พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

ความสุดโต่งในยุคข่าวสารข้อมูลบารัก โอบามา เป็นใคร ? ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  บารัก โอบามา นับถือศาสนาอะไร ?  หลายคนย่อมตอบได้ว่าเขานับถือศาสนาคริสต์ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่าเขานับถือศาสนาอิสลาม เชื่อหรือไม่ว่าคนกลุ่มหลังนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ซาอีร์หรือรวันดา หากอยู่ในสหรัฐอเมริกานี้เอง

การสำรวจความคิดเห็นของสำนักวิจัยแห่งหนึ่งเมื่อกลางปี ๒๕๕๓ พบว่าร้อยละ ๑๙ ของชาวอเมริกันเชื่อว่าโอบามาเป็นชาวมุสลิม  ไม่กี่เดือนต่อมานิตยสาร ไทม์ รายงานว่าชาวอเมริกันที่มีความเชื่อดังกล่าวมีสูงถึงร้อยละ ๒๔  ข้อมูลของบางสำนักระบุว่าในสหรัฐอเมริกามีถึง ๓๐ ล้านคนที่มีความเชื่อเช่นนี้  หลายคนเข้าใจว่าโอบามาเป็นมุสลิมก็ด้วยเหตุผลเพียงเพราะชื่อและนามสกุล โดยเฉพาะ “ฮุสเซน” ซึ่งเป็นชื่อกลางของเขา  อีกไม่น้อยเชื่อเพราะได้ข่าวลือมาว่าในวัยเด็กเขาเคยเข้าโรงเรียนสอนศาสนา อิสลามในอินโดนีเซีย รวมทั้งได้ฟังมาว่าเขาไม่ยอมเอามือแตะหัวใจขณะกล่าวคำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดี ต่อประเทศสหรัฐอเมริกา

ความเข้าใจว่าโอบามาเป็นมุสลิมมิใช่เรื่องใหม่ หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีเสียอีก  ความที่เขาเป็นตัวเก็งในตำแหน่งนี้จึงมีการปล่อยข่าวลือนานาประการเกี่ยวกับ ตัวเขาในช่วงหาเสียง รวมทั้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการนับถือศาสนาของเขา  การปล่อยข่าวลือดังกล่าวได้ผลไม่น้อย  เดือนเมษายน ๒๕๕๑ หรือ ๖ เดือนก่อนวันลงคะแนนเสียง มีชาวอเมริกันร้อยละ ๑๐ ที่เชื่อว่าเขานับถือศาสนาอิสลาม  ที่น่าแปลกใจก็คือหลังจากที่เขาได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ความเข้าใจผิดดังกล่าวแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มขึ้นมากกว่า ๒ เท่า ดังผลสำรวจของนิตยสาร ไทม์ ข้างต้น

ใช่แต่เพียงเท่านั้น ยังมีคนอเมริกันไม่น้อยที่เชื่อว่าโอบามาไม่ได้เกิดในสหรัฐอเมริกา แต่เกิดที่ประเทศเคนยา  คนที่เชื่อเช่นนี้มีถึงร้อยละ ๒๐ ของชาวอเมริกันที่บรรลุนิติภาวะ  ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่เพราะหากเป็นความจริงก็หมายความว่าโอบามาไม่มี สิทธิ์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีการฟ้องศาลกล่าวหาว่าเขามิใช่ชาวอเมริกันโดยกำเนิด

โอบามาและคณะของเขาปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเขาไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม และไม่เคยเข้าโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม รวมทั้งโต้แย้งข้อกล่าวหาอีกมากมายด้วยการนำหลักฐานต่างๆ มายืนยัน  ใช่แต่เท่านั้น หน่วยงานของรัฐก็ยังนำสูติบัตรมาเป็นหลักฐานยืนยันว่าโอบามาเกิดในฮาวาย แต่จนแล้วจนรอดคนที่เชื่อข่าวลือก็ไม่ได้ลดลงเลย กลับเพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก

ควรกล่าวด้วยว่าผู้ที่เชื่อข่าวลือดังกล่าวไม่ใช่คนระดับรากหญ้าที่ไร้การ ศึกษา  คนเหล่านี้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ท่องเน็ต  คำถามจึงมีว่าเหตุใดจึงมีคนเชื่อข้อมูลเท็จกันมากมายทั่วประเทศทั้งๆ ที่รายล้อมด้วยข่าวสารข้อมูลมหาศาล  เหตุใดข่าวลือจึงแพร่ระบาดในประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งในด้านสารสนเทศ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในยุคข่าวสารข้อมูล

คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเรามีสมมุติฐานว่าข่าวลือกับยุคข่าวสารข้อมูลน่า จะเป็นสิ่งตรงข้ามกัน แต่ความจริงแล้ว สองสิ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้ จะว่าไปมันยังเกื้อกูลกันด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างก็คือ เป็นเพราะทุกวันนี้มีข่าวสารข้อมูลท่วมท้น

ข่าวลือข่าวเท็จจึงแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะข่าวเท็จที่เหลือเชื่ออย่างยิ่งข่าวลือข่าวเท็จนั้นใครๆ ก็หลงเชื่อได้ง่ายหากไม่ไตร่ตรอง แต่จะไตร่ตรองได้อย่างไรในเมื่อข่าวสารข้อมูลไหลบ่าท่วมท้นตลอดทั้งวัน  ดังนั้นจึงยากที่ใครจะรู้ว่าแต่ละวันรับเอาข่าวลือข่าวเท็จไปมากมายเพียงใด  ใช่แต่เท่านั้น ทุกวันนี้ข้อมูลมีความหลากหลายมาก แม้เทคโนโลยีจะเอื้อให้เราเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีเพื่อคัดกรองข่าวสารข้อมูลมากกว่า  เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน รีโมตคอนโทรลช่วยให้เราสามารถคัดกรองรายการโทรทัศน์นับร้อยนับพันออกไป ทำให้เราเลือกดูรายการที่สนใจได้สะดวกขึ้น  ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาอีกมากมายเพื่อคัดกรองข่าวสาร จนเหลือแต่ข่าวสารที่อยู่ในความสนใจของเราหรือถูกใจเรา (เช่น สั้น ง่าย กระชับ) อาทิ ข่าวทางโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต (RSS feed) ที่เราสามารถกำหนดได้ว่าจะเป็นข่าวประเภทไหน ผลก็คือยิ่งมีข่าวสารข้อมูลมากเท่าใดก็ยิ่งมีข่าวสารถูกคัดกรองออกไปมากเท่า นั้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผู้คนมีอำนาจมากขึ้นในการกรองข้อมูลที่ปรากฏแก่ตน  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการเลือกรับข่าวสารข้อมูลที่ตรงกับจริตของตน รวมทั้งความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติของตนมากขึ้น  ในขณะที่ข่าวสารข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติของตนถูกคัดกรองออกไป ทำให้ผู้คนมีความคิดเห็นโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากขึ้นจนกลายเป็นความสุด โต่งไป

ดูเผินๆ ก็น่าแปลกที่ผู้คนมีความคิดสุดโต่งมากขึ้นทั้งๆ ที่ยุคนี้ข่าวสารข้อมูลมีความหลากหลายอย่างยิ่ง  แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ยิ่งมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารข้อมูลมากเท่าไร สื่อที่นำเสนอข้อมูลด้านเดียวหรือความเห็นสุดโต่งก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  อีกทั้งเทคโนโลยีก็เอื้อให้สื่อประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เพราะใช้ต้นทุนไม่มาก อาทิ เว็บไซต์ บล็อก หรือรายการวิทยุโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ต ผลก็คือสื่อประเภทสุดโต่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และเป็นพาหะให้ข่าวลือข่าวเท็จแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่รับสื่อเหล่านี้ก็พร้อมจะเชื่อข่าวเหล่านี้อยู่แล้วหากสอดคล้อง กับความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติของตน

ในสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ที่เติบโตเร็วมากที่สุดประเภทหนึ่งได้แก่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาโอน เอียงสนับสนุนอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งอย่างชัดเจน เช่นเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม  พูดอีกอย่างคือ ถ้าไม่ซ้ายก็ขวาไปเลย  เว็บไซต์เหล่านี้ล้วนมีลิงก์เชื่อมโยงไปสู่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาอย่างเดียว กัน ถ้าเปรียบกับคนก็ล้วนเป็นคนที่คบหาแต่คอเดียวกัน คิดเหมือนกัน สนใจเรื่องเดียวกัน  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งพึ่งพิงข่าวสารข้อมูลจากเว็บไซต์เหล่านี้มาก เท่าไร ก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อ อุดมการณ์ และอคติที่มีอยู่เดิมให้ฝังลึกแน่นหนามากเท่านั้น

สื่อที่ตอบสนองความเชื่อและอุดมการณ์ไปคนละทิศละทางนี้เองที่ทำให้เกิดการ แบ่งขั้วทางความคิดอย่างชัดเจนในสังคม  บรรยากาศเช่นนี้เอื้อให้คนอเมริกันจำนวนหลายสิบล้านเชื่อข่าวลือและข่าวเท็จ เกี่ยวกับโอบามาอย่างฝังหัว ไม่เฉพาะเรื่องศาสนาและถิ่นกำเนิดของเขาเท่านั้น หากยังรวมถึงข่าวลือว่าเขาเป็นสังคมนิยมและฟาสซิสต์ด้วย  ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าคนที่เชื่อข่าวลือเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิ กันซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเดโมแครตของโอบามา (๑ ใน ๓ ของสมาชิกพรรครีพับลิกันไม่เชื่อว่าโอบามาเกิดในสหรัฐฯ  อีก ๑ ใน ๓ ตอบว่าไม่แน่ใจ)

ความเชื่อและอคติฝังหัวทำให้คนเหล่านี้ไม่สนใจฟังคำชี้แจงของโอบามาหรือทีม งานของเขา แม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าเขานับถือศาสนาคริสต์และเกิดที่ฮาวาย (รวมทั้งคลิปวิดีโอที่มีภาพเขาเอามือแตะหัวใจขณะกล่าวคำปฏิญาณจงรักภักดีต่อ สหรัฐอเมริกา) คนเหล่านี้ก็ทำหูทวนลม หาไม่ก็สรรหาเหตุผลมาหักล้างได้หมด  จนแม้เมื่อรัฐฮาวายนำสูติบัตรของเขามาแสดงในเว็บไซต์ คนเหล่านี้ก็ยังปฏิเสธว่าไม่ใช่ของจริง มีพิรุธตรงนั้นตรงนี้ หรือแม้หาข้อผิดพลาดไม่เจอก็ยังอ้างว่าปลอมได้เนียนมาก

กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่ายุคสารสนเทศไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้คนจะมีข้อมูลที่หลากหลายรอบด้าน
จนรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของข่าวลือข่าวเท็จ  ในทางตรงข้ามมันกลับเอื้อให้ผู้คนมีความคิดที่คับแคบหรือมี
ความเห็นสุดโต่งจนหลงเชื่อข่าวลือข่าวเท็จง่ายขึ้นด้วยซ้ำ  ควรกล่าวด้วยว่าการติดต่อสื่อสารที่สะดวกฉับไวก็มีส่วนทำให้ผู้คนมีความคิด สุดโต่งมากขึ้นด้วย  มักพูดกันว่าอินเทอร์เน็ตช่วยย่อโลกให้เล็กลง ในด้านหนึ่งมันช่วยให้เข้าถึงคนที่อยู่ไกลได้ง่ายขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้ผู้คนคบค้าสมาคมกับคนคอเดียวกันได้สะดวกขึ้น ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน แค่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็สามารถแลกเปลี่ยนความเห็น ระบายอารมณ์ สาดใส่ความเกลียด หรือปล่อยข่าวลือไปได้แล้ว ซึ่งก็ยิ่งหนุนเสริมตอกย้ำความเชื่อและอคติให้แก่กันและกัน

สภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากยังเห็นได้ชัดในเมืองไทย  ข่าวสารข้อมูลที่หลากหลายไม่ได้ช่วยให้ผู้คนมีความเห็นรอบด้านและใจกว้างมาก ขึ้นเลย กลับคับแคบและมีความคิดสุดโต่ง แบ่งขั้วแบ่งข้างกันชัดเจนยิ่งขึ้น  แต่ละขั้วต่างมีสื่อที่ตอบสนองความเชื่อและหนุนเสริมอคติให้ฝังแน่นขึ้น ทุกฝ่ายต่างดูโทรทัศน์หรือเว็บไซต์ของพวกตน และปิดหูปิดตาไม่รับรู้ข้อมูลจากอีกฝ่าย จึงยิ่งมองเห็นอีกฝ่ายหรือคนที่คิดต่างจากตน เป็นพวกเลวร้ายไม่ต่างจากปีศาจหรือยักษ์มาร (เพียงแต่ติดฉลากต่างชื่อเท่านั้น) ข้อเท็จจริงใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตนก็ปฏิเสธไว้ก่อน หาไม่ก็สรรหาเหตุผลต่างๆ มาหักล้าง แม้จะเป็นการเอาสีข้างเข้าถูก็ตาม จะว่าไปแล้วเมื่อมีความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่ฝังแน่น ซ้ำยังมีความโกรธเกลียดหนุนเนื่องด้วยแล้ว ยากที่ใครจะสนใจความจริงหรือข้อเท็จจริงที่เป็นกลางๆ หากสนใจรับรู้แต่สิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเท่านั้น

อคตินั้นไม่ได้เกิดจากไหน แรกเริ่มเดิมทีก็เกิดจากการปรุงแต่งของเรา แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็สามารถปรุงแต่งทั้งความคิดและการรับรู้ของเรา ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับมัน  ถ้ามีอคติว่าใครเลวก็คิดถึงเขาแต่ในแง่เลวร้าย หรือเห็นทุกอย่างที่เขาทำเลวไปหมด ทำให้มีอคติรุนแรงมากขึ้น จนรู้สึกโกรธทันทีที่เห็นหรือนึกถึง  และเมื่อโกรธใครแล้ว ก็ยิ่งอยากคบค้าสมาคมกับคนที่โกรธ “ผู้ร้าย” คนเดียวกัน (จะโดยทางโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตก็แล้วแต่) รวมทั้งอยากให้ผู้ที่สนิทชิดเชื้อกับเราโกรธเจ้าหมอนั่นด้วย แต่หากเขาไม่โกรธ
เราก็จะไม่พอใจเขา หาไม่ก็จะต้องโกรธเจ้าหมอนั่นให้หนักขึ้น ต้องด่าว่ามันให้รุนแรงกว่าเดิม เพื่อคนใกล้ชิดของเราจะได้โกรธมันเสียที  แต่ถ้ายังไม่โกรธหรือไม่เห็นว่าเขาเป็นตัวเลวร้าย ทีนี้เราก็จะระบายความโกรธใส่คนคนนั้นแทน ผลก็คือทะเลาะวิวาทกัน

ในบรรยากาศอย่างนี้แหละที่ผู้คนจะชื่นชอบใครก็ตามที่เล่นงานฝ่ายตรง ข้ามอย่างสาดเสียเทเสีย ยิ่งพูดแรงๆ ใส่อารมณ์มากก็ยิ่งยกนิ้วให้ ด้วยเหตุนี้ใครที่ต้องการได้รับคะแนนนิยมจากพวกเดียวกันยิ่งต้องแสดงความ กราดเกรี้ยวและสุดโต่งให้มากกว่าคนอื่น โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่ตนพูดจะเป็นเท็จหรือไม่ ขอให้ถูกใจคนฟังเป็นพอ  จึงไม่น่าแปลกใจที่นักการเมืองเหล่านี้ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือก ตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนี้คือเหตุผลว่าทำไม ซาราห์ เพลิน จึงได้รับความนิยมอย่างสูงจากชาวอเมริกันฝ่ายขวา ทั้งๆ ที่สิ่งที่เธอพูดนั้นเป็นเท็จหรือขาดหลักฐานและข้อมูล  ส่วนในเมืองไทยก็เห็นได้ไม่ยากว่าใครที่พูดแรงหรือโจมตีอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำ หยาบคาย ก็ได้รับยกย่องสรรเสริญเช่นกัน

คนเราจะมีความคิดความเชื่อ “อะไร” ไม่สำคัญเท่ากับว่าคิดและเชื่อ “อย่างไร” แม้จะสมาทานความคิดความเชื่อที่สูงส่งหรือวิเศษเพียงใด แต่หากสมาทานอย่างสุดโต่งหรือยึดติดถือมั่นอย่างหัวปักหัวปำแล้ว ก็ย่อมกลายเป็นโทษยิ่งกว่าเป็นคุณ เพราะย่อมเปิดรับความเท็จและตกเป็นทาสของความโกรธเกลียดได้ง่าย ทำให้มองเห็นคนที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู และพร้อมจะทำร้ายเขาทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ  ในทางตรงข้ามแม้จะมีความเชื่อที่คร่ำครึ ไม่ทันยุคทันสมัย แต่สมาทานด้วยใจที่เปิดกว้าง ไม่ลืมหูลืมตา เคารพคนที่คิดต่างจากตน ย่อมมีโอกาสที่จะเข้าถึงความจริงและหยิบยื่นไมตรีให้แก่ผู้คน ทำให้เกิดการร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ส่วนรวมได้  ในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย นี้มิใช่หรือท่าทีที่เราควรมีต่อกัน

ความหลากหลายไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การแบ่งขั้วแบ่งข้างและตั้งตัวเป็น ปฏิปักษ์ต่อกัน  มีประโยชน์อะไรหากเรายึดติดถือมั่นกับความคิด เชิดชูอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่กลับทำร้ายเพื่อนมนุษย์ แม้ไม่ถึงกับเลือดตกยางออก แต่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเขาด้วยการหยามเหยียด หรือใส่ร้ายป้ายสีเพียงเพื่อสังเวยความเชื่อของตนเท่านั้น