นิตยสาร สารคดี เดินทางจากฉบับที่ ๑ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ มาถึงฉบับที่ ๔๖๘ เดือนมีนาคม ๒๕๖๗ เรียกว่าอายุครบ ๓๙ บริบูรณ์ ย่างขึ้น ๔๐
ปณิธานการก่อตั้งนิตยสาร สารคดี ของ สุวพร ทองธิว เจ้าของบริษัท เคยบันทึกไว้ว่า
“ด้วยความเชื่อว่าหนังสือเป็นเครื่องมือสื่อสารทางความคิดที่มีประสิทธิภาพที่สุด…เป้าหมายเพียงเพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการรับใช้สังคม มิใช่เพื่อเสริมอหังการแห่งตน”
เมื่อ ๔๐ ปีก่อน คนกลุ่มหนึ่งจึงมีโอกาสทุ่มเทกำลังกาย สติปัญญา และจิตวิญญาณ เพื่อทำหนังสือแนวใหม่ชื่อ “สารคดี”
เบื้องหลังการจัดทำนิตยสาร สารคดี มีบันทึกในสารคดีหลายฉบับ
ขึ้นปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗ เดือนมีนาคม ๒๕๓๑ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการคนแรกเขียนในบทความ “กว่าจะเป็น ๑๐๘ เรื่องสารคดี” เล่าเรื่องการตั้งชื่อนิตยสารว่า “สารคดี” และการเสนอความหมายงานสารคดีว่าคือ “รอยต่อของวิชาการและวรรณกรรม” เป็นครั้งแรกในงานอภิปราย “เขียนและทำสารคดีให้ดีได้อย่างไร” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สารคดีจึงเป็นรูปแบบการเขียนและรสชาติการอ่านที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสาระความรู้ทางวิชาการและสุนทรียรสทางอารมณ์แบบวรรณกรรม เพราะในการเขียนสารคดีที่มีหัวใจเป็นข้อมูลจริงนั้น จำเป็นอยู่เองที่ผู้เขียนจะต้องทำการศึกษา ค้นคว้า ตีความ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นวัตถุดิบในการวางเค้าโครงเรื่อง บางครั้งนักเขียนสารคดียังต้องลงไปกินอยู่คลุกคลีแหล่งข้อมูลด้วยตัวเอง เสมือนนักวิชาการทำงานชิ้นหนึ่งทีเดียว…”
เมื่อเดินทางมาถึงการขึ้นปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒๔๑ เดือนมีนาคม ๒๕๔๘
สารคดี นำเสนอการย้อนรอย ๒๐ ปีสารคดี และบทสัมภาษณ์ ๒๑ คนทำสารคดี โดยนำเสนอผลกระทบของงานสารคดีจากกระแสโพสต์โมเดิร์นในบทความ “ระหว่างบรรทัดของงานสารคดีปีที่ ๒๐ กว่า ๆ” เขียนโดย กุลธิดา สามะพุทธิ ว่า “เมื่อพูดถึงการเสนอความจริง พวกโพสต์โมเดิร์นอาจจะเถียงว่าไอ้เจ้า ‘ความจริง’ ที่ว่านั้นมันไม่มีอยู่จริงหรอก มีแต่เพียงการอธิบายเหตุการณ์หนึ่ง ๆ จากมุมมองที่ถูกกำหนดขึ้นโดยวัฒนธรรม, เชื้อชาติ, เพศ และชนชั้นทางสังคม…” และยังวิจารณ์งานสารคดีขณะนั้นว่าต้องดิ้นรนหาวิธีการเล่าเรื่องและพยายามประดิดประดอยถ้อยคำเพิ่มคุณค่าด้านวรรณศิลป์ เพื่อปรุงแต่งความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร “ให้ดูเย้ายวนชวนบริโภค” เพราะเป็น “ยุคสมัยที่ผู้คนจำนวนมาก ‘กลัวเรื่องซีเรียส/ไม่ชอบอะไรที่หนัก ๆ เครียด ๆ’ แม้รายการข่าวยังต้องทำให้เหมือนรายการทอล์กโชว์”
น่าคิดว่าแม้จะผ่านมาร่วม ๒๐ ปี ความกลัวเรื่องเครียดนอกจากจะคงอยู่ ยังขยับไปเสพความดรามามากขึ้นด้วย
ถัดมาในการขึ้นปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๐๑ เดือนมีนาคม ๒๕๕๓ สารคดี นำเสนอเรื่อง “๒ ทศวรรษ ๕ ปี สารคดี กับเส้นทางที่ผ่านมา”
ทบทวนการเดินทางของทีมงานกอง บก. สารคดี สี่รุ่น ซึ่งถือเป็นบันทึกการทำงานของ สารคดี อย่างละเอียดที่สุด ทั้งแง่มุมการจัดทำเนื้อหา วิธีการนำเสนอ การโฆษณาและการตลาด ซึ่งผ่านการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ท้ายบทความก็ได้ทิ้งปมปัญหาของสารคดี ยุคนั้นไว้ว่า “วัฒนธรรมการอ่านของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปชอบอ่านอะไร ‘สั้น ๆ’ ‘ง่าย ๆ’ และ ‘กระชับ’ กำลังส่งผลต่อขนบการเขียนและการนำเสนอแบบเดิมว่าจะยังตอบสนองต่อผู้อ่านกลุ่มใหม่ได้หรือไม่”
มาถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้ว่านิตยสารกระดาษต่างถูกดิสรัปต์โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลออนไลน์แทบหมดแล้ว แม้งานสารคดีจะปรากฏแพร่หลายในหลายสื่อ แต่ก็เกิดคำยอดนิยมใหม่ว่า content และ storytelling
“สารคดีอะไร” ยังเป็นคำถามที่กอง บก. ตั้งแต่รุ่นแรกมาถึงรุ่นปัจจุบันได้ยินจากแหล่งข่าวเมื่อทีมงานแนะนำตัวยิ่งในยุคนี้ยิ่งเป็นคำถามที่ท้าทายความเชื่อมั่นในการดำรงอยู่ของนิตยสารรายเดือนแบบกระดาษ
แรงสนับสนุนอย่างไม่ท้อถอยจากคุณสุวพร ทองธิว ที่ส่งไม้ต่อการบริหารให้คนรุ่นใหม่คือคุณอมร ทองธิว
และกำลังใจสำคัญที่สุด ซึ่งเราขอขอบคุณจากเบื้องลึก คือสมาชิกและผู้อ่านทุกคนที่ยังรักและติดตามเรามา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
คือความเชื่อมั่นและความหวังว่าพวกเราจะยังได้พบกันอีกในอนาคต
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
- จากบทบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 468 มีนาคม 2567
- อ่านบทความของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine