สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕
สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕ "โค้งสุดท้าย พ.ร.บ. ป่าชุมชน รับหรือไม่รับ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine ISSN 0857-1538
  ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๘ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๕  
คั ด ค้ า น

พนัส ทัศนียานนท์ ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
พนัส ทัศนียานนท์ 
ประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
  • แนวคิดเรื่องป่าชุมชน เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางความคิด ของบรรดาผู้นำทางความคิด ของเมืองไทย ที่เน้นความสำคัญของมนุษย์ มากกว่าทรัพยากร

  • ความต้องการที่แท้จริง ของการผลักดันให้มีป่าชุมชน ในเขตอนุรักษ์ คือต้องการจะเข้าไปทำไม้ และเก็บหาของป่า

  • พ.ร.บ. ป่าชุมชน เป็นการตัดสิทธิ์การมีส่วนร่วม ในการจัดการป่า ของคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนด้วย ออกไปทั้งหมด

โค้งสุดท้าย พ.ร.บ. ป่าชุมชน รับหรือไม่รับ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์
(ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณ คลิกที่นี่)
เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ


     "แนวคิดเรื่องป่าชุมชนเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางความคิดของบรรดาผู้นำทางความคิดของเมืองไทย ที่เน้นความสำคัญของมนุษย์มากกว่าทรัพยากร เขามีสมมุติฐานว่าคนอยู่กับป่าได้ คนเกื้อกูลให้ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้น แต่ที่ผมศึกษาเล่าเรียนมาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม มันตรงกันข้าม ตามหลักนิเวศวิทยา มนุษย์คือศัตรูตัวฉกาจของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มนุษย์ทำลายและดัดแปลงสิ่งแวดล้อมตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด ปรับเปลี่ยนสภาพธรรมชาติเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน ไม่ใช่แค่ให้พออยู่พอกินไปวัน ๆ แต่ต้องเพื่อความสะดวกสบายของตัวเองด้วย พอมีความเป็นอยู่ดีขึ้นก็จะเปลี่ยนแปลงดัดแปลงธรรมชาติมากขึ้น จนในที่สุดก็จะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ป่าไม้ก็เช่นกัน เมื่อมนุษย์ทำลายหมดแล้วก็พยายามจะสร้างป่าขึ้นมาใหม่ แต่มันไม่ได้เป็นไปตามระบบนิเวศเดิมของมัน ผมไม่เชื่อว่ามนุษย์จะบรรลุโสดาบันถึงขนาดว่าพากันรักป่าด้วยกันหมด ในแต่ละชุมชนมีคนดีก็มีคนเลว กว่าเราจะรู้ว่ามันเป็นปัญหา ความเสียหายก็เกิดขึ้นและสายเกินไปที่จะแก้
     "ต้องแยกแยะว่าพวกนักคิดนักฝันซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดเรื่องป่าชุมชนก็เป็นพวกหนึ่ง แต่ชาวบ้านที่ต้องการได้ประโยชน์จากป่าชุมชนจริง ๆ ก็อีกพวกหนึ่ง ความต้องการที่แท้จริงในการผลักดันให้มีป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์คือ ต้องการจะเข้าไปทำไม้และเก็บหาของป่า ในป่าเสื่อมโทรมจะเข้าไปทำไม้กันได้อย่างไร เพราะว่าไม้มันหมดแล้ว การทำไม้ที่เขาอ้างว่าทำเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและการใช้สอยตามความจำเป็น แต่ความจริงมักจะเป็นการสวมรอยเข้าไปทำเชิงพาณิชย์ บทนิยามของคำว่า "เก็บของป่า" ในร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ขยายออกไปอีกเยอะแยะ ของป่ารวมทั้งสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์น้ำ อย่างนี้คนก็เข้าป่าล่าสัตว์กันได้เต็มที่ 
     "การเปิดช่องให้มีป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ แสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตใจในการเสนอร่างกฎหมายนี้ เอาป่าชุมชนบังหน้าเพื่อที่จะเข้าไปใช้สิทธิ์เท่านั้นเอง ทุกคนจะสุจริตจริงอย่างที่กฎหมายของพวกนักคิด นักฝัน ตั้งสมมุติฐานกันไว้อย่างนั้นหรือ ถ้าเกิดการเสียหายขึ้นมาแล้วเราจะทำอย่างไร ปล่อยให้มันพังแล้วค่อยปลูกป่าจอมปลอมขึ้นมาบังหน้าว่านี่แหละคือป่าชุมชนอย่างนั้นหรือ ผมถือว่านี่คือการบิดเบือนทางวิชาการโดยสิ้นเชิง ถ้าเรายอมให้มีการเข้าไปทำไม้ในป่าอนุรักษ์ได้ ต่อไปก็เท่ากับว่าเราเปิดป่าให้คนสามารถเข้าไปทำไม้กันได้อีก เพียงแต่ในนามของชุมชนเท่านั้นเอง 
     "สิทธิในการจัดการทรัพยากรต้องไม่เป็นสิทธิที่ไปตัดสิทธิของคนอื่น คนที่จะเข้าไปจัดการป่าชุมชนได้คือคนที่เป็นสมาชิกของชุมชนนั้น ๆ เท่านั้น อย่างนี้ก็เท่ากับไปตัดสิทธิคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนด้วยออกไปทั้งหมด ซึ่งขัดกับหลักการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ป่าไม่ได้เป็นของชุมชนเท่านั้น แต่เป็นของประชาชนทั้งประเทศ ต้องมีหน่วยงานของรัฐดูแลอยู่ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดมาในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ คือกรมป่าไม้ถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของป่าแต่เพียงผู้เดียว ตรงนี้ต่างหากที่ผิด เราก็ควรเปลี่ยนตรงนี้ หากว่าชุมชนอยากมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรตามหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็ต้องร่วมกับภาครัฐครึ่งต่อครึ่ง อย่างเช่นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตอุทยานแห่งชาติทุกที่ ระบบการจัดการจะต้องมีกรรมการจัดการในระดับพื้นที่ อย่างน้อยที่สุดครึ่งหนึ่งต้องเป็นประชาชนในพื้นที่ อาจจะให้คนในพื้นที่นั่นแหละเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ แทนที่จะไปจ้างใครก็ไม่รู้มาเป็นเจ้าหน้าที่ ก็ให้คนในพื้นที่นั่นแหละ เขาจะได้มีอาชีพ ไม่ต้องลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอีก 
     "ผมเสนอว่าส่วนไหนที่กรมป่าไม้ทำของเขาดีแล้ว กรุณาอย่าไปแตะต้องของเขา ผืนป่าตะวันตกอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะว่าถูกกันให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ หากกรมป่าไม้ไม่ประกาศกันไว้อย่างนั้น ผืนป่าตะวันตกจะไม่มีเหลือแล้ว บรรดาเอ็นจีโอ พวกผู้นำทางความคิดในเรื่องนี้เขาบอกว่ากะเหรี่ยงอยู่กับป่าได้ แต่ผมก็ยืนยันได้ว่า กะเหรี่ยงก็ทำลายป่า โดยเฉพาะที่จังหวัดตาก ในหลายพื้นที่ถูกจับในคดีลักลอบตัดไม้เป็นประจำ
     "ผมไม่ได้เสนอว่าให้อพยพชาวเขาออก ถ้าพื้นที่ไหนที่กรมป่าไม้ไปประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ของชาวบ้าน ก็ให้สิทธิชาวบ้านไปเลย เขาอยู่ในที่นั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตั้งแง่ว่าเขามีบัตรประชาชนหรือไม่ เขามีเอกสารสิทธิ์ที่ดินอยู่หรือไม่ ที่ตรงนั้นก็จะไม่เป็นป่าอนุรักษ์อีกต่อไป ภาษาทางกรมป่าไม้เขาเรียกว่า ให้กันพื้นที่ออกโดยไม่ถือว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตอนุรักษ์ การที่ชาวบ้านไม่ได้รับการรับรองสิทธิในการถือครองที่ดิน เขาก็มีความรู้สึกว่าเมื่อป่ามันไม่มีเจ้าของ เขาก็ยึดเป็นที่ทำกินของเขา แต่ว่าถ้าเราให้สิทธิแก่คนเหล่านี้ เขาก็จะรักพื้นที่ของเขา จะไม่ทำลาย นี่คือสัญชาตญาณธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าหากว่าจะทำกันจริง ๆ ก็ต้องสังคายนากันทั้งหมด หากไม่ให้สิทธิในที่ดินกับชาวบ้านแต่ว่าไปกันป่าออกเป็นป่าชุมชน ป่าจะกลายเป็นของกลาง อะไรก็ตามที่ทำให้เป็นของกลาง ต่างคนก็ต่างแสวงหาประโยชน์ของตัวเอง ผลสุดท้ายก็คือร่วมกันทำลาย 
     "การออกกฎหมายให้มีป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ทั้งหมดเช่นนี้ โดยอ้างว่าหากชุมชนไหนทำป่าชุมชนดีอยู่แล้วก็จะได้รับรองให้เป็นป่าชุมชนได้ ถ้าคุณเหวี่ยงแหอย่างนี้หมดต่อไปก็จะมีคนอ้างเพื่อที่จะทำป่าชุมชนในผืนป่าอนุรักษ์ ในสภาพความเป็นจริงจะไม่เป็นอย่างที่ฝ่ายสนับสนุนให้มีป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์คิดฝัน คุณจะคัดเลือกคนที่อยู่ในป่าชุมชนให้เป็นอย่างที่คิดทั้งหมดได้อย่างไร กรณีที่เขายกขึ้นมาเป็นตัวอย่างมันเป็นข้อยกเว้นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นต้องออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะ คุณจะทำเฉพาะในเขตภาคอีสานก็ได้ ขึ้นต้นมาคุณควรจะต้องบอกไว้เลยว่า พื้นที่ตรงไหนบ้างที่คุณจะทำเป็นป่าชุมชน แต่นี่ขึ้นมาก่อนว่า ป่าชุมชนคืออย่างนี้ เสร็จแล้วจะเอาไปลงตรงไหนก็ได้ที่กฎหมายประกาศว่าเป็นป่าอนุรักษ์ อย่างนี้ก็ตายสิครับ พอเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้วจะแก้ไขได้ไหม และกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแดงออกมา มันก็ไม่สามารถแก้ให้มันฟื้นคืนดีกลับมาอย่างเดิมได้แล้ว เราป้องกันตั้งแต่แรกดีกว่า 
     "การมี พ.ร.บ. ป่าชุมชนก็เท่ากับว่ามีการจัดการซ้อนกันสองระบบ ในพื้นที่เดียวกันจะมาแบ่งส่วนเป็นส่วนย่อย ๆ มันไม่ถูก แนวคิดป่าชุมชนเป็นความคิดแบบนามธรรม ของนักคิดกลุ่มสังคมวิทยา ที่ไปฝันเรื่องป่าชุมชนกันอยู่ที่คอร์แนลโน่น ระบบจารีตประเพณี เป็นป่าเห้ว ป่าผีปู่ย่าอะไรต่าง ๆ ที่จะทำให้ดูแลป่าได้ ผมว่าเป็นเรื่องที่พยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรมขึ้นมา แล้วผลักดันให้เป็นกฎเกณฑ์ เป็นกฎหมายอีกอันซ้อนขึ้นมา กติกาของชุมชนซึ่งจะถูกรองรับด้วย พ.ร.บ. ป่าชุมชน ซึ่งแตกต่างไปจากกติกาของกรมป่าไม้ ในเมื่อกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว แทนที่จะสร้างเป็นระบบซ้อนกันอีก ทำไมไม่ไปแก้ในกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ว่าแต่ละพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม การจัดการเขตอนุรักษ์อย่างไรได้บ้างตามกรอบของกฎหมายเดิม ก็จะเกิดความเป็นเอกภาพ และความสอดคล้องระหว่างระบบการจัดการ โดยรัฐกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่สร้างระบบจัดการซ้อนกันขึ้นมา ซึ่งจะเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด
     "สิ่งที่ทำให้ผมมีความรู้สึกว่าไม่สามารถร่วมความคิดกับพวกเขาได้ก็คือ หนึ่ง เขาพูดว่า ใครที่คิดไม่เหมือนเขาเป็นชนชั้นกลาง และสอง พอคิดเรื่องไหนขึ้นมาแล้ว จะนำเสนอความคิดของตัวโดยมุ่งจะเอาชนะให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการอย่างไร ผมไม่เคยมีวิธีคิดแบบที่จะต้องแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย มีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้าไปแทรกอยู่ในสภาเพื่อล๊อบบี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ อย่างที่พวกนั้นคิด สิ่งที่ทำไปแล้วผมก็ขอวิพากษ์หน่อยว่าทำกันเกินไป วางแผนวางหมากเดินเกมกันหมดทุกอย่าง แม้กระทั่งในกรรมาธิการก็ต้องกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้าไป เอาแต่เฉพาะข้างตัวเองให้เป็นเสียงข้างมากให้ได้ มันเป็นการเมืองมากเกินไป ผมไม่ได้เล่นเกมการเมืองอะไรทั้งสิ้น แต่เขาเล่นเกมการเมืองมากยิ่งกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเอ็นจีโอสายนี้ คิดทุกอย่างเป็นเกมการเมืองหมด 
     "ทุกวันนี้ที่เป็นปัญหาในสังคมไทยก็คือความมีอคติมีอัตตาสูงของบรรดาผู้ที่พยายามชี้นำทางความคิด ผมคิดตรงกับใครก็หาว่าผมเป็นพวกคนนั้นคนนี้ ใครไม่เห็นเหมือนตัวต้องหาทางสรุปให้มันไม่ดีไปทั้งหมด ถ้าจะว่ากันจริง ๆ ความคิดของเขาเองนั่นต่างหากที่มีอคติ คิดแบบไหนก็คิดว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำไมไม่พยายามปรับเข้าหากัน ถ้าคิดว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อชาติบ้านเมืองจริง ๆ 
     "แทนที่จะผลักดันเรื่องป่าชุมชน ทำไมไม่ผลักดันเรื่องการเรียกร้องสิทธิในที่ดินให้ชาวบ้าน จากการคลุกคลีกับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดตาก ผมกล้าบอกได้เลยว่า ชาวบ้านเขาต้องการสิทธิในที่ดินของเขา มากกว่าต้องการป่าชุมชน ในเขตพื้นที่ป่าสงวนซึ่งตอนนี้มันกลายมาเป็นที่ของนายทุนทั้งหมด หรือแม้แต่พื้นที่ สปก. ก็เป็นของนายทุนไปหมดแล้ว ถ้ารักป่าจริง ไปฟื้นฟูตรงนี้ดีกว่า ไปยึดเอาที่พวกนี้มาทำป่าชุมชนให้หมด อย่างนี้ผมเห็นด้วย"


 แสดงความคิดที่ สารคดีกระดานข่าว (Sarakadee Board) อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !
ต้องการ แสดงความคิดเห็นเพิ่ม คลิกที่นี่

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*