จักรพันธุ์ กังวาฬ

ในยุคปัจจุบันที่สภาวะโลกร้อนส่งผลคุกคามไปทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่า แม้แต่พิธีศพทั้งการฝังและการเผาต่างก่อผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน  แต่ไม่นานมานี้บริษัทเอกชนของประเทศออสเตรเลียได้คิดค้นกระบวนการจัดการกับ ร่างไร้วิญญาณที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม เรียกว่า อะควาเมชัน (aquamation)

ในกรณีการฝังศพ โลงศพส่วนใหญ่ทำจากกระดานไม้อัดที่ไม่ย่อยสลายในธรรมชาติ หรือแม้แต่การใช้โลงศพที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ น้ำยาดองศพที่ใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็งก็สามารถ รั่วซึมสู่พื้นดิน นอกจากนั้นในปัจจุบันหลายประเทศยังประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินสำหรับการฝังศพ อีกด้วย  ส่วนการเผาศพที่ต้องใช้ความร้อนสูงประมาณ ๘๕๐ องศาเซลเซียส มีงานวิจัยจากศาสตราจารย์โรเจอร์ ชอร์ต แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ระบุว่าการเผาศพผู้เสียชีวิต ๑ ราย ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ ๑๖๐ กิโลกรัม

บริษัท Aquamation Industries จากรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวอ้างว่าได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการศพผู้เสียชีวิตรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการย่อยสลายที่เรียกว่า อัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส (alkaline hydrolysis)

ร่างผู้เสียชีวิตจะถูกนำไปแช่ในภาชนะโลหะขนาดใหญ่ซึ่งบรรจุน้ำร้อนที่มี อุณหภูมิ ๙๓ องศาเซลเซียส ผสมกับสารโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์  เมื่อทิ้งไว้เป็นเวลา ๔ ชั่วโมง อวัยวะและเนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกายจะถูกย่อยสลายไปหมดสิ้นจนเหลือแต่ กระดูก ซึ่งสามารถนำไปบดเป็นผงเพื่อมอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตเก็บไว้เป็นที่ระลึก

จอห์น ฮัมฟรีย์ ประธานบริหารบริษัทอะควาเมชัน อินดัสตรีส์ ระบุว่า กระบวนการอะควาเมชันใช้พลังงานเพียง ๕-๑๐ % ของพลังงานที่ใช้ในการเผาศพเท่านั้น และหลังจากร่างกายย่อยสลายไปแล้ว น้ำที่เหลือจากกระบวนการดังกล่าวก็ไม่มีสารพิษตกค้าง ปลอดภัยเพียงพอสำหรับนำไปราดรดต้นไม้ เพราะมันมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยอย่างดีที่ช่วยให้พืชผลเจริญงอกงาม เพียงแต่บางครั้งอาจมีภาวะความเป็นด่างสูงเกินไป ก็สามารถเติมกรดซิตริกหรือน้ำส้มสายชูเพื่อให้มันมีคุณสมบัติเป็นกลางได้

จอห์นกล่าวอีกว่า อะควาเมชันยังต่างกับการเผาศพตรงที่ไม่ทำลายอวัยวะเทียมที่แพทย์ผ่าตัดใส่ ให้ในร่างกายขณะผู้ตายยังมีชีวิต เช่นกระดูกสะโพกหรือข้อเข่าเทียม จึงสามารถนำอวัยวะเทียมเหล่านี้กลับไปใช้ได้อีกในผู้ป่วยรายอื่น

ความจริงแล้ว อะควาเมชันไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ของโลกอย่างแท้จริง กระบวนการย่อยสลายแบบอัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส เคยถูกนำไปใช้สำหรับกำจัดซากศพวัวที่ติดเชื้อวัวบ้า  นอกจากนั้นประเทศอเมริกาก็ใช้วิธีนี้ ซึ่งเรียกว่า รีโซเมชัน (resomation) เพื่อย่อยสลายศพของผู้บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หรือศพนัก โทษ  ปัจจุบันนี้รีโซเมชันผ่านการอนุมัติจาก ๖ รัฐในอเมริกาให้เป็นวิธีการทำศพที่ถูกต้องตามกฎหมาย

กระบวนการรีโซเมชันแตกต่างจากอะควาเมชันตรงที่ศพผู้เสียชีวิตจะถูกแช่ในน้ำ ผสมสารโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ที่มีอุณหภูมิสูง ๑๖๐ องศาเซลเซียส ภายใต้สภาพความดันสูงมาก

ตั้งแต่บริษัทอะควาเมชัน อินดัสตรีส์ เริ่มเสนอขายอุปกรณ์และให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จอห์นกล่าวว่ามีชาวออสเตรเลียกว่า ๖๐ คนจากทั่วประเทศสนใจสั่งซื้อนวัตกรรมการจัดการศพรูปแบบใหม่นี้ อีกทั้งยังมีผู้สนใจ