จักรพันธุ์ กังวาฬ

buddhabar01

บุดดาบาร์ (Buddha Bar) คือกิจการบาร์และภัตตาคารที่ถือกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส ก่อนขยายแฟรนไชส์เปิดสาขาในเมืองใหญ่ของประเทศอื่น ๆ เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก ฯลฯ โดยมีเอกลักษณ์คือนำพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาใช้ตกแต่งสถานที่

เมื่อปลายปี ๒๐๐๘ บุดดาบาร์เพิ่งเปิดสาขาใหม่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับลูกหลานคนรวยและชนชั้นสูง แต่กลับถูกประท้วงต่อต้านจากชาวพุทธที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ

บุดดาบาร์ สาขากรุงจาการ์ตา ตกแต่งภายในให้มีบรรยากาศคล้ายศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการประดับพระพุทธรูปเรียงรายบนผนัง โดยจุดเด่นคือพระพุทธรูปปางสมาธิสีทองอร่ามขนาดใหญ่ สูง ๕ เมตร ประดิษฐานบริเวณชั้น ๒

ชาวพุทธส่วนหนึ่งไปรวมตัวกันประท้วงด้วยการสวดมนต์และเผากำยานบริเวณด้านนอกบาร์ รวมทั้งเข้าแจ้งความต่อตำรวจว่ากิจการนี้กระทำการดูหมิ่นศาสนา

“พระพุทธเจ้าคือพระศาสดาที่พวกเราชาวพุทธให้ความเคารพนับถือ” ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าว “แต่สำหรับพวกเขา (เจ้าของกิจการ) พระพุทธเจ้าเป็นเพียงสิ่งประดับสถานที่เท่านั้น และที่เลวร้ายที่สุดคือการนำพระพุทธรูปมาไว้ในสถานที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้”

buddhabar02

นักศึกษากว่า ๒๐๐ คนที่นับถือศาสนาพุทธมาชุมนุมต่อต้านบุดดาบาร์ในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ.๒๐๐๙

นอกจากนั้น กิจการบุดดาบาร์ที่อินโดนีเซียยังโดนข้อกล่าวหาเรื่องความไม่โปร่งใสและเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชัน เพราะเปิดบริการในอาคารเก่าแก่ที่เคยเป็นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งต่อมาใช้เงินภาษีประชาชนในการบูรณะซ่อมแซม ทว่าสภาเทศบาลกรุงจาการ์ตากลับอนุมัติให้เอกชนทำสัญญาเช่าซื้อเพื่อเปิดบริการธุรกิจ

หุ้นส่วนผู้เป็นเจ้าของบุดดาบาร์คือลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี และสุทิโยโซ นายกเทศมนตรีกรุงจาการ์ตาคนก่อน ซึ่งเป็นผู้อนุมัติงบประมาณซ่อมแซมตึกดังกล่าว

ขณะที่ เรย์มอน ไวซาน เจ้าของกิจการ George V Eatertainment group บริษัทแม่ของบุดดาบาร์ในฝรั่งเศส กล่าวถึงแฟรนไชส์ในอินโดนีเซียว่าเกิดกรณีอื้อฉาวเพราะถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ ”ชาวพุทธน่าจะใจเย็นหน่อย มันเป็นเรื่องธรรมดาที่พบพระพุทธรูปในร้านอาหาร เพราะจะนำความโชคดีมาสู่ทุกคน” เขาให้สัมภาษณ์นักข่าว

บุดดาบาร์เปิดกิจการแห่งแรกที่กรุงปารีส ช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ ส่วนอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ดำเนินกิจการแฟรนไชส์เป็นลำดับที่ ๔ ตามหลังประเทศอียิปต์ เลบานอน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทุกวันนี้บุดดาบาร์ยังไม่ได้เข้าไปเปิดบริการในประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

ราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินโดนีเซียประมาณ ๒๓๔ ล้านคน นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ ฮินดู และลัทธิขงจื๊อ

สุนาร์ดโจ สุมาร์โกโน ทนายความของกลุ่มต่อต้านบุดดาบาร์ (Anti-Buddha Bar Forum) กล่าวว่าไม่เฉพาะชาวพุทธที่ไม่พอใจ แต่คนศาสนาอื่นรวมทั้งชาวมุสลิมเริ่มจะเข้ามาร่วมการประท้วงอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

”อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป มุสลิมบาร์ หรือจีซัสบาร์” เขาเรียกร้อง “โปรดอย่านำศาสนามาใช้ในเรื่องแบบนี้อีก เพราะมันเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก”