“ชีวิตงาม” ของ “ครูองุ่น มาลิก”

“ชีวิตงาม” ของ “ครูองุ่น มาลิก”

“การทำงานเพื่อช่วยบุคคลที่ตกทุกข์และมีปัญหา

เป็นปัจจัยชีวิตของข้าพเจ้า”

องุ่น มาลิก

– 1 –

ในช่วงชีวิตอันแสนสั้น นายจะทำอะไรทิ้งไว้ให้กับโลก ให้กับประเทศ ให้กับบ้านที่เราเกิดมาอาศัยอยู่ได้บ้าง ? อย่างน้อยก็ให้การที่เราเกิดเป็นคนนี้มีค่าขึ้นมา

ผมเกิดคำถามแบบนี้ขึ้นอีกครั้งเมื่อคราวยืนอยู่หน้าเนินคอนกรีตเล็ก ๆ ติดกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในซอบทองหล่อ ซึ่งฝังร่างของบุคคลท่านหนึ่งเอาไว้

หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าซอยทองหล่อ ทำเลทองทางธุรกิจ ที่ซึ่งราคาที่ดินนับมูลค่ากันเป็นตารางเซนติเมตรด้วยระดับร้อยล้านบาทขึ้นไปจะมีสุสานของใครบางคนตั้งอยู่ได้

หากถามบรรดานักธุรกิจผู้บูชาเงินเป็นพระเจ้า เขาอาจมองคนที่ทำเช่นนี้ว่าบ้า ด้วยถ้าหากเปลี่ยนจากการทำเป็นสุสานแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจผลทีได้ย่อมแตกต่างกันลิบลับ ทั้งการกระทำนั้นจะดลบันดาลให้บุคคลผู้นั้นและลูกหลานร่ำรวยมหาศาลใช้สิบชาติก็ไม่จบ

แต่บุคคลที่ผมได้มีโอกาสทำความคารวะขณะนี้เธอไม่ได้คิดเช่นนั้น … .

เพราะ “ เงิน” มิใช่ความ “ ยั่งยืน” ในชีวิตของเธอ

กลับกัน เธอเชื่อว่า “ เงิน” คือตัวนำความยุ่งยากและเดือดร้อนมาสู่ผู้ถือครอง และจะดีกว่าหากเงินถูกใช้ไปในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์รวมถึงสังคมที่มีปัญหารอการแก้ไขอยู่มากมาย

นี่คือจุดประสงค์ของครู “ องุ่น มาลิก” ซึ่งนอนสงบอยู่ภายใต้ผืนดินแห่งนี้ และในปัจจุบันเจตนารมย์ของครูบางส่วนกำลังออกดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม …

– 2 –

88 ปีก่อน …5 เมษายน 2460

เด็กหญิงองุ่น บุตรีพระรุกขชาติบริรักษ์ กับ นางบู่ สุวรรณมาลิก ภรรยาคนที่ ๓ ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านใกล้สวนจิตรลดา และถึงแม้เธอจะเป็นลูกสาวภรรยาคนที่สาม แต่ก็ได้รับการศึกอย่างดีไม่น้อยหน้าลูกคนอื่น เพราะบิดาเป็นถึงช่างไม้และคนสวนคนสำคัญของรัชกาลที่ 6

องุ่น จึงได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบออกมาในปี 2480 ซึ่งสมัยนั้นเป็นที่ทราบดีว่าน้อยคนนักจะได้ร่ำเรียนไปถึงขั้นนี้

ช่วงที่เธอเรียนจบ เกิดสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลของรัชกาลที่ 7 จัดการแก้ปัญหากด้วยการปลดข้าราชการเพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งแน่นอนว่า พระรุกขชาติบริรักษ์ซึ่งเป็นบิดาของเธอก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

จนถึงปี 2484 … สงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้น บ้านข้างสวนจิตรลดาก็ไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไปเพราะภัยจากลูกระเบิด องุ่นตัดสินใจรวบรวมเงินมาซื้อที่ที่ซอยทองหล่อซึ่งสมัยนั้นมีสภาพเป็นทุ่งนาและมีถนนลูกรังสายเล็กๆ ตัดผ่านในราคาตารางวาละไม่กี่บาท

โดยช่วงนั้นเธอได้ไปสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ ต่อมาก็เป็นเลขานุการโรงงานยาสูบ ที่อยู่ไม่ไกลจากทองหล่อนัก ก่อนจะกลับมายึดอาชีพครูอีกครั้ง โดยได้ย้ายไปสอนในโรงเรียนอีกหลายแห่งในเขตพระนคร ทั้งสุกิจวิทยา วัดธาตุทอง ก่อนจะกลับไปเรียนอีกครั้งเมื่อคณะคุรุศาสตร์จุฬาฯ ประกาศรับนักศึกษา (เพื่อผลิตคนออกมาเป็นครูโดยเฉพาะรุ่นแรก) จากนั้นก็ได้ทุนไปศึกษาต่อสาขาจิตวิทยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาสอนหนังสือที่จุฬาฯและศิลปากรช่วงสั้นๆ

ช่วงเวลาที่สอนในศิลปากรนี่เอง ครูองุ่นเริ่มต้นทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษา ก่อนที่จะย้ายไปสอนสาขาวิชาจิตวิทยาที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตราชการ

เป็นที่ทราบกันดีกว่าระหว่างปี 2510-2516 ขบวนการนักศึกษามีพลังมาก ด้วยเป็นยุคที่หนุ่มสาว “ หาความหมาย” จากการเรียนมหาวิทยาลัย อีกทั้งกิจกรรมการเมืองมิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะนักศึกษาในกรุงเทพฯ เท่านั้น ตามหัวเมืองต่างๆ อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งก็มีความคึกคักไม่แพ้กัน

แน่นอนว่าแนวทางการสอนของครูองุ่นก็ม่ได้ยึดถือคัมภีร์เป้นสำคัญแต่อย่างใด หากแต่ยึดถือแนวคิดและมุ่งปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้ลูกศิษย์เป็นสำคัญ

เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินชื่อดัง เขียนบันทึกความทรงจำช่วงเรียนอยู่ศิลปากรเกี่ยวกับครูองุ่นว่าว่า “ อาจารย์องุ่นสอนภาษาอังกฤษ… วิธีการสอนมีอะไรที่แปลกกว่าอาจารย์อื่นๆ ถ้าคุณมีความคิดดีๆ อยู่ในงานแกให้คะแนนเต็มไปเลย ยกตัวอย่างเพื่อนผมคนหนึ่งเขียนถึงชีวิตวัยเด็กว่า เช้าวันหนึ่งแม่ได้ส่งกระเป๋าให้ฉัน แล้วชี้ไปที่ปลายทางซึ่งเวลานั้นตะวันกำลังฉายแสง และแม่บอกว่าจงเดินตรงไปทางนี้ คิดสิอย่างนี้ไม่ให้ครูให้คะแนนเต็มร้อยได้อย่างไร…”

ที่เชียงใหม่ ครูองุ่นซื้อที่ดินผืนหนึ่งอยู่อย่างสมถะ คนทั่วไปรู้จักในนาม “ สวนไผ่หิน” ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “สวนอัญญา” ที่นี่เองได้กลายเป็นที่รวมตัวของนักกิจกรรมและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ โดยความยินยอมของครูที่ให้ใช้สถานที่ได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่น่าตื่นตะลึงก็คือ ครูองุ่นถึงกับลงทุนยกหน้าบ้านให้นักศึกษาใช้ โดยตนเองกับลูกบุญธรรมย้ายไปอาศัยอยู่ด้านหลัง แถมยังร่วมกับนักศึกษาเผยแพร่ประชาธิปไตยสู่ชนบทผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นละครของชมรมศิลปะและการแสดง นอกจากนี้เธอยังมีส่วนในการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ของภาคเหนือร่วมกับนักศึกษาและชาวบ้าน อีกด้วย

ตราบจนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

เผด็จการจะกลับมายึดอำนาจไปจากประชาชนอีกครั้ง

หลังเหตุการณ์นี้เอง กิจกรรมเพื่อสังคมทุกอย่างยุติลง ครูองุ่นต้องวุ่นอยู่กับการประกันตัวลูกศิษย์ซึ่งโดนจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาตัวครูก็ถูกจับ แล้วถูกนำตัวไปขังที่ค่ายกักกันซึ่งรัฐบาลภายใต้การชักใยของกองทัพตั้งชื่อเสียสวยหรูว่า “ศูนย์การุณยเทพ” ร่วมกับผู้ต้องสงสัยข้อหาคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ซึ่งส่วนมากอายุน้อยกว่าทั้งสิ้น

“ที่นั่นเป็นค่ายทหาร ครูต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ กวาดขยะ เคาะระฆัง บรรยากาศในนั้นก็น่าสนใจเพราะมีพวกหัวก้าวหน้าถูกจับเยอะ เวลาทหารมาบรรยายเพื่อล้างสมองพวกเขาก็จะต่อต้านโดยส่งเสียงโห่ฮา แต่ครูจะบอกกับพวกนั้นต้องเงียบฟังเขา โดยครูนั่งตัวตรงเป็นแบบอย่าง ครูอธิบายว่าถ้าคุณไม่ฟังเขาก็ไม่รู้ว่าเขาขี้เท่อยังไง” สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ลูกศิษย์ใกล้ชิดเล่าให้ฟังถึงชีวิตของครูองุ่นในค่ายกักกัน

นี่เอง ทำให้ครูองุ่นได้กับผู้คุมเป็นอย่างดี ทั้งยังเสนอการจัดเสวนาธรรมะขึ้นในสถานกักกันเป็นการ “สอน” ผู้คุมไปในตัวอีกต่างหาก

ภาพนักโทษวัยเกษียณนั่งบรรยายธรรมะให้ผู้คุมฟังคงหาดูไม่ได้จากค่ายกักกันที่ไหนเป็นแน่

นอกจากนี้ ครูยังยืนหยัดรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำด้วยความภูมิใจโดยไม่หลบซ่อน ด้วยเชื่อว่านี่คือแนวทางที่ถูกต้องโดยไม่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการ

ในรายงานพฤติกรรมที่ครูองุ่นโดนบังคับให้เขียนส่งเจ้าหน้าที่รัฐ ครูเขียนว่า

“พ.ศ. 2510 ข้าพเจ้ามาถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยดวงใจเบิกบานที่จะได้ใช้ 10 ปีสุดท้ายของชีวิตครูให้ไพศาลที่สุด ทำการสอนอยู่ได้ระยะหนึ่ง ข้าพเจ้าก็พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มัวเมาอยู่กับการสนุก เที่ยวกลางคืน เต้นรำ เล่นรัก การพนัน ทั้งหญิงชาย นับเป็นสิ่งไร้ความหมายและไร้สร้างสรรค์ อาจเป็นเพราะเขาขาดความรู้ว่าชีวิตที่ดีกว่านั้นยังมี ชีวิตที่ประเสริฐที่ยังประโยชน์ต่อตนเองและสังคม…”

– 3 –

“ เธอทำอะไรอยู่

แกรก แกรก ฉันแผ้วถางแผ่นดิน

อัตชีวประวัติ ก็เขียนอยู่ทุกวัน

ผืนดินเกือบ 2 ไร่ ที่ซอยทองหล่อ

แผ่นดินนั้น ไม้ปลูกนานา

ที่แผ้วถาง และปลูกต้นไม้

มีเสียงนกร้องเพลง แล้วถลามาหาแมลงที่กอหญ้า

มีกระรอกไต่ต้นขี้เหล็ก กระโจนไปต้นมะพร้าว

นั่นเป็นแผ่นภาพ เป็นของขวัญ แก่คนทุกคน

ไผ่ มะขาม ตะขบ

หนุ่มสาว กลีบขี้เหล็ก ปลายเรียงรายบนพื้นดิน

กระจายระยับเหมือน ดาวบนท้องฟ้า

เหมือนแผ่นดินกลายเป็นทอง

นี้หรือคือ อุทยานน้อย มอบให้เธอจากดวงใจ ”

30 กว่าปีก่อน ลูกศิษย์ลูกหาที่มีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยียนครูองุ่นที่ซอยทองหล่อ มักพบครูในขณะที่หยิบไม้กวาดมากวาดพื้นท่ามกลางแมกไม้ร่มรื่นในสวนสมดังบทกวีที่ครูได้รจนาไว้ในช่วงบั้นปลายชีวิต

นี่คือภาพชีวิตช่วงสุดท้ายของครูองุ่นหลังมรสุมร้ายพัดผ่าน

หลังออกจากสถานกักกัน ครูองุ่นอยู่เขียงไม่ไม้ได้อีกเนื่องจากถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามอยู่ทุกฝีก้าว ทำให้ครูตัดสินใจกลับมาอยู่กรุงเทพฯ

ครูก็ไม่ได้ท้อกับชะตากรรมแต่อย่างใด งานเพื่อสังคมที่เคยทำมาก็มิได้ลดลง กลับกันครูโหมหนักขึ้น เห็นได้จากการตั้งมูลนิธิ “ ไชยวนา” “ กลุ่มแม่บ้านชุมชนอ่อนนุช” และกองทุนมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่าง “ พุทธทาสภิกขุ” เพื่อทำงานด้านธรรมะ  กองทุน “หมอเมืองพร้าว” เพื่อทำงานด้านสาธารณสุข ไม่รวมงานหุ่นมือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกกันติดปากว่า “ หุ่นผ้าขี้ริ้ว” โดยครูจะนำไปแสดงให้เด็กด้อยโอกาสตามที่ต่างๆ ดู

หุ่นนี้ทำขึ้นจากเศษผ้าที่คนมาบริจาค ซึ่งครูเริ่มเย็บขึ้นมาตั้งแต่สอนหนังสืออยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

เชื่อว่าคนอายุ 20 ปีขึ้นไปขณะนี้ คงเคยดูละครหุ่นตอนเช้าตรู่เรื่อง “ เจ้าขุนทอง” ในวัยเด็กมาบ้าง นั่นล่ะคือส่วนหนึ่งจากผลิตผลของครูองุ่นที่ลูกศิษย์นำไปต่อยอดเผยแพร่ทางทีวี

แต่ไม่มีงานใดของครูที่สำคัญกว่าการก่อร่างสร้างสถาบันปรีดีร่วมกับมูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์

11 พ.ค. 2526… ครูองุ่นทราบข่าวการถึงแก่อนิจกรรมของปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความเสียดายเพราะท่านคือฮีโร่ในวัยเด็กของครูที่หาญกล้าลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาสู่ระบอบปที่ประชาชนเป็นใหญ่

คืนนั้น…ครูลงมือร่างบางสิ่งลงในแผ่นกระดาษ ก่อนจะเดินออกจากบ้านไปหาสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิษย์ผู้ใกล้ชิดซึ่งมาอาศัยอยู่ในเรือนอีกหลังเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดในกระดาษแผ่นนั้น

“เอาสิครู” สินธุ์สวัสดิ์ เห็นด้วยกับโครงการซึ่งระบุรายละเอียดว่า มูลนิธิไชยวนาจะยกที่ดิน 371 ตารางวาติดถนนในซอยทองหล่อให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์เพื่อร่วมขยายขอบเขตงานช่วยเหลือราษฎรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยเชื่อว่าสถาบันที่กำลังจะกำเนิดบนผืนดินแห่งนี้เป็น

“cause ที่กว้างไพศาล มีโอกาสบรรลุถึงประชาชนและเป็นแหล่งถึงมวลมิตรให้ทำงานร่วมกัน” เพื่อ “ ใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฏรไทยตามที่ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ห่วงใย” จากนั้นครูก็ติดต่อกับลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี อย่างสุภา ศิริมานนท์ และดำเนินการจนที่ดินโอนมอบสำเร็จเสร็จสิ้น

เรียกได้ว่าทันทีที่ท่านปรีดีเสียชีวิต สถาบันปรีดีก็ถือกำเนิดขึ้นในทันทีที่บ้านของครูองุ่น

10 ธันวาคม 2531 …ครูองุ่นซึ่งเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2539 ก็ยิ้มออก เมื่อพิธีวางศิลาฤกษ์สถายันปรีดีฯ มีผู้มีเกียรติจำนวนมากมาร่วมงาน

ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิตนี้ครูองุ่นตัดสินใจเปลี่ยนจากบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลเมื่อตนเองเสียชีวิตมาเป็นการเตรียมสุสานตัวเองในที่ดินของมูลนิธิไชยวนาซึ่งอยู่ข้างบ้านของตนเอง

บางคนอาจมองว่าครูยึดติด แต่จุดประสงค์ใหญ่ที่ผมรับรู้ได้ก็คือครูตัดสินใจใช้ร่างตัวเอง  “ปกป้อง” พื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากพินัยกรรมที่ระบุว่า “ที่ดินผืนนี้ห้ามขาย” ให้ทำประโยชน์กับสังคมเท่านั้น

21 มิถุนายน 2533 ครูองุ่นจากไปอย่างสงบ ทิ้งไว้แต่ความปรารถนาดี ปณิธานอันงดงามไว้ให้คนรุ่นหลัง และพินัยกรรมสั่งเสียที่ล้วนแต่มอบทรัพย์สินของตนเองเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในสังคม

24 มิ.ย. 2538…พิธีเปิด “ สถาบันปรีดี พนมยงค์” อย่างเป็นทางการ หลังตัวตึกก่อสร้างและเก็บรายละเอียดเสร็จจนใช้การได้ก่อนหน้าถึง 2 ปี ทำให้กลุ่มกิจกรรมต่างๆ มีโอกาสใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งครูองุ่นได้เสียสละไว้ให้อย่างคึกคักไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเด็ก ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ

– 4 –

สำหรับผม ชีวิตของ “ ครูองุ่น” เป็นแบบเรียนให้กับคนรุ่นหลังได้

มิใช่เพียงเพราะท่านบริจาคที่ดินให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ …

มิใช่เพียงเพราะท่านเข้าร่วมกับฝ่ายนักศึกษา…

แต่เป็นเพราะในยามท่านมีชีวิต ท่านได้ปฏิบัติตัวได้อย่างน่าสรรเสริญ คือมีธรรมะในชีวิต มีปณิธานมั่นคงในการทำเพื่อคนอื่น ซึ่งแม้กาลเวลาจะผ่านไปเท่าใด ครูก็แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นคนๆ เดียว ก็สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้

ต่างกับใครหลายคนที่ไม่คิดแม้แต่จะทำ…

“ ศรีบูรพา” เคยกล่าวไว้ใน “ จนกว่าเราจะพบกันอีก”  ว่า

“ฉันไม่คิดว่าการมีชีวิตอยู่เพียงแต่จะกินไปวันหนึ่ง และแสวงหาความสุขไปวันหนึ่ง แล้วก็รอวันเจ็บป่วยและตายนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอะไร ตามความเห็นของฉัน ชีวิตเช่นนั้นเป็นของว่างเปล่าเท่ากับไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้ ชีวิตเฉยๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสนุก แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่ และถูกใช้ไปเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น”

“ครูองุ่น”  มีชีวิต “งาม” ไม่ผิดจากที่ศรีบูรพากล่าวไว้นัก

*******************************************************************************
เอกสารอ้างอิง

กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา). จนกว่าเราจะพบกันอีก. สนพ. พีพี (2521).

กาญจนา สาวิตรี บรรณาธิการ. รำลึกถึง ดอกไม้กลางใจชน ครูองุ่น มาลิก. โครงการเชิดชูปณิธานครูองุ่น มาลิก มูล นิธิไชยวนา. (เนื่องในวาระครบ 9 ปีแห่งการถึงแก่กรรม 21 มิ.ย. 2542).

กาญจนา สาวิตรี บรรณาธิการ. ชีวิตงาม ครูองุ่น มาลิก. โครงการเชิดชูปณิธานครูองุ่น มาลิก มูลนิธิไชยวนา.(เนื่องในวาระครบ 10 ปีแห่งการถึงแก่กรรม 21 มิ.ย. 2543).

ขอขอบคุณ

ธีรภาพ โลหิตกุล , สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

และแนะนำให้ผมรู้จักสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่นาม “ องุ่น มาลิก”

13 thoughts on ““ชีวิตงาม” ของ “ครูองุ่น มาลิก”

  • สวัสดีค่ะ
    เพิ่งได้มีโอกาสแวะเวียนเข้ามาอ่าน
    อ่านไป ก็ขนลุกไป
    ก่อนหน้านี้…
    เคยได้ยินชื่อครูมาบ้าง แต่ก็เพียงผ่าน
    นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักชีวิตของสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้
    ขอน้อมคารวะครูองุ่นด้วยดวงใจ

    ตนเองแม้ยังทำความดีได้เพียงน้อยนิด
    แต่ก็จะเพียรพยายามต่อไปไม่ลดละ
    จริงอย่างคำศรีบูรพาที่ว่า
    “ชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสนุก แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่ และถูกใช้ไปเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น”

    ขอบคุณมากค่ะ 🙂

  • อ่านแล้วชอบครับ อยากให้อัพเดท blog บ่อยๆ ไม่ได้อัพนานแล้วนะครับ ไงจะเข้ามาอ่านเรื่อยๆครับ

    ขอบคุณครับ

  • ดิฉันเสียดายเวลา ว่าดิฉันมาอ่านบทความนี้ช้าไป

    อาจารย์ องุ่น มาลิก ผู้นำทางการเรียน วิชาจิตวิทยา ของดิฉัน

    ลามะลิลา

    ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน

    พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา

    อาจารย์เปรียบเหมือนคุณแม่ บ้านของดิฉันที่เชียงใหม่ เราจะมีนำ้ชาบ่าย เชิญอาจารย์มาคุย
    ดิฉันไม่ได้เรียน ที่เชียงใหม่ กับท่าน แต่ทุกครั้งที่ปิดเทอม เมื่อกลับมา บ้านไผ่ล้อม คือที่ๆที่ดิฉันต้องไปเป็นที่แรก ด้วยความคิดถึง
    ท่านทราบว่าดิฉันเขียนหนังสือให้สตรีสาร ตั้งแต่2515 ตอนอายุ15

    เจอกันทุกทีก็จะมีคำคม ดิฉันจนบัดนี้ยังไม่ทราบว่า มะลิลา เป็นอะไรในความหมายที่ท่านบอก

    และท่านบอกว่าตอนเป็นสาวน่ะเปรี้ยวมาก ดิฉันทำ ขนมพาย สัปรด, ลูกหม่อน ไปฝาก หรือบราวนี่ ถามไถ่ อาจารย์ยังกวาดขยะหรือเปล่า ??
    จะทำ คือคำตอบตราบใดที่นักศึกษายังทำตัวเป็นขยะอยู่

    ความงดงามของอาจารย์ ก้ขนาดถูกเลือกเป็นดาวจุูฬานั่นแหละค่ะ ตอนที่สอนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารญ์องุ่นของดิฉัน สวมเสื้อม่ออ่อม กางเกงขายาว

    ืถือไม้กวาด กวาดใบไม้

    10 ปีให้หลัง อาจารย์กลับไปอยู่กรุงเทพ ดิฉันทราบว่าท่านบริจากทที่ดินให้สถาบันปรีดี พนมยงค์และท่านเสียชีวิตลง จากการป่วยด้วยโรคมะเร็ง เวลานั้นดิฉันมีโอกาสร่วมงาน
    เจ้าขุนทองยังขับขานแต่ท่านไม่อยู่เสียแล้ว

    เมื่อ3ปีที่แล้วดฺิฉันได้สัมภาษณ์ น้องๆ กลุ่มพระจันทร์พเนจร ถามถึงที่บ้านไผ่หิน่ที่เขียงใหม่

    ู่ เด็กๆที่นั่นยังอยู่กันเหมือนเดิม มีแต่แสงดาวแห่งศรัทธา

    With love forever

    Janine Yasovant MPA.

    http://www.scene4.com

    ๋ำ

  • เมื่อสองอาทิตย์ก่อนจนถึงเมื่อวาน หัวใจดิฉันห่อเหี่ยว เศร้าหมอง และรู้สึกทุกข์ไปกับกับความวุ่นวาย ความสับสนของการเมืองไทยที่นับวันจะหาผู้ที่ทำงานเพื่อส่วนรวมได้ยาก วันนี้ดูจะเป็นวันที่ได้รับรู้รับทราบผลงานของผู้ที่ทำคุณประโยชน์อันมหาศาลให้กับแผ่นดิน โดยที่ท่านเหล่านั้นกลับมีชีวิตที่สมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ลืมตนเหมือนพวกที่กำลังแสดงความบ้าอำนาจ ยึดตัวตน ยึดผลประโยชน์เฉพาะพวกพ้องโดยไม่คิดถึงบุญคุณของแผ่นดินสักน้อยนิด ดิฉันขอรำลึกถึงครูองุ่น และอาจารย์ป๋วย ด้วยใจคารวะและสำนึกในบุญคุณของท่านทั้งสอง
    ขอบคุณที่ลงสาระดีๆให้สังคมไทยได้เรียนรู้ เป็นกำลังใจให้ค่ะ 😆

  • เมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน (น่าจะประมาณ ปี ๒๘ – ๒๙) ไปสัมภาษณ์พี่หงา และพี่ๆ คนอื่น

    ที่บ้าน ซ.ทองหล่อ เห็นป้าคนหนึ่งกวาดใบไม้อยู่ ก็ถาม “ขอโทษนะคถ ป้า พี่หงาอยู่ไหนคะ”

    พอพี่ๆ รู้ ก็บอกว่า “ไม่มีใครเรียกป้า คนนั้นน่ะครูองุ่น มาลิก” (อ้าว…ใครคะ)

    และยังบอกว่า “ชีวิตครูน่าสนใจไม่น้อยกว่าคาราวานหรอก” พอได้โอกาส เราก็ไปนั่งดู

    ป้าองุ่นกวาดใบไม้ (ไม่ใช่ขยะ) เป็นการ บรรจงกวาดมากๆ ค่ะ เห็นป้าอีกในกาลต่อมา

    ถ้าป้าไม่กวาดใบไม้ ก็จะนั่งเย็บ / ซ่อมหุ่น (ผ้าขี้ริ้ว) ค่ะ ป้าทำตัวธรรมดา แบบที่ไม่ธรรมดาเลย เห็นแล้วประทับใจค่ะ

  • ครูองุ่น มีลูกไหมครับ มีกี่คน ปัจจุบันอายุเท่าไหร่ ยังมีชีวิตหรือไม่ และมีความเป็นอยู่อย่างไร มีคนรักครูองุ่น มากมาย มีใครอุปการะเลี้ยงดูลูกครูองุ่นหรือเปล่า และสามีครูเป็นใคร อยู่ที่ไหนครับ

  • คืนนั้น…ครูลงมือร่างบางสิ่งลงในแผ่นกระดาษ ก่อนจะเดินออกจากบ้านไปหาสินธุ์(สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิษย์ผู้ใกล้ชิด) ซึ่งมาอาศัยอยู่ในเรือนอีกหลังเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดในกระดาษแผ่นนั้น
    ข้อความข้างต้นนี้แสดงว่า (คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิษย์ผู้ใกล้ชิด) พักอาศัยอยู่ที่บ้านครูฯ พอทราบไหมครับว่า สามี และลูกครูยังมีชีวิตหรือไม่ ผมอยากไปสัมภาษณ์ เพื่อนำข้อมูลในมุมครอบครัว มาเป็นแนวคิดปฎิบัติ คุณสินธุ์สวัสดิ์ เป็นศิษย์ รุ่นที่เท่าไหร่ครับผมอยากสัมภาษณ์ด้วยครับ..ศิษย์ที่กตัญญูดูแลครูจากมหาลัยจนวันครูสิ้นบุญ ผมเขียนบทความให้หนังสือ ในต่างประเทศครับ จะมาเมืองไทยเร็วๆนี้ครับ

  • ชอบมากค่ะ ขอบคุณมากนะคะ อยากเอาคำพูดศรีบูรพา ไปปริ๊นซักสองแสนชุ ดแปะทั่วบ้าน ทั่วเมือง (ให้เยอะกว่าป้ายหาเสียงในตอนนี้เลย) …ขอบคุณที่เตือนสติค่ะ

  • ขอกราบแทบเท้าครูองุ่น สามเดือนที่ศูนย์การุณยเทพ ผมเรียนรู้จากครูองุ่นมากว่าเดิมนัก สวนอัญญานั้นยังฝังในใจผมมาตลอด และอุดมการณ์ของอาจารย์ก็ยังฝังแน่นผมมาจนทุกวันนี้ที่ผมยังทำงานเพื่อชุมชนชนบท มาราคม 55 ผมจะมาที่ไชวนาครับ

Comments are closed.