ผู้เขียน: ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร
ช่างภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

อิสระหรือไม่อิสระของร้านหนังสืออิสระ
ทำเลในย่านชุมชน รูปแบบการตกแต่งซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่มีร้านสาขา ทำให้ “ร้านหนังสืออิสระ (independent bookshop)” แตกต่างจากร้านหนังสือเชนสโตร์ทั่วไป

สายฝนยามบ่ายโปรยปรายกระทบประตูและหน้าต่างกระจก ห้องแถวกว้างสองคูหา ภายในโอบล้อมผู้มาเยือนด้วยหนังสือเรียงรายเป็นระเบียบ แม้จะมีหนังสือหลากหลายหมวด แต่เน้นหนักงานวรรณกรรม โต๊ะและเก้าอี้หลายรูปทรงวางกระจายทั่วห้อง กำแพงประดับด้วยกรอบรูปงานศิลปะและโปสเตอร์ ดนตรีเบาสบายเปิดคลอกลมกลืนกับเสียงฝนกระทบกระจก

ชายคนหนึ่งนั่งไขว่ห้างอยู่กลางห้องพร้อมกองหนังสือบนโต๊ะ เขาเคลื่อนสายตาจากประโยคหนึ่งสู่อีกประโยค บรรทัดหนึ่งสู่อีกบรรทัด หน้าหนึ่งไปหน้าสอง สาม สี่… เสมือนหลุดเข้าไปในการผจญภัยที่ปราศจากการควบคุมของเวลา กลายเป็นตัวละครหนึ่งในเรื่องราว จนกระทั่งเพลง “Norwegian Wood” ของ The Beatles ปลุกให้กลับสู่โลกความจริง เขาฮัมเพลงไปกับเสียงดนตรีโดยไม่รู้ตัว อาจเพราะเป็นเพลงที่คุ้นเคยและชื่อเดียวกับหนังสือในมือ

ระหว่างพักจากการเดินทางผ่านตัวอักษร เขาเกิดคำถามว่า เหตุใดตัวเองจึงหลุดเข้าไปในหนังสือนานกว่าตอนอ่านในห้องนอน? เพราะเสียงเพลงผสานกับบรรยากาศโดยรอบทำให้เขากับหนังสือเป็นหนึ่งเดียวกัน? หรือเพราะเสียงฝนขับบรรยากาศให้เหมาะกับการอ่าน? คำถามเหล่านี้ยังคงค้างอยู่ ณ พื้นที่หนึ่งของความคิด เมื่อเพลงจบ เขาเลื่อนหนังสือกลับมาในระดับสายตา และการผจญภัยก็ดำเนินต่อ…

freestylebookstore02
“สีหมอก” หนึ่งในสี่แมวเหมียวผู้เป็นเสมือนพนักงานต้อนรับประจำร้าน A Book with No Name ดึงดูดผู้คนมากมายมาเยือนร้านหนังสืออิสระแห่งนี้
freestylebookstore03
เสียงเพลงเปิดคลอเบา ๆ ภายในร้านช่วยสร้างบรรยากาศและสมาธิให้เหล่านักอ่านผู้ใช้บริการร้านหนังสือแห่งนี้

“ค้นหา” ความพิเศษ

สถานที่ซึ่งรายล้อมด้วยหนังสือพร้อมบรรยากาศชวนให้ดื่มด่ำกับการอ่าน เป็นความพิเศษอย่างหนึ่งของ “ร้านหนังสืออิสระ”

วรนุช ชูเรืองสุข หรือ “มิ” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา และเจ้าของร้านหนังสืออิสระ ย่านพระนคร ตรงข้ามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร บอกว่า ร้านหนังสืออิสระจัดการพื้นที่ สร้างบรรยากาศ และเลือกหนังสือเข้าร้านได้อย่างอิสระ ขณะที่ร้านหนังสือเชนสโตร์ (chain bookstore) ซึ่งมีสาขาตามห้างสรรพสินค้า อาจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข (procedure) การเลือกหนังสือตามความต้องการตลาด

ศุภชัย ทองศักดิ์ หรือ “น้อย” หนุ่มนักอ่านผมยาวมาดเซอร์ และนักสรรค์สร้างวิดีโอเชิงสารคดี ผู้ผูกพันกับร้านหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ให้ข้อสังเกตว่า

“ร้านหนังสือกลุ่มเชนสโตร์ แม้มีสาขากระจายแทบทุกห้างฯ แต่หนังสือกลับคล้ายกันไปหมด ขณะที่ร้านหนังสืออิสระจะเลือกหนังสือเข้ากับคาแรกเตอร์ของร้าน”

“คาแรกเตอร์” หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านปรากฏผ่านหลายองค์ประกอบ เช่น ประเภทหนังสือ การจัดวาง เสียงเพลง บรรยากาศ ไปจนถึงเจ้าของร้าน

เช่นเดียวกับร้าน “A Book with No Name” ใกล้แยกศรีย่าน ตรงข้ามศูนย์การค้าเก่าแก่ อย่าง “เอดิสัน ศรีย่าน” เป็นอีกร้านที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ตั้งแต่เจ้าของซึ่งเป็นศิลปิน การตกแต่งร้านด้วยงานศิลปะ การเลี้ยงแมว ไปจนถึงการเลือกเปิดดนตรีภายในร้าน

อีกองค์ประกอบสำคัญคือ ประเภทหนังสือ นักอ่านผู้เยือนร้านหนังสืออิสระเป็นประจำ อย่าง เจษฎา กลิ่นยอ หรือ “เจษ” บาริสต้าหนุ่มร่างเล็ก เล่าว่า “หนังสือในแต่ละร้านสร้างบรรยากาศต่างกัน หนังสือกับบรรยากาศร้านจึงอยู่คู่กัน” พร้อมกับเสริมว่า “การใช้คำอธิบายบรรยากาศร้านทำได้ยาก ต้องไปสัมผัสเอง”

การเลือกหนังสือเข้าร้านขึ้นอยู่กับความสนใจของเจ้าของหรือพนักงานขาย เช่น ร้านหนังสือสวนเงินมีมา เน้นหนังสือประวัติศาสตร์ การเมือง และจิตวิญญาณ เพราะให้ความสำคัญกับที่มาและความเป็นไปของบ้านเมืองปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนองานด้านจิตวิญญาณเพื่อสร้างสมดุลกับเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้บรรยากาศร้านหนักเกินไปสำหรับผู้อ่าน

ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ร้านหนังสืออิสระแต่ละแห่งจึงดึงดูดกลุ่มนักอ่านที่มีความสนใจต่างกัน ซึ่งกลายเป็นแรงขับย้อนกลับมาสร้างของร้าน

freestylebookstore04
รูป เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เป็นหนึ่งในภาพนักเขียนวรรณกรรมที่นำมาตกแต่ง บ่งบอกความชอบงานวรรณกรรมของเจ้าของ ซึ่งเป็นจุดเด่นร้านหนังสือแห่งนี้
freestylebookstore05
เครื่องดื่ม ขนมหวาน รวมถึงของที่ระลึกถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของร้านหนังสืออิสระหลายแห่ง นอกจากเป็นตัวช่วยให้นักอ่านดื่มด่ำไปกับหนังสือ ยังถือเป็นรายได้หลักอีกด้วย

“ไม่ใช่” แค่ร้านหนังสือ

การดึงผู้อ่านเข้าร้านหนังสืออิสระไม่อาจหนีบทบาทสำคัญของ “พื้นที่” ได้ ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ หรือ “ป่าน” หญิงผมสั้นร่างเล็ก แต่งกายเรียบมีสไตล์ หนึ่งในเจ้าของร้าน Fathom Bookspace นิยามร้านตัวเองว่า “พื้นที่การเรียนรู้” พร้อมอ้างอิงคำพูด โตมร ศุขปรีชา นักคิดและนักเขียน ที่ว่า

“การเดินเข้าร้านหนังสือ คือการมีสิ่งใหม่ปรากฏตรงหน้า สิ่งที่เราไม่เคยสนใจและรู้จักมาก่อน แต่เราทำความรู้จักได้”
ร้านหนังสืออิสระเป็นพื้นที่การเรียนรู้ เพราะนอกจากบรรจุหนังสือหลากประเภท จากสำนักพิมพ์หลายขนาดแล้ว ประสบการณ์เจ้าของร้านในการแนะนำหนังสือก็สำคัญไม่แพ้กัน

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้รักการอ่าน ล่าว่า “ทุกครั้งที่ไปเยือนร้านหนังสืออิสระ เจ้าของร้านมักแนะนำหนังสือที่ให้คุณค่าใหม่ ๆ นอกเหนือจากหนังสือที่ตั้งใจไปซื้อ เป็นเสมือนการเปิดประตูไปเจอเรื่องราวแปลกใหม่” บรรยากาศของการเรียนรู้ยังเกิดขึ้นจากบทสนทนาระหว่างนักอ่านในร้าน

“ถ้าการอ่านคือการขยายขอบเขตจินตนาการ ร้านหนังสือคือพื้นที่ขยายขอบฟ้าของมิตรภาพ” เจษ บาริสต้านักอ่าน กล่าวพร้อมแววตาหวนรำลึกความประทับใจแต่หนหลัง

ร้านหนังสืออิสระเป็นพื้นที่บ่มเพาะมิตรภาพระหว่างนักอ่านกับนักอ่าน นักอ่านกับเจ้าของร้าน แม้กระทั่งนักอ่านกับนักเขียน เจ้าของร้านยังเป็นตัวเชื่อมมิตรภาพระหว่างผู้แวะเวียนมา เป็นช่องทางฝากข้อความ ความคิดถึง และความห่วงใยถึงกัน

บางร้านยังจัดงานพบปะสังสรรค์ เช่น งานฉลองปีใหม่ของร้าน A Book with No Name ซึ่งมักจัดงานฉลองปีใหม่

freestylebookstore06
อ้างอิงจากโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ ปี 2565 ประเทศไทยมีร้านหนังสือทั้งหมด 796 แห่ง โดยเป็นร้านหนังสืออิสระเพียง 171 ร้าน (หรือ 21.5 เปอร์เซ็นต์)
freestylebookstore07
วิทยา ก๋าคำ ผู้เป็นทั้งเจ้าของและพนักงานร้าน A Book with No Name ซึ่งเปิดมาเป็นเวลา 5 ปี ด้วยความหลงใหลในการอ่านจนเกิดความฝันอยากเปิดร้านหนังสือของตนเอง

“คุณค่า” และชุมชน

Fathom Bookspace เป็นร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ในซอยสาทร 3 ใกล้ตลาดสวนพลู จากหน้าปากซอยที่อัดแน่นด้วยตึกระฟ้า ลึกเข้ามาจะพบกับบรรยากาศอันรื่นรมย์ของละแวกบ้านเรือนที่โอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ พร้อมร้านหนังสือซึ่งอยู่คู่ชุมชนและมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

“ป่าน” เจ้าของร้านเล่าว่า ช่วงใกล้เปิดกิจการ เธอสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนผ่านการตระเวนรับประทานอาหารในซอย เมื่อเริ่มสนิทสนมคุ้นเคย เธอจึงขอติดป้ายประชาสัมพันธ์ร้าน ซึ่งผู้คนในชุมชนก็สนับสนุนและตื่นเต้นกับร้านหนังสือเปิดใหม่

ที่ตั้งร้าน Fathom Bookspace คลาคล่ำด้วยคนในชุมชน พนักงานออฟฟิศ และนักศึกษา ป่านจึงอยากให้นักเรียนนักศึกษาเข้าถึงหนังสือได้ จึงสร้างชั้นลอยซึ่งมีหนังสือที่เป็นสมบัติส่วนตัวของเธอให้อ่านและยืมได้หากสมัครสมาชิก
คุณูปการของร้านหนังสือที่มีต่อชุมชนเห็นชัดในกลุ่มประเทศตะวันตก งานวิจัยหนึ่งจากประเทศอังกฤษศึกษาร้านหนังสือกว่า 250 แห่งพบว่า ร้านหนังสือร้อยละ 99 ในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มความดึงดูดใจให้ชุมชน ร้อยละ 98 ช่วยประชาสัมพันธ์ชุมชน (place-marketing) และร้อยละ 96 ส่งเสริมความน่าอยู่ (livability) สร้างรายได้แก่ผู้อาศัยในพื้นที่
จำนวนร้านหนังสืออิสระสัมพันธ์กับความน่าอยู่ของเมือง ศานนท์ รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า “หลายสำนักที่จัดทำดัชนีเมืองน่าอยู่ ผนวกร้านหนังสืออิสระเป็นตัวชี้วัดหนึ่งด้วย เพราะมีส่วนสำคัญในการบันทึกองค์ความรู้แต่ละพื้นที่”

freestylebookstore08
“ร้านหนังสือทั่วไปอาจใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ไปกับชั้นวางหนังสือเพื่อเพิ่มโอกาสการขาย แต่ร้านหนังสืออิสระให้ความสำคัญกับพื้นที่การอ่านควบคู่ไปกับการเลือกซื้อหนังสือ
freestylebookstore09
ร้านหนังสือตามห้างฯ พนักงานบริการถามตอบเป็นหุ่นยนต์ บางร้านมีชายใส่สูทดูแลรักษาความปลอดภัย แต่นักอ่านกลับเดินเลือกซื้อหนังสืออย่างไม่สบายใจ” ก้องกานต์ จันทร์อ่อน ผู้ดูแลร้านสวนเงินมีมา บอกเล่าประสบการณ์จากร้านหนังสือใหญ่ในห้างสรรพสินค้า

“ความเชื่อ” ที่แบกรับความฝัน

กลิ่นกาแฟ เสียงดนตรี หนังสือที่รายล้อม ความอบอุ่นเป็นกันเองจากเจ้าของ เสียงพูดคุยนักเขียนกับนักอ่าน สร้าง

บรรยากาศโรแมนติกในสายตาคนส่วนใหญ่

“ช่วงเปิดรับสมัครงาน อีเมลผู้สมัครกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าอยากทำงานสบาย ๆ ที่มีเวลาเหลือให้ตัวเองและการอ่านหนังสือมากขึ้น”

ขนิษฐา ธรรมปัญญา หรือ “กุ๊กไก่” เจ้าของร้าน Fathom Bookspace อีกคน เล่าผ่านน้ำเสียงและแววตามุ่งมั่น เพราะกว่าบรรยากาศรื่นรมย์ในร้านหนังสือจะปรากฏต่อนักอ่าน เจ้าของผ่านการคิด ทบทวน และทำการบ้านมาอย่างรอบคอบ พร้อมดูแลเอาใจใส่อย่างดี ซึ่งอาจไม่เหมือนในจินตนาการของผู้มาเยือน ดังที่ “ใบพัด นบน้อม” เล่าผ่านหนังสือ แมวตื่นสายมักจะโดนแมวตื่นเช้า คิดถึงก่อน ว่า

“ทำงานร้านหนังสือนี่ดีจัง คงได้อ่านหนังสือหมดร้านแล้วใช่ไหม หรืออยากเป็นเจ้าของร้านหนังสือเพราะคิดว่าจะได้อ่านหนังสือชิล ๆ ไม่จริง”

การดูแลร้านหนังสือมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย ตั้งแต่เปิดร้าน กวาดถู ซักตุ๊กตา เปลี่ยนพรม เปลี่ยนเก้าอี้ ซ่อมไฟ ตอบคำถามลูกค้า หาหนังสือ เติมหนังสือ พอมีเวลาเหลือต้องเดินเช็กจำนวนหนังสือ แม้กระทั่งกลิ่นหรือเสียงดนตรีภายในร้านก็ต้องจัดเตรียมอย่างดี เพื่อมอบประสบการณ์อันรื่นรมย์ ยังไม่รวมการเช็กคลังสินค้า ทำบัญชี ติดต่อซื้อหนังสือจากสายส่งและสำนักพิมพ์ ทั้งหมดนี้ใช้พลังงานมหาศาล

ไหนจะต้องสร้างเอกลักษณ์ร้าน บริหารจัดการพื้นที่ จัดกิจกรรม และคัดเลือกหนังสือ ซึ่งเป็นงานละเอียดอ่อน ยิ่งร้านมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขายทุกเล่มในตลาดได้ ยิ่งต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อหาหนังสือที่น่าสนใจและตอบโจทย์ที่สุด

หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้ร้านหนังสือส่วนใหญ่ปรับตัวมาขายออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ใช้พลังงานไม่ต่างจากขายหน้าร้าน

“เคยคุยกับนักการเงินและนักบัญชี เขาแปลกใจว่าทำไมยังทำร้านหนังสืออยู่ เพราะแทบไม่ได้กำไร” วิทยา ก๋าคำ หรือ “กา” หนุ่มแว่นท่าทางคล้ายศิลปิน เจ้าของร้านหนังสือ A Book with No Name บอกเล่าพร้อมหัวเราะตาหยี กายอมรับว่าปัจจุบันรายได้หลักมาจากเครื่องดื่ม ไม่ใช่หนังสือ และเพียงพอแค่ให้ร้านอยู่รอด โดยไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน เขาจึงต้องมีแหล่งรายได้เสริม ทั้งงานศิลปะและงานสอน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร้านหนังสือไม่สร้างรายได้มากพอคือ การขายหนังสือเป็นธุรกิจที่แม้ความต้องการผู้ซื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ขายไม่อาจปรับราคาสูงขึ้นตาม เนื่องจากราคากำหนดโดยสำนักพิมพ์ การขายหนังสือหนึ่งเล่มจึงมีกำไรตายตัว ต่างจากสินค้าอื่นซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ก่อนนำไปขายได้ ยกตัวอย่างเช่น กาแฟ จาก “เมล็ดกาแฟ” สู่ “กาแฟ” เจ้าของอาจตั้งราคาขายสูงกว่าต้นทุน 2-4 เท่า เพราะมีต้นทุนอื่น อย่างค่าแรง ค่าสถานที่ ค่าอุปกรณ์ และค่าน้ำไฟ ต่างจากร้านหนังสือ แม้มีโครงสร้างต้นทุนคล้ายกัน กลับคิดราคาสูงกว่าราคาปกไม่ได้ ต้องขายปริมาณมากเท่านั้นถึงจะได้กำไรสูง

การเปิดร้านหนังสือเป็นงานที่เรียกร้องพลังสูง แต่รายได้พอแค่ประคับประคองร้าน เหตุใดคนเหล่านี้ถึงยังรักษาพื้นที่ร้านหนังสืออิสระไว้?

หากมนุษย์ทุกคนคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว ดังนักเศรษฐศาสตร์ว่าไว้ ทุกคนคงจะค่อย ๆ ก้าวออกจากธุรกิจร้านหนังสือ เนื่องจากกำไรอาจไม่ถึงจุดคุ้มทุน

“ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ คงไม่มีใครเปิดร้านหนังสือ” ศิลปินหนุ่มเจ้าของร้านหนังสืออิสระ ไขข้อสงสัย พร้อมยิ้มมุมปาก “การเลิกยากกว่าทำเสียอีก เราผูกพันกับร้านจนเหมือนลูกคนหนึ่ง รอยเลอะที่พื้นยังรู้เลย”

เหตุที่เจ้าของร้านหนังสือยังรักษาความฝันตัวเอง คือ “ความเชื่อ” ว่าร้านหนังสืออิสระเป็นพื้นที่สร้างประโยชน์แก่ผู้คน และเชื่อว่าหนังสือจะเปลี่ยนแปลงชีวิตใครสักคนได้

กระทั่งเชื่อว่าสักวันหนึ่งคนจะกลับมาอ่านหนังสือมากขึ้น…

freestylebookstore010
. แม้ภาครัฐจะเข้ามาช่วย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคที่แหล่งความรู้เข้าถึงง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับร้านหนังสืออิสระซึ่งไม่อาจคงอยู่ได้ด้วยการขายหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยความเชื่อและความรักของนักอ่านที่พยายามรักษาพื้นที่และวัฒนธรรมการอ่านในไทย

รัฐกับร้านหนังสืออิสระ

“การทำธุรกิจหนังสือไม่มีใครหวังรวยนะ ยิ่งรัฐไม่เข้ามาสนับสนุนอย่างนี้…” “มิ” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา กล่าวด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา พร้อมสายตาหลบต่ำ

สวนเงินมีมา Fathom Bookspace และ A Book with No Name ทั้งสามร้านเห็นตรงกันว่าการสนับสนุนจากภาครัฐน่าจะช่วยส่งเสริมร้านหนังสือและวัฒนธรรมการอ่าน

“กา” เจ้าของร้าน Fathom Bookspace เล่าว่าที่ผ่านมามีเพียงกิจกรรมเดียวที่พอเป็นรูปธรรมคือ “หนังสือเดินทางร้านหนังสือ” หรือ “Book Passport” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ ให้นักอ่านเดินทางไปร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ แล้วประทับตราตามร้านเหล่านั้น

รูปแบบการสนับสนุนจากรัฐที่ร้านหนังสือทั้งสามอยากให้เกิดขึ้น มีตั้งแต่สนับสนุนงบประมาณจัดอีเวนต์ในร้าน ไปจนถึงสนับสนุนการอ่านในแต่ละช่วงวัย

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนภาครัฐ แม้เห็นด้วยกับการกระจายตัวของร้านหนังสืออิสระ แต่ด้วยบทบาทกรุงเทพมหานครซึ่งมีหลายด้าน โดยเฉพาะบริการสาธารณะ ตั้งแต่บริหารจัดการภัยน้ำท่วม การจราจร สร้างทางเท้า และดูแลโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมอำนาจที่จำกัด จึงไม่อาจสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือในภาพรวมได้

เขาเสนอให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมตัวกันเป็นย่านในชุมชน จากนั้น กทม.จะอำนวยบริการสาธารณะด้านอื่น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในย่าน อย่าง “ถนนทรงวาด” ที่ผสานร้านรวงทั้งเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน แล้วยื่นเรื่องให้ กทม. เข้าไปสนับสนุนการสร้างทางเท้าและทำเสาไฟใหม่ เป็นโมเดลที่น่าจะทำให้การพัฒนาชุมชนยั่งยืนกว่า เพราะทุกคนรู้จักพื้นที่ตนเองดี

การดึงดูดผู้คนมากขึ้นนำไปสู่รายได้หมุนเวียนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และเมื่อคนผ่านร้านหนังสือมากขึ้น หนังสือก็ขายได้ดีขึ้น
การรวมกันเป็นย่านจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีกระตุ้นช่วยร้านหนังสืออิสระ แต่ที่ไต้หวัน กระทรวงวัฒนธรรมให้เงินสนับสนุนการเปิดร้านหนังสือ ควบคู่กับการตั้งคณะที่ปรึกษาจากสายงานบริหารและการเงิน มาช่วยพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมเอกลักษณ์แต่ละร้าน ภาครัฐยังสนับสนุนการจัดซื้อหนังสือแล้วกระจายสู่ห้องสมุดและสถาบันการศึกษาเพื่อขยายตลาด ซึ่งให้เจ้าของร้านเลือกหนังสือให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้

ในหลายประเทศแถบยุโรปกำหนดราคาหนังสือมาตรฐาน (fixed book prices) เพื่อลดการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะร้านหนังสือเชนสโตร์ซึ่งได้เปรียบด้านต้นทุน และกระจายหนังสือหลากหลายประเภทสู่ร้านหนังสือ ทำให้ร้านขนาดเล็กอยู่รอด

เหล่านี้เป็นเพียงนโยบายที่ช่วยสนับสนุนร้านหนังสืออิสระ ยังต้องมีนโยบายส่งเสริมการอ่านและการเข้าถึงหนังสือ ซึ่งเชื่อมโยงกับความอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระด้วยเช่นกัน

ขอบคุณ

  • ขนิษฐา ธรรมปัญญา
  • เจษฎา กลิ่นยอ
  • นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ
  • ใบพัด นบน้อม
  • ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์
  • วรนุช ชูเรืองสุข
  • ศานนท์ หวังสร้างบุญ
  • ศุภชัย ทองศักดิ์

บรรณานุกรม

  • แหล่งข้อมูลภาษาไทย
  • แมวตื่นสายมักจะโดนแมวตื่นเช้าคิดถึงก่อนเสมอ
  • THE MOMENTUM TEAM. (18 ธันวาคม 2565). มาเล่า มาอ่าน มาเขียน กับ 6 ร้านหนังสืออิสระเชียงใหม่. THE MOMENTUM. https://themomentum.co/chiangmaicityscape-bookshops/
  • SARAKADEE LITE. (). Book Passport ชวนนักอ่านต่อลมหายใจให้ร้านหนังสืออิสระทั่วไทย. https://www.sarakadeelite.com/lite/book-passport/

แหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ

  • Anderson, P. (8 November 2019). Fixed Book Prices in Germany: Two New Studies Are Introduced in Berlin. Publishing Perspective. https://publishingperspectives.com/2019/11/fixed-book-prices-in-germany-two-new-studies-borsenverein-released-berlin/
  • Booksellers Association. (11 February 2022). New research finds bookshops lead the way in contributing to successful high streets and describes important ‘halo effect’ for their communities. https://www.booksellers.org.uk/industryinfo/industryinfo/latestnews/New-research-finds-bookshops-lead-the-way-in-contr
  • Davies, K. (6 January 2023). Book market revenue in Germany 2017-2026. Statista. https://www.statista.com/statistics/386884/book-market-revenue-germany/
  • Frustagli, S. (26 February 2021). Bookstores should be an essential part of the 15-minute city. City Monitor. https://citymonitor.ai/community/bookstores-should-be-an-essential-part-of-the-15-minute-city
  • Geloso, V. & Chassin, Y. (3 April 2013). The Consequences of a Fixed Book Price. Montreal Economic Institute. https://www.iedm.org/42526-the-consequences-of-a-fixed-book-price/
  • Independent bookstores thrive with Ministry’s assistance. (25 September 2013). Ministry of Culture. https://www.moc.gov.tw/en/information_196_76027.html
  • Why Independent Bookstores Matter. (17 February 2019). Booknet. https://booknet.com.au/contact-us/
  • Wilson, K. (8 January 2019). How a Local Bookstore Can Make Your Town Richer—In More Than One Way. Strong Towns. https://www.strongtowns.org/journal/2019/1/8/local-bookstores