นิรมล มูนจินดา : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ
“สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยตอนนี้ เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเมื่อ ๓๐ ปีก่อน”
พราซานนา วีราเวอร์เดอนา บอกว่า เขากับภรรยา–เจนนิเฟอร์ ทามบายา–จากศรีลังกามาก็เพราะภาวะสงครามกลางเมืองระหว่างสองเชื้อชาติในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
ความแค้นและความเกลียดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬที่มีมาเนิ่นนานกัดกินใจผู้คนของทั้งสองฝ่ายอย่างลึกซึ้ง วิกฤตและทุกข์เข็ญแพร่กระจายไปทั่วโดยเฉพาะช่วง ๒๐-๓๐ ปีก่อน กระบวนการสันติภาพที่เพิ่งเริ่มต้นได้ ๒-๓ ปี แม้จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขขึ้น แต่สันติภาพในระยะยาวและการเยียวยาจิตใจผู้คนต้องใช้เวลานานกว่านั้นมาก สำหรับพราซานนา การสูญเสียเพื่อนสนิทสองคนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาตัดสินใจว่า “ถึงเวลาที่ผมกับเจนนี่จะออกไปสำรวจส่วนอื่นๆ ของเอเชียแล้ว”
พราซานนาเรียนมาทางโบราณคดี เขาใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในสหราชอาณาจักรจนจบปริญญาตรีด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เคยทำงานเป็นนักโบราณคดีในศรีลังกาและกัมพูชา ปัจจุบันสอนภาษาอังกฤษที่เอยูเอและกำลังรอดูโปรเจ็กต์ใหม่ในกัมพูชาอีกครั้ง ส่วนเจนนี่เรียนจบกฎหมาย เคยทำงานในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และเพิ่งเข้าทำงานใน UN High Commissioner for Refugees
เมื่อแต่งงานกันด้วยความยินยอมจากพ่อแม่ของสองฝ่าย ทั้งคู่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยยิ่งกว่าน้อยของประเทศ เพราะพราซานนาเป็นชาวสิงหลที่มาจากครอบครัวซึ่งนับถือศาสนาพุทธ แต่เจนนี่เป็นลูกครึ่งทมิฬกับสิงหลและเป็นคริสเตียน
“ตอนที่เราแต่งงานกันใหม่ ๆ มีด่านตั้งอยู่ทั่วเมืองเพื่อตรวจดูบัตรประชาชน” เจนนี่ย้อนเล่าถึงวันที่ไฟสงครามยังกรุ่น “ พราซานนาไม่เคยมีปัญหาเลย เพราะชื่อของเขาเป็นภาษาสิงหล พอมาถึงตาฉันซึ่งมีชื่อเป็นภาษาทมิฬ ฉันก็ถูกตรวจบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่ถามพราซานนาว่านี่เป็นใคร พอพราซานนาตอบว่าเป็นภรรยาของผม เขาก็มองเราคล้ายกับจะถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับคุณ
“มันเป็นอย่างนี้มาตลอดนั่นแหละ พราซานนาถามว่าฉันจะต้องเจออย่างนี้ทุกวันหรือ ฉันตอบว่าวันละสองสามหน บ้านของฉันอาจถูกค้นได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ฉันเองอาจถูกจับและติดคุกโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการในศาล”
ความที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวทมิฬอยู่ครึ่งหนึ่ง ทำให้เจนนี่ผ่านเรื่องน่าตื่นตระหนกมามากมาย ในเหตุจลาจลครั้งหนึ่งซึ่งม็อบชาวสิงหลบุกเผาบ้านและร้านรวงของชาวทมิฬในกรุงโคลอมโบ บ้านและครอบครัวของเธอรอดจากอันตรายมาได้อย่างหวุดหวิดแม้ว่าบ้านรอบ ๆ จะถูกเผาไปแล้ว “เพราะเราอยู่ในบ้านที่คนพูดภาษาสิงหลได้ดีกว่าภาษาทมิฬ พอม็อบจะเผาบ้านเรา แม่ของฉันที่เป็นคนสิงหลก็ออกไปพูดว่า คุณจะเผาบ้านนี้ทำไม ที่นี่เป็นที่ของเรา และฉันมีลูกสองคนอยู่ในบ้าน ถ้าจะเผาบ้านฉัน คุณก็ต้องเผาฉันด้วย” โชคดีที่ม็อบยอมจากไป
“ดังนั้นเราจึงใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นด้วยความหวาดกลัว เราต้องเตรียมเอกสารประจำตัว พาสปอร์ต บัญชีธนาคาร และเสื้อผ้าอีกชุดหนึ่งไว้ในกระเป๋าใบเล็กๆ คนละใบพร้อมไว้เสมอนานเป็นปี ๆ และนานเป็นปี ๆ ที่เราไม่เคยหลับสนิท เพราะคิดว่าอาจจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นและเราจะเป็นอย่างไร”
ไม่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัว การทำงานในหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในศรีลังกาทำให้เธอรู้สึกว่าตนเองได้รู้ได้เห็นมากเกินไป
“งานที่ฉันทำตอนนั้นเกี่ยวข้องกับการป้องกันไม่ให้คนถูกจับและถูกพาไปสถานีตำรวจ เพราะเมื่อก่อนที่คนเหล่านั้นจะขึ้นศาลก็มักจะหายตัวไป คุณจะไม่ได้พบกับเขาอีก เพราะเขาถูกฆ่าและไม่มีการบันทึกเอาไว้ด้วย ฉันคิดว่านั่นเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมฉันจึงจากประเทศของฉันมา เพราะฉันรักประเทศของฉันมากและฉันเห็นมามากเกินไป ฉันเห็นคนถูกทรมานมามาก เห็นผู้หญิงที่ถูกข่มขืนมากเกินไป ฉันสูญเสียคนรู้จักมากเกินไป บางคนเป็นเพื่อน บางคนเป็นนักเรียน บางคนยังเด็กมาก เป็นแค่เด็กวัยรุ่นที่หายตัวไปเพียงเพราะเป็นสมาชิกของคนกลุ่มน้อย พวกเขาตกอยู่ในอันตรายเพราะเขามีเชื้อชาติเดียวกับกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาล
“เด็กหลายคนเกิดและเติบโตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตั้งแต่เกิดจนโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ในขณะที่เด็กอีกหลายคนโตขึ้นมาท่ามกลางเสียงปืน ส่วนอีกหลายคนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายไปในที่สุดด้วยความคับแค้นใจต่อรัฐบาล มีคนประมาณไว้ว่าคนเกือบล้านหายสาบสูญไประหว่างปี ๑๙๘๐-๑๙๙๕ คนทมิฬหนึ่งในสามของทั้งหมดทิ้งประเทศไป และอีกนับไม่ถ้วนต้องอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศ มันเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงมาก”
น่าสงสัยว่าในภาวะมิคสัญญีเช่นนั้น ศาสนาประจำชาติมีส่วนในการสร้างสันติภาพหรือเป็นที่พึ่งของประชาชนในศรีลังกาบ้างหรือไม่
พราซานนาตอบว่า “ไม่ว่าคนทิเบตจะถูกทหารจีนสังหารและทรมานมากขนาดไหน ทะไลลามะก็ย้ำเสมอว่าคุณต้องเมตตาต่อคนจีน ท่านมีเมตตากรุณาอย่างเหลือประมาณ และเมื่อมองย้อนกลับไป ๕๐ ปีก่อน คุณจะเห็นว่าลามะที่ถูกฆ่าหรือถูกทรมานไม่ได้แสดงความเกลียดชังต่อคนจีนเลย นี่เป็นเรื่องที่พิเศษมาก เมื่อเทียบกับเถรวาทในศรีลังกา ผมไม่เคยได้ยินคนสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธพูดอย่างนั้นเลย”
การมาถึงเมืองไทยสำหรับสองคน–โดยเฉพาะเจนนี่–จึงเปรียบได้กับการมาอยู่โลกใบใหม่ที่ “เป็นอิสระ ไม่ต้องแสดงบัตรประชาชนตลอดเวลา ไม่มีใครมองแบบจับผิด เป็นครั้งแรกในช่วงเวลานานมากที่ฉันรู้สึกเป็นอิสระอย่างแท้จริง ในฐานะเป็นผู้หญิง ฉันจะไปไหนก็ได้โดยไม่ถูกควบคุมหรือต้องเป็นกังวล ไม่มีความรุนแรง ฉันอยู่ในวัฒนธรรมที่รุนแรงมานานมากในช่วงที่ฉันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา”
“ไม่มีอันตรายที่ซ่อนอยู่หรือมีการคุกคาม” พราซานนาเห็นด้วย “ที่ศรีลังกาคุณไม่สามารถไปไหนได้ไกล ๆ เพราะมีด่านตรวจอยู่ทั่วไป มันเป็นลักษณะที่ขัดแย้งกันของศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่สวยงามอย่างยิ่ง ความงาม ความโหดร้าย และการปะทะกันรวมอยู่ด้วยกัน”
เหมือนกับเมืองไทยไหม ?
ที่ศรีลังการุนแรงกว่ามาก-เขาตอบ “ไม่ผิดอะไรไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอิรักทุกวันนี้ จะต่างกันก็ตรงที่สิ่งที่เกิดในศรีลังกาไม่ได้รับความสนใจหรือเป็นข่าวมากเท่า
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยในตอนนี้ เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเมื่อ ๓๐ ปีก่อน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม การโต้ตอบกันจะไม่ยุติ รัฐบาลไทยควรดูบทเรียนที่เกิดขึ้นในศรีลังกา คุณจำเป็นต้องเปิดการเจรจาเพื่อทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้เกี่ยวข้องเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“รัฐบาลชุดนี้เหมือนจะส่งเสริมแต่วัฒนธรรมไทยและความเป็นไทยอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ดีอยู่ แต่ก็เหมือนกับว่าไม่ได้คำนึงถึงวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ประเทศไทยมี เช่น มอญ เขมร และวัฒนธรรมที่หลากหลายอื่น ๆ บางทีรัฐบาลน่าจะให้ความสนใจกับความจริงอย่างที่เมืองไทยเป็น เพราะเมืองไทยมีหลายวัฒนธรรมมาอยู่รวมกัน ไม่ใช่เพราะมีเชื้อชาติที่เด่นอยู่เชื้อชาติเดียว”
เจนนี่ตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่มีชาวบ้านธรรมดาคนไหนต้องการสงคราม แต่บางทีพวกเราก็ตกกระไดพลอยโจนไปกับ agenda ของคนอื่นๆ วาระทางการเมืองและศาสนามักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนลุกขึ้นปะทะกัน”