เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

redshirt01
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

นับตั้งแต่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงปลายปี ๒๕๔๘ โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (People’s Alliance for Democracy -PAD) กระทั่งเกิดรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ที่อ้างเหตุผลเพื่อยุติความแตกแยกในสังคม หากแต่ตลอดช่วงเวลา ๔ ปีหลังจากนั้น สังคมไทยกลับแตกแยกอย่างสุดขั้ว แบ่งเป็นสีแดง เหลือง น้ำเงิน ฯลฯ นอกจากกลุ่มพันธมิตรฯ (ใช้สีเหลืองและมือตบเป็นสัญลักษณ์) ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลทักษิณ ยังเกิดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (National United Front of Democracy Against Dictatorship-UDD) ที่ใช้เสื้อสีแดงและตีนตบเป็นสัญลักษณ์ ออกมาต่อต้าน “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ที่แทรกแซงการเมือง

มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศ เฉพาะการชุมนุมครั้งใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๑ มีเหตุการณ์ยึดสถานีโทรทัศน์ ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน โดยผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี ๒๕๕๒ ช่วงสงกรานต์ การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ทำให้เกิดการจลาจลในกรุงเทพฯ และล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา

จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายทั้งที่ยืนยันได้และยืนยันไม่ได้ ไม่นับความแตกแยกระหว่างเพื่อน แฟน คนในครอบครัว เจ้านาย-ลูกน้อง ที่ระบาดไปทั่วทุกมุมของสังคมไทย

มีนาคม ๒๕๕๓ อุณหภูมิการเมืองเข้าสู่จุดเดือดอีกครั้ง เมื่อ นปช. ประกาศชุมนุมใหญ่กดดันให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ โดยก่อนถึงกำหนดชุมนุมในวันที่ ๑๔ มีนาคม รัฐบาลตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๐ ครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑลระหว่างวันที่ ๑๑-๑๓ มีนาคม เตรียมกำลังทหาร ตำรวจ ตั้งด่านตรวจหลายจุดในเมืองและถนนสายหลักที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ วางกำลังดูแลสถานที่สำคัญอย่างเข้มงวด ทำให้ความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงแพร่ขยายไปทั่ว

redshirt02
วันที่ ๑๖ มีนาคมท แกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมเจาะเลือดคนละ ๑๐ ซี.ซี.

redshirt03

วันที่ ๑๗ มีนาคม ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเทเลือดประท้วง

๑๒-๑๙ มีนาคม : ระดมพล เจาะเลือดประท้วงรัฐบาล

มีความเคลื่อนไหวสำคัญในวันที่ ๑๒-๑๕ มีนาคม โดยช่วงนี้มีการระดมคนจำนวนมากเข้ากรุงเทพฯ และประกาศจุดยืนการชุมนุมครั้งนี้ว่ามีขึ้นเพื่อ “โค่นล้มอำมาตยาธิปไตย” และเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา

ตั้งแต่ ๑๒ มีนาคม มีการชุมนุมย่อย ๕ จุดทั่วกรุงเทพฯ คือ วงเวียนหลักสี่ วงเวียนใหญ่ แยกดินแดง ลานพระบรม-ราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๖ (สวนลุมพินี) และแยกบางนา ตั้งแต่เวลาราว ๑๒.๐๐ น. จุดสำคัญคือพื้นที่ที่มีความหมายทางการเมือง อาทิ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (หลักสี่) กรุงเทพฯ อนุสาวรีย์พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น

หลังจากมีกิจกรรมการบวงสรวง เคลื่อนขบวนและปราศรัย ผู้ชุมนุมทั้ง ๕ จุดก็สลายตัวไปในช่วงเย็นวันเดียวกัน ส่วนผู้ชุมนุมตามจุดนัดพบต่างจังหวัดก็ทยอยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

การจราจรบนถนนราชดำเนินนอกและกลางยุติลงสิ้นเชิงในบ่ายวันที่ ๑๓ มีนาคม เมื่อผู้ชุมนุมนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์มาจอดและกางเต็นท์จับจองพื้นที่บนถนนราชดำเนินจำนวนมาก ผู้ชุมนุมอีกส่วนเดินทางโดยเรือล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วขึ้นฝั่งมาสมทบ

กลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเข้าจับจองพื้นที่ โดยพื้นที่ชุมนุมบนถนนราชดำเนินอาจแบ่งได้เป็น ๒ ส่วนคือ ตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงเวทีใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถือเป็นพื้นที่หลักของผู้ชุมนุมจากภาคใต้ กลาง ตะวันตก และเหนือจากเวทีสะพานผ่านฟ้าทอดไปตามถนนราชดำเนินนอกจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้าคือพื้นที่หลักของกลุ่มผู้ชุมนุมจากภาคอีสาน

ไล่มาตั้งแต่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เต็นท์ที่ตั้งเรียงรายตามสองฝั่งถนนเป็นของกลุ่มคนจากพื้นที่ต่างๆ อาทิ กลุ่มแดงอุตรดิตถ์, กลุ่มหนองคายรักประชาธิปไตย, กลุ่มสุรินทร์ ๕๒, แดงราชบุรี, นปช. เถิน (ลำปาง), แดงอำเภอพัฒนานิคม (ลพบุรี), นปช. หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์), นปช. แดงบ้านโป่ง (ราชบุรี), นปช. บางกรวย (นนทบุรี), ชมรมคนเสื้อแดงเมืองทอง ๕๒ (กรุงเทพฯ), แดงจตุจักร (กรุงเทพฯ), นปช. แดงทั้งแผ่นดินและเสื้อแดงภาคตะวันตก, แดงราชบุรี, แดงอยุธยา, นปช. นนทบุรี, นปช. แดงสุพรรณบุรี, นปช. บางปลาม้า, เสื้อแดงประจวบคีรีขันธ์, แดงคลองสะเดอ-กระทุ่มแบน-สมุทรสาคร, นปช. แดงทั้งแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี, นปช. พหลโยธิน ๔๘ บางเขน ฯลฯ บางส่วนมาจากภาคใต้ อาทิ นปช. ภูเก็ต, นปช. สุราษฎร์ธานี, นปช. ระนอง, นปช. นครศรีธรรมราช, นปช. ชุมพร, สมาพันธ์ประชาธิปไตยภาคใต้ จังหวัดพัทลุง, เสื้อแดงกระบี่ ๕๓ ฯลฯ

จากเวทีใหญ่สะพานผ่านฟ้าลีลาศทอดยาวไปตามถนนราชดำเนินนอก ประกอบด้วยชมรมรักประชาธิปไตยเมืองพัทยา, กลุ่มปราจีนฯ ๕๒ รักประชาธิปไตย, กลุ่มแดงปักธงชัย (นครราชสีมา), ชมรมแท็กซี่สุวรรณภูมิ (กรุงเทพฯ), นปช.สอยดาว-โป่งน้ำร้อน (จันทบุรี), นปช. จันทบุรี, นปช.ปราจีนบุรี, กลุ่มคนเมืองแพร่, กลุ่มน่าน ๕๒, กลุ่มน่าน ๔๙, แดงพะเยา, นปช. เชียงราย ฯลฯ ไปจนสิ้นสุดที่ลานพระบรมรูปทรงม้าซึ่งถูกใช้เป็นที่จอดรถจำนวนมากของผู้ชุมนุม

แต่ละเต็นท์มีการจัดการภายในเป็นของตนเอง ไม่ว่าเรื่องอาหาร ความปลอดภัย และการหมุนเวียนกำลังคน

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำ นปช. ประกาศว่าจะมีคนเข้าร่วม ๑ ล้านคนและเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภา “ถึงเวลาแล้วที่นายอภิสิทธิ์ต้องทบทวนตัวเอง และรีบตัดสินใจยุบสภาเพื่อไม่ให้ตัวเองและรัฐบาลเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย”

ในวันนั้น มี ส.ส. พรรคเพื่อไทยมาให้กำลังใจผู้ชุมนุม ตลอดการชุมนุมมีการใช้คำว่า “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ในการปราศรัยแทบทุกช่วง และจบที่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

จากการสอบถามผู้ร่วมชุมนุม พบว่าพวกเขารู้สึกไม่ดีกับรัฐบาลที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมสองสีแตกต่างกัน

เนียม ทองพร จากอุดรธานี บอกว่าเขากับเพื่อนๆ นั่งรถไฟมา “ไม่มีใครจ้าง แต่ไม่ชอบรัฐบาลที่สองมาตรฐาน ตอนพันธมิตรฯ ชุมนุมไม่ประกาศกฎหมายอะไรคุม แต่ตอนเรามา ทำยังกับจะรบและใส่ร้ายตลอดเวลา ที่มาก็เพราะคะแนนเสียงที่เลือกพรรคการเมืองที่เราชอบและเป็นเสียงข้างมากแต่โดนปฏิเสธ”

ผู้ชุมนุมท่านหนึ่งจากปราจีนบุรีซึ่งขอสงวนนามบอกว่า “ขับรถกระบะมา มีเสบียงอยู่ได้ ๑ อาทิตย์ ต้องทำให้รัฐบาลยุบสภาให้ได้ และเอานายกฯ ทักษิณกลับคืนมา เศรษฐกิจจะได้ดีเหมือนเดิม”

ถวิล นักธุรกิจชาวกรุงเทพฯ บอกเราว่า “มาชุมนุมเพราะเห็นชัดว่าประเทศผิดปรกติ โดยเฉพาะการตัดสินคดีความต่างๆ และรู้สึกว่าต้องล้างไพ่ แต่ก็รู้ดีว่าไม่จบ ไม่รู้ว่าคนข้างหลังรัฐบาลคิดยังไง และรัฐบาลมีอำนาจจริงหรือไม่”

พวกเขายืนยันตรงกันว่า สื่อมวลชนกระแสหลักไม่ว่าทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ รายงานข่าวด้านเดียว โดยเฉพาะตัวเลขผู้ชุมนุมและการสำรวจความคิดเห็นที่มักอ้างอิงจากตำรวจและจากโพลไม่กี่สำนัก ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงทำ “เดอะเรด โพล” ขึ้นเพื่อตอบโต้ข้อมูลตัวเลขผู้ชุมนุมแต่ละวันของตำรวจ

ชาคริต ประธานบริหารเดอะเรดโพล กับเพื่อนๆ ที่มาตั้งเต็นท์ทำโพลสำรวจจำนวนคนโดยให้ผู้ชุมนุมลงชื่อ-ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์เพื่อนับจำนวนหลังจากการชุมนุมจบลงว่า “ตัวเลขที่โพลสำนักต่างๆ ทำและประเด็นเรื่องความคิดเห็นของสาธารณชนไม่ว่าของสำนักไหนล้วนไม่สะท้อนความจริงและมีปัญหาในแง่วิธีการ ผมเคยทำงานอยู่ในสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านทำโพลมาก แต่วิธีหาข้อมูลคือหาข้อมูลในหมู่คนกันเอง ผมจึงต้องลุกขึ้นมาช่วยคนเสื้อแดง”

ทองผศ พลจันทร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี หนึ่งในทีมงานที่ช่วยทำเรดโพลและร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงอธิบายว่า “ที่มาช่วยงานเพราะรู้สึกว่าสื่อทีวีทุกช่องมีปัญหา และอยากรู้ว่าคนเสื้อแดงทำไมถึงมา พอสัมผัสก็ทำให้เข้าใจว่าเขาไปไกลกว่าทักษิณมาก โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตย ทักษิณอาจเป็นแค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลยังคงใส่ร้ายเขาอยู่ตลอดเวลาว่าก่อความรุนแรง แต่ผมมาอยู่ไม่เคยเห็นสิ่งที่เรียกว่าความรุนแรงเลย”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นก็ปรากฏคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ว่ามีการจ่ายเงินให้คนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมมีหลากหลายอย่างยิ่ง ทั้งที่มาด้วยชื่นชอบอดีตนายกฯ และมาด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ในมุมของสื่อมวลชน หลายคนบอกว่าท่าทีแกนนำ นปช. ต่อสื่อมวลชนรอบนี้ถือว่าดี มีการอำนวยความสะดวกและให้พื้นที่ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่มีการคุกคามแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ชุมนุมหลายคนบอกว่าไม่ไว้ใจสื่อกระแสหลักเนื่องจากสัมภาษณ์แล้วตัดตอนและใส่ร้ายป้ายสีเสื้อแดงตลอด ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้การชุมนุมในช่วงสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ มีการไล่สื่อมวลชนออกนอกพื้นที่ แต่คราวนี้พวกเขาก็พยายามที่จะเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

ข้อเสนอยุบสภาของผู้ชุมนุมถูกนำเสนออย่างเป็นทางการในเวลา ๑๒.๐๐ น. วันที่ ๑๔ มีนาคม ผ่าน “แถลงการณ์ นปช. ฉบับที่ ๑-ให้รัฐบาลยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน ๒๔ ชม.” โดยยืนยันว่ามาชุมนุมโดยสันติ และหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เผด็จการยังคงมีอิทธิพลในลักษณะซ่อนรูป รัฐบาลชุดปัจจุบันละเลยการทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายมาตรา จึงเรียกร้องให้ “รัฐบาลสละอำนาจบริหารด้วยการยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชนโดยพลัน”

ข้อเสนอยุบสภาถูกปฏิเสธในวันที่ ๑๕ มีนาคม หลังนายกฯ ประชุมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและแถลงว่า “รัฐบาลชุดปัจจุบันก่อตั้งขึ้นตามกระบวนการของรัฐสภา…เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ส.ส. เสียงส่วนใหญ่เช่นเดียวกับรัฐบาล ๒ ชุดก่อนหน้านี้…ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะให้ยุบสภาก่อน ๑๒.๐๐ น. ของวันที่ ๑๕ มีนาคม เพื่อนำไปสู่การยุติการชุมนุมเคลื่อนไหว ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะทำได้” และมองว่า “การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมด จะเห็นได้จากการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองได้พาดพิงไปไกลกว่าเรื่องของผมและรัฐบาล” จากนั้นก็ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากราบ ๑๑ รอ. ทันที

ยังผลให้แกนนำ นปช. ที่นำมวลชนไปชุมนุมกดดันรัฐบาลหน้าราบ ๑๑ รอ. ประกาศ “แถลงการณ์ นปช. ฉบับที่ ๒-หลั่งเลือดทาแผ่นดิน ทุกประตูทำเนียบ พรรค ปชป. บ้านนายกฯ ๓ ล้าน ซี.ซี.” โดยขอให้ผู้ชุมนุมบริจาคเลือดคนละ ๑๐ ซี.ซี. ในวันรุ่งขึ้น แล้วจะนำไปเทที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านนายกฯ

๑๖ มีนาคม แพทย์และพยาบาลอาสาจำนวนหนึ่งเจาะเลือดให้ผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด ๓ แสน ซี.ซี. จากนั้นในวันที่ ๑๗ มีนาคม นำไปเทที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี วันที่ ๑๙ มีนาคมที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการเทเลือดหน้าอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ ตรงข้ามมณฑลทหารบกที่ ๓๓ นำโดยพระครูสุเทพสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง อีกแห่งคือใกล้บ้านแม่ทัพ (ไร้กังวล) ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดนครราชสีมา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ แสดงความเห็นว่า “วิธีนี้ไม่ใช่วิธีการต่อสู้ปรกติและส่งสัญญาณให้โลกเห็นว่ามีคนบางส่วนในไทยบ้าคลั่งระบบไสยศาสตร์ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ศิวิไลซ์” ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกฯ กล่าวหลังการประชุมของ ศอ.รส. ที่ราบ ๑๑ รอ.ว่านี่เป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรง

นพ. เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่าวิธีนี้ “เป็นแนวทางสันติวิธีที่สุดที่จะเรียกร้องมนุษยธรรมจากนายอภิสิทธิ์ว่าจะกล้าเหยียบกองเลือดเขาไปทำงานหรือไม่ หรือจะโหดเหี้ยม
อำมหิตปล่อยให้เกิดสงครามประชาชน ถ้านายกฯ ไม่ยุบสภา ก้าวต่อไปหลังจากนี้คือความรุนแรง เป็นสงครามชนชั้น นายอภิสิทธิ์อยากให้คนเป็นล้านติดอาวุธสู้รบกับรัฐบาลหรือ”

ด้าน ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการซึ่งศึกษาเรื่องสันติวิธี อธิบายว่าการเจาะเลือดประท้วงเคยเกิดขึ้นแล้วในทวีปยุโรป ถือเป็นสันติวิธี แต่การนำไปสาดหรือเทต้องดูปัจจัยอื่นประกอบว่าทำต่อสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ส่วนบุคคล เรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ (มติชน ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๓)

น้อย หนุ่มจากมหาสารคามที่ขอสงวนชื่อจริง เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมบริจาคเลือดบอกเราในวันที่มีการเจาะเลือดว่า “ถึงจะกลัวเข็ม แต่ยินดีเสียเลือด ๑๐ ซี.ซี. มันน้อยมาก และถ้าเราไปบริจาคโรงพยาบาล เขาคงไม่เอาเลือดไพร่และคนบ้านนอกอย่างเรา ถ้าสิ่งนี้จะทำให้รัฐบาลหันมามองพวกเราเท่าเทียมกับเขา ผมก็ยอม”