sarawutสราวุธ เล้าประเสริฐ
ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทเอสเอสไอ เชฟเฟอร์ซิสเต็มส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแบบและจัดทำระบบจัดเก็บสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม

” ตอนอยู่ชั้นมัธยมต้น ลองซื้อ สารคดี มาเล่มหนึ่ง ยังเป็นฉบับเลขเดี่ยว อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่เข้าท่าดี จึงไปขอซื้อฉบับย้อนหลังที่สำนักงานตั้งแต่เล่มแรกเลย หลังจากนั้นก็ติดตามมาตลอด ชอบตรงที่ไม่ใช่บันเทิง แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีแต่สาระ ไม่หนัก อ่านได้สบายๆ รูปภาพสวย มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไม่ล้าสมัย เก็บได้ไม่มีวันหมดอายุ หยิบมาอ่านซ้ำได้ทุกเล่ม ทุกวันนี้เพื่อนๆ ที่เรียนปริญญาโทยังมาขอยืม สารคดี ของผมไม่ทำงานส่งอาจารย์

” ผมไม่เคยสมัครเป็นสมาชิก แต่ติดตามทุกเดือน มี สารคดี ครบทุกฉบับ ผมรู้เวลาออก ตอนนี้ก็ราววันที่ ๒๕ ของเดือน-ใช่ไหม ? ก็รู้สึกกระสับกระส่ายนิดหน่อย กลัวพลาด บางเดือนหลุดไปบ้างก็ต้องไปตามซื้อจากแผงอื่น มีอยู่ช่วงหนึ่งผมไปเรียนต่อเมืองนอกสองปี ต้องให้น้องชายซื้อเก็บไว้ให้

” ชอบที่สุดคือเล่ม สืบ นาคะเสถียร เป็นเล่มที่พลาดด้วยเพราะหมดจากแผงเร็วมาก หาซื้อไม่ได้จนนึกอยากขโมยจากห้องสมุด แต่ไม่ได้ทำนะ เพื่อนมันซื้อมือสองมาให้ เล่มที่ตลกๆ ก็มีฉบับพระยันตระ สมัยนั้นยังอยู่ธรรมศาสตร์ ถ้า สารคดี ลงเรื่องอะไร พวกเราก็จะยกมาพูดคุยกัน อย่างเล่มยันตระนี่ก็ถือเป็นความผิดพลาดนิดหน่อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

” ทุกเล่มผมเปิดอ่านสกู๊ปเป็นอันดับแรก จากนั้นก็อ่าน สะกิดตา สะกิดใจ ซองคำถาม สัมภาษณ์ ส่วน โลกใบใหญ่ ดูผ่านๆ ตามความสนใจ แนวเรื่องที่ผมสนใจเป็นประเภทวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคม ถัดมาก็แนวอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งสารคดี ยกประเด็นมาพูดโดยไม่ตัดสินถูกผิด แต่เป็นการนำความคิดของฝ่ายต่างๆ มาเสนอ บางที สารคดี นำเสนอแง่มุมที่สวนกระแส ผมก็ว่าก็ไม่เสียหายอะไร จะได้เป็นเวทีเป็นทางเลือกในการรับข้อมูลอีกด้าน ผมไม่ใช่เอ็นจีโอ แต่ผมก็ไม่ต่อต้านความคิดเขา ผมรับฟังเขา

” ผมคิดว่า สารคดี สามารถมีฐานะเป็นสถาบันได้ เป็นสถาบันของความรู้ ความจริง ความเป็นกลาง เป็นสถาบันที่ยากจะมีใครมาทำตาม ขณะนี้คนไทยยังสนใจอ่านหนังสือกันน้อย ถ้า สารคดี ช่วยสร้างให้คนไทยรักการอ่านได้ก็คงดี ”

…………………

kornkaewกรแก้ว กอวัฒนา
ข้าราชการสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

” เห็น สารคดี ตั้งแต่เล่มแรกคือเล่มพลุ ตอนนั้นยังไม่สนใจที่จะอ่านประจำ เพราะอ่านเล่มอื่นอยู่ พอเรียนจบปริญญาโทมาทำงาน รู้สึกว่าไม่พอแล้ว ก็นึกถึง สารคดี เริ่มอ่านจริงจังประมาณเล่มที่ ๖๐ ซื้อตามแผงอ่านมาเรื่อยๆ จนมาถึงฉบับที่ลงเรื่องคุณสืบ นาคะเสถียร ซึ่งเพิ่งเสียชีวิต ตอนแรกเราไปถามตามแผงก็ยังไม่ออก พออีกสองวันไปถาม…หมดแล้ว โอ๊ย… รู้สึกเสียดายมาก บอกตรงๆ ว่า สารคดี ไม่เคยออกตรงเวลา เลยสมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่ตอนนั้น จะได้ไม่พลาดอีก

” ตอนที่เริ่มอ่าน ไม่ได้คิดว่าอยากจะได้อะไรมาก แต่พออ่านไปๆ กลับรู้สึกว่าอ่านเล่มเดียวได้ความรู้รอบตัวหลากหลาย เวลาคุยกับใคร เรารู้เรื่อง เคยไปฟังอาจารย์เขาพูดเรื่องนาโน ถ้าเราไม่อ่าน สารคดี จะไม่รู้เลยว่านาโนคืออะไร เพราะเราทำงานสายสังคม ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์

” เล่มมอเตอร์ไซค์ก็มีประโยชน์มาก ถ้ามีคนได้อ่านเล่มนี้เยอะๆ จะทำให้เห็นความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุมากขึ้น เล่มหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ก็ชอบ ให้ข้อคิดดีๆ ว่าไม่ต้องมีเงินทองร่ำรวยก็มีความสุขได้ ถ้ารู้จักอยู่อย่างพอเพียง

” ชอบ สารคดี ที่ความเป็นตัวของตัวเอง ทำเรื่องไหนแล้วเจาะลึก กล้าเสนอความจริง อย่างฉบับไม้เถื่อนเมืองแพร่ เราอ่านแล้วยังกลัวแทนคนเขียนเลย เพราะเขาพูดตรงมาก ถ้าอ่าน สารคดี แล้วถ่ายทอดข้อมูลต่อ ๆ กันไป คนอื่นๆ ก็จะได้รับรู้ในข้อเท็จจริงมากขึ้น อย่างเรื่องชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน เราอ่านแล้วไปเล่าให้คนที่ที่ทำงานฟัง ทำให้เขาเห็นภาพความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น

” วันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าพักผ่อนอยู่บ้านก็จะดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์บ้าง และอ่าน สารคดี ถ้าไปไหนที่ต้องรอนาน ๆ อย่างไปร้านทำผม ก็จะติด สารคดี ไปอ่านด้วย เพราะส่วนใหญ่เขาจะมีแต่หนังสือดาราซึ่งเราไม่ชอบอ่าน หรือเวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาล ระหว่างรอหมอเรียกก็อ่าน สารคดี ไปเพลินๆ

” คิดว่าหนังสือเป็นเพื่อนคนหนึ่ง แต่ก่อนอ่านนิตยสารแฟชั่นอยู่เล่มหนึ่ง ก็เป็นเพื่อนคนหนึ่ง ตอนหลังเขาเปลี่ยนไปเยอะ คือเปลี่ยนบรรณาธิการ และออกไปในเชิงธุรกิจเยอะ เนื้อหาก็ไม่ใช่ เริ่มรู้สึกว่ารับเพื่อนคนนี้ไม่ได้ เลยเลิกอ่านไป แต่ สารคดี ยังเป็นเพื่อนที่คงเส้นคงวาถึงปัจจุบัน ตอนนี้ก็อ่าน สารคดี ฉบับเดียว ”