เรื่องและวิดีโอ : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

…เดือนสิงหาคมหรือกันยายนน้ำจะเริ่มไหลเชี่ยว หลังจากนี้เรือสำเภาไม่สามารถออกไปได้ หรือถ้าจะออกไปก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ฉะนั้น เดือนกรกฎาคมจึงเหมาะสุดที่จะเดินทางไปกรุงสยาม…

บันทึกจากพ่อค้าฮอลันดายุคพระเจ้าทรงธรรม ปี ๒๑๖๐-๒๑๖๑ คือจุดเริ่มล่องเรือรอบกรุงเก่าอยุธยาช่วงกรกฎาคม ๒๕๖๕ พร้อมผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม

สนุกตรงไม่ต้องพาร่างทะลุมิติก็ได้ย้อนโบราณผ่านแผนที่ฝรั่งเทียบหลักฐานที่ยังมีอยู่

เที่ยว “กรุงเก่า” ตามรอยเล่าฝรั่ง

:: ตบเท้าเข้าอยุธยา ::

มีสัณฐานดังฝ่าเท้าที่หันส้นไปทางทิศตะวันตก

เอนเยลเบิร์ต แกมเฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอิสต์อินเดียของเนเธอร์แลนด์ นิยามรูปทรงผืนดินอยุธยาไว้อย่างนั้น ส่วนซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสคิดว่า

คล้ายถุงย่ามที่ปากถุงอยู่ทางทิศตะวันตก

ด้วยทำเลตั้งบนที่ราบลุ่ม มีลำน้ำใหญ่สามสายล้อมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้อยุธยามีลักษณะเป็นเกาะ ตัวพระนครก็มากด้วยคูคลองสายเล็กสายน้อย

krungkao02

รูปที่ด้านบนกำกับ “IUDEA” (โยเดีย) ฝีมือสองพี่น้อง “ดาวิด และ โยฮันเนส วิงโบนส์” (David & Johannes Vingboons) จิตรกรและนักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา รับจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) วาดเมืองท่าสำคัญในเอเชียตะวันออก คือหลักฐานผังเมืองของเกาะอยุธยาที่ฝรั่งตาน้ำข้าวมองช่วงปี ๒๒๐๕-๒๒๐๖ ว่าเป็นเมืองที่มีคูคลองเชื่อมโยงดุจตาข่าย

“การมองจากกลางแม่น้ำแบบสายตาชาวต่างชาติในอดีตน่าสนใจตรงจะเห็นภาพแรกของอยุธยาเป็นเกาะ ซึ่งเป็นมุมที่คนปัจจุบันไม่ค่อยเห็นจากการเดินทางโดยใช้รถใช้ถนน”

รองศาสตราจารย์ศานติ ภักดีคำนักวิชาการด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์โบราณคดี หนุนให้ทำความรู้จักชุมชนโดยวิธีล่องเรือ จะทำให้ได้สัมผัสอยุธยาในฐานะเมืองน้ำอย่างแท้จริง

krungkao03

“เพราะวิถีคนไทยในอดีตอยู่กับแม่น้ำลำคลอง เกาะอยุธยาเวลานั้นมีถนนไม่กี่สาย แต่มีคูคลองเยอะมากทั้งที่ทำหน้าที่ระบายน้ำ เป็นคลองชักน้ำเข้าวังหลวง และใช้สัญจรจากเหนือลงใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก ใครจะเดินทางสู่เขตพระราชวังหรือจะไปไหนก็ต้องลงเรือ จากปากคลองพายเรือเข้าไปจะถึงวังหลวงแล้วยังไปออกแม่น้ำลพบุรีได้ แสดงให้เห็นว่าทุกคลองสามารถเชื่อมโยงถึงแต่ละชุมชนได้หมด และมีสะพานข้ามคลองเต็มไปหมด แต่ถ้าดูจากแผนที่ปัจจุบันจะหาคูคลองหลายแห่งไม่เจอแล้ว”

ขณะเดียวกันอยุธยาก็ไม่มีภูเขา แต่บนแผนที่โบราณชาวดัตช์กลับวาดให้มีเทือกเขา

“ผมคิดว่านั่นอาจเป็นเขาสมอคอนหรือเขาวงพระจันทร์ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงสุดในลพบุรี สมัยก่อนจากอยุธยาถ้าจะไปลพบุรีก็จะเข้าตัวแม่น้ำลพบุรีสายเก่าขึ้นไปทางค่ายโพธิ์สามต้น ถึงอย่างนั้นปัจจุบันในวันที่สภาพอากาศดีไม่มีฝุ่น หากมองจากในเมืองอยุธยาก็ยังสามารถเห็นเทือกเขานั้นได้”

ดีสุดสำหรับการลงเรือเที่ยวรอบเกาะอยุธยาคือเริ่มต้นจากท่าเรือ “วัดพนัญเชิง”

ตั้งอยู่นอกเกาะอยุธยาทางใต้ ริมน้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก บริเวณปากแม่น้ำ

“เพราะที่นี่ไม่เพียงเป็นหมุดหมายของการสถาปนาเมืองอยุธยา ยังเป็นหนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ฝรั่งเห็นเมื่อเข้าสู่เกาะอยุธยา และบริเวณปากแม่น้ำบริเวณตำบลสำเภาล่มซึ่งตั้งชื่อตามลักษณะของวังน้ำวนที่เจ้าพระยาบรรจบกับป่าสักก็เป็นจุดสำคัญที่แขกไปใครมาต้องผ่าน”

อาจารย์ศานติเล่า แนวแม่น้ำป่าสักสายปัจจุบันที่ผ่านหน้าวัด สมัยโบราณมีฐานะเพียง “คูขื่อหน้า” โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงให้ขุดเพื่อเชื่อมระหว่าง “อโยธยาเดิม” กับเมือง “อยุธยาใหม่”

“เชื่อกันว่าบริเวณวัดน่าจะมีชุมชนอยู่มาก่อนมีสถาปนาอยุธยา ก่อนอาณาจักรทวารวดีด้วย หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของอยุธยาอย่างลพบุรีคือหลักฐานสำคัญของเมืองโบราณบนลุ่มน้ำลพบุรีนั่นล่ะครับ แต่เวลานั้นปรากฏในชื่อ ‘ลวปุระ’ ภายหลังวัฒนธรรมเขมรโบราณเข้ามาตามด้วยคนจีนก็ออกเสียงเพี้ยนเป็น ‘ละโว้’ ท้ายที่สุดเมืองละโว้ก็มาร่วมกับสุพรรณบุรีแล้วจึงสถาปนาเมืองอยุธยาขึ้น”

เรื่องยากกลายเป็นเรื่องนึกตามง่ายเมื่อ ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต นักค้นคว้าด้านวัฒนธรรม ช่วยเสริม

“จำจอนนี่ แอนโฟเน่ ในบท ขุนวรวงศาธิราช เรื่องสุริโยทัยได้ไหมครับ ท่านก็เป็นขุนนางสายละโว้ แม้แบบเรียนไทยจะไม่นับท่านเป็นกษัตริย์ที่ปกครองอยุธยาเพราะถือเป็นกบฏสมคบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์งชิงบัลลังก์สมเด็จพระยอดฟ้า แต่นักวิชาการทั่วไปต่างยอมรับเพราะพงศาวดารระบุว่าการสถาปนาตนครั้งนั้นผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกอย่างถูกต้อง”

krungkao05

เขาเพิ่มเติม เมืองละโว้เคยมีฐานอำนาจทางการค้าก่อนมีการสถาปนาอยุธยาใหม่ขึ้น การสถาปนาอยุธยาจึงไม่ใช่การสร้างเมือง เพราะที่นี่มีชุมชนโบราณอยู่ก่อน ซึ่งก็คือที่ตั้งของวัดพนัญเชิง

“ผมเคยอ่านนิทานเกี่ยวกับเรื่องราวของ ‘พระเจ้าสายน้ำผึ้ง’ ผู้มีชาติกำเนิดที่โพรงปลวกซึ่งเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่กับน้ำ ยุคนั้นคนจีนเชื่อว่าผู้ใดควบคุมจัดการน้ำได้ย่อมมีอำนาจ พระเจ้ากรุงจีนจึงยก ‘พระนางสร้อยดอกหมาก’ ผู้เป็นธิดาให้พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ครั้นถึงวันอภิเษกพระเจ้าสายน้ำผึ้งกลับตั้งขบวนออกไปรับไม่สมเกียรติ พระนางจึงกลั้นใจตายกลางแม่น้ำ ต่อมามีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชาตรงสถานที่ถวายพระศพของพระนางและเป็นที่ศรัทธาของชาวชุมชนก่อนมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโตมาประดิษฐานอีก”

รอยทางประวัติศาสตร์จึงไม่เพียงสะท้อนว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนที่มีชาวจีนอยู่มาก่อนสถาปนาเมือง (หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย) ยังสะท้อนว่ายุคนั้นจีนนับว่าเป็นเมืองใหญ่ กษัตริย์จีนถือว่าตนเป็นศูนย์กลางอำนาจของบ้านเมืองอื่นในละแวก ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอยุธยากับชาวจีนจึงนับเป็นนัยใหญ่ และการสร้างความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทย-จีนก็เป็นธรรมเนียมสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ หากกษัตริย์ใดครองราชย์ต้องได้การยอมรับจากจีน จึงมีการแลกเปลี่ยนบรรณาการ หมายรวมถึงสิทธิพิเศษทางการค้าการขนส่งเรือสินค้าระหว่างจีนด้วย เรื่องเหล่านี้จึงถ่ายทอดเป็นตำนาน เช่นเรื่องแต่งของพระเจ้าสายน้ำผึ้งบนแผ่นดินอยุธยาก็สะท้อนที่มาที่ไปชัดว่าทำไมต้องแต่งให้เป็นคนจีนและทำไมต้องให้ครองคู่กับพระนางสร้อยดอกหมาก

อดีตรอบวัดพนัญเชิงไม่เพียงเป็นจุดจอดเรือสำเภาขนส่งสินค้าของชาวต่างชาติ

ต่อมายังเป็นถิ่นนานาชาติอย่างจีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส อินเดีย เปอร์เซีย ยุโรป ฯลฯ

:: เลียบรั้วกรุงเก่า ณ ป้อมเพชร ::

จากจุดลงเรือท่าวัดพนัญเชิง ล่องเลี้ยวไปตามแม่น้ำป่าสักเดิม เรียงรายด้วยเรือนชาวบ้าน

“เรือนโบราณของชาวอยุธยามีสองแบบ คือเรือนผูกที่พักของไพร่ ทาส นิยมใช้หญ้าแฝก หญ้าคา ไม้ไผ่ผูกกัน อีกแบบคือปลูกด้วยไม้สักและเข้าไม้โดยไม่ตอกตะปู ไม่ว่าจะตั้งอยู่ริมน้ำหรือบนบกก็จะยกพื้นสูงป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ ที่มากับฤดูน้ำ พอฤดูแล้งก็ได้ใช้ใต้ถุนเป็นที่พักผ่อน ผูกเปลไกวกับเสาเรือน เป็นที่วิ่งเล่นของลูกหลาน ส่วนของชาวจีนจะมีลักษณะสองแบบคือเป็นตึกแถวกับเรือนแพ พบหลักฐานเรือนแพตั้งแต่วัดบางกะจะไปจนวัดพุทไธศวรรย์ เฉพาะที่นับได้ก็มีบันทึกไว้เกือบสองหมื่นหลังแล้ว”

เศรษฐเนตร มั่นใจจริง นักวิชาการวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ร่วมให้ข้อมูล สมัยก่อนการปลูกเรือนยังถูกกำหนดด้วยศักดินา หากมีเชื้อเจ้าจึงได้สิทธิ์ปลูก ๕ ห้อง ใช้หลังคามุงกระเบื้องได้ ถ้าเป็นขุนนางต่อให้รวยก็ไม่อาจใช้หลังคามุงกระเบื้อง ถือว่าทำตัวเป็นกบฏตีตนเสมอเจ้านาย

krungkao08

เรือล่องเรื่อยมาตามทางน้ำเป็นเส้นตรง แต่เดิมไม่ใช่แม่น้ำแต่เป็น “คูขื่อหน้า” คูเมืองที่ขุดให้น้ำออก “คลองหันตรา” (แม่น้ำป่าสักเดิม) บริเวณหน้าวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ที่ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร

ยกย่องกันว่าป้อมเพชรประหนึ่งประตูเมืองอยุธยา เป็นจุดนัดพบที่เรือสำเภานานาชาติจะมาจอดพักและขึ้นท่าที่นี่ จึงเป็นตลาดที่คึกคัก เวลาน้ำลดบริเวณชายน้ำจะมีผู้ขุดพบถ้วยกระเบื้องเคลือบมากมาย

แต่ความหมายของประตูเมืองยังมากกว่าทางเข้าออก เป็นดั่งรั้วรอบคุ้มเมืองอยุธยา

“เพราะหน้าที่สำคัญของป้อมเพชรคือป้องกันข้าศึกที่ขึ้นมาจากแม่น้ำทางทิศใต้ เมื่อก่อนตามช่องเสมาจะมีปืนใหญ่วางสอดอยู่ ถ้าเข้าไปดูด้านในจะเห็นลักษณะแนวกำแพงสมัยก่อนที่ก่อหนามาก ไม่ใช่บางๆ แบบกำแพงวัด ที่ต้องหนาเพราะจะมีพื้นที่ส่วนหน้าเรียก ‘ชายป้อม’ ให้ทหารยืนป้องกันข้าศึก”

krungkao09

อาจารย์ศานติเสริม สมัยพระเจ้าอู่ทองยังไม่มีการก่ออิฐจะสร้างกำแพงเมืองลักษณะ “เชิงเทิน” ขุดดินขึ้นถมจนพูนสูงใช้เป็นเชิงของป้อมปราการ แล้วใช้ไม้ปักเป็นระเนียด-รั้วเสาค่ายเรียงชิดตลอดป้องกันดินถล่มลงน้ำ ต่อมาในสมัยพระมหาจักรพรรดิมีการขยายกำแพงเมืองออกให้กว้างขึ้นไปทาง “หัวรอ” ฝั่งแม่น้ำลพบุรี (ปัจจุบันคือย่านตลาดหัวรอ ที่สร้างคร่อมป้อมมหาไชยซึ่งมีขนาดใหญ่สุดของอยุธยาในอดีต) แล้วเปลี่ยนเป็นก่ออิฐฉาบปูนเสริมจากกำแพงดินเดิม ทำเป็นสองแนวทั้งด้านนอกและใน โดยก่ออิฐสลับทแยงเชื่อมกันแล้วอัดดินเหนียวหรือเศษอิฐต่างๆ เข้าไปเป็นเชิงเทินสูง ๖ เมตร

“ยุคที่ก่ออิฐจะจ้างฝรั่งมาออกแบบ ดูจากการเรียงอิฐเป็นซุ้มโค้งคือลักษณะแบบฝรั่ง หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่ามีการก่อสร้างทับซ้อนสองแบบ แบบแรกเป็นฐานกลมมนคล้ายฝีมือของช่างโปรตุเกสที่ยึดครองอาณานิคมหลายแห่ง อีกแบบเป็นรูปหกเหลี่ยมสร้างทับฐานกลมมนเดิม น่าจะบูรณะในยุคหลังโดยช่างฝรั่งเศสเพราะเป็นแบบที่นิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เห็นได้จากป้อมเมืองลพบุรีและป้อมอื่นๆ ที่บางกอก แต่ป้อมแบบอยุธยาก็ต่างจากป้อมอื่นที่ฝรั่งสร้างด้วยหิน เพราะในอยุธยาหาหินยากจึงต้องใช้วิธีเผาอิฐมาก่อ ลาลูแบร์บันทึกว่าแม้อยุธยาต้องใช้ความชำนาญของช่างยุโรปมาวางรูปแบบป้อมให้ แต่ชาวสยามก็รู้จักเผาอิฐทำปูนเอง อิฐแบบดั้งเดิมจะมีความหนาเนื่องจากมีส่วนผสมของแกลบมากกว่าปัจจุบัน ป้อมที่เห็นปัจจุบันจึงมีทั้งร่องรอยของเก่าปนใหม่”

krungkao10

ส่วนกำแพงเมืองปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ถูกรื้ออิฐไปสร้างพระนครที่กรุงเทพฯ กำแพงเชื่อมต่อป้อมสมัยหนึ่งกลายเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์เฉลิมศรี บนถนนอู่ทอง ตำบลหัวรอ ปัจจุบันรื้อแล้ว ครั้งนั้นเองที่พบว่าใต้ที่ตั้งโรงภาพยนตร์คือแนวกำแพงยาวไปถึงวัดชุมแสง อำเภอท่าเรือ ถึงอย่างนั้นหากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ต้องดูโบราณสถานที่ยังไม่เคยถูกรบกวน เพราะตอนจะทำพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในรัชกาลที่ ๕ มีการขูดเขม่าดินต่างๆ ไปทิ้งหมด ดินใหม่ๆ ที่นำมาใช้แทนก็ไม่มีขี้เถ้าแล้ว คนยุคปัจจุบันจึงไม่เจอหลักฐานดินเขม่าหรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่สะท้อนเหตุการณ์หลังกรุงแตกในชั้นฐานรอบพระราชวังแล้ว

ชินวัฒน์-กวีอิสระผู้สนใจวรรณกรรมประวัติศาสตร์ช่วยเสริม

“ตอนสุนทรภู่มาเยือนพระราชวังโบราณแล้วพบซากปรักหักพังถึงกับเคียดแค้น พ่อแม่ท่านเป็นชาวเพชรบุรีที่มารับราชการอยู่กรุงศรีอยุธยาในกำกับของกรมพระราชวังหน้าซึ่งก็คือเจ้าฟ้ากุ้ง การที่กรุงแตกจึงเป็นเรื่องที่คนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปวดร้าวมาก ถึงกับรำพันเสียดสีในนิราศพระบาทตอนหนึ่งว่า ‘กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้ ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย’”

นึกย้อนไปสมัยโบราณ คนที่อยู่บนเรือกลางแม่น้ำมองเข้าฝั่งคงไม่มีทางได้เห็นบ้านผู้คนแบบวันนี้ คงเห็นก็แต่กำแพงเมืองสูง หรือสิ่งที่สูงเหนือกำแพงอย่างยอดวัง ยอดเจดีย์ ยอดปราสาท

หลังอาณาจักรอยุธยาล่มสลาย บ้านเมืองถูกทิ้งร้าง วัดวาอารามมีสัตว์ป่าแทนที่ ยังมีชาวบ้านที่เลือกอาศัยต่อจนยุครัตนโกสินทร์ แต่ไม่เข้าไปอยู่อาศัยใจกลางเมืองด้วยกังวลเรื่องเคยมีคนตายเยอะ จึงพากันตั้งรกรากกระจายตัวอยู่ริมแม่น้ำรอบนอกเกาะเมือง หนึ่งในนั้นคือย่านป้อมเพชร

นั่นทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่ได้สิ้นรากไร้ผู้คนเสียทีเดียว

krungkao11

:: แกะรอยหมู่บ้านนานาชาติ ::

ข้าพเจ้าไม่เหนื่อยหน่ายเลยที่จะตระเวนชมบ้านเมืองใหญ่โตบนเกาะที่ล้อมรอบด้วยแม่น้ำสามสายซึ่งกว้างสามเท่าของแม่น้ำแซน มีเรือสินค้าฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา จีน ญี่ปุ่น สยาม กับเรือบัลลังก์นับไม่ถ้วนแต่สิ่งน่าชมสุดคือบรรดาค่ายหรือหมู่บ้านต่างๆ ที่แต่ละชนชาติอาศัยอยู่สองฝั่งของเกาะนี้

ความรวมจากจดหมายเหตุรายวันของ ฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี (François–Timoléon de Choisy) บาทหลวงและนักเขียนชาวฝรั่งเศส ชวนจินตนาการบรรยากาศคึกคัก-สันติ

ชาวโปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาและมีส่วนสำคัญในการรบสมรภูมิเมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานที่ดินให้ตั้งชุมชนบริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ปัจจุบันเรียก “หมู่บ้านโปรตุเกส” ตั้งอยู่ตำบลสำเภาล่ม ทุกวันนี้ยังมี “โบราณสถานซานเปโตร” (โบสถ์เซนต์ดอมินิก) เนื้อที่ราว ๒,๔๐๐ ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นโบสถ์แรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย สะท้อนศูนย์รวมศรัทธาของชาวโปรตุเกสไกลบ้านยุคนั้น ดังจดหมายเหตุการเดินทางของบาทหลวง กี ตาชาร์ (Guy Tachard) มิชชันนารีคณะเยสุอิตและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งมายังอาณาจักรอยุธยาได้บันทึก

โบสถ์ฝรั่งของเราซึ่งตั้งอยู่ในค่ายหรือหมู่บ้านปอร์ตุเกสก็ประกอบพิธีทางศาสนาอย่างมโหฬารถึงสองครั้ง ครั้งแรกจัดอุทิศถวายแด่สมเด็จพระราชินีกรุงปอร์ตุเกสผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ครั้งหลังจัดอุทิศถวายแด่กษัตริย์ ดอม อัลฟองซ์ ผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้วดุจกัน…”

ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำของหมู่บ้านโปรตุเกสคือ “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ช่วงเวลาสำคัญที่ญี่ปุ่นเข้าสู่อยุธยาคือวิกฤตการเมืองที่รัฐบาลโชกุนกวาดล้างผู้นับถือคริสต์ด้วยโทษประหาร ชาวญี่ปุ่นที่นับถือคริสต์จึงอพยพมาเป็นทหารอาสาให้สยาม และขออาศัยตรงข้ามหมู่บ้านโปรตุเกสซึ่งนับถือคริสต์เหมือนกัน

“ที่จริงญี่ปุ่นกับอยุธยามีความสัมพันธ์มาตั้งแต่ยุคต้นอยุธยาแล้ว มีหลักฐานที่อยุธยาติดต่อทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รีวกีว ซึ่งเวลานั้นรีวกีวยังเป็นคนละอาณาจักรกับญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นที่นับถือคริสต์ในอยุธยาช่วงแรกก็คือชาวรีวกีวแต่ช่วงหลังก็มีชาวญี่ปุ่นด้วย จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน ‘ท้าวทองกีบม้า’ ที่คนไทยรู้จักก็เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นลูกหลานของคนที่อพยพลี้ภัยมาจากญี่ปุ่นนั่นล่ะ แล้วมาเป็นภรรยาของ ‘ฟอลคอน’ หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่รับราชการสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยสมเด็จพระเพทราชาท้าวทองกีบม้าได้รับตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ลือกันว่าพวกขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หรือขนมตระกูลทองทั้งหลายล้วนมีต้นทางจากฝีมือเธอ ซึ่งเป็นขนมของชาวโปรตุเกสที่นิยมทำจากไข่ใส่นมแล้วนำมาดัดแปลงร่วมกับขนมญี่ปุ่น ส่วนคนไทยสมัยนั้นไม่ได้นิยมดื่มนมแบบฝรั่งก็นำมาดัดแปลงอีกทีเพิ่มกะทิลงไปกลายเป็นขนมไทย”

อาจารย์ศานติเล่า ชาวญี่ปุ่นเองก็รับวัฒนธรรมคนอยุธยาไปเยอะ อย่างกระปุก เครื่องถ้วยเตาเผาแม่น้ำน้อย ชาวญี่ปุ่นก็ใช้เป็นอุปกรณ์ชงชา เพราะชอบงานปั้นมือที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าเครื่องถ้วยที่สวยสมบูรณ์ของจีน เศรษฐเนตร-นักวิชาการวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ฯ เสริมว่าเหล้ากลั่น “อาวาโมริ” ที่เก่าแก่ของชาวรีวกีวและถือเป็นเหล้าอันดับหนึ่งญี่ปุ่นก็ไม่เพียงใช้ข้าวสยามเป็นวัตถุดิบในการหมักก่อนนําไปกลั่น หากบรรจุใส่ไหของคนสยามชาวญี่ปุ่นยิ่งชอบเพราะเสริมให้เหล้ามีกลิ่นหอม

ติดกับหมู่บ้านญี่ปุ่นยังมี “หมู่บ้านฮอลันดา” น่าสนใจ

ที่จริงแม้ชาวโปรตุเกสจะเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา แต่ชาวฮอลันดาเป็นชนชาติที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้ง “สถานีการค้าแห่งแรก” ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นตึกสองชั้นอยู่บนที่ดินผืนใหญ่นอกเกาะเมือง ใช้เป็นคลังเก็บสินค้า นับเป็นสถานที่โอ่อ่าสุดของต่างชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร หมู่บ้านฮอลันดาจึงถือเป็นชุมชนใหญ่ที่ตั้งอยู่เลยวัดพนัญเชิงนิดเดียว

“ชาวดัตช์มีอิทธิพลมากในช่วงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แทบจะควบคุมการค้ากับต่างชาติทั้งหมดและบีบบังคับสยามในเรื่องประโยชน์ทางการค้าต่างๆ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นครองราชย์จึงดึงฝรั่งเศสเข้ามาคานอำนาจ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ต้องการผลประโยชน์จึงพยายามให้พวกขุนนางฝรั่งเศสมาสร้างป้อมต่างๆ ที่บางกอก หมายจะยึดพื้นที่ผูกขาดทางการค้าบ้าง เช่นที่เวลานั้นชาวดัตช์ยึดพื้นที่ทางพระประแดงอยู่ ซึ่งเป็นคนละที่กับพระประแดงสมัยนี้นะครับ ส่วนพวกบาทหลวงองค์สำคัญก็พยายามดึงพระนารายณ์ไปนับถือคริสต์ ดังนั้นเมื่อพระนารายณ์ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และบาทหลวงต่างมีเป้าประสงค์ต่างและคุยกันไม่รู้เรื่องจึงเกิดกรณีของพระนารายณ์กับฝรั่งเศสขึ้น”

ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะขยายความไปไกลเกินเกาะอยุธยา อาจารย์ศานติช่วยสำทับประเด็น

“การมีอยู่ของชุมชนชาวดัตช์ก็เป็นที่มาของรูปวาดแผนที่ผังเมืองเกาะอยุธยาที่ด้านบนกำกับคำว่าโยเดียนี่ล่ะครับ จิตรกรชาวชาวดัตช์ที่รับจ้างบริษัท VOC ก็คือบริษัทของชาวดัตช์ที่ว่า”

นอกจากชุมชนชาวตะวันตก หลักฐานจากแผนที่โบราณหลายชิ้นยังระบุตำแหน่งที่ตั้ง “ค่าย” ของชนชาติต่างๆ อย่างมอญ ญวน มลายู ฯลฯ รอบเกาะพระนครศรีอยุธยา

“ในบทละครนอกครั้งกรุงเก่าเรื่องนางมโนราห์จะมีบทที่กล่าวว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนอยุธยาทั้งสิ้น ๑๒ ภาษา พร้อมแจกแจงไว้ว่าชนชาติใดบ้าง สะท้อนภาพอยุธยาว่าเป็นเมืองท่าที่เจริญมากจึงมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่หนาแน่น ติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายตลอดเวลา ในกฎหมายตราสามดวงก็ระบุถึงตำแหน่งราชการต่างๆ ทั้งพระอัยการ นายทหารหัวเมือง อาสาสมัครต่างๆ ล้วนเป็นต่างชาติ อย่างอาสาญี่ปุ่น อาสาโปรตุเกส อาสาจาม บริเวณทิศใต้ของอยุธยาคือแหล่งอาศัยของกลุ่มชาวจามนี่ล่ะครับ ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณตำบลคลองตะเคียน มัสยิดโต๊ะตะเกี่ย มัสยิดอิสลามวัฒนาในตำบลสำเภาล่ม และแถบคลองคูจาม ที่เป็นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งใต้นอกเกาะเมือง อยู่ถัดทางตะวันออกวัดพุทไธศวรรย์ พวกเขามาจากรัฐจามปาทางภาคใต้ของเวียดนาม แต่เดิมชาวจามนับถือฮินดู พอเวียดนามโจมตีจามปาได้ ชาวจามก็หนีเข้าอยุธยาและเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ชนกลุ่มนี้จะเชี่ยวชาญการทำเรือรบ”

อาจารย์ศานติเสริมตอนที่สมเด็จพระนครินทราธิราชยกมาจากเมืองสุพรรณยึดอำนาจสมเด็จพระเจ้ารามราชาธิราชสำเร็จก็ส่งพระองค์มากักตัวอยู่ที่บริเวณปากคลองคูจามนี้ ภายหลังกลายเป็นย่านมุสลิม

ธีรนันต์ ช่วงพิชิต ชายเชื้อสายแขกเปอร์เชีย ผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี ร่วมเสริมความรู้การเดินทางของกลุ่มชาวแขกที่เข้ามาสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

“ในหนังสือ ‘สำเภากษัตริย์สุลัยมาน’ ที่เขียนด้วยภาษาอิหร่านมีแปลเป็นไทยแบบฉบับย่อโดย ดร.ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ เราจึงได้ทราบว่าชาวแขกอพยพโดยใช้เส้นทางคลองฉะไกรน้อย เป็นคลองขุดโบราณซึ่งปัจจุบันอยู่ในราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และในเกาะเมืองอยุธยานั้นจะมีขุนนางแขกอยู่สองกลุ่ม เรียกว่า ‘กรมท่าซ้าย-กรมท่าขวา’ อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีพระคลัง ควบคุมการค้าเเละความร่ำรวยอยุธยา กรมท่าซ้ายจะอยู่ฝั่งด้านในเกาะเมือง เป็นชุมชนชาวจีนและกลุ่มแขกที่อยู่ร่วมกับชาวจีนในพระนคร ส่วนกรมท่าขวาจะเป็นชุมชนชาวแขกอิหร่านกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่ชานพระนคร มีศักยภาพและมีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักจึงได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชาวแขกที่อยู่รอบขอบเมืองด้วย”

krungkao15

อาจารย์ธีรนันท์-ผู้สนใจเส้นทางอพยพซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์เล่าเกร็ดเพิ่ม เส้นทางคลองฉะไกรน้อยที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นระยะสั้น จากนั้นจะไหลไปสู่คลองตะเคียนทางด้านทิศเหนือ(คลองขุนละคอนไชย-ย่านโสเภณี) แล้วไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยไม่ต้องผ่านป้อมเพชร ซึ่งเป็นน้ำวน ฤดูน้ำหลากบริเวณนั้นจะเกิดอุบัติเหตุทางเรือบ่อย คลองนี้จึงสะดวกมากกว่า

“บริเวณนี้เรียกว่าเป็นถิ่นแขก มีชาวแขกอาศัยอยู่หนาแน่น ทั้งแขกจาม แขกตานี แขกมลายู แขกมักกะสัน มีฝรั่งกลุ่มเดียวที่อยู่บริเวณนี้คือโปรตุเกส คนไทยเรียกว่าแขกฝรั่งปัศตุกัน ชาวโปรตุเกสเป็นต่างชาติกลุ่มเดียวที่สื่อสารกับแขกได้ เนื่องจากในยุคสงครามครูเสดซึ่งเป็นสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์จากยุโรปและชาวมุสลิม โปรตุเกสกับสเปนอยู่ภายใต้อิทธิพลของแขกมานานกว่า ๗๐๐ ปี”

น่าเสียดายที่ปัจจุบันเส้นทางคลองตะเคียนทางด้านทิศเหนือ (คลองขุนละคอนไชย) เหลือเพียงคูสายเล็กๆ เป็นรอยต่อที่จะเข้าสู่วัดนักบุญยอแซฟ-โบสถ์คริสต์นิกายคาทอลิกแห่งแรกของไทย ตำบลสำเภาล่ม ซึ่งแทบดูไม่ออกแล้วด้วยซ้ำว่ายังเป็นเส้นทางน้ำเพราะมีพุ่มไม้ขึ้นหนาตา

อันที่จริงตลอดสองฝั่งเจ้าพระยาที่เรือผ่าน ปรากฏวัดนับไม่ถ้วน แต่ละแห่งสะท้อนที่มาชาติพันธุ์ ถ้าไม่ใช่การค้า อพยพ ก็กวาดต้อน อย่างวัดนางกุยที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกก็มีพระเจดีย์แบบศิลปะล้านนาอยู่ เพราะเป็นย่านที่ชาวชุมชนล้านนาถูกกวาดต้อนจากเชียงใหม่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมพระพุทธสิหิงค์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานที่อยุธยา

ร่องรอยของเส้นทางน้ำจึงมีความหมายมากกว่าตำนาน แต่เป็นร่องรอยอดีตของเมือง

:: หันต () า แลอยุธยาผ่านขนมชุมชน::

นอกจากขนมตระกูลทองตำรับชาววังของท้าวทองกีบม้า

“หันตรา” คืออีกขนมเด่นอวดหน้าตาเป็นแพไข่หุ้มถั่วกวน

krungkao17

สืบความกันว่าเป็นสูตรจาก “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้คิดทำ “ลูกชุบ” ขึ้นถวายเจ้านาย ยังเป็นผู้รวบรวมตำรับอาหารคาวหวานทั้งไทย-เทศไว้ชื่อตำราแม่ครัวหัวป่าก์ นับเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในสยามโดยมีเจ้าจอมพิศว์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

หันตรา จึงไม่เพียงมีไส้เป็นถั่วกวนเหมือนลูกชุบ ปั้นเสร็จนำไปชุบไข่แดงเหมือนเม็ดขนุนตำรับท้าวทองกีบม้า ยังน่าสนใจตรงเป็นขนมที่มีชื่อเดียวกับตำบลหันตรา ของอำเภอพระนครศรีอยุธยา

“สมัยเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์จากราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ดิฉันได้อ่านพงศาวดารที่มีชื่อหันตรา ทั้งทุ่งหันตรา คลองหันตรา และการสร้างวัดหันตราซึ่งเก่าแก่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขายังระบุว่าเมื่อจุลศักราช ๑๑๐๐ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนนาวาพยุหไปฉลองวัดหันตราและสมโภชอาราม ๓ วัน”

อัมรา หันตรา สตรีวัยเกษียณผู้ใช้นามสกุลเดียวกับชื่อตำบล แนะนำตนถึงเหตุที่ทำให้เธอสนใจศึกษาประวัติชุมชน นำมาสู่การประกอบอาชีพครูโรงเรียนวัดหันตรานาน ๒๐ ปี เพื่อส่งต่อเรื่องราวสู่รุ่นหลัง

krungkao18

เธอชวนชมกระบวนการทำขนมหันตราที่มีส่วนผสมของถั่วเขียวที่ต้องเราะเปลือกแล้วนำไปแช่น้ำสะอาดก่อนนำไปนึ่ง โดยฝึกให้เยาวชนทำจนชำนาญเป็นภูมิปัญญาติดตัว พลางเล่าสิ่งน่าสนใจของท้องถิ่น

“ที่ตำบลหันตรานี้มีคำขวัญตอนหนึ่งว่า ‘ถิ่นประสูติราชา นาหลวงอยุธยา ทหารกล้ากรุงศรี ขนมดีหันตรา…’ ก็เพราะที่นี่เป็นสถานประสูติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตอนที่มีการทำสำมะโนประชากรจึงได้ทราบว่ายังมีองค์ความรู้เหลืออยู่ในชุมชนพอสมควร ยิ่งค้นคว้าก็ได้หลักฐานทั้งเอกสารของนักวิชาการและราชกิจจานุเบกษาเพิ่มว่าในสมัยอยุธยาบริเวณ ‘บ้านดอกไม้’ ของทุ่งหันตราซึ่งตั้งอยู่นอกเกาะพระนครนี้เป็นพื้นที่นาหลวง ถือเป็นสถานเพาะปลูกสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จมาร่วมพิธีนวดข้าวทุกปี ข้าวอ่อนจะขนเข้าวังโดยลงเรือ ใช้เส้นทางคลองหันตราที่ไหลผ่านด้านหลังวัดหันตรานี่เอง”

และถั่วเขียวที่นำมาใข้ทำขนมหันตรา แต่เดิมก็ได้จากพืชที่ปลูกเพื่อบำรุงดินบนผืนนาของชุมชน

เธอว่าหลังนำถั่วเขียวเราะเปลือกไปนึ่งสุกแล้วจะนำไปปั่นกับน้ำตาลทรายและกะทิ ก่อนถ่ายลงในกระทะทอง กวนจนล่อนออกเป็นชิ้นเป็นแผ่นจากกระทะ พักให้พอเย็นลง แล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดสัก ๒ เซนติเมตร จากนั้นใช้นิ้วดันให้เป็นทรงสี่เหลี่ยม แล้วกดตรงกลางให้บุ๋มนิดหนึ่ง

krungkao19

อีกด้านหนึ่งลูกศิษย์ของครูอัมราสาธิตตีไข่แดงแล้วกรองน้ำเชื่อมเข้มข้น (ทำจากเปลือกไข่เป็ดกับน้ำตาลทราย ใส่น้ำลอยดอกไม้) ลงกระทะที่ตั้งไฟเดือด ก่อนปิดไฟให้น้ำเชื่อมนิ่ง ใช้ไม้จิ้มฟันเสียบถั่วกวน ชุบไข่แดง ใส่ในน้ำเชื่อมจนเต็มกระทะจึงเปิดไฟอ่อน กลับด้านให้ไข่สุกทั้งสองด้านแล้วตักออกแช่น้ำเชื่อมใส (เคี่ยวจากน้ำตาลและน้ำลอยดอกไม้ให้ละลายจนใส) พอเย็นก็ตักขึ้นพักสะเด็ดน้ำเชื่อม

การทำขนมหันตราใช้เวลาค่อนข้างนาน ครูอัมราจึงแบ่งกลุ่มให้เยาวชนทำไปเรื่อยๆ จะได้มีขั้นตอนจากแต่ละกลุ่มให้ชมครบกระบวน น่าสนุกที่ขั้นตอนทำไข่ตาราง นำไข่เป็ดทั้งฟองมาตีให้เข้ากันแล้วกรองให้เนียน ก่อนตั้งกระทะทรงแบน ทาน้ำมันบางๆ ใส่ไข่ลงในกรวย โรยในกระทะให้มีลักษณะเป็นตาราง พอสุกก็ตักออกมาพักให้เย็น แล้วค่อยตัดขอบไข่ตารางให้เป็นเหลี่ยมจัตุรัส วางถั่วกวนลงตรงกลาง พับขอบของไข่ตารางเข้าตรงกลาง แล้วพลิกอีกด้านขึ้นด้านบน

“ใครๆ ก็บอกว่าตารางไข่นี้ดูคล้ายเส้นฝอยทอง ความจริงมีวิธีทำต่างกัน ฝอยทองจะทำในน้ำเชื่อม แต่ตารางไข่ของขนมหันตราใช้วิธีทอดในน้ำมันพืช และหลังจากที่ทำเสร็จแล้วจะมีไข่ที่โรยเป็นตารางห่ออีกที เวลาห่อจะทำแบบเดียวกับการห่อสิ่งของคือวางให้เฉลียงจึงจะได้รูปสวย คนสมัยก่อนเปรียบเปรยเรื่องการห่อไข่ไว้เหมือนความรักที่แอบซ่อน เป็นขนมโบราณที่นิยมใช้ในงานหมั้น นัยหนึ่งก็แสดงถึงการตีตราจองว่าหญิงนั้นมีคู่หมั้นแล้ว…ลองชิมสิ ถือไปนั่งกินริมน้ำหลังวัดก็ได้ บรรยากาศดีมากเลย”

เธอตักแบ่งใส่กระทงใบตองส่งให้ พลางเล่าถึงบรรยากาศหลังวัด

“ปัจจุบันอาจเห็นเป็นคลองแคบ แต่สมัยก่อนคือสาขาหนึ่งของแม่น้ำป่าสักเก่าที่ไหลมาจากสระบุรีสู่ท่าเรือ ผ่านเข้าอรัญญิก นครหลวง แล้ววกนิดหนึ่งก่อนเข้าคลองหันตรา จากนั้นตีโค้งอ้อมลงมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากน้ำแม่เบี้ยท้ายวัดพนัญเชิง”

เรื่องนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เคยบันทึกในงานเขียนว่าคลองหันตราหรือแม่น้ำป่าสักสายเก่านี้เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมโยงโขง-ชี-มูล กับอ่าวไทยแต่ดึกดำบรรพ์ พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล ก็มีกล่าวถึงทุ่งหันตราคราที่พระเจ้าหงสาวดียกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์รัชกาลที่ ๑๕ แห่งอาณาจักรอยุธยาจึงโปรดฯ ให้ส่งกำลังไปตั้งค่ายรักษาที่ “บ้านดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา” ป้อมนี้ปรากฏในแผนที่แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนไหลลงสู่ทะเล วาดโดยเมอซิเออร์ เดอ ลามาร์ (M. de la Mare) ช่างใหญ่ประจำราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ บนแผนที่นั้นกำกับคำว่า “Wooden Fort” ตรงกับแผนที่ฝรั่งเศส (Carte du Cours du Menam Depuis Siam Jusqu à la Mer. Levé sur les Lieux par un Ingenieur François) เขียนว่า “Fort de Bois” หมายถึง ป้อมไม้

อาจโดยบังเอิญหรือใครเป่ามนตร์ควบคุมความคิด เมื่อเดินผ่านอุโบสถแบบมหาอุดของวัดหันตราที่เชื่อว่าเป็นสถานประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เพราะทุ่งหันตราในสมัยอยุธยาใช้เป็นสถานที่ตั้งทัพรับศึก ขนมหันตราที่หน้าตาเป็นตารางจึงถูกจินตนาการทาบด้วยแผนที่ผังเมืองกรุงศรีอยุธยาที่มีคูคลองเชื่อมโยงดุจตาข่าย ราวโมเดลย่อส่วนเกาะอยุธยาด้วยขนาดหนึ่งคำ

krungkao21

รสฉ่ำมัน หอมกลิ่นไข่ กลิ่นถั่วกวน เจือกลิ่นน้ำดอกไม้ ชวนนึกถึงมหานทีสามสายที่ล้อมอยุธยา ไม่เพียงไหลผ่านพาธาตุอาหารมาหล่อเลี้ยงชุมชนกสิกรรม ชาวแผ่นดินทองยังได้ใช้เป็นทางสัญจรหาสู่ ขนส่งค้าขาย จนอยุธยากลายเป็นเมืองท่า-ศูนย์การค้านานาชาติ

มีวันว่าง ลองหาโอกาสกางแผนที่ ล่องเรือ ก่อนกินขนมผสมวัฒนธรรม

สัมผัสประวัติศาสตร์กรุงเก่าอยุธยา-เมืองเกาะกลางแม่น้ำในมุมอร่อยๆ

ขอขอบคุณ พรรณี รุ่งสว่างผู้อำนวยการศูนย์สื่อศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอสสนับสนุนการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจร “ตามรอยอยุธยาจากสายตาฝรั่ง”