ศรัณย์ ทองปาน

elephant1
ช้างเผือกยืนแท่นหน้าเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ คราวรับราชทูตออสเตรียตอนต้นรัชกาลที่ ๕ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ตามคติความเชื่อของอินเดีย ช้างเผือกถือเป็นหนึ่งในแก้วเจ็ดประการของพระมหาจักรพรรดิ โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนา ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับช้างเผือก เพราะช้างที่เหาะมาเข้าพระครรภ์ในพระสุบินของพระนางศิริมหามายาก็เป็นช้างเผือก ช้างปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดรก็เป็นช้างเผือก หรือแม้แต่ช้างเอราวัณ เทพพาหนะของพระอินทร์ก็เป็นช้างเผือกด้วย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่โบราณ กษัตริย์ในอาณาจักรต่างๆ ทรงปรารถนายิ่งที่จะได้ครอบครองช้างเผือก จนบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามระหว่างแว่นแคว้นเพื่อแย่งชิงช้างเผือกก็มี เพราะยิ่งทรงเป็นเจ้าของช้างเผือกจำนวนมากเท่าใด ยิ่งแสดงถึงพระบารมีที่แผ่ไพศาลมากขึ้นเพียงนั้น

elephant2
ฝรั่งสมัยก่อนมักเห็นว่าธงช้างเผือกเป็นของแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งของประเทศสยาม
อย่างในรูปยาซิกาแร็ต (บัตรภาพที่แถมมาในซองบุหรี่) รุ่นราวปลายรัชกาลที่ ๕ นี้
ฝรั่งวาดให้เป็นช้างเผือกยืนบนก้อนเมฆไปเลย

แต่ทั้งนี้เข้าใจว่า พระเจ้าช้างเผือกจะทรงเลี้ยงช้างเผือกไว้เป็นเครื่องประดับพระบารมีเฉย ๆ มิได้เอามาใช้เป็นพระราชพาหนะ ฝรั่งที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเขียนเล่าไว้ในหนังสือของเขาว่า พระเจ้าแผ่นดินจะไม่ประทับบนช้างเผือก เพราะเชื่อกันว่าเป็นกษัตริย์ในอดีตที่กลับชาติมาเกิด และอาจด้วยเหตุนั้น ฝรั่งที่มีโอกาสได้เข้าไปชมในโรงช้างต้นจึงบันทึกไว้ว่าช้างเผือกจะกินหญ้าและน้ำจากภาชนะทองคำเท่านั้น

elephant3
ธงช้างเผือก ใช้ติดแสดงสัญชาติเรือค้าขายของสยามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๖

ตามประเพณีราชสำนักไทย เมื่อเวลามีราชทูตต่างประเทศมาเข้าเฝ้า สองข้างทางเดินในพระบรมมหาราชวังที่คณะทูตจะผ่านไป นอกจากจะมีทหารกองเกียรติยศตั้งแถวเรียงรายกันแล้ว ยังจะต้องนำเอาช้างเผือกออกมาผูกยืนโรงไว้อวดแขกบ้านแขกเมืองให้ชมเป็นขวัญตาด้วย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช้างเผือกกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ รูปช้างเผือกปรากฏบนธงของราชอาณาจักรสยามมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ในเวลาต่อมา ซึ่งก็ยังคงใช้สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

elephant4
วงกลมธงไตรรงค์บนปีกเครื่องบิน (ซ้าย) เทียบกับเครื่องหมายบนปีกเครื่องบินอังกฤษ (กลาง) และฝรั่งเศส (ขวา)
รูปช้างเผือกบนแพนหางเครื่องบินทิ้งระเบิดของไทย (บ.ท. ๓ / Martin 139WH2) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ธงช้างเผือกกลับมาอีกครั้งบนเครื่องบินของไทย เนื่องจากเครื่องหมายธงชาติไทยบนปีกเครื่องบินนั้นดูใกล้เคียงกับเครื่องบินอังกฤษ (ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม) เกินไป ไม่สะดวกในการสู้รบที่ใช้สายตาเลือกเป้าหมาย เครื่องบินรบของไทยในระหว่างนั้นจึงหันกลับไปเลือกใช้รูปช้างเผือกบนพื้นแดงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกครั้งหนึ่ง แต่ทำเป็นช้างชูงวงให้ดูมีพลังน่าเกรงขาม มีทั้งที่บนปีกและแพนหาง บางครั้งเขียนกันจนดูเหมือนช้างกำลังกระโดดก็มี