สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงานและถ่ายภาพ

ayudhaya01

วัดไชยวัฒนาราม ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกคุกคามจากนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นจนทางการต้องขึ้นป้ายตักเตือน

ปลายปี ๒๕๕๐ ปรากฏข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีเนื้อความไปในทำนองเดียวกันว่า อยุธยาอาจถูกพิจารณาถอดถอนสถานะการเป็นมรดกโลก สร้างความตื่นตระหนกแก่สาธารณชนจนส่งผลให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมศิลปากร ต่างออกมายืนยันว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังไม่ถูกถอดถอนสถานะมรดกโลกแต่อย่างใด แม้หลายฝ่ายจะแสดงความเป็นห่วงเรื่องการพัฒนาที่รุกเข้าไปยังเมืองเก่าแห่งนี้ก็ตาม

เมื่อ สารคดี และทีมงานจากยูเนสโก สำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (กรุงเทพฯ) ได้ออกสำรวจพื้นที่ ๑,๘๑๐ ไร่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ก็พบว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โบราณสถานบางแห่งเต็มไปด้วยร้านค้าจนส่งผลต่อทัศนียภาพ บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่ยูเนสโกนำป้ายมรดกโลกมาติดไว้ก็อยู่ในตำแหน่งไม่เหมาะสม นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งตลาดนัดขายของทุกสัปดาห์จนบดบังป้ายยูเนสโกกลืนหายไป

“อยุธยามีปัญหาการทับซ้อนกันระหว่างเมืองใหม่กับเมืองเก่า”เมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเล่าให้ฟัง และยังชี้ว่าการจัดการพื้นที่นี้ต้องคำนึงถึงคนในพื้นที่ด้วย คนที่อยู่ในเกาะเมืองนั้นมิใช่ผู้บุกรุก แต่เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลไทยยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เชิญชวนพวกเขาเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อฟื้นชีวิตให้แก่เมืองต่างหาก

เมื่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมประเภท “อนุสรณ์สถาน”(Monuments) เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มิได้นิ่งเฉย พยายามจัดการปัญหาเรื่องคนในพื้นที่มาตลอด ดังเช่นในปี ๒๕๓๔ กรมศิลปากรเสนอ “แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และได้รับอนุมัติในปี ๒๕๓๖ ในแผนมีโครงการย่อย ๘ ด้าน ได้แก่ งานโบราณคดี งานปรับปรุงสาธารณูปโภค งานปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ งานจัดการชุมชนในเขตอุทยานฯ งานย้ายโรงงานอุตสาหกรรม งานข้อมูลสำหรับการท่องเที่ยว งานฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น และงานพัฒนาบุคลากร โดยโครงการเหล่านี้จะกระจายทำตามจุดสำคัญในเขตอุทยานฯ และเกาะเมืองพื้นที่กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ ภายใต้วงเงิน ๒,๙๔๖.๗๘ ล้านบาท

ayudhaya02

นอกจากภัยมนุษย์ วัดไชยวัฒนารามยังเสี่ยงต่ออุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก แนวอิฐสีแดงที่เห็นอยู่ด้านล่างในภาพจะถูกถอดออกเพื่อใช้เป็นช่องเสียบกำแพงอเนกประสงค์ป้องกันน้ำท่วม

ผลการดำเนินงานช่วงปี ๒๕๓๗-๒๕๔๔ เมธาดลสรุปว่า งานโบราณคดีค่อนข้างประสบความสำเร็จ งานสาธารณูปโภคปรับปรุงได้เฉพาะเขตโบราณสถาน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทำได้ระดับหนึ่งเนื่องจากพื้นที่กว้าง แผนจัดการชุมชนทำได้เกือบทั้งหมด แผนการย้ายโรงงานอุตสาห-กรรมประสบความสำเร็จ และอีก ๓ แผนคือ การเตรียมข้อมูลด้านการท่องเที่ยว งานฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น และงานพัฒนาบุคลากรทำได้จำกัดเนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

“ปัญหาใหม่ที่พบคือการพัฒนาสาธารณูปโภคอันส่งผลให้มีการถมคลอง สร้างอาคาร มีร้านค้าหาบเร่จำนวนมาก ส่งผลต่อภูมิทัศน์ เดิมกรมศิลปากร ผู้ว่าราชการจังหวัด และเทศบาลได้ร่วมกันจัดระเบียบร้านค้าโดยเฉพาะหน้าวิหารพระมงคลบพิตรที่มีกว่า ๑๐๐ ร้าน แต่พอส่งไม้ต่อให้เทศบาลนครดูแลเขาก็กลัวเสียคะแนนเสียง ปล่อยร้านใหม่ๆ เข้ามาอีก จนตอนนี้มีกว่า ๔๐๐ ร้าน”

อเนก สีหามาตย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๓ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า “ที่ผ่านมาพยายามขอร้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะทำโครงการอะไรขอให้มาปรึกษากันก่อน และเราไม่ได้มีเจตนาจะขัดขวางการพัฒนา”

แม้หลายคนจะกำลังวิตก แต่เมธาดลยืนยันว่าอย่างไรอยุธยาก็ยังไม่ถึงกับถูกถอนสถานะมรดกโลกตามข่าว “เพราะตามขั้นตอนของยูเนสโก หน้าที่ประเมินนั้นอยู่ที่ผู้แทนของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) และเขายังต้องดูรายงานของเราและข้อมูลด้านอื่นๆ ด้วย ถ้าปัญหาไม่มากก็แค่วิจารณ์ให้ไปแก้ ถ้ามากเขาจะดูว่ารัฐบาลสนใจแก้ปัญหาหรือไม่ ถ้ารัฐบาลนั้นๆ นิ่งเฉย มรดกโลกนั้นก็จะถูกนำเข้าบัญชีรายชื่อมรดกโลกในภาวะอันตราย (List of World Heritage in Danger) โดยเรามีเวลา ๓ ปีในการปรับปรุง ถ้าทำไม่ได้ถึงจะถูกคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกถอดถอน”

แน่นอนการถูกถอดถอนสถานะมรดกโลกจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในระดับนานาชาติ และยังส่งผลไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลงในอนาคตด้วย

ayudhaya03

ร้านค้าตั้งแผงขายของยาวมาจนถึงหน้าวิหารพระมงคลบพิตรส่งผลต่อทัศนียภาพและโบราณสถานในพื้นที่

ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐ ระบุว่า ทั่วโลกมีแหล่งมรดกโลกทั้งสิ้น ๘๕๑ แห่งใน ๑๔๑ ประเทศ ถูกขึ้นบัญชีว่าอยู่ในภาวะอันตราย ๓๑ แห่ง ที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการประกาศพื้นที่มรดกโลกมีแห่งเดียวที่ถูกถอดถอนคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอารา-เบียนออริกซ์ (The Arabian Oryx Sanctuary) มรดกโลกทางธรรมชาติของโอมาน ซึ่งรัฐบาลโอมานเสนอขอถอดถอนเองเมื่อปี ๒๕๕๐ เนื่องจากต้องการขุดน้ำมันใต้บริเวณนั้นขึ้นมาใช้ ทำให้ต้องลดพื้นที่อนุรักษ์ลงกว่าร้อยละ ๙๐

ในกรณีอยุธยา สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระมองว่า มาตรการที่ภาครัฐทำเพื่อแก้ปัญหาขณะนี้ยังไม่พอ เพราะต้นเหตุก็คือคนในพื้นที่กระทั่งคนทั่วไปยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจคำว่า “มรดกโลก” น้อยคนจะรู้ว่าการที่ยูเนสโกประกาศให้อยุธยาเป็นมรดกโลกเพราะเป็นเมืองที่มีแม่น้ำ ๓ สายล้อมรอบ ซึ่งแสดงถึงความสามารถของมนุษย์ในการตั้งถิ่นฐานบนที่ราบลุ่มแล้วสร้างอารยธรรมขึ้นมา ส่วนโบราณสถานที่มีมากมายนั้นเป็นเรื่องรองเท่านั้น

“การเป็นมรดกโลกควรมีผลต่อทัศนคติของคนในพื้นที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง อาจเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ให้อยุธยาเป็นเมืองอนุรักษ์ ปลูกต้นหมันไว้เต็มเมือง เพราะในประวัติศาสตร์ตอนสร้างกรุงศรีอยุธยามีบันทึกว่าพระเจ้าอู่ทองทรงขุดดินใต้ต้นไม้ชนิดนี้แล้วเจอหอยทักษิณาวัตรอันเป็นสิ่งมงคลทำให้คนที่มาเที่ยวอยุธยาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทั้งยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อมกัน ถ้ายังนึกไม่ออกก็มีตัวอย่างคล้ายกันที่หลวงพระบาง คนที่นั่นใช้ใบตองใส่ข้าวเหนียวไม่ใช้ถุงพลาสติกถามเขาจะได้คำตอบว่าเพราะเป็นเมืองมรดกโลก ผมอยากให้คนของเรารู้สึกแบบนั้นบ้าง

“ปัญหาคือเรายังไม่เปลี่ยนทัศนคติทำให้ไม่หวงแหน ดังนั้นท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วม เรื่องสัดส่วนนั้นต้องแล้วแต่พื้นที่ ที่ไหนชาวบ้านตื่นตัวและฉลาดราชการต้องเคารพการตัดสินใจถ้าเขาไม่มีความรู้ต้องช่วยชี้ทาง และถ้าไม่สำเร็จต้องใช้กฎหมายควบคุม ขณะนี้มีข่าวลือว่าเทศบาลจะสร้างหอคอยกลางเกาะเมืองเพื่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูโบราณสถานในมุมสูงซึ่งจะทำลายภูมิทัศน์อย่างรุนแรง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ต้องมีมาตรการใช้ไม้แข็งจัดการ”

ขณะที่ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอยุธยาอีกท่านได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “มองในแง่ความเป็นมรดกโลกของอยุธยาก็คือแม่น้ำลำคลอง ทั้งในเกาะ นอกเกาะ และรอบเกาะ ทั้งโบราณสถาน วัดวาอาราม และอะไรก็ตาม เราอาจจะมองในแง่ที่เราทำอะไรก็ได้ แต่ต้องกำหนดจุด จุดไหนต้องรักษาต้องปรับปรุง บางจุดอาจต้องปล่อยไปเลย จะมีศูนย์การค้ามีอะไรก็ปล่อยไปแต่ให้อยู่ในเขตที่กำหนด ผมเชื่อว่ายังไม่สายถ้าคนในท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา จังหวัด หน่วยงานจากส่วนกลางจะรวมตัวกันทำเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าอะไรก็ตามไม่ยั่งยืนเท่ากับการศึกษา สร้างคนที่มีความรักความเข้าใจ ถ้ารักและเข้าใจก็จะรักษาได้ง่ายมาก”

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่บรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างออกมาให้ข่าวว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องหาบเร่แผงลอยหรือการพัฒนาเมืองนั้น เป็นข้อกล่าวหาของกรมศิลปากรเพื่อชะลอการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บางทีคำถามว่าจะฝากอนาคตของมรดกโลกอย่างอยุธยาไว้ในมือใคร คงเป็นเพียงเสียงกระซิบ จนกว่าจะถูกขึ้นบัญชีรายชื่อมรดกโลกในภาวะอันตรายแล้วนั่นแหละเราถึงจะได้ยินกัน ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็คงสายเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้ อนาคตของอยุธยาจะไปในทิศทางใด วันนี้จึงขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการมรดกโลกได้จัดแบ่ง “แหล่งมรดกโลก”ออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้ 

๑. มรดกทางวัฒนธรรม
อนุสรณ์สถาน (Monuments) คือ ผลงานสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของโบราณคดีธรรมชาติ เช่น จารึกในถ้ำ ซึ่งมีคุณค่าโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ในระดับสากล โดยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการจัดอยู่ในประเภทนี้

กลุ่มอาคาร (Groups of buildings) คือ กลุ่มอาคารที่เชื่อมหรือเกี่ยวเนื่องกันอย่างสอดคล้องกลมกลืนโดยลักษณะทางสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ มีคุณค่าโดดเด่นทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ในระดับสากล โดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัยได้รับการจัดอยู่ในประเภทนี้

แหล่ง (sites) คือ ผลงานที่เกิดจากมนุษย์และธรรมชาติ บริเวณอันรวมถึงแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ในระดับสากล โดยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจัดอยู่ในประเภทนี้

๒. มรดกทางธรรมชาติ
คือ สภาพธรรมชาติที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพที่มีคุณค่าเด่นชัดในด้านสุนทรียศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภูมิ-ประเทศซึ่งได้รับการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์ที่ถูกคุกคาม มีคุณค่าโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่จัดอยู่ในประเภทนี้

๓. แหล่งผสม (Mixed Sites)
คณะกรรมการมรดกโลกเพิ่งบัญญัติขึ้นมาใหม่ หมายถึงแหล่งที่มีความสำคัญทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมรวมกัน ปัจจุบันทั่วโลกมีทั้งหมด ๒๕ แห่ง