จักรพันธุ์ กังวาฬ รายงาน

ดร.วรณพ วิยกาญจน์

เชื่อแน่ว่า ดร.วรณพ วิยกาญจน์ เฝ้ารอให้เดือนพฤศจิกายน ปลายปี ๒๕๔๗ เวียนมาถึงด้วยใจจดจ่อ เพราะเป็นช่วงเวลาที่นักวิจัยวัย ๔๐ ต้นผู้นี้จะออกเดินทางไกล สมทบกับคณะนักวิจัยญี่ปุ่นมุ่งหน้าสู่ขั้วโลกใต้ ดร.วรณพ ได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยคนแรกที่มีโอกาสไปสำรวจและทำวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติก ภูมิภาคซึ่งมีลักษณะพิเศษและเข้าถึงได้ยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ได้รับทุนจากรัฐบาลไทยไปศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมการประมง และระดับปริญญาโทและเอกสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว(TOKYO UNIVERSITY OF FISHERIES) หลังเรียนจบกลับมารับราชการเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากงานสอนหนังสือลูกศิษย์แล้ว ภารกิจที่ ดร.วรณพ ทำอยู่เป็นประจำ คือเดินทางไปดำน้ำสำรวจระบบนิเวศน์ใต้ทะเลทั่วประเทศไทย

ปลายปี ๒๕๔๖ ชื่อของ ดร.วรณพ เริ่มปรากฏตามสื่อต่างๆ ในฐานะนักวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกจากจำนวนผู้สมัครทั้งหมด ๑๔ คน โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ให้เข้าร่วมสำรวจขั้วโลกใต้ในปี ๒๕๔๗ กับสถาบันวิจัยขั้วโลกใต้แห่งชาติ(National Institute of Polar Research) ประเทศญี่ปุ่น โดยผู้บริหาร สวทช.เผยว่า ดร.วรณพเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่เสนอหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจมา ๓ หัวข้อ มีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ตลอดจนสามารถพูดภาษาอังกฤษและญี่ปุ่นได้ดี

“ผมเสนอโครงการวิจัยไป ๓ หัวข้อ ได้แก่ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่ามวลชีวภาพของแพลงตอนพืชและปริมาณแสงในแต่ละระดับความลึก, ความสัมพันธ์ระหว่างสาหร่ายขนาดใหญ่และสิ่งมีชีวิตหน้าดินบริเวณชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติก และการศึกษานิเวศวิทยาการกินอาหารของปลาในเขตขั้วโลก จะเน้นศึกษาในส่วนของทะเลและบริเวณชายฝั่ง เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเรา”ดร.วรณพกล่าว “แต่เมื่อถึงเวลาไปทำวิจัยจริงๆ โครงการเหล่านี้อาจต้องปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับการทำงานของคณะนักวิจัยญี่ปุ่น”

ในขณะที่ขั้วโลกเหนือมีลักษณะเป็นเกาะ และมีประเทศหรือแผ่นดินที่มีคนอยู่อาศัยยื่นเข้าไปใกล้ แต่แอนตาร์กติกบริเวณขั้วโลกใต้เป็นทวีปที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แยกไกลจากแผ่นดินอื่น และเข้าถึงได้ยาก อากาศที่หนาวเหน็บทารุณมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดปีทำให้ทวีปนี้ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย มันจึงเป็นดินแดนที่ยัง”บริสุทธิ์”จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ดึงดูดความสนใจนักวิทยาศาสตร์หลายสาขาให้เข้าไปศึกษาวิจัยสภาพธรรมชาติด้านต่างๆ

แอนตาร์กติกยังเป็นทวีปที่สูงที่สุดในโลก เพราะทั่วแผ่นดินปกคลุมด้วยชั้นน้ำแข็งหนาเฉลี่ยถึง ๒ กิโลเมตร ซึ่งเกิดจากหิมะที่ตกลงมาทับถมสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ ๑๕ ซ.ม. อุณหภูมิที่ต่ำมากจึงทำให้หิมะเหล่านั้นไม่ละลาย เมื่อมีเศษละอองหรือวัตถุต่างๆ ปลิวตกลงบนพื้นน้ำแข็งในแต่ละช่วงเวลา ก็จะถูกหิมะตกทับถมไปเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ได้เจาะชั้นน้ำแข็งขึ้นมาวิเคราะห์ ทำให้มองเห็นสภาพและการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงเวลาต่างๆ นับย้อนไปได้นับแสนปี

นอกจากนั้น ทวีปแอนตาร์กติกยังเป็นพื้นที่ที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเข้าไปศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่สำคัญของโลก เช่นเรื่องภาวะเรือนกระจก การละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ หรือศึกษาอุกกาบาตจากอวกาศที่ตกมาที่ขั้วโลกใต้ ปัจจุบันมีสถานีวิจัยของ ๑๘ ประเทศตั้งอยู่ในทวีปที่โดดเดี่ยวห่างไกลแห่งนี้

ดร.วรณพ ขณะดำน้ำ สำรวจระบบนิเวศใต้ทะเลไทย

ดร.วรณพจะต้องไปฝึกการใช้ชีวิตในพื้นที่หนาวที่ภูเขาโนริกูระ จังหวัดนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคมนี้ และอีกครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนก็จะออกเดินทางจากประเทศไทย มุ่งสู่ขั้วโลกใต้โดยเรือตัดน้ำแข็งชื่อชิราเซ(Shirase) มีกำหนดถึงฝั่งทวีปแอนตาร์กติกในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๗ โดยอยู่ประจำสถานีวิจัยโชวะ(Showa Station) ทำงานวิจัยช่วงฤดูร้อนร่วมกับนักวิจัยญี่ปุ่นเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ และเดินทางกลับจากขั้วโลกใต้โดยเรือชิราเซในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

ช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูร้อนของแอนตาร์กติก เป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน ทั่วทวีปจึงมีแต่กลางวันไม่มีกลางคืน แต่อุณหภูมิเฉลี่ยยังคงต่ำถึง ๐ องศาเซลเซียส และมีลมพัดแรง นอกจากนั้นดร.วรณพยังต้องเผชิญกับแสงแดดจัดจ้าที่สะท้อนหิมะสีขาว เป็นอันตรายต่อผิวหนังและสายตาหากไม่มีการป้องกันที่ดีพอ ส่วนเรื่องอาหารการกิน ดร.วรณพเล่าว่าตลอดเวลา ๗ สัปดาห์ที่สถานีวิจัยโชวะ มีรายการอาหารให้เลือกมากกว่า ๒๐๐ รายการ

ดร.วรณพกล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับการคัดเลือกไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้ว่า”ดีใจและภูมิใจ ดีใจตรงที่ไม่คิดว่าตนเองจะมีโอกาสนี้ คิดว่ามาถึงตรงนี้ได้เพราะมีหลายฝ่ายช่วยสนับสนุน ไม่ว่าทางมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมงาน และครอบครัว ภรรยาและลูกสาวสองคนที่ให้กำลังใจ”

ดร.วรณพมองว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการไปทำวิจัยที่ขั้วโลกใต้ครั้งนี้ อาจมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่าการนำเทคโนโนยีไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ”เนื่องจากงานวิจัยของผมเน้นไปในทางนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์พื้นฐานของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นการต่อยอดความรู้ทางวิชาการ ศึกษาว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างไร มีการปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ในที่แตกต่างกันได้อย่างไร และมันพยายามรักษาระบบของตนเองได้อย่างไร ความรู้เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการมองเปรียบเทียบ เช่นถ้าระบบนิเวศที่ขั้วโลกใต้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะมีผลอะไรต่อโดยรวมหรือเปล่า เพราะระบบนิเวศของโลกเชื่อมต่อสัมพันธ์กันหมด ไม่ว่าที่ขั้วโลกใต้ ที่อื่น หรือประเทศไทย”

นอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว ดร.วรณพเชื่อว่าการไปวิจัยที่ขั้วโลกใต้ครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากขึ้น

“ผมได้ไปถึงขั้วโลกใต้ อาจเป็นสิ่งดึงดูดในสายตาเด็กๆ แต่อีกมุมมองหนึ่ง ผมอยากให้พวกเขาย้อนกลับมาที่ตัวเอง ว่าการที่เราอยู่ในประเทศไทย ในสภาพแวดล้อมของเรา มีสิ่งมากมายที่เรามองข้ามไป อยากปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักสังเกตสิ่งเล็กๆ รอบตัวเขา ให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหมด แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เราทำอะไรที่นี่ มันก็มีผลกับที่อื่นด้วย เพราะโลกเรามีอากาศมวลเดียวกัน ทะเลก็ต่อเชื่อมถึงกัน”ดร.วรณพกล่าว