เฟย์
www.faylicity.com
Born on a Blue Day บันทึกของอัจฉริยะ
หนังสือ Born on a Blue Day
เขียนโดย Daniel Tammet
สำนักพิมพ์ Hodder & Stoughton
ค.ศ. ๒๐๐๖
ISBN 978-0-340-89975-5
๒๘๔ หน้า ราคา ๖.๙๙ ปอนด์

แดเนียล แทมเมต (Daniel Tammet) เขียนเล่าเรื่องชีวิตของตนเองในหนังสือ Born on a Blue Day เรื่องของเขาน่าสนใจเพราะแดเนียลเป็นซาวองต์ (savant) คือเป็นผู้ที่มีความผิดปรกติทางพัฒนาการแต่กลับมีทักษะบางด้านเหนือกว่าคนทั่วไป เช่นถ้าถามว่า ๑๓/๙๗ เป็นเท่าใด เขาตอบได้ละเอียดถึงทศนิยมตำแหน่งที่ ๑๐๐ ซาวองต์ที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดคือตัวละครจากหนังเรื่อง Rain Man ซึ่งรับบทโดย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน

ความเป็นอัจฉริยะเช่นนี้มักต้องแลกมาด้วยราคาแพงมาก ด้วยความพิการรุนแรงทางร่างกายและ/หรือจิตใจ คนเหล่านี้อาจคำนวณตัวเลขมาก ๆ ได้แต่ไม่อาจช่วยเหลือดูแลตัวเองและไม่อาจตอบคำถามว่าพวกเขาคำนวณเลขอย่างไร แต่แดเนียลตอบคำถามนี้ได้ อาจกล่าวได้ว่าบุคคลแบบเขานั้นแทบไม่มีมาก่อน ดังนั้นเรื่องราวของเขาจึงพิเศษอย่างยิ่ง

ครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นอัจฉริยะเช่นนี้เป็นออทิสติก นั่นคือมีความบกพร่องที่มีผลต่อการสื่อสารและจินตนาการ แดเนียลเป็นออทิสติกประเภท Asperger’s Syndrome ซึ่งเป็นชนิดที่มีอาการไม่รุนแรง เขาใช้ชีวิตและทำอะไรต่าง ๆ ได้เกือบเหมือนคนทั่วไป แดเนียลชอบทำอะไรเป็นกิจวัตร เช่นเขากินโจ๊ก ๔๕ กรัมทุกเช้า ซึ่งเขานำไปชั่งด้วยตาชั่งไฟฟ้า เขานับจำนวนชิ้นของเสื้อผ้าก่อนออกจากบ้าน เขาต้องดื่มชาเวลาเดิมทุกวัน และจะไม่สบายใจมาก ๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แดเนียลไม่ชอบให้ใครถูกเนื้อต้องตัว เขาไม่ค่อยมีสมาธิเวลาฟังใครพูดและต้องจดจ่อมาก ๆ จึงจะเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดได้ตลอดรอดฝั่ง

เวลาไม่สบายใจแดเนียลจะนับเลขหรือนับจำนวนคนรอบตัว ตัวเลขเป็นภาษาแรกของเขาและเป็นเพื่อนแท้ สำหรับเขา ตัวเลขแต่ละตัวมีบุคลิกเฉพาะตน มีสีและลักษณะไม่เหมือนกันเลย “๑๑ เป็นมิตร ๕ เสียงดัง แต่ ๔ ขี้อายและเงียบ ๆ–เป็นเลขที่ผมชอบ อาจเพราะทำให้ผมนึกถึงตัวเอง เลขบางตัวตัวใหญ่ เช่น ๒๓, ๖๖๗, ๑๑๗๙ แต่บางตัวตัวเล็ก เช่น ๖, ๑๓, ๕๘๑ บางตัวสวย เช่น ๓๓๓ บางตัวน่าเกลียด เช่น ๒๘๙ ตัวเลขทุกตัวพิเศษสำหรับผม”

แดเนียลเห็นเลข ๑ เป็นสีขาวจัดจ้า เลข ๕ เป็นเสียงฟ้าร้องหรือเสียงคลื่นซัดก้อนหิน เลข ๓๗ เป็นก้อน ๆ เหมือนโจ๊ก เลข ๘๙ เหมือนหิมะตก เขาชอบเลขจำนวนเฉพาะเป็นพิเศษ ตัวเลขเหล่านี้ไม่มีใครหารลงตัวนอกจากตัวมันเองและ ๑ (เช่น ๒, ๓, ๕, ๗, ๑๑) รูปทรงของตัวเลขเหล่านี้กลมมนไม่ขรุขระและโดดเด่นกว่าตัวเลขอื่น ๆ แดเนียลยังชอบเลขยกกำลัง เช่น ๓๗๒ = ๓๗ x ๓๗ เพราะเลขยกกำลังมีรูปร่างสมมาตรเสมอ ยิ่งยกกำลังมากเท่าใด รูปทรงและสีสันของผลลัพธ์ยิ่งซับซ้อนขึ้น เช่น ๓๗ x ๓๗ x ๓๗ x ๓๗ x ๓๗ = ๖๙,๓๔๓,๙๕๗ เป็นวงกลมวงใหญ่ที่เกิดจากวงกลมเล็ก ๆ วิ่งวนไปตามเข็มนาฬิกา

tammet02
ผลงานกราฟิกดีไซน์เกี่ยวกับแดเนียล โดย Selma van Gorkum

tammet03

tammet04

การคำนวณ ๕๓ X ๑๓๑ ของแดเีนียล

แดเนียลไม่ได้คำนวณเลขโดยใช้วิธีเหมือนอย่างที่เราเรียนในโรงเรียน (วิธีนั้นยากกว่ามากสำหรับเขา) เขาคำนวณในความคิด เวลาหาร เขาเห็นเกลียวที่หมุนลงด้านล่างไปเรื่อย ๆ เวลาคูณเลขสองจำนวน เขาเห็นตัวเลขสองตัวที่มีรูปร่างต่างกันค่อย ๆ เปลี่ยนรูปร่างไปจนเกิดเป็นรูปร่างใหม่ซึ่งเป็นคำตอบ เช่น ๕๓ x ๑๓๑ มีคำตอบเป็นพื้นที่ว่างระหว่างรูปทรงทั้งสอง

การรู้ว่าวันที่ใดตรงกับวันใดในสัปดาห์ (เช่นวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ตรงกับวันอาทิตย์) เป็นเรื่องสามัญสำหรับซาวองต์ เพราะปฏิทินมีลักษณะเป็นแบบแผน คาดการณ์ได้ แดเนียลรู้สึกว่าวันต่าง ๆ ในสัปดาห์มีสีและอารมณ์ต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ Born on a Blue Day เพราะเขาเกิดวันพุธซึ่งมีสีฟ้า

นอกจากตัวเลขจะมีบุคลิกแตกต่างกันแล้ว ถ้อยคำต่าง ๆ ยังมีสีสันต่างกัน สีของคำมักเกิดจากตัวอักษรตัวแรก (แต่ไม่เสมอไป) เช่นคำที่ขึ้นต้นด้วย a เช่น at เป็นสีแดง คำที่ขึ้นต้นด้วย h เช่น hat เป็นสีขาว แดเนียลเรียนภาษาได้รวดเร็ว ปัจจุบันเขารู้ถึง ๑๐ ภาษา อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน เวลส์ ฟินแลนด์ และเขายังคิดภาษาใหม่ขึ้นเองอีกด้วยแดเนียลเล่าชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก เขาเกิดที่ลอนดอนตะวันออกในครอบครัวฐานะยากจน เป็นเด็กที่ร้องไห้บ่อยจนอายุ ๒ ขวบ แดเนียลไม่เล่นไม่สุงสิงกับใคร ไม่ค่อยพูด เขามีโลกส่วนตัวซึ่งหนังสือเป็นสิ่งพิเศษในโลกนั้น แดเนียลชอบความเงียบเวลาที่คนอ่านหนังสือ ดังนั้นห้องสมุดจึงเป็นสถานที่ที่เขาชื่นชอบ เขาเคยเอาหนังสือที่บ้านมากองรอบตัว ถึงแม้ยังอ่านหนังสือไม่ออกแต่เขามีความสุขที่ได้แวดล้อมด้วยตัวเลข เพราะหนังสือทุกเล่มล้วนมีเลขหน้า

แดเนียลเป็นลมชักเมื่ออายุ ๔ ขวบ ตั้งแต่นั้นเขาเริ่มมีทักษะอัจฉริยะ แดเนียลเข้าโรงเรียนและเป็นเด็กแปลกแยกจากเด็กคนอื่น เขาไม่มีเพื่อนและไม่สนใจจะมีเพื่อน ไม่สบตาคนเวลาคุยด้วยแต่มักจะก้มหน้ามองพื้น เขาชอบวิชาประวัติศาสตร์เป็นพิเศษเพราะจดจำข้อมูลต่าง ๆ ได้แม่นยำ แดเนียลไม่เคยพลาดรถเมล์ไปโรงเรียนเลย เพราะเขาจำตารางเวลารถเมล์ได้ทั้งตาราง

เมื่อจบมัธยมปลาย แดเนียลตัดสินใจไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย เขาพยายามสมัครงานเพื่อทำงานในห้องสมุด แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่มีใครตอบรับหรือไม่ผ่านสัมภาษณ์ (ในประเทศอังกฤษ ผู้ที่เป็น Asperger’s Syndrome มีเพียงร้อยละ ๑๒ ที่มีงานประจำ เมื่อเทียบกับผู้พิการอื่น ๆ ที่มีงานประจำร้อยละ ๔๙) แดเนียลได้งานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอาสาสมัครไปทำงานที่ประเทศลิทัวเนียเป็นเวลา ๙ เดือน การไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างแดนเป็นเรื่องที่ทั้งน่ากลัวและน่าตื่นเต้นสำหรับเขา และเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา ทำให้ได้รู้จักตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และรู้จักมิตรภาพ

แดเนียลพูดถึงเรื่องมิตรภาพได้ไพเราะมาก เขาเรียนรู้ว่า “มิตรภาพเป็นกระบวนการที่เปราะบางและค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต้องไม่เร่งเร้าและไม่หยิบฉวยให้ได้มา แต่ต้องปล่อยวางและปล่อยให้เป็นไปตามกาลเวลา ผมคิดว่ามิตรภาพเป็นเหมือนผีเสื้อ ที่ทั้งสวยงามและบอบบางในเวลาเดียวกัน และเมื่อได้โบยบินแล้วก็เป็นของอากาศ หากพยายามคว้าไว้ก็รังแต่จะทำลายมัน”

แดเนียลรักสัตว์ “สัตว์มักอดทนและยอมรับได้มากกว่าคน” เขายังพบคนรัก เขาได้ช่วยจัดกิจกรรมหาทุนให้มูลนิธิโรคลมชักในอังกฤษ ด้วยการท่องค่า p ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีจุดทศนิยมไม่สิ้นสุดให้ได้ถึงทศนิยมตำแหน่งที่ ๒๒,๕๑๔ ทีมงานถ่ายทำสารคดีสนใจชีวิตเขาจนสร้างเป็นสารคดีเรื่อง Brainman ใน ค.ศ.๒๐๐๕ (ชมสารคดี Brainman ได้ ที่นี่) การสร้างสารคดีเรื่องนี้ทำให้แดเนียลมีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ได้สนทนากับนักวิทยาศาสตร์หลายคน และได้พบกับเรนแมนตัวจริงชื่อ คิม พีก (Kim Peek) ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครในหนังเรื่องนั้น

tammet05
Kim Peek (ค.ศ.๑๙๕๑-๒๐๐๙) ผู้เป็นแรงบันดาลใจ
ให้กำเนิดตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Rain Man
รถยนต์ในภาพเป็นรถที่ใช้ถ่ายทำในหนังเรื่องนี้

tammet06
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Rain Man

เมื่อ คิม พีก เกิดมา แพทย์บอกว่าเขาพิการทางสมองจนไม่อาจเดินหรือพูดได้ หมอแนะนำให้ครอบครัวส่งตัวเขาไปอยู่ในสถานบำบัดและลืมเขาเสีย หมอบางคนเสนอจะผ่าตัดเอาเนื้อสมองบางส่วนออกเพื่อให้ดูแลง่ายขึ้น แต่พีกกลับเป็นอัจฉริยะและจดจำทุกสิ่งได้ตั้งแต่ก่อน ๒ ขวบ เขาจำสิ่งที่เคยอ่านได้เกือบทั้งหมด เวลาอ่านหนังสือเขาอ่านสองหน้าพร้อม ๆ กัน โดยใช้ตาซ้ายอ่านหน้าซ้าย ตาขวาอ่านหน้าขวา ใช้เวลาอ่านหน้าละ ๘-๑๐ วินาที พีกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในวัย ๕๘ ปีเมื่อต้นปี ๒๐๐๙

สารคดี Brainman ยังทดสอบแดเนียลโดยให้เขาเรียนภาษาไอซ์แลนด์ภายใน ๑ สัปดาห์ แล้วเดินทางไปประเทศไอซ์แลนด์เพื่อออกรายการสัมภาษณ์สด ซึ่งแดเนียลทำได้ดี สารคดีนี้ยังทำให้แดเนียลมีโอกาสออกรายการสัมภาษณ์ของ เดวิด เลตเตอร์แมน ในอเมริกา เขาต้องเดินทางและเข้าพักในโรงแรมตามลำพัง ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ที่เขาดีใจยิ่งนักเมื่อทำสำเร็จ

ปัจจุบันแดเนียลทำงานที่บ้านโดยเปิดเว็บไซต์สอนภาษา เขาชอบทำกับข้าว เขาปลูกผักผลไม้ที่บ้านไว้ทำอาหาร เขาตั้งใจจะช่วยเหลือมูลนิธิต่าง ๆ และทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาอาการของเขา แดเนียลเขียนหนังสือเรื่องนี้เพราะอยากบอกคนอื่น ๆ ว่าเขามาไกลแค่ไหน เขาอยู่ได้ด้วยตนเอง มีงานทำ มีความรัก เขาอยากบอกผู้ป่วยออทิสติกคนอื่น ๆ ให้มีความหวังที่จะมีชีวิตที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่นและมีความสุข แดเนียลกล่าวว่าครอบครัวสำคัญกับเขามาก ความรักของพ่อแม่ทำให้เขามีวันนี้ได้ หากคุณมีลูกที่เป็นออทิสติก ขอให้หาความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้มากที่สุด และเชื่อว่าความรักทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้

Born on a Blue Day ได้รับรางวัลหนังสือสำหรับวัยรุ่นที่ดีที่สุดในปี ๒๐๐๘ จากสมาคมห้องสมุดอเมริกัน หนังสือเรื่องนี้อ่านเพลิน สนุกให้ความรู้ จึงอยากแนะนำอย่างยิ่ง สำหรับผู้สนใจเรื่องแต่งที่มีตัวละครเอกเป็นออทิสติกที่เขียนดีมาก ๆ อยากแนะนำให้อ่าน The Curious Incident of the Dog in the Night-Time (ฉบับแปลไทย คดีฆาตกรรมหมาในยามราตรี สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์, ๒๕๔๖) เขียนโดย มาร์ก แฮดดอน (Mark Haddon)

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าเราทุกคนล้วนแต่มีความอัจฉริยะซ่อนไว้ในตัว บางคนหวังว่าจะสร้างเครื่องมือที่ทำให้สมองของเราเป็นอัจฉริยะได้ จะดีเพียงใดหากเราอ่านหนังสือได้สองหน้าในเวลาเดียวกัน จดจำข้อมูลทุกสิ่งได้ตลอดชีวิต แต่หลายคนคงบอกว่าบางครั้งการลืมอะไรบ้างก็อาจดีกว่าการจำ

หรือแท้ที่จริงแล้ว มนุษย์พิเศษและน่าสนใจเพราะความบกพร่องสามัญที่เราต่างมี