พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

pain“ภัทรา” มีลูกชายที่เรียบร้อยและขยันเรียน เป็นผู้ใหญ่เกินอายุ  วันหนึ่งลูกชายวัย ๑๕ มาขอแม่ว่าอยากไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย  เธอเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ใคร่ครวญมาดีแล้วของลูก จึงอนุญาตให้ลูกไปด้วยความมั่นใจว่าอินเดียจะให้อะไรแก่เขาได้มากมาย

ผ่านไปไม่ถึงปี เธอก็ได้รับข่าวร้าย ลูกชายประสบอุบัติเหตุจมน้ำตาย  เธอแทบช็อก เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญนานนับเดือน  แม้ผ่านไป ๓ ปี เธอก็ยังรู้สึกเจ็บปวด  ลำพังความโศกเศร้าที่สูญเสียลูกรัก ก็นับว่าหนักหนาแล้ว  ยิ่งไปกว่านั้นคือความรู้สึกผิดที่ทิ่มแทงใจเธอวันแล้ววันเล่าไม่เคยสร่าง

เธอเอาแต่โทษตัวเองว่าเป็นเพราะเธออนุญาตให้ลูกไปอินเดีย “วันนั้นฉันน่าจะห้ามลูกไม่ให้ไปอินเดีย ถ้าฉันห้ามไว้ เขาก็คงไม่ตาย” ยิ่งคิดยิ่งเจ็บปวดจนอยากจะตายตามลูก

เมื่อผู้เป็นที่รักจากไปก่อนวัยอันควร ผู้ที่ยังอยู่ โดยเฉพาะพ่อแม่หรือพี่น้อง ย่อมอดรู้สึกผิดไม่ได้ว่าตนเองมีส่วนในการจากไปของเขา ทั้งที่เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่หลายคนก็มักโทษตัวเอง “วันนั้นฉันน่าจะเตือนเขาให้ใส่หมวกกันน็อก” “คืนนั้นฉันน่าจะห้ามเขาไม่ให้กินเหล้าจนเมา” ฯลฯ

เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น อย่างหนึ่งที่ควรทำ คือยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เพราะการปฏิเสธความจริง ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มีแต่จะก่อผลเสีย  สิ่งที่ทำให้เราไม่ยอมรับความจริง คือคำว่า “ฉันน่าจะ” นั่นเอง  ทันทีที่นึกถึงคำนี้ขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคือการโทษตนเอง ซึ่งยิ่งทำให้ยอมรับเหตุร้ายได้ยากขึ้น

คำว่า “น่าจะ” นั้นมีประโยชน์สำหรับการมองหาทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจลงมือทำอะไรก็ตาม  แต่หากใช้กับเหตุการณ์ซึ่งผ่านไปแล้ว ถ้ามิใช่เพื่อไตร่ตรองหาข้อผิดพลาดสำหรับการปรับปรุงแก้ไขในอนาคต ก็ง่ายที่จะกลายเป็นการซ้ำเติมตัวเองในสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง  ไม่เฉพาะการสูญเสียคนรักเท่านั้น แม้กระทั่งการสูญเสียทรัพย์สมบัติ หรือความผิดพลาดในการทำงาน เราจะไม่อาจปล่อยวาง หากยังวนเวียนอยู่กับความคิดว่า “ฉันน่าจะทำอย่างนี้ ไม่น่าทำอย่างนั้น”  จะดีกว่าหากเราสรุปบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วปล่อยให้มันผ่านเลยเพื่อเดินหน้าต่อไป

อันที่จริง อย่าว่าแต่เหตุการณ์ไม่พึงปรารถนา แม้ประสบสิ่งพึงปรารถนา แต่ถ้ามีคำว่า “น่าจะ” ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที เช่น ได้โบนัส ๕ แสน แทนที่จะดีใจ ก็เสียใจทันทีเมื่อนึกในใจว่า “ฉันน่าจะได้มากกว่านี้”  พ่อแม่หลายคนไม่พอใจเมื่อลูกได้เกรด ๓.๕ เพราะคิดว่าลูกน่าจะได้เกรดดีกว่านี้  ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่มีการศึกษาพบว่านักกีฬาเหรียญเงินโอลิมปิกส่วนใหญ่มีความสุขน้อยกว่านักกีฬาเหรียญทองแดง เพราะพวกเขาวนเวียนอยู่กับความคิดว่า ตนน่าจะได้เหรียญทอง และตอนแข่งขันตนน่าจะทำให้ดีกว่านั้น

ควบคู่กับคำว่า “น่าจะ” ก็คือ “ไม่น่าจะ”

หลายคนเป็นทุกข์เพราะคิดอยู่แต่ว่าตนไม่น่าทำอย่างนั้นอย่างนี้เลยในวันนั้น  บางคนเสียแม่ไปหลายปีแล้วยังเศร้าเสียใจและรู้สึกผิดกระทั่งทุกวันนี้ เพราะมัวแต่โทษตนเองว่า ไม่น่ายื้อชีวิตแม่ด้วยการเจาะคอใส่ท่อท่านเลย ทำให้ท่านทุกข์ทรมานมาก ทั้งที่ท่านวิงวอนด้วยสายตา แต่ก็ไม่อาจถอดท่อให้ท่าน  ผลคือท่านต้องเจ็บปวดจนสิ้นลม

ความโศกเศร้าเจ็บปวดต่อเนื่องนานหลายปี ทำให้ในที่สุด “ภัทรา” หันเข้าหาธรรมะ  เธอเรียนรู้และซึมซับความจริงทีละน้อยๆ ว่า ชีวิตนั้นหาความจีรังยั่งยืนไม่ได้  ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิตซึ่งไม่มีใครหนีพ้น  ถึงที่สุดแล้วเมื่อต้องละจากโลกนี้ไปก็ไม่มีอะไรที่เราเอาไปได้ และแม้ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่มีสิ่งใดที่เรายึดมั่นให้คงที่ คงตัว หรือเป็นไปได้ดั่งใจ  เธอเริ่มคลายความโศกเศร้าที่สูญเสียลูกไป

ขณะเดียวกันการทำสมาธิภาวนาช่วยให้เธอสงบใจได้มากขึ้น และคลายความรู้สึกผิดที่ติดค้างใจมานาน สามารถปล่อยวางความคิดที่ทิ่มแทงซ้ำเติมตัวเอง และยอมรับตัวเองมากขึ้น ไม่รู้สึกเกลียดชังตัวเองอีกต่อไป  เธอพบว่าที่จริงแล้วความทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากความคิดปรุงแต่งของเธอเอง  เมื่อรู้ทันความคิดปรุงแต่งและเห็นตัวเองตามที่เป็นจริง ความสุขและความสงบเย็นก็บังเกิดขึ้นในจิตใจของเธออย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

เธอไม่เพียงขอบคุณธรรมะเท่านั้น แต่ยังขอบคุณลูกชาย  หากลูกชายไม่ด่วนจากไป แม่ก็คงไม่ได้พบธรรมะ หลังจากที่เคยโทษตัวเองและก่นด่าชะตากรรม วันนี้มุมมองของเธอต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนไป  เธอถึงกับบอกว่า “ความตายของลูกนับว่าคุ้มค่ามาก เพราะทำให้แม่ได้พบพระธรรม”  มีแม่น้อยคนที่จะพูดถึงความตายของลูกได้เช่นนี้

ทุกวันนี้เมื่อภัทราหวนระลึกถึงความตายของลูก เธอไม่รู้สึกเจ็บปวดอีก เพราะด้วยสายตาใหม่ ทำให้เห็นคุณค่าและความหมายใหม่ของเหตุการณ์ ว่ามิใช่มีแต่ความสูญเสีย แต่นำสิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตของเธอจนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

เหตุร้ายในอดีตที่สร้างความเจ็บปวดแก่เรานั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็จริง แต่เราลดทอนพิษสงของมันลงได้ด้วยการมองมันในมุมใหม่  นั่นคือมองว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิตของเราอย่างไร ช่วยให้เราเติบโตหรือเข้มแข็งได้อย่างไร  การเห็นหรือให้ความหมายใหม่ ทำให้มันมิใช่ความทรงจำอันเลวร้ายอีกต่อไป  นึกถึงทีไร ก็ไม่ทุกข์อีกแล้ว

จากเดิมซึ่งเป็นแผลเรื้อรัง แตะต้องทีไรก็รู้สึกเจ็บปวดทุกที บัดนี้มันกลายเป็นแผลเป็น สัมผัสเท่าไรก็ไม่เจ็บ  ในเวลาเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต