอองเรณู ของดอกวานิลลาเกิดได้ยากตามธรรมชาติ ต่อมามีการค้นพบ การถ่ายละอองเรณูเทียม ทำให้ประเทศเม็กซิโก ไม่สามารถเป็นผู้ผูกขาดการผลิตได้ต่อไป จึงได้มีการปลูกวานิลลาในเกาะเรอูนียง เกาะมาดากัสการ์ หมู่เกาะคอโมโรส ส่วนในประเทศเขตร้อน มีการปลูกในประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย ตาฮิติ แต่คุณภาพของวานิลลาที่ผลิตได้จากประเทศเขตร้อน ผลผลิตจะต่ำกว่าจากเกาะมาดากัสการ์ หมู่เกาะคอโมโรส และเกาะเรอูนียง และราคาก็ต่างกันด้วย กล่าวคือ ฝักวานิลลาจากเกาะมาดากัสการ์ ราคากิโลกรัมละ ๒,๐๐๐ บาท แต่จากอินโดนีเซีย ราคากิโลกรัมละ ๑,๕๐๐ บาท |
|
![]() |
วิธีแก้สะอึก...อึ๊ก ! ดิฉันมักพบปัญหาเกี่ยวกับการสะอึก จึงอยากเรียนถามว่า การสะอึกเกิดจากสาเหตุใด และมีวิธีแก้ไขอย่างไร (เจนพิธีกร สุนทรรัตน์ / จ. นครราชสีมา) |
ช. กฤษณา
เล่าไว้ใน สตรีสาร ฉบับที่ ๕๑, ๗
มีนาคม ๒๕๓๖ ดังนี้ อาการสะอึกเกิดจากการทำงานไม่ปรกติของกะบังลม กะบังลมเป็นแผ่นกล้ามเนื้อ และเนื้อพังผืด กั้นระหว่างช่องท้องกับช่องอก ทำงานโดยยืดและหด เพื่อช่วยในการหายใจ ปรกติอาการยืดหดนี้มีจังหวะสม่ำเสมอ สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจาก -มีอะไรไปรบกวนเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม -ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปดันกะบังลม -กลืนอาหารหรือน้ำจำนวนมาก จนไหลลงกระเพาะไม่ทัน ทำให้หลอดอาหารตอนปลายขยายตัว ไปกระตุ้นปลายประสาท ที่มาเลี้ยงกะบังลม -อวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มูลเหตุเหล่านี้ ทำให้กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลม ทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียง ที่คอหอยซึ่งปรกติคอยกั้น ไม่ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดอย่างแรง ก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียง (เส้นเอ็นสองเส้น) สั่นสะเทือน จึงเกิดเสียงอึ๊ก ๆ อย่างที่ได้ยินเวลาสะอึก อาการสะอึกอาจจะเกิดขึ้นได้นาทีละหลายครั้ง และสะอึกต่อเนื่องกันไปได้ตั้งหลายชั่วโมง จนคนสะอึกเหนื่อย วิธีแก้ไขให้หายสะอึก (ถ้าไม่ใช่สะอึกเพราะโรค) มีหลายวิธี เช่น หายใจลึก ๆ กลั้นหายใจ หายใจในถุงกระดาษสัก ๓-๕ นาที ดื่มน้ำแก้วโต พร้อมกลั้นหายใจ หาสิ่งใดแยงจมูกให้จาม ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่า ใช้มือลูบหลังเบา ๆ ให้เรอ |
|
![]() |
เลข ISO หมายถึงอะไร .......นึกว่าเฉพาะโรงงานเท่านั้นที่ประกาศตัวว่าตนได้รับ ISO วันก่อนผ่านโรงเรียนใหญ่แห่งหนึ่ง ขึ้นป้ายที่หน้าโรงเรียนว่าได้ ISO 9200 จึงอยากรู้ขึ้นมาเต็มแก่ว่าเลข ISO คืออะไรคะ และมีประโยชน์อย่างไร (ดารากร / กรุงเทพฯ) |
ISO
คือองค์การระหว่างประเทศ
ว่าด้วยการมาตรฐาน (International Standards Organization)
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๐ (๑๙๔๗)
โดยมีสำนักงานใหญ่ ISO ตั้งอยู่ที่
นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ วัตถุประสงค์ขององค์การ ISO ก็เพื่อส่งเสริมการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ และขจัดข้อโต้แย้ง รวมถึงการกีดกัน ทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ในด้านวิชาการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กล่าวง่าย ๆ ได้ว่า บริษัท หรือองค์กรใดได้รับ ISO ก็หมายความว่า สินค้าหรือบริการขององค์กรนั้น เข้าขั้นมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เลข ISO ที่เราเห็นกันคุ้นตาก็มี ISO 9002, ISO 14000 เป็นต้น หลายคนอาจสงสัยว่าแตกต่างกันอย่างไร ตัวเลขดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อการแบ่งแนวทางและวิธีการในการบริหารองค์กร ดังนี้ ISO 9000 คือการจัดระบบการบริหารเพื่อประกันคุณภาพ ที่สามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านระบบเอกสาร ISO 9001 เป็นมาตรฐานระบบคุณภาพ ซึ่งกำกับดูแลทั้งการออกแบบ และพัฒนาการผลิต การติดตั้ง และการบริการ ISO 9002 มาตรฐานระบบคุณภาพ ซึ่งกำกับดูแลเฉพาะการผลิต การติดตั้ง และการบริการ ISO 9003 เป็นมาตรฐานระบบคุณภาพ ซึ่งกำกับดูแลเรื่องการตรวจ และการทดสอบขั้นสุดท้าย ISO 9004 เป็นแนวทางในการบริหารงานคุณภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป็นข้อแนะนำ ในการจัดการในระบบคุณภาพ ซึ่งจะมีการกำหนดย่อย ในแต่ละประเภทธุรกิจ ISO 14000 เป็นระบบมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้องค์กรมีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง ISO 18000 มาตรฐานระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ในประเทศไทย องค์กรที่ต้องการ ISO จะต้องยื่นขอการรับรองมาตรฐาน จากสถาบันรับรองมาตรฐาน ISO (โทร. ๒๐๒-๓๒๗๑-๒) ซึ่งองค์กรนั้น ๆ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ในมาตรฐานที่ระบุไว้และต้องผ่านการตรวจประเมินผล ทีนี้ก็มาถึงคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ได้ ISO แล้วมีประโยชน์อย่างไร ในแง่ขององค์กรและพนักงาน ก็ทำให้การบริหารจัดการ เป็นไปอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสร้างภาพพจน์ที่ดี พนักงานมีส่วนร่วม และมีจิตสำนึก ในเรื่องคุณภาพมากขึ้น ภายใต้การปฏิบัติงาน ที่มีระบบและขอบเขตที่ชัดเจน ผู้บริโภคก็ได้ประโยชน์ ในแง่ความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ และบริการ ไม่ต้องเสียเวลาตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซ้ำอีก สรุปก็คือ ISO จะเป็นการปฏิวัติระบบการทำงานให้มีคุณภาพ ส่งเสริมเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และคุณภาพสังคม ให้ก้าวไกลควบคู่กัน |
|
![]() |
ราชบัณฑิตคือใคร ตำแหน่งราชบัณฑิตมีหน้าที่อะไร และต้องมีคุณสมบัติอย่างไร (นพดล สุจริตสัญชัย / กรุงเทพฯ) |
บางคนเมื่อเห็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรากฏชื่อผู้แต่ง
พร้อมสร้อยห้อยท้ายว่า
"ราชบัณฑิต"
ก็ให้รู้สึกครั่นคร้าม
และเกิดคำถามในใจว่า...
เขาเป็นใคร ? บางคนเห็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็เชื่อแน่ว่าราชบัณฑิตยสถาน จะเป็นแหล่งรวม ของนักปราชญ์แขนงต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มั่นใจนักว่าหน่วยงานนี้ ทำหน้าที่แต่งหนังสืออย่างเดียว หรือมีภารกิจอื่นใดอีก เชื่อแน่ว่าคงมีคนจำนวนมาก ที่ไม่รู้ว่าหน่วยงาน ที่มีนามว่า ราชบัณฑิตยสถาน มีบทบาทหน้าที่อะไร และราชบัณฑิต เป็นใคร... ดังที่คุณนพดลนึกสงสัย "ซองคำถาม" ขอข้อมูลไปยังราชบัณฑิตยสถาน และได้รับคำตอบอย่างละเอียด มาจากท่านเลขาธิการฯ แต่จะขอตอบให้คุณนพดลทราบ แต่เพียงสังเขปดังนี้ เมื่อประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลก็มุ่งมั่น ที่จะทำนุบำรุงประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าตามแบบอารยประเทศ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ จะต้องให้ประเทศไทย มีผู้ทรงความรู้ที่ทัดเทียม กับประเทศที่มีความเจริญทางวิชาการ วิธีการก็คือ ต้องตรากฎหมาย เพื่อจัดตั้งสถาบัน ที่เป็นแหล่งรวมนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ดังเช่นทุกประเทศที่เจริญแล้ว ได้จัดตั้งสถาบันเช่นนี้ เพื่อที่จะได้ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้ กับองค์การปราชญ์ ของนานาประเทศ และทำการค้นคว้า วิจัย รวบรวมสรรพวิชาการ จัดทำเป็นตำราออกเผยแพร่สู่ประชาชน และนักศึกษา ในส่วนของรัฐบาลหากประสงค์ ในเรื่องเกี่ยวแก่วิชาการ ก็จะได้สถาบันนี้ เป็นเครื่องมือค้นคว้าให้ ดังนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตราพระราชบัญญัติ ว่าด้วยราชบัณฑิตยสถาน เพื่อสืบแทนราชบัณฑิตยสภา ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งมีหน้าที่จัดการกับงาน ของหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทำนุบำรุงรักษาโบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ กับทั้งการบำรุงวิชาช่างและอักษรศาสตร์ พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดหน้าที่ และประเภทสมาชิกไว้ดังนี้ ๑. ค้นคว้าและบำรุงสรรพวิชา ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติ และประชาชน ๒. ติดต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ กับองค์การปราชญ์อื่น ๆ ๓. ให้ความเห็น คำปรึกษา และปฏิบัติการเกี่ยวกับวิชา ตามความประสงค์ของรัฐบาล สมาชิกมีสามประเภท ประกอบด้วย ๑. ภาคีสมาชิก คือ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งที่ขอสมัครเข้าทำการร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน โดยมีคุณวุฒิตามที่กำหนดในกฎหมาย และราชบัณฑิตยสถานได้พิจารณาเห็นควรให้รับได้ ๒. ราชบัณฑิต คือ ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของราชบัณฑิตทุกสำนัก ได้พิจารณาคัดเลือกจากภาคีสมาชิก แล้วนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทรงแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ๓. ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คือ ผู้ทรงเกียรติคุณในวิชาประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมร่วมกันของราชบัณฑิตทุกสำนัก เห็นชอบ แล้วนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงแต่งตั้ง สมาชิกราชบัณฑิตยสถานจะพ้นตำแหน่งเมื่อ ๑. ตาย ๒. ลาออก ๓. ไร้ความสามารถ ๔. ขาดจากสัญชาติไทย ๕. ไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ และที่ประชุมราชบัณฑิตวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่ง โดยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า สองในสามของที่ประชุม ๖. มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง และที่ประชุมราชบัณฑิตวินิจฉัย ให้พ้นจากตำแหน่ง โดยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า สองในสามของที่ประชุม สำหรับจำนวนสมาชิก จำกัดจำนวนเฉพาะภาคีสมาชิกเท่านั้น โดยให้มีจำนวน ๑๖๐ คน ส่วนราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และราชบัณฑิตไม่มีการจำกัดจำนวนไว้ การรับผู้ทรงคุณวุฒิเป็นภาคีสมาชิก มีบทบัญญัติให้ยื่นความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกโดยจะต้องมีคุณวุฒิดังนี้ ๑. ได้คิดกรรมวิธี หรือหลักอันใดที่ราชบัณฑิตยสถาน พิจารณาเห็นว่าเป็นประโยชน์ถึงขนาด ๒. ได้แต่งหนังสือที่ราชบัณฑิตยสถานเห็นว่าดีถึงขนาด หรือแปลหนังสือจากภาษาอื่น ซึ่งต้นฉบับได้รับการยกย่องว่า เป็นหนังสือชั้นเยี่ยมและคำแปลนั้นถูกต้อง ๓. ได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงเกียรติคุณในศิลปะ หรือ ๔. ได้เคยสอนวิชาเฉพาะในฐานะอาจารย์แห่งสำนักอุดมศึกษา ซึ่งรัฐบาลได้รับรองแล้ว ในการสมัครจะสมัครได้ในสำนักเดียว และสาขาวิชาเดียว และจะต้องมีราชบัณฑิต จำนวนสองคนรับรอง โดยต้องเป็นราชบัณฑิต ในสาขาวิชาที่สมัครนั้นหนึ่งคน สำหรับการเลือก และการแต่งตั้งราชบัณฑิตนั้น จะดำเนินการเมื่อมีตำแหน่งราชบัณฑิตว่างลง คือ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่ง พ้นจากความเป็นสมาชิกข้อใดข้อหนึ่ง หรือเมื่อมีตำแหน่งใหม่ คือ เมื่อราชบัณฑิตยสถานเห็นควร ให้มีตำแหน่งเพิ่มขึ้น ในสาขาวิชาที่ยังไม่เคยมีราชบัณฑิตประจำอยู่ ปัจจุบันมีราชบัณฑิตอยู่ ๖๙ คน ภาคีสมาชิก ๗๙ คน ไม่มีราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ การดำเนินงานของราชบัณฑิตยสถานมีสองลักษณะ ลักษณะแรกเป็นงานวิชาการ จากการค้นคว้า ที่ภาคีสมาชิก และราชบัณฑิต ได้นำมาแถลงแก่สำนัก ผลงานเรียบเรียงหนังสือตำรา งานที่ได้จากผลงานของสมาชิกนี้ ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ ในรูปของหนังสือ ตำรา และวารสารราชบัณฑิตยสถาน ลักษณะที่ ๒ เป็นงานวิชาการประเภทสารานุกรม พจนานุกรม บัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ ที่ฝ่ายข้าราชการในกองต่าง ๆ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ในรูปของคณะกรรมการ คณะบรรณาธิการ และคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก |
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ
| WallPaper
]
สงวนสิทธิ์ ตามกฏหมาย CopyRight. All rights reserved.