สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

pakorn01 1

ระหว่างสนทนากับ ปกรณ์ พงศ์วราภา ในห้องประชุมชั้น ๗ บนตึกจีเอ็ม กรุ๊ป ได้เกินครึ่งทางที่ตั้งใจ ก็เป็นจังหวะที่ผมถามถึงอายุของเขา แทนที่จะตอบเป็นตัวเลขเฉย ๆ เขาเล่าว่า

“วันที่ผมอายุเต็ม ๗๐ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว กำลังนั่งดูหนังกับหลานสาวอายุ ๔ ขวบ ผมบอกหลานว่ารู้ไหมว่าวันนี้ปู่อายุเต็ม ๗๐ แล้ว… เหรอ… ปู่ก็แก่แล้วสิ…  ปู่ไม่ได้แก่… ปู่เพียงอายุมาก  คนบางคนอายุ ๒๕-๓๐ ก็แก่แล้วเพราะเขาไม่เรียนรู้อะไรอีกเลย ไม่เปิดโลกทัศน์อะไรอีกเลย มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ และไม่รู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ แบบนั้นคือแก่แล้ว  หลานก็นั่งมองหน้าว่าปู่พูดอะไร”

ปกรณ์เชื่อว่าคำพูดของปู่ที่ไม่แก่บอกหลานตัวน้อยวันนั้น

วันหนึ่งข้างหน้าเธอจะเข้าใจ

ในวงการหนังสือและนิตยสาร ชื่อเสียงของเขาลงหลักปักฐานในฐานะผู้บุกเบิกและเจ้าของค่ายจีเอ็ม กรุ๊ป หรือบริษัทจีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แหล่งผลิตสื่อแมกกาซีนคุณภาพหลากหลายหัวที่อยู่คู่นักอ่านและสังคมไทยมานานหลายสิบปี

ก่อนจะฝ่าฟันจนมายืนมองวิวบนยอดตึก เขาเป็นลูกจีนนครปฐมที่ต้องเลือกระหว่างเส้นทางชีวิตที่เขียนขึ้นเอง หรือที่พ่อแม่กำหนด

ทว่าความหลงใหลในโลกตัวอักษรก็บันทึกชีวิตของเขาบนหน้ากระดาษไปทีละหน้า จากนักอ่าน นักเขียน นักทำหนังสือ จนมาถึงนักธุรกิจ

เคยเป็นหนี้หลายล้าน จนถึงระดับกว่า ๑๐๐ ล้าน เพราะการทำแมกกาซีน

ปลดหนี้หมดทุกบาททุกสตางค์ ลงเสาสร้างตึกจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นหมุดหมายของความสำเร็จสูงสุดหนึ่งของชีวิตจากรายได้ปีละหลายร้อยล้านก็เพราะการทำแมกกาซีนเช่นกัน

ตลอดชีวิตเขาเห็นสัจธรรมของการเกิด ๆ ดับ ๆ ของแมกกาซีนบนแผงหนังสือมานับไม่ถ้วน  แต่ปรากฏการณ์สื่อดิจิทัลออนไลน์วันนี้ไม่อาจเปรียบได้กับวิกฤตครั้งใดที่คนทำหนังสือทุกคนเคยเผชิญ

อาจเพราะผ่านฤดูกาลร้อนหนาวมายาวนาน แม้การต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนจีเอ็มฯ จะหนักหน่วง ปกรณ์บอกว่าไม่รู้ว่าจะเครียดทำไม ทุกวันนี้ยังนอนหลับสบายดี ดูหนังแนวดราม่าที่ชอบวันละสองเรื่อง และเริ่มติดซีรีส์ผ่านบริการหนังออนไลน์

“กระดาษมีชีวิตยาวนานมากแล้ว ตั้งเป็นพัน ๆ ปี จะเป็นอะไรไปถ้าจะมาถึงวันนี้  ถ้าผมอยู่จนกระทั่งกระดาษหมดไป ผมคงเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้าย ถือเป็นเกียรติมากเลย”

คำตอบบนหน้ากระดาษถัดไปของ ปกรณ์ พงศ์วราภา อาจช่วยบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของแมกกาซีนกระดาษเมืองไทยไว้ก่อนหน้าสุดท้ายจะถูกใครพลิกมาถึง

ตอนนี้สถานการณ์ของนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์เป็นอย่างไร
อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ช่วงฤดูใบไม้ผลิของวงการนิตยสารผ่านไปแล้ว อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กำลังเจอความเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและรุนแรงทางด้านเทคโนโลยี แต่จะว่าไปทุกอุตสาหกรรมก็เจอแบบเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะธนาคาร ทีวี หรือธุรกิจรีเทล อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์อาจจะเห็นชัดกว่า และเริ่มก่อนหน้านั้นจากบริษัทสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศที่ต่างทยอยปรับตัวและปิดตัว ข่าวแบบนี้เราเห็นมาเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว

ทุกคนเรียกมันว่าเป็นสึนามิ แต่มีคนบอกว่าไม่ใช่ ถ้าเป็นคลื่นยักษ์สึนามิมันกวาดมาระลอกเดียวก็หาย นี่เป็นแผ่นดินไหวมากกว่า ไหวแล้วยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเรื่อย ๆ ตอนนี้อาฟเตอร์ช็อกก็ยังอยู่

ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อยสิครับ ใครบ้างที่ไม่เหนื่อย แต่จะไปไหนได้ล่ะครับในสมรภูมินี้ สงครามยังไม่จบสิ้น คุณยังไม่ยอมยกธงขาว คุณก็ต้องอยู่กับมันและสู้ต่อไป หายุทธวิธีที่จะเอาตัวรอดให้ได้  เคยดูหนังใช่ไหมครับ ที่ทหารไม่กี่คนตกอยู่ในวงล้อมข้าศึก แล้วท้ายสุดก็มีทหารกองหนุนยกมาช่วย

พวกเราวงการนิตยสารอาจกำลังรอกองหนุนนั้น มันจะมาหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่พวกเราก็ต้องหวังว่ามันจะมา

แมกกาซีนหลักๆ ของจีเอ็มฯ ปัจจุบันมีสักกี่หัว
GM จะครบรอบ ๓๒ ปีในเดือนเมษายนนี้ แต่เล่มบางลงเยอะ จากเมื่อก่อนร่วม ๒๐๐ หน้า เดี๋ยวนี้เหลือไม่เกิน ๑๐๐ หน้า  นอกจาก GM เราแตกหัวออกมาเป็นนิตยสารอีกสามเล่ม GM CAR เกี่ยวกับรถยนต์ GM Watch เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์คนรักนาฬิกา แล้วก็ GM 2000 เกี่ยวกับเครื่องเสียงและแกดเจ็ตสมัยใหม่

จีเอ็มฯ ยังมีนิตยสารแจกฟรีหรือฟรีก๊อบปี้ โดยเฉพาะตัวเด่นคือ 247 เป็นรายสัปดาห์ซึ่งทำมา ๑๐-๑๑ ปีแล้ว Mother & Care เพิ่งเปลี่ยนเป็นหนังสือแจกฟรีเมื่อปีสองปีนี้ อีกเล่มคือ GM BiZ เนื้อหาด้านธุรกิจ รวม ๆ มีเจ็ดหัว ทุกเล่มมีอายุเกิน ๑๐ ปี บางเล่มเกิน ๒๐ ปี

ฟรีก๊อบปี้กับนิตยสารรายเดือนมีจำนวนคนอ่านต่างกันมากไหม
ฟรีก๊อบปี้คนอ่านเยอะกว่ามากเพราะแจก เดี๋ยวนี้คนซื้อหนังสือน้อยลง แต่ถ้าทำแจกยังไงคนก็หยิบ ที่ผ่านมานิตยสารแจกฟรีในท้องตลาดมีไม่ต่ำกว่า ๒๐ หัว แต่ตอนหลังก็เริ่มร่วงโรยไป เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วในตลาดมีฟรีก๊อบปี้แค่ สองเล่ม เล่มหนึ่งคือ BK เป็นภาษาอังกฤษ เน้นเรื่องอาหารการกิน ออกเป็นรายสัปดาห์ ต่อมาจีเอ็มฯ ก็ทำ 247 ผมเคยบอกว่าเดี๋ยวจะมีคนทำตามกันมาเป็นแถว แล้วก็จริง

แต่นิตยสารแจกฟรีไม่ใช่ทำกันง่าย ๆ ไม่ใช่แค็ตตาล็อกสินค้า ต้องมีเนื้อหา ต้องทำให้คนอ่านสนใจที่จะหยิบ แล้วถ้าทำกันออกมาเยอะ ๆ สมมุติมีอยู่ในร้านกาแฟสัก ๑๐ เล่มนี่ก็เยอะมากแล้ว มากกว่านี้ไม่ไหว ร้านจะไม่มีที่ให้วาง เพราะไม่มีคนหยิบไปอ่านทั้ง ๑๐-๒๐ เล่มหรอก เขาต้องคัดว่าจะเอาเล่มไหนกลับไป หรือจะอ่านเล่มไหน คุณก็จะถูกคัด แต่ครั้งแรกคุณจะถูกคัดโดยเจ้าของสถานที่ก่อน ว่าหนังสือแจกฟรีที่คุณทำช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้สถานที่ของเขาไหม ถ้าไม่เพิ่มเขาก็ไม่ให้วาง จะทำห่วย ๆ ไม่ได้

แล้วนิตยสารแจกฟรีจะไม่หนา เมื่อไม่หนาก็ต้องคัดคอนเทนต์ที่เจ๋งจริง ๆ ไม่ใช่แมกกาซีนที่มี ๓๐ คอลัมน์ ๒๐๐ หน้า ฟรีก๊อบปี้มีไม่กี่คอลัมน์ แต่ต้องเป็นคอลัมน์ที่คนสนใจจริง ๆ

ผมเคยพูดว่าในที่สุดให้เก่งจริง ๆ จะเหลือฟรีก๊อบปี้ไม่เกินห้าเล่ม เพราะรูปแบบนี้พิสูจน์มาแล้วที่เมืองนอก ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่ ๆ อย่างโตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส ไปดูเถอะ มีกันเป็นสิบ ๆ ฉบับ แต่ที่เด่นจริง ๆ และอยู่ได้มีไม่เกินสามเล่มหรือห้าเล่ม ที่เหลือคือไม้ประดับ

นิตยสารแจกฟรีถ้าไม่มีโฆษณาเลยคุณตายเร็วขึ้น เพราะไม่มียอดขายเลยแม้แต่บาทเดียว

นิตยสารขายถ้าเนื้อหาดี มีกลุ่มคนอ่านเยอะ ก็ยังมีรายได้จากการขายตัวเล่ม แม้ว่าโฆษณาไม่มาก แต่ยังมีรายได้จากการขาย แต่แจกฟรีไม่มีรายได้การขายเลย แล้วจะเหนื่อยถ้าคุณมาทีหลังเจ้าอื่น เพราะเอเจนซีจะวางแผนลงโฆษณาโดยเลือก ๕ อันดับแรกก่อน หรือ ๓ อันดับแรกก่อน ถ้างบโฆษณาน้อยลงก็เลือก ๓ อันดับแรก งบโฆษณามากก็เลือก ๕ อันดับแรก มีงบเยอะ ๆ ก็เลือก ๑๐ อันดับแรก แต่ ๑๐ อันดับแรก หรือ ๕ อันดับแรกไม่ต้องพูดแล้ว มันหายไปนานหลายปีแล้ว

คนอ่านฟรีก๊อบปี้ของจีเอ็มฯ เป็นใคร
เป็นคนรุ่นใหม่ คือนิตยสารแจกฟรีอยู่ที่ว่าไปวางตรงไหนก็ไปหากลุ่มเป้าหมายนั้นโดยตรง  ผมเคยคิดตอนแรก ๆ ว่าจะแจกฟรีทั่วประเทศ คิดรูปแบบออกมาได้แล้วด้วย แต่ก็มาคิดว่าทำไมเราต้องทำถึงขนาดนั้น ในเมื่อทั่วโลกเขาแจกเฉพาะในเมืองใหญ่ ที่อังกฤษแจกในลอนดอน ไม่เห็นแจกทั่วอังกฤษ ฝรั่งเศสแจกในปารีส ไม่ได้แจกทั่วฝรั่งเศส ผมก็เลยแจกเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ก็ไปอยู่ตามจังหวัดใหญ่ ๆ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช ด้วย

เราวางตามร้านสมัยใหม่ที่คนรุ่นใหม่ใช้บริการ ผมเคยสังเกตดูในร้านกาแฟ หนึ่งเล่มมีคนอ่าน ๖-๗ คน ถ้าถึงคนที่ ๘ ก็จะหยิบกลับบ้าน คนรุ่นใหม่นัดเพื่อนมารอในร้าน สั่งกาแฟมากินแก้วหนึ่ง ๑๕-๒๐ นาทีก็เสร็จธุระ เวลาที่จะอ่านนิตยสารแจกฟรีเล่มหนึ่งหนา ๓๐-๔๐ หน้าก็จบใน ๑๕ นาทีนั่นแหละ  ในเมืองนอกมีนิตยสารชื่อ 15 Minutes ด้วยนะ หมายความว่าคุณต้องอ่านจบใน ๑๕ นาที

อ่านจบแล้วก็ไม่ต้องหยิบกลับบ้าน ซึ่งเราก็ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น คุณวางไว้เดี๋ยวมีคนมาอ่านอีกเรื่อย ๆ ในที่สุดจะมีคนหยิบไป เพราะไม่เคยเหลือกลับมาถึงเราเลย เรามีหน่วยสำรวจการวางแต่ละจุด ดูว่าถ้าจุดไหนเหลือเราก็เริ่มย้ายไปหาจุดที่หมดไว ๆ แล้วก็ต้องหมั่นสรรหาจุดวางใหม่ ๆ เพิ่ม

ในทางธุรกิจ ฟรีก๊อบปี้จะอยู่รอดต่อไปได้ไหม
ได้ แต่ตลาดนี้จะไม่โตไปกว่านี้แล้วนะ ที่ผ่านมาในระยะ ๓ ปีหลังนี้ผมว่ามาถึงจุดอิ่มตัวพอสมควร รายที่ออกตามหลังมาก็ทยอยเลิกไปเรื่อย ๆ ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่เล่มที่พอจะมีรายได้จากโฆษณาบ้าง ไม่ใช่ใครคิดจะเลิกทำนิตยสารขายเปลี่ยนมาแจกฟรีแล้วจะอยู่ได้ ยากมาก ๆ คุณจะแทรกเข้าไปยังไง ในแต่ละร้านเขามีที่ทางอยู่นิดเดียว อย่างที่ผมบอกว่าจะมีไม่เกินห้าเล่ม ณ บัดนี้ประเทศไทยมีแค่สามเล่มเท่านั้นที่อยู่แถวหน้า คือ BK  247  และ a day BULLETIN และทั้งสามเล่มนี้อยู่ในไลน์เดียวกันคือเป็นรายสัปดาห์

นิตยสารกับฟรีก๊อบปี้ต่างกันอีกอย่าง คือนิตยสารเราทำขายผ่านเอเจนต์หรือสายส่ง ซึ่งไม่มีทางที่เขาจะดูแลเราใกล้ชิด แต่ฟรีก๊อบปี้เราวางเองดูแลเอง เราสร้างส่วนงานตรงนี้ขึ้นมาตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้ว ถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นเรามีนิตยสารแจกฟรีอยู่เล่มเดียว แต่คิดแล้วว่าคงไม่ทำเล่มเดียวหรอก วันนี้เรามีนิตยสารแจกฟรีรวมเบ็ดเสร็จเดือนหนึ่งหกเจ็ดเล่ม มีงานสม่ำเสมอ บางเล่มเป็นรายสัปดาห์ด้วย ออกถี่มาก พอหารไปหารมาค่าใช้จ่ายก็ถูกลง ถ้าคุณจ้างคนวาง นอกจากเขาจะไม่ได้ดูแลคุณดีมากแล้ว ค่าใช้จ่ายก็สูงด้วย

คุณได้แนวคิดฟรีก๊อบปี้มาจากไหน
ก็เห็นมาจากเมืองนอก แต่ตอนนั้นคิดว่าการแจกฟรียังห่างไกลมากสำหรับเมืองไทย พอเห็น BK เข้ามาเมืองไทย เขาแจกฟรีอยู่เมืองนอกหลายเมือง ตั้งชื่อตามชื่อเมือง อย่าง BK คือ Bangkok  SH คือ Shanghai  HK คือ Hong Kong ผมเริ่มคิดว่ารูปแบบการแจกฟรีน่าสนใจ เพราะนิตยสารขายเริ่มอยู่กับที่ หาคนอ่านเพิ่มยาก มีแต่จะลดลง

ผมเคยคิดทำนิตยสารเกี่ยวกับแกดเจ็ตสมัยใหม่วางขายเป็นรายเดือน ลูกชายผมถามว่าพ่อจะขายใคร  ก็ขายคนรุ่นลูกไง  เขาบอกคนรุ่นผมไม่อ่านกันแล้ว เปิดเน็ตทีเดียวรู้เรื่องหมด  ผมบอกถ้าทำแจกฟรีล่ะ เขาบอกแจกฟรีก็เอาสิ คือแจกฟรีเอา แต่ให้ซื้อไม่ซื้อ  ผมเริ่มรู้แล้วว่าแนวโน้มคนเสพคอนเทนต์โดยไม่เสียเงินกำลังมาแล้ว ซึ่งตอนหลังก็กลายเป็นทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์มือถือ ฟรีหมด ไม่มีใครต้องซื้ออะไรอีก

จีเอ็มฯ ตอนที่ทำออนไลน์ใหม่ ๆ เราปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรี  โอ้โฮ มีคนเข้ามาไม่รู้ตั้งกี่หมื่น แต่พอเราเริ่มเก็บเงินบ้างนิดหน่อย หล่นฮวบเลย

ใครบอกว่าของฟรีดี ๆ ไม่มีในโลก ผมว่าไม่ค่อยจริงนะ ที่ประเทศไทยมีนิตยสารแจกฟรี คุณดูสิ ทั้งเนื้อหาและการเลย์เอาต์ ผมว่าสวยกว่าเมืองนอกอีก นี่ของฟรีนะ

pakorn02

ตกลงคุณคิดว่าสื่อกระดาษจะหมดไปจริงไหม
ไม่จริง แต่ว่ามันจะไม่กลับมาเหมือนเดิม เขาเรียกว่าภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ผมยังคิดว่ากระดาษคงยังไม่หมดโลก ยังต้องมีอยู่  เมื่อ ๕ ปีที่แล้วผมเคยพูดว่าจาก ๕๐๐ เล่มในยุคเฟื่องฟูเต็มแผงหนังสือ น่าจะเหลือสัก ๕๐ เล่มอยู่ในมือค่ายใหญ่ ๆ ไม่เกินห้าค่ายหรือสามค่ายด้วยซ้ำ แล้วก็มีเจ้าเล็ก ๆ ที่ทำด้วยใจรักจริง ๆ พออยู่ได้อีกนิดหน่อย คงอยู่กันแค่นี้ หน้าที่เราคือต้องเป็น ๑ ใน ๕๐ เล่มนั้นให้ได้

แต่แพลตฟอร์มกระดาษอาศัยสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง เช่นร้านหนังสือ คิดดูว่าถ้าร้านหนังสือปิดไปเรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไร ตอนนี้ปิดไปกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วร้านที่เหลืออยู่ก็ไม่ได้ขายแค่หนังสือ ขายของอย่างอื่นเต็มไปหมด หนังสือมีอยู่กระจุกเดียวเท่านั้น ส่วนสายส่งที่ส่งหนังสือไปต่างจังหวัดก็จะเลิกวางแล้วเพราะไม่คุ้ม ยอดขายลดลงจนไม่คุ้มที่จะขนไปขนกลับ เขาคุยกับผมว่าอีกหน่อยคงหันไปทำโลจิสติกส์แทน นี่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เราไม่รู้จะทำอย่างไร สมมุติเรารักษาชีวิตให้อยู่ได้จนถึงตอนนั้น แล้ว ๕๐ เล่มนี้จะไปวางขายที่ไหน

มีคนบอกอาจต้องขายสมาชิก แล้วที่ผ่านมาเราไม่ได้หาสมาชิกกันเหรอ เราต่างก็รู้ว่าคนไทยจำนวนน้อยมากที่เป็นสมาชิกหนังสือ ไม่เหมือนฝรั่ง เขาอยู่ได้ด้วยสมาชิก แมกกาซีนเมืองนอกมียอดขายจากสมาชิก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ซื้อในซูเปอร์มาร์เกต ตรงที่เข็นรถมาจ่ายเงิน จะซื้อเล่มไหนก็หยิบใส่รถเข็น

บ้านเราระบบสมาชิกไม่เคยโตมาแต่ไหนแต่ไร ระบบขนส่งบ้านเราก็ไม่ดี หนังสือเราก็ช้ากว่า ของต่างประเทศสมาชิกได้อ่านก่อนวางตลาดเสมอ ทำให้สมาชิกรู้สึกดี

ณ ตอนนี้เอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้า คือทำอย่างไรให้นิตยสารยังออกได้ทุกเดือนก่อน  ทางออกอาจมีหลายทาง แต่ตอนนี้ขอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

เราต่างก็รู้ว่าคนไทยจำนวนน้อยมากที่เป็นสมาชิกหนังสือ ไม่เหมือนฝรั่ง เขาอยู่ได้ด้วยสมาชิก แมกกาซีนเมืองนอกมียอดขายจากสมาชิก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์

รายได้แมกกาซีนซึ่งเคยได้มาจากโฆษณาก็หายไปเยอะมาก จะอยู่กันได้อย่างไร
หายไปเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องพิมพ์เยอะ กลุ่มคนอ่านมีเท่าไรพิมพ์เท่านั้น ทำตัวให้พออยู่ได้ อย่าคิดเรื่องกำไร  ในบรรดาหนังสือที่ผมขายอยู่ทั้งหมดสี่ห้าเล่ม ผมจะดูง่าย ๆ ว่าเดือนหนึ่งได้โฆษณาประมาณเท่าไร ถ้าได้เท่านี้ก็พิมพ์จำนวนหน้าเท่าที่เหมาะสม แมกกาซีนของผมหนาไม่เกิน ๑๐๐ หน้า บางเล่มโฆษณาน้อย ผมเหลือ ๘๐ หน้าด้วยซ้ำ

คืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นแบบอดีต ว่าเคยหนาเท่านี้ก็ต้องเท่านี้ มันต้องขึ้น ๆ ลง ๆ ตามรายได้ที่เข้ามา ขอให้มีชีวิตแบบนี้ไปก่อน แต่ระหว่างนี้ทุกคนก็ต้องปรับตัว ต้องต่อยอดไปสู่ธุรกิจแบบอื่น ไม่มีใครอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ ได้อีกแล้ว

เมื่อหลายปีก่อนเคยคุยกันว่าต้องไปแพลตฟอร์มอื่น เช่นไปทำรายการทีวี ผมก็ไปทำรายการสารคดี แต่ก็มาเจอทีวีช่วงขาลง  ตอนเริ่มทำใหม่ ๆ ขายโฆษณากันนาทีละ ๔ แสน ตอนนี้ ๔ หมื่นยังไม่มีใครซื้อเลย รายการทีวีต้องใช้ทุนหมุนเวียนสูงมาก ต้องทำล่วงหน้าก่อน ๓ เดือนกว่าจะเสร็จ นั่นหมายความว่าต้องจ่ายไปหมดแล้ว ค่าจ้างคนทำงาน ค่าดารา ค่าตัดต่อ ค่าผู้กำกับ ใช้เวลาออกอากาศอีก ๓ เดือนจบ กว่าจะเก็บเงินได้อีก ๒-๓ เดือน เพราะต้องรอให้ออกอากาศเสร็จแล้วค่อยวางบิล เหมือนนิตยสารที่ต้องออกก่อนแล้วค่อยวางบิล แต่นิตยสารมีระยะการผลิตเพียงเดือนเดียว ของทีวีนี่ ๓ เดือน ออกอากาศอีก ๓ เดือน เจอบางเจ้าบอกอีก ๓ เดือนค่อยมาเก็บเงิน กลายเป็น ๙ เดือน ถ้าไม่มีทุนคุณอยู่ไม่ได้ ตอนนี้ผมเลยรับจ้างผลิตอย่างเดียว อยากจ้างเราผลิตรายการอะไรเดี๋ยวเราเสนอเข้าไปให้

ส่วนการทำออนไลน์ GM Live เราเพิ่งได้ทีมงานมาทำจริง ๆ เมื่อ ๕-๖ เดือนก่อน ก่อนหน้านั้นเรายังคิดแบบเดิมว่าให้คนทำสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไปทำออนไลน์ ให้คนขายสิ่งพิมพ์ไปขายออนไลน์ สื่อที่มีอยู่ทุกเล่มทำอย่างนี้มา ๒-๓ ปี ในที่สุดเราพบว่าศาสตร์ไม่เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเอาคนสิ่งพิมพ์มาทำออนไลน์ เป็นไปไม่ได้จริง ๆ จำเป็นต้องมีทีมใหม่ทั้งหมด

จีเอ็มฯ เสียเวลากับตรงนี้ไป ๒-๓ ปี จนกระทั่งเมื่อ ๕-๖ เดือนที่แล้วถึงปรับทีมงานเต็มรูปแบบ พบว่าไม่ใช่แล้ว ต้องหาทีมมาทำออนไลน์โดยเฉพาะ ทำให้ตอนนี้ยอดคนเข้ามาดูเว็บไซต์ของเราจากหมื่นต่อเดือนขึ้นมาเป็นหลักล้านแล้ว

แต่ก่อนนักเขียนก็เขียนแอดเวอร์ทอเรียล (คอนเทนต์โฆษณาที่ทำให้เหมือนเนื้อหาคอนเทนต์ปรกติ) สำหรับโฆษณาบนนิตยสารกระดาษ พอมาออนไลน์ ต่างกันอย่างไร ทำไมนักเขียนเดิมทำไม่ได้
ต้องเขียนกระชับขึ้น ไม่อารัมภบทยืดยาด เขามีสูตรว่าถ้าอ่านคอนเทนต์ทางออนไลน์ ต้องสไลด์ไม่เกินสามครั้ง เพราะเกินจากนี้คนไม่อ่านแล้ว ยาวไป ต้องรีบไปหาข่าวอื่น แล้วทีมคอนเทนต์ก็ต้องรู้จักขายด้วย เพราะการขายทางออนไลน์ไม่ใช่แอดเวอร์ฯ มันต้องเขียนเนียน ๆ ซึ่งต้องมีคนทำแบบนี้โดยเฉพาะ ถ้ามีสินค้าตัวหนึ่งเข้ามา คุณจะเขียนยังไงให้เนียน ๆ ไม่ใช่ฮาร์ดเซล

แต่ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรตายตัว ที่จริงคอนเทนต์ยาว ๆ แต่มีเนื้อหาหนักแน่นก็มีคนอ่าน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอ่านอะไรสั้น ๆ ที่เรียกว่าเป็นขยะตลอดเวลา ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ต้องการข้อมูลที่ทำให้เขาฉลาดขึ้น

ถึงจุดไหนคุณถึงจะตัดสินใจหยุดพิมพ์นิตยสารกระดาษ คู่สร้างคู่สม หยุดตั้งแต่ยังไม่ขาดทุน
คุณดำรงเลิกเอาเท่ ต้องบอกแบบนี้ เพราะจริง ๆ คู่สร้างคู่สม ยังกำไรปีหนึ่ง ๓๐ กว่าล้าน ผมเห็นด้วยกับความเท่นี้นะ บางคนเอาเท่เราหมั่นไส้ แต่นี่เรานับถือ ทุกคนบอกว่าให้ไปทำออนไลน์ คุณดำรงมองว่าออนไลน์เป็นตัวทำลายอุตสาหกรรมนี้ แล้วเรื่องอะไรฉันจะไปยุ่งกับแก เลิกดีกว่า แต่คนอื่นทำอย่างนั้นไม่ได้ (หัวเราะ) คนอื่นไม่เท่ แต่ต้องทน

ผมไม่รู้หรอกว่าจะหยุดพิมพ์เมื่อไร แต่ถ้าดูสถานการณ์คิดว่าไม่น่าจะเกิน ๒-๓ ปี ตอนนั้นผมอาจทำเป็นหนังสือเล่มพิเศษ ๒-๓ เดือนออกสักเล่ม หรือทำหนังสือให้องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ยังต้องการ (สื่อ) กระดาษอยู่ ทำอย่างไรเราจะนำคอนเทนต์ไปเสริมให้องค์กรเหล่านี้ทำหนังสือที่น่าอ่านกว่าเป็นรายงานเฉย ๆ เราจะมุ่งไปทางนั้น หรือห้องสมุดก็ยังต้องการหนังสืออยู่นะ ผมกำลังคิดทำโปรเจกต์ทำหนังสือเข้าห้องสมุดทั่วประเทศ ปีหนึ่งทำสักเล่มสองเล่ม ถือว่าเรายังอยู่กับกระดาษ ยังรักษารากเหง้าที่เราเติบโตมา

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าทำไมยังไม่เลิกสิ่งพิมพ์ ของจีเอ็มฯ ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ใช่ว่าจบสิ้นโดยสิ้นเชิง

ส่วนออนไลน์อีกปีสองปีข้างหน้าน่าจะโตพอสมควรแล้ว น่าจะมีรายได้เข้ามาทดแทนที่หายไปกับสื่อสิ่งพิมพ์

รายได้โฆษณาจะไปทางออนไลน์จริงไหม
เมื่อก่อนนี้ทีวีเอาโฆษณาไปเยอะสุด วันนี้ก็ตก ผมว่าพอ ๆ กับแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ก็ตก

มีคนบอกว่างบโฆษณามาทางออนไลน์ แต่มาทำออนไลน์จริง ๆ ก็พบว่าไม่ได้มีเงินมาเยอะแยะนะ งบโฆษณายังมีอยู่หมื่นล้านเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ไปทางยูทูบ กูเกิล เฟซบุ๊ก สัก ๗-๘ พันล้าน แล้วเงินพวกนั้นออกนอกประเทศหมด เหลือสัก ๒-๓ พันล้านมาแบ่งกันใน ๑๐๐ เจ้าที่กำลังดิ้นกันอยู่ จะเหลือคนละกี่สตางค์ ถ้าทำออนไลน์อย่างเดียว คุณมีคนแค่ ๑๐-๒๐ คน แต่จีเอ็มฯ ทำธุรกิจหลากหลาย มีหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้นจะทำออนไลน์อย่างเดียวไม่ได้  ถ้าเราคือต้นไม้ เราต้องแตกกิ่งก้านออกไปอีก ตอนนี้ก็แตกออกไปแล้วเจ็ดแปดก้าน

ตอนนี้จีเอ็มฯ มีพนักงานกี่คน
เมื่อสัก ๓ ปีที่แล้วเรามีกว่า ๒๐๐ คน ตอนนี้เหลืออยู่สัก ๑๕๐ คน อาจจะต้องค่อย ๆ ลดลงอีก ลดฮวบฮาบทีเดียวไม่ได้ เดี๋ยวนี้ออฟฟิศเราก็เล็กลง เมื่อ ๓ ปีที่แล้วตึกเรามีคนทำงานเต็มหมดทั้งหกชั้น ไม่นับชั้น ๗ ที่เป็นห้องประชุม ตอนนี้ว่างไปสองชั้น ต้องค่อย ๆ ปรับตัว คือสมมุติเราเคยอ้วนมาก่อน แล้วบอกว่าเราต้องผอม มันคงจะผอมรวดเดียวไม่ได้

รายได้ทางออนไลน์ไม่เยอะหรอก เพราะต้นทุนออนไลน์ไม่มาก ต้องยอมรับตรงนี้ ในแง่หนึ่งผมคิดว่าน่าจะดีด้วยซ้ำ ตราบใดที่เราเป็นคนทำคอนเทนต์ แต่ศาสตร์ของออนไลน์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คุณต้องรู้จักแปลงคอนเทนต์ให้ถูกจริตกับคนยุคนี้

แสดงว่าคุณเชื่อคำพูดที่ว่า content is king
อาจไม่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ผมเชื่อว่าถ้าคนทำคอนเทนต์เป็น ไม่ว่าไปตรงไหนก็มีคนต้องการทั้งนั้น ลองมองดูสิ ออนไลน์ ทีวี วิทยุ ทุกสื่อต้องการคอนเทนต์ใหม่ ๆ น่าสนใจ

มีคนบอกผมไม่นานมานี้ว่า ไม่จริง content ไม่ใช่ is king แพลตฟอร์มต่างหากที่เป็น king อย่างยูทูบ กูเกิล เฟซบุ๊ก อ้าว ! แล้วโลกนี้มีสักกี่คนที่ทำแพลตฟอร์มแบบนี้ได้ จะให้ผมเปลี่ยนจากทำคอนเทนต์ไปเป็นคนสร้างแพลตฟอร์มเหรอ จะมีสักกี่คนที่เป็น สตีฟ จอบส์ มีกี่คนที่เป็น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีกี่คนที่เป็น แจ็ก หม่า เขาบอกว่าคุณต้องสร้างแพลตฟอร์ม โอย… ก็พูดง่าย คุณพูดแป๊บเดียวจบประโยคแล้ว ทุกคนก็มุ่งมาอย่างนี้ เด็กรุ่นใหม่อยากสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาตัวหนึ่งแล้วขาย ทุกคนก็ยกตัวอย่างตัวที่ขายได้ ๓๐๐-๕๐๐ ล้าน แล้วก็ฝันว่าถ้าขายได้แบบนั้นจะหยุดทำงานไปเที่ยวรอบโลก เดี๋ยวกลับมาสร้างแอปฯ อีกตัวแล้วขาย แล้วจริง ๆ มีกี่คนที่ขายได้ มีกี่คนที่คิดแบบนี้ เป็นล้าน ๆ คน พวกที่ล้มเหลวแล้วล้มตายจากไปเงียบ ๆ มีเท่าไร ไม่มีใครพูดถึง

ผมไม่ปฏิเสธที่เราจะมองคนที่ประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่าง อย่างที่พูดกันว่าเป็นไอดอล เพียงแต่คนรุ่นใหม่จะมองแค่จุดที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วรีบร้อนอยากพบความสำเร็จในทันที โดยไม่มีช่วงการบ่มเพาะ โดยไม่เคยมองย้อนกลับไปว่าไอดอลเหล่านั้นได้ผ่านขั้นตอนยากลำบากอะไรมาบ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อเจอปัญหาก็จะไม่มีภูมิต้านทานที่จะรับปัญหาใด ๆ ได้ ผมยังเชื่อว่าประสบการณ์และการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะพาคนคนนั้นก้าวไปข้างหน้าได้

ในที่สุดจะมีคนหวนมาหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทุกวันนี้มีหลายเว็บไซต์ที่ไม่ได้เอาใจคนรุ่นใหม่อย่างเดียว คนที่อ่านเพื่อประเทืองปัญญายังมี แล้วเขาก็เริ่มเรียกร้องแล้ว

แล้วคุณคิดอย่างไรกับการเสพคอนเทนต์ออนไลน์ของคนยุคนี้
ก็เข้าใจนะว่ายุคสมัยใหม่เสพแบบนี้ มีข่าวสารบ้าบอคอแตกเป็นหมื่นเป็นแสนที่ล้อมรอบตัวเขาอยู่ มันอยู่ในมือถือเครื่องนี้แล้ว แต่สิ่งที่เราคุยกันบ่อย ๆ ก็คือมันสร้างสติปัญญาอะไรไหม คนรุ่นใหม่สมองจะกลวงไหม คนจะไม่คิดอะไรกันเลย รู้แค่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ส่วนใหญ่ไม่สนใจหรอกว่าทำไมถึงเกิดขึ้น รู้แต่ว่าเกิดข่าวนี้ก็พอแล้ว จบ  ถ้าพูดแบบนี้คนจะบอกว่าผมยังจมอยู่กับสื่อเก่าที่ต้องอ่านกันลึก ๆ แต่ในที่สุดจะมีคนหวนมาหาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทุกวันนี้มีหลายเว็บไซต์ที่ไม่ได้เอาใจคนรุ่นใหม่อย่างเดียว คนที่อ่านเพื่อประเทืองปัญญายังมี แล้วเขาก็เริ่มเรียกร้องแล้ว ไม่ช้าคอนเทนต์ดี ๆ คงหวนกลับมา

ผมไม่เชื่อว่าทุกคนจะอยากมีชีวิตเพื่อจมอยู่กับกองขยะไปวัน ๆ

ผมอยู่ในโลกเก่าที่ต้องเผชิญกับโลกใหม่ซึ่งไม่มีทางเลี่ยง ยังไงผมต้องทำความเข้าใจกับมัน และต้องอยู่กับมันอย่างน้อยอีก ๔-๕ ปี  ถามว่าผมเครียดไหม ผมตกใจไหม ผมกลัวไหม  ผมไม่นะ บางทีรู้สึกสนุกด้วยซ้ำ

ถ้าถามว่ารำคาญอะไร ผมรำคาญวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างเรื่องไลน์ ผมพบว่าบางทีคนนี้นั่งอยู่โต๊ะนี้ คนนั้นนั่งอยู่โต๊ะนู้น แทนที่เวลามีปัญหาจะลุกไปถามไถ่พูดคุยกัน คนนี้ก็ไลน์ไปถาม คนโน้นก็ไลน์มาตอบ พิมพ์กันอยู่นั่นแหละ ก็ยังไม่เข้าใจกันซะที ผมก็งง เฮ้ย ! ผมว่าสัมพันธภาพของมนุษย์อยู่ที่การพูดคุยนะ ใช่ไหม อย่างปัญญาชนกรีกเขาต้องคุยกัน มีอาศรม มีสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ นั่งคุยกัน มนุษย์เราเริ่มต้นแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยการถกเถียงและพูดคุย

ไทยถือเป็นประเทศที่อบอุ่นในด้านสัมพันธภาพระหว่างครอบครัว ระหว่างเพื่อน แต่ตอนนี้ไม่คุยกันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้โกรธกัน หันไปสื่อสารกันทางเทคโนโลยีอย่างเดียว แล้วพิมพ์ก็สะกดผิดอีกด้วย บอกว่าไม่เป็นไร อ่านรู้เรื่องก็พอแล้ว ไม่รู้คนยุคนี้จะรีบร้อนไปไหน ทุกคนไม่มีเวลาหมด เร่งรีบจนไม่มีเวลาหายใจด้วยซ้ำ

คุณติดตามข่าวในสื่อออนไลน์ไหม
ผมอ่านไลน์กลุ่มอย่างเดียว อ่านเพราะพนักงานบอกว่าควรจะมี แต่ผมไม่เล่น พิมพ์ไม่เป็น คือตัวมันเล็ก เดี๋ยวก็มีข่าวโน้นข่าวนี้ที่คนใส่เข้ามา อ่านเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องเร็วนักหรอก บางข่าวผมอาจรู้ข่าวช้านะ แต่ไม่ได้ทำให้ชีวิตผมเสียหาย

โลกออนไลน์มันเร็วมาก บางทีผมคิดว่ายึดหลักนิ่ง ๆ สักพักดีไหม ถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ดีกว่า ดูศึกตรงหน้าให้มันรบ ๆ กันให้ฝุ่นหายตลบก่อน เดี๋ยวก็มีรูปแบบใหม่มาอีก  บางทีการช้าก็ไม่ได้เสียหายนะ อาจดีกว่าการเร็วด้วยซ้ำ ถ้าเราเต้นตามจังหวะเพลงพวกนี้ไปเรื่อยไม่ไหวหรอกครับ เพราะการจะเปลี่ยนแปลงอะไรแต่ละครั้งคือต้นทุนทั้งนั้น เกิดลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือไป อ้าว ! ใช้ไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนอีก

ตอนหลังผมพยายามใจเย็นว่าไม่ต้องตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา มันอาจยังไม่ใช่ของจริง รอสักนิดดีกว่า เข้าไปตอนนี้อาจเป็นความลวงทั้งหมด แต่โลกทุกวันนี้จะมีเสียงแนะนำ เสียงปลุกเร้าเราว่าให้เปลี่ยนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนคนเหล่านั้นเป็นโค้ช แต่คนที่ลงสนามจริง ๆ คือเรา แล้วพออยู่ในสนาม โค้ชก็ไม่เคยรู้ว่าปัญหาเฉพาะหน้าคืออะไร

ไม่ได้หมายความว่าคำแนะนำของโค้ชไม่มีค่า มันจะมีค่าต่อเมื่อคนคนนั้นรู้จักกลั่นกรองนำมาใช้ต่างหาก

ถ้าไม่เล่นแล้วจะตามทันสื่อออนไลน์ได้หรือ
ลูกชายก็มี (พีศิลป์ พงศ์วราภา) เขาเรียนมาทางด้านนี้ เขาดูแลนิวมีเดีย ดูแลไอที พนักงานผมก็มี เลขาฯ ผมก็มี ใครจะให้ผมเมมฯ เบอร์ ผมเมมฯ ไม่เป็น ถามว่าต้องฝึกไหม หัดส่งข้อความอะไรให้เป็น ผมว่าไม่เป็นไร ผมไปเรียนรู้อย่างอื่น เลขาฯ มีก็ให้เขาทำไปเถอะ

แต่ถึงผมเป็นอย่างนี้ ผมก็รู้เรื่องอะไรมากกว่าเขาอีก เพราะผมวิเคราะห์ได้ลึกกว่า บางทีลูกน้องมารายงานข่าวแล้วพยายามอธิบายว่าคืออะไร ผมบอกว่าอันนี้ข่าวปล่อย ไม่ต้องไปเสียเวลา หรืออันนี้ข่าวการเมือง เบื้องหลังลึกกว่านี้เยอะ ที่คุณอ่านจากข่าวหนังสือพิมพ์ พูดตรง ๆ เลยนะ เชื่อได้แค่ ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ ยังมีอีกเกินครึ่งที่เขาไม่ได้ปล่อยมา ยิ่งข่าวออนไลน์เชื่อได้แค่ ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน  คนไทยมีนิสัยไม่วิเคราะห์ พอข่าวอะไรมาก็ตื่นตะลึงก่อนแล้วก็รีบแชร์ ยิ่งแชร์เร็วก็ยิ่งคิดว่าตัวเองเท่ เพราะฉะนั้นถึงผมจะรู้ช้ากว่าคุณ แต่ให้มานั่งคุยกันผมว่าผมรู้มากกว่า ผมวิเคราะห์เป็นว่าข่าวนี้เบื้องหลังเป็นยังไง

ถ้าให้ผมเลือกระหว่างเสียเวลานั่งดูข่าวทางออนไลน์กับดูหนัง ผมเสียเวลาดูหนังดีกว่า หนังยังมีประโยชน์ต่อชีวิตผม ผมเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จากบทหนังดี ๆ แต่ข่าวพวกนี้ไม่ได้ทำให้สติปัญญาผมเพิ่มเลย ผมยังต้องการสติปัญญาเพิ่มตราบใดที่มีชีวิตอยู่ ผมอยากให้มันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เคยอ่านประวัติคุณปกรณ์ว่า อ่านหนังสือแตกตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ
เรียนหนังสือ ป. ๒ ก็เริ่มเช่าหนังสือมาอ่าน สมัยนั้นเป็นนิยายภาพเล่มบาง ๆ เล่มละไม่กี่สตางค์ แม่ให้เงินผมไปกินข้าวที่โรงเรียน ๕๐ สตางค์โดยหิ้วปิ่นโตไปด้วย ผมก็กินขนม ๒๕ สตางค์ อีก ๒๕ สตางค์เอาไปเช่าหนังสือหรือซื้อหนังสือ สมัยนั้น ๖๐ กว่าปีแล้วนะ ผมรักการอ่านมาตั้งแต่ตอนนั้น จนมาเริ่มสนใจเขียน พ่อแม่ญาติพี่น้องไม่มีใครรักการอ่านเท่าผม มีญาติบอกพ่อแม่ผมว่าอย่าให้มันเป็นนักเขียนจะไส้แห้ง พ่อแม่ก็เผาหนังสือหมด แต่ห้ามผมไม่อยู่  ผมเริ่มเขียนเรื่องสั้นส่งเข้ากรุงเทพฯ เขียนเรื่องผีบ้าง เรื่องแปลก ๆ สารพัด ตามประสาเด็กหนุ่มรุ่นกระทงในสมัยนั้น จนมีเรื่องสั้นได้ลง สกุลไทย ครั้งแรกปี ๒๕๐๖ ตอนนั้นอายุ ๑๖

ที่นครปฐมบ้านผมจะมีร้านหนังสืออยู่ในตลาดหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ แมกกาซีนทุกเล่มจะอยู่ที่นั่น ผมไปที่ร้านนั้นบ่อย ๆ โลกการอ่านของผมเติบโตมาจากที่นั่น แล้วก็ห้องสมุดประจำจังหวัด

ตอนเด็กน่าจะเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง
วิชาที่ไม่ชอบเลยคือเลขคณิตและเรขาคณิต เรียนไม่รู้เรื่อง วิชาที่ได้คะแนนเต็มคือเขียนไทย คัดไทย จดหมาย เคยสอบได้ที่ ๑ ตอนอยู่ ป. ๔ เพราะว่าเพื่อนคนหนึ่งเก่งเลข ผมก็ลอกเลขเขา เลยได้คะแนนเท่ากับเขา แต่พอวิชาเขียนไทย คัดไทย จดหมาย เขาลอกผมไม่ได้ ผมเขียนลายมือสวยมาก ได้เต็มหมด เลยได้ที่ ๑ เขาได้ที่ ๒ นี่ผมเพิ่งเอาความลับเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วมาเปิดเผยนะนี่ (หัวเราะ)

เรียนถึง ม. ๓ แล้วก็ออก ตามประสาลูกคนจีน พ่อแม่บอกเสียเวลา ไม่ต้องเรียนสูง ๆ หรอก ออกมาค้าขายดีกว่า ยุให้ผมเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ แต่ผมขอเลือกเปิดร้านขายกาแฟ ระหว่างขายกาแฟก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นส่งนิตยสารหลายฉบับในกรุงเทพฯ บางช่วงอ่านเรื่องสั้นของ กีย์ เดอ โมปัสซังต์ ก็เขียนเรื่องแนวหักมุม อ่านเรื่อง “ตึกกรอสส์” “สัญชาตญาณมืด” ของ “อ. อุดากร” เลยติดสำนวนของ “อ. อุดากร” เช่นเขาเขียนว่าใบหน้าเคร่งขรึมราวกับอาร์ชบิชอป เราก็เอามาใช้บ้าง ทั้งที่ไม่รู้ว่าอาร์ชบิชอปคือใคร (หัวเราะ) เขียนแบบนี้จนวันหนึ่งเริ่มรู้สึกไม่ชอบ ต้องเสียเวลาคิดเรื่องหักมุม เขียนจากที่เห็นที่รู้สึกดีกว่า เริ่มต้นจากการเขียนเรื่องสั้นส่งให้ ลลนา วันแรกที่เห็นหนังสือ ลลนา ตื่นเต้นมาก ไม่เคยเห็นหนังสือสวยทันสมัยแบบนี้มาก่อน

เรื่องสั้นเรื่องหนึ่งชื่อ “วันหนึ่งที่สุสาน” เขียนเล่าเรื่องสุสานที่อยู่เลยจากบ้านไปสัก ๒ กิโลเมตร เวลามีงานศพจะมีขบวนแห่ศพผ่านหน้าบ้านบ่อย บางศพมีแถวคนเดินยาวเหยียด ตีฆ้องร้องป่าวราวกับจะให้คนทั้งโลกรู้ว่าคนคนนี้ตายแล้ว บางศพก็เงียบมาก  ผมเคยไปนั่งอยู่ที่สุสานเพื่อซึมซับบรรยากาศ ผมได้เห็นว่าบางคนอายุ ๗ ขวบก็ตาย ทำไมอายุสั้นจัง บางคนอายุ ๙๐ กว่า ทำไมอายุยืนจัง สรุปว่าคนบางคนไม่น่าจะตายดันตายก่อน แต่บางคนน่าจะตายได้แล้วกลับยังอยู่อีก ที่สุสานเงียบมากไม่มีใครเลย ทำไมไม่มีใครมาเที่ยวสุสานบ้าง พวกเขาคิดหรือว่าจะหนีสุสานพ้น ขากลับเด็ดดอกไม้สีม่วงมาฝากคนรัก เพราะว่าคนรักชอบดอกไม้สีม่วง ซึ่งจริง ๆ ตอนนั้นยังไม่มีคนรักนะ คิดเอาเอง มาจบเรื่องตรงที่ว่าแล้วเธอจะรู้สึกยังไงถ้าเธอรู้ว่าฉันเด็ดดอกไม้นี้มาจากสุสาน  แนวแบบนี้คุณสุวรรณี (สุวรรณี สุคนธา บก. ลลนา) ชอบมาก ผมส่งไปกี่เรื่อง ๆ ได้ลงหมด

เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ (๒๕๑๖) ผมเข้ากรุงเทพฯ มาอยู่ที่ถนนราชดำเนินกับกลุ่มประชาชนและนิสิตนักศึกษาด้วย ผมหายจากนครปฐมเข้ากรุงเทพฯ เกือบเดือน เหตุการณ์สงบผมยังไปดูหนังของ “เปี๊ยก โปสเตอร์” ที่สยามสแควร์ จากจุดนั้นที่ทำให้ผมเริ่มรู้สึกไม่อยากอยู่นครปฐม ตอนนั้นเป็นเซลส์บริษัทเบทาโกรด้วย ไม่ได้ขายกาแฟแล้ว ก็เลยเข้ากรุงเทพฯ ไปสมัครงานกับคุณสุวรรณี ทิ้งเงินเดือนประจำเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท รวมเบี้ยเลี้ยงด้วยเกือบ ๓,๐๐๐ บาท เยอะมากยุคนั้น ครูใหญ่ยังเงินเดือน ๑,๒๐๐ บาทเอง คุณสุวรรณีให้เงินเดือนผม ๘๐๐ บาท ถามว่าแล้วเธอจะอยู่ได้ยังไง ผมบอกอยู่ได้ นึกในใจว่าเขียนเรื่องสั้นเดือนละเรื่องได้ ๓๐๐ บาทก็น่าจะอยู่ได้

ผมเริ่มงานที่ ลลนา เป็นพนักงานพิสูจน์อักษร ตรวจปรู๊ฟ ส่งผลให้ทุกวันนี้เห็นอะไรผมก็ยังอดปรู๊ฟไม่ได้ เจออะไรก็ปรู๊ฟ ป้ายนี้ผิด เขียนไม่ถูก คำนี้อักษรต่ำใช้ไม้ตรีไม่ได้  ช่วงอยู่ ลลนา ผมตรวจปรู๊ฟก็จริง แต่ชอบไปขลุกที่ห้องอาร์ต ดูเขาเลย์เอาต์ ก็เลยชอบงานอาร์ต มันค่อย ๆ สั่งสมเข้าไปในตัวผมตั้งแต่นั้น

อยู่ ลลนา นานไหม
สัก ๒ ปี ออกมาก็ไปนั่งทำพ็อกเกตบุ๊กให้สำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา เดือนหนึ่งออกสี่เล่ม ทำอยู่สักปีกว่า ๆ เจ้าของบอกไม่สนุกเลย อยากทำแมกกาซีนก็เลยออกหนังสือผู้ชายชื่อ หนุ่มสาว ตอนนั้นในตลาดมีหนังสือผู้ชายอยู่เล่มเดียว คือ แมน ผมยังเคยส่งเรื่องไปลง แมน ด้วย มีคุณสุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี เป็น บก. ส่วนหนังสือผู้หญิงมีเต็มแผง สู้เขาไม่ได้แน่ ก็เลยเอาสิ ทำแบบ แมน นี่แหละ เพราะฉะนั้นก็เลยมีภาพผู้หญิงเซ็กซี่

ในฐานะนักเขียนแนวเพื่อชีวิต โดยเฉพาะชีวิตผู้หญิงกลางคืน ยุคนั้น หนุ่มสาว ถูกวิจารณ์ว่าเป็นหนังสือโป๊ การนำผู้หญิงมาถ่ายเซ็กซี่คือการกดขี่ทางเพศ แต่เมื่อเปิดอ่านเนื้อหาแต่ละหน้าจะพบว่าเนื้อหากระเดียดไปทางซ้าย ๆ เกือบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น บทกวี สารคดี ไม่เว้นแม้แต่คอลัมน์บันเทิงอื่น ๆ แม้แต่คอลัมน์เรื่องเพศก็ยังเสนอทัศนะความเสมอภาคทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง

คำถามที่สะท้อนกลับมากลับกลายเป็นว่า นิตยสารอย่าง หนุ่มสาว ที่มีภาพผู้หญิงวับ ๆ แวม ๆ ทำไมจึงมีเนื้อหาที่มีสาระเข้มข้น เป็นสนามที่ก่อเกิดนักเขียนมีชื่อเสียงหลาย ๆ คน มันเป็นรูปแบบที่ขัดแย้งกับขนบหนังสือแนวซ้าย ๆ ในสมัยนั้น

เมื่อมองย้อนกลับไป ที่จริงนั่นคือการตลาดที่ไม่มีอะไรซับซ้อน หนุ่มสาว เพียงแต่นำแพ็กเกจสวย ๆ มาห่อหุ้มสาระเนื้อหา ผู้ชายวัย ๕๐ อัปเยอะนะครับที่เติบโตมาพร้อมกับความคิดดี ๆ จาก หนุ่มสาว

คุณรับแนวคิดซ้ายๆ มาทางไหน
จริง ๆ ผมไม่ได้ซ้ายนะ คุณรัญจวน อินทรกำแหง เคยวิจารณ์เรื่องสั้นผม และนิยามว่าผมเป็นนักเขียนแนวเพื่อชีวิต แต่ไม่ใช่ซ้าย

สมัยที่ผมเริ่มเขียนหนังสือใหม่ ๆ ตอน ม. ๓ ผมเจอผู้หญิงคนหนึ่งเป็นลูกคนจีน ขายของอยู่ในตลาด อายุมากกว่าผมสัก ๒ ปี คนนี้สิซ้ายจริง เธอเอาเรื่องผมไปอ่านแล้ววิจารณ์ว่าแนวที่ผมเขียนมอมเมาประชาชน ไม่สร้างสรรค์สังคม เขาแนะนำให้ผมอ่านเรื่องของ “ศรีบูรพา” เสนีย์ เสาวพงศ์  สด กูรมะโรหิต กลางคืนก็ชวนผมฟังรายการวิทยุเสียงประชาชนจากปักกิ่ง คลื่นซ่า ๆ ต้องตะแคงหูฟัง แต่ก็ตื่นเต้นเพราะมันผิดกฎหมาย จนวันหนึ่งเธอบอกจะเข้าป่า ชวนผมไปด้วย ผมไม่เอา ผมไม่กล้า เธอเข้าป่ายุคนั้นแล้วหายไปจากนครปฐมเลย จนเมื่อสัก ๑๐ กว่าปีก่อน ผมไปเดินวังบูรพาเจอเธอเข้ามาทัก บอกว่าออกจากป่าแล้ว อุดม-การณ์ที่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศชาติหรือสังคมเป็นไปไม่ได้ก็เลยกลับมาเป็นแม่ค้าตามเดิม

ความเป็นเพื่อชีวิตของผมคือเห็นคนทุกข์ยากถูกเอาเปรียบแล้วรู้สึกว่ารับไม่ได้ จะเรียกว่าเป็นคนรักความเป็นธรรมก็ได้ แต่ผมไม่เคยมีแนวคิดว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการเข้าป่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือทุกคนต้องเสมอภาค สังคมต้องเสมอภาค ไม่เคยคิดถึงขั้นนั้น  ตอน ๑๔ ตุลาฯก็มาด้วยความรู้สึกว่านักศึกษา ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมก็แค่เข้ามาร่วมเพื่อแสดงความรู้สึกนั้น

ปกของแมกกาซีนหรือเนื้อหาของแมกกาซีนช่วยบอกปรากฏการณ์ของสังคมได้อย่างดีว่ายุคนั้น ๆ เป็นอย่างไร แต่ละ ๑๐ ปีก็ไม่เหมือนกัน

ถ้าให้เทียบ หนุ่มสาว กับนิตยสารสมัยนี้อย่าง Playboy  FHM ต่างกันไหม
ต่างกันเยอะมาก ในแง่ดีกรีความเซ็กซี่ของนางแบบ สมัยโน้นนุ่งขาสั้น ๆ หน่อย เสื้อเปิดกระดุมเม็ดสองเม็ดเท่านั้น ไม่เหมือนยุคนี้ ผู้หญิงสมัยนี้เดินตามห้างกางเกงยังสั้นกว่าสมัยผมทำ หนุ่มสาว ตั้งเยอะ

ปกของแมกกาซีนหรือเนื้อหาของแมกกาซีนช่วยบอกปรากฏการณ์ของสังคมได้อย่างดีว่ายุคนั้น ๆ เป็นอย่างไร แต่ละ ๑๐ ปีก็ไม่เหมือนกัน ทุก ๆ ๑๐ ปีจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ยุคนั้นเราคิดว่าเราทำหนังสือทันสมัยที่สุดแล้ว แต่แสนจะเชยเมื่อมาถึงยุคนี้

เชยทั้งการจัดหน้า เชยทั้งการพิมพ์ แต่ก่อนพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ทีละสี ๆ สมัยนี้ออกมาทีเดียวสี่ห้าสีเลย แยกสีก็เหมือนกัน ยังเป็นฟิล์มสี่แผ่นมาซ้อน ๆ กัน สมัยนี้ยิงด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว  หรือการทำเลย์เอาต์แบบตัดแปะต้องหอบกระดาษเลย์เอาต์ปึกใหญ่ ๆ ไปร้านเพลต เดี๋ยวนี้เหลือไฟล์นิดเดียว ส่งจากออฟฟิศไปได้เลย

ถ้านับด้วยเทคโนโลยี ผมคือคนทำหนังสือที่ผ่านการเปลี่ยนผ่านมาแล้วสามยุค จึงได้เห็น ได้เข้าใจ การเกิดและดับของหลายสิ่งหลายอย่างบนถนนสายนี้

ตอนนั้นทำไม หนุ่มสาว ถึงหยุด
อาจจะถึงจุดอิ่มตัว และอาจอยากลบคำปรามาสว่าผมทำหนังสือโป๊ อยากพิสูจน์ว่าผมทำหนังสือได้ทุกแนว นั่นคือความคิดของผมเมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว Hi-class คือบทพิสูจน์ แต่บทพิสูจน์นี้ทำให้ขาดทุนไป ๕ ล้าน เงิน ๕ ล้านของ ๓๐ กว่าปีก่อน ไม่รู้สมัยนี้เท่ากับเท่าไร

ที่ขาดทุนเพราะชื่อ Hi-class มัดตัวเองเกินไป เคยติดต่อคนที่คิดว่าเป็นไฮคลาสมาขึ้นปก เขากลับบอกว่าคุณอย่ามายุ่งกับผม ผมโลว์คลาส เหมือนประชด บางคนบอกอยากเป็นไฮคลาส เอาผมขึ้นปกหน่อย แล้วเราจะเอาเขาขึ้นปกได้หรือ สินค้าที่จะลงก็ต้องไฮคลาสตามไปด้วย ซึ่งมันจำกัดมาก แล้วยุคหนึ่งมีการต่อต้านสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าไฮคลาสถูกต่อต้าน ในที่สุดผมออกเล่มใหม่ดีกว่า เอาที่กลาง ๆ ลงสินค้าได้ทุกระดับ บทพิสูจน์อีกบทหนึ่งก็เลยเป็น GM

ชื่อ GM ตั้งเลียนแบบ GQ หรือเปล่า
ตอบให้เพราะ ๆ หน่อยว่าแรงบันดาลใจมาจากตรงนั้น ไม่ใช่เลียนแบบ คือแนวคิดเป็นหนังสือสำหรับคนหนุ่ม ชื่อ GM แต่พอไปจดหัวนิตยสาร กองเอกสารบอกว่าจดชื่อเป็นตัวย่อไม่ได้ ต้องมีคำแปล ต้องมีชื่อเต็ม ก็เลยเป็น Gentleman Magazine ชื่อมันมาอย่างนี้ ไม่ได้ถูกวางแผนตั้งแต่ต้น เป็นหนังสือคนหนุ่ม รสชาติไทย ๆ ไม่เหมือน GQ เพราะว่าเนื้อหาหลายอย่างของแมกกาซีนเมืองนอกใช้กับเมืองไทยไม่ได้

ตอนจะออกเล่มใหม่แต่ละเล่มต้องสำรวจตลาดไหม
ก็ดูทิศทาง ดูความเป็นไปได้ของหนังสือแต่ละแนว ไม่ถึงขั้นตั้งทีมสำรวจตลาด พอจะเรียนรู้ว่าตลาดนี้มีประมาณเท่านี้ แบบนี้ออกได้ แบบนั้นไม่น่าออก และเรื่องไม่ถนัดจริง ๆ ก็ไม่ควรไปทำ เช่นให้ผมไปทำหนังสือปลากัดหรือหมาแมวนี่เป็นไปไม่ได้ ผมไม่ใช่คนรักสัตว์ เราชอบทำคอนเทนต์แบบไลฟ์สไตล์คนหนุ่ม จะแตกไปทางไหนก็ยังเป็นอย่างนี้ มีคนบอกทำไมคุณไม่ทำหนังสือพระเครื่อง ทุกวันนี้หนังสือพระเครื่องยังเต็มแผง ทำเป็นที่ไหนล่ะ ไม่เคยห้อยพระเลย ทางใครทางคนนั้น ไม่ใช่นึกว่าแบบนี้ดีก็แห่ไปทำ ต้องรู้ตัวว่าแบบนั้นไม่ใช่ทางของเรา

แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเล่มไหนจะรอดหรือไม่รอด
มันเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างทางว่าอย่างนี้รอดหรือไม่รอด ที่เห็นวันนี้คือหนังสือที่อยู่รอด หนังสือที่ผมทำไม่รอดและไปไม่ได้ก็มีพอ ๆ กับที่อยู่รอด แต่คนไม่ค่อยจำเท่านั้น

ยกตัวอย่างผมเคยออกหนังสือกอสซิปดาราชื่อ ทีวีรีวิว ยอมรับว่าจะแข่งกับ ทีวีพูล ด้วยความคิดว่าหนังสือแบบนี้คนอ่านเยอะ ซึ่งฐานคนอ่านเยอะจริง ๆ แต่มันเต็มไปด้วยข่าวที่เราไม่สบายใจ เดี๋ยวก็กระทบดาราคนโน้นคนนี้ ต้องยอมรับว่าข่าวเต้าก็มี ข่าวจริงก็มี ทำอยู่พักหนึ่งหมดไปไม่รู้เท่าไร ในที่สุดพบว่าไม่ใช่ทางของเรา ผมเลิกเลย เจอคุณติ๋ม ทีวีพูล (พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย) ผมก็ยังบอกเลยว่ายอมแพ้ ทำไม่ไหว สู้คุณติ๋มไม่ได้

การตัดสินใจว่าเลิกกับไม่เลิก หลายครั้งผมตัดสินใจช้าเกินไป ไม่รู้ดึงไว้ทำไมตั้งหลายปี ทำให้ตัวเลขขาดทุนเยอะ ตอนหลังนี่ถ้าต้องเลิกผมเลิกเลย ไม่ต้องมานั่งประชุมหน้าดำคร่ำเครียด ถ้าคุณถามว่าไม่เจ็บปวดบ้างเหรอ คำตอบคือต้องอ่อนไหวกันขนาดนั้นเลยเหรอ อันนั้นหลงตัวเองมากกว่าว่าทำแล้วเลิกไม่ได้ ถ้าอยู่ต่อไม่ได้ก็ต้องเลิก บางทีเลิกแล้วมองย้อนกลับไป รู้สึกดีจังที่ได้เลิก ไม่งั้นชีวิตเจอหนักกว่านี้แน่

มีช่วงหนึ่งที่แมกกาซีนหัวนอกบุกเข้ามาเมืองไทยเยอะแยะ ทำไมจีเอ็มฯ ไม่เอาหัวนอกเข้ามาบ้าง
ตอบแบบครึ่งจริงครึ่งเล่น เพราะผมไม่เก่งภาษาอังกฤษ ผมคุยกับฝรั่งไม่รู้เรื่อง จริง ๆ อีกประเด็นคือ ผมคิดว่าหัวนอกนั้นเราไม่มีอิสระเรื่องคอนเทนต์ สมมุติในยุคหนึ่งผมอยากสัมภาษณ์คุณทักษิณขึ้นปก GM ทำได้นะ แต่หัวนอกทำไม่ได้ เพราะถูกบังคับมาแล้วว่าปกจะต้องเหมือนเมืองนอก คนที่ผมนำมาขึ้นปกคือข่าวที่กำลังอยู่ในกระแสของเมืองไทย แต่เราไม่สนใจ ต้องไปเอาดาราฝรั่งมาขึ้นเหรอ มันก็ไม่ใช่นะ แล้วข้อสำคัญในการเอาหัวนอกเข้ามาจะมีสัญญาว่า ๕ ปีแล้วค่อยต่อสัญญาใหม่ เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนไปเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง พอทำดี ๆ ขึ้นมาวันหนึ่งเขาอยากจะคิดค่าหัวคิวสูงขึ้น มันก็ไม่ใช่ลูกเราอีกแล้ว ผมไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น ผมสร้างคอนเทนต์ ผมออกหัวของตัวเองดีกว่า

ตอนนั้นแมกกาซีนบ้านเราการแพลนโฆษณาอยู่ในมือเอเจนซี ยิ่งคนแพลนโฆษณาเป็นคนรุ่นใหม่จบนอกมายิ่งไม่คิดอะไรทั้งนั้น ถ้าเป็นหัวนอกดีหมด ไม่เคยอ่านเลยว่าแล้วหัวไทยเป็นยังไง ไม่เคยเข้าใจ มองฝรั่งเป็นเทวดาหมด งบโฆษณามีเท่าไรก็เทไปที่หัวนอก เราไม่ได้อานิสงส์เลยตอนนั้น ณ ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่สถานการณ์ขณะนี้ก็ไม่ต่างกับหัวไทย บางสำนักอาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เราอยู่ในสมรภูมิเดียวกันแล้วครับ

pakorn03

ค่ายจีเอ็มฯ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะนักเขียน-นักทำงานหนังสือ คุณมีหลักในการสร้างคนอย่างไร
ไม่ค่อยมีหลักนะ (หัวเราะ) คงมีแรงดึงดูดมากกว่า เริ่มจากที่ผมเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน เพราะฉะนั้นเวลารับคนมาทำงานก็ต้องดึงดูดคนมีแนวทางคล้าย ๆ กัน ถ้าคนนั้นไม่ค่อยชอบอ่านชอบเขียน ไม่ชอบงานสัมภาษณ์ เราคงไม่รับมาทำงาน

จะเรียกว่าผมเป็นคนสร้างไม่ค่อยถูกนะ เขาต้องมีของเขาอยู่แล้ว ผมเพียงแต่มาต่อเติมให้จากประสบการณ์ที่ผมมี เช่น การตั้งชื่อ การตบท้าย การเริ่มต้น ว่าอย่าอารัมภบทยาว การถามเวลาสัมภาษณ์ต้องไม่ใช่ถามประโยคหนึ่ง เขาตอบมาแล้วก็จบ ควรจะมีลักษณะวิวาทะกัน  ไม่ได้หมายความว่าไปทะเลาะกับเขา แต่หมายความว่าต้องกล้าซักถามประเด็นที่เขาพูดด้วย ไม่งั้นเราถามเสร็จ เขาตอบมา จบ แล้วก็เปลี่ยนไปประเด็นอื่น แบบนี้ก็เหมือนรับใบสั่งจากเขามา เขาอยากพูดอะไรก็ใส่ให้เขาไป การสัมภาษณ์ก็กลายเป็นแค่รับสารมาแล้วส่งต่อเหมือนบุรุษไปรษณีย์ คุณต้องรู้จักสังเคราะห์ก่อนส่งสารนั้นต่อไปถึงผู้อ่าน

คุณมีหลักคิดอะไรทางธุรกิจที่นำมาปรับใช้ในตอนนี้ได้บ้าง
ไม่มีหลักคิดซับซ้อนเหมือนที่เขียน ๆ กันในหนังสือประเภท how-to ผมเรียนรู้ประสบการณ์จากระหว่างทางนี่แหละ ผมอาจเป็นนักธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น ผมมาด้วยความรู้สึกว่าไม่แพ้หรอก แต่ต้องเหนื่อย เราคงเป็นคนที่เกิดมาแล้วต้องเหนื่อย แต่ก็เป็นความเหนื่อยที่มีความสุข

สักครึ่งปีที่แล้วผมคุยกับเจ้าของโรงพิมพ์ ก็มีสภาพไม่ต่างจากคนทำหนังสือ เพราะไม่มีงานพิมพ์ งานพิมพ์หายไปเกินครึ่ง แท่นพิมพ์ยังมีอยู่ คนงานยังมีอยู่ แล้วทำยังไง ก็ต้องค่อย ๆ ปลดคน  เขาบอก คุณปกรณ์ เราคิดผิดกันหรือเปล่าที่มาอยู่ในธุรกิจนี้  ผมบอกไม่ผิดหรอก ที่เราเป็นตัวเป็นตนทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะเราอยู่ในธุรกิจนี้หรือ เราอย่าไปเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นสิ ผมว่าเราต่างเกิดมาต่างมีหน้าที่คนละอย่าง ฟ้ากำหนดให้คนนี้ไปทำหนังสือ คนนี้ไปทำโรงพิมพ์ คนนี้ไปทำรถยนต์ ถ้าคนเกิดมาเพื่อทำอย่างเดียวกันโลกจะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นผมไม่เสียใจนะ ผมรู้สึกขอบคุณทุกวินาทีที่ชีวิตผมได้มาอยู่กับธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจที่ผมได้พบได้สัมภาษณ์คนมากมาย ได้พบคนดี ๆ คนเก่ง ๆ คนที่มีความคิดดี ๆ นี่แหละคือเสน่ห์ของอาชีพคนทำหนังสือ

ถ้าย้อนเวลากลับไปตอนที่ผมอายุ ๘ ขวบ และเริ่มอยากเขียนหนังสือ อยากเป็นเจ้าของหนังสือ ผมก็ยังอยากทำอย่างนี้อีกผมไม่อยากใช้ชีวิตที่ผิดไปจากนี้ สาบานก็ได้ (หัวเราะ)

คุณเชื่อหรือว่ายังพอมีช่องทางไปต่อได้
ถ้าทำธุรกิจแล้วคิดแบบเล่นไพ่เก้าเกก็อาจเลิก ถ้าคู่แข่งถือเก้าแต้มในมือ แล้วเรามีอยู่ในมือแค่สองแต้ม จะชนะต้องป๊อกเท่านั้น จะดันทุรังทำไม หมอบดีกว่า  แต่ทำธุรกิจคิดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องมองเหมือนการเล่นไพ่รัมมี่ ไม่อนุญาตให้หมอบ จั่วไปก่อน จั่วไปเรื่อย ๆ ตอนนี้เราแทบไม่มีคู่เลย แต่ถ้าโชคดี จั่วมาสามที คุณอาจได้ไพ่สามคู่ก็ชนะได้ แล้วไม่จำเป็นต้องมีไพ่คิงแหม่มแจ็กนะ ตัวเล็ก ๆ ก็ได้ พวกที่ถืออะไรอยู่ในมือเต็มไปหมดบางทีตายกันหมด ผมมองธุรกิจเป็นไพ่รัมมี่ ต้องรอจังหวะ ต้องรอโอกาส ตอนนี้ยังเหลือไพ่ในกอง ก็รอ ก็จั่วกันต่อไปก่อน

อย่างไพ่ในมือผมตอนนี้ ออนไลน์ของจีเอ็มฯ กำลังดีวันดีคืน (GM Live) มีคนเข้ามาต่อเดือนเป็นล้าน ขายโฆษณาง่ายขึ้น ถึงแม้ในตลาดจะมีงบอยู่แค่ ๒-๓ พันล้าน แบ่งไปแบ่งมาเราได้สัก ๒๐ ล้านก็เรื่องใหญ่แล้วนะ แต่ถ้าไม่ได้ ๒๐ ล้าน ได้มา ๑๐ ล้านก็ยังดี เพราะต้นทุนการทำออนไลน์น้อยกว่าการทำหนังสือที่มีทั้งค่าเพลต ค่ากระดาษ ค่าอะไรต่อมิอะไรสารพัด แล้วเนื้อหาเดือนเดียวก็หมดอายุ แต่ออนไลน์เนื้อหายังอยู่บนนั้นนะ และอย่างที่บอกเราแตกกิ่งก้านออกไปอีกหลายกิ่ง

ณ ที่ใดที่หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยพูดว่า อีก ๓ ปีข้างหน้า ในรายได้ของจีเอ็ม กรุ๊ป จะเป็นกระดาษ ๑๐ บาท ออนไลน์ ๑๕ บาท รายการทีวี อีเวนต์ และอื่น ๆ รวมแล้ว ๕๐ บาท อีกครึ่งหนึ่งคือ ๕๐ บาทจะมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้านสุขภาพและอาหาร ซึ่งสองอย่างหลังเพิ่งเริ่มมาได้ไม่ถึงปี แต่เป็นธุรกิจที่ต่อยอดมาจากความเป็นมีเดียของจีเอ็มฯ เป็นธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลกด้วย

ผมกำลังจะตอบคำถาม ผมเชื่อว่าจีเอ็มฯ จะไปต่อได้แน่ ๆ แต่จะไปต่อด้วยบิซิเนสโมเดลที่หลากหลายออกไป เราไม่ได้ทิ้งสิ่งพิมพ์ แต่เราจะไม่ได้อยู่กับสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียว

แมกกาซีนต่างประเทศกับของบ้านเรา สถานการณ์ต่างกันไหม
ไม่ต่างกันหรอก เขาก็ปรับตัว ต้องยอมรับความจริงว่า แมกกาซีนหัวนอกกระจายไปทั่วโลกได้ แล้วราคาขายก็ค่อนข้างแพง ทำให้เขามีรายได้จากยอดขายพอสมควร ขณะที่ของไทยเรายอดขายหนังสือยังไม่พ้นต้นทุน แทบพึ่งโฆษณาล้วน ๆ เพราะถ้าตั้งราคาเล่มละ ๑๘๐-๒๐๐ บาทจะมีคนซื้อกันไหมล่ะ

ธุรกิจแมกกาซีนบ้านเราเลยบิดเบี้ยวมาตลอด ค่าสายส่งสูงมาก ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ของราคาปก ถ้าเราสามารถตั้งราคา ๒๐๐ บาทแล้วขายได้ จ่ายสายส่งไป ๔๐ เปอร์เซ็นต์ยังเหลือ ๑๒๐ แต่ทุกวันนี้เราตั้งราคา ๗๐-๙๐ บาทซึ่งขาดทุนในตัวอยู่แล้ว ต้นทุนเล่มหนึ่งอยู่แถว ๆ ๑๒๐ บาท ขาย ๙๐ บาท เจอค่าสายส่งอีกเหลืออยู่ไม่ถึง ๕๐ บาท ขาดทุนแล้วเล่มหนึ่งประมาณ ๗๐ บาท

ยิ่งพิมพ์เยอะยิ่งขาดทุนเยอะ มันบิดเบี้ยวตั้งแต่ตรงเริ่มต้นแล้ว กว่าหนังสือหนึ่งเล่มจะถึงมือคนอ่าน ต้องผ่านคนกลางไม่ต่ำกว่าสามคน คนทำหนังสือเป็นผู้แบกต้นทุนข้างเดียวตลอดมา

ผมอยู่ในธุรกิจนี้มากว่า ๓๐ ปี ผมเคยคิดว่าไม่ช้าธุรกิจนี้ต้องจบสิ้น ตอนนี้ระบบจัดจำหน่ายบ้านเราก็เปลี่ยนโฉมไปพอสมควร แต่มันก็มาถึงช้าเกินไป เพราะมันมาถึงพร้อมกับการล่มสลายของอุตสาหกรรมนี้

ถ้าเลิกกันหมด ถามว่าจะเป็นไรไหม ผมว่าไม่เป็นไร ต่อไปเราวางในโมเดิร์นเทรดอย่างเดียวก็พอ เดี๋ยวนี้โมเดิร์น-เทรดมีกระจายไปทั่ว ตัดคนกลางออก ส่งตรงให้โมเดิร์นเทรด นี่เป็นทางออกทางหนึ่งที่ผมคิดได้ตอนนี้

แต่ร้านหนังสือต่างๆ แม้แต่ในโมเดิร์นเทรดก็ขายไม่ดี ร้านหนังสือก็คงลดลงไปอีก เพราะการอ่านเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ร้านหนังสือที่อยู่ตามสี่แยกตามตรอกซอกซอยอาจจะหมดไป ส่วนซูเปอร์มาร์เกตบ้านเราคงไปไม่ถึงแบบต่างประเทศที่มีชั้นหนังสือให้คนเข็นรถหยิบหนังสือก่อนจ่ายเงิน เพราะเขาขายอย่างอื่นที่คิดว่าได้กำไรดีกว่า คงไม่คิดเรื่องการส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน ไม่ใช่หน้าที่เขา ระบบสมาชิกอาจต้องฟื้นกลับมาใหม่ แต่น่าจะต้องมีวิธีที่ดีกว่าแบบเก่าที่ทำกันมา

เมื่อก่อนเวลาผมไปเมืองนอกจะต้องไปหาหนังสือตามร้านหนังสือ แต่ตอนหลังหนังสือเหล่านี้ก็มาอยู่ตามห้างใหญ่ ๆ ในเมืองไทยแล้ว ผมก็ซื้อที่นี่ ไม่จำเป็นต้องไปเมืองนอก ยิ่งเดี๋ยวนี้ผมดาวน์โหลดมาดูได้เลย อยากดูหนังสืออาร์ต อยากดูปกหนังสือแนวแปลก ๆ ผมไม่จำเป็นต้องซื้อ กดเข้าไปดูสิเต็มไปหมดเลย

เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจะมองในแง่ไม่ดีก็ไม่ดี มองในแง่ดีมันก็ดี ก็น่าจะสรุปว่าการมองทุกอย่างควรมองเป็นสองด้าน มีทั้งดีและไม่ดี อยู่ที่ว่าตัวเราเองจะหยิบสิ่งดีมาใช้ได้อย่างไรและตามให้ทัน เราไม่ชอบมันหรอก แต่ตกขบวนไม่ได้ ยังไงมันก็ต้องมา  มองย้อนกลับไปสิครับ เราทุกคนล้วนมีชีวิตเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น  แน่ละครับ ตราบใดที่โลกยังหมุนก็ยังมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มาอีกทุก ๆ เจเนอเรชัน แล้วมนุษย์ก็จะสามารถปรับตัวจนอยู่กันได้นั่นแหละ

เคยมีคนบอกว่ารัฐบาลควรเข้ามาช่วยวงการนิตยสารให้อยู่รอด คุณมีความเห็นอย่างไร
เอาจากใจจริงนะ ทุกรัฐบาลแทบจะเอาตัวเองไม่รอดอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่กว่านี้เขายังแก้ไม่ได้ ก็แก้กันง่าย ๆ แจกเงินไปก่อน ประชานิยมไปก่อน แต่ธุรกิจอย่างนี้ไม่เคยอยู่ในความสนใจของรัฐบาล

ถ้าจะพูดให้เป็นรูปธรรมชัดขึ้น ธุรกิจการอ่านต้องเริ่มจากการศึกษา คุณต้องมีการศึกษา ต้องอ่านออกเขียนได้ก่อนคนถึงจะอ่าน และคนที่อ่านออกเขียนได้ก็ต้องมีความคิดที่ทันโลก ก็ต้องมีตำราเรียนหรือการสอนที่ทันสมัย แต่เราอยู่กันมาอย่างนี้ ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจแก้ปัญหานี้หรอกครับ ถ้ารัฐบาลแก้การอ่านได้ คนจะไปอ่านอะไรต่อก็ได้ เราก็ผลิตหนังสือผลิตคอนเทนต์ดี ๆ ได้ ทุกอย่างก็จะเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ต้องยอมรับว่าเมืองนอกประชาชนเขามีคุณภาพกว่าเรา พูดอย่างนี้ก็โกรธอีก หาว่าผมดูถูกคนไทย ยอมรับความจริงกันหน่อยว่าเราไม่รักการอ่านกันจริง ๆ แล้วไม่อ่านอะไรที่สร้างสรรค์ความคิด อ่านแล้วปวดหัวไม่เอา คิดว่าชีวิตทุกวันนี้ปวดหัวพออยู่แล้ว เราก็เลยอ่านกันอยู่แค่นี้

การทำหนังสือนี่คือธุรกิจชนิดหนึ่งนะ ที่อยู่กันมาได้ทุกวันนี้นักธุรกิจช่วยตัวเองทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลชุดไหนเลย

ฟังดูคุณไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์กับแมกกาซีนกระดาษเท่าไร
ผมใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งนี้มาเกือบตลอดชีวิต จะบอกว่าไม่รู้สึกเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่คำถามคือจะให้อาลัยอาวรณ์นานแค่ไหน ผมว่าไม่นานหรอก เดี๋ยวชีวิตก็ต้องผ่านตรงนี้ไป อะไรที่มาทดแทนอาจดีก็ได้ คุณนึกถึงฟิล์มถ่ายรูปก็แล้วกัน สมัยก่อนถ่ายรูปแต่ละครั้งต้องหอบฟิล์มกันไปเป็นร้อยม้วน ถ่ายเสร็จกลับมาต้องหาที่ล้าง หาที่เก็บ เต็มไปหมด พอเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ตอนแรกคนต่อต้านว่าถ่ายรูปสู้ฟิล์มไม่ได้ ตอนนี้จริงหรือเปล่า สู้ได้ใช่ไหม ดีกว่าด้วย สะดวกจะตาย

คุณคิดว่าผมไม่รู้สึกเหรอ ผมอยู่มานานกว่าคุณอีก ถ้าผมจะรู้สึกเสียดายก็คือคนทำคอนเทนต์ยุคนี้แย่ลง ไม่มีคุณภาพเหมือนเมื่อก่อน ถ้าเขียนอะไรกันแย่ ๆ ผมจะรู้สึกมากกว่ากระดาษหายและมีอย่างอื่นมาทดแทนอีก

ให้มันหายไปเถอะ แต่คนทำคอนเทนต์ต้องมีคุณภาพดียิ่ง ๆ ขึ้น จะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ไม่เป็นไร ถ้ามันจะสูญสลายไปก็เหมือนความตาย เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน มันคือสัจธรรมอย่างหนึ่งของโลก  มองอีกแง่หนึ่งเราควรจะภูมิใจต่างหากที่ได้มีชีวิตร่วมอยู่ในความตายนี้ นี่คือประวัติศาสตร์ที่คนเล็ก ๆ อย่างเรามีส่วนร่วมเขียน ร่วมเป็นร่วมตายอยู่ในยุคสมัยนี้

แต่ยังหรอก ยังไม่มีอะไรตาย กระดาษยังจะไม่ตาย แม้ในชั่วชีวิตของเรา  นี่ฤดูใบไม้ร่วงกำลังจะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใหม่ก็จะหวนกลับมา  แน่นอนมันจะไม่ผลิบานเหมือนเดิม แต่เชื่อเถอะครับ ฤดูกาลใหม่ก็มักจะนำสิ่งดี ๆ ใหม่ ๆ มาสู่เราเสมอ