ปรีดา อัครจันทโชติ

electric
ปี ค.ศ. ๒๐๐๕ นับเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่ นับแต่เรื่อง ติ้งจวินซาน (Dingjun Mountain) เป็นต้นมา

แน่นอนว่าเวลา ๑ ศตวรรษย่อมนานพอที่จะจารึกเรื่องราวต่างๆ ลงไปได้มากมาย ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและซบเซา ผ่านยุคที่ภาพยนตร์มีสถานะเป็นศิลปะ การโฆษณาชวนเชื่อ และพาณิชยกรรม

หากจะกล่าวว่า Cinema Paradiso เป็นปริทรรศน์แห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ตะวันตก Electric Shadows (เตี้ยนอิ่งหวั่งซื่อ หรือ Dianying wangshi) ก็เป็นปริทรรศน์แห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่

เหมาต้าปิง (แสดงโดยเซี่ยอวี่) หนุ่มคนส่งน้ำตามบ้าน ขี่จักรยานล้มและถูกหญิงสาวสติไม่ดี (แสดงโดยฉีจงหยาง) ฟาดศีรษะจนสลบ เมื่อไปพบเธอขณะถูกตำรวจควบคุมตัว เขาก็ตกปากรับคำของเธอที่ขอให้ช่วยให้อาหารปลาในห้องพัก

ภายในห้องพักซึ่งแต่งเป็นห้องฉายหนังส่วนตัวนั้น เหมาต้าปิงได้พบบันทึกเล่มหนึ่ง และจากบันทึกเล่มนั้นเองที่ทำให้เขาได้ย้อนรำลึกถึงอดีตอันแสนสุขในวัยเยาว์

ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ อันเป็นยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่หนิงเซี่ย ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนอันเต็มไปด้วยทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา เจียงสเว่หัว (แสดงโดยเจียงอี้หง) ผู้หลงใหลในการแสดงและภาพยนตร์ได้คลอดลูกสาวออกมาโดยไร้พ่อของเด็ก

ชีวิตของหลิงหลิงผู้เป็นลูกสาว (แสดงโดยกวนเสี่ยวถง) เริ่มมีสีสันมากขึ้นเมื่อเหมาเสี่ยวปิง (แสดงโดยหวังเจิ้งเจีย) เด็กชายจอมแก่นย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน และเข้ามาพัวพันกับชีวิตของเธอ แต่ชีวิตสนุกสนานนั้นก็แปรเป็นความอ้างว้างหม่นเศร้าหลังจากที่เขาถูกส่งไปอยู่กับญาติที่ต่างเมือง และยิ่งเศร้ามากขึ้นเมื่อแม่ของเธอแต่งงานใหม่กับลุงพาน (แสดงโดยหลี่ไห่ปิน) คนฉายหนัง จนทั้งคู่มีลูกด้วยกัน

electric 1
เมื่อเกิดเหตุร้ายแรงโดยไม่คาดฝัน หลิงหลิงผู้แสนร่าเริงก็เปลี่ยนไป เธอหนีออกจากบ้านและใช้ชีวิตตามลำพังจนกลายเป็นหญิงสาวผู้เศร้าสร้อยและยังคงถวิลหาชีวิตในวัยเยาว์ด้วยการจำลองโรงฉายหนังไว้ในห้องพัก

คำว่า “Electric Shadows” ที่เป็นชื่อหนังนั้นแปลตรงตัวมาจากคำในภาษาจีนที่ว่า “เตี้ยนอิ่ง” (dianying) ซึ่งแปลว่าภาพยนตร์ โดย “เตี้ยน” แปลว่า ไฟฟ้า ส่วน “อิ่ง” แปลว่า เงา

ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดอยู่ในแนว Nostalgia หรือการโหยหาอดีต ทั้งโหยหาถึงอดีตอันสนุกสนานเต็มไปด้วยความสุขในวัยเยาว์ของตัวละคร และอดีตของภาพในแต่ละยุค ดังนั้นเราจึงได้เห็นหนังคลาสสิคของยุคทศวรรษที่ ๑๙๓๐ อย่าง Street Angel (หม่าลู่เทียนสื่อ) หนังยุคทศวรรษ ๑๙๖๐ อย่าง Zhang Ga the Soldier Boy (เสี่ยวปิงจางก่า) จนกระทั่งหนังในทศวรรษ ๑๙๘๐ อย่าง Xiaohua (เสี่ยวฮวา) และ The Alley (เสี่ยวเจีย)

สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ร่วม ภาพยนตร์เหล่านี้อาจเป็นเพียง “หนังเก่าๆ” แต่กับผู้ที่เคยดูหนังเก่าๆ เหล่านี้ การได้เห็นภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งจากโปสเตอร์จำนวนมากของภาพยนตร์คลาสสิกเหล่านี้ย่อมถือเป็นความอิ่มใจโดยแท้

ตัวละครสำคัญอย่างสเว่หัว หลิงหลิง และเหมาเสี่ยวปิง (หรือเหมาต้าปิงในตอนโต) ล้วนมีโชคชะตาที่ถูกร้อยรัดไว้กับภาพยนตร์อย่างไม่อาจแยกจากกันได้ สเว่หัวผู้เป็นแม่ของหลิงหลิงมีความฝันที่จะได้เป็นนักแสดง ฮีโร่ของเธอคือ โจวเสวียน ดาราสาวผู้โด่งดังแห่งทศวรรษ ๑๙๓๐ ซึ่งหนังที่เธอแสดงล้วนกลายเป็นหนังต้องห้ามในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ด้วยข้อหาว่าสนับสนุนความเชื่อเรื่องศักดินาและการแบ่งชนชั้นในสังคม

แม้จะมีความฝันและดูเหมือนว่าเธอมีความสามารถเพียงพอที่จะเจริญรอยตาม “แม่แบบ” ของเธอได้หากโอกาสและสถานการณ์อำนวย (เห็นได้จากฉากที่เธอร้องเพลงและแสดงละครบนเวที) แต่ทุกอย่างก็ต้องพังทลายลงเมื่อเธอตั้งท้องก่อนแต่งงาน และไอ้หนุ่มที่ทำเธอท้องก็หายไปจากชีวิตเธอในบัดดล

ส่วนหลิงหลิงนั้น โชคชะตาเล่นตลกให้เธอมีชะตาชีวิตเช่นเดียวกับหนังกลางแปลงของลุงพาน นอกจากเกิดที่โรงหนังแล้ว เธอยังได้รับการปลูกฝังความรักในภาพยนตร์จากผู้เป็นแม่ เมื่อถูกคนอื่นล้อว่าไม่มีพ่อ แม่ของเธอก็จัดแจงสร้างเรื่องว่าเธอไม่เพียงมีพ่อเหมือนคนอื่นเท่านั้น แต่พ่อของเธอยังเหนือกว่าพ่อของเด็กคนอื่นเพราะว่าเขาไม่ใช่ผู้ชายธรรมดา หากเป็นถึงดาราหนังผู้โด่งดัง

เมื่อหนังกลางแปลงเป็นที่นิยมของชุมชน ชีวิตเธอก็สดใสเบิกบาน เมื่อหนังกลางแปลงเสื่อมความนิยม ชีวิตเธอก็โดดเดี่ยวอ้างว้าง และเมื่อการฉายหนังกลางแปลงในหมู่บ้านถึงคราวต้องยุติลง มันก็ได้พรากเอาความสดใสร่าเริงไปจากเธอด้วยเช่นกัน

electric 2
สำหรับเหมาเสี่ยวปิง (แปลว่าทหารน้อยแซ่เหมา แต่อาจตีความชื่อของเขาไปไกลกว่านั้นได้ว่าหมายถึงทหารน้อยของประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตง) เด็กชายจอมแก่นผู้ปรากฏตัวในชุดทหารพร้อมรอยยิ้ม เขามุ่งมั่นและมีความสุขกับการได้เล่นเป็นทหารสู้กับกองทัพญี่ปุ่น ปัจจัยหนึ่งที่หล่อหลอมให้เด็กชายในยุคนั้นเกิดความฝันเช่นนี้ได้ก็เป็นเพราะภาพยนตร์ที่รัฐบาลใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ และเมื่อรู้จักกับหลิงหลิง เขาก็ได้เดินเข้าสู่โลกแห่งภาพยนตร์อย่างจริงจัง

เสี่ยวปิง (เปลี่ยนเป็นเรียกว่าต้าปิง หรือ ทหารใหญ่ เมื่อเป็นหนุ่ม) เป็นตัวละครที่รู้จักวิธีเอาตัวรอดและยอมผ่อนปรนให้แก่เรื่องต่างๆ เช่นยอมลงให้แก่เด็กเกเรที่เป็นเจ้าถิ่น ขณะที่หลิงหลิงซึ่งเป็นเด็กหญิงกลับแข็งกร้าว และไม่ยอมโอนอ่อนให้แก่สิ่งใด ดังนั้นเธอจึงไม่สนใจแม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นเด็กผู้ชายและมีจำนวนมากกว่า

เมื่ออะไรๆ ไม่เป็นดังที่เธอหวัง รวมถึงการเกิด “เหตุการณ์ร้ายแรง” บางอย่างซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่อง วิธีที่จะทำให้เธออยู่รอดได้ในสภาพจิตใจอันบอบช้ำนั้นก็คือการโหยหาถึงอดีตที่เป็นวันชื่นคืนสุข หลิงหลิงในวัยสาวจึงสร้างห้องฉายหนังที่มีอุปกรณ์ครบครัน ทั้งม้วนหนัง เครื่องฉาย จอหนัง ฯลฯ

แต่น่าเสียดายว่าบรรยากาศในห้องฉายหนังส่วนตัวของเธอกลับดูหม่นหมองและเดียวดาย ไม่เหมือนลานฉายหนังกลางแปลงของลุงพานผู้เป็นพ่อเลี้ยงที่แสนคึกคักมีชีวิตชีวา

เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๗๖) อันเป็นยุคที่สังคมสับสนวุ่นวาย และคนจีนต่างปวดร้าวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้อย่างมาก เกี่ยวกับด้านภาพยนตร์นั้น การเรียนการสอนและการผลิตภาพยนตร์ถือเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนทั่วไป คงสงวนไว้เฉพาะผู้สร้างจำนวนน้อยเท่านั้น และเนื้อหาก็หนีไม่พ้นการโฆษณาชวนเชื่อให้รักชาติ ต่อต้านศัตรู (ญี่ปุ่น) เชิดชูบทบาทสตรี เชื่อมั่นในผู้นำและพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงพลังของมวลชน

แม้เนื้อหาจะถูกจำกัด แต่ผู้คนก็ยังยินดีเสพสื่อบันเทิงเพียงหนึ่งเดียวของยุคสมัย

เมื่อประธานเหมาเสียชีวิต และแก๊งสี่คนผู้เป็นเจ้าของนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมถูกกำจัดไป การเมืองจีนก็เข้าสู่ยุคของเติ้งเสี่ยวผิงที่มีนโยบายเปิดประเทศ ข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับศิลปะถูกยกเลิก

ท่าทีของเหล่าเพื่อนบ้านที่มีต่อครอบครัวของหลิงหลิง จากที่เคยมึนตึงในช่วงแรก ก็เปลี่ยนไปเป็นมิตรภาพตามประสาคนในชุมชนเดียวกัน รายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ จึงจะรู้เรื่อง

เสี่ยวเจียง (Xiao Jiang) ผู้กำกับสาวซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลผลิตของ Beijing Film Academy สร้างตัวละครหลิงหลิงให้เกิดร่วมยุคเดียวกับเธอ และนำเอาความทรงจำวัยเยาว์มาใช้กับภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเอง ภาพยนตร์ที่กล่าวถึงหนังในยุคที่ไม่มีดีวีดี หรือแม้แต่โทรทัศน์ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต

ความที่เป็นเรื่องของ “หนังกลางแปลง” นี้เองที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสน่ห์เฉพาะตัว และหลุดพ้นไปจากคำครหาที่ผู้คนมักนำไปเปรียบเทียบกับ Cinema Paradiso ของผู้กำกับ จุยเซ็ปเป ทอร์นาทอเร (Giuseppe Tornatore) อันเป็นต้นฉบับของหนังที่เล่าถึงคนรักหนังและประวัติศาสตร์หนัง

ความที่เป็นเรื่องของ “หนังกลางแปลง” นี้เองที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการชมมหรสพแบบจีน (รวมถึงมหรสพของชาวบ้านแบบไทยอย่างเช่นลิเกหรือลำตัดด้วย) อันแตกต่างไปจากวัฒนธรรมการชมมหรสพแบบตะวันตกที่มากพิธีรีตอง

electric 3
หากจะวิเคราะห์ตามแนวคิดของศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ต้องบอกว่ามันเป็นการดูหนัง หรือ “โรงหนัง” ในบริบทของสังคมที่ผู้ชมไม่ได้มีเป้าหมายเพียงการมาชม หากยังได้มาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ได้ตรวจสอบข้อมูลว่าตนตกข่าวร้อนประเด็นใดของหมู่บ้านไปหรือไม่ และที่นั่งคนดูก็มิได้เป็นเก้าอี้ติดตรึงกับพื้นอย่างในโรงหนังสมัยใหม่

มันเป็นโรงหนังในบริบทของสังคมที่การเข้าโรงหลังจากหนังฉายไปแล้วถือเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นเหตุให้ผู้ชมคนอื่นจ้องเขม็งหรือก่นด่าสาปแช่ง การส่งเสียงดังในขณะชมก็เป็นคนละเรื่องกับการ “ไม่มีวัฒนธรรมในการชมภาพยนตร์” และการชมภาพยนตร์ไม่มีเรื่องของ “ชนชั้น” เข้ามาเกี่ยวข้อง

หนังกลางแปลงในเรื่อง Electric Shadows นี้จึงมีบทบาทในฐานะการเป็น “ศูนย์กลางชุมชน” ซึ่งมิได้มีค่าเพียงแค่เป็น “สถานที่ฉายหนัง” เฉกเช่นหนังจีนเรื่อง Shower ที่โรงอาบน้ำสาธารณะแบบดั้งเดิมมิได้เป็นแค่ “สถานที่อาบน้ำ” การเปลี่ยนแปลงโรงอาบน้ำให้ทันสมัยมากขึ้น อำนวยความสะดวกมากขึ้น มิได้แปลว่าลูกค้าที่มาอาบน้ำจะมีความสุขมากขึ้น

หนังกลางแปลงใน Electric Shadows ก็เป็นเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับเรื่อง Cinema Paradiso ฉากที่ลุงอัลเฟรโดหันเครื่องฉายหนังไปยังกำแพงตึก เพื่อให้ชาวบ้านได้ชมภาพยนตร์ ณ เวลานั้นโรงภาพยนตร์จึงมีสถานะเป็นสมบัติของชุมชนอย่างแท้จริง

หากพิจารณาในแง่นี้แล้วก็หมายความว่าถ้าสื่อบันเทิงชนิดอื่นสามารถดำรงบทบาทเป็น “ศูนย์กลางชุมชน” ได้อย่างที่หนังกลางแปลงเป็น ก็หมายความว่าสื่อบันเทิงชนิดนั้นจะมีบทบาทและสถานะเท่าเทียมกับภาพยนตร์ทุกประการเช่นนั้นหรือ?

แน่นอนว่าคำตอบก็คือ “ไม่”

นอกจากบทบาทการเป็นศูนย์กลางชุมชนแล้ว หนังกลางแปลงยังมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สื่อบันเทิงชนิดใหม่อย่างโทรทัศน์ไม่มี

นอกจากจอใหญ่กว่ากันอย่างเทียบไม่ติดแล้ว การฉายด้วยเครื่องฉาย เห็นม้วนเซลลูลอยด์ค่อยๆ หมุนพร้อมกับเสียงเครื่องทำงาน รวมไปถึงการที่ผู้ชมเล่นเงาบนจอหนัง ก็ยังเป็นสีสันของสื่อบันเทิงประเภทนี้

หนังกลางแปลงยังมีความยืดหยุ่นโดยการรอให้ผู้ชมหนาตาก่อนค่อยฉาย สามารถเปลี่ยนโปรแกรมได้ตามคำเรียกร้องของผู้ชม นี่จึงทำให้หนังกลางแปลงเป็นสื่อที่คนดูมีความใกล้ชิดกับคนฉายหนัง และไม่ได้ตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ (passive) เพียงอย่างเดียว นี่เป็นลักษณะต่างจากที่ผู้ชมโทรทัศน์ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเตรียมพร้อมรอเวลารายการมา และไม่อาจเลือกได้ว่าทางสถานีจะนำรายการใดมาออกอากาศ

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อภาพยนตร์หมดบทบาท.oการเป็นสื่อบันเทิงของชุมชน โดยมีโทรทัศน์เข้ามาแทนที่ ความสุขของหลิงหลิงจึงดับสลายตามไปด้วย

สิ่งที่ควรกล่าวถึงอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือ การแสดงและการคัดเลือกตัวแสดง เซี่ยอวี่ซึ่งรับบทเป็นเหมาต้าปิงจัดว่าเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในบรรดาดาราจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นเดียวกัน และนอกจาก Electric Shadows แล้ว ก่อนหน้านี้เขายังเคยเล่นหนังที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์มาก่อน นั่นคือเรื่อง Shadow Magic ที่เล่าเรื่องชีวประวัติของคนจีนคนแรกในประวัติศาสตร์การถ่ายหนังและฉายหนัง

electric 4
เขาโด่งดังขึ้นมาจากภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเองคือ In the Heat of the Sun ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ ซึ่งกำกับโดยเจียงเหวิน ดาราและผู้กำกับที่ได้ชื่อว่าเป็น “จักรพรรดิแห่งวงการภาพยนตร์จีน”

เซี่ยอวี่แสดงหนังเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม และได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองเวนิส ความที่เขาแสดงเป็นตัวละครหม่าเสี่ยวจวินในช่วงวัยรุ่น (ขณะที่เจียงเหวินรับบทเป็นตัวละครเดียวกันในช่วงวัยกลางคน) ประกอบกับฝีมือการแสดงที่โดดเด่น ทำให้เซี่ยอวี่ได้รับคำยกย่องว่าเป็น “เจียงเหวินน้อย”

อย่างไรก็ตาม แม้เซี่ยอวี่จะโดดเด่นมากจากภาพยนตร์หลายๆ เรื่องก่อนหน้านี้ แต่สำหรับ Electric Shadows (ซึ่งเขามีบทไม่มากเท่าไร) แทบจะเรียกว่าเขาถูกบทบาทการแสดงของพ่อหนูหวังเจิ้งเจียที่แสดงเป็นเหมาเสี่ยวปิงกลบเสียหมด

โลกของเหมาเสี่ยวปิงที่ถูกถ่ายทอดผ่านพ่อหนูคนนี้ คือโลกของเด็กชายที่แม้จะพบพานความทุกข์โศกจากพ่อจอมโหดและแม่เลี้ยงใจร้าย แต่โลกของเขาก็ยังเป็นโลกที่สวยงาม และสามารถหาความสุขจากสิ่งอื่นรอบข้างได้เป็นการชดเชย ไม่ว่าจะโดยการสมมุติตัวเองเป็นทหาร หรือการชมภาพยนตร์และมองสิ่งต่างๆ ผ่านกล้องส่องทางไกล

ความน่าทึ่งอีกอย่างเกี่ยวกับพ่อหนูคนนี้ก็คือ เขาช่างมีหน้าตาละม้ายเซี่ยอวี่เสียเหลือเกิน จนน่าตกใจว่าฝ่ายคัดเลือกนักแสดงไปหาเด็กมาจากที่ไหน

แม้จะไม่ควรได้รับคำชื่นชมในแง่ความเป็น “ต้นฉบับ” (original) และความลึกซึ้งบางประเด็นเมื่อเทียบกับ “สวรรค์ของหนัง” ในฉบับอิตาลี แต่ “เงาไฟฟ้า” ในฉบับจีนก็มีค่าควรแก่การชมเชยในฐานะการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ในบริบทของตะวันออก

และที่สำคัญ มันคือการเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่มีอายุครบ ๑ ศตวรรษ

ขอขอบคุณ : มงคลซีเนม่า ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบเรื่อง Electric Shadows