วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
mongkutoom01

คนในวงการหนังสือไม่อาจปฏิเสธว่า เดือนมีนาคมและเดือนตุลาคมของทุกปีได้กลายเป็นหมุดไมล์ชี้บอกอัตราเร่งในการผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งในเมืองไทยไปแล้ว

เช่นเดียวกับเป็นหลักกิโลของคนที่ตั้งตารอวันที่จะได้มาซื้อหนังสือปกใหม่หรือหนังสือเก่าลดราคาในงานนี้

ถ้าเราวัดการอ่านของคนในชาติจากผลการสำรวจงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีสำนักพิมพ์กว่า ๔๐๐ แห่งร่วมออกบูทกว่า ๘๐๐ บูท จำนวนผู้เข้าร่วมงาน ๑.๕ ล้านคน มีเงินสะพัดร่วม ๔๐๐ ล้านบาท เราคงเห็นพ้องกันว่าการอ่านของคนไทยคึกคักไม่น้อยทีเดียว

หากแต่ไม่มีผลสำรวจใดยืนยันไว้เลยว่าคนนับล้านที่มาซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ นั้น อ่านหนังสือกันวันละกี่หน้า ปีละกี่เล่ม และหนังสือที่อ่านคือหนังสือประเภทใด

อันที่จริงแล้ว วาระการอ่านของชาติ กับวิกฤตการอ่านของชาติ เป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือไม่

ปลายมีนาคม ๒๕๕๔ สารคดี มีโอกาสสนทนากับคนทำหนังสือ ๒ คนที่ทั้งต่างเพศ ต่างวัย และต่างรุ่น

หนึ่งคือชายผมขาววัยที่น่าจะพ้นเกษียณ มกุฏ อรฤดี ในบทบาทนักเขียน เขาคือเจ้าของนามปากกา “นิพพานฯ” และ “วาวแพร” ผู้ได้รับรางวัลนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๕๓ ในบทบาทคนทำหนังสือ เขาคือเจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่พิสูจน์ตัวเองมายาวนานถึง ๓ ทศวรรษแล้วว่าทำ “หนังสือดี” เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วเขายังมีบทบาทเป็นผู้ผลักดันแนวคิดสถาบันหนังสือแห่งชาติ ด้วยความฝันว่าประเทศไทยจะมีสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นคลังปัญญาสรรพวิชาเรื่องหนังสือ กระทั่งไม่กี่เดือนมานี้ เขาออกมาปรากฏตัวอีกครั้งตามสื่อต่าง ๆ เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายบริจาคหนังสือเสรีของรัฐบาลที่เขามองว่าจะนำประเทศไปสู่ความฉิบหาย

นอกจากกุมบังเหียนสำนักพิมพ์ที่สร้างบรรทัดฐานการทำหนังสือดีให้แก่วงการสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา มกุฏยังทำสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือมาแล้วแทบทุกส่วน เขาเคยตั้งตนเป็นคนเดินทาง บรรทุกหนังสือไว้ท้ายรถทดลองทำห้องสมุดเคลื่อนที่ แต่ก็พบอุปสรรคมากมายที่ทำให้เขาได้รู้ว่าสังคมไทยมีความแตกต่างถึงเพียงนี้ เขาเคยร่วมทุนเปิดร้านหนังสือเล็ก ๆ ด้วยความเชื่อว่าร้านหนังสือจะก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนอ่านกับคนทำหนังสือ และระหว่างคนอ่านด้วยกัน แต่ด้วยไม่อาจต่อสู้กับระบบเศรษฐกิจระหว่างร้านเล็กกับร้านใหญ่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องยุติลง เขาลงทุนเข้าเล่มปกแข็งให้แก่หนังสือทุกขนาดอย่างดีเพื่อเตรียมไว้สำหรับร้านหนังสือให้เช่า แต่ร้านหนังสือแห่งนั้นก็ปิดลงหลังประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากการลดราคาหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เขาเชื่อว่ามหาวิทยาลัยในเมืองไทยจำเป็นต้องสร้างคนทำหนังสือคุณภาพ ด้วยการมีหลักสูตรวิชาหนังสือเพื่อให้วิชาชีพการทำหนังสือเป็นวิชาหลักเฉกเช่นเดียวกับที่เรามีคณะนิเทศศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนปัจจุบันนี้หลักสูตรบรรณาธิการศึกษาได้ถูกบรรจุเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และกำลังเปิดเป็นวิชาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้เขายังเปิดอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับแก่บุคคลทั่วไปที่มีมาถึง ๘ รุ่นแล้ว เพราะเขาเชื่อว่างานบรรณาธิการมีความสำคัญเฉกเช่นสร้างโบสถ์สร้างวิหาร และควรเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มิใช่ลองผิดลองถูกดังเช่นที่เคยเป็นมา

ในรุ่นที่ ๘ นี้เอง เราได้พบหญิงสาววัย ๓๖ ที่หลายคนคุ้นหน้าเธอดีผ่านจอโทรทัศน์และภาพยนตร์ ในฐานะดารานักแสดงและพิธีกร สิริยากร พุกกะเวส หรือ อุ้ม เธอมาทำอะไรที่นี่

น้อยคนจะรู้จักอีกบทบาทหนึ่งของเธอ ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์โอโอเอ็มที่ประกาศตัวทำหนังสือเพื่อคนรักการใช้ชีวิตจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์มาแล้ว เธอบอกเราว่า “ก่อนมาเรียนวิชาบรรณาธิการต้นฉบับ รู้สึกว่าตัวเองเป็นบรรณาธิการเถื่อน และทำไปด้วยสัญชาตญาณ ลองผิดลองถูก ไม่มีใครมาบอกว่าการทำหนังสือที่ถูกต้องเป็นอย่างไร มาตรฐานการทำหนังสืออยู่ตรงไหน…คนที่มาก็มาจากหลายสำนักพิมพ์มาก แต่ละคนคิดเห็นเรื่องการทำหนังสือไม่เหมือนกัน ซึ่งมันไม่มีดำไม่มีขาว เราได้มาแลกเปลี่ยนกันมากกว่า และต้องขอบคุณวิชาบรรณาธิการต้นฉบับที่จุดประกายให้เรากลับไปอ่านวรรณกรรมเก่า ๆ แล้วได้ค้นพบคุณค่าที่แท้จากวรรณกรรมเหล่านี้”

ท่ามกลางโลกอิเล็กทรอนิกส์ที่หมุนเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ คนทำหนังสือสองคนที่ทั้งต่างเพศ ต่างวัย และต่างรุ่นนี้ ต่างเชื่อเหมือนกันว่า หนังสือไม่มีวันตายไปจากโลก และความรักที่จะทำหนังสือด้วยหัวใจทั้งคู่มีไม่ต่างกันเลย

บทสนทนาว่าด้วยระบบหนังสือและการอ่านของเขากับเธอ อาจทำให้เรามองเห็นรากปัญหาที่มีมายาวนานในระบบหนังสือเมืองไทย

ความรักหรือชอบหนังสือของคุณเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
มกุฏ : ตั้งแต่อายุ ๔-๕ ขวบ เกิดขึ้นจากความริษยาหน้าบ้าน เพื่อนเราพี่น้องเขาอยู่กรุงเทพฯ พอกลับมาตอนปิดเทอมจะมีการ์ตูนภาพเรื่อง ขวานฟ้าหน้าดำ แล้วเราก็สังเกต นั่งดูยืนดู ๆ เวลาเขาเปิดหนังสืออ่าน เขายิ้มเขาหัวเราะ โอ้โฮ ทำไมเพื่อนเรามีความสุขเหลือเกิน ช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก แต่ครอบครัวผมสอนมาว่าอย่าอยากได้ของของใคร กระทั่งเวลาคนกินอาหารอย่ามองดูปากเขา พอมองเห็นความสุขนี้ หมดเลยความละอาย วันหนึ่งผมเอ่ยปาก “ขอยืมอ่านหน่อยสิ” ขวานฟ้าหน้าดำ จึงเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต

ตอนประถม ๕ ผมไปเรียนโรงเรียนฝรั่ง นึกสงสัยว่าทำไมคุณพ่อ (บาทหลวง) ต้องพกหนังสือปกดำ (ไบเบิล) ติดตัว ทำไมในห้องคุณพ่อมีหนังสือเต็มไปหมด ผมไม่รู้ว่าความรักหนังสือเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันเป็นความสุข เป็นความปรารถนา เป็นความใฝ่หาที่จะรู้ ที่จะเรียน ที่จะอ่าน พ่อผมมาจากเมืองจีน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ แม่ผมเรียนประถม ๑ ครึ่งก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านทำงาน พี่ชายเรียนจบประถม ๔ ก็ออกมาเรียนเอง เพราะสมัยนั้นเกิดสงคราม ไม่มีสตางค์ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเรียนหนังสือ ก่อนพี่ชายตายปรากฏว่าทรัพย์สมบัติที่พี่ชายมีคือหนังสือเต็มไปหมด เราไม่รู้ว่าเขาแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาจากไหน

หลังจากเรียนโรงเรียนฝรั่งได้ ๓ ปีผมกลับมาเรียนที่บ้าน (โรงเรียนมัธยมเทพา จ.สงขลา) โรงเรียนนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง เราอยากอ่านหนังสือ ทำอย่างไรดีเราจะได้อ่านหนังสือ ถามเพื่อน ทุกคนอยากอ่านหนังสือ ถามครู ครูบอกไม่มีงบประมาณ เป็นคำตอบคลาสสิกมาก ตั้งแต่ผมเด็กผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่างบประมาณแปลว่าอะไร ท้ายที่สุด เราขอเก็บสตางค์คนละบาท เท่าที่จำได้มี ๙ คนเท่านั้นที่มีสตางค์ อีก ๑๗ คนไม่มี เราซื้อนิตยสารมา ๔ ฉบับ ฉบับละ ๓ บาท เราแบ่งห้องขนาด ๔x๔ เมตร เอากิ่งไม้มาต่อเป็นชั้นวาง เล็ง ถอย วาง เล็ง ถอย เป็นครึ่งค่อนวัน แล้วค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา ผมตั้งห้องสมุดโรงเรียนตอนอายุ ๑๓ ผ่านไป ๓ ปี บนชั้นเริ่มมีนิตยสารมากขึ้น ผมเริ่มนำหนังสือส่วนตัวมาสมทบ ระหว่างทางเราจัดแข่งกีฬา จัดประกวดกระทงหารายได้ ตั้งทีมบาสเกตบอล เงินจากการขายตั๋วก็นำมาซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด เวลาผ่านมาในปีที่ ๒๕ หลังจากที่ผมออกจากโรงเรียน ครูส่งจดหมายมาบอกว่าตอนนี้ใต้ถุนตึกใหม่เราได้กั้นห้องเป็นห้องสมุดแล้วนะ จนกระทั่งบัดนี้มีหนังสือเป็นหมื่น ๆ เล่ม นั่นหมายความว่าใช้เวลา ๒๕ ปีตั้งแต่นับหนึ่ง คุณถึงได้ห้องสมุด ๑ ห้อง

สิริยากร : ถามว่ารักหนังสือเมื่อไหร่ เชื่อว่าตั้งแต่จำความได้ ครอบครัวเป็นพื้นฐานเลยค่ะ บ้านจะเต็มไปด้วยหนังสือ วันหยุดคุณพ่อคุณแม่จะพาไปร้านหนังสือ ร้านหนังสือถือว่าเป็นผู้แนะนำหนังสือคนหนึ่ง ร้านหนังสือพูดกับเรานะ วิธีการวางเลย์เอาต์ร้านคือการสื่อสาร เข้าไปแล้วทำให้เราอยากอ่านวรรณกรรมดี ๆ

อุ้มโตขึ้นมาด้วย โรอัลด์ ดาห์ล โต๊ะโตะจัง เป็นเรื่องแรก ๆ ที่จำได้ แล้วรู้สึกสนิทพอ ๆ กับเรามีมานีมานะ เราก็มีโต๊ะโตะจังเป็นเพื่อนต่างชาติ ต้องขอบคุณคุณแม่มากเพราะว่าซื้อหนังสือแต่ละช่วงโตตามเรา เราไม่รู้หนังสือพวกนี้มาจากไหน ที่หัวเตียงจะมีหนังสือตลอดเวลา ความทรงจำแรกที่ลืมตาตื่นคือชั้นข้าง ๆ เตียงนอนที่พ่อต่อไว้ ตื่นมาปั๊บก็ต้องสุ่มเลือกหนังสือจากชั้นมาอ่าน บางวันการ์ตูน บางวันนิทานชาดก ช่วงหนึ่งโดนหมากัดก็หยิบหนังสือโรคพิษสุนัขบ้ามาอ่าน อยู่มาวันหนึ่งมีเอนไซโคลพีเดียชุดของดิสนีย์มาตั้งอยู่ในบ้าน

การส่งเสริมการอ่านที่บ้านคือไม่ส่งเสริม แต่ว่ามันเกิดบรรยากาศ ทุกคนในบ้านอ่านหนังสือ ยกเว้นคุณย่า คุณย่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แต่ท่านเล่าเก่งที่สุด คุณย่าเป็น audio book ฟังคุณย่าเล่าเรื่องเก่า ๆ เหมือนได้อ่านเรื่อง เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก คุณแม่เป็นนักการศึกษา ทำให้เราได้อิทธิพลแปลก ๆ จากหนังสือต่างประเทศ มีหนังสือเยอรมันซึ่งอ่านไม่รู้เรื่องแต่ภาพสวยมาก แล้ววิธีการพิมพ์ประหลาดคือมุมจะมน เราสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราใช้มือกับตาและจมูกเยอะ กลิ่นหนังสือแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน

มกุฏ : ตำรากับหนังสือเด็กกลิ่นจะไม่เหมือนกัน เพราะหนังสือเด็กไม่ใช้สารเคมีฟอก ฝรั่งเขาถือสาเรื่องนี้มาก หนังสือเด็กต้องกินได้ คือต้องใส่เข้าปากได้โดยที่ไม่เป็นอันตราย

คุณอุ้มโชคดีที่เกิดในครอบครัวอย่างนี้ แต่อีกกี่ล้านครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด ครอบครัวที่เหมือนผมตอนเด็ก ๆ ครอบครัวที่พ่อแม่อ่านหนังสือไม่ออกจะทำอย่างไร รัฐบาลเอะอะก็บอกว่าการอ่านต้องเริ่มจากครอบครัว บางครอบครัวเริ่มได้ แต่บางครอบครัวเริ่มไม่ได้

การอ่านสำคัญอย่างไรต่อชีวิต แล้วเราต้องเริ่มกันอย่างไร
มกุฏ : การอ่านหนังสือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์

สิริยากร : การอ่านหนังสือเหมือนกินข้าว อุ้มอ่าน กามนิต แล้วคิดอยู่ว่าถ้าคนที่ไม่ได้เห็นถึงความงามของภาษา ไม่ได้รู้สึกถึงคุณค่าของวรรณกรรม บังคับให้เขาอ่านแล้วบอกว่านี่คือวรรณกรรมที่ดี เขาก็บอกว่าดูทีวีสนุกกว่า มันพูดยากว่าใครจะเห็นคุณค่าของอะไร แต่อุ้มคิดว่าสำคัญที่สุดต้องปลูกฝังกับเด็ก เราดูตัวเองจากหนังสือ เราเลือกอ่านอะไรมันสะท้อนตัวเรา และเราเป็นตัวเป็นตนมาได้เพราะการอ่านหนังสือ

มกุฏ : เอาเข้าจริงแล้วสร้างได้ ไม่มีใครมีสันดานอ่านหนังสือมาตั้งแต่เกิดหรอก เพียงแต่ใครจะเป็นคนเริ่ม เริ่มตรงไหน เริ่มอย่างไร ถ้าเราจะให้สังคมนี้เป็นสังคมการอ่าน เริ่มทั้งประเทศเสียเวลาและต้องเสียงบประมาณมหาศาล เพราะคนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไปยากที่จะบอกให้เขาอ่านหนังสือ เราต้องเริ่มจากเด็กอายุ ๑ ขวบ
ไปจนถึง ๕ ขวบ ๗ ขวบ ๑๐ ขวบ ไม่อย่างนั้นเราจะสะเปะสะปะอยู่อย่างนี้ และเราจะเริ่มสังคมนี้ไม่ได้

กิจกรรมเสวนาแนะนำ วิจารณ์หนังสือ ช่วยส่งเสริมการอ่านได้หรือไม่
มกุฏ : คำถามก็คือว่าทำกันมากี่ปีแล้ว เป็นสิบปีแล้วใช่ไหม แล้วมันได้อะไร สมมุติเราบอกว่าให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสะอาด เราพูดกันมาตั้งแต่คนระดับต่ำสุดจนถึงระดับสูงสุด แต่ถามว่าเขาเริ่มจากตรงไหน เขาก็บอกว่าเริ่มจากผักตบชวาสิ เริ่มจากขยะริมคลองสิ แต่หารู้ไม่ว่าในกรุงเทพฯ มีบ้านไหนบ้างที่ไม่ปล่อยของเสียลงคู ทุกบ้านปล่อยหมด แล้วเราจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสะอาดได้อย่างไร

ถ้าเผื่อว่ามีกฎหมายอะไรสักอย่าง เช่นกำหนดว่าคุณต้องจัดการเรื่องห้องสมุดในชุมชน นั่นเป็นพื้นแล้วว่าอย่างน้อยที่สุดเริ่มเห็นและสืบต่อไปว่าระบบการอ่านประกอบด้วยอะไรบ้าง ยกตัวอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสัก ๔๐ ปีมาแล้วมีกฎหมายห้ามลดราคาหนังสือ กำหนดให้ทุกร้านต้องขายหนังสือราคาเท่ากัน แล้ววันหนึ่งมีคนไม่เห็นด้วย รัฐบาลสวิสก็ยกเลิกกฎหมายที่ให้หนังสือเป็นสินค้าควบคุม แต่ ๓-๕ ปีผ่านไปต้องนำกฎหมายนี้กลับมาใช้ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่ปล่อยให้ร้านใหญ่ ๆ ลดราคาหนังสือได้ ร้านเล็ก ๆ ก็ตายหมด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลรู้และเข้าใจหรือเปล่า

สิริยากร : อุ้มคิดว่าความเชื่อมโยงระหว่างยุคสมัยหายไป แต่มันสร้างได้ ถ้าเผื่อว่ามีคนแนะนำว่าหนังสือนี้ดียังไง สนุกยังไง เด็กก็จะสนุกไปด้วย แต่คุณไม่มีทางจับเด็กกับวรรณกรรมโบราณมาวางแล้วหวังว่าจะเชื่อมกันได้เอง เขาต้องการการชี้แนะ วรรณกรรมบางเรื่องต้องการการย่อย เพราะเด็กรุ่นใหม่กับวรรณกรรมโบราณห่างกันเป็นร้อยปี แล้วช่วงที่หายไปนี้เชื่อมกันไม่ติด มันต้องการตรงกลางที่มาเชื่อมหรือแนะนำให้รู้จักกัน

มกุฏ : คุณรู้ไหมเมืองไทยมีนักวิจารณ์อาชีพกี่คน ประเทศซึ่งมีคนเกือบร้อยล้านคนมีนักวิจารณ์อาชีพประมาณ ๕ คน พอเราไม่มีนักวิจารณ์เราก็ขาดคนแนะนำหนังสือสำหรับสังคม สังคมการอ่านเลยขาดหาย

ในต่างประเทศเขามีวิธีส่งเสริมการอ่านให้คนในชาติอย่างไร เปรียบเทียบกับบ้านเราแล้วเหมือนหรือต่างอย่างไร
สิริยากร : ไม่ว่าอุ้มจะเดินทางไปเมืองไหน สิ่งที่ต้องไปดูแน่ ๆ คือซูเปอร์มาร์เกตหรือตลาด กับห้องสมุด เพราะสองสิ่งนี้เหมือนเป็นภาคปฏิบัติของนโยบาย ตลาดเป็นเรื่องกิน ห้องสมุดเป็นเรื่องสมอง เพราะฉะนั้นมันบอกได้เลยว่าเมืองนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดคนอย่างไร และทำมานานแค่ไหนแล้ว เมืองที่เคยไปเห็นและชอบ เช่น สตอกโฮล์ม เมลเบิร์น พอร์ตแลนด์ นิวยอร์ก เมืองเหล่านี้ไม่ใช่เจริญอย่างเดียวแต่เป็นเมืองศิลปะด้วย ห้องสมุดเข้าไปแล้วสนุก หนังสือหรือบรรยากาศก็สนุกร่าเริงมาก

ล่าสุดอุ้มไปพอร์ตแลนด์ เข้าห้องสมุดสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย ลูกเล็กเด็กแดงผู้ใหญ่ไปห้องสมุดกันเป็นวิถีชีวิตปรกติ แล้วในทุก ๆ อาณาบริเวณมีห้องสมุด เพราะคนมีส่วนร่วมในการวางผังเมือง เทศบาลของเมืองจะมีแบบสอบถามมาว่าในอาณาบริเวณที่คุณอยู่ยังขาดอะไร แล้วไม่ใช่แค่มี แต่ต้องมีโดยคุณภาพด้วย คุณมีสวนสาธารณะ ในสวนสาธารณะต้องมีอะไรบ้าง มีของเล่นสำหรับเด็กยังไง ซูเปอร์มาร์เกตต้องมีอาหารสุขภาพด้วย ถนนต้องมีเลนจักรยาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ คือความต้องการพื้นฐานเขาตอบสนองไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเขาลงรายละเอียดได้แล้วว่าแต่ละอันควรเป็นยังไง

มกุฏ : ระบบการอ่านของสิงคโปร์ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะเกิดขึ้น เขาเริ่มจากกฎหมาย ๑ ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยการตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติของสิงคโปร์ที่หอสมุดแห่งชาติเป็นคนรับผิดชอบ การเข้าห้องสมุดถือเป็นนโยบายรัฐเลยนะครับ แล้วที่สนุกกว่านั้น โครงการหมู่บ้านจัดสรรนอกเมือง สิ่งแรกที่เขาทำคือสร้างห้องสมุดเพื่อที่จะโฆษณาว่าหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้มีห้องสมุดใหญ่ ปรากฏว่าบ้านจัดสรรขายหมดเลย

ประเทศที่จะแข่งขันเป็นเมืองหนังสือโลกก็เช่นกัน จะต้องมีความพิเศษบางอย่าง เช่นอาร์เจนตินา วิธีคิดเขาฉลาดมาก เพียง ๒-๓ ปีอาร์เจนตินาเผยแพร่วรรณกรรมของตนเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกภายในเวลาชั่วพริบตาได้อย่างไร เขาวางแผนติดต่อไปยังสถานทูตต่าง ๆ ที่ประเทศของตนตั้งอยู่ แล้วให้สถานทูตนั้น ๆ ติดต่อสำนักพิมพ์ท้องถิ่น เช่นในกรุงเทพฯ สถานทูตก็ติดต่อไปยังสำนักพิมพ์ทั้งหลายขอดูผลงานที่ผ่านมา ในที่สุดเขาเลือกสำนักพิมพ์ผีเสื้อแปลหนังสือของอาร์เจนตินาเป็นภาษาไทยแล้วให้เงินอุดหนุนการพิมพ์ อาร์เจนตินาใช้เงินเพียงเล็กน้อยแต่ได้เผยแพร่วรรณกรรมของตนเป็นร้อยภาษา ฉะนั้นทันทีเลยอาร์เจนตินาก็ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ตอนที่ผมเสนอแปลวรรณกรรมคลาสสิกของโลกเป็นสมบัติของชาติ รัฐบาลบอกทันทีว่าต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่ละเรื่องกว่าจะแปลได้ต้องค้นคว้าวิจัยถึงกับต้องบินไปประเทศนั้นเพื่อจะได้หนังสือเล่มหนึ่ง ผมบอกง่ายนิดเดียว เรามีสถานทูตอยู่ในประเทศครบทุกแห่ง ให้เขาเลือกวรรณกรรมคลาสสิกของประเทศเขาสัก ๑๐ เล่มเพื่อที่เราจะแปลเป็นภาษาไทย ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่รัฐบาลไทยมักคิดเรื่องการใช้เงิน เห็นไหมครับวิธีคิดต่างกัน

สิริยากร : เวลากำหนดนโยบายอะไรก็ตาม เราจะต้อง mapping และดูว่าสภาพในแต่ละชุมชนของเมืองไทยเป็นอย่างไร ไม่ใช่เอะอะเราก็จะสร้างห้องสมุด แต่ทำไมไม่ลงไปดูว่าของเดิมมีอะไรอยู่แล้ว เช่นร้านเช่าหนังสือ เราทำงานร่วมกับเขาได้ไหม ถ้าจะหาโครงสร้างที่เป็นไปได้สำหรับสังคมที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

มกุฏ : เวลารัฐบาลพูดถึงห้องสมุด รัฐบาลก็จะสร้างตึกท่าเดียว เราศึกษาให้เห็นแล้วว่าห้องสมุดไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ว่าต้องเอาระบบไปให้เขา ที่ไหนก็ทำได้ สิ่งที่เราคิดคือเราจะร่วมมือกับร้านกาแฟทุกร้านเพื่อที่จะให้มีห้องสมุดในร้านกาแฟ ด้วยระบบเช่นคุณเป็นสมาชิกของร้านกาแฟร้านนี้ คุณยืมหนังสือกลับบ้านได้ ถ้าคุณไม่ใช่สมาชิก คุณมานั่งอ่านหนังสือได้ หรือห้องสมุดในห้างสรรพสินค้า แทนที่จะโฆษณาลดราคาสินค้า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แล้ว ต่อไปนี้จะโฆษณาแข่งขันกันว่าห้างของเรามีห้องสมุดที่ยืมหนังสือได้ ๕ เล่ม ๑๐ เล่มแทน

ถ้าเผื่อว่าวันหนึ่งเอ็มโพเรียมประกาศว่าห้างของเรามีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีหนังสือให้ยืมกลับบ้านได้ ๑๐ วัน ขณะที่เซ็นทรัลขึ้นป้ายว่ายืมได้ ๗ วัน ลองนึกดูว่าห้างสรรพสินค้าโฆษณาแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเดือนที่แล้ว ผมแนะนำบริษัททำคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งว่าคุณลองโฆษณาด้วยวิธีนี้สิ คอนโดมิเนียมของเรามีห้องสมุด และยืมอ่านได้ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าทุกคนแข่งขันกันด้วยวิธีนี้จะเกิดอะไรขึ้น เพียงแก้กฎหมายฉบับเดียวเท่านั้น เช่นในกฎหมายระบุว่าห้างสรรพสินค้าต้องมีบันไดหนีไฟ ก็เพิ่มเข้าไปว่าห้างสรรพสินค้าต้องมีห้องสมุด เราจะได้ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งมีห้องสมุดโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินสักบาท เราจะได้คอนโดมิเนียมทุกแห่งมีห้องสมุด โรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไปมีห้องสมุด ถ้าทำได้จิตสำนึกจะเกิดขึ้นเอง แต่ทุกวันนี้เราเอางบประมาณของชาติมาจ่ายค่าเช่า TCDC และ TK Park ปีหนึ่งเท่าไร งบประมาณนั้นมาจากภาษีของใคร มาจากภาษีของตาสีตาสาที่อยู่แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ถามว่าคนต่างจังหวัดมีโอกาสได้ใช้ห้องสมุดเหล่านี้ไหม

กรุงเทพฯ ประกาศตัวเป็นมหานครแห่งการอ่าน ไม่ได้เป็นการจุดพลุให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นเลยหรือคะ
สิริยากร : กรุงเทพฯ พยายามจะประกาศตนเป็นโน่นเป็นนี่โดยเห็นคนอื่นทำแล้วคิดว่าฉันอยากจะเป็นบ้าง แต่ไม่พยายามทำในสิ่งซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างที่มีอยู่ อันที่จริงระบบหนังสือในกรุงเทพฯ ถ้ามีอะไรที่ดีอยู่แล้ว ทำงานร่วมกัน เราคงไม่สูญเสียเงินมากจนเกินไป

มกุฏ : ระบบหนังสือเป็นเรื่องซับซ้อน เอาแค่กฎเกณฑ์ของยูเนสโกบอกว่าเมืองหนังสือจะต้องมี ๓ อย่าง คือ หนึ่ง มีการผลิตที่ดี คือมีการเรียนรู้วิธีการผลิตหนังสือดี และหมายความว่าจะต้องมีเสรีภาพในการผลิตด้วย สอง มีการเผยแพร่ที่ดี คือมีทั้งห้องสมุดที่ดี มีระบบการขายหนังสือที่ดี ยกตัวอย่างอินเดีย ในอินเดียไม่มีห้องสมุดใหญ่มากนักแต่มีการเผยแพร่ที่ดี ทุกซอกทุกซอยมีร้านขายหนังสือมีแผงหนังสือเต็มไปหมด สาม มีการอ่านที่ดี เช่นเลบานอน ช่วงเกิดสงครามในบังเกอร์มีหนังสือกองอยู่เต็ม เวลาคนหลบภัยไปอยู่ในบังเกอร์ แทนที่จะนั่งจับเจ่าก็หยิบหนังสือมาอ่าน เพราะฉะนั้นเรื่องหนังสือจึงมีรายละเอียดร้อยแปดประกอบกัน

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมพยายามเสนอกรุงเทพมหานครทำระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด ๕๐ แห่งในกรุงเทพฯ และในร้านหนังสือให้เช่าอีก ๕๐ แห่ง ในเวลาเพียงชั่วพริบตาจะมีห้องสมุดเกิดขึ้น ๑๐๐ แห่ง แต่กรุงเทพมหานครบอกว่าไม่ใช่นโยบาย กทม.อ้างว่าในกรุงเทพฯ มีห้องสมุดเยอะเพราะเรามีโรงเรียนในสังกัด กทม. เยอะ ซึ่งเป็นคำพูดที่เหลวไหล เพราะว่าในประเทศไหน ๆ ที่มีโรงเรียนเขาก็มีห้องสมุดกันทั้งนั้น นั่นไม่ใช่จุดที่จะไปแข่งขันอะไรได้เลย

ถ้า กทม. รับความคิดนี้ ป่านนี้กรุงเทพฯ ประกาศเป็นเมืองหนังสือได้แล้ว เพราะจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีห้องสมุดแปลกประหลาดที่สุดในโลก คือมีร้านหนังสือและห้องสมุดอยู่ในที่เดียวกัน สมมุติว่าคุณยืมหนังสือไป อ่านแล้วชอบ คุณกลับมาที่ร้านขอซื้อก็จะได้ส่วนลดจากสำนักพิมพ์ เป็นระบบที่ทุกคนได้ประโยชน์ กทม.ได้ประโยชน์คือมีห้องสมุดของตัวเอง ร้านหนังสือที่เกือบเจ๊งก็มีรายได้เพิ่มขึ้น คือเราลงทุนค่าหนังสือจำนวนหนึ่งให้เขาทำระบบให้เช่าหนังสือ แล้วระบบหมุนเวียนคือ หนังสือใหม่จะไปถึงที่ต่าง ๆ ทุก ๆ ๔ เดือน เพราะฉะนั้นคุณอยู่ย่านนี้คุณรีบอ่านนะ คนก็ตื่นตัวที่จะอ่าน กลไกนี้เคยทดสอบกับเด็กชั้นประถม ๔, ๕, ๖ มาแล้ว เด็กกระตือรือร้นอ่านเพราะรู้ว่าหนังสืออยู่กับเขาแค่ ๔ เดือน พอถึงเวลาหมุนเวียน เด็กบางคนยังไม่อ่านหนังสือบางเล่ม เขาเล็งไว้เลยว่าหนังสือเล่มนั้นจะไปโรงเรียนไหนเขาก็ตามไปยืมมาอ่าน

ในชนบทล่ะคะ เราจะเริ่มอย่างไร
มกุฏ : ว่าที่จริงชนบทพร้อมที่จะรองรับสิ่งต่าง ๆ ว่าด้วยเรื่องระบบหนังสือและการอ่าน เพราะว่าเขาขาด เขาไม่มีสตางค์ซื้อหนังสือ ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นได้ค่อนข้างจะยากด้วยซ้ำเพราะว่าทุกคนมีสตางค์ซื้ออ่านเองได้ ในต่างจังหวัดเขาพร้อมเสมอที่จะทำ แต่คำถามคือใครจะรับผิดชอบดูแล ตอนนี้ห้องสมุดประชาชนดูแลโดย กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) กศน. มีภาระมากเหลือเกิน แล้ว กศน. ทั้งประเทศมีบรรณารักษ์วิชาชีพซึ่งทำงานได้เต็มที่เฉพาะงานบรรณารักษ์จริง ๆ กี่คนหนังสือก็มีอยู่ไม่กี่สำนักพิมพ์ คนจึงไม่ค่อยอยากเข้าห้องสมุดประชาชน

เราจะเริ่มอย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนมารวมกันแล้วเกิดสำนึกเกิดความกระตือรือร้น เราได้พยายามทำให้เห็นแล้วโดยเริ่มจากมัสยิด ในมัสยิดไม่มีห้องสมุด ไม่มีตู้หนังสือ เอาหนังสือไปกองแป๊บเดียวหายหมด เราเรียกว่าระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ไม่มีระบบยืมคืน มีเพียงสมุดเล่มเดียวให้เขาจดเอาเองว่าใครมายืมอะไรไป แล้วที่ประหลาดคือสมุดก็ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว เพราะเขาเอาไปแลกกันเอง เช่นบ้านใกล้กัน ผมอ่านเล่มหนึ่ง อุ้มอ่านเล่มหนึ่ง อ่านจบแล้วแลกกันเลย หมุนเวียนกันโดยอัตโนมัติ

สิริยากร : บางทีเราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วย อย่าคิดเพียงว่าจะให้คนอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม ๆ แต่เราจะทำงานกับเนื้อหาอย่างไรมากกว่า คือคิดจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แต่เปลี่ยนเนื้อหา เช่นทำละครจากวรรณกรรมดี ๆ หรือเราจะทำหนังสือเสียง (audio book) ช่องวรรณกรรมสำหรับวิทยุ ให้คนขับรถฟังเวลาอยู่บนท้องถนน เมื่อคนเริ่มเห็นคุณค่าเขาก็จะแสวงหาเอง เวลานี้ระบบนิเวศหนังสือเสียไป ทั้งคนทำ คนเขียน คนอ่าน คนขาย ทุกอย่างเสียสมดุล แล้วคุณค่าที่แท้มันหายไป

ขณะนี้ระบบหนังสือหรือวงจรของหนังสือทั้งหมดมีปัญหาอย่างไร
มกุฏ : เราได้ยินเสมอว่าการอ่านต้องเริ่มจากครอบครัว ครอบครัวคือห่วงโซ่หนึ่งของปัญหา ซึ่งโยงไปสู่อีกห่วงปัญหาหนึ่งคือความแตกต่างของสังคมไทย ครอบครัวนี้รวยมาก พ่อแม่ซื้อหนังสือไว้เป็นตู้เลย กับอีกครอบครัวทำงานหาเช้ากินค่ำ มีรายได้วันละ ๒๐๐ บาท ค่าหนังสือเล่มละ ๑๐๐ กว่าบาท ตลอดชีวิตนี้เขาไม่มีโอกาสซื้อหนังสือเลย บังเอิญเชื่อมโยงกับอีกห่วงโซ่หนึ่งซึ่งใหญ่มากคือนโยบายของรัฐและงบประมาณ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนมีนโยบายว่าด้วยหนังสือและการอ่าน พอรัฐบาลไม่มีนโยบายหลัก รัฐบาลก็สะเปะสะปะอย่างนี้ ไม่มีงบประมาณ เอ้า บริจาค สำนักพิมพ์ขายหนังสือไม่ได้ เอ้า ประมูลหนังสือ รัฐบาลบอกให้บริจาคหนังสือเยอะ ๆ ให้ผลิตหนังสือเยอะ ๆ ให้ขายหนังสือเยอะ ๆ ซื้อหนังสือเยอะ ๆ ก็โยงต่อไปสู่ห่วงของผู้ผลิตต้นฉบับ ห่วงของนักเขียนและนักแปล ถามว่าขณะนี้นักเขียนมีคุณภาพมีกี่คน นักแปลมีคุณภาพสักกี่คน แล้วบรรณาธิการล่ะมีกี่คนที่จะมาตรวจแก้ต้นฉบับให้ดีให้ถูกต้อง ถามต่อว่าสำนักพิมพ์ที่มีอยู่ ๕๐๐ แห่งมีบรรณาธิการต้นฉบับกี่คน สำนักพิมพ์เร่งผลิตหนังสือกันใหญ่แต่ไม่มีนักเขียน ก็ไปเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ มาประมวลรวบรวมเป็นต้นฉบับแล้วจัดพิมพ์ อย่างเช่นล่าสุดมีหนังสือว่าด้วยเรื่องยาซึ่งผลิตโดยคนที่ไม่ใช่เภสัชกร ปรากฏว่าข้อมูลผิดหมด กินเข้าไปตามคำแนะนำในหนังสือก็ตาย แล้วหนังสือไม่ได้มีแค่ห่วงของสรรพวิชา ร้านเย็บกี่ไสกาวก็มีปัญหา ปัญหาอยู่ตรงที่ประเทศนี้ยากจน เราต้องทำหนังสือประเภทที่อยู่สืบต่อไปได้ถึงลูกหลานเหลนลื้อ ไม่ใช่เปิดทีสองทีพัง

เอาละ สมมุติว่ารัฐบาลปรารถนาดีให้บริจาคหนังสือ คนมีสตางค์ ๑๐ ล้านคนแย่งกันบริจาคหนังสือคนละ ๑๐ เล่ม เราจะได้หนังสือประมาณร้อยล้านเล่มไปยังห้องสมุดต่าง ๆ ห้องสมุดแต่ละแห่งจะได้หนังสือประมาณ ๑ แสนเล่ม แต่คำถามคือว่าจะเอาหนังสือเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน และใครจะเป็นคนแยกประเภทของหนังสือว่าหนังสือนี้เหมาะสำหรับเด็กชั้นไหน นี่คือปัญหาอีกห่วงโซ่หนึ่งว่าขณะนี้เราไม่มีบรรณารักษ์ ในโรงเรียนประถม ๓๙,๐๐๐ กว่าแห่งมีบรรณารักษ์อยู่สัก ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กว่าแห่งเท่านั้น อีก ๓ หมื่นกว่าแห่งไม่มีบรรณารักษ์ แล้วทำอย่างไร นั่นก็เชื่อมโยงสู่อีกห่วงโซ่หนึ่งว่ามีมหาวิทยาลัยผลิตคนออกไปเป็นบรรณารักษ์สักกี่คน ขณะนี้มีคนเรียนบรรณารักษ์อยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนทั่วประเทศ ถามว่าถ้าเราจะผลิตบรรณารักษ์ ๓ หมื่นกว่าคนต้องใช้เวลาเท่าไร เราต้องใช้เวลากว่า ๑๐๐ ปีถ้าอัตราการผลิตบัณฑิตยังเป็นเท่านี้ ปรากฏว่ารัฐบาลประกาศว่าจะแก้ปัญหานี้ภายในเวลา ๒ ปี สิ่งที่รัฐบาลทำคือให้ครูที่ว่าง ๆ อยู่มาเป็นบรรณารักษ์ ครูเหล่านี้ก็ไม่รู้เลยว่าจะทำอะไรในเรื่องเกี่ยวกับหนังสือและห้องสมุด กลายเป็นการสร้างห่วงโซ่ปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

ห่วงโซ่เหล่านี้เกี่ยวข้องกันหมด และต้องทำพร้อมกันหมด ไม่มีทางที่คุณบอกว่าจะสนับสนุนนักเขียนแล้วช่วยให้ระบบหนังสือดีขึ้น ที่ผ่านมาห่วงต่าง ๆ อยู่ในที่ของตัวเอง ห่วงนักเขียนกองอยู่ที่สมาคมนักเขียนฯ ห่วงนักแปลอยู่ที่สมาคมนักแปลและล่ามฯ ห่วงสำนักพิมพ์อยู่ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ สมาคมห้องสมุดฯ ก็แก้ปัญหาห่วงของบรรณารักษ์ ทุกคนพยายามแก้ปัญหาของตัวเอง นี่คือวิธีแก้ปัญหาแต่ละเปลาะ ๆ แต่ไม่มีอะไรเลยที่ดำรงอยู่ตามลำพัง จนกระทั่งบัดนี้รัฐบาลรู้หรือเปล่าว่ามีห่วงของปัญหาอยู่กี่ห่วงในระบบหนังสือ ๔๐ ปีที่ผมศึกษาเรื่องนี้มา รู้ว่ามีห่วงโซ่ปัญหาทั้งสิ้น ๑๔ ห่วงและพยายามบอกทุกรัฐบาล เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังไม่รู้ว่าห่วงปัญหาอยู่ที่ไหนบ้าง เราแก้ปัญหาไม่ตก

สิริยากร : เราต้องดูทั้งระบบหนังสือ ตั้งแต่ต้นทางคือคนเขียน ทุกวันนี้เรามีนักเขียนนิยายเยอะ แต่นักเขียนที่เขียนวรรณกรรมมีน้อยมาก หนังสือขายดีส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือธรรมะ ฮาวทู สร้างแรงบันดาลใจ อาจจะเพราะคนอ่านอะไรได้สั้นลง และวรรณกรรมเขียนยาก กว่าที่จะรวบรวมความคิดแล้วถ่ายทอดออกมาไม่ใช่ง่าย เมื่อเทียบกับสมัยก่อน นักเขียนยุคคณะสุภาพบุรุษ ยุคสยามรัฐ วรรณกรรมสมัยนั้นคึกคักมาก มีการถกเถียงทางความคิด ในต่างประเทศวรรณกรรมก็มีอยู่ไม่ขาดช่วง เพราะหนึ่ง มีการเรียนการสอน ทุกคนต้องเคยอ่านวรรณกรรมคลาสสิก แต่ปัจจุบันการเรียนการสอนวรรณกรรมในโรงเรียนของเรามีน้อยลง สอง นักเขียนของเขาเขียนเล่มหนึ่งก็อยู่ได้ แต่ในเมืองไทยถ้าจะเป็นนักเขียนอาชีพนั้นยาก แล้วหนังสือดีเราก็ไม่รู้จะหาที่ไหน หาซื้อที่ร้านก็ไม่ได้เพราะมีแต่หนังสือขายดี เรื่องบางเรื่องก็ไม่มีใครพิมพ์ ต้นฉบับก็ไม่รู้จะหาอ่านจากไหน แล้วมันน่ากลัวที่วรรณกรรมจะสูญหาย ไม่ใช่หายแค่ในแง่รูปธรรม นามธรรมคือคุณค่าก็หาย

อุ้มคิดว่าเราต้องเรียนรู้วรรณกรรมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจถึงยุคสมัยของวรรณกรรม รู้บริบทแวดล้อมของสิ่งนั้น ทุกวันนี้เราต้องเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วปลูก ไม่อย่างนั้นวรรณกรรมเก่าจะถูกเก็บและตายไป เพาะใหม่ก็ไม่งอก ถ้าเก็บไว้ในห้องเย็น ไม่นำมาเพาะใหม่เรื่อย ๆ วันหนึ่งเจเนอเรชันที่ ๔ ไม่งอกแล้วนะ หนังสือเป็นเมล็ดพันธุ์ทางความคิด ทำอย่างไรถึงจะทำให้มันมีชีวิตต่อไปได้

หนังสือดีในนิยามของคุณคืออะไร
มกุฏ : หนังสือดีคือหนังสือที่เกิดประโยชน์แก่คนอ่าน เราบอกไม่ได้ว่าประโยชน์ในด้านใดบ้าง ประโยชน์คือเขาอ่านแล้วเขาเติบโตทางความคิด สติปัญญา

สิริยากร : หนังสือที่ทำให้เราดี ไม่ว่าในแง่ความคิด จิตใจ รสนิยม ความเห็นต่อผู้อื่นต่อโลก หนังสือต้องช่วยจรรโลงเราให้ดีงามขึ้น หนังสือดีคือหนังสือที่มีคนได้อ่านด้วย คุณค่าจะมากขึ้นกว่าที่เราได้อ่านอยู่คนเดียว

สำหรับอุ้มหนังสือที่ดีคืออ่านจบแล้วยังไม่อยากลุกไปไหน ดีใจที่ได้รู้จักเพราะหนังสือนั้นมีคุณค่าควรแก่การเคารพ อุ้มชอบอ่านหนังสือเก่า รู้สึกว่าคนสมัยก่อนทั้งเก่งและมีคุณธรรม อุ้มเคยอ่าน วรรณกรรมกับสังคม (๑ ใน ๕ เล่มหนังสือชุด “คึกฤทธิ์พูด” จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ฯ) เล่าถึงพัฒนาการของวรรณกรรมไทยว่ามีที่มาอย่างไร ทำไมคนไทยถึงมีคติสอนใจ สนุกสุด ๆ เลยค่ะ อ่านแล้วอบอุ่นใจเหมือนได้ฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่อง แล้วอุ้มคิดว่าการอ่านวรรณกรรมเก่าทำให้คลังคำเราใหญ่ขึ้นด้วย

ตอนนี้เรามุ่งเน้นแต่ทำของใหม่ขายเยอะ ๆ ที่ทางในร้านหนังสือไม่มีวรรณกรรมพวกนี้แล้ว หรือมีก็น้อยมากเมื่อเทียบกับว่าทุกหัวมุมถนนมีหนังสือบันเทิง อุ้มไปหอสมุดแห่งชาติพบว่าหมวดวรรณคดีไทยอยู่หลังเสามืด ๆ ต้องเอียงตัวเข้าไปแล้วมีน้อยมาก เป็นเรื่องตลกมากนะเล่าให้ใครฟังว่าห้องสมุดประเทศเรายืมหนังสือออกไม่ได้ เราต้องนั่งรถไปเพื่ออ่านวันละกี่หน้าดี หรือไปหอสมุดดำรงราชานุภาพก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับ สาส์นสมเด็จ ที่อัดอยู่ในตู้แต่จับต้องไม่ได้ คือเป็นของสูงอยู่อย่างนั้น

มกุฏ : คำถามก็คือแล้วใครกันที่จะเป็นคนเผยแพร่หนังสือวรรณคดีไทย อันที่จริงเรามีกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม แต่วิธีคิดของกระทรวงวัฒนธรรมหรือกรมศิลปากรคือคิดแบบพิพิธภัณฑ์ ทุกอย่างให้คนเข้าไปดู จะยืมออกมาไม่ได้ ระบบหอสมุดแห่งชาติมีมาเป็นร้อยปี แทนที่จะพัฒนาไปไหนถึงไหนกลับยังย่ำอยู่ที่เดิม

mongkutoom02

ทำไมเราต้องอ่านวรรณกรรมโบราณ มันสำคัญกับการยกระดับสติปัญญาของสังคมไทยอย่างไร
สิริยากร : ถ้าไม่เห็นวิวัฒนาการ ไม่เข้าใจอดีตเลย ปัจจุบันก็เหมือนต้นไม้ไม่มีราก แล้วอนาคตก็ง่อนแง่น

หากเราศึกษาพัฒนาการของหนังสือไทยจะเห็นว่าในยุคแรกจำกัดอยู่เฉพาะวัดกับวัง หลังจากมี “สมุดฝรั่ง” คือหนังสือที่ใช้แท่นพิมพ์พิมพ์เป็นจำนวนมาก ก็เริ่มเข้าสู่ยุคที่หนังสือคือสื่อมวลชน หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์คือหนังสือสอนศาสนา และหนังสือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาตั้งแต่แรก หนังสือของหมอบรัดเลย์วิพากษ์สถาบันกษัตริย์และพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง หนังสือที่รัชกาลที่ ๔ พิมพ์ฉบับแรกก็เพื่อคานอำนาจมิชชันนารีฝรั่ง หนังสือได้กลายเป็นเครื่องมือโต้ตอบและถ่วงอำนาจกันในวัดบวรฯ กับในโบสถ์ ต่อมามีการตั้งหอพระสมุดวชิรญาณขึ้น หนังสือถือเป็นของสูง การแนะนำหนังสือต่อประชาชนในยุคแรกก็คือหนังสือในหอพระสมุดฯ

สำหรับสามัญชน หนังสือยุคแรกที่ได้รับความนิยมคือเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องประโลมโลกย์อย่าง พระอภัยมณี ของโรงพิมพ์ครูสมิท จนในสมัยรัชกาลที่ ๖ สิ่งพิมพ์เฟื่องฟูอย่างมาก มีการโต้ตอบทางความคิดอย่างเผ็ดร้อน มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจนในที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

แต่ละยุคสมัยหนังสือมีบทบาททางสังคมมาตลอด และมีที่มาว่าหนังสือแต่ละยุคเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมอย่างไร วรรณกรรมยุคแสวงหาเกิดขึ้นในสภาพสังคมแบบไหน แล้วนักเขียนพยายามบอกอะไร หรือว่าหนังสือเล่มนั้น ๆ มีความหมายอย่างไรต่อผู้คนยุคนั้น วันหนึ่งในอนาคตเราอาจจะได้รู้ว่าในยุคนี้มีวรรณกรรมอีโมติคอนด้วย อุ้มคิดว่าเราควรเรียนรู้จากอดีต และหนังสือที่ดีจะอยู่เหนือกาลเวลา ทำไมหนังสือ สุภาพบุรุษ แค่ ๒ ปีเองแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมและยังคงเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะก้าวไปข้างหน้า เราต้องเรียนรู้อดีต ศึกษาพัฒนาการทุกยุคสมัยของหนังสือไทย แล้วเราจะทำอย่างมีความหมาย ไม่ใช่สักแต่ว่าทำขาย นี่เป็นหน้าที่ของคนทำหนังสือเลยก็ว่าได้

ในบทบาทของคนทำหนังสือ คุณมีวิธีคิดในการทำหนังสืออย่างไร
มกุฏ : เราพยายามทำสิ่งซึ่งเราคิดว่าดีและถูกต้องสำหรับวงการหนังสือ น่าดีใจว่าหลายอย่างที่เราทำและคิดตั้งแต่แรกมานานแล้ว ทุกวันนี้มีคนเห็นว่าเป็นเรื่องดี เช่นการที่เราประกาศตั้งแต่เริ่มทำสำนักพิมพ์เมื่อ ๓๐ ปีมาแล้วว่า ถ้าหนังสือที่ซื้อไปมีตำหนิ ชำรุด ไม่ได้คุณภาพ หน้าสลับหน้าขาดหาย ส่งคืนให้เรา เรายินดีเปลี่ยนและมีของแถมให้เพื่อบอกว่าเรารู้สึกผิดและขอบคุณที่อุตส่าห์บอกเรา ทุกวันนี้นโยบายของเกือบทุกสำนักพิมพ์รับเปลี่ยนหนังสือชำรุด ซึ่งแต่เดิมเขาถือเป็นความผิดของผู้ซื้อที่ไม่เปิดดูเสียก่อน หรือเมื่อเราใช้กระดาษถนอมสายตา แรก ๆ คนก็หัวเราะเยาะ แต่ตอนนี้ทุกคนรู้จักแล้วว่ากระดาษถนอมสายตาคืออะไร

เราพยายามทำหนังสือปกแข็งเพื่อจะเป็นแบบอย่างว่าหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดควรจะทนทาน ราคาแพงกว่ากันไม่เท่าไรแต่อยู่ได้เป็นร้อยปี และช่วยลดภาระแก่ห้องสมุดที่จะต้องนำปกอ่อนไปเย็บเล่มปกแข็งอยู่ดี เราพยายามทำและทดลองสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับวงการหนังสือที่เราคิดว่าถูกต้อง ดีงาม หลายปีมาแล้วเราเริ่มประกาศว่าสำนักพิมพ์จะไม่พิมพ์งานแปลจากภาษาที่สอง เพราะเราเห็นว่ามีความคลาดเคลื่อนสูง เมื่อมีคนรู้ภาษาอื่นมากขึ้นก็ควรจะแปลจากต้นฉบับภาษาที่หนึ่ง เราพยายามให้นักแปลมีลิขสิทธิ์ร่วมในต้นฉบับแปล สิ่งนี้ไม่มีในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่เราพยายามทำให้เกิด เมื่อก่อนเวลานักแปลแปลหนังสือเล่มหนึ่ง สำนักพิมพ์จ่ายค่าต้นฉบับแปลครั้งเดียวจบ แต่เราเสนอแนวคิดใหม่ว่า เวลานักแปลแปลต้นฉบับเสร็จ สำนักพิมพ์มีบรรณาธิการต้นฉบับตรวจ ต้นฉบับที่จะนำมาพิมพ์เราเรียกต้นฉบับที่สองนั้นจะต้องมีลิขสิทธิ์ร่วมกัน ๓ ฝ่าย คือ นักแปล บรรณาธิการต้นฉบับ และสำนักพิมพ์ เมื่อมีการพิมพ์ครั้งใดก็ตาม นักแปลควรจะได้ค่าตอบแทนตามสัดส่วน บรรณาธิการต้นฉบับแปลควรจะได้ค่าตอบแทนตามสัดส่วนทุกครั้งไปตลอดอายุขัยของการพิมพ์ สิ่งนี้จะทำให้นักแปลทำงานประณีตขึ้นเพราะจะเป็นงานของเขาไปตลอดชีวิต นักแปลจะลืมตาอ้าปากได้ นักแปลจะอยู่ได้จนแก่จนเฒ่า เราพิมพ์ ผีเสื้อและดอกไม้ ทุกครั้ง เราจ่ายค่าภาพประกอบคุณช่วง มูลพินิจ ทุกครั้ง อันที่จริงบรรณาธิการควรได้ส่วนแบ่งจากกำไรหนังสือที่ขายดีพิมพ์ซ้ำหลายสิบครั้งด้วยเช่นกัน ไม่ใช่จ่ายครั้งเดียวจบ แต่ขณะนี้ไม่มีใครควบคุมมาตรฐานสิ่งเหล่านี้

สิริยากร : อุ้มคิดเสมอว่าทุกสื่อที่เราทำเป็นหีบห่อของความเชื่อ ไม่ว่าจะทำรายการโทรทัศน์ ทำนิตยสาร ทำสำนักพิมพ์ ทุกอย่างเป็นหีบห่อ คือความคิดเราเป็นนามธรรม เราต้องหารูปธรรมบางอย่างให้แก่มัน เราอยากนำเสนอความเชื่อ และแบ่งปันความเชื่อแก่ผู้คนในเรื่องการมีสุนทรียะ มีศิลปะในการใช้ชีวิต เพียงแต่กระบวนการนำความเชื่อในรูปหนังสือเล่มไปถึงมือคนก็ต้องผ่านการจัดจำหน่าย ผ่านร้านค้า ผ่านการทำการตลาด ผ่านการแจกลายเซ็น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้

ตอนเราเริ่มทำในท้องตลาดไม่มีหมวดหมู่ (category) หนังสือนี้เลย เราตั้งมันขึ้นมาเป็น lifestyle book แล้วเราก็วางตำแหน่งแห่งที่ของเราชัดเจนว่าเราทำหนังสือท่องเที่ยวกับหนังสือตำราอาหารเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ไกด์บุ๊ก มันเป็นเหมือน เฮ้ย คนที่มีการใช้ชีวิตแบบนี้ เพียงแต่เราหาโครงสร้างที่มีอยู่ในร้านหนังสือ เพราะเราต้องคิดแทนคนขายด้วยว่าเขาจะเอาหนังสือไปวางตรงไหน ต้องเข้าใจด้วยว่าตลาดมีอะไรอยู่แล้วที่เราจะนำเสนอสิ่งเหล่านั้นบนโครงสร้างเดิมให้ได้ จนตอนนี้มีไลฟ์สไตล์บุ๊กออกมาเต็มไปหมด เดินเข้าไปในร้านหนังสือมันกลายเป็นหมวดหมู่ชั้นเบ้อเริ่มไปแล้ว

อุ้มเริ่มจากฝันก่อน แล้วค่อยหากระบวนการว่าทำอย่างไรจะออกมาได้อย่างนั้น เราเชื่อเสมอว่าการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งคือประสบการณ์ เพราะฉะนั้นเวลาแนะนำตัวบนแผงหนังสือ หน้าตามันจะเป็นยังไง เราต้องคิดตั้งแต่แรกเลยว่าท่าทีของสำนักพิมพ์เป็นยังไง แล้วมันจะบอกเลยว่าเราจะทำหนังสืออะไรบ้างและไม่ทำอะไร หรือถ้าทำอะไรมันจะออกมาเป็นยังไง ความซื่อสัตย์สำคัญที่สุด คุณต้องเชื่ออย่างไรทำอย่างนั้น แล้วสำนักพิมพ์ที่ชัดเจนในตัวเองจะเห็นและจะไม่ทำในสิ่งที่เขาไม่เชื่อ

เราเลือกใช้ขนาดรูปเล่ม A5 เพราะว่าประหยัดกระดาษที่สุด เหลือเศษทิ้งน้อยที่สุด แล้วมันขยายออกไปได้เต็มพื้นที่ คือเราจะทำหนังสือไซซ์แปลกทำไมถ้าต้องทิ้งกระดาษ จับก็ไม่ถนัด เพราะฉะนั้นเราจะไม่ทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์ โครงสร้างของหนังสือ ๑ เล่มต้องมีความกลมกล่อม ต้องมีหลากหลายรสชาติ อ่านแล้วรู้สึกว่าเสพง่าย อุ้มชอบงานโปรดักชัน เราทดลองอะไรใหม่ ๆ ตลอด แต่ละเล่มไม่เปลี่ยนกระดาษก็หาวิธีการใหม่ ๆ มีเล่มหนึ่งพิมพ์ไปเยอะมากปรากฏว่าสีไม่อิ่ม คือเราใช้กระดาษใหม่ซึ่งโรงพิมพ์เองก็ไม่เคยใช้มาก่อน เราเรียกคืนหนังสือทันที เพราะขณะที่เรากำลังบอกคนว่าชีวิตต้องมีความงามแต่หนังสือไม่งามแล้วเราจะไปพูดกับใครได้

เราโชคดีที่ทีมมีหัวใจเดียวกัน ทั้งตัวหนังสือ ภาพ เลย์เอาต์ มันทำงานด้วยกัน ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของการสร้างความเชื่อ เชื่อว่าชีวิตต้องมีความงาม ชีวิตต้องมีรายละเอียด แล้วไม่ต้องยากด้วยนะ คือคุณไม่ต้องพยายามมากเกินไปที่จะมีความสุขและมีความงามในชีวิต คุณแค่เปลี่ยนทัศนคติหน่อยเดียวเอง อุ้มคิดว่าความเชื่อต้องชัด ความฝันต้องชัด แล้วทำให้มันเป็นจริง สำนักพิมพ์ตั้งมา ๓ ปี อุ้มวางหนังสือทั้ง ๑๔ เล่มที่ทำมาตรงตำแหน่งที่เห็นชัดที่สุดในบ้าน แล้วมองมันด้วยความชื่นใจ คือเราต้องรักงานที่ตัวเองทำ และมันต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ด้วย ทุกวันนี้มันเป็นเช่นนั้น

ตลาดหนังสือเมืองไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีความสมดุลกันไหม
สิริยากร : ตอนนี้เราผลิตหนังสือเยอะเกินไป โลกทุกวันนี้ over supply หมด เราเลยไม่มีเวลาจะชื่นชมอะไรนาน ๆ เนื่องจากมันเยอะเกินไป ทุนนิยมมีเงื่อนไขว่าต้องออกสินค้าใหม่ ๆ ตลอดเวลา มันไม่ใช่งานศิลปะอีกแล้ว คืองานศิลปะสร้างทีเดียวมันก็มีชีวิตของมันไป แต่ว่าหนังสือขณะนี้มีเวลาหมดอายุ แม้แต่ตัวมันเองก็ต้องออกมาแข่งกับตัวเอง

มกุฏ : ไม่สมดุล เพราะว่าหนังสือในเรื่องวิชาความรู้จริง ๆ ชนิดที่คนอ่านอ่านได้อย่างเพลิดเพลินจำเริญใจโดยที่ไม่ต้องรู้สึกถูกบังคับให้อ่านมีเปอร์เซ็นต์น้อย แต่หนังสือที่อ่านแล้วไม่ได้อะไรนอกจากบันเทิง แม้แต่หนังสือธรรมะประเภทที่อ่านแล้วได้ใช้ประโยชน์จริงมีสักเท่าไร ยิ่งหนังสือประโลมโลกย์ หนังสือโรมานซ์ หนังสือที่เขียนตามอินเทอร์เน็ต หนังสือไม่มีแก่นสาร มันถ่วงจนเอียงไปข้างหนึ่ง อันที่จริงพอถ่วงแล้วแทนที่จะทำให้หนังสือมีสาระเด่นขึ้นมา แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร เพราะหนังสือดีมีสาระก็เข้าไปอยู่ในกองขยะที่ศูนย์สิริกิติ์เหมือนกันกับขยะชิ้นอื่น ๆ ทำไมคุณไม่เอาเพชรพลอยของคุณมากองเสียที่อื่น แล้วเชิญชวนคนมาชื่นชมกองเพชรพลอยของคุณโดยที่ไม่ไปรวมกับกองขยะเหล่านั้น ผมถามสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ในฐานะที่คุณอยู่ในสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ ทำไมคุณไม่คิดให้มากกว่าที่จะคล้อยตามสมาคมฯ จะขอแยกโซนหรือจะรวมกลุ่มจัดอีกงานเลยก็ได้

เราต้องแก้ที่รูปแบบ คือหนังสือใหม่ขอความกรุณาอย่าลดราคา แล้วจัดกิจกรรมที่เป็นความรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังสือมากขึ้น อย่างเช่นที่อังกฤษพยายามทำเรื่องวิชาการ ให้คนทำหนังสือสมัยใหม่เสนอแผนงานว่าด้วยการทำหนังสือในแนวคิดของเขา เด็กอายุ ๑๖-๑๗ อยากทำหนังสือสักเล่มเขาจะเริ่มจากอะไร ขณะที่เรามางานนี้ไม่ใช่เพื่อจะเรียนรู้เรื่องการทำหนังสือ เรื่องลิขสิทธิ์ หรือแสวงหาความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับหนังสือเลย

สิริยากร : สำนักพิมพ์ของเราฝากขายตามบูทต่าง ๆ คือพื้นที่ของหนังสือเราในร้านหนังสือน้อยและสั้นมาก หนังสือที่พิมพ์นานเกิน ๖ เดือนไปแล้วแทบจะไม่มีพื้นที่ในร้านหนังสือเลย งานสัปดาห์หนังสือฯ จึงเป็นที่ที่หนังสือเล่มเก่า ๆ ยังมีโอกาสให้คนได้เห็นเพราะคนอ่านก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน พักหลังจะเห็นว่าแต่ละบูทกลายเป็นร้านหนังสือร้านหนึ่ง พื้นที่ของหนังสือเล่มเก่า ๆ ของตัวเองก็น้อยลงเพราะมีปกใหม่ ๆ ออกมาตลอด มันเลยกลายเป็นระบบย่อยซ้อนเข้าไปอีกในระบบใหญ่ แต่เมื่อเราคิดจะทำหนังสือ เรารู้อยู่แล้วว่าระบบธุรกิจหนังสือเมืองไทยเป็นอย่างนี้ อุ้มไม่ได้คิดว่าสำนักพิมพ์เราจะประกาศอิสรภาพของคนทำหนังสือ ก็ไม่ใช่ เคยชวนสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ด้วยกันแต่เขาบอกว่าถ้าจะไปจัดอีกงานก็ใช่เรื่องในเมื่อมีงานที่ศูนย์สิริกิติ์อยู่แล้วทุกปี

การลดราคาหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีละ ๒ ครั้งที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่งผลต่อการอ่านของคนในชาติและระบบหนังสือเมืองไทยอย่างไร
สิริยากร : คนอ่านเคยชิน เพราะรู้ว่าเดี๋ยวไปซื้อลดราคาในงาน ร้านหนังสือไม่ลดก็ไม่ซื้อ ทำให้สำนักพิมพ์ต้องตั้งราคาเผื่อลดเอาไว้ การลดราคาหนังสือทำให้คนโลภ เดินเข้าไปในศูนย์สิริกิติ์มีความโลภเต็มไปหมด คนก็มาด้วยความโลภ คนทำก็ทำด้วยความโลภ คนขายก็อยากขายหนังสือเยอะ ๆ คนซื้อก็อยากได้หนังสือถูก ๆ แล้วคุณค่าที่แท้จริงหายไป

อุ้มไปยืนแจกลายเซ็นทีไรจิตตกทุกที แม้ว่าส่วนดีคือเราได้พบคนอ่าน แต่เมื่อเทียบกับทั้งงานซึ่งถูกขับด้วยโลภะก้อนใหญ่มหึมา บางครั้งกลับไปเราต้องตั้งสติเลยว่าเราทำอะไรอยู่ เราอยากทำหนังสือ อยากแบ่งปันความเชื่อของเรากับคนในรูปแบบนี้ แต่ว่ามันมาพร้อมกับธุรกิจหนังสือ ตอนนี้หนังสือเข้าสู่ทุนนิยมเต็มรูปแบบ ถ้าคุณจะทำหนังสือขายคุณก็ต้องเจอวงจรอันนี้ ที่สำคัญไม่ใช่การส่งเสริมการอ่านอย่างยั่งยืน แต่ทำให้เกิดระบบธุรกิจของหนังสือราคาถูก แล้วคนก็เคยชินกับระบบนี้ไปเสียแล้ว

มกุฏ : คนอ่านไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะหนังสือที่ขายลดราคานั้นหลอกว่าลดราคา คุณเพิ่มเข้าไปกี่เปอร์เซ็นต์เพื่อที่จะลดกี่เปอร์เซ็นต์ คนทำหนังสือรู้ดี แต่เพราะทุกคนเห็นประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่คิดถึงประโยชน์ของคนอ่าน ประโยชน์ของคนอ่านจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้อง ถามว่าเวลาคุณลดราคาหนังสือ คุณได้คำนวณว่าคุณจะต้องไม่ขาดทุนหรือเปล่า พอคุณคำนวณว่าคุณไม่ขาดทุน การที่คุณลดราคาเท่ากับคุณโกหกคนอ่านแล้ว

เรื่องระบบหนังสือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าพลาดจุดหนึ่งกระทบถึงกันหมด เรานึกไม่ถึงใช่ไหมครับว่าเด็กร้านไสกาวเป็นมะเร็งเพราะงานลดราคาหนังสือ ปรกติเด็กร้านไสกาวทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง ปริมาณสารพิษที่เขาสูดเข้าไปวันละ ๘ ชั่วโมงจะใช้เวลา ๒๐ ปีถึงจะเป็นมะเร็ง แต่พอมีงานที่ศูนย์สิริกิติ์ เขาจะต้องทำงานวันละ ๑๔ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเขาเป็นมะเร็งเร็วขึ้น เรานึกไม่ถึงใช่ไหมว่าเด็กขับมอเตอร์ไซค์ร้านเพลตตายเพราะงานลดราคาหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ ปรกติเด็กร้านเพลตส่งเพลตถึงห้าโมงเย็นก็กลับบ้าน แต่พอมีงานนี้เขาจะต้องอยู่ถึงตีสองเพื่อที่จะขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งเพลต วันนั้นง่วงเต็มแก่ ขับมอเตอร์ไซค์หลับในชนเสาไฟฟ้าตาย ถ้าไม่เร่งผลิตหนังสือเพื่อให้ทันงานเขาก็ไม่ต้องส่งเพลตตอนตีสองในคืนนั้น ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวแต่มันเกี่ยวโยง
กันหมดนะครับ

ถามว่าการลดราคาหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ทำลายระบบตรงไหน ร้านหนังสือเล็ก ๆ อยู่ไม่ได้ เพราะทันทีที่คุณลดราคาหนังสือใหม่ร้านปากซอยเจ๊งทันที ร้านหนังสือซอยทองหล่อตอนนี้เจ๊งไปแล้วเพราะผลผลิตของงานสัปดาห์หนังสือฯ เมื่อก่อนเคยขายได้วันหนึ่ง ๓-๔ หมื่นบาท ต่อมาวันละ ๑,๐๐๐ บาทยังขายแทบไม่ได้ เขาทำสถิติเลยว่าก่อนงานที่ศูนย์สิริกิติ์ขายได้เท่าไหร่ ค่อย ๆ ลดลง ๆ พอถึงช่วงงานยอดขายนิ่งสนิท นั่นหมายความว่ากลุ่มคนอ่านหนังสือมี แต่เขาเก็บเงินไว้ไปซื้อในงาน นี่คือข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

ผมไม่ได้รังเกียจอะไรนะครับ ดีด้วยซ้ำมีหนังสือเป็นล้าน ๆ เล่มอยู่ในงานนั้น แต่ขออย่างเดียวหนังสือใหม่ที่เพิ่งผลิตเมื่อวานนี้ขายราคาเต็มได้ไหม เพื่อที่ร้านปากซอยจะได้ขายได้ด้วย เราจะได้ไม่ต้องเอารถเข็นไปในงานเพื่อจะซื้อหนังสือใหม่ในเมื่อซื้อร้านปากซอยก็ราคาเท่ากัน ถ้าสำนักพิมพ์ทุกแห่งประกาศไม่ลดราคาหนังสือใหม่ ร้านหนังสือเล็ก ๆ อยู่ได้ทันที

การอยู่รอดหรือล้มหายตายจากของร้านหนังสืออิสระบอกอะไรเกี่ยวกับโครงสร้างระบบหนังสือเมืองไทย
มกุฏ : ขณะที่เราเห็นประโยชน์เฉพาะหน้า เราไม่พยายามนึกถึงประโยชน์ที่ไกลออกไป เมื่อใดก็ตามร้านหนังสือทั้งหลายถูกยึดครองโดยเจ้าใหญ่ ๒-๓ เจ้า ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือเจ้าใหญ่มีทั้งสำนักพิมพ์ มีทั้งโรงพิมพ์ มีทั้งสายส่ง มีทั้งร้านขายหนังสือ แล้วขอให้เชื่อเถอะว่าในอนาคตเจ้าใหญ่นี่แหละจะกำหนดนโยบายรัฐบาล และจะเป็นคนบงการประเทศนี้

ปัญหาขณะนี้และในอนาคตคือเรากำลังสร้างระบบผูกขาดหนังสือขึ้นในเมืองไทย โดยสำนักพิมพ์เหล่านี้เองที่ไปขายหนังสือลดราคาที่ศูนย์สิริกิติ์ เมื่อร้านหนังสืออิสระที่เคยมีพื้นที่ให้แก่หนังสือทุกค่ายทุกสีอยู่ไม่ได้ สังคมเราก็จะถูกผูกขาดโดยเจ้าใหญ่ที่กำหนดเนื้อหาและทิศทางของหนังสือในประเทศนี้

สิริยากร : แต่ระบบกลไกตลาดเองทำให้ท้ายที่สุดเจ้าใหญ่ ๆ เท่านั้นที่อยู่ได้ สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ก็ต้องพึ่งสายส่งใหญ่ เราจะทำอย่างไรในเมื่อกลไกตลาดเอื้อให้เป็นเช่นนั้น สายส่งเองก็เป็นเจ้าของร้าน ถึงจะบอกว่ายุติธรรมขายให้ทุกคน แต่ว่าในความเป็นจริงก็ให้พื้นที่แก่หนังสือของตัวเองมากกว่าอยู่ดี ร้านหนังสือเองจะต้องมีความยุติธรรม ไม่ใช่ว่ามีแต่ตำแหน่งที่ดีที่สุดเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเอง อีกอย่างคือหนังสืออะไรขายดีก็จะทำตาม ๆ กัน แล้วทำให้ความหลากหลายของภูมิทัศน์ (landscape) หนังสือเสียไป ร้านหนังสือก็มีแต่หนังสือลักษณะเดียวกันเหมือนกันหมดทุกร้าน

มกุฏ : ขายดีก็ปรากฏว่ามีเบื้องหลังอีกว่าขายดีจริงหรือเปล่า แล้วเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วที่จะเอ่ยชื่อสำนักพิมพ์หนึ่งแล้วรู้ว่าเขาเก่งเรื่องนี้เพราะทุกคนทำตามกันหมด ทั้งสำนักพิมพ์ใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ต่างก็ใช้วิธีเดียวกันหมด คือพยายามกอบโกยให้ได้มากที่สุดไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม มันอันตรายตรงที่ว่าเราไม่มีเวลาตรวจสอบคุณภาพ ภาษาก็เลว วิธีคิดก็เลว หนังสือที่ผลิตออกมาก็ไม่มีคุณภาพ อันที่จริงถ้าเผื่อว่ามีระบบที่ดี หนังสือดีขายได้ ห้องสมุดต้องการอย่างน้อยที่สุดเป็นหมื่น ๆ เล่ม ตลาดต้องการหนังสือดี หนังสือมีสาระ

สิริยากร : เวลานี้อุ้มมองไม่เห็นทางอื่นนอกจากต้องช่วยตัวเอง ทำอย่างไรจะทำเนื้อหาให้ดีและหนังสือเราเป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าดีจริงก็มีคนถามหา สายส่งกับร้านหนังสือถึงวางหนังสือเรา และวางในตำแหน่งที่ดี อุ้มคิดว่ายิ่งเล็กยิ่งต้องสร้างสรรค์ แล้วความคล่องตัวต้องสูงด้วย

มกุฏ : เพียงแต่ว่าสำนักพิมพ์เล็ก ๆ เท่าที่เราศึกษามาอายุสั้น เพราะว่าท้ายที่สุดสู้ตลาดไม่ได้ แล้วเขาก็เหนื่อย พอเหนื่อยก็หมดแรงที่จะทำอะไรดีต่อไป มันก็เกิดสำนักพิมพ์ใหม่ขึ้น กลายเป็นคลื่นที่แตกกระเซ็นไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะฉะนั้นระบบหนังสือเมืองไทยจึงไม่มีอะไรพัฒนาและเติบโตขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่รูปแบบสังคมของหนังสือเมืองไทยน่าจะพัฒนาได้เพราะเรามีภาษาของเราเอง น่าแปลกตรงที่ว่าเราไม่พยายามใช้ความเป็นเอกภาพในทางภาษาเพื่อที่จะพัฒนาระบบหนังสือของเรา

จากประสบการณ์การทำหนังสือ คุณต้องพบเผชิญอุปสรรคอะไรบ้างที่ต้นสายปลายเหตุมาจากระบบที่เป็นอยู่นี้
สิริยากร : คนที่คิดก่อนก็เหนื่อย ต้องหาหน้าน้ำใหม่ไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะขุ่นเร็ว คนที่ทำตามเราก็ทำเยอะมาก แล้วตอนนี้เขาแทนที่เราไปแล้วในร้านหนังสือ แต่อุ้มรู้สึกว่าเป็นธรรมดาโลกพอเขาขายดีร้านก็อยากวาง แล้วเขาทำเยอะจริง ๆ นี่คือกลไกของตลาด คือมีผู้นำตลาด พวก innovator ก็จะครองตลาดในช่วงแรก ๆ แล้วสังคมนี้มีพวกที่เห็นว่าอะไรได้รับความนิยมค่อยซื้อ หรือ late adoptor มากกว่า มารับช่วงต่อตลาดที่สร้างไว้ ก็เก็บเกี่ยวอย่างเดียวเลย บางครั้งเราเหนื่อยนะ ช่วงหนึ่งหนังสือเราหยุดการพิมพ์ไป แล้วสำนักพิมพ์ที่ก๊อบปี้เราก็แทนที่เราไปแล้ว

แต่ที่สำคัญคือเราไม่อาจปกป้องตัวเองได้เลย หอสมุดแห่งชาติเองก็ไม่ตรวจสอบชื่อหนังสือก่อนออกเลข ISBN คุณจด ISBN หนังสือชื่อนี้ คนอื่นมาจดชื่อเดียวกันได้ มีหนังสือชื่อเดียวกันออกมา ๒ เล่ม อุ้มถามทางหอสมุดแห่งชาติ เขาบอกมีหน้าที่ออกเลขอย่างเดียว แล้วสายส่งก็ไม่มีจรรยาบรรณ ขายหนังสือที่เลียนแบบเรากระทั่งวางคู่กันเลยก็มี อุ้มถามว่าเขาไม่สับสนหรือ เขาไม่สนเพราะมันขายดี พอปรึกษากรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เราเลยใช้กลไกตลาดเป็นตัวตัดสิน ไม่เป็นไรเราไม่ได้ต้องการเงินมาก เราเพียงแต่ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น สร้างแรงบันดาลใจและจรรโลงสังคมด้วยวิธีที่เราทำได้ หนังสือเป็นสื่อหนึ่งที่จรรโลงจิตใจคนให้อ่อนโยน ปรารถนาดีต่อกัน และมองเห็นความงาม

มกุฏ : ปัญหานี้เกิดมาตั้งนานแล้ว นี่คือข้อบกพร่องของระบบนี้เพราะไม่มีใครดูแลระบบ ผมเคยพยายามฟ้องร้องกรณีที่ไฟว์สตาร์ซื้อบทประพันธ์ ผีเสื้อและดอกไม้ ไปสร้างเป็นหนัง แล้วหลังจากนั้นก็นำไปทำวิดีโอ วีซีดี ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีระบบวิดีโอ วีซีดี ด้วยซ้ำ ผมฟ้องศาลว่าเขาทำนอกเหนือจากที่ได้ตกลงเอาไว้ ปรากฏว่าทางไฟว์สตาร์ก็ส่งใครต่อใครมายอมความ ผมบอกว่าที่ฟ้องไม่ได้ต้องการสตางค์ ต้องการให้รู้ว่าแพ้เพื่อที่จะไปสอนเด็กได้ว่ากฎหมายไทยมีช่องโหว่ พอถึงเวลาก็แพ้จริง ๆ ศาลบอกว่าเมื่อสัญญาระบุว่า “อนุญาตให้สร้างภาพยนตร์” คำว่าภาพยนตร์มันฆ่านักเขียนเรียบร้อยแล้ว เพราะในพจนานุกรมคำว่าภาพยนตร์คือภาพเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นเขามีสิทธิ์นำบทประพันธ์ไปทำอะไรก็ตามที่เป็นภาพเคลื่อนไหว

ผมเริ่มเห็นปัญหาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ปัญหาแรกที่ผมเห็นคือ ทำไมสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งได้พิมพ์หนังสืออ่านนอกเวลาของนักเขียนทุกคน ผมก็เริ่มศึกษา และได้คำตอบว่าสำนักพิมพ์นั้นจ้างศึกษานิเทศก์ของกระทรวงศึกษาธิการให้ส่งความลับมา เมื่อประกาศผลการคัดเลือกหนังสืออ่านนอกเวลา สำนักพิมพ์ก็ติดต่อนักเขียนทีละคน ๆ แล้วมัดมือทำสัญญาเลย ๑๐ ปีจ่าย ๑ แสนบาท ปรากฏว่าในปี ๒๕๒๑ หนังสือของผมได้รับเลือก และศึกษานิเทศก์คนนี้หาทางติดต่อผมไปทั่วประเทศ บังเอิญในปีนั้นเองผมไปทำไร่อยู่ที่ จ.สงขลา เขาก็ตามไม่เจอ ผมได้รู้ในปีต่อมาว่าหนังสือของผมได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ผมเลยพิมพ์เอง ทีนี้พอสำนักพิมพ์ได้ลิขสิทธิ์มา สำนักพิมพ์ก็พิมพ์ไปสิ ๑๐ ปี กี่หมื่นเล่มไม่รู้แต่นักเขียนได้ ๑ แสนบาท เฉลี่ยปีละ ๑ หมื่นบาท คุณคำพูน บุญทวี ตรอมใจตายเพราะเหตุนี้ หลังจากเกิดคดีฟ้องร้องกัน ผมเป็นคนสุดท้ายที่เจอคุณคำพูนในโรงพยาบาลก่อนตาย เห็นไหมครับเรื่องต่าง ๆ เชื่อมโยงกันหมด ไม่มีอะไรเลยที่จะอยู่ตามลำพังแม้แต่เรื่องลิขสิทธิ์ของนักเขียน

คุณคิดว่าหนทางใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้ทั้งระบบ
มกุฏ : อะไรก็ตามที่เป็นหนังสือจะต้องมีคนซึ่งดูตั้งแต่ต้นทางเลย เราหาใครสักคนซึ่งรู้ปัญหามารับผิดชอบเรื่องนี้ เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วผมเสนอโครงสร้างระบบหนังสือสาธารณะที่เรียกว่า “สถาบันหนังสือแห่งชาติ” ถ้ามีสถาบันนี้ก็เหมือนกับมีกระทรวงหนึ่ง แล้วคุณไปศึกษาว่าปัญหาทั้งหมดมีอะไร และคุณจะเริ่มเรื่องนี้ตรงไหนดี ไม่ใช่ว่าสมาคมนักเขียนฯ มีปัญหา โยนเงินให้สมาคมฯ ร้อยล้านแล้วไปนั่งแก้ปัญหา พอเขาแก้ปัญหาผลิตนักเขียนเก่งมาก แต่ปรากฏเขาลืมไปว่านักเขียนต้องสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์มีนโยบายไม่ผลิตหนังสือดี จะผลิตแต่หนังสือโรมานซ์ หนังสือขายดี นักเขียนก็ต้องไปทำนาไปขายบะหมี่เป็ดหมดเลย

ถ้ามีสถาบันหนังสือแห่งชาติ เราจะทำระบบลิขสิทธิ์ให้ดี ถ้าเผื่อว่านักเขียนไม่ได้รับความยุติธรรมเรื่องลิขสิทธิ์ก็มีสิทธิ์ที่จะเดินมาที่สถาบันฯ ขอให้จัดการให้เขา ถ้าจะฟ้องศาลก็หาทนายให้เขา เราจะนำระบบ ISBN มาอยู่ในสถาบันนี้ แล้วเราจะทำให้ดูว่าแค่ ISBN ตัวเดียวสืบไปได้ถึงโคตรเหง้าศักราชของนักเขียนของใครต่อมิใครที่มีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือ ที่จริงระบบ ISBN เป็นระบบที่ดีมากแต่เราไม่รู้จักใช้ระบบเองต่างหาก

เรื่องระบบหนังสือและการอ่านเป็นหน้าที่ของรัฐบาล สถาบันหนังสือแห่งชาติเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ แต่จะต้องเป็นอิสระจากนโยบายของรัฐบาล ต้องเป็นอิสระจากพรรคการเมือง ต้องเป็นอิสระจากข้าราชการ แล้วมาบริหารหนังสือของชาติ เราเคยเสนอให้หอสมุดแห่งชาติแยกออกจากกระทรวงวัฒนธรรมมารับผิดชอบเรื่องระบบหนังสือและการอ่าน เพียงแต่ว่าต้องจัดโครงสร้างเสียใหม่ หอสมุดแห่งชาติไม่ยอม เมื่อไม่ยอมก็จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานใหม่ และหน่วยงานใหม่นี้จำเป็นจะต้องมีศูนย์กลางของหนังสือทั่วประเทศ

เป้าหมายของสถาบันนี้คือ ทำอย่างไรให้ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหาความรู้จากแหล่งเดียวกัน โดยไม่ต้องแบ่งว่าไอ้นั่นสีนั่นไอ้นั่นความคิดนั่น แต่หมายความว่าอะไรก็ตามในเรื่องที่เป็นความรู้เป็นวิชาการเป็นสิ่งซึ่งเราเรียกว่าหนังสือ ทุกคนมีสิทธิที่จะไปแสวงหาได้ เช่นวันหนึ่งผมถือบัตรประชาชนไปห้องสมุดจุฬาฯ บอกต้องการหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ บรรณารักษ์หยิบให้ผมได้ แล้ววันหนึ่งผมจะไปคืนหนังสือที่ไหนก็ได้ มีระบบยืม-คืนที่ส่งตรงถึงกัน นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะเห็นในอนาคต

สิริยากร : อุ้มมองว่าสถาบันหนังสือแห่งชาติน่าจะทำงานในเรื่องของเนื้อหามากกว่า เป้าหมายของสถาบันหนังสือแห่งชาติคือที่รวบรวมคลังปัญญา และทำอย่างไรที่จะทำให้คนในชาติเห็นคุณค่าของคลังปัญญานี้ สถาบันฯ มีหน้าที่ส่งเสริมการอ่านของประชาชนในชาติ ให้คนเห็นคุณค่าในวรรณกรรมดี ๆ ของประเทศนี้

อันที่จริงต้องมีเจ้าภาพละคะในเรื่องนี้ แต่ว่าทุกคนก็ต้องช่วยกัน ไม่เช่นนั้นสถาบันฯ จะต้องทำงานหนักมาก เราไม่ควรรอจากรัฐ แน่นอนเป็นหน้าที่ของรัฐเพราะหนังสือเป็นสมบัติของชาติ แต่ตอนนี้จะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมโดยเริ่มจากคนไม่กี่คนที่เห็นความสำคัญจริง ๆ

mongkutoom03

เฉพาะหน้านี้คุณคิดว่าเราควรจะเริ่มต้นแก้ที่เปลาะไหน
สิริยากร : อุ้มรู้สึกว่าหนังสือเป็นเพื่อนเรา ถึงแม้นักเขียนหลายท่านจะล่วงลับไปแล้วแต่เรายังรู้สึกว่าเขายังอยู่ อุ้มอาจจะโชคดีกว่าอีกหลายคน แต่เราก็อยากให้คนอื่น ๆ มีโอกาสได้รู้จักสิ่งดีเหล่านี้เช่นเดียวกับเราด้วย เรามีวรรณกรรมดีเยอะมาก ถ้าเราชักชวนคนที่มีใจมาช่วยกันจัดพิมพ์วรรณคดีไทยยุคแรก ๆ เผยแพร่ และหาวิธีว่าทำอย่างไรจะให้ความรู้หรือสร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาชื่นชมวรรณคดีเหล่านี้

มกุฏ : นั่นคือการเริ่มต้นจากซีกหนึ่งในหลาย ๆ เส้นในวงกลมนี้ แต่พอเริ่มมาได้ถึงกึ่งกลางวงกลม พิมพ์หนังสือเสร็จก็เกิดคำถามว่าแล้ววิธีที่จะกระจายหนังสือนี้ไปยังที่ต่าง ๆ ที่เราต้องการให้เขาเรียนรู้จะทำอย่างไร ท้ายที่สุดก็ต้องไปขายลดราคาในงานสัปดาห์หนังสือฯ มอบให้ห้องสมุดก็จะไปจนอยู่ที่ กศน.

เมื่อปี ๒๕๒๐ ผมทดลองทำห้องสมุดเคลื่อนที่ ปรากฏว่ามีอุปสรรคเยอะมาก แล้วผมถึงเข้าใจว่าเมืองไทยมีสภาพสังคมที่แตกต่างกันมาก เราจะใช้ทฤษฎีเดียวกันในทุกสังคมไม่ได้ ผมคิดว่าเราควรจะเริ่มจากห่วงซึ่งมันจะกระจายไปส่วนอื่นได้ คือห่วงสำนักพิมพ์ ถ้าเผื่อว่าเราแก้ห่วงสำนักพิมพ์ได้เมื่อไหร่ สำนักพิมพ์จะนึกถึงนักเขียนที่เขียนต้นฉบับดี ๆ สำนักพิมพ์จะนึกถึงบรรณาธิการ ระบบการตรวจแก้ต้นฉบับที่ดี สำนักพิมพ์จะนึกถึงการออกหนังสือสม่ำเสมอ ไม่ใช่โหมระดมออกมา สำนักพิมพ์จะทำหนังสือมีคุณภาพมากขึ้น ถ้าจะเริ่มต้องเริ่มจากสำนักพิมพ์ ไม่ใช่ไปเริ่มปลีกย่อย นั่นเป็นปลายทางที่ยากลำบาก

แล้วในห่วงโซ่นี้ คนอ่านควรจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง
มกุฏ : คนอ่านหนังสือไม่มีบทบาทอะไรเลย นอกจากว่าวันหนึ่งคนอ่านหนังสือลุกขึ้นมาบอกว่ารัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว

สิริยากร : ถ้านี่คือระบบตลาด อุปสงค์-อุปทานทำงานสอดคล้องกัน คนอ่านน่าจะมีส่วนช่วยให้มาตรฐานของสิ่งพิมพ์ดีขึ้นถ้าความต้องการมีคุณภาพขึ้น

มกุฏ : ปัญหาคือหนังสือไม่เหมือนสินค้าอื่นตรงที่ว่าคนอ่านจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการนั้นเป็นคนจนและไม่มีโอกาสที่จะแสดงสิทธิของเขาในการซื้อหนังสือเลย ไม่มีโอกาสที่จะแสดงว่าเขาชอบหนังสือประเภทไหนเลย สิ่งซึ่งแสดงตัวเลขอุปสงค์-อุปทานตอนนี้อยู่ในกลุ่มคนรวย คนที่มีสตางค์ และคนที่อยู่ในเมือง คนมีสตางค์ซื้อโรมานซ์เกาหลี ตลาดก็บอกว่าโรมานซ์เกาหลีดีก็ผลิตสิ แต่ว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัด เขาไม่อยากอ่านโรมานซ์เกาหลีแต่เขาไม่รู้จะไปบอกใคร เขาไม่มีปัญญาซื้อ และเขาไม่มีปัญญาที่จะไปห้องสมุด

ดูเหมือนยากนะครับที่จะทำอะไรในประเทศนี้เกี่ยวกับหนังสือ แต่ผมยังมีความหวังตลอดเวลา คุณคิดดูสิว่าเงินบาทเดียวตั้งห้องสมุดได้ แต่มันใช้เวลา ๒๕ ปี เพราะฉะนั้นมันอาจต้องใช้เวลา ๒๕ ปีนับจากวันนี้

สุดท้ายนี้ระบบหนังสือเมืองไทยควรจะไปทางไหน
สิริยากร : เรามีของดีอยู่ในท่ามกลางของอีลุ่ยฉุยแฉกซึ่งสัดส่วนเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ถ้าเราจะแสวงหาคุณค่าของหนังสือดีในเมืองไทยต้องส่งเสริมไปพร้อม ๆ กันทั้งระบบ ใครสักคนหรือกลุ่มคนสักกลุ่มหนึ่งควรจะต้องเริ่มทำเรื่องนี้กันขึ้นมาจนเป็นรูปธรรมนำไปขยายผลต่อได้ การที่เราต้องมาพูดคุยกันว่าเรื่องนี้เป็นวาระของชาติเพราะมันสำคัญ หนังสือไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นอาหารสมอง เราต้องสร้างสุตมยปัญญาซึ่งเป็นฐานสำคัญของปัญญาที่แท้ในขั้นสูงสุดคือภาวนามยปัญญา ถ้าสุตะจากการอ่านการฟังยังไม่มีแล้วจะเกิดปัญญาได้อย่างไร และการจะบ่มเพาะความคิดสติปัญญาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น หนังสือเป็นส่วนสำคัญ

มกุฏ : ผมคงสรุปได้แต่เพียงว่าระบบหนังสือและการอ่านของชาติเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ถ้าเผื่อประเทศที่โชคดีทั้งหลายที่เขาจัดการเรื่องระบบหนังสือของเขาได้ก็เป็นโชคดีของเขาไป ประเทศที่โชคไม่ดีก็เป็นกรรมของประชาชนไป ส่วนประเทศไทย คำถามที่บอกว่ามันจะไปทางไหน เท่าที่เห็นในขณะนี้มันจะลงนรกครับ

ขอขอบคุณ :
โครงการอบรมบรรณาธิการต้นฉบับ ครั้งที่ ๘ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สัมภาษณ์ “หาเรื่อง” สนทนากับบุคคลทั้งสองนี้