ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนทำหนังตัวเล็กๆ สู่รางวัลระดับโลก


“มันคล้ายความฝันที่แปลก และสวยงาม ซึ่งคุณจะไม่ได้เห็นมันบ่อยครั้งนัก”

นั่นคือคำกล่าวของ ทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับชื่อดังซึ่งเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ ๖๔ ภายหลังการมอบรางวัลปาล์มทองคำ รางวัลสูงสุดประจำเทศกาล ให้กับ ลุงบุญมีระลึกชาติ หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งของไทย ผลงานการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชนะรางวัลนี้

เทศกาลหนังเมืองคานส์จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่หาดริเวียร่า ประเทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุด เป็นตลาดซื้อขายสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก ภาพยนตร์ทั้งที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวดและที่ได้รับรางวัลนี้ล้วนเป็นที่ยอมรับถึงวิสัยทัศน์ด้านศิลปะ หลายเรื่องได้กลายเป็นผลงานอมตะสร้างชื่อให้นานาประเทศ อาทิ Blow-Up จากอิตาลี, Taxi Driver จากอเมริกา, Kagemusha จากญี่ปุ่น, The Piano จากนิวซีแลนด์ เป็นต้น

ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการงานศิลปะชุดดึกดำบรรพ์ (Primitive) เพื่อระลึกความทรงจำต่อผู้คนในหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ในเหตุการณ์สู้รบระหว่าง พคท. กับทางการไทยหลังวันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มม. เสมือนเป็นการอุทิศให้แก่ภาพยนตร์ที่กำลังจะตายแล้ว เล่าเรื่องของ “บุญมี” ชายชาวอีสานที่ป่วยด้วยอาการไตวาย เขาเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวาระสุดท้าย และฝันเห็นอดีตชาติของตนผ่านฉากที่ตัดสลับเข้ามาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมคิดเอาเองว่าชาติที่แล้วของชายผู้นี้คืออะไร ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนเปรียบเทียบผลงานชิ้นนี้ว่ามีความงดงามราวบทกวี

อภิชาติพงศ์หรือเจ้ยเติบโตในจังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความที่สนใจด้านภาพยนตร์จึงเข้าศึกษาต่อปริญญาโทสาขาภาพยนตร์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้กำกับไทยเพียงไม่กี่คนที่ทำงานหนังขนาดยาวนอกระบบสตูดิโอ ตั้งแต่ผลงานชิ้นแรก ดอกฟ้าในมือมาร เมื่อปี ๒๕๔๓ และเป็นผู้กำกับไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาได้ ทั้ง สุดเสน่หา (รางวัล Un Certain Regard)ในปี ๒๕๔๕ และ สัตว์ประหลาด (รางวัล Jury Prize สายประกวดหลัก) ในปี ๒๕๔๗ รวมถึงเป็นศิลปินไทยที่ได้รับรางวัลศิลปาธรประจำปี ๒๕๔๘ ในสาขาภาพยนตร์

รางวัลที่เขาได้รับจากผลงานเหล่านี้เสมือนเป็นการกรุยทางให้คนได้รู้จักวงการหนังอิสระ–ภาพยนตร์ที่สร้างโดยคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งนำเสนอมุมมองและเล่าเรื่องผิดแผกไปจากภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ เอกลักษณ์ในผลงานของเขาอยู่ที่การเล่าเรื่องซึ่งผสมผสานระหว่างการถ่ายทำแบบสารคดีกับเหตุการณ์เหนือจริง ผ่านชีวิตคนชายขอบ ทั้งแรงงานต่างด้าว กลุ่มรักร่วมเพศ ชาวบ้านในชนบท ฯลฯ อีกทั้งนักแสดงก็ล้วนเป็นคนธรรมดาๆ แหวกขนบหนังไทยที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

อภิชาติพงศ์ไม่เพียงทำงานผลิตหนังของตนเท่านั้น เขายังทำกิจกรรมทางด้านภาพยนตร์อีกหลายอย่างเพื่อเปิดโลกให้คนเห็นแง่มุมอื่นๆ ของศิลปะแขนงนี้ ทั้งการจัดเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพฯ มาแล้วถึง ๕ ครั้ง การก่อตั้งเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์ เพื่อประท้วงกรณีที่หนังเรื่อง แสงศตวรรษ โดนตัดหลายฉาก พร้อมกับได้สะท้อนปัญหาการเซ็นเซอร์หนังของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาจนก่อให้เกิดการผลักดันพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ ในเวลาต่อมา ล่าสุดเขาและ มานิต ศรีวานิชภูมิ ยังส่งจดหมายคัดค้านการที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดสรรเงินทุนสนับสนุนถึง ๑๐๐ ล้านบาทผ่านงบไทยเข้มแข็งให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สองกรณีหลังนี้เองที่ทำให้ชื่ออภิชาติพงศ์ปรากฏเป็นที่รู้จักผ่านสื่อต่างๆ มากกว่าผลงานภาพยนตร์ของเขาเสียอีก

นอกจากบทบาทของเขาในวงการภาพยนตร์ ทัศนะความคิดความเห็นของอภิชาติพงศ์ที่มีต่อเรื่องอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ ไม่น้อย ล่าสุดเมื่อบทสัมภาษณ์ของเขาจาก The Hollywood Reporter (๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓) ถูกนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต อภิชาติพงศ์ก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเห็นต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ว่า

“สิ่งที่เกิดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คือ ‘สงครามชนชั้น’ ในประเทศไทย…ผมคิดว่าทักษิณได้กลายสถานะเป็นผู้ช่วยเหลือหรือผู้ไถ่ชีวิตของคนเหล่านั้น พวกเขาสามารถมีตัวตนขึ้นได้เพราะทักษิณ และต้องพึ่งพาอาศัยทักษิณ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลไทยรักไทย มีงบประมาณที่หลั่งไหลไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ในชนบท งบประมาณเหล่านั้นจะโปร่งใสหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด คนยากจนก็มีโอกาสได้เห็นเงินและการพัฒนาในภูมิภาคของพวกเขา นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนเสื้อแดงจึงสนับสนุนทักษิณ”

อีกหลายคนยังตั้งคำถามกับรางวัลที่เขาได้รับ เพราะคนจำนวนมากเห็นว่าหนังของเขา “เข้าใจยาก” และ “น่าเบื่อ” แม้แต่นักวิจารณ์ไทยบางคนก็มองว่าเขายัง “ทำหนังไม่เป็น”

สายของวันในเดือนกรกฎาคม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านไม้กลางบรรยากาศร่มรื่นในชุมชนเล็กๆ คือที่ซึ่งเรากับอภิชาติพงศ์ได้สนทนากันถึงเส้นทางของคนทำหนังอิสระตัวเล็กๆ ที่กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

apichatpong02
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ  ซึ่งคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีนี้

apichatpong03
บางส่วนจากศิลปะติดตั้งจัดวางชุด “ดึกดำบรรพ์”(Primitive)
จัดแสดงที่ Haus der Kunst เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่หมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม พ.ศ.๒๕๐๘
(ภาพจากแฟ้มส่วนตัวของอภิชาติพงศ์)

โดยส่วนตัวคุณเจ้ยมีความประทับใจอย่างไรในโลกภาพยนตร์
ผมเกิดที่กรุงเทพฯ มาโตที่โรงพยาบาลที่ขอนแก่นตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ค่อนข้างจะเป็นคนผจญภัย คือเขาเป็นคนภาคกลาง จบหมอก็เลือกมาทำงานที่ขอนแก่นซึ่งตอนนั้นไม่มีใครอยากมา แล้วก็มาปิ๊งกันที่ขอนแก่น แต่ก่อนขอนแก่นยังเป็นป่า ครอบครัวผมมาอยู่ที่โรงพยาบาลซึ่งยังเป็นเรือนไม้ เป็นยุคบุกเบิกของโรงพยาบาล ชาวบ้านยังนอนกางเต็นท์เกะกะเต็มระเบียง ความเป็นอยู่กันดารพอสมควร ผมโตมาในรั้วโรงพยาบาลที่เป็นเหมือน housing ของหมอ เป็นบ้านไม้ จำได้ว่ายังใช้ถ่านหุงข้าวทำอาหารอยู่เลย ในวัยเด็กโลกเราก็แค่นั้น โรงพยาบาลก็เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของเรา เราไม่ได้คิดเรื่องปรัชญาหรือความตายอะไรที่วนเวียนอยู่ในนั้น ในขอนแก่นตอนนั้นมีโรงหนังอยู่ไม่กี่โรง คุณพ่อคุณแม่ก็ชอบพาไป คือคุณแม่เป็นคนรักสนุก ตอนอยู่กรุงเทพฯ เขาดูหนังทุกเรื่องเลยนะ ชอบแต่งตัวไปกับเพื่อนไปดู The Sound of Music และ West Side Story พอมาอยู่ขอนแก่นเขาก็คงพยายามดำเนินวิถีชีวิตเหมือนเดิม ก็พาลูกไปด้วย แล้วเหมือนเขาพยายามจะเปิดโลกให้เราเห็นว่ามันไม่ได้มีโลกในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยใช้หนังเป็นตัวเปิดโลกให้เรา ก็เลยทำให้เราหลงใหลในโลกภาพยนตร์

แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากมาทำงานด้านนี้
เป็นช่วงที่ฮอลลีวูดกำลังเปลี่ยน ช่วงปี ค.ศ.๑๙๘๒-๑๙๘๓ มีหนังพวกสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เข้ามา เราลิงก์ได้เยอะมาก ตอนเด็กเราชอบดูหนังไทยหนังฝรั่ง ชอบความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ เช่นเรื่อง แผ่นดินวิปโยค (๑๙๗๘) คนภูเขา (๑๙๗๙) หรือหนังที่น่ากลัวอย่าง โคตรไอ้เคี่ยม (Alligator ๑๙๘๐) แต่พอฮอลลีวูดเปลี่ยนไปเป็น สตาร์วอร์ส (๑๙๗๗) เป็น อี.ที. (๑๙๘๒) รู้สึกว่านี่มันโลกใหม่ คือเหมือนกับว่าเป็นวัยที่กำลังสนใจในชีวิตว่าเราชอบอะไรจริงๆ คิดว่าตัวเองน่าจะชอบภาพยนตร์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเราจะเข้าไปได้ยังไงเพราะโลกของเรามันห่างไกลอยู่

นั่นเป็นเหตุผลให้เลือกเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือเปล่าครับ
เหมือนเป็นแผนสำรอง ส่วนตัวก็ชอบสถาปัตยกรรมด้วย คือชอบเรื่องพื้นที่ เรื่องอาคาร ก่อนหน้านั้นติดทันตแพทย์ตามระบบโควตา ซึ่งตอนนั้นก็ชอบหลายอย่าง ชอบทันตฯ สัตวแพทย์ แต่พอคณะสถาปัตยกรรมเปิด ก็เลือกเลยทันที

การเรียนสถาปัตย์มีผลหรืออิทธิพลอะไรกับคุณบ้าง
มีเยอะครับ คือมันมีกระแสต่อต้านในตัวเอง เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราเป็นคนต่อต้านกฎ ต่อต้านอะไรที่เราไม่เข้าใจแล้วผู้ใหญ่ตอบไม่ได้อย่างมีเหตุผล ทำไมต้องใส่ยูนิฟอร์ม หรือแม้แต่ทำไมต้องเคารพธงชาติ ทำไมต้องสวดมนต์ตอนเช้า ทำไมไว้ผมยาวไม่ได้ แล้วเราก็ได้เจอกลุ่มคนที่เห็นคล้ายๆ กัน ตอนนั้นเขาฮิตไว้ผมยาว มันเป็นช่วงของวัยขบถ จากตอนเด็กๆ เราแอนตี้แต่ไม่พูด พอมาเจอเพื่อนกลุ่มเดียวกันก็ได้แชร์บ้าง อาจไม่มากแต่รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นอันเดียวกันของศิลปะแห่งสถาปัตยกรรม ผมว่าผมค่อนข้างจะเนิร์ดในตอนเรียน ทำงานเสร็จก่อนเพื่อน บางทีก็แอนตี้เวลาอาจารย์บางท่านเปิดตำราไทยหรือตำราฝรั่งสอน ก็บอกไปว่าอาจารย์ผมขอซีร็อกซ์ได้ไหม คือไม่ต้องมาเปิดตำราอ่านให้ฟังก็ได้นะ ขอซีร็อกซ์ไปอ่านเองดีกว่า

 

เรียนจบแล้วทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนทางด้านภาพยนตร์ที่ต่างประเทศ
พ่อแม่ค่อนข้างให้อิสระ แต่ก็เป็นห่วงว่าจะเอาตัวรอดได้ไหม ตอนนั้นเราสนใจโลกภาพยนตร์อย่างจริงจัง คิดแค่ว่าไปเรียนที่อเมริกาทุกโรงเรียนจะเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ (หัวเราะ)

อีกอย่างในเมืองไทยตอนนั้นเราไม่เห็นผลผลิตภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือผลงานของนักศึกษาที่เราชอบ ซึ่งช่วงนั้นก็ยังเป็นยุคตั้งไข่ของการศึกษาด้านภาพยนตร์ในประเทศไทยด้วยซ้ำ ส่วนตัวผมเป็นคนไม่โปรอะไรที่เป็นสถาบันเลย เพราะมีความรู้สึกว่าทำไมเราต้องจบที่นี่เพื่อจะประสบความสำเร็จ ในแง่ที่มันไม่ได้วัดอะไรเลย หนังเราก็ไม่ได้เห็นอะไรดีๆ ออกมา อาจจะมีที่น่าสนใจสำหรับเราอย่าง ม.ธรรมศาสตร์มีอาจารย์บรรจง (โกศัลวัฒน์-ผู้บุกเบิกการเรียนการสอนวิชาภาพยนตร์) แต่อีกใจหนึ่งก็มีปมด้อยว่าไม่ชอบกรุงเทพฯ เราโตที่ขอนแก่นแล้วรู้สึกว่ามันเหมือนมีการดูถูก ตอนนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตอะไรเลยนะ พอบอกว่ามาจากขอนแก่นก็หาว่าบ้านนอกแล้ว พอเราไปชิคาโกก็อารมณ์เดียวกัน คือถูกดูถูกว่ามาจากไทยแลนด์ มันเห็นภาพรวมว่ามีการดูถูกเป็นชั้นๆ เขาไม่สนใจว่าคุณจะมาจากขอนแก่นหรือกรุงเทพฯ คุณก็บ้านนอกเหมือนกัน ทำให้ยอมรับว่าการดูถูกเป็นธรรมชาติของมนุษย์

พอไปอยู่ที่นั่น เราก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เขาก็ให้ไปเรียนปริญญาตรีใหม่ แต่สามารถยกเว้นได้หลายวิชาที่เรียนมาแล้วเพราะถือว่าเราผ่านมาแล้ว ผมก็ทิ้งวิชาอื่นหมดเลย ลงเรียนเฉพาะภาพยนตร์ ซึ่งถ้าไม่ผ่านขึ้นมาก็ไม่ได้ปริญญา เพราะเหตุผลของเขาคือคุณยังไม่โชว์ว่าคุณทำหนังเป็นจะเรียนโทได้อย่างไร เราก็ลงเรียนเฉพาะภาพยนตร์กับประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เราชอบ ก็เลยเสี่ยงทำแต่หนังเพื่อที่จะส่งเป็น Portfolio ให้เขา

ทราบมาว่าระหว่างเรียนก็ทำงานเป็นบรรณารักษ์ดูแลฟิล์ม ตรงนี้ได้ประโยชน์กับคุณแค่ไหน
ได้ประโยชน์มากครับ เพราะว่าเราได้รู้จักหนังทุกเรื่องในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เวลามีการยืม-คืนเราจะต้องคอยเช็กทุกครั้งที่หนังเข้ามา มันจะเป็นฟิล์ม ๑๖ มม.แล้วเราต้องมาเช็กความเรียบร้อยของฟิล์ม ตรงไหนเจ๊งไปบ้างเราก็ซ่อม ซ่อมไม่ยาก เอาเทปของฟิล์มแปะ แล้วก็ต้องดูหนังผ่าน viewer เล็กๆ ก็เลยได้ดูหนังเกือบทุกเรื่องในคอลเล็กชันของมหา’ลัย

มันเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เราด้วย
ใช่ ตอนนั้นจะทิ้งอเมริกาไปเลย…คือจะสนใจแต่หนัง มันเหมือนคนหิวน้ำแล้วเจอแหล่งน้ำน่ะ แล้วอยู่ดีๆ เจอแหล่งน้ำที่ เฮ้ย มันเป็นหนังที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หนังทดลองจากทั่วโลกเลย โดยเฉพาะของอเมริกา ถ้าพูดถึงหนังทดลองของอเมริกาจะเด่นมากแต่คนไม่ค่อยรู้

ประสบการณ์การเรียนที่ชิคาโกเป็นอย่างไรบ้างครับ
เราได้เพื่อนและอาจารย์ที่ดี แล้วก็โลกภาพยนตร์ และการทำงานเพื่อหาเงิน รวมถึงการมองเมืองไทยด้วย คือผมไปชิคาโกก็ไม่ใช่ว่าจะตกหลุมรักมันทันที มันต่างกับเมืองไทยมาก ตอนนั้นผมยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลย Word Processor ก็ยังใช้ไม่เป็น ต้องเริ่มใหม่หมด ทั้งภาษาด้วย เข้าไปเรียนก็ไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ทัน ท้ายชั่วโมงเลยไปบอกอาจารย์ว่า Excuse me ขอให้พูดช้าลงหน่อยเพราะฟังไม่ทันครับ อาจารย์ก็ดีมาก เขาก็ช่วยเรา พูดช้าลงและถามว่าเข้าใจไหม

มองเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไร
มุมมองที่เปลี่ยนไปคือเสรีภาพที่เราได้ที่โน่น หลายอย่างที่เราไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาในอีกสังคมหนึ่ง นี่ผมหมายถึงในบริบทของเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วนะครับ ในมุมมองของผม การไม่มีเสรีภาพในบางอย่างทำให้เราเห็นว่าเมืองไทยมีความน่าค้นหา เมืองไทยมีเสน่ห์ในความหลงยุค ความไม่มั่นคง มันท้าทายให้วิเคราะห์ ผมจึงหลงใหลเมืองไทยมาก เวลาทำงานอะไรก็ต้องกลับมาเมืองไทย

พอกลับมาเมืองไทยแล้วได้ทำหนังขนาดยาวเรื่องแรกคือ ดอกฟ้าในมือมาร
มันเริ่มต้นมาจากการเป็นวิทยานิพนธ์ แต่ทำไม่เสร็จอยู่แล้วเพราะเป็นวิทยานิพนธ์ที่แตกราก ขยายออกไปมาก จบมา ๒ ปีถึงจะทำเสร็จครับ ตอนนั้นยังไม่มีคนทำหนังอิสระอย่างจริงจัง เราก็อยู่ได้ด้วยการขอทุนจากต่างประเทศและในเมืองไทยด้วย

ตอนที่เริ่มทำหนังอิสระ หาทุนอย่างไรครับ
ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มมาครับ เราก็หาทุนจากตรงนั้น จนไปเจอทุนที่เทศกาลภาพยนตร์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เราก็เขียนไปขอเขา ครั้งแรกไม่ได้เราก็ส่งฟุตเทจไปให้เพิ่ม เขาก็ให้ทุนมา จนเมื่อเราทำหนังมาหลายเรื่อง ๑๐ กว่าปีผ่านไป ไซมอน ฟิลด์ ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเทอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์หนังของผม มาคุยให้ฟังทีหลังว่า กรณีหนังของคุณเรื่องแรกนี้แปลกที่สุด เพราะคณะกรรมการให้ทุนโดยไม่แน่ใจว่าหนังเรื่องนี้คืออะไร และมันจะเสร็จหรือเปล่า แต่ให้เพราะความบ้าบิ่น

จากนั้นผมก็มาขอฟิล์มจากฟูจิ โกดัก บังเอิญตอนนั้นฟูจิให้เพราะมีโครงการสนับสนุนนักศึกษาเยอะ แต่ว่าผมชอบฟิล์มโกดัก ก็เลยขายฟูจิเพื่อมาซื้อฟิล์มโกดัก (หัวเราะ) ก็ขอบคุณเขามากนะครับ โตชิบานี่ก็ได้มาบ้าง ตอนนั้นเราผมยาว เราก็ตัดผมเพื่อจะพรีเซนต์ให้สังคมมองเราดีหน่อย แล้วก็พยายามคุยกับหลายๆ ที่ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับตัวเรามาก แต่เรามีเป้าหมายเพื่อภาพยนตร์ไง เราจึงทำทุกอย่าง อย่างที่เราสอนเด็กปัจจุบันนี้ว่าบางทีอยากทำหนังมันไม่ใช่ง่ายๆ ใครที่ไม่ชอบเรียนภาษา คุณก็ต้องเรียนภาษา เพราะหนังบางประเทศทุนมันอยู่ที่เมืองนอก เหมือนยาขมในบางครั้งสำหรับบางคน

ทีมงานในตอนนั้นก็ไม่มีประสบการณ์ทำหนังกันเลย
ผมก็มองว่าตัวผมก็ไม่ได้โปรเหมือนกัน ผมจบมาก็ถ่ายเองตลอดช่วงนั้น เราอยากได้คนช่วย แต่เราก็ไม่เคยบริหารกองถ่าย ก็ประกาศลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับเลย เป็นลักษณะของโฆษณาฟรีว่าต้องการผู้ช่วยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำหนัง เรามีค่าอาหารให้ตอนออกกอง เราต้องการแค่ ๕ คน แต่มีคนสมัครมาประมาณ ๓๐-๔๐ คน เพราะตอนนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังล่ม คนตกงานเยอะ คนต้องการค้นหาตัวเอง

หนังเรื่องนี้ต้องไปถ่ายทำทั่วประเทศเลย ใช้เวลากี่ปีครับ
๓ ปีหนังถึงเสร็จครับ ถ่ายไปหยุดไปตามสภาพเงินที่มี หยุดก็หยุด ก็เรียนรู้ไปด้วยกัน มันดีมากไม่เหมือนสมัยนี้ ผมเรียนหนังทดลองมา เป็นการทำหนังคนเดียว แค่มาเจอทีมงาน ๕-๖ คนก็ถือว่าเยอะแล้วสำหรับเรา ยังจำได้ว่าเข้าไปหาคุณโดม (สุขวงศ์-ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ) ตอนนั้นหอภาพยนตร์ยังอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า เข้าไปแนะนำตัวเพราะอยากรู้จักคน ว่ามีใครทำหนังอะไรบ้าง อยากมาร่วมงานกันไหม ก็ได้รู้จักเคี้ยง ไพสิฐ (พันธุ์พฤกษชาติ-ช่างบันทึกเสียง คนทำหนังอิสระ) และอีกหลายคนที่ร่วมทีมกัน ๕-๖ คนก็ยังอยู่ในวงการ อย่างคุณสนธยา (ทรัพย์เย็น-ผู้จัดฉายหนังหาดูยากในโครงการ Film Virus) และคุณพิมพกา (โตวิระ-ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง คืนไร้เงา)ก้องเกียรติ (โขมศิริ-ผู้กำกับ ไชยา และ เฉือน) ก็เป็นผู้กำกับดังไปแล้ว สุชาดา (สิริธนาวุฒิ) ก็ยังเป็นผู้ช่วยของผมตลอด

การทำงานเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร มีอิทธิพลต่อคุณมากน้อยแค่ไหน เพราะหนังเรื่องต่อจากนั้นก็เน้นการคัดนักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์มาโดยตลอด
ดอกฟ้าฯ เป็นหนังที่ทำให้ผมอยากค้นหาตัวเอง การทำงานมีความท้าทายในด้านการนำเสนอ ความหลากหลายของคนต่างพื้นที่เข้ามาในหนังเรื่องเดียว แต่ผมมีความคิดมาตั้งแต่ก่อนเรื่อง ดอกฟ้าฯ แล้วว่าไม่อยากทำหนังที่เสนอแต่ชีวิตในกรุงเทพฯ และใช้ดาราแสดงเท่านั้น

หลังจากนั้นคุณยังได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลหนังทดลองในเมืองไทยอีกด้วย
ผมมองว่าหนังมันเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ เสรีภาพ พอกลับมาเมืองไทยรู้เลยว่างานศิลปะ งานภาพยนตร์มันยังไม่ได้เติบโตมาก ก็คิดว่ามันต้องเผยแพร่มากขึ้นนะ อีกใจหนึ่งตอนรวมกลุ่มกับเพื่อนที่ชิคาโกด้วยว่าอยากดูหนัง (หัวเราะ) คือคิดถึงหนัง เพราะสมัยอยู่อเมริกาเราก็ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย ดูแต่หนังตลอดเวลา อยู่แต่โรงหนังเหมือนหิวกระหาย ทีนี้ก็ร่วมกับหลายประเทศเพื่อนำหนังเข้ามา ซึ่งก็กลายเป็นเทศกาลแรกของประเทศไทย แล้วยังมีคนประท้วงด้วยนะ มีคนเขียนแอนตี้ลง The Nation ด้วย

ทำไมถึงมีการแอนตี้ล่ะครับ
คือมันเป็นเทศกาลที่ร่วมกับ Alliance Française(สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ) แล้วเขาก็มีแพลนว่าจะทำลายฟิล์มภาพยนตร์บางส่วน เนื่องจากสิ้นสุดเวลาการเก็บฟิล์มในห้องสมุดของเขาเพราะมีลิขสิทธิ์เท่านั้น ทีนี้หนังทั้งหลายแทนที่จะทิ้งเราก็เอามายำ เชิญชวนมาทำศิลปะจากแผ่นฟิล์ม แต่หลายคนไม่เข้าใจ ก็มองว่าทำไมเอาหนังมาทำลาย อีกมุมหนึ่งคือการนำเอาวัฒนธรรมหนังทดลองเข้ามาเป็นการทำลายวัฒนธรรมหนังของไทย เป็น Colonialism อย่างหนึ่ง คนประท้วงคือพี่อิ๋ง (กาญจนะวณิชย์) กับพี่มานิต (ศรี-วานิชภูมิ) ซึ่งสองคนนี้ตอนหลังเราก็มาเป็นเพื่อนกันในที่สุด

หลังจากนั้นได้เคยไปเสนองานกับบริษัทภาพยนตร์ในประเทศไทยบ้างหรือเปล่าครับ
มีครับ ไปบริษัทไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เพราะตอนนั้นเขาเป็นบริษัทที่มีมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับหนังไทย ได้พบกับคุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ เขาเปิดโอกาสให้เราเข้าพบ รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณ เขาอธิบายให้เราเข้าใจว่า เฮ้ย อภิชาติพงศ์ มันไม่ใช่นะ หนังคุณมันขายไม่ได้หรอก แต่เขาก็เอาบทไป แล้วอ่านจริงๆ ผมประทับใจที่เขาเปิดกว้าง ซึ่งเขาก็เป็นเขามาจนถึงทุกวันนี้ที่ทำนายว่าหนังเรื่องไหนจะทำเงินไม่ทำเงิน เจอกันอีกทีหลังจากนั้น พอหนังเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร ฉายสำเร็จ เขาก็มาแสดงความยินดี ในขณะเดียวกันเขาก็สอนบทเรียนว่าเราอยู่เมืองไทยไม่รอดในทางธุรกิจ

apichatpong04

แต่ถึงได้รับบทเรียนอย่างนั้น คุณก็ยังทำหนังเรื่องต่อมา คือ สุดเสน่หา
ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ก็พยายามดิ้นรน เริ่มทำหนังสั้น มีเพื่อนเอาหนังผมไปฉายในแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ ก็เริ่มมองว่างานเราอาจไปในลักษณะนี้ หรือไม่ก็ไปเป็นอาจารย์ แต่ผมไม่อยากเป็นอาจารย์ ต่อมามีนายทุนชาวไต้หวันเป็นคนชอบศิลปะ พี่สาวทำงานบริษัทเขา เลยได้รู้จักกัน ได้คุยกันว่าอยากทำอะไร เขาก็บอกว่าอยากสนับสนุนหนังทุนต่ำ ถือว่าเป็นคนบ้าเลือดมากเพราะมันยังไม่มีในประเทศไทย แต่ที่ไต้หวันหนังทุนต่ำเริ่มบูม เขามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าคุณอายุ ๓๕ แล้วคุณยังไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดที่สำเร็จหรืองานที่คุณต้องการได้ก็ถือว่าคุณล้มเหลว ตอนนั้นเราอายุ ๓๑-๓๒ เราก็เลยได้เงินเพื่อสร้างงานจากคำพูดนั้น (หัวเราะ) แล้วอีกทางหนึ่งคือทุนจากฝรั่งเศส เพราะตอนนั้นได้ไปฉายเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร ที่ปารีส แล้วก็ได้เจอคุณชาร์ลส์ เดอ โมซ์ คำแรกที่เขาพูดกับผม ยังไม่ทันได้ทักทายเลยเขาพูดว่า “หนังคุณมิกซ์เสียงได้แย่มากนะ” แล้วเขาก็กลายเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ให้หนังของผมจนถึงทุกวันนี้ จนทำเรื่อง สุดเสน่หา สำเร็จ ทีมก็ใหญ่ขึ้นหน่อยคือ ๒๐ คน เป็นหนังลูกทุ่งเหมือนเดิม เราก็เริ่มค้นหาตัวเองแล้วว่าแนวทางของเราหรือสิ่งที่ต้องการพูดคืออะไร เรื่องของคนชายขอบ เรื่องของความยึดติด คือความคิดเริ่มก่อตัว เริ่มเป็นวุ้นแล้ว

การที่เป็นหนังทุนต่ำ ทำไมถึงได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์
ตอนนั้นยังทำไม่เสร็จครับ เราเดินทางด้านสายศิลปะด้วย ก็พยายามเขียนไปขอทุนจากหลายๆ ที่ ใจหนึ่งคือท้อไปแล้วด้านภาพยนตร์ และช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ ๙/๑๑ ตึกเวิลด์เทรดถล่ม เรารู้สึกว่าเราไม่มีค่า เราเคยเชื่อว่าเราอยากเปลี่ยนโลกภาพยนตร์ แต่พอเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราเกิดเซนสิทีฟว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้นะ คิดว่าน่าจะมีหลายคนที่มีความรู้สึกท้อแท้เหมือนผมนะตอนนั้น ในเรื่องความขัดแย้งในโลกนี้ เราก็พยายามจะเบนเข็มมุ่งไปด้านศิลปะ ปรากฏว่าบังเอิญได้ทุนต่อทันทีที่ฝรั่งเศสให้อยู่ ๖ เดือนก็เลยไป เป็นเหมือน Laboratory หรือแล็บทดลองทางศิลปะ ที่เชิญคน ๕-๖ คนจากทั่วโลกมาเป็น Think Tank ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่

พอไปอยู่ที่นั่นเราก็มีเทปเรื่อง สุดเสน่หา ที่ยังทำไม่เสร็จ แต่ตัดโดยคุณลี (ชาตะเมธีกุล) แล้วเพื่อนชาวญี่ปุ่นก็เอาไปให้โปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่เป็นโปรดิวเซอร์ของ ทาเคชิ คิตาโน เขามาทำโพสต์โปรดักชันที่ฝรั่งเศส พอเขาได้ดูแล้วก็ชอบมาก เลยส่งไปให้ออฟฟิศที่คานส์ซึ่งอยู่ปารีส ต่อมาผมก็ได้รับโทรศัพท์จากคานส์ว่าเขาต้องการฉายหนังเรื่องนี้ในสาย Official Selection เราก็ตกใจมากว่านี่คือความจริงหรือเปล่า เรายังคิดว่ามันเป็นหนังเล็กๆ ของเราอยู่ เพราะคานส์มันเป็นจุดสูงสุดของคนทำหนังด้านศิลปะอยู่แล้ว พอตั้งสติได้ก็เริ่มเขียนขอทุนจากชาวไต้หวันคนนั้นใหม่ว่าขออีกนิดเดียวน่ะ ขอให้หนังเสร็จ สุดท้ายก็รีบกลับมาทำโพสต์โปรดักชันเสร็จส่งเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งเราทำเองทุกอย่าง แล้วมันก็มีขั้นตอนเยอะ เป็นการเรียนรู้คานส์อย่าง Crash Course เลยนะ ไม่มี Press Agency ทำกับเพื่อนที่ปารีส ชาร์ลส์เองก็ไม่เคยทำก็ไปด้วยเพราะเขาก็ทำหนังของเขา เรียนรู้ด้วยกันเลยสนิทกัน ไปเช่าทักซิโด ทำ Press Kit ด้วยกัน

จนวันหนึ่งหนังฉาย หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงเลยว่าเป็นม้ามืดจากเมืองไทยในสาย Un Certain Regard ทีนี้นายทุนไต้หวันที่เมืองไทยก็ดีใจมาก เราทำได้ก่อนอายุ ๓๕ แล้วละ (หัวเราะ) แค่ไปคานส์ก็โอเคแล้ว ก็ขอบคุณเขามากที่ทำให้เราได้ไปถึงจุดนี้ ตอนนั้นเราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะทำหนังเป็นอาชีพได้หรือเปล่าโดยเฉพาะหนังแบบนี้ สุดเสน่หา ถือว่าช่วยได้เยอะ เพราะไปหลายเทศกาลมาก

หลังจากที่ สุดเสน่หา ได้รางวัลและเข้าฉายในไทย คุณเจ้ยได้มีโอกาสสร้างหนังกับบริษัทในไทย แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นมาหลายอย่างช่วงนั้น หนึ่งในนั้นคือการยอมเซ็นเซอร์หนังของตัวเอง
กระแสคานส์ตอนนั้นคนทั่วไปก็ไม่รู้จัก แต่คนในวงการหนังเขารู้ว่ามันสำคัญ ทางสหมงคลฟิล์มก็ติดต่อมาเพื่อจัดจำหน่าย แต่ความที่หนังมันมีฉากเซ็กซ์ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้นมา เราก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่ว่าตอนนั้นยังไม่มีระบบเรตติ้ง หนังมันไม่เหมาะสำหรับเด็กจริงๆ และเรารู้สึกว่าเราอยู่ในบริษัทที่เขาไม่ appreciate งานที่เราทำ เขาอาศัยกระแสของคานส์พิมพ์ฟิล์มหลายพรินต์มาก บางโรงก็เซ็นเซอร์บ้าง แต่ได้ข่าวว่าบางโรงก็ไม่เซ็นเซอร์ ไม่รู้จริงหรือเปล่า เราก็เริ่มตงิดๆ กับกฎหมายไทย แต่ความที่รู้สึกว่าตัวเองยังเด็ก ก็ไม่ได้ประท้วงอะไร ถึงตอนนี้ผมก็ยังบอกเสมอว่าไม่อยากให้ซื้อวีซีดีหรือดีวีดีของเรื่อง สุดเสน่หา เพราะผมถือว่าไม่ใช่หนังฉบับของผม

ตอนนั้นเราก็พยายามทำงานร่วมกันอีกชิ้นหนึ่ง คือ สัตว์ประหลาด แต่ก็ไปไม่รอด ก็ออกมาจากบริษัทเพราะยังไงทางเดินก็ต่างกัน เลยตัดสินใจหาทุนจากต่างประเทศเต็มตัว

เคยทราบมาว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากช่วงหนึ่ง ตอนนั้นเลี้ยงตัวเองยังไง
ก็มีงานศิลปะเข้ามาบ้าง สุดเสน่หา เวลาไปฉายตามเทศกาลต่างๆ ก็ได้ค่าเช่ามา ถึงไม่เยอะแต่ก็ยังโอเค

ภายหลังก็เลยตั้งบริษัท Kick The Machine ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานส่วนนี้
ใช่ครับ เพื่อรองรับระดับการหาทุนนั่นแหละ ตอนแรกยังเป็นบริษัทของคนไต้หวันอยู่ เราก็อยากเป็นตัวของตัวเองแล้ว ก็สร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ตอนนั้นผมยังไม่วุ่นเท่านี้ ก็ลงข้อมูลหนังเยอะแยะเลย หนังของธัญสก (พันสิทธิวรกุล), อุรุพงษ์ (รักษาสัตย์), ภาณุ อารี, เจ สันติภาพ (อินกอง-งาม) ตอนนั้นยังเป็นอินเทอร์เน็ตแบบโมเด็มอยู่เลย ซึ่งช้าพอสมควร ก็เลยไม่มีหนังให้ดูในเว็บไซต์ มีแค่ที่อยู่สำหรับติดต่อ ตอนนั้นเราต้องการโปรโมตหนังอิสระ หนังทดลองในเมืองไทย ก็จะมีเทศกาลติดต่อมาบ้าง

ตอนตั้งบริษัทมีพนักงานกี่คนครับ
ก็มีผมคนเดียวนะ และเป็นโมเดลจนถึงทุกวันนี้ พอทำหนังทีก็มีคน มีฟรีแลนซ์เข้ามา เพราะเราไม่สามารถเลี้ยงคนได้

หนังเรื่อง สัตว์ประหลาด ก็ได้เข้าประกวดที่เทศกาลหนังเมืองคานส์อีกครั้ง
ใช่ครับ งงเหมือนกัน ตอนนั้นรู้สึกชีวิตดำมืดมาก คุณพ่อเสียชีวิต แล้วก็มีปัญหาความรักและอะไรหลายๆ อย่าง เราถ่ายทอดทุกอย่างเข้าไปใน สัตว์ประหลาด ซึ่งถึงหนังจะออกมานิ่งๆ นะ มันเป็นหนังที่เกรี้ยวกราดที่สุดในชีวิตของเราแล้ว หนังมันมีความดิบ ความเศร้าที่อยู่ในจิตใต้สำนึกเรา มันแสดงออกมาในนั้น แต่ว่าเราไม่รู้หรอกเพราะมันตัดสดๆ แล้วก็ส่งเทปไปที่คานส์ เขาก็โทร.มาจองเข้าร่วมประกวดเลยนะ เพราะเขารู้สึกว่าเป็นหนังที่แปลกมาก และมีอะไรบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ ตอนนั้นก็เริ่มมีเรื่องของ Press Agency เข้ามาแล้ว มีบริษัทซื้อหนังเป็น Sales Company ก่อนฉายที่คานส์

แล้วหนังเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลอีกครั้งที่คานส์ ผลตอบรับตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้างครับ
ตอนนั้นคนจะเริ่มเชื่อมโยงได้แล้ว โดยเฉพาะนักศึกษาด้านภาพยนตร์หรือคนทำงานศิลปะ ก็ตอกย้ำว่าหนังเรามันไม่ใช่หนังสำหรับทุกคนนะ ตอนนั้นแกรมมี่ก็เข้ามาลงทุนด้วยตั้งแต่แรก ๒๕ % เราก็พยายามบอกว่าจะออกฉายเหมือนตอน สุดเสน่หา ไม่ได้นะ ก็วางฉายน้อยโรงมากเฉพาะตามจุดในเมือง ไม่ได้ปูพรม มันก็สำเร็จในระดับหนึ่ง เราก็เริ่มคิดว่ามันน่าจะทำเป็นอาชีพได้นะ แต่ก็ยังมีความไม่เข้าใจเยอะ แล้วก็มีเรื่องความไม่ยุติธรรมของสื่อ เรื่องความไม่เป็นส่วนตัวเข้ามาด้วย ทำให้เราโตขึ้นมาอีกหน่อย
ทางด้านความคิด

ความไม่ยุติธรรมของสื่อเช่นอะไรครับ
คือบางทีเราพูดอย่างแล้วเอาไปบิดเบือน ใช้คำหรือโค้ตมาไม่เต็ม ซึ่งทำให้เรารู้สึกถึงสภาพของสังคม จรรยาบรรณ ว่ามันเป็นอย่างนี้นะในประเทศนี้ รู้สึกผิดหวังนะ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบทเรียน มันทำให้เราเป็นหินแล้วน่ะ ไม่สนใจแล้วพอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังได้ทำหนังที่ร่วมงานกับคนอื่นด้วย คือ หัวใจทรนง (กำกับร่วมกับ ไมเคิล เชาวนาศัย) นับว่าเป็นหนังที่แปลกกว่าหนังเรื่องอื่นของคุณ คนดเข้าถึงได้ง่ายกว่า ไม่ทราบมีที่มาอย่างไรครับ
ผมกำลังเปิดกล้อง สัตว์ประหลาด ทีมงานอยู่เต็มไปหมด แต่เกิดปัญหาอย่างที่เล่ามา เราเป็นหัวเรือ เป็นกัปตัน แต่ว่าน้ำมันหมดแล้ว เคว้งคว้างกลางทะเล ก็บอกว่าขอโทษน้องๆ ด้วย ขอเวลาอีกนิดเพื่อที่จะหาเงิน ยังไงก็ต้องทำ สัตว์ประหลาด ให้ได้ เราก็เริ่มหาทุนจากฝรั่งเศส แล้วก็เพื่อจะหางานให้ทีมงานทำด้วย ก็เลยเข้าไปแกรมมี่ ช่วงนั้นตลาดวีซีดีกำลังบูม เราก็คุยว่าจะทำหนังตลกให้ สนใจไหม เราก็พยายามทำตามโจทย์แต่เป็นในสไตล์ของเรา ทางแกรมมี่เข้าใจ เขาก็ให้ทุนมา แต่ไม่ได้สบายเพราะความต้องการของผู้กำกับ ๒ คนนี่เยอะ เลยต้องทำงานแทบไม่ได้นอนกันตลอด

การทำงานที่เป็นพาณิชย์ในครั้งนั้นได้รับบทเรียนอะไรบ้าง
ผมไม่ได้มองว่าเป็น commercial แต่มันเป็นแนวทางทดลองทางหนึ่งมากกว่า เผอิญเป็นงานที่ผมชอบด้วย เป็นแนวที่ผมสนใจและนำเสนอในงานศิลปะมาหลายชิ้น เกี่ยวกับเรื่องของสื่อ เรื่องของละครทีวีหลังข่าว ในแง่ของตรรกะของเรื่องราว รวมถึงการเหยียดเพศ ซึ่งเหยียดกันทุกเพศเลย ทั้งสามเพศ ในสื่อเหล่านี้ แต่เราทำออกมาในมุมมองแบบขยิบตา

 

ระหว่างทำงานกับธุรกิจภาพยนตร์ไทยกับทำงานอิสระโดยอาศัยทุนจากต่างประเทศต่างกันอย่างไรบ้าง
ข้อแม้จะต่างกันครับ ทุกอย่างอยู่ที่เราเอง เราต้องเข้าใจว่าคนที่สนับสนุนเขาต้องการภาพยนตร์เพื่อตอบโจทย์อะไร ทางต่างประเทศส่วนใหญ่ทุนที่หนังผมได้จะเป็นทุนจากรัฐ
ที่เน้นเรื่องการค้นหามุมมองใหม่ๆ เชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นเราต้องรู้ประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ เราต้องหาความเป็นตัวของตัวเอง รากของเราคืออะไร

apichatpong05

ผลงานเรื่องต่อมาคือ แสงศตวรรษ เป็นหนังเรื่องแรกที่ถูกเซ็นเซอร์จากการตรวจพิจารณาตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้คุณประท้วงผลดังกล่าว ทำไมกล้าตัดสินใจเช่นนั้น
เราเห็นความไม่เป็นธรรมหลายอย่าง ความโบราณของระบบ แล้วตอนที่ทำเรื่องอื่นเราไม่เคยเจอเองไง เรื่องนี้เราเป็นคนโปรดิวซ์เองร่วมกับพี่ปุ๊ก (พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์) ได้ไปเจอกระบวนการดังกล่าวเอง และเรียนรู้จากการสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนทำหนังท่านอื่น ก็เห็นความลักลั่น และการคอร์รัปชันของระบบซึ่งคุมโดยตำรวจ เราก็รู้สึกว่าเราต้องสู้ทุกอย่างเพื่อภาพยนตร์ ความไม่เป็นธรรมในระบบคณะกรรมการด้วยซึ่งบางคนมองเราว่าไม่ได้เป็นฝ่ายเดียวกับค่ายหนังค่ายหนึ่ง ก็เลยเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่เราทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐาน เลยมาจัดสัมมนารณรงค์เรื่องเซ็นเซอร์

ซึ่งเป็นที่มาของเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์
ครับ ได้ประโยชน์มาก ทำให้รู้ว่ามีผู้กำกับหลายคนที่อึดอัดมานาน แต่เขาอยู่ในระบบของบริษัทผู้สร้างหนัง บางครั้งวิธีแก้ปัญหาของเขาก็คือยัดเงินใต้โต๊ะ ซึ่งเขาก็รู้สึกรังเกียจตัวเองที่ทำอย่างนั้น แต่มันต้องทำ เราก็บอก เฮ้ย คุณไม่จำเป็นต้องอดทนกับความอุบาทว์ของระบบนะ เราก็มีแนวร่วมเยอะขึ้น แล้วมันไม่ใช่แค่เสรีภาพของคนทำหนัง แต่เป็นของคนดูด้วย เราไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ ทำหนังเกี่ยวกับหมอต้องมีแพทยสภา ทำหนังเกี่ยวกับพระก็ต้องมีมหาเถรสมาคมมานั่งตัดสิน อย่างนี้คนทำหนังเกี่ยวกับคนทำหนังสือก็ต้องมีสมาคมนักเขียนมานั่งเป็นกรรมการหรือ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง เราก็พยายามจะบอกไปว่าภาพยนตร์ไม่ใช่สื่อเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีต่อทุกสถาบันหรือ อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าประเทศประชาธิปไตยแล้ว คุณอาจจะบอกได้ว่าเสนอภาพแบบนี้อาจจะไม่ตรงกับไกด์ไลน์ของแพทยสภา แต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะมาบอกผมว่าต้องทำหนังแพทย์ในมุมมองที่ดี ต้องช่วยเหลือคน อันนี้มันโฆษณาชวนเชื่อแล้ว เพราะผมโตมากับวงการหมอ เรารักอาชีพนี้ แล้วเรารู้สึกว่าไม่ว่าหมอหรือพระก็ไม่ใช่ขาวไม่ใช่ดำ มันมีสีเทาเยอะแยะ เราทำหนังเกี่ยวกับคน พวกคุณเผด็จการทางความคิดมากนะ หากทางแพทยสภาคิดว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้คุณเสื่อมเสีย คุณต้องฟ้องศาล ไปสู้กันในชั้นศาล แต่ปัญหาคือกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นสร้างความชอบธรรมให้เขาตั้งแต่แรก เราเลยรณรงค์เปลี่ยนกฎหมาย พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ประกอบกับที่ทางมูลนิธิหนังไทยพยายามมาก่อนหน้าเราแต่ไม่สำเร็จ ก็พยายามช่วยเหลือกันจนตอนนี้มีระบบเรตติ้งฒ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกอยู่ เพราะมันยังมีเรตห้ามฉาย และเรตต่างๆ ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติจริง เป็นแค่การแนะนำ

แต่สุดท้ายเรื่อง แสงศตวรรษ ก็โดนตัดอยู่ดี และโดนตัดเพิ่มด้วย
ครับ เพราะตอนนั้นยังอยู่ในโซ่ตรวนของตำรวจอยู่ (ปัจจุบันการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรม) แล้วเหมือนโดนสั่งสอนน่ะ ว่าอย่ามาเหี้ยนหือกับกูนะ เอาไปอีกสองแผล แต่มันทำให้เรายิ่งมีแรงสู้มากขึ้น เป็นผลดี

ตอนนั้นก็มีคนทักท้วงเหมือนกันว่าทำไมถึงยอมให้ตัด น่าจะฟ้องศาลปกครองไปเลยไหม
ผมยังไม่เชื่อในระบบยุติธรรมของบ้านเรา ซึ่งหลายๆ กรณีเราก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน กฎหมายมันเหมือนเป็นเสื้อเกราะให้หน่วยงานราชการเยอะ ซึ่งผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ แต่ว่าในสภาวะตอนนั้นในกรณีที่กฎหมายยังให้อำนาจอยู่ในมือของตำรวจ เราสู้กันทางสังคมดีกว่า ให้คนได้รู้ โดยจัดฉายแบบที่มีฉากสีดำคั่นแทนฉากที่ถูกตัด เพื่อที่จะเป็นการบอกให้รู้ว่านี่ไม่ใช่หนังเรานะ มันเป็นสิ่งที่ถูกทำลายมาแล้ว และมูลนิธิหนังไทยช่วยทำบอร์ดประวัติการปิดหูปิดตาจากภาครัฐตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งให้ความรู้กับคนดูว่า เฮ้ย หนังฮอลลีวูดเรื่องนี้เราไม่ได้ดูเต็มหรือนี่ มันจะมีหนังฮอลลีวูดที่โดนตัดอย่างเนียนๆ อยู่ด้วย

ทราบมาว่าเรื่อง แสงศตวรรษ เป็นหนังที่ทำอุทิศให้คุณพ่อคุณแม่ ท่านได้ดูหนังคุณเจ้ยบ้างไหมครับ
คุณพ่อเสียชีวิตก่อนเรื่อง สัตว์ประหลาด คุณแม่น่าจะไม่ได้ดู แสงศตวรรษ ด้วยซ้ำ เพราะแกเป็นคอละครมากกว่า มันคนละจริตกันน่ะ แต่ว่าเรารู้ว่าเขาภูมิใจกับความสำเร็จที่ได้มา เราเดินได้ในอาชีพที่เราเลือก แค่นี้ก็พอแล้ว

ทางครอบครัวเปิดกว้างมากแค่ไหน
ไม่ได้บังคับอะไรเลย ก็รู้…ว่าลำบาก แต่เขามองว่ามันเป็นการเติบโตในอาชีพ เป็นครอบครัวอิสระ

คุณเจ้ยพูดบ่อย ๆ ว่าตนเองเป็นคนดื้อ หรือชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก การดูหนังถือเป็นสิ่งเสริมสร้างนิสัยนี้หรือเปล่าครับ
ครับ หนังบางเรื่องชวนให้คิดมาก ได้ความรู้ด้านสังคมและการเมืองจากหลายมุมมอง อีกอย่างคงเป็นเพราะผมชอบนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้ามองจริงๆ มักจะพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์และภาพลวงที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

apichatpong06

กรณีทุนไทยเข้มแข็ง ทำไมคุณเจ้ยถึงกลายเป็นตัวตั้งตัวตีอีกครั้งในการประท้วง
ตกกระไดพลอยโจน (หัวเราะ) คือผมมีความคลางแคลงใจเพราะเราพึ่งทุนต่างประเทศมาตลอด พอมีอย่างนี้ดีใจมากที่เห็นรัฐหันมาสนใจหนัง แต่ว่าเมื่อดูกฎระเบียบที่ให้คนส่งใบสมัครเข้าไปมันมีช่องโหว่เยอะมาก แทบจะทุกข้อที่แสดงถึงความไม่รู้ของรัฐ เช่นการที่ไม่มีระบุว่าจะสนับสนุนโปรเจ็กต์ในขั้นตอนไหน ขั้นตอนเขียนบท ตัดต่อ หรือถ่ายทำ ไม่มีเพดานของเงินที่จะให้ การที่ให้ผู้สร้างต่อรองเอาเองว่าจะคืนทุนให้รัฐหรือจะตอบแทนให้รัฐอย่างไรให้เสนอโมเดลมา เราก็เฮ้ย มันมีที่ไหนเขาทำกันแบบนี้ เหมือนเปิดช่องอะไรสักอย่าง แต่ว่าผมก็มองในแง่ดีว่าเขาไม่รู้ แล้วก็มีคณะกรรมการที่น่าเลื่อมใสบางคนด้วยนะ พอผลออกมาแล้ว ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ไป ๑๐๐ ล้านจาก ๒๐๐ ล้านบาท เราก็รู้สึกว่ามันเข้าทางมาก มันตอบโจทย์ทุกอย่างว่าทำไมกฎระเบียบถึงหลวมขนาดนั้น ซึ่งมันไปกระทบกับหนังเรื่องอื่นมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังการค้าหรือไม่การค้าก็ตาม เราก็อยากให้กระทรวงฯ มาพูดคุยมาทบทวนกัน เรานี่ไม่ได้หมายถึงผมคนเดียวนะ บังเอิญว่าผมได้รางวัลศิลปาธร ดูจะเกี่ยวข้องกับางกระทรวงฯ มากกว่าเพื่อน เขาก็เลยดันตัวออกมากับพี่มานิต (ศรีวานิชภูมิ) ซึ่งก็เป็นแอ็กทิวิสต์อยู่แล้ว ตัวผมเองก็ได้ทุนเท่าที่ขอไป ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการนี้ มีแต่ส่วนได้ด้วยซ้ำ

หากเราย้อนกลับไปดูข่าว นายกฯ ไปขี่ช้าง มีข้าราชการจากกระทรวงวัฒนธรรมไปเยี่ยมกองถ่ายท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรี เฉลิม ยุคล) มีการให้คำสัญญาว่ารัฐบาลจะสนับสนุน นายกฯ ได้มอบหน้าที่ให้ ธีระ สลักเพชร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมขณะนั้น) เราก็เลยมองว่านี่คือโจทย์หนึ่งที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาแล้วว่าจะสนับสนุนหนังเรื่องนี้ ก็ไม่เป็นไร แต่เฮ้ย พอมีทุนไทยเข้มแข็งขึ้นมาทำไมเอามารวมกับตรงนี้โดยที่ไม่ได้บอกแต่แรก แล้วในขณะเดียวกันก็มีประกาศหลังจากให้ทุนทันทีว่ารัฐบาลสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ตั้งแต่แรก มันไม่ถูกหลักการ แล้วอย่างนั้นคุณจะมีคณะกรรมการทำไม แสดงว่ามีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าผิด เราแค่อยากพูดคุย เราเลยพยายามส่งสารไปว่าไม่เห็นด้วย ตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจ พอเราพยายามอธิบายก็มีกรรมการหลายคนที่เข้าใจ หลายคนในกระทรวงฯ ก็บอกว่าเขาอึดอัดใจ แต่ในทางปฏิบัติเขาทำอะไรไม่ได้นะ เราก็เลยรู้สึกว่าการที่เรามานั่งคุยกันมันเป็นการช่วยเหลือกันช่วยเหลือประเทศ เราก็นำเอาประสบการณ์มาบอกว่าต่างประเทศมันเป็นอย่างนี้ๆ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต่างประเทศจะดีไปทุกอย่างนะ แต่ว่ามันมีการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในความไม่เท่าเทียมของการกระจายทุน ถ้าคุณจะมองว่ามันเป็นทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ว่าส่วนแบ่งมันตกมาที่กระทรวงวัฒนธรรมมันจะกระตุ้นอะไร มันคือความคิดสร้างสรรค์ที่จะไปต่อยอดทางเศรษฐกิจ มันไม่ใช่การนับเงินว่าหนังเรื่องนี้ทำเงินให้รัฐเท่านั้นเท่านี้ คิดสั้นไป ไม่ได้คิดถึงมุมมองทางวัฒนธรรมที่หลากมิติ ซึ่งผมถือว่าเป็นสิ่งที่บ้านเรายังขาด เป็นจุดอ่อน และในขณะนั้นมีข่าวมาแล้วว่ากระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนอีก ๓๓๐ ล้านให้กับ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมกับงบจากกระทรวงวัฒนธรรม มันเหมาะสมแล้วหรือที่ภาครัฐจะสนับสนุนหนังเชิงพาณิชย์เรื่องหนึ่งเกือบ ๙๐ % ของทุนสร้างทั้งหมด โดยที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยสนับสนุนหนังเชิงประวัติศาสตร์เรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับท่านเดียวกันนี้ ซึ่งผลพลอยได้ก็คือ โรงถ่าย อุปกรณ์ไฮเทค และฉากทั้งหลายที่ก็ยังใช้อยู่จนปัจจุบัน แล้วนี่…อีกเรื่องหนึ่งแล้วหรือ

อีกประเด็นคือเราต้องมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่หนังธรรมดา เป็นหนังของสยามประเทศ คือตามประวัติมีการเชิญชวนนักเรียน ข้าราชการ ไปดูในลักษณะของการศึกษา แต่ต้องเสียเงิน เราจะเอาเงินกู้ต่างประเทศที่เรียกว่าทุนไทยเข้มแข็งไปใช้กับส่วนนี้โดยที่เป็นภาระของประชาชนทั้งหมด แล้วยังต้องเสียภาษีต่อที่ ๒ ในการรณรงค์ให้คนไปดูกันอีก มันสมควรแล้วหรือ ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอะไรกับท่านมุ้ยเลยนะ แต่กลายเป็นว่าพอเราถูกผลักดันมาหน้ากลุ่มกลายเป็นสร้างศัตรูกับท่านมุ้ย อยากจะบอกว่าไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับท่านไหนก็ตาม ยังไงก็ต้องมีคนออกมาทักท้วง เราทราบว่ามีคนเห็นด้วยที่หนังเรื่องนี้จะได้ทุน โอเค ผมไม่สนใจเลยว่ารัฐจะให้เงินร้อยล้านหมื่นล้านก็ให้ไปเลย แต่อย่าเอาโจทย์นี้มาปนกับทุนไทยเข้มแข็งที่คนทำหนังคนอื่นสมัครไปอย่างซื่อๆ มันดูคล้ายกับการสร้างความชอบธรรมให้กับหนังเรื่องหนึ่ง คือคุณเอางบไปเลย แต่เป็นอีกโปรเจ็กต์ได้ไหม เขาก็เลยยอมทบทวนใหม่

apichatpong07

หนังเรื่องล่าสุดคือ ลุงบุญมีระลึกชาติ ได้ไปฉายที่เทศกาลหนังเมืองคานส์และได้รับรางวัล บรรยากาศและปฏิกิริยาคนดูที่นั่นเป็นอย่างไรครับ
มันเป็นหนังที่ตัดต่อด้วยความรวดเร็วมาก ถ่ายเสร็จกลางเดือนมกราคม แล้วส่งคานส์ก่อนเมษา ก่อนเดดไลน์นิดเดียว ตัดต่อกับลี (ชาตะเมธีกุล) คล้ายๆ ตอนทำเรื่อง สัตว์ประหลาด ดูฟุตเทจดูคัตเป็นสิบๆ รอบก็ยังตัดสินไม่ได้ว่ามันจะเวิร์กไม่เวิร์ก แล้วมันมีปัญหาตั้งแต่ช่วงเดินทางด้วย การขอวีซ่าเกือบจะไม่ได้ เพราะพาสปอร์ตของผมไปติดที่อาคารหนึ่งกลางที่ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ก็ไม่รู้จะได้ไปไหม ใจหนึ่งก็ห่วงสถานการณ์ที่นี่ แต่ใจหนึ่งก็…เราทำหนังเรื่องนี้มา ๓-๔ ปี มันเป็นเวทีสำคัญที่เราต้องไปพรีเซนต์งานของเรา ตอนหลังได้ไปคืนก่อนจะมีการฉายรอบกาลาพรีเมียร์ พอไปถึงเขาก็ report เรื่องรอบสื่อมวลชนซึ่ง positive มากๆ แน่นอนมันมีโห่ คือโดยมาตรฐานของคานส์รอบสื่อจะเป็นรอบที่น่ากลัวที่สุด คนจะโห่ไม่ว่าเรื่องอะไร แต่อยู่ดีๆ หนังสือพิมพ์ลงเลยว่า “ม้ามืดมาแล้ว” เพราะเขาว่าปีนี้คานส์เป็นเทศกาลที่น่าเบื่อมาก แต่มี Dark Horse เรื่องนี้ทำให้เทศกาลมีชีวิตขึ้นมา เราก็ดีใจมาก แต่ก็ลุ้นๆ อยู่ เป็นใครก็ตื่นเต้นแน่นอนในรอบกาลา เข้าไปดูหนังตัวเองโดยที่มีคนดูในชุดทักซิโด ๒,๐๐๐ กว่าคน พอดูไปครึ่งเรื่อง หนังมันโอเคแล้ว คนหัวเราะ เรารู้สึกได้ถึงแม่เหล็กของหนังที่ส่งถึงคน เวลาฉากที่มันเงียบคนจะเงียบกริบทั้งโรง คนมีความสนใจมาก แต่ตอนนั้นเราเหนื่อยมาก เดินทางมาทันทีแล้วสัมภาษณ์เลย แล้วก็ไปเดินพรมแดงยิ้มร่า เราก็เลยหลับ(หัวเราะ) ตอนแรก ไซมอน ฟิลด์ โปรดิวเซอร์หลับ เราก็ปลุก พอเขาตื่นเราก็หลับ ก็ตื่นขึ้นมาดูได้นิดแล้วก็หลับต่อ เพราะเราเจ็ตแล็กกัน มาตื่นกันตอนที่ได้ยินเสียงปรบมือเมื่อหนังจบแล้ว ในประเพณีของคานส์ ไฟจะเปิด กล้องจะจับที่หน้าเรา แล้วภาพจะฉายปรากฏไปทั่วเทศกาล โชคดีที่ตื่นก่อนไฟจะเปิด (หัวเราะ) แล้วมันเป็นการปรบมือที่นานมากที่สุดในหนังของเรา โค้งแล้วโค้งอีก ก็…แค่นี้คุ้มแล้วที่พยายามเดินทางมา

แล้วการฉายที่เมืองไทยล่ะครับ ทำไมถึงได้ฉายแค่โรงเดียว วันละรอบ
มันเป็นการตัดสินใจของผมเอง คนจากเอสเอฟ ซีเนม่า เขาก็ไปดู ก็รู้ว่ามันไม่ใช่หนังสำหรับทุกคน บ้านเราตลาดมันไม่เหมือนกันน่ะ เราก็ตัดสินใจเลือกฉาย ๑ โรงเท่านั้น ความจริงก็มีหลายโรงที่อยากฉาย ทั้งเอเพ็กซ์ เมเจอร์ ซึ่งผมรู้สึกดีหมด อย่างเอเพ็กซ์ก็ช่วยเรื่อง สัตว์ประหลาด เมเจอร์ก็ช่วยเรื่อง แสงศตวรรษ แต่ว่าเครือเอสเอฟช่วยเหลือหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะไปคานส์แล้ว พอลองขอแค่ ๑ โรงฉายเขาก็ยอมด้วย ก็ถือเป็นการสื่อสารที่ซื่อ จริงใจกัน แล้ววันละรอบก็พอแล้วเพราะกลุ่มคนดูของเราเป็นกลุ่มคนทำงาน กลุ่มนักศึกษา มันก็เหมือนเป็นการลองตลาด

มีคนซื้อไปจัดจำหน่ายเยอะไหมครับ
ประมาณ ๔๐ ประเทศแล้วครับ

จัดเป็นหนังของคุณเจ้ยที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่เคยทำมา
ใช่ครับ แล้วที่ภูมิใจสำหรับคนทำหนังคือหลายประเทศเขาซื้อก่อนได้รางวัล แค่หนังฉายคืนนั้นตอนที่มีการจัดงานปาร์ตี้ พวก distributor (ผู้ซื้อภาพยนตร์ไปจัดจำหน่ายในแต่ละประเทศ) ก็มาแสดงความยินดีแล้ว เพราะมันจะมีรอบ sales ก่อนหน้านั้นอีก

คุณเจ้ยคิดว่าเทศกาลหนังเมืองคานส์แตกต่างกับเทศกาลอื่นอย่างไร ทำไมเทศกาลนี้ถึงได้รับการยอมรับมานาน
เขาสามารถผสมผสานเวทีของหนังศิลปะและตลาดหนังเข้าด้วยกัน ทำให้ทุกคนจำเป็นต้องไปคานส์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ดารา คอหนัง หรือนักวิจารณ์ เลยกลายเป็นที่รวมญาติไปโดยปริยายของวัฒนธรรมภาพยนตร์โลก เป็นปาร์ตี้ขนาดมหึมา ผมคิดว่าเขามีความชัดเจนในการจัดที่ทางของความหลากหลาย และการสั่งสมความน่าเชื่อถือในแง่ของความจริงใจที่จะสนับสนุนศิลปะของภาพยนตร์ โดยที่รางวัลไม่สามารถซื้อด้วยเงินได้

ในอีกมุมหนึ่ง บางคนก็มองว่าเทศกาลหนังเมืองคานส์เน้นการให้รางวัลกับฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเปล่า เพราะหนังของคุณเจ้ยถูกจับตามองมาโดยตลอด
เราว่าไม่นะ อย่างน้อยตอนที่เราเคยเป็นกรรมการครั้งหนึ่ง ในปี ๒๐๐๘ ปีที่ ฌอน เพนน์ เป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัล เราเห็นว่าระบบมันมีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แล้วประธานเขาคุมอยู่ (หมายถึง กิลส์ จาคอบ ประธานผู้จัดเทศกาลหนังเมืองคานส์)ซึ่งเราทึ่งมากกับการให้อิสระในการ defend ของแต่ละคน มันไม่ได้อยู่ที่เชื้อชาติหรือแม้แต่เพศ ปีหนึ่งมีเรื่องเล่าว่าปีนี้ควรจะให้คนนี้เพราะเป็นผู้หญิงและมาจากประเทศโลกที่สาม กรรมการอีกคนก็โต้ขึ้นมาเลย การเป็นผู้หญิงหรือการมาจากประเทศโลกที่สามไม่ได้หมายความว่าจะได้รางวัลนะ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะถือไพ่เหนือกว่า ไม่อย่างนั้นมันคงไม่ได้เป็นเทศกาลที่ได้รับการยอมรับระดับโลกมาถึงทุกวันนี้

ตอนที่ไปเทศกาลหนังเมืองคานส์ และคุณเจ้ยได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ซึ่งความเห็นของคุณก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร คุณเจ้ยมองเรื่องนี้อย่างไร
อย่างที่บอกก็คือเราเป็นหินไปแล้ว ไม่ได้สะทกสะท้านอะไรเท่าไร รู้แล้วว่าสังคมเป็นอย่างนี้ เราพูดในสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ โดยที่พยายามจะอธิบายให้เขาฟังจากมุมมองของเรา โดยที่ไม่ได้ไปโปรใคร ในขณะที่เราพูดถึงเรื่องความไม่เท่าเทียม และเรื่องทักษิณ เราก็พูดด้วยว่าจริงๆ แล้วเรื่องของความโปร่งใสมันต้องมีการสืบสวนอีก เราก็พยายามพูดให้มันกลางที่สุดสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้ แต่แค่นี้คนไทยหลายคนก็รับไม่ได้แล้ว ซึ่งลักษณะการพูดของเรามันเหมือนกับอนุรักษนิยมเลยพอไปอยู่ในบริบทของต่างประเทศ แต่มันก็ยังดีกว่าการที่เราสร้างภาพที่เราไม่เชื่อหรือขอไม่พูด มันยิ่งแสดงความไม่มีตัวตนของเราไปกันใหญ่ ว่า เฮ้ย คุณต้องเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยนะ มันยิ่งเป็นการแสดงภาพลบต่อประเทศอีก

หนังของคุณตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องล่าสุดมักนำเสนอเรื่องราวของคนชายขอบ ทำไมถึงสนใจในประเด็นนี้
ผมก็เป็นคนที่ถูกดันให้เป็นคนชายขอบในระดับหนึ่ง ในแง่ของการสร้างหนังที่ถูกเซ็นเซอร์ หรือการถูกดูถูกจากหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะการถูกดูถูกที่กองเซ็นเซอร์ มันเป็นแรงผลักดันมากเลย ต้องขอบคุณเขาที่ทำให้เรารู้สึกถึงประเด็นนี้ เรื่องของเสรีภาพที่ถูกปิดกั้น และทำให้เราสนใจเรื่องอื่นๆ ในสังคมด้วย ตามันค่อยๆ สว่างขึ้นในหลายเรื่องของสังคมไทย

อีกอย่างการที่เราโตมาที่ขอนแก่น ทำให้มีความแอนตี้กรุงเทพฯ คือ เฮ้ย เมืองไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองไทยนะ สมัยเด็กๆ คุณพ่อเปิดคลินิกในเมืองขอนแก่น คนไข้มาเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน ชาวนา เราได้เห็นความลำบากเยอะแยะ ซึ่งเราก็มองเห็นด้านที่ตลก มันมีทั้งด้านมืดด้านสว่างเหมือนที่นำเสนอในหนังเรื่อง แสงศตวรรษ คือไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะมีแต่ความอินโนเซนต์หรือความพอเพียงในลักษณะของความเป็นอยู่ มันไม่ใช่อย่างนั้น ชาวบ้านก็ต้องการยาระงับความเครียดเหมือนกับคนในเมืองเหมือนกัน เราเลยมองเห็นว่าความลำบาก ความไม่เท่าเทียมมันเยอะมาก

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมเริ่มทำงานศิลปะเกี่ยวกับอีสานด้วย มันก็เชื่อมโยงกับหนังเรื่อง ลุงบุญมีฯ คือพยายามที่จะไปศึกษาประวัติศาสตร์ของภาคอีสานว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทั้งด้านการเมือง ด้านสังคม โดยไปสร้างศิลปะที่หมู่บ้านนาบัว นครพนม หมู่บ้านประวัติศาสตร์

ประสบการณ์ชีวิตหล่อหลอมให้คุณมองเห็นแง่มุมเหล่านี้
ใช่ครับ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราเป็นคนที่พยายามชอบตั้งคำถามด้วย และมีหลายอย่างที่มันตอบไม่ได้ในสังคมไทย แล้วมันย้อนกลับไปถามเรื่องการเรียนของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์-การเมือง หลังจากเราเริ่มค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตบ้าง ทางสื่อต่างประเทศบ้าง ว่าบทเรียนประวัติศาสตร์ที่เราเรียนมาและบางส่วนก็ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำไมมันถึงถูกบิดเบือนได้ขนาดนี้ เราเลยรับรู้ได้ถึงการโฆษณาชวนเชื่อที่เปลี่ยนรูปแบบมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการที่เราเป็นคนทำสื่อด้วยก็เลยรู้สึกว่ามันต้องแสดงความรับผิดชอบ ในด้านของเราก็คือด้านศิลปะ จากมุมมองส่วนตัวออกมาบ้างเหมือนกัน จากประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการที่เราเป็นคนที่ใส่เสื้อเหลืองไปประท้วง ทักษิณออกไปๆ ที่สนามหลวง

 

apichatpong08

คุณเคยไปประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในสมัยนั้นด้วย ?
ใช่ครับ จนถึงปัจจุบันเราสามารถพูดได้ว่าอึดอัดมาก จะบอกยังไงดีว่า…ไม่เห็นด้วยกับทั้งคู่เลย ความจริงมีหลายคู่มาก มันเป็นปัญหาของระบบที่สั่งสมมา ของสีต่างๆ และการพยายามที่จะหาจุดยืนให้ทุกคน และผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่บอกว่าคนที่ไม่เลือกข้างคือคนไม่มีคุณภาพ ไม่แยแส แต่ผมรู้สึกว่าเราไม่มีที่ยืน แล้วจะมายืนทำไม เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่เลือกหรือ เหมือนพวกที่เอาแต่จะไล่คนออกจากประเทศ ต้องทำตำราสีออกมาขายให้คนเลือก บอกลักษณะว่า เหลือง ๑ มีความคิดปรัชญาการเมืองอย่างไร เหลือง ๒.๑ เป็นอย่างไร แดง ๓.๖ เขียว ๔.๓…คือมันไม่สามารถที่จะมองอะไรง่ายๆ อย่างนั้นได้ เราเลยพยายามมองในมุมมองของเรามากกว่าจะไปฝักใฝ่ จะเห็นว่างานช่วงหลังๆ ออกไปในทางสังคมมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นเชิงวิชาการโดยตรง เป็นแค่ข้อมูลที่เราค้นคว้าเฉยๆ เพราะผมเชื่อว่าถ้าเรานำเสนอศิลปะในด้านที่เราอยากจะพูด มันต้องมีความเป็นนามธรรมในระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเราเขียนหนังสือดีกว่า นักวิชาการนักเขียนหลายคนเขาก็เขียนหนังสือในมุมมองที่น่าสนใจอยู่แล้ว

ในหนังเรื่อง ลุงบุญมีฯ มีความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ และการกลับชาติมาเกิด ตรงนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสะท้อนสังคม หรือเป็นความเชื่อของคุณเองครับ
ทั้งคู่ครับ เพราะว่าเราสนใจในการมองตัวเองว่าเราโตมาในสังคมอย่างไร จริงๆ แล้วเรากลัวผีกันทุกคนแหละ แต่ว่าทำไมล่ะ ? แล้วก็เรื่องของสื่อด้วยที่ทำให้เรากลัวผีกัน เรื่องความเชื่ออะไรพวกนี้ แต่ผมไม่ได้มองในด้านลบนะ ผมว่ามันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของสังคมไทย เป็นเสน่ห์ที่กำลังจะหายไปด้วยซ้ำเรื่องผีในภาพยนตร์แบบนั้น เพราะหนังเรื่องนี้มันพูดถึงเรื่องความเชื่อและความตายในสังคมในการเมืองไทยและในหลายๆ อย่าง หนังเรื่องนี้มันเหมือนเป็นการแสดงความเคารพและการอำลากับภาพยนตร์ในรูปแบบหนึ่งที่เราโตมาและกำลังจะหายไปแล้ว เพราะการทำหนังเดี๋ยวนี้มันเป็นสากลมาก จนภาษาหลายๆ อย่างมันกลายเป็นภาษาหนังของฮอลลีวูดไปแล้ว ผมรู้ว่าเพื่อนในกลุ่มผู้กำกับหลายคนแอนตี้ด้วยซ้ำกับการทำหนังแบบผม บอกว่าเราทำหนังให้ฝรั่งดู แต่ผมกลับรู้สึกว่าภาษาของหนังไทยที่ทำอยู่ตอนนี้มันก็คือภาษาฝรั่งด้วยซ้ำ เป็นภาษาสากล สิ่งที่เราพยายามทำคือพยายามหาภาษาของเราเอง ภาษาที่เราเชื่อ และก็อยู่ระหว่างการค้นหา…ซึ่งก็เป็นจุดหนึ่งที่คนไม่เข้าใจ

บางคนมองว่าชาวบ้านหรือตัวละครอื่น ๆ ในหนังของคุณ นี่แหละความเป็นไทย แต่ขณะที่อีกคนกลับมองต่างไปเลย คุณมีความคิดเห็นตรงนี้อย่างไร
ผมบอกไม่ได้เลยครับว่าความเป็นไทยคืออะไร รู้แต่ว่าเราพยายามสะท้อนมุมมองของการใช้ชีวิตที่นี่ เรื่องความเชื่อ เรื่องระดับชั้นของสังคม และในบางเรื่องจะเป็นการโหยหาอดีตที่มันหายไปแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ผมกำลังเรียนรู้ที่จะเดินไปข้างหน้า มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ที่โยงใยกับปัจจุบันมากขึ้น และหวังว่าหนังที่ทำในอนาคตจะเสนอ
มุมมองในด้านนี้ออกมา

ประเด็นความรักและการแสดงออกทางเพศดูเหมือนจะมีอยู่เสมอในหนังของคุณ
ความรักและเพศทำให้คนเราเปลี่ยนวิถีชีวิต มันเชื่อมอย่างแกะไม่ออกเลยกับสังคม การแสดงออกทางเพศในหนังของผมมันจะมีความแตกต่างหลากหลายนะ บางเรื่องเราพูดถึงชายรักชาย บางทีก็พูดถึงเพศในการเอาตัวรอด รวมถึงความเชื่อของผมเองในแง่อนาคตที่ว่ามันจะเกิดสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์ขึ้น อย่างในลักษณะหนัง ลุงบุญมีฯ ก็คือลิงผี ซึ่งมันจะโยงกับเรื่องทางการเมืองด้วย

วิธีการทำหนังของคุณที่คล้ายงานสารคดี เดินเรื่องช้า ๆ ตั้งกล้องนิ่ง ๆ ถ่ายภาพระยะไกล หรือการตัดฉากหนึ่งไปอีกฉากหนึ่งที่เป็นคนละเรื่องกันเลย เหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากใครหรือเปล่าครับ
มีเยอะเหมือนกันครับ ถึงตอนที่ผมถ่ายทำจะไม่ได้คิดถึงคนเหล่านี้ แต่มันเป็นการเคารพ การสั่งสมความชอบหนังสไตล์นี้ หนังอิหร่าน หนังเอเชีย หนังไต้หวัน หรือหนังทางยุโรป มันเป็นมุมมองที่พยายามจะปรับมาใช้กับความทรงจำของเราที่อยู่เมืองไทย เรื่องของเสรีภาพของคนดูว่าคุณจะเลือกดูมุมไหนในเฟรมก็ได้

คือพยายามจะทิ้งความเป็นฮอลลีวูดไป
ก็ไม่เชิงครับ สนใจสไตล์ฮอลลีวูดอยู่ครับ แต่พยายามดูว่าเทคนิคแบบนั้นมันเหมาะกับเรื่องที่ทำ เพราะหลายเรื่องเลยแม้แต่ สัตว์ประหลาด มันจะมีโครงสร้างหรือช็อตที่ได้มาจากฮอลลีวูดพอสมควร

หนังเรื่องต่อไปจะมีการคลี่คลาย หรือเข้าถึงคนดูมากขึ้นหรือเปล่าครับ
ตอบยากมากครับ ผมมองว่าหนังแต่ละเรื่องมันจะมีบุคลิกของมัน มันเหมือนคน หนังอย่าง สัตว์ประหลาด อาจมืดหน่อย แต่เรื่องต่อไปอาจจะไม่ก็ได้

สำหรับหลายคนที่ดูหนังของคุณเจ้ยไม่รู้เรื่อง ตรงนี้มีความเห็นอย่างไร
คือวัฒนธรรมการดูหนังของเรามันมีการเติบโตมาในรูปแบบหนึ่ง การสนับสนุนจากภาครัฐไม่มี เราไม่มีโรงหนังอาร์ตเฮาส์ โรงหนังเพื่อศิลปะ เพราะฉะนั้นการเติบโตของสื่อมันเลยไม่ได้มาก เราจะไปโทษคนดูไม่ได้ว่าทำไมเขาไม่ชอบหนังเรา คนที่ชอบดูหนังเราส่วนใหญ่คือคนที่ชอบดูหนัง เป็นคนที่ค่อนข้างฮาร์ดคอร์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจะปะติดปะต่อได้ เรื่องของโครงสร้าง เรื่องของประวัติศาสตร์หนัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนดูหนังมาเยอะจะชอบหนังของผม เช่นเดียวกับงานเขียน ทุกคนมีจริตต่างกัน แต่เราจะทำอย่างไรให้จริตนี้มันหลากหลาย ความฝันของผมอันหนึ่งคือจะสร้างโรงหนังเฉพาะขึ้นมาในเชียงใหม่ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้เปิดกว้างกับโลกภาพยนตร์ที่มีให้ มันคือส่วนหนึ่งของการยอมรับด้วยว่า…เฮ้ย โลกนี้มันมีอะไรแตกต่างเยอะนะ ทั้งการยอมรับเพื่อนบ้าน การยอมรับความแตกต่างทางสีผิว ทางเพศ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ พระเอกไม่ได้มีแต่คนขาว

โรงหนังเฉพาะที่นี่เป็นโครงการต่อไปของคุณเจ้ยใช่ไหมครับ
เป็นหนึ่งในความใฝ่ฝันกับคุณป๊อด (ธนชัย อุชชิน สมาชิกวงโมเดิร์นด็อก) ตอนนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง กำลังวางแผนกันอยู่ว่าเราต้องการพื้นที่นี้ แต่ว่าเราต้องการคนที่เข้าใจและสนับสนุนโครงการนี้

ในฐานะที่คุณเป็นคนสนับสนุนการเผยแพร่งานศิลปะ อย่างการสร้างโรงหนังเฉพาะ หรือโรงหนังเพื่อศิลปะ คุณคิดว่าการทำงานด้านศิลปะมีบทบาทกับสังคมมากน้อยแค่ไหน
คือศิลปะมันเป็นการแสดงปัจเจกออกมา ซึ่งมันเป็นอาชีพหนึ่งนะ มันเป็นเหมือนอาหารสมองทางความคิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารขยะหรือไม่ใช่ ศิลปะที่เลวก็มี ศิลปะที่ดีก็มี มันขึ้นอยู่กับปัจเจกจริงๆ ของคนเสพหรือคนสร้างว่ามันจะจูนคลื่นกันได้ไหม ผมจะไม่ตัดสินว่าอันนี้ดีอันนี้เลว นอกจากจะตัดสินในมุมมองส่วนตัวว่าเรื่องนี้ดีไหมเราบอกได้ การสร้างศิลปะและการมีพื้นที่ให้มันจะปลูกฝังให้คนได้คิด

สมมุติว่าทางภาครัฐอยากสนับสนุน แต่ยังติดในมุมมองที่ว่าการทำงานด้านศิลปะมันไม่ทำเงินล่ะครับ
อย่างนี้ก็คงไม่เหมาะที่จะสนับสนุนแล้ว เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเม็ดเงินอย่างเดียว มันเป็นการสร้างขุมทรัพย์ทั้งปัจจุบันและอนาคตเลย โดยที่มันไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ หรือถ้ามีนักเศรษฐศาสตร์อยากที่จะตีค่าจริงๆ ก็ตีได้ ยกตัวอย่าง สมมุติ ลุงบุญมีฯ ได้ลงเต็มหน้าของ Le Monde (หนังสือพิมพ์ชื่อดังของฝรั่งเศส) มันตีค่าเป็นโฆษณาประเทศเท่าไหร่ แล้วมันลงกี่ฉบับล่ะ คิดเป็น ๑๐-๒๐ ล้านเลยนะแค่เรื่องเล็กๆ เรื่องเดียว แล้วถ้าคิดถึงว่ามีหลายๆ เรื่องล่ะ ถ้าคิดในแง่นั้น ซึ่งในโรงหนังอย่างเอสเอฟเขาก็ทำ ข่าวไปลงตีค่าเป็นเท่าไหร่ เขาตีค่าเป็นล้านแล้วในคุณค่าด้านสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องนี้รัฐมักจะตามวิธีคิดแบบนี้ไม่ทัน

ในต่างประเทศโรงหนังเพื่อศิลปะเช่นที่ฝรั่งเศสเป็นยังไงครับ มันสะท้อนวัฒนธรรมการดูหนังที่ต่างจากบ้านเราอย่างไร
แต่ละประเทศจะต่างกันไปครับ ส่วนใหญ่รัฐจะสนับสนุน เป็นพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านภาพยนตร์แก่ประชาชน บางที่อยู่ในสวนสาธารณะ ในอาคาร มีห้องสมุด ส่วนจัดนิทรรศการ และมีฉายหนังหลากหลาย โดยเฉพาะหนังที่ไม่มีช่องทางการตลาดตามปรกติ หรือหนังคลาสสิกหาดูยาก หรือรวมงานหนังผู้กำกับคนใดคนหนึ่ง หรือหนังสำหรับเด็ก หนังเกี่ยวกับสัตว์ ฯลฯ ฉายเป็นเดือน มีกิจกรรมสัมมนา แต่ในบางประเทศบางแห่งก็ไม่มีภาครัฐสนับสนุนนะครับ เช่นบางที่ของญี่ปุ่นจะมีโรงหนัง มีห้องเวิร์กชอป บางแห่งก็เป็นร้านอาหาร บาร์ ข้างบนฉายหนัง อย่างนี้ไม่ใช่ซีเนมาเทค เป็นอาร์ตเฮาส์หรือโรงหนังศิลปะมากกว่า คนดูก็มีหลากหลายครับ เหมือนชมรมทั่วไป ไม่สามารถแข่งได้กับหนังการค้าปรกติ ต้องอาศัยกิจกรรมเสริมอื่นๆ คือจะมีความอบอุ่นใกล้ชิดกันระหว่างคนดู ดูหนังเสร็จแล้วมานั่งถกกันต่อในสวนหรือในร้านกาแฟ บาร์ ได้เจอเพื่อนใหม่ อะไรเหล่านี้เป็นต้น

ในฐานะที่ทำงานศิลปะ Installation เป็นอาชีพหลัก ทำไมศิลปะแขนงนี้จึงยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างนักในเมืองไทย อย่าง Primitive เองก็ยังไม่ได้จัดแสดงในประเทศใช่ไหมครับ
ครับ คือประเทศไทยยังต้องการการบริหารจัดการศิลปะมากกว่านี้ ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญไม่กี่คน แต่ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเอื้อให้เกิดกิจกรรม พื้นที่ในการแสดงงานที่เหมาะสมกว่านี้ สิ่งที่ผมทำได้คงจะเป็นการแสดงงานให้เหมาะสมกับระบบที่สามารถจะสนับสนุนเราได้ที่นี่ ณ ขณะนี้

ทำไมคุณเจ้ยถึงเลือกที่จะมาอยู่ที่แม่ริม อำเภอเล็ก ๆ ในเชียงใหม่นี้ล่ะครับ
รู้สึกว่ากรุงเทพฯ จะเปลี่ยนตัวผม รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ มันต้องมีเงินถึงจะมีชีวิตอยู่ด้วยความสุข มีเงินใช้จ่ายในหลายๆ อย่าง มันเปลี่ยนเราโดยสังเกตได้ว่าตอนขับรถมันทำให้เราเป็นคนก้าวร้าว เรื่องสื่อ เรื่องพื้นที่ ในกรุงเทพฯ มันมีสิ่งลวงเยอะ ทำให้จิตใจขุ่นมัวมาก การที่มาอยู่ต่างจังหวัดมันให้ประโยชน์กับตัวเราเองมาก ผมคิดว่าน่าจะพัฒนาตัวเองได้ดีกว่า

เพราะหนังของคุณส่วนใหญ่เน้นการถ่ายทำในพื้นที่ชนบทหรือในป่า ทำให้การคิดงานที่นี่เหมาะกว่าในกรุงเทพฯ ด้วยหรือเปล่า
จริงครับ เพราะความเงียบ ทำให้เราฟุ้งซ่านอยู่คนเดียวได้

ในมุมมองของคุณ วงการภาพยนตร์ไทยยังมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ไขหรือสะสาง
ผมต้องการเห็นสหภาพแรงงานวิชาชีพภาพยนตร์เพื่อที่จะต่อรองกับรัฐให้มากกว่านี้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทีมงานคนทำหนัง และการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะคนเขียนบท และที่สำคัญอีกอย่างคือ หอภาพยนตร์ซึ่งเป็นองค์การมหาชนแล้ว ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองให้ได้

แล้วกับทิศทางวงการภาพยนตร์อิสระในปัจจุบันล่ะครับ สามารถอยู่รอดได้หรือยัง
ผมว่าอยู่รอดได้และไม่ห่วงตรงส่วนนี้ ความหวังของผมอยู่ที่คนทำหนังรุ่นใหม่ที่อ้าแขนรับดิจิทัลเทคโนโลยี แน่นอนมันจะมีส่วนหนึ่งที่ถูกกลืนไปกับโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ แต่ว่ายิ่งกดยิ่งเซ็นเซอร์มากเท่าไร มันก็ต้องมีแรงดันต้านมากขึ้นเท่านั้น ใจหนึ่งก็เลยรู้สึกว่า เออ กดไปเถอะ เดี๋ยวมันก็จะมีผลออกมาเอง มีนักข่าวจากต่างประเทศเคยถามผมว่า ประเทศจีนซึ่งคนมีเสรีภาพน้อยมากในการแสดงออก ทำไมเขามีหนังดีๆ ด้านการเมืองออกมาที่ยังหลุดไปฉายที่คานส์หรือที่อื่นๆ ได้ แต่ทำไมประเทศไทยไม่มี ทั้งที่ในมุมมองของเขา เขามองว่าประเทศไทยคนถูกกดมากทางด้านเสรีภาพ การแสดงออก บางทีในบางจุดมากกว่าจีนด้วยซ้ำ ทำไมไม่มีหนังการเมืองออกมาทั้งที่เห็นในข่าวทุกวัน ผมได้แต่ตอบว่ามันต้องรอการสั่งสม แต่มันเป็นคำถามที่ผมอยากฝากไปให้คิดดูด้วยก็แล้วกันนะครับ

วงการหนังอิสระของอเมริกาช่วง ๑๐ ปีก่อนที่บูมมาก มีหนังเล็ก ๆ ได้เข้าชิงออสการ์ แต่ตอนนี้ก็เงียบลงไปอีกครั้ง การเกิดหนังอิสระยุคนี้จะน่าสนใจเพราะดิจิทัลเทคโนโลยีด้วยใช่ไหมครับ
แน่นอนเลยครับ มันเป็นสื่อที่สามารถสร้างได้ในราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน และในบางแง่มันเป็นสื่อประชาธิปไตยในด้านการเสนอมุมมองของผู้สร้างได้ตรงมากกว่าหนังที่มีข้อจำกัดเรื่องดารา การตลาดที่ต้องคืนทุนร้อยล้าน เป็นต้น คือว่าถ้าเราดูหนังฮอลลีวูดติดต่อกันตลอดก็ไม่ไหวเหมือนกัน เลี่ยน หนังเล็กๆ ทำให้หนังใหญ่มีค่ามากขึ้นนะ

ทุกวันนี้เรามี พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฉบับใหม่ออกมา มีการจัดเรตหนังแล้ว แต่เหมือนคนทำหนังก็ยังเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าทำหนังการเมืองกัน
ใช่ครับ แต่คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจมากขึ้นว่าอะไรคืออะไร ในขณะที่รัฐยังใช้เทคนิคโบราณอยู่ แต่ว่ามันใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่หาวิธีเชื่อมต่อกัน เว็บไซต์จะถูกแบนถูกเซ็นเซอร์ไปกี่แสนเว็บ มันก็มีอีกหลายแสนล้านที่คุณไม่สามารถบล็อกได้หมด หรือการแชต ทวิตเตอร์ก็ยังมี การบอกว่าจงปรองดองกันเถิดแต่ขอปิดเว็บไซต์นี้ๆ หน่อยนะ ผมว่ามันทั้งน่ากลัวและน่าสนใจ คือนอกจากความกลัวแล้วมันจะมีแรงดันออกมาด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดี

มันจะเป็นถึงขั้นที่ว่านักศึกษาทำหนังสั้นการเมืองดูกันไม่กี่คนแล้วมีเจ้าหน้าที่มาตรวจจับเลยหรือเปล่า
เรื่องแบบนี้ผมก็ยังกลัวเลย แต่มันก็เป็นเหมือนกับเส้นทางในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศแล้ว โดยเฉพาะทางยุโรปตะวันออกที่ทำหนังวิจารณ์ภาครัฐไม่ได้ ต้องไปทำเชิงสัญลักษณ์แทน เมืองไทยก็คงเป็นไปตามทางนั้น

มองว่าวิวัฒนาการมันจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน
ใช่ ซึ่งมันจะดีด้วย มันเกิดหนังดีๆ ขึ้นมาเยอะมากเลยในช่วงยุค ๗๐ ถ้าเทียบกันแล้วมันก็ ๓๐ ปี ตามก้นเขาน่ะ มันทำให้เห็นว่าภาพยนตร์มันมีพลังบางอย่างซึ่งพอคุณพูดไม่ตรงมันดีกว่าอีก มันทำให้คนได้คิด

มองทิศทางวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนครับ รวมถึงการบูมของหนัง ๓ มิติในช่วงนี้
ผมว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะส่งผลให้เกิดหนัง ๔ มิติหรือ ๕ มิติขึ้นมา เรายังคงต้องการงานที่มีการเล่าเรื่องที่ดี และหนังในกระแสและนอกกระแสต้องพึ่งกันและกันต่อไป คุณค่าของคนเขียนบทจะมากขึ้น ดูอย่างที่มีการซื้อลิขสิทธิ์บทภาพยนตร์กันไปรีเมกกันไปมา คือคอมพิวเตอร์มันยังไม่สามารถแต่งเรื่องได้น่ะครับ และมันจะมีการร่วมทุนสร้างกันมากขึ้น วัฒนธรรมจะเป็นลูกผสมมากขึ้น ฮอลลีวูดจะเต็มไปด้วยลูกผสม

แล้วปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ล่ะครับ
เป็นวิถีของโลกครับ อยู่ในระยะปรับตัวว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานจะอยู่รอดได้อย่างไร ผมรู้สึกว่าคนที่ต้องเปลี่ยนจะเป็นผู้สร้างมากกว่าในเรื่องของรูปแบบการเผยแพร่ การจัดจำหน่าย

เชิงอรรถ
๑. เทศกาลหนังเมืองคานส์จะแบ่งหนังที่ออกฉายในเทศกาลไว้หลายสาย โดยหนังที่ได้รับเชิญในฐานะ “ได้รับเลือกอย่างเป็นทางการ”(Official Selection) ได้แก่ In Competition หนังที่ได้รับคัดเลือกเพื่อประกวดรางวัล, Un Certain Regard หรือหมายถึงหนังที่ได้รับคัดเลือกในฐานะหนังน่าจับตามอง โดยมองมักเป็นการคัดหนังที่แปลกใหม่มากกว่าความคุ้นชินของคนดู, Out of Competition หรือหนังฉายนอกสายประกวด และ Cannes Classic หนังเก่าที่ถูกคัดเลือกฉายตามวาระพิเศษ (ข้อมูลจาก http://www.festival-cannes.fr)
๒. Press Agency บริษัทของมืออาชีพทางด้านการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับงานต่างๆ ในที่นี้หมายถึงการประชาสัมพันธ์หนังสำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์
๓. Press Kit หรือ Media Kit สื่อสิ่งพิมพ์ หรือวัสดุอื่นๆ สำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป สื่อมวลชน บริษัทผู้ประกอบการ หรือผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์
๔. ปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ได้มีบทบาทในวงการภาพยนตร์อิสระทั้งสิ้น อาทิ ธัญสก พันสิทธิวรกุล เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยอินดี้, อุรุพงษ์ รักษาสัตย์ เป็นผู้กำกับหนังอิสระเน้นชีวิตคนชนบท เช่น สวรรค์บ้านนา, ภาณุ อารี เป็นผู้กำกับหนังอิสาระที่จับประเด็นเรื่องราวคนมุสลิม เช่น มูอัลลัฟ, Baby Arabia, สันติภาพ อินกองงาม เป็นผู้กำกับหนังอิสาระและโครงการหนังทางภาคเหนือ
๕. ในที่นี้หมายถึง Film Sales Agents ตัวแทนของผู้สร้างหนังในการทำหน้าที่ขายหนังให้กับผู้จัดจำหน่าย
๖. พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๓ ได้จัดให้มีประเภทภาพยนตร์สำหรับกลุ่มผู้ชมอายุต่างๆ ในหมวด ๓ มาตราที่ ๒๖ หรือระบบเรตติ้ง ซึ่งเป็นวิธีที่หลายประเทศใช้ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์
๗. ในเทศกาลหนังเมืองคานส์จะแบ่งการฉายหนังในสายการประกวดเป็น ๒ รอบ คือรอบ Press Conferences หรือรอบสำหรับสื่อมวลชน และนักวิจารณ์ และรอบ Gala Premiere รอบฉายปฐมทัศน์อย่างเป็นทางการของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว สำหรับผู้ชมทั่วไป