สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๔ เดือน เมษายน ๒๕๔๔ "โลกของเฟิน"

กลับไปหน้า สารบัญ ย้าย หรือ ไม่ย้าย : กรณีธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์-ศูนย์รังสิต
คั ด ค้ า น

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ธรรมศาสตร์จะสูญเสีย ความเป็นผู้นำทางวิชาการไป เพราะขาดแคลนอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหาได้ง่าย ในใจกลางเมือง

  • เป็นการทำลาย จิตวิญญาณ ของชาวธรรมศาสตร์ เพราะต้องละทิ้งท่าพระจันทร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ ทางการเมืองมายาวนาน

  • การย้ายธรรมศาสตร์ ไปอยู่นอกเมือง อาจเป็นความต้องการลึก ๆ ของผู้บริหาร ที่อยากจะลดบทบาท ทางการเมือง ของธรรมศาสตร์

      "แนวคิดเรื่องการขยายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศูนย์รังสิต ซึ่งเกิดขึ้นในยุคที่อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นอธิการบดีเพิ่งจะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น ในยุคเศรษฐกิจ และวิชาการฟองสบู่ เนื่องจากผู้บริหารมองว่า ถ้าหากเอานักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีออกไป มหาวิทยาลัยจะมีพื้นที่สำหรับจัดโครงการอบรมเสริมวิชาชีพ และหลักสูตรปริญญาโทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ให้มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก
      "เราจำเป็นต้องตีความกันก่อนว่า การไปรังสิตนี้เป็นการ "ย้าย" หรือ "ขยาย" สิ่งที่ผู้บริหาร และสภามหาวิทยาลัย กำลังทำอยู่นั้นเป็นการ "ย้าย" คือ ยกปริญญาตรีออกไปทั้งหมด ซึ่งผมไม่เห็นด้วย มหาวิทยาลัยควรจะ "ขยาย" โดยการให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ เรียนวิชาพื้นฐานที่รังสิตเหมือนที่เป็นอยู่ ส่วนโครงการที่ขยายเพิ่มเติม หรือคณะที่จะตั้งขึ้นใหม่ ถึงจะเอาไปไว้ที่รังสิต เราจะต้องรักษาปริญญาตรี ซึ่งเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยเอาไว้ที่ท่าพระจันทร์ โดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ บัญชี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นคณะดั้งเดิมของธรรมศาสตร์ และมีความแข็งแกร่งทางวิชาการมาก
      "การย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ไปไว้นอกเมืองเป็นความคิดที่ผิด เพราะจะทำให้คุณภาพของปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายสังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์ตกต่ำลง และธรรมศาสตร์จะสูญเสียความเป็นผู้นำทางวิชาการไปในที่สุด
      "นอกจากนี้ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ซึ่งใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นเกือบหนึ่งพันล้าน และเป็นหอสมุดทางสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย จะถูกฉีกออกเป็นสองส่วน ถ้าหากนักศึกษาระดับปริญญาตรีถูกย้ายไปรังสิต นี่คือความพังพินาศทางวิชาการอีกประการหนึ่งของธรรมศาสตร์ และเอาเข้าจริง การขยายธรรมศาสตร์ไปรังสิตในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ก็สร้างความตกต่ำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในระดับหนึ่งแล้ว
      "ความแออัดของธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไม่ได้แปลว่าธรรมศาสตร์ไม่มีคุณภาพ ธรรมศาสตร์มีคุณภาพในความแออัดนี้ เพราะมันตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทำให้สามารถจัดหาบุคลากร ครูบาอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงความรู้ได้ง่าย และความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็ต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีคุณภาพเหล่านี้ ที่ผ่านมาธรรมศาสตร์มีความโดดเด่นทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม เพราะว่ามันอยู่ในกรุงเทพฯ นั่นเอง มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เคยเจอปัญหาคล้ายกันนี้ คือ เมื่อเขาต้องการตั้งคณะดุริยางคศิลป์ขึ้นใหม่ ก็ไม่กล้าเอาไปไว้ที่วิทยาเขตนครปฐม เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีใครไปสอนให้ได้
      "ผมมองในแง่ร้ายต่อไปว่า นอกจากธรรมศาสตร์จะกลายเป็นที่ร้าง เพราะอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทั้งหมื่นกว่าคนย้ายไปอยู่ที่โน่นหมดแล้ว การที่ผู้บริหารใช้ท่าพระจันทร์ เป็นที่หารายได้จากหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติ มินิ..อะไรต่างๆ ซึ่งมีนักศึกษาจำนวนไม่มากนั้น จะส่งผลให้ที่นี่กลายเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการค้า" คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินผืนนี้อย่างคุ้มค่า ประกอบกับการที่ตอนนี้ ลัทธิท่องเที่ยวนิยม กำลังมีอิทธิพลมหาศาล จึงอาจเกิดการผลักดันให้พื้นที่ตรงนี้ ถูกใช้ไปเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเหมาะมากเพราะอยู่ริมแม่น้ำ ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ในที่สุด มหาวิทยาลัยก็จะสูญเสียที่พื้นที่ตรงนี้ไป เพราะไม่มีข้ออ้างเกี่ยวกับการศึกษาที่มีน้ำหนักเพียงพอ และนี่คือจุดจบของธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง
      "การย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ไปอยู่ที่รังสิตจะทำให้บทบาททางสังคม การเมืองของธรรมศาสตร์ลดลงอย่างแน่นอน น่าสังเกตว่าการย้ายมหาวิทยาลัยออกไปนอกเมืองหลวง เป็นความฝันของผู้มีอำนาจในทุกประเทศ ในอุษาคเนย์เลยทีเดียว ผู้บริหาร ผู้ปกครอง อยากทำมาก ทหารพม่าก็ต้องการย้ายมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ออกจากกรุงย่างกุ้ง เพราะมันเป็นหนามยอกอก ย้ายไม่ได้ก็ปิดมันเสียเลย มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียก็ถูกย้ายออกไป มหาวิทยาลัยนันยางในสิงคโปร์ก็ถูกลี กวน ยู ปิด เพราะมหาวิทยาลัยเป็นตัวจุดประเด็นความคิดทางการเมืองอยู่เสมอ เป็นที่บ่มเพาะความคิดเสรี ความคิดอิสระ มหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมนักศึกษามาก ก็ล้วนแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น มหาวิทยาลัยปารีส, มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์, UCLA,มหาวิทยาลัยลอนดอน เพราะฉะนั้นผู้มีอำนาจจึงมักไม่ชอบมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมือง กรณีของการย้ายนักศึกษา อาจารย์และกิจกรรมส่วนใหญ่ของธรรมศาสตร์ ไปไว้นอกเมือง อาจเนื่องมาจากแนวความคิดเช่นเดียวกันนี้ก็ได้ เพราะลึก ๆ แล้วคนที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารธรรมศาสตร์ก็คงกลัว ๆ อยู่เหมือนกัน การเป็นผู้บริหารธรรมศาสตร์ ก็เหมือนกับนั่งอยู่บนภูเขาไฟ ธรรมศาสตร์อาจจะไม่มีอันตรายทางการเมืองนัก ในวิธีคิดของคนบางคนถ้าหากว่าถูกย้ายไปอยู่ไกล ๆ
      "การย้ายไปอยู่รังสิตยังเป็นการทำลายจิตวิญญาณ ความเป็นธรรมศาสตร์อีกด้วย ที่ตรงนี้เป็นที่เปิดการศึกษาของชาติครั้งแรกในประวัตศาสตร์ ทำให้คนจำนวนมากได้เรียน ได้เลื่อนฐานะ เป็นที่กู้ชาติในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นที่บัญชาการของเสรีไทย ที่ตรงนี้ต่อสู้กับเผด็จการทหาร เป็นระยะเวลายาวนานมาก และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย กับประชาสังคม ถ้านักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่ได้อยู่ตรงนี้ เขาก็ย่อมจะไม่มีจิตวิญญาณ ความเป็นธรรมศาสตร์ สถานที่มีความสำคัญมาก ในการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิด เช่น ถ้าเราย้ายคนไทยไปอยู่อินโดนีเซีย เขาก็ไม่มีความเป็นไทย
      "ผู้บริหารชุดปัจจุบันกังวลว่า อาคารที่ได้จากเอเชียนเกมส์จะสูญเปล่า แต่ความจริงมหาวิทยาลัยยังมีโครงการใหม่ ๆ และมีการขยายงานอีกมาก อาคารที่มีอยู่ยังอาจไม่พอด้วยซ้ำ อาคารที่สร้างสมัยเอเชียนเกมส์ จึงใช้ทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย อย่าลืมว่าปัจจุบันนี้ธรรมศาสตร์ รับนักศึกษาปีละตั้ง ๕ พันคน จากที่เมื่อก่อนนี้รับเพียง ๑ พันกว่าคนเท่านั้น
      "ผมเชื่อว่ามีคนไม่เห็นด้วย กับการย้ายธรรมศาสตร์ไปรังสิตเยอะมาก แต่ว่าระบบการบริหารของมหาวิทยาลัย เป็นการบริหารแบบตัวแทน คือ คณบดี อธิการบดี สภามหาวิทยาลัยประชุมตกลงกันเองแล้วก็จบ โดยอ้างว่าตัวเองได้เสียข้างมากมาแล้ว เช่นเดียวกับพวกนักเลือกตั้ง สส. สว. แต่ผมคิดว่าเรามาถึงระดับที่ต้องมีส่วนร่วมแล้ว การย้ายไปรังสิตนั้น ทำมาตั้งแต่ทศวรรษที่ ๒๕๒๐ แต่ไม่เคยมีการประชาพิจารณ์ ไม่เคยมีการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางเลยว่า คนอื่น ๆ มีความเห็นอย่างไรบ้าง"
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*