ว่าด้วยภาพยนตร์เรื่อง “รากเรา” (Our Roots) ผู้กำกับหลงลืมอะไร ?

ว่าด้วยภาพยนตร์เรื่อง “รากเรา” (Our Roots) ผู้กำกับหลงลืมอะไร ?

“รากเรา” (Our Roots)

รากเหง้า วิถีชีวิต จิตวิญญาณ ความเป็นไทยที่ควรภาคภูมิ
ภาพยนตร์สารคดี* “รากเรา” จะพาผู้ชมร่วมเดินทางไปบนแผ่นดินไทย เพื่อรับฟังท่วงทำนองของแผ่นดินที่ส่งเสียงมาสู่เราอย่างแผ่วเบา ท่ามกลางการถาโถมของสิ่งเร่งเร้าต่างๆรอบตัว ภาพยนตร์เรื่องนี้ เพียงหวังให้คุณได้ “หยุด” เพื่อเปิดดวงตา เปิดหัวใจ ให้เห็นแก่นแท้อันเป็นรากแก้วของคนไทย อันเป็น “รากเรา” ที่เชื่อมถึงกัน…ผลงานกำกับโดย นิสา คงศรี และ อารียา ศิริโสดา”

* เน้นโดยผู้เขียนบทความ

หัวค่ำวันแรกของเดือนมิถุนายน 2554

โรงหนังสกาล่า , กรุงเทพฯ

ข้อความในแผ่นพับที่ผมได้รับแจกหน้าโรงหนังสกาล่า ทำให้ผมตั้งความหวังเล็กๆ ว่า ตั๋วรอบสื่อมวลชนที่ได้มานอกจากจะทำให้ได้ดูหนังฟรีแล้วจะทำให้ได้ดูหนังดี อีกด้วย ด้วยข้อความเหล่านี้ได้สร้างความท้าทายในใจของผู้ดูหนัง (สมัครเล่น) อย่างผมว่าหนังเรื่องนี้ที่สร้างโดยผู้กำกับสองคนที่หลายคนบอกว่ามีมุมมอง น่าสนใจจะ “ตั้งคำถาม” และ “ตีความ” ความเป็นไทยในความคิดของผู้กำกับออกมาและสื่อสารกับคนดูได้อย่างน่าสนุก

ภาพยนตร์ “รากเรา” ในรอบสื่อเปิดตัวด้วยการฉายคลิปวีดีโอการทำงานหนักเป็นเวลาราว 1 ปีกว่า จากนั้นก็นำสองผู้กำกับคือ คุณนิสา คงศรี และคุณอารียา สิริโสดา ออกมาในชุดสบายๆ ใส่กางเกงลักษณะคล้ายกางเกงเลและเสื้อยืดสกรีนชื่อภาพยนตร์ “รากเรา”

พวกเขานั่งบนเก้าอี้ไม้เล่าถึงที่มาของชื่อ ว่าเดิมมีแนวคิดหลายแนวในการตั้งชื่อ ก่อนจะออกมาเป็น “รากของเรา” และถูกทอนเป็น “รากเรา” โดยคุณอารียา ซึ่งทำให้ผมชื่นชมกับความสามารถในการ “คิดชื่อ” ของเธอ

พวกเธอเล่าว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลผลิตมาจากการเดินทางไปสัมผัสคนไทยใน จังหวัดต่างๆ จน “ไปเจอหลายสิ่งที่งดงามซ่อนอยู่ เป็นความงามที่เรียบง่าย เห็นแล้วอยากบอกต่อ เหมือนตอนที่เราทำเด็กโต๋และปักษ์ใต้บ้านเรา” โดยพวกเธอบอกว่ารากเรานั้น “ยิ่งใหญ่กว่ามาก” เพราะ “เหมือนเราได้เจอคำตอบว่าอะไรที่มันก่อเกิดความเป็น ‘เรา’ เช่นทุกวันนี้” และพวกเธอเชื่อว่าจะทำให้หลายคนคลี่คลายว่านิยามของคนไทยคืออะไร

ในแผ่นพับยังให้ข้อมูลกับผมว่าหนังเรื่องนี้จะใช้ศิลปะการแสดงของทุกภาคใน ประเทศไทยเป็นสื่อเดินเรื่องโดยผู้กำกับทั้งสองจะเข้าไปคลุกคลีและพูดคุยกับ ศิลปินในท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจ “ความเป็นไทย” ผ่านศิลปะการแสดงที่ได้สร้างและสั่งสมมายาวนาน

จากนั้นก็เป็นการแสดงของวงโปงลางจากโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งหนึ่งในสมาชิกวงนั้นก็ถูกพิธีกรสัมภาษณ์โดยให้การว่าวัฒนธรรมนั้นเป็น สิ่งสำคัญ ถ้าสูญสิ้นไปเราก็คงอยู่ไม่ได้

จากนั้นก็เป็น ๘๔ นาทีของการฉายหนัง ซึ่งทำให้ผมช็อก

เริ่มต้นด้วยภาพของความวุ่นวายในเมืองใหญ่ ภาพเด็กนักเรียนรีบไปโรงเรียน ภาพผู้คนวัยทำงานเดินไปมาบนท้องถนนอย่างรีบเร่ง จากนั้นก็ตัดเข้าสู่ฉากที่ผู้กำกับสองคนไปพบกับศิลปินที่เล่นซอล่องน่าน ในจังหวัดน่าน โดยคุณป็อบ (อารีดา) และคุณนิสา ได้เข้าไปพูดคุยกับศิลปินและแสดงความอาลัยอาวรณ์กับ “ความเป็นไทย”

คุณป็อบสร้างความทรงจำในฉากนี้ด้วยประโยคทองระหว่างนั่งพื้นเปิบขันโตกใน ประโยคที่พอจับใจความได้ว่า “นั่งกินใต้ถุนบ้านแบบนี้เป็นไทยที่สุดแล้ว เบื่อเนอะ KFC เบื่อเนอะ Mc Donald” (ในโรงภาพยนตร์มีเสียงหัวเราะ) ในขณะที่คุณนิสาสร้างความทรงจำให้กับผู้ชมในฉากนี้ด้วยการแสดงอาการคับข้อง ใจขณะสนทนากับปราชญ์ท่านหนึ่งของน่านว่า “ทำไมคนที่นี่ยังนักและเอื้อเฟื้อต่อกัน” และกล่าวด้วยอารมณ์ว่าเธอก็เกิดในชนบท แต่ทำไมสิ่งนี้มันหายไป ทำไมจึงยังเหลือที่น่านที่เดียว ก่อนที่ปราชญ์ท่านนั้นจะรับปากไปตามน้ำ

ในขณะที่ข้อมูลประวัติศาสตร์ระบุว่า ประเทศไทยนั้นเพิ่งถือกำเนิดเมื่อปี ๒๔๘๒ และคงต้องย้อนลึกกว่าเดิมไปอีกว่าก่อนหน้าที่จะมีการปฏิรูปการปกครองสมัย ร.5 น่านมีฐานะเป็น “นครรัฐ” เรียกว่า “นันทบุรีศรีนครน่าน” มีกษัตริย์ของตนเอง ทั้งนี้ คนเหนือไม่ได้เรียกตัวเองว่าคนไทย บางทีเขาเรียกตนเองว่า “คนเมือง”

ในความเป็นจริงอีกเช่นกันยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังคงมีวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ การสรุปว่าน่านที่เดียวเท่านั้นที่ยังคงเหลือวัฒนธรรมเช่นนี้จึงเป็นการเหมา รวมอย่างผิดหลักวิชาเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นภาพตัดไปที่สุรินทร์เล่าเรื่องการทิ้งบ้านไปทำงานในเมืองใหญ่ของคน อีสานและพวกเขาพยายามกลับมารดน้ำดำหัวบุพการีในวันสงกรานต์ คนอีสานท่านหนึ่งกล่าวอย่างกินใจว่า “ไม่มีเงินยังไงก็ต้องกลับมาอาบน้ำแม่” และสรุปว่าความกตัญญูรู้คุณคือความงดงามในจิตใจของคนไทย ฯลฯ ซึ่งถูกต้องทั้งสิ้น

ทว่า ผมกลับมีคำถามว่าแล้วอะไร ทำให้คนเหล่านี้ต้องกลับไปทำงานในเมืองใหญ่ แล้วทำไมการกระจายทรัพยากร การเติบโตของเมืองต่างๆ จึงไม่เท่ากัน “ความกตัญญู” ที่เห็นคือคำตอบของปัญหาที่ผู้กำกับนำเสนอทั้งหมดทั้งมวลแล้วหรือ อะไรที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่กับบ้านได้

ขณะที่ค้างคาใจผู้กำกับสองท่านก็พาผมลงไปที่นครศรีธรรมราชไปดูเรื่องของนาย หนังตะลุงที่ยังคงใช้คำตอบแบบคนที่จมอยู่กับความคิดดั้งเดิมที่ทุกปัญหา (ผัวเมียทะเลาะกัน ขโมย เด็กโชว์เต้า สังคมแตกแยกฯลฯ) ล้วนตอบได้ด้วยคำตอบที่ว่า “เพราะคนไม่มีศีลไม่มีธรรม”

ซึ่งแสดงวิธีคิดที่ติดอยู่กับคัมภีร์ไตรภูมิภถา (ซึ่งเป็นรากวิธีคิดจริงๆ ของคนพุทธเถรวาท) ซึ่งในยุคสมัยนี้ คนจำนวนมากรตั้งคำถามกับปราชญ์เหล่านี้ว่า แล้วกระบวนการแก้คืออะไร มันคือระบบการศึกษา มันคือระบบสังคม ผลพวงจากเศรษฐกิจฯลฯ ที่ต้องมานั่งวิเคราะห์กันมากกว่านี้เพื่อหาคำตอบดีกว่ามักง่ายใช้คำตอบ สำเร็จรูปเช่นนี้และทางแก้ที่ชั่วนาตาปีปราชญ์ทั้งหลายคิดกันออกคือห้ามโน่น ห้ามนี่ เปิดวิชาศีลธรรมและหน้าที่พลเมือง 101 ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยและส่งเด็กเข้าวัดเท่านั้น

ในที่สุดครึ่งแรกของภาพยนตร์ (ที่อ้างว่า) เป็นสารคดีก็ผ่านไป โดยที่ผมงุนงงว่าผู้กำกับพยายามจะบอกอะไรกับคนดู ระหว่างนั้นหนังก็ตั้งคำถามว่าเราลืมอะไรไป ก่อนจะพาไปดูเรื่องราวของการเล่นหนังใหญ่ที่ราชบุรีและความพยายามของคนที่ นั่นในการสืบทอดวัฒนธรรม โดยมีพิธีกรสองคนแต่งตัวสวยงามเป็นสาวผู้ดีเมืองกรุงเข้าไปชื่นชมกับ บรรยากาศเหล่านี้และสัมภาษณ์ ๆๆๆ คนที่เกี่ยวข้องและดื่มด่ำไปโดยไม่ตั้งคำถาม

ถึงตรงนี้หลังหลับๆ ตื่นๆ มานานเพราะเบื่อสารในภาพยนตร์ที่สุดจะเชยไม่ต่างกับตำราเรียนสมัยประถม มัธยม นำเสนอ ผมก็ตัดสินใจลุกออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยถึงตรงนี้ ผมคิดว่าผมสามารถคาดเดาเนื้อเรื่องได้แทบทั้งหมดแล้วโดยไม่มีความจำเป็นต้อง ดูบทสรุปอีกต่อไป

รุ่นน้องที่ไปดูด้วยกันบอกภายหลังว่าท่อนท้ายเรื่องนี้เสนการฟ้อนเมืองของ ภาคเหนือและสรุปว่าธรรมะทำให้คนไทยยึดมั่นในความดี จิตวิญญาณคือศรัทธาที่หลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ก่อนจะตั้งถามว่าใครจะรักษาความเป็นไทย

สุดท้ายของสุดท้ายปิดด้วยการก่นประนามความเจริญของเมืองกรุง

สิ่งที่ตกค้างในใจของผมเมื่อชมสารคดีเรื่องนี้จบคือ ผู้กำกับทั้งสองท่านเขาหาอะไรตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

เขามีวิธีคิดอย่างไรในการสร้างภาพยนตร์ที่อ้างว่าเป็นสารคดี หากแต่มีฉากที่แสดงถึงอัตตาของคนทำ

ทำไมหลังการ “ทำงานหนัก” หนังสารคดีที่ผู้กำกับเรื่องนี้การันตีว่าแสนจะ “ยิ่งใหญ่” กลับยังใช้ตำรากระทรวงศึกษาตอบว่าอะไรคือความเป็นไทย ทั้งยังสั่งสอนและครอบงำคนดูแบบ “ไม่เนียน”

แน่นอน ศิลปะวัฒนธรรมที่นำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้มีคุณค่าสมควรแก่การรักษาและสืบทอด

หากแต่รากเหง้าของสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของคนอุษาคเนย์มิใช่หรือ ซึ่งผมจะไม่กล่าวให้ยืดยาวในที่นี้ด้วยปัจจุบันมีงานวิชาการ งานวิจัย และหลักฐานจำนวนมากยืนยันมากเกินจะพูดถึงได้หมดในบทความเดียว

นี่ยังไม่นับการ “เกลียดตัวกินไข่” ด้วยทั้ง 2 ท่านต่างมาหากินในกรุงเทพฯ และได้ดิบได้ดีจาก “โอกาส” ที่เมืองซึ่งพวกเขาบอกว่าเป็นต้นเหตุของความเสื่อมทั้งมวลมอบให้ โดย “ก่นด่า” และมอบบท “ผู้ร้าย” ให้ตลอดเวลา

โดยที่หลงลืมไปว่า ปัญหาต้นตอคือการพัฒนาแบบ “กระจุก” ที่มีมาหลายยุคสมัย และพวกเขาก็เป็นเพียงเบี้ยตัวหนึ่งที่ต้องปรับตัวกับสภาพนั้นด้วยการเข้ามา แข่งขัน กิน ขี้ …. นอน ในเมืองนี้ ฯลฯ (แถมยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อมลภาวะอีกต่างหาก ไม่คิดจะช่วยกันแก้ปัญหาเลยหรือครับ มากกว่ามาด่ากัน)

และเมื่อวันหนึ่งพวกเขาเข้าถึงสถานะบางอย่าง พวกเขาก็ด่ากรุงเทพฯ ไม่มีชิ้นดี โดยลืมไปว่ากรุงเทพฯ มีมุมดีอยู่มากมาย

ทางแก้ที่ผมเข้าใจว่าพวกเธอเสนอคือการไปสัมผัสการละเล่น วัฒนธรรม การหนีออกไปใช้ชีวิตนอกเมืองโดยที่โครงสร้างสังคมระดับบนยังไม่มีการแก้ไข ก็ไม่น่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่พวกเขาฟูมฟาย

เพราะจนทุกวันนี้คนชนบทส่วนมากที่พวกเขามองว่าสุดแสน “โรแมนติก” ก็เจอปัญหานาล่ม ปุ๋ยแพง ฯลฯ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

โดยที่ของที่นำเสนอในภาพยนตร์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด

อย่างมากก็ถ่ายทอดออกมาผ่านหนังตะลุง !

ทั้งที่ในยุคสมัยนี้ การใช้สิ่งเหล่าสี้ควบคู่ไปกับการใช้พื้นที่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัย ใหม่ดูจะได้ผลกว่ามาก ถ้าจะแตะเรื่องนี้ภาพยนตร์ทำไมจึงไม่พูด หรือเสนออะไรที่ใหม่กว่าที่ผมหรือคนทั่วไปคิด

ทำไมผมถึงต้องวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้

หนึ่ง ถ้าเข้าใจไม่ผิดผู้กำกับทั้ง 2 ท่านได้รับการสนับสนุนทุนส่วนหนึ่งจาก “ภาษีบาป” โดย สสส. (เพราะผมซัดเบียร์บางครั้งจึงมีสิทธิมีเสียง)

สอง ได้เงินจาก ททท. ซึ่งใช้เงิน “ภาษี” ของประชาชน

สาม ได้การสนับสนุนทุนอีกส่วนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ที่ยังมีคำถามว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรเหนือรัฐที่มีรายได้มหาศาลจากการเจ้า ของที่ดินจำนวนมหาศาล และถือเป็นต้นเหตุของปัญหาบางส่วนที่นำเสนอในภาพยนตร์แต่ผู้กำกับไม่ได้ตอบ หรือไม่)

สำหรับ “รากเรา”ในฐานะคนดู ผมตรวจข้อสอบแล้วคงต้องระบุว่า ว่าถ้าใช้งบประมาณของประชาชนกับเวลาอย่างที่อธิบาย คงต้องให้ 0 และปรับให้ส่งคืนเงินภาษีทั้งหมดสู่คลังหลวง เนื่องจากผลงานชิ้นนี้ตกมาตรฐานในระดับเลวร้าย

ด้วยสุดท้ายแล้ว มันก็เป็นเหมือนเป็นการให้เงินคน 2 คนไปเที่ยว

ให้เงินเพื่อให้คน 2 คนเอากล้องไปถ่ายตัวเอง แสดงอัตตาตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้ผ่านการทำหนังโดยไม่มีหาหลักฐานรองรับ ให้สมกับเป็นงาน “สารคดี”

บางทีคนดูอย่างผมคงต้องถามผู้กำกับว่ากว่าขวบปีที่ใช้เวลาผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้

พวกคุณหลงลืมอะไรไปหรือไม่  ?

One thought on “ว่าด้วยภาพยนตร์เรื่อง “รากเรา” (Our Roots) ผู้กำกับหลงลืมอะไร ?

  • เห็นด้วยกับคุณพันเปอร์เซ็นต์ ไปดูมารอบเดียวกัน ระหว่างดูก็อึ้งเป็นระยะ หนังอะไรมันจะตื้นเขิน คลิเช่ น้ำเน่า ได้ขนาดนี้ เราดูอย่างชั้นเดียวเลยนะ ดูอย่างคนที่รู้ไม่มาก เรายังรู้สึกว่า เฮ้ย พวกเอ็งพาข้าไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ ตกลงไม่เห็นได้อะไรกลับมาเลย อะไรในที่นี่คือความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกเชิงลึกเกี่ยวกับ ‘รากเรา’ ไม่มีการเชื่อมโยงประเด็น ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับปัจจุบัน เมืองคือความเลวร้าย คนเมืองไม่มีราก (หรือไงวะ)

    พาไปแตะๆ แค่ผิวๆ แล้วก็นั่งดูป็อปไหว้ ดูป็อปรำ ว้าย รำผิด อุ๊ย เปิบข้าวเหนียว โอว อร่อยลึกซึ้ง เฮ้ย หนังนี่จะขายตั๋วหรือเปล่า หรือแจกฟรี แล้วพวกเขาเอาเงินใครไปสร้าง เงินภาษีคนอื่นใช่ไหม มีปัญญารับผิดชอบเงินคนอื่นได้แค่นี้เองหรือ

    เศร้า

    เราไม่เคยดูเรื่องก่อนๆ ของสองคนนี้ แต่เห็นหลายคนชมกัน เลยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะดี ตกใจมากเลยบอกตรงๆ นั่งดูสารคดีทางทีวีหลายรายการได้เรื่องได้ราวกว่านี้แยะ

Comments are closed.