Click here to visit the Website

๑๐๘ ซองคำถาม 108 questions

 

ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

สัญลักษณ์เพศชาย-หญิง
      ใครเป็นคนคิดสัญลักษณ์ว่า คือเพศชาย คือเพศหญิง
   
(ไม่ลงชื่อ / จ. ระยอง)
    ค้นข้อมูลแล้วไม่ทราบชื่อคนต้นคิด ทราบแต่ว่าสัญลักษณ์ทางชีววิทยาของเพศหญิง () มาจากกระจกมือถือของวีนัส (Venus) เทพธิดาแห่งความรัก ส่วนของเพศชาย () มาจากโล่และหอกของมารส์ (Mars) เทพแห่งสงครามของโรมัน
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

เหตุใดจึงใช้ชื่อ "คณะราษฎร"
      ได้ข่าวว่า สารคดี จะทำสกู๊ปเรื่องอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อยากจะฝากให้ช่วยค้นด้วยว่า เหตุใดคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจึงตั้งชื่อว่า คณะราษฎร สงสัยมาตั้งแต่ สารคดี ทำสกู๊ปเรื่องเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว 
   
(แฟน สารคดี / จ. นนทบุรี)
    ถ้าคุณ "แฟนสารคดี" ไม่ถามเรื่องนี้มา " ซองคำถาม" ก็จะไม่รู้หรอกว่า ชื่อ "คณะราษฎร" นี้ เคยเป็นประเด็นที่ทำให้กลุ่มผู้ก่อการฯ ถูกโจมตีว่าร้ายมาก่อน 
    เรื่องมีอยู่ว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ได้โจมตีว่า ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน เรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" โดยราษฎรไม่รู้เห็นด้วย
    ในเรื่องนี้ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้โต้ว่า ในสมัยสมบูรณาฯ นั้น บุคคลไม่มีสิทธิรวมกันก่อตั้งคณะการเมือง ฉะนั้นการก่อตั้งคณะการเมืองจึงต้องทำเป็นการลับ และยิ่งเป็นคณะการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ล้มระบอบสมบูรณาฯ แล้ว ก็ยิ่งต้องก่อตั้งคณะเป็นการลับมาก ไม่อาจประกาศป่าวร้องให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในคณะการเมืองได้ 
    ทั้งไม่เคยปรากฏในตำรารัฐศาสตร์ของประเทศใดมาก่อนที่สอนว่า ถ้าจะตั้งเป็นคณะหรือพรรคการเมืองที่แปลชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ราษฎร" หรือ "ประชาชน" แล้ว จะต้องเสนอให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนเท่าใดรู้เห็นด้วยก่อน กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีคนตั้งชื่อพรรคว่า "พรรคราษฎร" "พรรคประชาชน" และ "พรรคสหประชาชนไทย" (จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า) ก็ไม่เห็นจะต้องขอความเห็นชอบจากประชาชน ดังนั้นข้อกล่าวหาของฝ่ายปรปักษ์จึงตกไป
    ท่านปรีดีเล่าไว้ว่า ตัวท่านเองเป็นผู้เสนอชื่อ "คณะราษฎร" ต่อที่ประชุมที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๔๗๐ เหตุที่เสนอชื่อนี้ก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่า ประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า "ประชาธิปไตย" ไว้อย่างเหมาะสมว่า "รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร"
    อนึ่ง ในระยะนั้นองค์การหรือสมาคมการเมืองที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "political party" หรือที่เรียกโดยย่อว่า "party" ยังมิได้ใช้คำว่า "พรรค" แต่ใช้คำว่า "คณะ" 
    ที่มาของชื่อ "คณะราษฎร" ก็เป็นอย่างที่เล่ามานี้ หากต้องการอ่าน "เวอร์ชัน" ที่ละเอียดพิสดาร โปรดดูจากหนังสือ กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย (๒๔๗๕-๒๕๒๕) จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย (กศป.) 
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

โอเค ซิกาแรต
      ขอทราบความเป็นมาของคำว่า "โอเค ซิกาแรต" เพราะสงสัยว่า คำว่า โอเค ซึ่งแปลว่า ตกลง ไปเกี่ยวกับ ซิกาแรต ที่แปลว่า บุหรี่ ได้อย่างไร
   
(พิซซา / กรุงเทพฯ)
    เรื่องความเป็นมาของศัพท์สำนวน ถ้อยคำและสแลงต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่มีผู้บันทึกจดจำเอาไว้ นานวันเข้าก็จะสืบที่มาหาต้นเค้าไม่ได้ เช่นว่า ทำไมเราจึงเรียกคนที่มีรูปร่างผอมแห้งว่า "ผอมเป็นกุ้งแห้งเยอรมัน" นี่เป็นคำถามฮิตที่มีแฟนคอลัมน์นี้อยากได้คำตอบมาก แต่ "ซองคำถาม" ก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้สักที
    ส่วนที่มาของสำนวนว่า "โอเค ซิกาแรต" นั้น "ซองคำถาม" ก็หาคำตอบมานานแล้วเหมือนกัน บัดนี้ได้คำตอบแล้ว จากข้อมูลของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เล่าไว้ในคอลัมน์ "วาบความคิด" มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๐๒๘ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ดังนี้
    ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ "...ทหารอเมริกันเป็นทหารเศรษฐี มียุทโธปกรณ์และเครื่องบำรุงความสุขพร้อมมูล หลังอาหารทุกมื้อเขาจะได้รับแจกของกินหลังอาหารแพ็กไว้ในอับโลหะแบน ๆ ทาสีเขียวเข้ม เรียกว่า ration 
    ในอับมีผงกาแฟ ๑ ซองกระดาษใย สำหรับแช่น้ำร้อนชงได้เลย, มีน้ำตาล ๑ ซอง-๔ ก้อน, ครีม ๑ ซอง, มีช็อกโกแลต ๑ ซอง-๔ ก้อน, มีบุหรี่อเมริกัน ๔ มวน, ไม้ขีดกระดาษใช้แผงกระดาษแข็งพับหุ้ม ๑ แผง นี่คือเครื่องบริโภคหลังอาหารของทหารอเมริกัน
    ตามถนนที่จอแจในกรุงเทพฯ จะมีเด็กชายอายุ ๕ ขวบถึง ๑๐ ขวบ ไม่ว่าลูกไทย-ลูกจีน ชูกล้วยหอม ๑ หวีดักหน้าทหารอเมริกัน พลางร้องว่า 'โอเค, ซิกาแร็ต' เพื่อขอแลกบุหรี่หรือแท่งช็อกโกแลตกับกล้วยหอมตามแต่จะชูนิ้วต่อรองกันว่า บุหรี่กี่มวน, ช็อกโกแลตกี่ก้อน แลกได้กล้วยหอมกี่ลูก
    นี่คือที่มาของวลี 'โอเค ซิกาแรต' "
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

ทำไมทองคำจึงมีค่า
      เคยเห็นคนบ้าทองไหมครับ ประเภทที่ใส่สร้อยเป็นพวง ๆ เต็มคอ ไม่นับแหวน กำไล สร้อยข้อมือข้อเท้า และเผลอ ๆ อาจจะใส่ฟันทองด้วย เห็นแล้วปลง 
      ที่เขียนมาถึง "ซองคำถาม" นี้ก็เพราะนึกสนุก อยากรู้ว่าทองมันก็แค่โลหะชนิดหนึ่ง แต่เหตุใดจึงมีค่ามาก 
    (คนรักเงิน / กรุงเทพฯ)
    สิ่งของที่มีน้อย หายาก มักจะถูกตีราคาไว้สูงเสมอ ...นี่อาจจะเป็นคำตอบสั้น ๆ สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมทองคำจึงมีค่าและราคาแพงนัก
    เชื่อหรือไม่ว่า หินบนเปลือกโลกในปริมาณน้ำหนัก ๑ ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำเจือปนอยู่เพียง ๔ กรัม ในน้ำทะเลปริมาณน้ำหนัก ๙ ล้านกิโลกรัม จะมีแร่ทองคำเจือปนอยู่เพียง ๑ กรัมเท่านั้น
    ทองคำมีคุณสมบัติพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือ มีความแวววาวสุกใสอยู่เสมอ ไม่เป็นสนิมอย่างเหล็ก ไม่ดำคล้ำอย่างเงิน จึงไม่มีแร่ชนิดใดเหมาะที่จะนำมาทำเป็นเครื่องประดับเท่ากับทองคำอีกแล้ว 
    ปัจจุบันทองคำจำนวนหนึ่งจะถูกเก็บรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินตราของประเทศ ประโยชน์ใช้สอยของทองคำก็มีมากขึ้น จากเดิมที่ทำเป็นเครื่องประดับ ปัจจุบันนำมาใช้ในแผงวงจรคอมพิวเตอร์ (เพราะทองคำบริสุทธิ์เป็นสื่อไฟฟ้าที่ดีที่สุด) ใช้เคลือบอุปกรณ์สำคัญหลายส่วนของยานอวกาศ รวมทั้งกระจกครอบหน้าหนักบินอวกาศก็ฉาบด้วยทองคำ 
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

เสียงหึ่ง ๆ ของฝึ้ง
      ทราบหรือไม่ว่าทำไมผึ้งบินจึงมีเสียงหึ่งๆ ใช่เสียงร้องหรือไม่ ถ้าใช่ ผึ้งส่งเสียงร้องทำไม
    (สมาชิก / จ. นครราชสีมา)
    เสียงหึ่งๆ ของผึ้งที่เราได้ยิน ไม่ใช่เสียงร้องของมัน แต่เป็นเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนขณะกระพือปีก โดยทั่วไปเวลาผึ้งบิน ปีกของมันจะกระพือมากกว่า ๒๐๐ ครั้งต่อวินาที และการกระพือปีกส่งเสียงหึ่งๆ ก็เกิดขึ้นได้โดยที่มันไม่ต้องบิน ผึ้งไม่สามารถได้ยินเสียงหึ่งๆ ของพวกมัน เพราะมันไม่มีหู พวกมันจะรับรู้เสียงได้โดยการสัมผัสแรงสั่นสะเทือนผ่านหนวดหรือขาของมัน 
เวลาผึ้งส่งเสียงหึ่ง ๆ อาจแสดงถึงพฤติกรรมของผึ้งได้หลายแบบดังนี้
    - เสียงหึ่ง ๆ ที่เกิดจากการกระพือปีกเพื่อปรับอุณหภูมิภายในรวงผึ้ง ในเวลาหนาวจัด ผึ้งจะเกาะกันเป็นกลุ่มใหญ่ในรัง เว้นช่องว่างไว้ให้ผึ้งจำนวนหนึ่งผลัดกันเข้าไปกระพือปีกอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความร้อน พวกผึ้งหึ่ง (bumble bees) ซึ่งเป็นผึ้งหัวโตขนาดใหญ่และมีขนปุกปุย จะกระพือปีกเพื่ออบอุ่นร่างกายและสร้างความอบอุ่นให้แก่ตัวอ่อนของมัน ส่วนในฤดูร้อน ผึ้งจะกระจายตัวกันอยู่ และจะกระพือปีกพัดน้ำที่หามาให้ระเหยเหมือนพัดลมปรับอากาศ ทำให้อากาศในรังเย็นลง การปรับอุณหภูมิในรังเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของผึ้งที่ไม่พบในแมลงทั่วไป
    - ผึ้งทุกตัวจะกระพือปีกส่งเสียงหึ่ง ๆ หากมันถูกแหย่ขณะอยู่ในรังหรือถูกจับ
    - การกระพือปีกส่งเสียงหึ่ง ๆ เป็นเทคนิคเฉพาะของผึ้งที่จะนำเอาละอองเกสรมาจากดอกไม้ที่มีโพรงเกสรเล็กมาก ไม่สามารถใช้วิธีโฉบเอามาง่าย ๆ ได้ มันจะโหนตัวจากดอกไม้ โดยใช้ขาทั้งหกเกาะโพรงเกสรไว้ แล้วทำการกระพือปีกจนเกิดเสียงหึ่ง ๆ เกิดการสั่นสะเทือนจนละอองเกสรตกลงมายังที่เก็บละอองเกสรบนตัวมัน นอกจากนี้ปีกที่สั่นของผึ้งยังช่วยในการกระจายกลิ่นหอมของดอกไม้ที่เหล่าผึ้งงานพบ ทำให้ผึ้งตัวอื่น ๆ พบแหล่งอาหารนี้ได้
    - ขณะผึ้งนำน้ำหวานกลับสู่รัง มันจะกระพือปีกอย่างเร็วเพื่อทำให้เกิดความร้อนแปรสภาพน้ำหวานเป็นน้ำผึ้ง และเมื่อถึงรังผึ้งจะเกาะที่ปากรังทำการกระพือปีกระบายอากาศ เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่ดี
ส่งคำถาม (send your question via email)

Back to Top

แม่นางกาหลง
      "ซองคำถาม" เคยได้ยินเครื่องรางของคลังที่ชื่อ นางกาหลง หรือไม่ เล่ากันว่าเป็นรูปแกะสลัก ใครได้ครอบครองก็จะมีคนหลงใหล
    (พงษ์ / กรุงเทพฯ)
    "ซองคำถาม" ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน แต่ค้นเรื่องนี้ได้จากสารานุกรมไทย ของ อุทัย สินธุสาร มีรายละเอียดดังนี้
    นางกาหลงเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง เป็นรูปหญิงคล้ายเด็กแกะจากไม้ต้นกาหลง แล้วบรรจุในขวดใส่น้ำมันจันทน์ แล้วแช่นางกาหลงในขวดนั้นจนน้ำมันท่วม อุปเท่ห์ในเรื่องนี้มีว่า ครั้งหนึ่งพญากาโกรธพวกฝูงกาที่ละทิ้งรังไปอยู่ที่อื่น และตั้งใจว่าถ้าพบกาลูกฝูงเมื่อใดจะฉีกเนื้อเสีย วันหนึ่งพญากาได้เข้าไปแวะพักที่ต้นไม้ร่มครึ้มต้นหนึ่ง ด้วยมนต์เสน่ห์ของนางกาหลง เทพที่สิงอยู่ที่ต้นไม้นั้น ทำให้พญากาไม่สามารถไปจากที่นั่นได้ จนถึงกับทิ้งถิ่นพำนักเดิม ปรากฏว่าที่นี่เป็นที่แห่งเดียวกับที่กาในฝูงของตนละถิ่นเดิมมาอยู่นั่นเอง
    เกจิอาจารย์จึงหาไม้กาหลงมาแกะสลักเป็นรุปนางกาหลง เสกเป่าประจุอาคมอย่างลัทธิไสยศาสตร์ เพิ่มความขลังขึ้นอีก นางกาหลงนี้ว่ามีคุณทางเสน่ห์ทำให้หญิงรักชายหลง ที่มีชื่อเป็นที่นิยมกันคือนางกาหลงของอาจารย์วัดประดู่ในกรุงเทพฯ

กลับไปที่หน้า สารบัญ Sarakadee August 2000
ส่งคำถามที่คุณสงสัย แต่ยังไม่มีใครเคยตอบ ได้ที่นี่
108@Sarakadee.com
๑๐๘ ซองคำถาม เล่มที่ ๘


สำนักพิมพ์ สารคดี | สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ | วารสาร เมืองโบราณ | นิตยสาร สารคดี
[ วิริยะบุคส์ | มีอะไรใหม่ | เช่าสไลด์ | ๑๐๘ ซองคำถาม | สั่งซื้อหนังสือ | WallPaper ]

สงวนสิทธิ์ ตามกฏหมาย
CopyRight. All rights reserved.

สำนักพิมพ์ สารคดี